Group Blog
 
All blogs
 

มาสร้างทีมให้เวอร์คกันเถอะคะ

มาสร้างทีมให้เวอร์คกันเถอะคะ


วันนี้ดิฉันมีข่าวดีแบบร้ายๆ หรือจะมองเป็นข่าวร้ายแบบดีๆ มาบอกค่ะ ในฐานะคนทำงาน คนในองค์กร หัวหน้างานหรือเจ้าของกิจการ ท่านผู้อ่านแทบทุกท่านคงต้องประสบพบทั้งข้อดี และข้อเสียขององค์กร ได้ปลาบปลื้มชื่นชมกับจุดแข็งของที่ทำงาน ขณะเดียวกันก็ต้องทนกล้ำกลืนฝืนใจกับจุดอ่อน และปัญหาสารพัดเรื่องในหน่วยงาน  

นั่นคือข่าวร้ายค่ะ


ข่าวดีคือ เชื่อหรือไม่คะว่า ทุกองค์กรมีปัญหา และปัญหาส่วนใหญ่ไม่ไกลกัน


เมื่อวิเคราะห์เจาะลึกหัวข้อของปัญหา ล้วนมาจากแหล่งเดียวกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงิน กลยุทธ์ กระบวนการ อุปกรณ์ และคน


ผู้บริหารยุคนี้ ส่วนใหญ่ชี้ไปในทางเดียวกันว่า พื้นฐานสำคัญที่จะผลักดันให้ธุรกิจ “รุ่ง” หรือ “ริ่ง” คือปัจจัยเรื่อง “คน”


แม้แก้ปัญหาอื่นๆ ได้ แต่องค์กรไร้คนที่มีประสิทธิภาพ ความสำเร็จยากที่จะสมบูรณ์ยืนยง หากมีคนเก่ง คนดี มีใจให้องค์กร ปัญหาอื่นๆ มีสิทธิแก้ แก่นแท้ความสำเร็จวันนี้...ต้องมีคนเก่ง คนดี รหัสตัวนี้ หากถอดได้...เท่าไร เท่ากันค่ะ


ดังนั้น ข่าวดี ในข่าวร้ายคือ ทุกองค์กรมีปัญหาหลักๆ คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะเรื่อง "คน" ดังนั้น ใครคลี่คลายสลายอุปสรรคที่มักพบเรื่องคนได้ก่อน จะได้เปรียบหน่วยงานอื่นนับพันนับหมื่นองค์กรทันที


ปัญหาเรื่องคนที่ดิฉันได้มีโอกาสสัมผัสจากการเป็นทั้งคนทำงานเอง ตลอดจนเป็นวิทยากร และที่ปรึกษา มีหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาวะผู้นำ การสื่อสาร การบริหารข้อขัดแย้ง ฯลฯ


ท่ามกลางสารพันปัญหาที่มาจาก “คน” อุปสรรคหนึ่งซึ่งดิฉันพบในทุกองค์กรคือ "การทำงานเป็นทีม" หรือ Teamwork นั่นเอง                


ปัญหานี้มีให้เห็นตั้งแต่ระดับประเทศ ไล่เรียงไประดับกระทรวง องค์กรน้อยใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชน จนไปถึงหน่วยงานย่อยน้อยนิด ล้วนแต่ติดขัดเรื่องทีมทั้งสิ้น บางท่านมักชี้ว่าคนไทยทำงานเป็นทีมไม่เป็น...ซึ่งดิฉันไม่สู้จะเห็นด้วย

จากประสบการณ์ของดิฉันที่ได้มีโอกาสทำงานกับหลากหลายชาติ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลี ทุกที่มีปัญหาเรื่องทีมทั้งนั้น จะมากจะน้อย อาจโยงใยถึงเรื่องวัฒนธรรมประจำชาติบ้าง เช่น ญี่ปุ่นจะเน้นการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มมากกว่าตัวบุคคล โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับบางสังคม เช่น อเมริกา หรือยุโรปเหนือ ซึ่งเน้นความเป็นปัจเจกบุคคลสูง


พี่ไทยเรา หากพูดว่าทำงานเป็นทีม “ไม่เป็น” ดิฉันว่าไม่น่าจะใช่ เราทำอะไรได้ทั้งนั้น “เป็น” ทั้งสิ้น หากอยากทำ หากสภาวะเหมาะสม


ดังนั้น หน้าที่ของผู้นำ และองค์กรคือ ต้องทำให้คน “อยาก” ทำงานเป็นทีม ตลอดจนสร้างสภาวะให้เหมาะเจาะ เพื่อเพาะทีม พร้อมเติมเชื้อเรื่องทักษะที่ต้องใช้ในการทำงานร่วมกัน


ดิฉันขออนุญาตแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการเป็นวิทยากรเรื่องทีม โดยรวบรวมจากปัญหาจริงของหลากหลายองค์กร และจากทฤษฎี ตลอดจนการวิจัยของหลากหลายค่าย สรุปได้ว่าทีมจะเกิดหรือไม่ จะได้เรื่องไหม จะบินไกลหรือไปไม่ถึงฝัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก ดังนี้


1. ทีมมีเป้าหมาย มีฝันร่วมกัน เพื่อหล่อหลอมใจ สลายความเป็นตัวตนของแต่ละคนในทีม หรือไม่


การมีเป้าหมายเดียวกัน มีฝันที่ชัดเจน เห็นภาพเหมือนกันว่าเมื่อเดินไปถึงเส้นชัยจะเป็นอย่างไร ถือเป็นหัวใจของการทำงานเป็นทีม

หากปราศจากเป้าเดียวกัน การทำงานเป็นทีมยากที่จะเกิด เนื่องจากต่างคนต่างมีมุมมองของตน มีหนทางของใครของมัน ต่างมีโจทย์ส่วนตัวส่วนกลุ่มที่ต้องทุ่มให้ หากไม่เห็นภาพร่วมกัน ต่างจึงทำงานกันไปคนละทาง ห่างไกลความเป็นทีม


ในระดับองค์กร วิสัยทัศน์ที่ชัดเจน ถือเป็นเป้าหมาย และเครื่องมือสำคัญที่จะโน้มนำให้คนในองค์กรมองจ้อง และก้าวไปในทางเดียวกัน เหมือนเป็นเข็มทิศ ที่ไม่ว่าจะบิดไปทางใด สภาวะรอบข้างจะโกลาหลแค่ไหน เข็มทิศก็ไม่บิดเบือน มุ่งชี้บอกทาง คนในทีมจึงมีหลัก ไม่หลงพลัดกระจัดกระจาย


