บริหาร การจัดการ การตลาด พัฒนาตนเอง พัฒนาความคิด กลยุทธ์ ธรรมะ จักรราศี ฯลฯ
จัดตั้งธุรกิจ ปรับปรุงกิจการ | ไขความลับสมองเงินล้าน | การเขียนแผนธุรกิจ | บริหารคน บริหารงาน | พัฒนาความคิด
พระไตรปิฎกฉบับหลวง | แด่องค์กรที่แสนรัก | สุขใจกับเด็กสมาธิสั้น
Group Blog
 
All Blogs
 

อุบาสิกา ถวิล - บทที่ห้า - บ้านอย่างนี้ไม่มีในโลก

ป้าจำได้แม่นยำไม่มีวันลืม ถึงช่วงมีชีวิตตอนนี้ ที่บ้านธรรมประสิทธิ์ เป็นเวลาที่มีความสุขที่สุข และวันเวลาเหล่านั้นก็ผ่านไป ห่างกันนานมากถึง ๒๔ ปีแล้ว ไม่มีโอกาสได้สดชื่นเบิกบานใจ อย่างครั้งกระโน้นอีกเลย เวลาในชีวิตของป้าที่เหลืออยู่มีน้อยเต็มทีแล้ว ป้ารู้ว่าในเวลาที่เหลืออยู่นี้ จะไม่มีเหตุการณ์เหมือนหรือคล้ายอย่างที่พบนั้น เกิดขึ้นอีก ป้าจึงขอเล่าความหลังเหล่านี้ไว้เป็นอนุสรณ์ คนรุ่นเก่าของวัดพระธรรมกาย

เมื่อหลวงพ่อฯ อยู่ในเพศสมณะ ห่มผ้ากาสาวะ ซึ่งเราคนหนึ่งมีฝีมือเรื่องเสื้อผ้า ตัดเย็บจีวรถวาย ย้อมด้วยสีเหลืองงามมาก ไม่ใช่เหลืองออกแดงเหมือนของร้านค้า สีจีวรกลมกลืนเหมาะสมกับผิวพรรณผ่องใสของท่าน เหมือนเอาทองคำห่อหุ้มแท่งแก้วมณีบริสุทธิ์ หลวงพ่อฯ จึงเสมือนแม่เหล็กที่มีกำลังพิเศษ ดึงดูดผู้คน ส่วนหนึ่งนึกอยากรู้ว่าปฏิบัติธรรมดีอย่างไร ทำให้คนหนุ่มรูปหล่อความรู้ดี การงานดี มีศรัทธาบวช พวกนี้พากันมาดูแล้ว ก็พยายามฟังคำสอนและลงมือปฏิบัติ อีกส่วนหนึ่งร่ำลือกันว่าหลวงพ่อฯ เป็นพระภิกษุรูปงามมาก งามกว่าพระเอกหนังเสียอีก ก็พากันยกขบวนเป็นกลุ่มมาดู แกล้งทำเป็นสนใจ พอหลวงพ่อฯ แนะนำสั่งสอนให้ ขณะลงมือปฏิบัติ หลวงพ่อฯ หลับตา พวกนี้ก็ลืมตาจ้องหลวงพ่อฯ เป๋งทีเดียว เวลานั้นคุณยายฯ จึงต้องทำหน้าที่ป้องกัน เมื่อเห็นใครมาผิดสังเกต เช่นมานั่งเฝ้ามองทั้งวัน บางรายมีปริญญาโทจากต่างประเทศ พามารดาที่มีฐานะดีมากมาด้วย ทั้งแม่ทั้งลูกมาเฝ้ากันทุกวัน

ถ้าเป็นแขกพิเศษประเภทมาหลวงไหลพระ คิดจะชวนสึกหาลาเพศอย่างนี้ คุณยายฯ จะถามตรงๆ ให้อายกันไปทีเดียวว่า " คุณ คุณ คุณจะมาเรียนธรรมะ หรือจะมาดูพระ " ถามบ่อยเข้า ในที่สุดก็ต้องหายหน้าไปเอง

หลวงพ่อฯ ท่านไม่มีมลทินมัวหมองเรื่องสีกา ก็เพราะมีคุณยายฯ ช่วยสอดส่องนั่นเอง

พวกแขกดังกล่าวนี้ มักมาตอนกลางวัน หรือบ่ายๆ ส่วนตอนเย็นเป็นสมาชิกประจำ คือ หมู่คณะของพวกเรา ตั้งแต่หลวงพ่อบวชแล้ว หมู่คณะของเรามากันครบหน้าเป็นประจำ ป้าเองแต่เดิมเคยไปบ้างเว้นบ้าง เพราะตอนเย็นหลังเลิกงาน สามีจะขับรถแวะมารับและกลับบ้านพร้อมกัน พอถึงเวลาที่เล่านี้ ป้าก็ไม่ขาดการปฏิบัติทุกเย็น จึงให้สามีเลิกไปรับ ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งที่ถูกอีกฝ่ายโกรธ แต่เขาก็ไม่แสดงให้เห็นว่าไม่พอใจ ตรงข้ามเมื่อเห็นป้ารับหน้าที่ทำน้ำปานะไปถวายหลวงพ่อฯ ทุกเย็น ยังฝากเงินทำบุญให้ตายใจอีกด้วย

ปกติป้าเป็นคนไม่มีฝีมือเรื่องทำอาหาร หรือเครื่องดื่มอะไรเลย แต่เวลานั้นเพื่อแบ่งเบาภาระของคุณยายฯ ป้ารับทำน้ำปานะเสียเอง บางวันก็ซื้อส้มเขียวหวานไปคั้น บางวันเป็นมะเขือเทศ บางทีป้าก็เอาลูกสมอดิบมาโขลกใส่น้ำสุก แล้วกรองเอากากออก ผสมน้ำตาลเกลือ บางครั้งเป็นลูกเชอรี่

ที่ทำงานป้าอยู่ใกล้ท่าเรือคลองเตย ขึ้นรถเมล์สาย ๔ สุดสาย ก็ถึงวัดปากน้ำภาษีเจริญ ก่อนเข้าไปบ้านธรรมประสิทธิ์ของคุณยายฯ เราก็มักแวะรับประทานอาหาร ที่หน้าวัดกันบ้างที่ฝั่งคลองตรงข้ามบ้านคุณยายฯ กัยบ้าง ถ้าพบกันหลายๆ คน คนที่ทำงานแล้ว มักเป็นเจ้ามือเลี้ยง เรามักจะรับประทานซ้ำอยู่ร้านเดิมเป็นประจำ นานเข้าก็คุ้นเคยกับเจ้าของร้าน เขามักใจดีขายอาหารดี ราคาถูกให้เสมอ แถมยังเล่าเพิ่มเติมว่า การที่พวกเรารับประทานอาหาร ที่ร้านของเขา ทำให้เขาขายดีได้กำไรมาก ฟังแล้วเราก็คิดกันว่า เจ้าของร้านคงพูดเอาใจ เมื่อคุยกันและคุณยายฯ ได้ยินเข้า ท่านบอกว่า ไม่ใช่เจ้าของร้านแกล้งพูด เป็น เรื่องจริง เพราะคนปฏิบัติธรรมนั้น เป็นผู้แสวงหาบุญกุศลอยู่เสมอ จะมีเทวดาชั้นต้นประเภทหนึ่ง คอยตามตามดูแลรักษา จะกินอาหารที่ร้านใด เทวดาก็จะดลใจ ให้ร้านนั้นทำของดี สะอาด และราคาไม่แพง

เท่าที่ป้าพบ ไม่ช่แต่เรื่องร้านอาหาร แม้แต่ร้านขายของทั่วไป บางทีป้าเดินผ่านโดยไม่ซื้อเหมือนเช่นเคย แม่ค้าจะอ้อนวอนว่า ขอให้ซื้ออะไรก็ได้ แค่บาทเดียวก็ยังดี เมื่อป้าซักถึงสาเหตุ เขาก็ตอบว่า " ชั้นสังเกตดูนะคะ ไม่รู้เป็นไงพอคุณซื้ออะไรชั้นครั้งใด ประเดี๋ยวเดียว ก็จะมีคนตามมาซื้อ ของขอายดีเป็นพิเศษทีเดียวค่ะ "

ป้าคิดว่า ถ้าแม่ค้าพูดจริงก็คงเป็นเพราะ ป้าชอบซื้อของแล้วชอบให้พรแม่ค้าทุกครั้งว่า " ไปละนะ ขอให้โชคดี ขายดี " เทวดาที่คอยดูแลป้า คงทำตามที่ป้าต้องการ ตามคนซื้อมาให้แม่ค้า

นี่ป้าเถลไถลออกไปนอกเรื่อง เป็นความรู้เบ็ดเตล็ด เพื่อให้กำลังใจคนที่ประสงค์จะทำความดี ว่า มีเทวดาตามดูแลรักษาช่วยเหลือ ทั้งนี้เพราะเทวดารู้ตัวดีว่า เป็นเทวดาเพราะสร้างบุญเอาไว้ พอหมดบุญเมื่อใดก็จะต้องจุติ จึงต้องการบุญเพิ่ม แต่ในเทวภูมิไม่มีโอกาสทำบุญ จะให้ทาน ก็ไม่มีผู้รับ เพราะแบ่งกันกินกันใช้ไม่ได้ ของใครของมัน ของทิพย์ไม่เหมือนของมนุษย์ ใช้ได้เฉพาะตัวจริงๆ และมีความเป็นอยู่ ที่สุขสบายสนุกสนานเพลิดเพลิน ชวนให้ประมาทอยู่ตลอดเวลา