2. คนในทีมตระหนักถึงบทบาทของตนในการทำงานในทีมหรือไม่


ทีมที่ดีควรประกอบด้วยบุคคลที่มีทักษะ และประสบการณ์ที่หลากหลาย ต่างคนต่างชำนาญต่างกัน แต่เป็นความเก่ง ความสามารถที่ต้องใช้ผสมผสานกันเพื่อไปให้ถึงฝัน


บุคคลในทีมต้องรู้ว่าตัวเองมีบทบาทอะไรในทีม ต้องทำอะไร เมื่อไร ร่วมกับใคร


บทบาทที่ชัด ถือเป็นการสกัดปัญหาที่อาจเกิดในการทำงานร่วมกันเป็นทีม นั่นคือ อุปสรรคที่เกิดจากความเหลื่อมกันของบทบาท ไม่ว่าจะเป็นเหลื่อมแบบทับซ้อนซ่อนเงื่อน หัวแม่เท้าทับกันอยู่แบบสู้ตาย หรือบทบาทเหลื่อมแบบห่างกันเป็นวา หาผู้รับผิดชอบไม่พบ ไปจบแบบตายน้ำตื้น เพราะงานบางอย่างไม่มีเจ้าภาพชัดเจน


ความชัดเจนของบทบาท ถือเป็นความรับผิดชอบของหัวหน้าทีม ซึ่งจะเป็นหลักในการร่วมกำหนดแนวทางในการทำงานร่วมกันกับลูกทีม การแบ่งสรรปันส่วนหน้าที่และความรับผิดชอบ เพื่อตอบโจทย์ของทีมอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด ถือเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งของการทำงานเป็นทีม


3. ทีมมีกฎกติกามารยาทของการทำงานร่วมกันหรือไม่


จากการวิเคราะห์วิจัยของค่ายมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ทีมส่วนใหญ่ใช้เวลา และสติในการสร้างกฎกติกามารยาทของการทำงานร่วมกันเป็นทีมน้อยเกินไป โดยเฉพาะในช่วงต้นของการทำงานร่วมกัน ทำให้เกิดความขัดแย้งหลายประเด็นที่น่าจะหลีกเลี่ยงได้ หากต่างเข้าใจขอบ และกรอบของการทำงานเป็นทีมตั้งแต่แรกเริ่ม


เนื้อหาของกฎกติกาขึ้นกับองค์กร หน่วยงานหรือโจทย์เฉพาะกิจ สามารถคิดได้ตามสะดวก ไม่ว่าจะเป็นวิธีการและกระบวนการตัดสินใจของทีมหากไม่เห็นพ้องต้องกัน วิธีการประชุมของทีม ความถี่ของการประชุม วิธีการสื่อสาร และแนวทางการประสานงาน เป็นต้น


กฎกติกาที่ตั้งไว้ในตอนแรก หากต้องปรับ หากต้องเปลี่ยนไปตามความจำเป็น ก็ไม่ว่ากัน เช่นไม่เคยคาดคิดว่าทีมจะไม่เข้าประชุมตรงเวลา หรือเบี้ยวลดเลี้ยวไม่เข้าประชุมทีมเสียดื้อๆ กฎกติกาก็อาจต้องมีการปรับเพื่อกระตุ้นเสริม หรือเริ่มวิธีใหม่ในการประชุม เช่นไม่ยืดเยื้อ ทำให้คนเบื่อหน่าย เริ่มตรงเวลา เลิกตรงเวลา ใครมาไม่ทันเกินกี่ครั้ง ต้องตักเตือน เป็นต้น


ที่สำคัญคือ เมื่ออยู่ด้วยกัน ต้องมีวิธีการลดความไม่แน่นอน ลดข้อขัดแย้ง ลดการแบ่งแยก โดยการมีขอบ มีกรอบที่ชัดเจน แต่ยืดหยุ่น เป็นเครื่องทุ่นแรงการทำงาน แถมเป็นเครื่องถนอมความรู้สึกของคนในทีมค่ะ


สามข้อแรกนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างทีม ให้ท่านผู้อ่านลองพินิจพิจารณาว่ามีส่วนใดที่พัฒนาได้ในองค์กร


สัปดาห์หน้ามาว่ากันต่อว่าทีม จะ “เวิร์ค” หรือ “ไม่เวิร์ค” มีปัจจัยใดเป็นหัวใจ เป็นปอด เป็นตับ...เมื่อนับครบแล้ว การสร้างทีมไม่ยากอย่างที่คิดค่ะ


ทำ Team ให้ Work (2)


องค์กรใดมีคนเป็นข้อได้เปรียบ มีคนเก่ง คนดี ที่สำคัญมีความสมัครสมานสามัคคี มีใจรักใคร่ กลมเกลียว เดินหน้าได้เป็นแผง ทะมัดทะแมง ไม่แย่งไม่แซงกัน ใครพลาด คนข้างๆ พร้อมปราดเข้าไปช่วย ใครป่วย คนอื่นพร้อมประคอง


มีคนเช่นนี้ ไม่ว่าจะมีจุดหมายใด ดูไม่ไกลเกินเอื้อม


ในทางตรงข้าม หากองค์กรแสนดี แสนรวย แสนสวย มีระบบครบครัน มีชื่อใหญ่ มีใบรับรองสารพัด หาก “คน” ในองค์กรไม่เอาด้วยเสียอย่าง คนท้อ คนนั่งรอรับเงินเดือนไปวันๆ ฉันคือฉัน เธอคือเธอ อย่าเผลอ แล้วกัน คราวที่แล้วฉันพลาด เธอปราดเข้ามาซ้ำ


จำไว้ ! ที่นี่ใครดีใครได้ ไม่โปร่งใส ทำอะไรก็ได้ ให้ “ถูกใจ” ผู้ใหญ่ไว้ก่อน “ถูกต้อง” เป็นรองจ้ะ


คำว่า “ทีม” สะกดอย่างไร ไม่เคยได้ยิน!


หากองค์กรเป็นเช่นนี้ ถือว่าคู่แข่งโชคดี เพราะเขามัวแต่ตีกันเองภายใน ไม่มีพลังเหลือไว้สู้รบปรบมือกับชาวบ้าน


ท่านผู้อ่าน ลองพิจารณาดูองค์กรของตัวเองนะคะว่าพลังของคนในองค์กรนำมาใช้ได้ถูกที่ถูกทางแล้วหรือยัง พลังส่วนใหญ่ใช้ไปในทางสร้างสรรค์ ใช้กับลูกค้า ใช้ให้เกิดความก้าวหน้า ใช้ให้องค์กรพัฒนา หรือใช้ภายใน เพื่อแก่งแย่ง แบ่งพื้นที่ เพื่อสร้างบารมีส่วนตัว ส่วนกลุ่ม ทุ่มสู้... แต่ผิดสนาม เพราะลืมตัวมัวแต่สู้กันเอง


หากไหนๆ จะต้องใช้พลังบางส่วนกับเรื่องภายในองค์กร เรามาใช้พลังแบบสร้างสรรค์ หันมาสร้างทีม เพื่อให้เกิดพลังที่ฝรั่งเรียก Synergy หรือแรงของเราแต่ละคน เมื่อเสริมกัน หนึ่งบวกหนึ่ง ผลลัพธ์ไม่ใช่แค่สอง ต้องได้สามเป็นอย่างน้อย


ทั้งนี้เป็นเพราะเราคนหนึ่ง ก็ทำได้เพียงแค่สิ่งที่เราเก่งเราเชี่ยวชาญ หากอีกคนทำในสิ่งที่เขาเก่ง แล้วนำมาผสมผสาน ผลงานต้องยิ่งใหญ่กว่าต่างคนต่างทำ


ประเด็นคือ การทำงานร่วมกัน แบบผสมผสานกลมเกลียว 1 + 1 จึงมากกว่า 2


คราวที่แล้ว เราคุยถึงปัจจัยหลัก 3 ข้อ ซึ่งถือเป็นตัวตั้งของการสร้างทีมในองค์กร


1. ทีมมีเป้าหมาย มีฝันร่วมกัน เพื่อหล่อหลอมใจ สลายความเป็นตัวตนของแต่ละคนในทีมหรือไม่


2. คนในทีมตระหนักถึงบทบาทของตนในการทำงานเป็นทีมหรือไม่


3. ทีมมีกฎกติกามารยาทของการทำงานร่วมกันหรือไม่


หากมองเข้าไปในองค์กรแล้วยังไม่แน่ใจ ยังตอบไม่ได้ หรือตอบได้ว่า “ไม่มี” ขอแสดงความยินดีค่ะ อย่างน้อยท่านผู้อ่านเริ่มเห็นปัญหา เริ่มเห็นที่คัน จะได้เริ่มเกาถูกที่


ทีนี้ เราไปดูประเด็นถัดไปในการทำให้องค์กรมี Team ที่ Work ต่อ นะคะ


หัวใจอีกตัวหนึ่งของการทำงานเป็นทีมคือ การนำสมองของทุกคนมาหลอมรวมกัน เพื่อสร้างและสานฝัน เพื่อหาหนทางที่ดีกว่า เพื่อหาแนวทางที่คนคนเดียวคิดไม่ถึง เพื่อใช้ความต่างสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่ผลักให้ทีม ให้องค์กรก้าวรุดไปข้างหน้า


การผสมพลังความคิดของทีม เป็นจุดที่ทำให้ผลงานของทีมโดดเด่นเกินหน้าการทำงานคนเดียว การนำสมองมาหลอมรวมกันแบบ “ทีม” คือการนำประสบการณ์ นำแนวคิดมาแลก มาเปลี่ยน มาเสริม เติมรอยแยก แหวกหาหนทางใหม่ ใช้มุมแปลกๆ ที่แรกๆ อาจดูไม่เข้าที่เข้าทาง แต่หากพลิกดูดีๆ มีที่ใช้


วิธีการผสานพลังความคิดของทีม มี 2 ขั้นตอนหลัก คือ


ขั้นตอนแรก


คนในทีมต้องตระหนักและมั่นใจในตนเองว่าฉันก็มีความคิดสร้างสรรค์ ฉันก็คิดได้ คิดเป็น ไม่เห็นยาก


หลายคนอาจคิดว่า ความคิดสร้างสรรค์ เป็นเรื่องฝันๆ ของบางคน ต้องเป็นศิลปิน ต้องโดดเด่น ต้องแปลกๆ ต้องคิดแบบแหกโค้ง ไม่จำเป็นค่ะ


จากการวิจัยครั้งแล้วครั้งเล่าของเรื่องความคิดสร้างสรรค์ในที่ทำงาน พบว่าสิ่งที่จะชี้ว่าคนของเรามีความคิดสร้างสรรค์หรือไม่ อยู่ที่ปัจจัยพื้นฐานแบบกำปั้นทุบดิน คือ “คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ คือคนที่คิดว่าตัวเองมีความคิดสร้างสรรค์”   ทุบดินดังกว่านี้ไม่มีแล้วค่ะ


ขั้นตอนที่สอง


ขั้นตอนนี้โยงใยกับขั้นตอนแรก โดยหัวหน้าทีมมีบทบาทสำคัญทั้งสองขั้นตอน


หัวหน้าทีมมีหน้าที่ให้ขวัญกำลังใจ ให้ความฮึกเหิม เสริมให้คนมีความมั่นใจในตัวเองว่าฉันก็คิดสร้างสรรค์ได้ จะมากจะน้อย ก็ไม่ได้ด้อยกว่าคนอื่นเท่าไร จะทำให้เกิดความเชื่อมั่น จะทำให้เกิดบรรยากาศเช่นนี้ได้


ต้องสร้างค่ะ


สร้างอย่างไร...อย่างน้อยมี 3 เรื่องที่ทีมต้องสร้าง


1. สร้างทักษะในเรื่องความคิดสร้างสรรค์


ดิฉันเห็นด้วยกับผู้รู้หลายท่านว่า ความคิดสร้างสรรค์ เกิดจากพรสวรรค์บวกกับพรแสวง


เจ้าตัวแสวงนี่แหละค่ะ สร้างและเสริมให้กันได้ ดีไม่ดีแสวงมากๆ มีสิทธิแซงพวก “สวรรค์” ที่ไม่หมั่นแสวงเพิ่ม


วิธีการแสวงง่ายๆ เช่น มีทักษะในการช่วยคิด ช่วยถาม ช่วยท้าทาย เช่น คิดนอกกรอบ


“หากร้านก๋วยเตี๋ยวของเราไม่มีเก้าอี้ให้คนนั่ง ทำอย่างไรดี” หากตอบแบบไม่สร้างสรรค์ หนทางอาจมีน้อย ไม่มีที่นั่ง “เจ๊ง” แน่


หากช่วยกันคิดโดยไม่จำกัดกรอบ คำตอบอาจแปลกๆ อาจแหวกๆ เช่น คนหนึ่งว่า “นั่งกับพื้นไง” อีกคนเสริม “ก็ให้ยืนกิน” คนที่สามตามมาเป็นชุด “ขายเป็นชิ้นๆ แล้วไปผสมเป็นจานที่บ้าน” คนอื่นต่อว่า “งั้นไม่ต้องมาที่ร้าน นั่งกินที่บ้านแหล่ะ เดี๋ยวไปส่งให้”...นี้คือแหล่งกำเนิดของ Delivery การทำธุรกิจอาหารแบบส่งถึงที่ ซึ่งเราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน


2. หัวหน้าทีมต้องเป็นหลักในการสร้างให้เกิดบรรยากาศในการฟัง และเคารพในความคิดของลูกทีม


หากหัวหน้าทีมสร้างบรรยากาศให้ลูกทีมเกิดความมั่นใจว่าฉันก็คิดได้ ฉันก็คิดเป็น


จากนั้น เปิดเวทีให้เริ่มแสดงความคิดเห็น เช่น หากไม่มีเก้าอี้ ทำไงดี “นั่งกับพื้นไงพี่” ลูกน้องเริ่มออกไอเดียอย่างมั่นใจ


อย่างไรก็ดี ถ้าหัวหน้าทีมบอกทันทีว่า “คิดได้ไง ใครจะนั่งกับพื้น!” พลังความคิดของทีมจะตายแบบไม่ฟื้น ปลุกอย่างไรก็ไม่ตื่นแน่นอน มุมมองและแนวทางไม่มีไปไกลได้ถึง “Delivery” ที่พูดถึง


ดังนั้น หัวหน้าจึงต้องฝึกทักษะการฟัง ต้องอึด อดทน ต้องให้เวลาลูกทีม และที่สำคัญ ต้องเปิดใจ


3. สร้างวัฒนธรรมทีมในการรวมพลังความคิด


การที่หัวหน้าทำตนเป็นต้นแบบข้างต้น ถือว่าเป็นหลักสำคัญอย่างยิ่ง


นอกจากนั้น หัวหน้าต้องร่วมสร้างกฎกติกาของทีมตั้งแต่เริ่มต้นว่า นอกจากแต่ละคนมีบทบาทในการช่วยกันคิด ทุกคนต้องฟังกันอีกด้วย


เมื่อมีการเสนอความคิดแล้ว ใครบอกว่า “วิธีนี้ใช้แล้วไม่ได้เรื่อง” “ไอเดียนี้ไม่น่าใช่” “แนวทางนี้ไม่ได้หรอกเพราะ...” คนนั้นต้องถูกสยบ ต้องขอให้สงบไว้ก่อน เมื่อได้ความคิดหลากหลายพอ แล้วค่อยมากลั่นมากรอง มองหาสิ่งที่ดีที่สุดอีกครั้ง


ทีมที่เสริมพลังความคิดกันได้เช่นนี้ มีไม่มาก... ที่ทำได้ไม่มาก...ส่วนหนึ่ง อาจเป็นเพราะเหมือนยาก


อย่างไรก็ดี จากที่ดิฉันได้มีโอกาสเห็นและสัมผัสทีมที่ทำได้ แรกๆ อาจเหมือนยาก เหมือนหนืด เหมือนทุกสิ่งที่ยังไม่เคยทำ แต่เมื่อเริ่มทำได้ไปสักพัก ทั้งทีมกลายเป็นนักคิดได้ไม่ยาก


ที่ยากจริง...คือ การที่หัวหน้าทีมต้องเอาจริง ต้องตั้งใจ ต้องนิ่ง และ ต่อเนื่อง...เรื่อง “ทีม” จึงจะเกิดค่ะ






 

Create Date : 23 กันยายน 2551    
Last Update : 23 กันยายน 2551 20:56:24 น.
Counter : 875 Pageviews.  

เรื่องที่คุณไม่ควรนำไปพูดในที่ทำงาน


ทำงานมากันทั้งวันก็มีบ้างแหละค่ะที่ต้องหาเวลาผ่อนคลายให้หายเครียสกันบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเวลาพักเที่ยง ระหว่างทางไปเข้าห้องน้ำ หรือช่วงที่ไปหากาแฟมาดื่ม คุณมักจะคุยกับเพื่อนร่วมงานในเรื่องสัพเพเหระที่ไม่ใช่เรื่องงานต่างๆ ซึ่งก็ไล่ไปตั้งแต่ลมฟ้าอากาศไปจนถึงเรื่องการเมืองเลยทีเดียวหากเวลาอำนวย แต่คุณทราบหรือไม่คะว่า เรื่องบางเรื่องก็ละเอียดอ่อน เป็นความเชื่อส่วนบุคคล รวมทั้งเป็นส่วนตัวจนเกินไปที่ไม่ควรให้ผู้อื่นรับรู้ เพราะจะมีผลกระทบถึงงานที่คุณทำอยู่ได้ โดยเวปไซด์
DB88 ได้รวบรวมเอาเรื่องที่คุณไ่ม่ควรคุยกันในที่ทำงานมาเตือนพวกเราดังนี้เลยค่ะ