ย้อนกลับมาเล่าถึงเหตุการณ์ ในบ้านธรรมประสิทธิ์ใหม่ ในระยะเดือนแรกที่หลวงพ่อฯ บวช ท่านไม่มีความกังวลใจสิ่งใด จึงตั้งหน้าสั่งสอนอบรมหมู่คณะเต็มที่ โดยเฉพาะหับเด็กๆ ลูกหลานของสมาชิกในหมู่คณะ ท่านมีเมตตาเป็นพิเศษ และเด็กก็สามารถปฏิบัติได้ดี ได้ผลเร็ว ให้ทำอภิญญาจิตก็ทำได้ดีเยี่ยม ไม่ว่าจะเรื่องหูทิพย์ ตาทิพย์ ระลึกชาติได้ รู้ใจผู้อื่น หรือแสดงฤทธิ์ ทำกันได้เป็นอัศจรรย์

ป้าจะยกตัวอย่างให้ฟัง บางครั้งอากาศร้อนติดต่อกันหลายวัน เด็กๆ ที่ปฏิบัติได้ผลเหล่านี้ ทำฤทธิ์ช่วยกันเรียกฝน พวกเขาพากันตามเทวดา ที่มีหน้าที่ดูแลดินฟ้าอากาศ ให้มาช่วย วันนั้นป้าก็เห็นด้วยตาป้าเอง ขณะที่เด็กๆ กำลังทำสมาธิจิตเรื่องนี้อยู่ เมฆก็ค่อยๆ รวมตัวกันเป็นก้อนโตขึ้นๆ ทั้งที่เดิมท้องฟ้าไม่มีเมฆเลย และกรมอุตุนิยมก็พยากรณ์ว่าวันนี้ไม่มีฝนตก ในที่สุดประมาณไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ฝนก็ตกหนักทั่วกรุงเทพฯ ถึงสองชั่วโมง อากาศเย็นไปทั่ว

บางที่เกิดไฟไหม้ที่ตลาดพลู พอดีเด็กๆ กำลังนั่งสมาธิอยู่ ก็ได้ใช้อำนาจจิตดับไฟ วิธีดับใช้อำนาจจิตทั้งสิ้น ตามอมนุษย์มาช่วยบ้าง ใช้ฤทธิ์ของตนเอง เอาน้ำจากใต้ดินขึ้นมาดับไฟบ้าง มีพวกเราบางคนวิ่งไปสังเกตการณ์ สักครู่ใหญ่ก็เข้ามารายงานว่า รถดับเพลิงยังไม่ทันมาถึง ไฟก็ดับลงเองเป็นอัศจรรย์

มีอยู่ครั้งหนึ่งหลวงพ่อรองเจ้าอาวาส ถือหนังสือพระธรรมเทศนา ของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ออกไปนั่งอยู่นอกประตูบ้าน จะเปิดอ่านหน้าใด เด็กๆ ที่นั่งทำสมาธิอยู่ ก็บอกได้ทุกครั้ง ยังหลับตาอ่านข้อความในหน้านั้นๆ โดยที่นั่งหันหลังให้ และห่างกันเป็น ๑๐ เมตร มีฝากั้นอีกต่างหาก คำใดที่อ่านไม่ออก เพราะเป็นคำทางธรรม เด็กก็จะอ่านให้ฟังทีละตัว หนังสือมีรูปภาพสิ่งใด ก็จะบอกได้ถูกต้อง

เรื่องพวกนี้ผู้ใหญ่ยังไม่เห็นธรรมะ ตื่นเต้นกันมาก คือเรื่องเด็กๆ ไปเที่ยวป่าหิมพานต์ได้พบกับสัตว์ประหลาดต่างๆ พบดอกไม้ ผลไม้ ต้นไม้ และรัตนชาติ มีเพชร ทอง เงิน อัญมณีต่างๆ สวยงาม มีจำนวนมากมาย ที่ป่าหิมพานต์นั่น

เด็กๆ ไปเที่ยวด้วยอำนาจสมาธิ แล้วเล่าสิ่งต่างๆ ที่ได้พบทั้งที่กำลังหลับตาอยู่ พวกเขาสามรถใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า กับสิ่งที่พบเห็นเหล่านั้นได้ด้วย สัมผัสแล้วก็ส่งเสียงให้ฟัง " โอ้โฮ หลวงน้าครับ ลูกขนุนอะไร โตเท่าคันรถยนต์ เนื้อของมันหวานหอมอร่อยมาก ในเมืองมนุษย์ผม ไม่เคยมีกินยังงี้เลยครับ "

" ทองคำอะไรกัน มีมากเป็นภูเขาๆ เลยค่ะ ภูเขาเงิน ภูเขาเพชร มีเต็มไปหมดเลย "

" ดอกกุหลาบที่นี่ ดอกโตเป็นกาละมังเลยครับ หอมมากด้วย "

" หนูจับสัตว์ประหลาดได้แล้วค่ะ หัวเป็นช้าง ตัวเป็นราชสีห์ เค้าเรียกคชสีห์ เหรอคะ มันให้หนูขี่ด้วย ไม่ดุเลย "

เวลาไปเที่ยวป่างิ้วที่ครุฑอยู่ เมืองพญานาค สวรรค์ นรก เด็กๆ ก็เล่าได้เป็นฉาก ทำเอาคนใหญ่ที่นั่งฟังตื่นเต้น มีศรัทธาแน่นแฟ้นไปตามๆ กัน เพราะรู้อยู่ว่าลูกหลานของตน ไม่เคยทราบเรื่องราวเหล่านั้นมาก่อน เมื่อเด็กใช้ตาทิพย์ดู เห็นสิ่งต่างๆ เหล่านั้น แสดงว่าเป็นของมีอยู่จริง ความสงสัยคลางแคลงที่มีอยู่เดิม ก็ปลาสนาไปสิ้น มีความเลื่อมใสในธรรมปฏิบัติเต็มที่ กลัวบาปมาก อยากทำบุญต่างๆ ขึ้นมาทันที เพราะเชื่อมั่นว่าผลของบุญบาปมีจริง

เรื่องเที่ยวนรกสวรรค์นั้น ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่เห็นธรรมกายแล้ว มักจะถูกหลวงพ่อฯ ทดสอบให้พูดคุยกับผู้ที่เกิดในภูมินั้นว่า เมื่อเกิดเป็นมนุษย์เคยทำบาปอะไร ทำบุญอะไร จึงต้องมารับผลดังที่เห็นอยู่ นอกจากบอกกรรมของตนเองแล้ว ถ้าถามถึงที่อยู่ครั้งเป็นมนุษย์ สัตว์เหล่านั้นก็จะตอบว่าเคยอยู่ที่ไหน ตำบล อำเภอ จังหวัดอะไร ตายอย่างไร ญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ ชื่ออะไร เสียดายจริงๆ ที่เวลานั้นป้าไม่มีโอกาสเดินทางไปซักถาม พิสูจน์ตามสถานที่ที่ได้ยิน

ต้องขอย้ำไว้ตรงนี้อีกครั้งว่า การปฏิบัติธรรมที่ถูกค้อง จะไม่เน้นเรื่องหูทิพย์ ตาทิพย์ ระลึกชาติได้ รู้ใจผู้อื่น รู้ความเป็นไปในอนาคต และทำฤทธิ์ได้ ซึ่งเรียกว่าอภิญญาจิตเหล่านี้เป็นพิเศษ เพราะเป็นเพียงผลพลอยได้ เหมือนเราอ่านหนังสือออก วัตถุประสงค์เพื่อเอาไว้อ่านตำรับตำรา ที่เป็นความรู้ต่างๆ ขณะเดียวกัน เราก็สมามรถอ่านข่าวสาร หรือหนังสืออื่นๆ ออกไปด้วย

อภิญญาจิต หมายถึงจิตที่มีความรู้พิเศษ (อภิ แปลว่ายิ่ง พิเศษ อัญญา แปลว่ารู้) เหล่านี้ มีประโยชน์ยิ่งใหญ่ประการหนึ่ง คือทำให้เกิดความเลื่อมใส แก่ผู้ที่ยังคลางแคลงสงสัย

เมื่อการปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องสนุกสนาน น่าเรียนรู้ดังนี้ ทุกเย็นที่บ้านธรรมประสิทธิของคุณยายฯ จึงปรากฏว่ามีทั้งผู้ใหญ่และเด็กๆ ไปกันเต็มบ้าน หลวงพ่อฯ ก็เต็มใจในการอบรมสั่งสอนเป็นพิเศษ เพราะท่านไม่มีเรื่องต้องกังวลใจใดๆ ผู้เรียนได้รับการสอนทั้งฝ่ายปริยัติ คือฟังคำเทศนา และลงมือปฏิบัติโดยมีคุณยายฯ และหลวงพ่อฯ เป็นผู้ควบคุม ติดตามดูผลการปฏิบัติอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้คำแนะนำแก้ไข ยังแถมท้ายด้วยการฟังผู้ที่ได้อภิญญาจิตแล้วไปดูโน้นดูนี่ พูดเล่าให้ฟังด้วย ก็เกิดความสนุกสนาน เบิกบานในการเรียนทุกเย็น เหมือนเราอยู่กันในสถานที่อีกโลกหนึ่ง เป็นโลกของปัญญา และความสุข