1.       ศาสนา
เรื่องแรกที่ไม่ควรแตะเลย คือเรื่องของศาสนา ยิ่งในบ้านเราเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางด้านศาสนา ทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม และอื่นๆ ไม่แน่ในที่ทำงานของคุณอาจมีคนที่นับถือศาสนาต่างจากคุณ ดังนั้นจึงไม่ควรนำเรื่องศาสนาขึ้นมาพูด เพราะเรื่องนี้เป็นความเชื่อส่วนบุคคลที่เปราะบางมาก คุณคงไม่ต้องการให้ใครมาวิพากษ์วิจารณ์ หรือแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยต่อความเชื่อทางศาสนาของคุณใช่ไหมคะ คนอื่นๆ ก็รู้สึกแบบเดียวกับคุณเหมือนกันค่ะ
2.       การเมือง
ถึงแม้บ้านเราจะเป็นประชาธิปไตย ผู้คนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้อย่างอิสระ แต่ถ้าไม่อยากทะเลาะกับใคร คุณไม่ควรแสดงออกว่ารักฝ่ายไหน เกลียดฝ่ายไหน หรือแสดงความไม่เห็นด้วยกับฝ่ายตรงข้าม เพราะอาจเป็นไปได้ว่าเจ้านายของคุณ หรือเพื่อนร่วมงานของคุณอาจไม่ได้อยู่ข้างเดียวกับคุณ อย่าพยายามเอาชนะกันหรือเถียงกันว่าใครถูกใครผิดเลยนะคะ เรื่องการเมืองเป็นเรื่องของการมองต่างมุม ที่สำคัญไม่มีใครที่ขาวบริสุทธิ์ หรือดำสนิทจริงๆ เลยสักคนเดียว
3.       ชีวิตรัก
เรื่องบนเตียง เป็นเรื่องของคุณกับคู่ของคุณเท่านั้น อย่าได้เที่ยวไปเล่าความลับส่วนตัวอย่างนี้ให้ใครฟังเชียวนะคะ คนอื่นไม่เกี่ยวจริงๆ ค่ะเรื่องนี้ ยิ่งถ้ามีปัญหากัน คุณควรหันหน้าเข้าหากัน และปรับความเข้าใจกันด้วยตัวของคุณเอง เคยเห็นหลายคู่แล้ว ที่ฟังคำแนะนำจากคนอื่นแล้วยิ่งไปกันใหญ่ อย่าลืมว่าไม่มีใครเข้าใจคู่ของคุณดีเท่ากับตัวของคุณทั้งสองคนหรอกค่ะ
4.       ปัญหาในครอบครัว
ปัญหาในครอบครัวที่อาจพบเจอได้ ไม่ว่าจะเป็นสามีติดเหล้า ลูกติดเกม ญาติยืมเงินไปแล้วไม่คืน คงทำให้คุณวุ่นวายใจไม่น้อย คุณอาจอยากปรึกษากับใครสักคน เช่นเพื่อนสนิทของคุณ ที่คุณไว้ใจ แต่ไม่ใช่ว่าคุณจะเล่าปัญหาของคุณให้ทุกคนฟังได้ คนในที่ทำงานอาจไม่เข้าใจคุณ และคิดว่าการที่คุณมีปัญหาในครอบครัว อาจมีผลกระทบต่องานของคุณ คุณอาจวิตกกังวลจนทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งจะทำให้คุณถูกเพ่งเล็งเอาได้ เพราะฉะนั้นอย่าได้เปิดเผยจุดอ่อนนี้ให้ใครต่อใครรู้ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ
5.       ความก้าวหน้าในการงาน
การเล่าให้ใครต่อใครฟังถึงความคิดที่อยากจะย้ายงานไปยังที่ใหม่ที่ใหญ่กว่าและดีกว่าที่เดิม จะทำให้เจ้านายและเพื่อนร่วมงานเกิดความสงสัยในตัวคุณ คิดว่าคุณไม่มีความภักดีต่อองค์กรที่คุณทำงานอยู่ ทางที่ดีกว่านั้นหากคุณต้องการจะไปจริงๆ ควรทำงานให้ดีชนิดหาที่ติไม่ได้ แล้วหาโอกาสบอกเจ้านายคุณว่าคุณต้องการย้ายงาน แต่อย่าเที่ยวไปบอกใครๆ ในที่ทำงานว่าคุณจะไปก่อนที่จะบอกเจ้านายเด็ดขาด คุณคงรู้ดีว่าข่าวลือเกิดขึ้นได้ง่ายมาก และไม่ส่งผลดีต่อตัวคุณเลยค่ะ
6.       สุขภาพร่างกาย
ถ้าเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานเห็นว่าคุณมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ เช่นเจ็บออดๆ แอดๆ ตลอดเวลา หรือบ่นเจ็บโน่น ปวดนี่ไม่เว้นแต่ละวัน พวกเขาอาจคิดว่า คุณอาจไม่พร้อมที่จะทำงานได้อย่างเต็มที่ และหากผลการทำงานของคุณแย่ลงด้วยล่ะก็ ระวังจะถูกพักยาวโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว แต่หากคุณมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพที่รุนแรงจริงๆ ที่จำเป็นต้องพักรักษาตัวก็ไม่ควรปิดบังนะคะ ควรบอกกับเจ้านายโดยเร็ว จะได้รีบไปรักษาตัวและรีบกลับมาทำงานตามเดิมด้วยสภาพร่างกายที่พร้อมเต็มที่ไงล่ะคะ


6 เรื่องนี้ต้องห้ามและอยากจะเตือนคนทำงานให้ระวังกันไว้ รู้แล้วจะได้ไม่พลาดไม่เผลอไปเล่าให้ใครฟังเข้า เดี๋ยวจะมีปัญหาเรื่องงานภายหลังเอาได้นะคะ




 

Create Date : 23 กันยายน 2551    
Last Update : 23 กันยายน 2551 13:50:19 น.
Counter : 671 Pageviews.  

อีกครั้งกับโรคยอดฮิต “Office Syndrome”

โรคออฟฟิศ ซินโดรม เป็นกลุ่มอาการที่พบบ่อยในคนวัยทำงานออฟฟิศ ที่สภาพแวดล้อมในที่ทำงานไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการนั่งทำงานตลอดเวลา ไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบ และปวดเมื่อยตามอวัยวะต่างๆ อาทิ หลัง ไหล่ บ่า แขน หรือข้อมือ ส่วนบางรายที่มีอาการของหมอนรองกระดูกเคลื่อนอยู่แล้ว หากทำงาน ในอิริยาบถที่ผิดจะทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้น จากการสำรวจพนักงานออฟฟิศในประเทศฝั่งยุโรป พบว่า อาการอันดับหนึ่งคือ การปวดหลัง รองลงมามีอาการปวดบริเวณคอ ไหล่ และปวดศีรษะตามลำดับ ซึ่งเชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับภาวะออฟฟิศ ซินโดรม



ผศ.นพ.วิษณุ กัมทรทิพย์ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวภายในการประชุมวิชาการเรื่อง “Office Syndrome” หรือโรคภัยในออฟฟิศ ว่า โรคออฟฟิศ ซินโดรม เป็นกลุ่มอาการที่พบบ่อยในคนวัยทำงานออฟฟิศ ที่สภาพแวดล้อมในที่ทำงานไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการนั่งทำงานตลอดเวลา ไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบ และปวดเมื่อยตามอวัยวะต่างๆ อาทิ หลัง ไหล่ บ่า แขน หรือข้อมือ ส่วนบางรายที่มีอาการของหมอนรองกระดูกเคลื่อนอยู่แล้ว หากทำงาน ในอิริยาบถที่ผิดจะทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้น จากการสำรวจพนักงานออฟฟิศในประเทศฝั่งยุโรป พบว่า อาการอันดับหนึ่งคือ การปวดหลัง รองลงมามีอาการปวดบริเวณคอ ไหล่ และปวดศีรษะตามลำดับ ซึ่งเชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับภาวะออฟฟิศ ซินโดรม


นอกจากนี้ ยังพบว่า กลุ่มคนทำงานอายุระหว่าง 16-24 ปี มีความเสี่ยงของการเกิดภาวะดังกล่าวสูงถึงร้อยละ 55 เนื่องจากต้องทำงานหนัก ประกอบกับอิริยาบถในการทำงานไม่เหมาะสม ทั้งนั่งหลังค่อม การทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์นาน ๆ สูงกว่า 6 ชั่วโมงต่อวันโดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ ตลอดจนปัญหาความเครียดก็ส่งผลต่อการเกิดภาวะนี้ด้วย โดยพบสูงถึงร้อยละ 80 สำหรับประเทศไทยเคยสำรวจในคนทำงานที่สำนักพิมพ์แห่งหนึ่งจำนวน 400 คน พบว่าร้อยละ 60 มีภาวะดังกล่าว

“ไม่เพียงแต่อิริยาบถของคนทำงานที่ไม่เหมาะสม สภาพโต๊ะทำงานยังเป็นปัจจัยสำคัญด้วย ทั้งโต๊ะทำงานที่ไม่เป็นระเบียบ ไม่สะดวกต่อการ หยิบสิ่งของ เก้าอี้ไม่เหมาะสม ไม่มีพนักพิงที่รองรับหลังอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการกดแป้นคีย์บอร์ดที่ไม่มีตัวรองรับข้อมือ จะทำให้มีการกระดกข้อมือขึ้นลงซ้ำ ๆ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการอักเสบบริเวณเส้นเอ็น รวมทั้งเกิดภาวะพังผืดหนา ทำให้เกิดอาการชาบริเวณนิ้ว และข้อมือ” ผศ.นพ.วิษณุ กล่าว

ผศ.นพ.วิษณุ กล่าวอีกว่า การป้องกัน ต้องเริ่มจัดสภาพโต๊ะทำงานให้เป็นระเบียบ โดยให้ด้านขวาของโต๊ะปล่อยโล่ง ไม่มีสิ่งของมากีดขวาง เพื่อความสะดวกต่อการเคลื่อนไหวในการหยิบสิ่งของต่าง ๆ ส่วนสิ่งของต่าง ๆ บนโต๊ะทำงานควรวางด้านซ้ายแทน และควรเลือกโต๊ะทำงานที่มีระดับพอดีกับข้อศอก เพื่อให้สามารถกดคีย์บอร์ดได้ถนัด ประกอบตัวแป้นคีย์บอร์ดควรมีที่รองรับข้อมือไม่ให้เกิดการกระดกข้อมือซ้ำ ๆ ด้วย ส่วนเก้าอี้ควรเป็นแบบปรับขึ้นลงได้ และควรมีพนักพิงที่สามารถรองรับศีรษะได้ด้วย นอกจากนี้ ควรเลือกจอคอมพิวเตอร์แบบ LCD หรือจอแบน เนื่องจากการสำรวจพบว่า จอแบบ CRT ซึ่งเป็นจอลักษณะโค้งมนจะทำให้เกิดการเพ่งสายตา และปวดศีรษะมากกว่าการใช้จอแบบ LCD

“พวกพนักงานรับโทรศัพท์ก็ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงเช่นกัน เพราะต้องคอยรับหูโทรศัพท์ตลอดเวลา ควรหยุดพักบ้าง หรือหันมาใช้เฮด โฟนแทน สิ่งสำคัญคนทำงานต้องตระหนักถึงภัยจากภาวะนี้ ด้วยการฝึกอิริยาบถการนั่งทำงานให้เหมาะสม เช่น เมื่อนั่งหลังค่อมต้องปรับท่านั่งใหม่ และควรพักสายตาจากจอคอมพิวเตอร์ หรือเปลี่ยนอิริยาบถ ลุกออกไปเดิน ยืดเส้นยืดสาย ทุก ๆ ครึ่งชั่วโมง รวมทั้งควรหัดออกกำลังกายคลายเส้นบ้าง จะช่วยให้กล้ามเนื้อไม่ตึงจนเกินไป” ผศ.นพ.วิษณุ กล่าว

ด้าน รศ.พญ.จุฑาไล ตัณฑเทอดธรรม ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ปัญหาที่พบบ่อยในคนทำงานออฟฟิศ คือ ปัญหาด้านสายตา อาทิ ตาแห้ง น้ำตาไหล ระคายเคืองตา ตามัว ปรับภาพได้ช้าลง ซึ่งเกิดจากการทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ ทำให้การกะพริบตาน้อย หนังตาเปิดกว้างขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศที่แห้ง ส่งผลให้น้ำตาระเหยมาก จนกระทั่งเกิดความระคายเคืองตาและตาแห้ง นอกจากนี้ การเพ่งสายตาที่หน้าจอ ยังทำให้ต้องกลอกตาไปมาตลอดเวลา ส่งผลให้กล้ามเนื้อตาต้องทำงานมากขึ้น ทำให้ปวดตาในที่สุด ดังนั้นควรพักสายตาเป็นระยะ ทุก 20 นาที หลับตา ทุก 1 ชั่วโมง ลุกเดินเพื่อพักสายตา และควรจัดจอภาพคอมพิวเตอร์ให้ต่ำกว่าระดับสายตา 15 องศา เพื่อช่วยลดอาการปวดตาและปวดคอ

รศ.พญ.จุฑาไล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ควรปรับความสว่างของหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม โดยปรับความสว่างให้มากประมาณสามเท่าจากความสว่างของสภาพแวดล้อม และควรปรับสีของจอให้สบายตา เนื่องจากงานวิจัยพบว่าตัวอักษรสีเข้มบนพื้นจอสีอ่อนจะทำให้สบายตา ส่วนความเข้าใจที่ว่า รังสีจากจอคอมพิวเตอร์หากได้รับเป็นเวลานาน ๆ จะก่อให้เกิดอันตรายเป็นมะเร็งนั้น ไม่เป็นความจริง เนื่องจากปริมาณรังสีที่ออกมามีจำนวนน้อยไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด.





 

Create Date : 05 กันยายน 2551    
Last Update : 14 กันยายน 2551 0:52:25 น.
Counter : 1178 Pageviews.  

อยากก้าวหน้าในที่ทำงานลองทำแบบนี้ดูซิคะ

บางครั้งการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันที่ใครคนอาจมองข้าม แต่คุณทราบหรือไมคะว่ามันมีอิทธิพลใหญ่หลวงต่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานเชียวละค่ะ

ก่อนที่จะเริ่มจัดการกับเป้ามายที่ได้มา หรือพยายามปืนป่ายเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่หลายคนวางเอาไว้ โดยเราเองก็ทราบกันดีว่ามันจะนำพาไปสู่ความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่ว่าการเปลี่ยนแปลงกิจวัตประจำวันเล็กๆ ที่กำลังจะแนะนำต่อไปนี้อาจทำให้คุณเดินทางไปสู่ความก้าวหน้าได้เร็วขึ้นนะคะ



  • มีส่วนร่วมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการประชุมก็ดี จงแสดงความกระตือรือร้นและความสนใจในก่อนและระหว่างการประชุม หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ไม่เคยหรือหลีกเลี่ยงการแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม อาจต้องปรับใหม่ นอกจากนี้อย่าได้ลืมแชร์ความคิดหรือข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ร่วมประชุม