การบวชไม่สึกของหลวงพ่อฯ มีความหมายต่อหมู่คณะมาก ความฝันของป้าที่อยากจะได้ปัญญาชน อย่างน้อยเรียนจบปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัย มาอุทิศตนเผยแพร่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาให้นิสิตนักศึกษา ตามสถาบันต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาการแพร่กระจายของลัทธิคอมมิวนิสต์ ในเวลานั้น เริ่มตั้งเค้าเป็นจริงขึ้นมา ถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ หลวงพ่อฯ บวชไม่สึก หมู่คณะฝ่านชายที่คิดประพฤติพรหมจรรย์ ก็จะต้องคิดบวชไม่สึกตาม เราก็จะได้กลุ่มพระภิกษุ ที่เป็นกำลังให้พระศาสนาขึ้นมา สิบรูปยี่สิบรูป ก็คงพอต่อการแผยแพร่ เรื่องบ้านพักชายโสด คงต้องงดกันไปโดยปริยาย แต่ป้าก็ยังไม่คิดถึงเรื่องการสร้างวัด เพราะดูเป็นเรื่องใหญ่เกินกำลังมากไป

ต่อมาวันหนึ่ง ป้าก็คิดเรื่องการสร้างวัดของเราเอง ขึ้นมาในพริบตา คิดเอาว่า " ถ้าเรามีวัดของเราเอง เราก็มีอิสระในการใช้วิธีสอน ตามแต่ที่เราเห็นสมควร เราก็จะสามารถทำงานใหญ่ฟื้นฟูหลักธรรมะและเผยแผ่ธรรมปฏิบัติได้กว้างขวางยิ่งขึ้น "

คิดเรื่องการสร้างวัดออก ป้าก็นึกไปถึง อาจารย์วรณี สุนทรเวช ผู้เป็นเพื่อน คงจะพอเป็นกำลังให้หมู่คณะได้บ้าง ป้ากลับมานั่งที่เดิม ตัดสินใจพูดกับคุณยายฯ ท่ามกลางความเงียบขึ้นว่า

" คุณแม่คะ เมื่อพระของเรา (หมายถึงหลวงพ่อ) ตัดสินใจบวชไม่สึกยังงี้แล้ว เรามาช่วยกันสร้างวัดของเราเอง ไม่ดีกว่าเหรอคะ เราจะได้ทำงานให้พระศาสนา ได้เต็มที่ ไม่ต้องห่วงว่าเดี๋ยวทำแล้วจะข้ามหน้าข้ามตา พระที่ท่านมีพรรษามากกว่า บวชมาก่อน หนูคอดยังงี้ คุณแม่ว่าดีมั้ยคะ " ป้าพูดออกไปโดยไมาทราบมาก่อนเลยว่า คุณยายฯ คิดเรื่องสร้างวัดมานานเต็มที ส่วนหลวงพ่อฯ ท่านก็คิดเรื่องสร้างวัด มาตั้งแต่ท่านมีอายุเพียง ๑๘ ปี เป็นความคิดที่พอดี มาประจวบกันเข้า ป้าเห็นคุณยายฯ ยิ้มออกมาอย่างดีใจ หลวงพ่อฯ ก็มีอาการทำนองเดียวกัน เย็นวันนั้น หมู่คณะจึงได้คุยกันเรื่องการสร้างวัด ภายหลังการนั่งสมาธิหประจำวันเสร็จ

ในเวลานั้นป้ายังไม่บอกหมู่คณะ ว่าป้ามีเพื่อนเป็นเศรษฐี เพราะป้ายังไม่ได้ตามมาเรียนปฏิบัติธรรม คนเราถ้าไม่มีศรัทธาซึ่งกันและกันแล้ว การจะบริจาคสิ่งใดให้ เป็นเรื่องยากมาก ป้าจึงคิดในใจเพียงว่า จะต้องหาทางชักชวนเพื่อนผู้นี้ มาเรียนกับคุณยายฯ ให้ได้

จะว่าป้าไม่เคยคิดสร้างวัดมาก่อนเลย ก็ไม่ถูกนัก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ก่อนรู้จักบ้านธรรมประสิทธิหลายปี ป้าเคยไปที่สวนโมกขพลาราม ของหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ เคยชื่นชมงานก่อสร้างสิ่งต่างๆ ในวัดท่าน อยากทำชีวิตตนเองที่เกิดมาแล้วชาตินี้ ให้มีประโยชน์ยิ่งใหญ่ เช่นเดียวกับพระเถระรูปนั้น แต่เมื่อคำนึงถึงเรื่องตนเองเป็นผู้หญิง โอกาสที่คิกสร้างวัด เพื่อการเผยแพร่พระศาสนาก็หมดลง ยังนึกเสียดายชีวิต ของผู้ที่ได้เกิดเป็นชายทั้งหลาย ทำไมไม่มีใครคิดทำงานใหญ่ อย่างนั้นบ้าง

พอป้ามาพบหมู่คณะที่บ้านธรรมประสิทธิ์ ความคิดเรื่องวัด ย้อนกลับมานึกถึงใหม่อีกครั้ง แม่ตนเองจะไม่ใช่เพศชาย ไม่มีทางได้บวชเป็นพระภิกษุ แต่ก็ให้การสนับสนุนหมู่คณะที่บวชได้ แค่นี้ก็นับเป็นบุญมหาศาลแล้ว

ต่อมาอีกไม่กี่วัน ผู้บังคับบัญชาที่ป้าและเพื่อนๆ เคารพมากป่วยหนัก ใกล้สิ้นใจ ป้าจึงถือโอกาส ขอร้องอาจารย์วรณี ให้ไปวัดเป็นเพื่อนป้า ป้าพาไปพบคุณยายฯ และหลวงพ่อฯ เล่าเรื่องของคนป่วย คุณยายฯ เมตตาช่วยเหลือ ท่านกล่าวว่า " คนเจ็บอยู่ต่อไปไม่ได้แล้ว หมดบุญต้องตาย ยายช่วยให้ไปอยู่ที่ชั้นจาตุม " จาตุมฯ หทายถึง จาตุมหาราชิกา สวรรค์ชั้นที่หนึ่ง

เมื่อกลับไปที่โรงพยาบาล คนเจ็บถึงแก่กรรมไปแล้วจริงๆ ครั้งนั้นป้าก็ยังไม่แนะนำอะไรมาก คงรู้จักกันว่าอาจารย์วรณี เป็นเพื่อนของป้าคนหนึ่งเท่านั้น แต่ป้าก็แอบเลียบเคียงถามแล้วว่า ท่านมีที่ดินแปลงใหญ่ ๐ บ้างหรือไม่ ได้รับคำตอบว่า " มีอยู่นะ เป็นที่นาอยู่แถวรังสิตเกือบสองร้อยไร่ เป็นที่มรดก ยังไม่เคยเห็นสักที แต่พอถามได้ว่าอยู่ตรงไหน เพราะรู้จักบ้านของคนเช่านา มีที่ดินอยู่จันทบุรีอีก แปลงใหญ่เหมือนกัน " ป้าฟังแล้วไม่สนใจเรื่องที่ดินต่างจังหวัด สนใจเฉพาะที่นาที่รังสิต แต่ก็ยังไม่พูดอะไรกับฝ่ายไหนทั้งสิ้น

เวลานั้นหมู่คณะฝ่ายชาย ที่ตั้งใจอยู่เป็นโสด ประพฤติพรหมจรรย์ สร้างบ้านพักอยู่รวมกัน เฉพาะผู้ที่ทำงานแล้ว รวบรวมเงินปลูกบ้านได้ประมาณ ๒ หมื่นบาท คุณยายฯ ให้นำเงินที่มีนั้น ไปซื้อที่ดินสร้างวัด หลวงพ่อรองเจ้าอาวาสกับเพื่อนสนิทร่างเล็ก พากันไปแสวงหา ซื้อที่นาแถวจังหวัดปทุมธานีได้มา ๑๙ ไร่ เป็นที่กลางทุ่ง ไม่มีถนนหนทางไปถึง ต้องเดินกันไปตามหัวคันนา

ถึงขนาดซื้อที่ดินดังนี้ ป้าจึงแน่ใจว่าหมู่คณะเอาจริง และที่พิเศษเหนือสิ่งอื่นใด คือป้าเชื่อมั่นในความสามารถคุณยายฯ ว่า จะทำให้ลูกศิษย์ฝ่ายชาย ผู้ตั้งสัจจะแล้วของท่าน บวชไม่สึกได้หมด และคุณยายฯ จะถ่ยทอดความรู้ความสามารถ ทางธรรมปฏิบัติ จนบุคคลเหล่านั้น เป็นกำลังของพระพุทธศาสนา ไปตลอดชีวิตของแต่ละคน โดยไม่มีใครสึกหาลาเพศ หรือประพฤติผิดพระธรรมวินัย

เพราะเชื่อมั่นในความสามารถ ของคุณยายฯ เต็มเปี่ยมดังนี้ ป้าจึงได้เล่าเรื่องของอาจารย์วรณี ให้หมู่คณะฟัง หลวงพ่อฯ จึงได้ให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ที่ทำอภิญญาจิตได้ ตรวจดูสถานที่และจิตใจผู้เป็นเจ้าของ

เมื่อดูในอนาคตังคญาณ ทุกคนเห็นตรงกันหมดว่า วัดของเราสร้างขึ้น ณ ที่นาผืนนั้น เจ้าของที่ดินจะเต็มใจยกให้สร้างวัด และเป็นสถานที่เดียวกัน กับที่สร้างวัดในพุทธกัปก่อนๆ ของหมู่คณะ เราเคยสร้างไว้ที่นั่น มาชาตินี้ก็จะมาสร้างบารมี ในสถานที่เดิมอีก

ตาทิพย์ในญาณ เห็นได้ถึงรูปร่างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ของวัด เห็นผู้คนที่มาวัด ชนิดผู้ที่เห็นพูดว่า " คนมาวัดมากมาย เฉพาะวันงานบุญใหญ่สำคัญๆ คนไหลเลยครับ มีรถยนต์ทั้งเล็ก ทั้งใหญ่นับไม่ถ้วน คนที่มาล้วนแต่แต่งกายสีขาวแทบทั้งสิ้น บางคนถึงกับนั่งเรือบินมาเลย "

ป้าฟังแล้วเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง เพราะดูเหลือเชื่อเกินไป แต่ก็ใจชื้นมีความหวังขึ้น เมื่อได้ยินคำว่า เจ้าของเต็มใจยกให้ฟรีๆ จึงกล่าววาจาอย่างมั่นใจว่า " จะไปขอที่ดินจากพี่วรณีดู ถ้าไม่ให้ก็ขอซื้อ ถ้าไม่ขายก็ขอเช่า ไม่ให้เช่าก็จะขอยืม ถ้าครั้งนี้ไม่ยอมซักอย่าง ปีหน้าก็ไปหาอีก "

ตกลงกันเวลานั้นว่า เราจะขอที่ดินสร้างวัดเพียง ๕๐ ไร่ก็พอ จะไม่พูดขอตรงๆ จะพูดทำนองขอซื้อ ป้านึกแล้วยังอดใจเสียไม่ได้ ถ้าครั้งนั้นเจ้าของเกิดบอกขายให้ เราจะเอาเงินที่ไหนที่ดินท้องนาที่ซื้อไว้เดิม ๑๙ ไร่ ก็ยังบอกขายไม่ทัน ถ้าขายได้ ก็คงเป็นแค่เงินหมื่น อาจไม่ถึงสองหมื่น เท่าที่ซื้อไว้ก็ได้ เพราะสมัยนั้นคนไม่นิยมซื้อ เรียกว่าป้าจะต้องไปติดต่อชนิดมือเปล่าแท้ๆ

ป้าได้เล่าเรื่องของหมู่คณะ ให้อาจารย์วรณี ทราบโดยย่อไว้บ้างแล้ว เมื่อวันพามาที่บ้านธรรมประสิทธิ์ เพื่อช่วยผู้บังคับบัญชาที่ตาย ดังนั้นพอถามเรื่องที่นารังสิตอีกครั้ง ท่านจึงนัดป้าไปดูด้วยกัน เพราะท่านเองก็เพิ่งไปดูมา ป้าพูดแนะเย็นวันที่ ๒๕ ตุลาคม ตอนเช้า ป้าได้ลื่นหกล้ม ชนิดเดินไม่ได้ แต่ใจของป้าก็คิดว่า " พรุ่งนี้ ป้าจะไปขอที่ดินเค้าทำวัด เป็นบุญใหญ่ เราจะไม่ยอมแพ้ เดินไม่ได้ก็จะให้คนหามไปให้ได้ " พอคิดสู้ รุ่งเช้าก็เดินได้

วันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๑๒ ป้า, หลวงพ่อรองเจ้าอาวาส และเพื่อนร่วมงานของท่านขับรถไปรับอาจารย์วรณี เราเดินทางไปยังตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ถนนเป็นลูกรังสีแดง เป็นเรื่องน่าแปลก ผินนาที่เห็น มีทางน้ำผ้านเหมือนที่เห็นกันในสมาธิจริงๆ คือมีคลองสามผ่านด้านหน้า และคลองซอยขนาดเล็กผ่านด้านหลังของเนื้อที่ แปลงนาเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ๑๙๖ ไร่เศษ ตอนด้านหลังเป็นที่ลุ่ม ในฤดูน้ำมักจะมีกอบัวเกิดขึ้นมาก ชาวบ้านเล่าว่า บางครั้งพบดอกบัวก้านเดียว มีดอกถึง ๙ ดอก

ในขณะที่เรายืนดูผืนนาเงียบอยู่นั้น อาจารย์วรณี ได้พูดอย่างตัดสินใจเด็ดขาดว่า " เรื่องที่พวกคุณคิดทำวัดกันนี้ พี่ก็เห็นดีด้วย แต่นานี้เป็นชื่อของคุณแม่พี่ ถึงแม้ท่านไม่ให้ แต่พี่จะให้พี่เป็นลูกคนเดียวของท่าน ถ้าท่านให้ พวกคุณก็สร้างวัดกันได้เร็ว ถ้าท่านให้ทั้งแปลงก็เอาไว้เถิด ไม่ต้องเอาแค่ ๕๐ ไร่หรอก " เราสามคนฟังแล้ว ยกมือพนมอนุโมทนาว่า " สาธุ " พร้อมกันนั้น มีสายฟ้าสว่างวาบเป็นทาง ในก้อนเมฆเหนือศรีษะ พร้อมกับเสียงคำรามกึกก้อง เปรี้ยงเดียว เกิดฝนตกอยู่เฉพาะบริเวณที่เรายืนอยู่

เย็นนั้นเราพากันเลยไปบ้านพักอาจารย์วรณี เพื่อกราบคุณแม่ ท่านชื่อคุณหญิงประหยัดแพทยพงศาวิสุทธาธิบดี เมื่อท่านทราบความประสงค์ของหมู่คณะเรา ท่านได้เปล่งวาจาว่า " ที่ดินที่พวกคุณจะมาขอซื้อทำวัดกันนั้น ชั้น(ฉัน)ไม่ยอมขาย แต่ชั้นจะยกให้หมดทั้งแปลงเลย "

ทันที่คุณหญิงฯ พูดจบลง ก็มีเสียงจิ้งจก ๔-๕ ตัวบนเพดาน ร้องพร้อมกันขึ้นมา จั๊ก จั๊ก จั๊ก ฯลฯ แล้วก็เงียบพร้อมกัน (ภายหลังทราบว่า เป็นการกระทำอนุโมทนาของเทวดาในบ้าน ดลใจผ่านจิ้งจก)

ครั้นแล้วอาจารย์วรณี จึงชี้แจงว่า ตามที่ป้าและหลวงพ่อรองเจ้าอาวาส ชี้แจงเรื่องการสร้างวัดไว้ เมื่อเย็นวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๑๒ นั้น ท่านได้เล่าให้คุณแม่ของท่านทราบแล้ว คุณแม่ดีใจมาก อยากจะทำบุญใหญ่ ยกที่ดินให้สร้างวัด เพราะเป็นวันเกิดครบรอบ ๘๐ ปีพอดี แต่ก็ขอดูหมู่คณะให้แน่ใจสักหน่อยว่า เป็นผู้ปฏิบัติธรรม เอาจริงกัน สำหรับตัวอาจารย์วรณีเอง ท่านกล่าวเพิ่มเติมว่า

" พี่เองก็จะร่วมทำบุญด้วย พี่มีที่ดินเป็นสิทธิส่วนตัว อยู่ข้างโรงพยาบาลกลาง ๓ ไร่ ๒ งานเศษ จะถูกทางราชการเวนคืน เพื่อสร้างโรงพยาบาลกลางเพิ่มเติม คงจะได้เงินชดเชยราว ๑๔ ล้านบาท จะมอบให้สร้างวัดทั้งหมดเลย "

คืนวันที่ ๒๖ ตุลาคม ป้าและหลวงพ่อรองเจ้าอาวาส ได้นำข่าวดีเป็นมงคลยิ่ง มาแจ้งให้หมู่คณะ ที่บ้านธรรมประสิทธิ์ทราบ คีนนั้นเราไม่สามารถคำนวณความดีใจ ของทุกคนได้ถูก

ความอดทนของป้า ทีประคับประคองไมตรีไว้ กับอาจารย์ท่านนี้ ยาวนานถึง ๑๐ ปี ไม่ใช่เวลาที่สูญเปล่า เพื่อนเชื่อถือไว้วางใจ ออกปากมอบทรัพย์สิน ให้สร้างสาธารณะกุศลด้วยความเต็มใจ คิดดูเมื่อได้ที่ดินและมีเงินขนาด ๑๔ ล้านเวลานั้น ก็เท่ากับเราจะสามารถสร้างวัดเสร็จ ภายใน ๓-๔ ปีทีเดียว แต่หลักธรรมที่ว่า ทุกสิ่งในโลกตกอยู่ในอำนาจไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็เป็นความจริงแท้ตลอดกาล วัดจึงต้องใช้เวลาสร้างถึง ๒๐ ปี เพราะเกิดอนิจจังความไม่เที่ยง ป้าจะเล่าให้ฟังต่อคือ