  • เลือกที่นั่ง ว่ากันว่าตำแหน่งที่ดีที่สุดคือ ที่นั่งที่ถัดหรือใกล้กับหัวหน้าในที่ประชุม หากคุณต้องการจะได้รับมอบหมายงานต่างๆ เพราะที่นั่งตรงจุดนั้นจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงความพร้อมสำหรับตัวคุณเอง และรวมทั้งเป็นที่สังเกตุเห็นจากทุกๆ คนในที่ประชุม

  • ส่งเสริมการขายให้ตัวเอง ฟังแล้วอาจงงๆ แต่ลองนึกภาพหากจะมีโปรเจคสำคัญและผู้บริหารกำลังตัดสินใจว่าใครควรได้รับงานชิ้นนี้ ในที่ประชุมจะมีใครบ้างที่เสนอชื่อของคุณ...หากไม่มีคุณอาจต้องโปรโมตตัวเองซักหน่อย อาจเป็นว่าส่งอีเมลรายงานถึงสถานะการทำงานของคุณให้เจ้านายรับรู้เป็นประจำ หรืออาสาเป็นผู้นำเสนอรายงานเรื่องสำคัญในที่ประชุม เหล่านี้เป็นวิธีง่ายๆ ที่จะทำให้คนอื่นมองเห็นคุณมากขึ้น

  • ทำให้มากกว่าหน้าที่ อีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้คุณเด่นขึ้นคือการช่วยงานเพื่อนร่วมงาน หรือรับงานอื่นนอกเหนือจากงานในหน้าที่ประจำ หรือช่วยเหลือกิจกรรมประจำปีขององค์กรก็ไม่เลว มันก็อาจดูไม่หรูหรานัก แต่อย่างน้อยมันก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้คุณได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้บริหารมากขึ้น

  • ยืดอกรับคำชมอย่างสง่างาม  เมื่อมีใครซักคนชมคุณเมื่อคุณทำงานได้ีดี จงอย่าบ่ายเบี่ยง หรือพูดแก้เขินไปในทางอื่น เพราะนั่นเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้คนอื่นขโมยความดีความชอบไปจากคุณได้ง่ายๆ ลองวิธีใหม่โดยอาจพูดว่า “ขอบคุณค่ะ ฉันก็หวังว่ามันจะออกมาอย่างนี้”

  • สร้างมิตรภาพ ไม่เป็นเรื่องเสียหายหากการที่คุณจะสร้างมิตรภาพในที่ทำงานเพิ่มขึ้นแถวๆ หน้าห้องน้ำ หรือในห้องครัว เพราะมีผลสำรวจจากสถาบันที่มีชื่อเสียงของต่างประเทศพบว่า บทสนทนาแถวๆ หน้าตู้เย็นในที่ทำงานจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้ ดังนั้นจะเป็นเรื่องที่ดีหากพนักงานได้มีโอกาสสร้างความสนิทสนมกันด้วยการคุยเล่นเป็นครั้งคราว การไปเที่ยวประจำปีร่วมกัน หรือกงานเลี้ยงตามเทศกาล เพราะมันจะช่วยสร้างสัมพันธ์อันดีในองค์กร

  • เรียนรู้มารยาทบนโต๊ะอาหาร หากจำเป็นต้องพบปะและรับประทานอาหารร่วมกับลูกค้าหรือหุ้นส่วนธุรกิจ การเรียนรู้มารยาทบนโต๊ะอาหารจึงเป็นเรื่องจำเป็น สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นบนโต๊ะอาหารอาจทำมาซึ่งความผิดพลาดและล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นการพูดพล่ามเรื่องธุรกิจก่อนการสั่งอาหาร หรือการที่คุณหัวเสียใส่พนักงานเสิร์ฟก็ดี

  • สร้างเครือข่ายและสายสัมพันธ์ให้มากขึ้น การประชุมสัมนาทางธุรกิจที่บริษัทส่งคุณเข้าร่วมนั้นถือเป็นโอกาสอันดีในการต่อยอดเครือข่ายของคนรู้จัก และเป็นโอกาสที่คุณเองจะสร้างความประทับใจในยามแรกพบ เหล่านี้จะรวมไปถึงการเตรียมตัวในการเข้าสัมนา ไม่ว่าจะเป็นการติดป้ายชื่อของคุณในตำแหน่งที่เหมาะสม การแลกเปลี่ยนนามบัตร และรวมไปถึงการจดรายละเอียดของคนๆ นั้นไปที่ด้านหลังของนามบัตรเขาเพื่อช่วยเตือนความจำหลังจากงานผ่านพ้นไปเป็นต้น


  • รู้จักขอบคุณ หากมีใครสักคนช่วยเหลือคุณ จงให้พวกเขารับรู้ถึงความซาบซึ้งในน้ำใจนั้นด้วยคำขอบคุณ โดยการเขียนจดหมายหรือแม้แต่อีเมล์ถึงพวกเขา มันจะช่วยสร้างความประทับใจให้แก่ผู้รับเป็นอย่างดี และจะเป็นโอกาสให้เขาเต็มใจช่วยเหลือคุณในโอกาสต่อไป








 

Create Date : 04 กันยายน 2551    
Last Update : 5 กันยายน 2551 11:00:47 น.
Counter : 963 Pageviews.  

วิธีอยู่กับคนที่เราไม่ชอบ


เพิ่งได้รับ Forward mail จากเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งมาคะ พออ่านจบก็เกิดความรู้สึกดีๆ ขึ้นกับจิตใจตัวเอง ประจวบเหมาะกับที่มีเรื่องทุกข์ใจเข้ามาอยู่เนื่องๆ พอได้อ่านแล้วจึงเริ่มคิดว่าชีวิตคนเรามันสั้นคะ พยายามอยู่อย่างมีความสุขบนโลกกลมๆ ใบนี้โดยไม่ไปเบียดเบียนคนอื่นและใช้ช่วงเวลาที่มีอยู่ทำสิ่งดีๆ กันเถอะคะ


เมื่อไม่กี่วันมานี้เอง ดิฉันได้เขียนเรื่อง Juxtapose ลงไว้ใน Blog โดยแอบหวังลึกๆ ในใจว่า คนที่แตกต่าง(ที่เราห่วงเค้า)จะแวะเวียนมาอ่าน และนำกลับไปคิดบ้าง.....หากแต่วันนี้ต้องบอกว่าความหวังนั้นคงจะไม่มีวันเป็นจริง เพราะคนแตกต่างที่ว่านี้ ไม่อยากจะมาอยู่ข้างๆ กับคนอื่นๆ ซะแล้วหละค่ะ