ต่อจากนั้นอาจารย์ท่านนี้ ก็ยินยอมมาสมัครเป็นลูกศิษย์คุณยายฯ ตามคำชักชวนของป้า นำถาดใส่ดอกไม้ ธูปเทียน มากราบฝากตัว ท่านจะมาวัดแทบทุกอาทิตย์ พร้อมด้วยอาหารอย่างดี ประณีต โอชารสยิ่ง ถวายหลวงพ่อฯ และคุณยายฯ ยังมีเหลือเผื่อแผ่ถึงหมู่คณะทุกคนโดยเฉพาะตัวป้า จะต้องถูกท่านเกณฑ์ให้รับประทาน มากกว่าใครๆ บางครั้งป้าอิ่มแล้ว หรือไม่ชอบอาหารชนิดนั้นๆ ก็ต้องอดทนรับประทาน ให้อีกฝ่ายพอใจ เป็นอยู่อย่างนี้เสมอมา

ครั้นแล้ววันสำคัญที่สุดวันหนึ่งได้เกิดขึ้น เป็นวันพลิกผันชีวิตของป้า ให้สู่มรสุมส่วนตัวอันใหญ่หลวง วันนั้นเป็นวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๑๒ ที่บ้านธรรมประสิทธิ์ จะมีพิธีตั้งสัตยาธิษฐาน ของบรรดาผู้ต้องการประพฤติพรหมจรรย์ เพิ่มเติมจากปีที่แล้ว ซึ่งมีเพียง ๔ คน แต่ปี ๒๕๑๒ จะเพิ่มอีกนับ ๑๐ คน ส่วนใหญ่เป็นชายหนุ่ม หญิงสาวโสด มีแม่ม่ายอยู่เพียงรายเดียว ทุกคนแจ้งความประสงค์ไว้กับคุณยายฯ ล่วงหน้า เพื่อให้ท่านพิจารณาอนุญาต คุณยายฯ เป็นผู้ตัดสิน ว่าจะยินยอมหรือไม่ มีหลายรายที่คุณยายฯ ไม่อนุญาต โดยเฉพาะเด็กๆ เป็นถูกคุณยายฯ ปฏิเสธเด็ดขาด จะมีบ้างบางคนที่หลวงพ่อฯ ขอร้องคุณยายให้อนุญาต ซึ่งคุณยายก็ใจอ่อนยินยอมอนุญาต

คนชุดหลังนี้มักจะรักษาสัญญา ครองตัวประพฤติพรหทมจรรย์อยู่ต่อมาได้ ๓ ปีบ้าง ๕ ปีบ้าง ๗ ปีบ้าง สุดท้ายก็กระทำได้ไม่ตลอด ดังที่คุณยายฯ ทราบล่วงหน้าทุกราย

(พรหมจรรย์ หมายถึง ความประพฤติอย่างพระพรหม คือไม่ยินดีในกามคุณห้า รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส การยินดีในเพศตรงข้ามจะเป็นเพียงเพื่อนรักหรือคนรัก เป็นสิ่งไม่ถูกทั้งสิ้น การกระทำที่จะทำให้เกิดเป็นพรหม จะต้องเป็นผู้บำเพ็ญเพียรทางสมาธิจิต จนได้ฌาน และอยู่ในฌานจิตเสมอๆ แม้เวลาตาย ฌานก็ไม่เสื่อม ตายแล้วจะไปบังเกิดในพรหมโลก จิตที่ได้ฌาน จะไม่มีเรื่องกามคุณห้าเกี่ยวข้องด้วยเลย

พรหม แปลว่า ผู้ประเสริฐ คำว่า จรรย์ เป็นคำเดียวกับคำว่า จริยา แปลว่าความประพฤติ พรหมจรรย์จึงแปลว่า ความประพฤติอันประเสริฐ หรือความประพฤติอย่างพระพรหม )

พิธีตั้งสัจจะนี้ เป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ คุณยายฯ จะทำสมาธิชั้นสูง อาราธนาพระธรรมกายภายในทุกพระนิพพาน ตลอดจนเทพยดาทุกชั้น รูปพรหม อรูปพรหมทั้งหมด มารับรู้เห็นเป็นพยาน ใครที่ปฏิบัติตามสัจวาจาได้ จะได้บุญมากมายเป็นมหาศาล ชนิดคำนวณไม่ไหว การตั้งสัจจะ ต่อหน้าพระธรรมกายในพระนิพพาน ต่างกับการตั้งสัจจะกับคนธรรมดาตรงนี้

ครั้งนั้นป้าเองไม่ได้คิดฝัน ว่าตนเองจะมีบุญเรื่องตั้งสัตยาธิษฐาน ประพฤติพรหมจรรย์เพราะเป็นคนแต่งงานแล้ว ชีวิตครอบครัวค่อนข้างราบรื่น ยังมองไม่เห็นทางเป็นม่าย แต่ก็อยากไปเห็นและนั่งร่วมอยู่ในพิธี คิดว่าแค่ได้อนุโมทนาบุญ กับคนที่ทำได้ ตนเองก็จะได้บุญถึงครึ่งหนึ่ง บุญนี้อาจเป็นปัจจัย ส่งผลให้ได้เกิดชาติหน้า มีโอกาสประพฤติพรหมจรรย์บ้างก็ได้

ป้าได้ชวนอาจารย์วรณี ให้ไปร่วมในพิธีด้วย ซึ่งท่านก็รับคำเป็นอย่างดี บอกว่า " ชั้นอาจตั้งสัจจะกับพวกเค้าด้วยนะ เพราะยังไงชั้นก็ไม่แต่งงานแล้ว

ในพิธีวันนั้นเริ่มต้นด้วยการนั่งสมาธิ เพื่อให้ใจหยุดนิ่ง ใสสะอาด คุณยายฯ เป็นผู้เรียกชื่อแต่ละคน โดยเรียกคนที่เคยตั้งสัจจะไว้ก่อนในปีที่แล้ว ให้กล่าวคำปฏิญาณซ้ำ แล้วจึงเรียกคนใหม่ เมื่อคุณยายฯ เรียกชื่อผู้ใด ผู้นั้นก็กล่าวถ้อยคำ ที่เปรียบเสมือนให้สัญญาต่อตนเอง และหมู่คณะ ออกมา ส่วนใหญ่ต่างคนต่างเตรียมตัวมาก่อน บางคนกล่าวยาวมาก ต้องอ่านกันเป็นหน้ากระดาษ คนที่กล่าวเอาใจความสั้นๆ มักพูดปากกล่าว ข้อใหญ่ใจความมีเรื่อง การประกาศเป็นศัตรูกับกามคุณ ๕ คือรูป กลิ่น เสียง สัมผัส และลงท้ายด้วยการประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ยินดีในเรื่องทางเพศ ไม่แต่งงานไปจนชั่วชีวิต

เมื่อจบคนหนุ่มคนสาวลงแล้ว ก็ถึงคนที่เป็นม่ายและเป็นโสด ป้าพนมมืออนุโมทนาไปเรื่อยๆ นั่งอยู่ติดกันกับอาจารย์วรณี ในใจป้านึกชื่นชมยินดีกับทุกคน พร้อมทั้งเสียดายตนเองที่ไม่มีโอกาส มีคนมีครอบครัวอีก ๓-๔ คน มาอนุโมทนาแบบเดียวกับป้า คุณยายฯ ก็ไม่เรียกคนเหล่านั้นให้กล่าวสัจจะวาจา ในที่สุดจึงถึงอาจารย์วรณี ท่านก็กล่าวคำปฏิญาณว่า จะประพฤติพรหมจรรย์และจะช่วยสร้างวัด

อาจารย์วรณีกล่าวจบลง ทุกคนก็คิดกันว่าพิธีคงจะเสร็จ แต่ทันใดนั้นเอง เสียงคุณยายฯ ดังขึ้นชัดเจนถามป้าว่า " คุณถวิล จะไปกับยายรึเปล่า ถ้าไปก็ตั้งสัจจะมา "

ในความรู้สึกของป้าได้ยินเสียงคุณยายฯ ราวเสียงฟ้าผ่า คงจะเป็นเพราะความตกใจคาดไม่ถึงว่าคุณยายฯ จะกล่าวคำพูดประโยคนี้

คำพูดนั้นเป็นประโยคคำถามก็จริง แต่ใครเล่าจะกล้าปฏิเสธ ยิ่งเป็นป้าด้วยแล้ว หนทางขัดขืน ยิ่งไม่มีเลย สิ่งบังคับที่สำคัญอันดับหนึ่งคือ อาจารยผู้เป็นเพื่อน นั่งอยู่ติดกับป้า ท่านก็อุตส่าห์ให้ที่ดินสร้างวัด ให้เงินสร้างด้วย ยังยอมประพฤติพรหมจรรย์ ตามหมู่คณะ แล้วป้าซึ่งเป็นผู้ชักชวนท่าน จะพูดกับคุณยายฯ ว่า " หนูไม่ไปกับคุณยายหรอกค่ะ ได้อย่างไร คำว่าไปหมายถึงสร้างบารมีร่วมกับคุณยายฯ เพื่อเข้าสู่พระนิพพาน ถ้าปฏิเสธออกไป ก็เหมือนป้าเป็นคนไม่เอาจริง ชวนให้คนอื่นทำ แต่ตนเองไม่ยอมทำ นับเป็นคนใช้ไม่ได้ คนชวนต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี จึงสมควร

สิ่งสำคัญรองลงมา คือคุณยายฯ ถามต่อหน้าหมู่คณะ นั่งกันอยู่ในพิธีนั้นประมาณ ๓๐ คน ถ้าปฏิเสธออกไป หรือพูดหาข้ออ้างอะไรๆ ทุกคนจะต้องเสียใจ นึกตำหนิแน่นอน เพราะแทบทุกคน เว้นอาจารย์วรณี แม่ม่ายลูกติด และอาจารย์พยาบาล ซึ่งตั้งสัจจะไปหมดทั้งสามคนแล้ว ไม่มีใครอายุมากเท่าป้า ป้าเตือนตัวเองว่า " พวกเค้าเป็นเด็กหนุ่ม เด็กสาว อายุน้อยกว่าเราทุกคน ยังตัดใจสร้างบารมีถึงเพียงนี้ เราแก่มากแล้ว ผ่านทุกข์สุขทางโลกมาโชกโชน ยังจะคิดอะไรอยู่ จึงจะสละไม่ได้ น่าอายนัก "

ประการสุดท้าย ที่นับเป็นความสำคัญด้วยคือ ป้าคิดว่า " ในชั่วชีวิตนี้ เราไม่สามารถหาเงินเป็นสิบล้าน ร้อยล้าน มาสร้างวัดได้ แต่ถ้าเรารักษาศรัทธา ของอาจารย์ท่านนี้ ไว้ให้มั่นคง ทรัพย์สมบัติที่ท่านจะเสียสละให้ สร้างวัดได้เหลือเฟือ ทั้งที่รู้ว่าถ้าตั้งสัจจะไปแล้ว อาจจะเกิดปัญหาส่วนตัวก็ต้องยอม เพราะโอกาสสร้างวัดมีน้อยเต็มที ชาตินี้มีโอกาสแล้ว อย่าให้เสียประโยชน์ไปเลย ทั้งเราก็เคยพูดไว้กับคุณยายฯ แล้วว่า จะติดตามสร้างบารมีกับท่าน

คิดดังนี้เสร็จชั่วพริบตาเดียว ป้าก็ตัดสินใจเด็ดขาด ตอบคุณยายฯ ว่า " ค่ะ " แล้วก็พูดออกไปโดยอัตโนมัติ เป็นเนื้อความว่า " จะไม่ยินดีในกามคณห้า จะช่วยสร้างวัดและปฏิบัติธรรมให้ได้ผล ช่วยเผยแผ่ธรรมปฏิบัติ วิชชาธรรมกายให้กว้างขวาง เมื่อช่วยกันสร้างวัดเสร็จแล้ว จะขออนุญาติครอบครัว ออกบวชเป็นอุบาสิกา หรือมิฉะนั้นก็จะลาครอบครัว อีก ๗ ปีภายหน้า เป็นอุบาสิกาช่วยงานพระศาสนา ไปจนชั่วชีวิต "

ป้ากำหนดเอาเวลาอีก ๗ ปี เพราะคิดถึงว่า ตนเองจะได้รับราชการครบ ๑๙ ปี ใช้หนี้ทุนที่รัฐบาลส่งเรียนมา จนสำเร็จการศึกษา และเวลา ๗ ปี ก็นานพอที่จะชักนำคนในครอบครัวให้หันมาสนใจใฝ่ทางธรรม เช่นเดียวกับป้าได้

หลังพิธีตั้งสัตยาธิษฐานในวันนั้นกันแล้ว ทุกคนในหมู่คณะเบิกบานใจกันมาก มองเห็นความสำเร็จ ในการสร้างวัดอยู่เบื้องหน้า ดูจะไม่มีปัญหาและอุปสรรคใดๆ

อย่างไรก็ดี เราก็ยังไม่สามารถลงมือกระทำงานสิ่งใด ตามที่ต้องการ ในทันทีนั้นได้เพราะเรามีตัวเงินสดอยู่ที่คุณยายฯ เพียงสามพันสองร้อยบาทเท่านั้น เป็นยอดเงินเริ่มแรกของการทำวัดทั้งวัด ป้าทราบว่าอจารย์เพื่อนป้า ท่านมีเงินก้อนใหญ่อยู่บ้าง แต่ท่านก็เพิ่งเข้ามาร่วมงาน กับหมู่คณะเราใหม่ๆ ยังไม่รู้จักจิตใจซึ่งกันและกันดีพอ ถ้าป้าจะออกปากขอบริจาค ให้ท่านเบิกเงินสดมาให้ในทันที ย่อมเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมนัก หมู่คณะควรจะแสดงความสามาถ หาเงินจากที่อื่นมาสมทบ ให้เห็นความสามารถก่อน

ทั้งเรื่องสร้างวัด เราจะทำในชื่อของคนใดคนหน่ฝไม่ได้ เพราะเราจะต้องบอกบุญทั่วๆ ไป จึงจำเป็นจะต้องกระทำในรูปนิติบุคคลเป็นมูลนิธิ อาจารย์วรณี กรุณาไปเชิญ นายอภัย จันทวิมล ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในเวลานั้น มีศักดิ์เป็นพี่ชายของท่าน มาเป็นประธานมูลนิธิให้ ตั้งชื่อว่ามูลนิธิธรรมประสิทธิ์ ตามชื่อบ้านของคุณยายฯ อาจารย์วรณีบริจาคเงินจดทะเบียนมูลนิธิ ครั้งแรก ๕ หมื่นบาท เป็นประเดิม

แต่เนื่องจากเงินจากการเวรคืนที่ดิน ข้างโรงพยาบาล ไม่ใช่ได้มาง่ายๆ ต้องผ่านระเบียบและขั้นตอนต่างๆ ของทางราชการ สิ้นเวลาเป็นปีสองปี เราไม่สามารถถอยได้ เราต้องลงมือสร้างโดยเร็วที่สุด เพราะหมู่คณะต้องการให้คุณหญิงฯ ผู้เป็นเจ้าของที่ดินได้เห็นวัดก่อนตาย

เย็นวันหนึ่ง ก่อนนั่งปฏิบัติธรรมตอนเย็นประจำวัน หลวงพ่อฯ ได้เอ่ยปากกับป้าว่า " พี่ หวิน หาที่ดินมาสร้างวัดได้แล้ว ต้องหาเงินมาสร้างวัดด้วย "

ป้าฟังคำสั่งแล้ว เหมือนมีภูเขาทั้งลูกหล่นมาทับ เพราะนับตั้งแต่ครั้งแรก ที่รู้จักหลวงพ่อฯ ป้าก็รู้สึกต่อท่านดังที่เล่าไว้ข้างต้นคือ รู้สึกเกรงใจมาก ถ้าให้ช่วยทำสิ่งใดอยู่ในวิสัยที่ช่วยได้ ต้องทำให้ทันที ทนไม่ได้ที่จะเห็นท่านผิดหวัง

เย็นวันนั้น ป้านั่งปฏิบัติธรรมไม่ได้เรื่องอะไรเลย ใจคิดฟุ้งแต่เรื่อง " จะเอาเงินที่ไน มาให้ท่านสร้างวัด จะเอาเงินที่ไหน จะเอาเงินที่ไหน " คิดถึงสมบัติของพ่อแม่ มีที่นาเป็นร้อยไร่ก็จริง แต่ราคาสมัยนั้นก็ไร่ละพัยบาท เงินแสนเดียวจะทำอะไรได้ แค่ค่าขุดคูน้ำ รอบที่สร้างวัด คิดกันแล้วก็ราคาไม่ต่ำกว่าสามแสนบาท ป้าคิดถึงเพื่อนๆ ที่มีฐานะอื่นๆ อีกหลายคน ล้วนแต่มีครอบครัว มีลูกเต้าหลายคน ใครจะมาคิดบริจาคทุ่มทั้งตัว เหมือนอาจารย์วรณี ซึ่งเป็นโสดตัวคนเดียว

คิดถึงสมบัติอาจารย์ท่านนี้ ความจริงท่านพูดกับป้าว่า ท่านจะให้สมบัติที่มีอยู่ทั้งหมดด้วยซ้ำไป เพื่อช่วยสร้างวัด แต่บังเอิญสมบัติของท่านแทบทั้งหมด เป็นอสังหาริมทรัพย์ เป็นที่ดินเสียส่วนใหญ่ ที่ดินที่พาหุรัด บางกระบือ สวนพลู ป้าลองคิดราคาอย่างถูกที่สุดราวครึ่งนีงของราคาสมัยนั้น ท่านมีทรัพย์เป็นเงินราว ๒ ร้อยล้านบาท สร้างวัดได้อย่างไม่ต้องง้อใคร