ดิฉันก็ได้แต่หวังว่าถ้าเค้ารู้สึกไม่ชอบใครแต่จำต้องดำเนินชีวิต หรือเวียนว่ายอยู่ใกล้คนที่เค้าไม่ชอบอยากให้เค้านำข้อคิดดีๆ จากเหล่านี้ไปใช้


วิสัชา โดย ว.วชิรเมธี วิธีอยู่กับคนที่เราไม่ชอบ


รู้ไหมว่า เรามีเวลาอยู่ในโลกนี้คนละกี่ปี ชีวิตนั้นสั้นยิ่งกว่าหยดน้ำค้างเสียอีก จะตายวันตายพรุ่งก็ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าถ้าเราใช้เวลาอันแสนสั้นนี้ไปมัวหลับๆตื่นๆอยู่ในความรัก โลภ โกรธ หลง หมั่นไส้คนนั้น ปลาบปลื้มคนนี้ ริษยาเจ้านายใส่ไคล้ลูกน้องปกป้องภาพลักษณ์ (อัตตา) กด (หัว)คนรุ่นใหม่หลงใหลเปลือกของชีวิต โดยลืมไปเลยว่าอะไรคือสิ่งที่ตนควรทำอย่างแท้จริงคิดดูเถิดว่า เราจะขาดทุนขนาดไหน
ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ เขียนบทกวีไว้ว่า

''น้ำไหลอายุขัยก็ไหลล่วง
ใบไม้ร่วงชีพก็ร้างอย่างความฝัน
ฆ่าชีวาคือพร่าค่าคืนวัน
จะกำนัลโลกนี้มีงานใด
''


คนเราไม่ควรพร่าเวลาอันสูงค่าด้วยการปล่อยตัวปล่อยใจให้ตกเป็นทาสของความชอบ ความชัง มากนักเพราะถ้าเราวิ่งตามกิเลส กิเลสก็จะพาเราวิ่งทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ต่อไปไม่รู้จบกิเลสไม่เคยเหนื่อย แต่ใจคนเราสิจะเหนื่อยหนักหนาสาหัสไม่รู้กี่เท่าควรคิดเสียใหม่ว่า เราไม่ได้เกิดมาเพื่อที่จะชอบหรือไม่ชอบใครหรือเพื่อที่จะให้ใครมาชอบหรือมาชัง แต่เราเกิดมาสู่โลกนี้เพื่อทำในสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์คนหนึ่งควรจะทำเอาเวลาที่รู้สึกแย่ๆ กับคนอื่นนั้นหันกลับมามองตัวเองดีกว่าชีวิตนี้เรามีอะไรบ้างที่เป็นแก่นสาร มีงานอะไรบ้างที่เราควรทำ


นอกจากนั้นก็ควรมองกว้างออกไปอีกว่าเราได้ทำอะไรไว้ให้แก่โลกบ้างแล้วหรือยังคนทุกคนนั้นต่างก็มีดีมีเสียอยู่ในตัวเอง ถ้าเราเลือกมองแต่ด้านเสียของเขาจิตใจของเราก็เร่าร้อน หม่นไหม้ เวลาที่เสียไปเพราะมัวแต่สนใจด้านไม่ดีของคนอื่นก็เป็นเวลาที่ถูกใช้ไปอย่างไร้ค่า บางที่คนที่เราลอบมอง ลอบรู้สึกไม่ดีกับเขานั้นเขาไม่เคยรู้สึกอะไรไปด้วยกันกับเราเลย เราเผาตัวเราเองอยู่ฝ่ายเดียวด้วยความหงุดหงิด ขัดเคืองและอารมณ์เสียวันแล้ววันเล่า สภาพจิตใจแบบนี้ไม่เคยทำให้ใครมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นมาได้เลย

ลองเปลี่ยนวิธีคิด
วิธีมองโลกเสียใหม่ดีกว่าคิดเสียว่าคนเราไม่มีใครดีพร้อมหรือ เลวไม่มีที่ติไปเสียทั้งหมดหรอกเราอยู่ในโลกกันคนละไม่กี่ปี ประเดี๋ยวเดียวก็จะล้มหายตายจากกันไปหมดแล้ว  มาเสียเวลากับเรื่องไร้สาระทำไมอะไรที่ควรทำก็รีบทำเถิดปล่อยวางเสียบ้าง ความโกรธ ความเกลียดนั้นไม่มีคุณค่าอะไรต่อชีวิตอันแสนน้อยนิดนี้เลยมุ่งไปข้างหน้า ไปหาสิ่งที่มีคุณค่าให้ชีวิตดีงามดีกว่า

วิธีที่แนะนำทั้งหมดนั้น นักภาวนาเรียกว่า
''การกลับมาอยู่กับตัวเอง'' กล่าวคือ ถ้าเราเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องอยู่กับคนที่ไม่ถูกโฉลก แทนที่จะปล่อยใจให้อยู่กับ ความรู้สึกแย่ๆไปตลอด ก็ควรหันกลับเข้ามา ''มองด้านใน'' แก้ไขที่ตัวเอง อย่ามุ่งแก้ไขที่คนอื่น เพราะยิ่งพยายามแก้ไขคนอื่น ก็ยิ่งยุ่งเหมือนลิงทอดแหยิ่งเราให้ความสำคัญกับคนที่เราเกลียดมากเท่าใด สภาพจิตใจก็ยิ่งแย่ลงมากเท่านั้น

วิธีที่ดีที่สุดในการอยู่กับคนที่เรารู้สึกไม่ดีหรือเป็นปฏิปักษ์ก็คือ
การดึงความรู้สึกจากเขามาอยู่เราทุกขณะ

ได้อ่านแล้วก็ต้องบอกว่านั้นคือความจริง แต่คนเรามักมองข้ามสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้โดยปล่อยให้ความคิดที่เป็นอคติมาครอบงำจิตใจไปในทิศทางที่ไม่ถูกไม่ควร ต้องมองว่ามนุษย์ทุกคนล้วนแล้วแต่มีดีมีเสีย ปะปนกันไป หากมองแต่สิ่งที่ไม่ดีของคนอื่นเสียแล้วนั้น สิ่งที่ดีของเค้าเราก็จะมองไม่เห็น เพราะมันถูดบดบังด้วยอคติ

ต้องขอขอบคุณน้องสาวที่น่ารักที่คอยส่งข้อความดีๆ มาแบ่งปันกันอ่านเสมอนะคะ




 

Create Date : 06 สิงหาคม 2551    
Last Update : 6 สิงหาคม 2551 23:53:13 น.
Counter : 529 Pageviews.  

1  2  

Doungchampa
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]


ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




หนึ่งฤทัย
Comment
--
Friends' blogs
[Add Doungchampa's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.