แต่การเร่งรัดให้ท่านขายทันใด ในขณะนั้น ไม่ได้แสดงความสามารถ ของหมู่คณะ อาจารย์ท่านนี้อาจหมดศรัทธา ป้าจึงพูดอะไรไม่ออก ยิ่งเมื่อหลวงพ่อพูดประโยคข้างต้น ป้าจึงวุ่นวายใจ

ยิ่งคิดยิ่งฟุ้งวุ่นวาย ยิ่งนึกอะไรไม่ได้เลย จึงพยายามหยุดคิด เอาใจไว้ที่ศูนย์กลาวกายให้นิ่งที่สดเท่าที่จะนิ่งได้ เห็นสิ่งใดใสๆ ก็มองดูสิ่งนั้นนิ่งอยู่

จนเกือบถึงเวลาเลิก ใจก็ถอนออกมา ครั้นแล้วความคิดอย่างหนึ่งก็เกิดขึ้น คือป้าเคยอ่านประวัติพระภิกษุบางรูป และประทับใจในความคิด และการทำงานของท่าน เห็นว่าศรัทธาของป้าเกิดได้จากการอ่าน " ก็ถ้าเราเอาความจริงใจของหมู่คณะทุกคน ออกมาเขียนเป็นหนังสือดูบ้าง ก็น่าจะใช้เรียกศรัทธาจากผู้ที่อ่านพบได้ "

พอคิดได้ดังนั้น เมื่อเลิกนั่งสมาธิกันแล้ว ป้าจึงเสนอเรื่องนี้ต่อหมู่คณะ เมื่อถูกซักถามว่า " จะให้เขียนทำนองไหน " ป้าก็ตอบว่า " เขียนประวัติของตนเองว่า ทำไมจึงมาปฏิบัติธรรม และได้รับผลดีอย่างไร ตั้งใจจริงช่วยกันสร้างวัดขนาดไหน ขนาดสละชีวิตอุทิศให้พระพุทธศาสนากันเลย นั่นแหละ เอาความจริงใจออกมาเล่า คนอ่านแล้วเกิดศรัทธา ก็จะมาช่วยสร้างวัดกันเอง ช่วยกันเขียนทุกคนเลย หนังสือเล่มนี้เท่ากับรวมเรื่องของเราทุกคน "

ข้อเสนอของป้า ไม่มีใครคัดค้าน ทุกคนเห็นด้วยเป็นเอกฉันท์ มีบางคนอ้างว่าเขียนไม่เป็น คนที่คิดว่าเขียนได้รับปากจะช่วยแก้ไขให้ เวลาที่ป้าเสนอความคิดนั้น ปลายปี ๒๕๑๒ เราว่าจะส่งหนังสือ ให้ทันเทศกาลปีใหม่ ๒๕๑๓ ถือเป็น ส.ค.ส. ส่งตามผู้ที่รู้จักคุ้นเคย ของทุกคนและตามคนที่สมควรต่างๆ ตลอดจนสถาบันใหญ่ๆ เช่นมหาวิทยาลัย ห้องสมุดประชาชน ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ คือเป็นหนังสือเสี่ยงบารมี ตามหาผู้คนที่เคยทำบุญร่วมกันมา ในชาติปางก่อน เราอธิษฐานจิต ให้บุญเก่าบันดาล ให้ได้มีโอกาสอ่านหนังสือของเรา และมาร่วมทำบุญด้วยกันในชาตินี้อีก

เมื่อเป็นที่ตกลงกันดังนี้ ต่อจากนั้นทุกเย็น ต่างคนต่างมาปฏิบัติธรรม เลิกปฏิบัติแล้วก็เขียนเรื่องของตนเอง แจกกระดาษฟุลแสก๊ปคนละ ๓-๔ คู่ ดินสอคนละแท่ง นั่งหมอบเขียนกับพื้นบ้าน เขียนไปทิ้งไป เขียนใหม่ แม้แต่หลวงพ่อฯ ก็ต้องเขียนเรื่องของท่านเองด้วย ทั้งเด็กทั้งคนใหญ่รวม ๒๐ คน ช่วยกันเขียน ทุกคนมีกำลังใจในการเขียนมาก เพราะคุณยายฯ นั่งสมาธิอยู่ตลอดเวลาที่พวกเราเขียน ท่านกล่าวว่า

" ยายอาราธนาบุญจากพระนิพพาน เอาบุญนั้นคุมตัวอักษรทุกตัว ที่พวกคุณเขียน ใครอ่านแล้วให้เหมือนไฟลนก้น ทนอยู่ไม่ได้ ต้องมาช่วยพวกเราสร้างวัด หนังสือเล่มนี้จะมีค่ามาก คนจะตามหาอ่านกันจนสิ้นลม "

ครั้นแล้วหนังสือก็เขียนเสร็จ ๒๐ เรื่อง เงินค่าพิมพ์ไม่มี อาจารย์วรณี เป็นคนออกทั้งหมด ๓ พันบาท พิมพ์ครั้งแรกหนึ่งพันเล่ม ขนาดเหมือนสมุดกว้าง ๗ นิ้วยาว ๑๐ นิ้ว ออกแบบหน้าปกสีเขียวสด ให้คนเห็นแล้วสนใจ ตัวหนังสือสีเหลือง ชื่อหนังสือ " เดินไปสู่ความสุข " ซึ่งเป็นชื่อที่เด็กๆ ผู้ปฏิบัติธรรมได้อภิญญาจิต เอาธรรมกายของเขาขึ้นไปถามพระธรรมกายในพระนิพพาน ได้มา ๕ ชื่อ อีก ๔ ชื่อ มีคำทางธรรมปนอยู่ หมู่คณะเห็นว่าชื่อเดินไปสู่ความสุขเป็นชื่อเหมาะที่สุด เพราะทุกคนต้องการความสุข จึงตัดสินใจเอาชื่อนี้ หนังสือหนา ๑๒๒ หน้า

ก่อนแจกป้าเห็นหนังสือของเราอ่านแล้วสนุก เกรงคนที่ไดรับจะเก็บไว้เอง จึงได้เขียนคำว่า " อย่าลืมส่งต่อ " ด้วยลายมือป้าเอง ตัวอักษรโตราว ๒ เซนติเมตร อัดสำเนา ตัดแปะไว้ที่มุมบนซ้ายมือ ให้มองเห็นเด่นๆ คนรับจะได้ช่วยส่งหนังสือเล่มนี้ ต่อกันไปเรื่อยๆ ถ้าเล่มหนึ่งอ่านกันได้ ๑๐๐ คน พันเล่มก็คงจะมีผู้รู้เรื่องการสร้างวัด เป็นหมื่นคน คนมีบุญที่คิดช่วยเราคงมีอยู่ ในจำนวนเหล่านี้บ้าง

จริงดังที่คาดคิด หลังจากผ่านปีใหม่ไปแล้วไม่นาน ได้มีผู้มาทำบุญที่บ้านธรรมประสิทธิ์ทั้งที่มาด้วยตนเอง และที่ส่งมาทางไปรษณีย์ แม้จำนวนเงินแต่ละรายไม่มากนัก แต่เมื่อรวมๆ กันก็คงพอให้เราสามารถเริ่มงานได้ งานชิ้นแรกก็คือการขุดคูน้ำล้อมรอบวัด ชิ้นที่สองคือ หาสถาปนิกเขียนแบบแปลนวัด และแปลนศาลา

การขุดคูน้ำไม่ต้องมีแบบแปลนอะไรมาก สิ่งสำคัญคือต้องมีเงินค่าจ้างคนขุด และคนคุมงาน เงินที่มีผู้บริจาคก็พอมีอยู่บ้าง ป้าเองเวลานั้น ก็เริ่มชักชวนผู้คนบริจาค จำได้ว่าคืนวันรุ่งขึ้นจะมีการประชุมครูในโรงเรียน ที่ป้าเป็นหัวหน้าสถานศึกษาอยู่ ป้าตัดสินใจขออนุญาตสามี เอาแหวนเพชรที่เขาให้ป้าไว้ ในวันแต่งงานบริจาคสร้างวัด ความจริงป้าเสียดายมาก เพราะเป็นของชิ้นเดียว ที่มีค่าที่สุดของป้า แต่เมื่อนึกถึงว่า ถ้าเราจะชวนผู้อื่นบริจาค โดยเราไม่กระทำให้ดูเป็นตัวอย่าง การชวนนั้นมีผลน้อย ป้าจำต้องคิดตัดใจ ทั้งเข้าใจถ่องแท้ว่า บุญที่จะได้จากการร่วมสร้างวัดนั้น มีมากว่าการหวงแหนก้อนหิน ที่สมมุติกันว่ามีค่านี้มากมายนัก สามีของป้าเองไม่เต็มใจ พูดอนุญาตอย่างเสียไม่ได้ว่า " ตามใจตุณสิ " น้ำเสยงนั้นเหมือนจะบอกว่า " ต่อไปอย่าหวังว่าจะซื้อให้ใหม่ "

ที่ป้ารู้ว่าเขาไม่เต็มใจ นอกจากฟังน้ำเสียงและดูกิริยาท่าทางแล้ว ยังได้รับคำบอกเล่าจากเพื่อนว่า สามีของป้าไปบ่นให้เขาฟังว่า " ดูซิ เมียผมบ้าบุญมากไปแล้ว แหวนแต่งงานที่เราให้ไว้ ก็เอาไปบริจาคได้ "

การตัดสินใจของป้าได้ผลตามที่คาดไว้ เมื่อป้าประกาศในที่ประชุม ปรากฏว่ามีผู้บริจาคตาม แทบทุกคน ทั้งที่เป็นเงินและเครื่องประดับ มีครูถอดแหวน สายสร้อย ต่างหูร่วมกับป้าเต็มฝ่ามือ

ป้านำเครื่องประดับที่มีค่าเต็มฝ่ามือนั้น ไปมอบให้คุณยายฯ เพื่อใช้ขายนำเงินมาประเดิมสร้างวัด เครื่องประดับเหล่านี้ พิจารณาตามความจริงแล้ว เป็นเพียงสิ่งที่ทำมาจากหินจากแร่ เมื่อใช้ฝีมือตกแต่งให้ประณีต ก็นิยมกันว่า เป็นของมีค่า พยายามแสวงหามาประดับร่างกาย

ของที่นำมาประดับร่างทุกชนิด ถ้าเป็นของสวยงาม มันก็งามอยู่ที่ตัวสิ่งของ ไม่เคยทำให้ผู้ประดับงามขึ้นได้จริง ผมเคยหงอก ฟันเคยหัก หนังเคยเหี่ยว เอาเครื่องประดับราคาเป็นร้อย เป็นพันล้านมาแต่งให้ ร่างกายก็ยังเป็นเหมือนเดิม ที่นิยมกันว่า เมื่อตกแต่งแล้วทำให้ดูสวยมีสง่าราศีขึ้น ก็เป็นเพียงค่านิยมที่สมมุติกัน อาจเป็นเพราะนิยมว่า คนที่ประดับกายด้วยของเหล่านั้น เป็นคนมีฐานะดีมากกว่า

คุณของการใช้เครื่องประดับ มีเพียงเท่านั้น คือโอ้อวดให้ผู้อื่นเห็นฐานะของผู้แต่ง

แตโทษมีมากหลายประการ เช่นต้องลำบากในการแสวงหา และดูแลรักษา ได้เงินมาแทนที่จะใช้เงินนั้น ทำประโยชน์ให้ตนและครอบครัว อุปการะผู้มีพระคุณ ทำสาธารณะประโยชน์อื่นๆ ให้เป็นบุญกุศลแก่ตนในภพหน้า กลับนำมาใช้ซื้อของเหล่านี้ แต่งได้แล้ว ไม่ใช่พอใจอยู่เพียงนั้น เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ก็ต้องแสวงหาเพิ่มใหม่ ให้ทันต่อความนิยม จะเรียกว่า เครื่องแต่งกายเหล่านี้ มาตัดรอนโอกาสทำความดี ก็ไม่ผิด

ยังมีโทษที่ร้ายแรงอีกประการ คือเป็นอัตรายถึงชีวิต ล่อใจเหล่ามิจฉาชีพให้คิดแย่งชิงจี้ปล้นทำร้าย ใครหลงไหลของเหล่านี้ มักทำให้จิตใจคับแคบ ชอบหวงแหนและอิจฉาริษยา แข่งดีกับผู้อื่น ไม่อยากเห็นใครมีของมีค่าประดับกาย มากกว่าตน

ใครก็ตามที่สามารถตัดใจ สละของมีค่าที่ตนหวงแหน ออกเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมได้ นับว่าได้บำเพ็ญมหาทานกุศล ปัจจุบันก็ได้สติปัญญาและความปีติใจ ครั้งใดที่เห็นเครื่องแต่งกาย ชนิดที่ตนเองเคยบริจาค ก็จะมีความอิ่มใจ ว่าได้ฝากทรัพย์ไว้ในที่ปลอดภัย เพื่อเป็นเสบียงติดตัว มีจิตใจคลายจากความยึดถือ อยากได้ของผู้อื่น ในอนาคตภายภาคหน้า บุญกุศลย่อมส่งผลให้มีผู้มีรูปร่างหน่าตาผิวพรรณ นิสัยใจคอ ความประพฤติงดงาม มีทรัพย์มาก เหล่านี้เป็นต้น

เรื่องการบริจาคเครื่องประดับนั้น ป้ามิได้กระทำครั้งเดียว ต่อมาเมื่อสร้างศาลาก็ได้บริจาคสร้อยคอทองคำหนัก ๖ บาท สร้างโบสถ์ก็บริจาคเข็มขัดนาก เป็นอันว่าเครื่องประดับทั้งหมดที่มีอยู่ของป้า ฝังไว้ในพระศาสนา ต่อจากนั้นมา ไม่เคยคิดจะแสวงหาเครื่องประดับชิ้นใหม่ มีทรัพย์สินสิ่งใดก็คิดแต่เรื่องบริจาคเพื่อสร้างวัดอย่างเดียว




 

Create Date : 23 เมษายน 2551    
Last Update : 23 เมษายน 2551 11:12:53 น.
Counter : 1375 Pageviews.  

อุบาสิกา ถวิล - บทที่สี่ - เชื่อมั่นคำอธิษฐาน

เหตุการณ์ที่บ้านธรรมประสิทธิ์ บ้านพักของคุณยายฯ ดำเนินมาอย่างที่ป้าเล่าไว้ข้างต้นทุกวัน ใครมาพบเห็นก็มักกล่าวชมเชย และแสดงความรู้สึกชื่นใจ ในการต้อนรับของหมู่คณะเสมอมา

แล้วความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ จึงเกิดขิ้นในปี ๒๕๑๒ เดือนมีนาคม หลวงพ่อเจ้าอาวาสของเรา เรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาประกอบอาชีพทำงานในบริษัทจัดสรรที่ดิน มีรายได้ค่อนข้างดีกว่าอาชีพรับราชการถึง ห้าเท่าตัว ท่านตั้งใจจะรวบรวมเงิน ช่วยหมู่คณะฝ่ายชาย ที่ตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อสร้างบ้านพักชายโสดอยู่รวมกัน อีกประการหนึ่ง ก็เป็นการรอดูจังหวะที่ท่านจะขออนุญาตคุณพ่อเพื่อบวชตลอดชีวิต

เท่าที่ป้าทราบ เมื่อหลวงพ่อเจ้าอาวาสมาเรียนธรรมปฏิบัติกับคุณยาย และได้ผลของการปฏิบัติ เป็นที่ถูกใจคุณยายฯ ใหม่ๆ นั้น ท่านเห็นคุณค่า มีศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก จนกระทั่งไม่ต้องการเรียนในมหาวิทยาลัยอีกต่อไป ต้องการบวชเป็นพระภิกษุ เพื่อศึกษาธรรมปฏิบัติ ให้แตกฉาน แต่ท่านถูกคุณยายห้ามปรามท้วงติงว่า " คุณต้องอดทนเรียนให้จบ เรียนให้ได้ปริญญา จะได้ไม่มีใครดูถูก ไม่งั้นใครเค้าจะพูดได้ว่า เรียนทางโลกไม่ได้ เลยหนีมาบวช " ท่านจึงอดทนเรียน

พอเรียนจบแล้ว หลวงพ่อเจ้าอาวาสก็มีหน้าที่ ให้การอบรมสั่งสอนหมู่คณะอยู่ทุกๆ เย็น บางทีก่อนนั่งทำสมาธิจิต ท่านกล่าวถึงอานิสงส์ของการประพฤติพรหมจรรย์ ว่าสามารถทำให้มีโอกาสดียิ่ง ในการสร้างบุญสร้างบารมีต่างๆ ป้าฟังแล้วซาบซึ้งเป็นที่สุด เพราะตนเองพลาดพลั้ง ต้องมีชีวิตครองเรือน ท่านพูดแง่ใดมุมใด ป้าก็เห็นจริงหมดทุกเรื่อง เพราะตนเองประสบอยู่ชัดแจ้ง แค่จะหาโอกาสมาวัดก็ยากนัก

ยิ่งเรื่องการทำทาน พอมีครอบครัว จะคิดบริจาคสิ่งใดก็ห่วงหน้าพะวงหลัง เกรงรายได้ไม่พอเลี้ยงสมาชิกในบ้าน

เรื่องศีล ๘ ไม่มีทางถือได้ เพราะไม่สามารถถือข้อ ๓ แม้ศีล ๕ ก็ยาก บางทีพ่อของสามีก็ร้องกินสัตว์มีชีวิต เช่นกบ หอยแครง หอยแมลงภู่ พอไม่ซื้อหามาทำให้ ก็ถูกโกรธ สามีก็พลอยไม่สบายใจ รักษาศีล ข้อเว้นจากปาณาติบาตก็ยากแล้ว

เรื่องเนกขัมมะ การออกจากกามเป็นอันหมดหวัง

เรื่องปัญญา โอกาสที่จะเพิ่มพูนปัญญา ให้เกิดด้านสุตมยปัญญา ปัญญาที่ได้จากการฟังการอ่าน ไม่มีเวลา ไปวัดบ่อยก็ถูกบ่น จินตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการคิด ไม่มีทางคิดให้พ้นทุกข์ พ้นจากวัฏฏะ การครองเรือน ทำให้คิดวนแต่เรื่องของกิเลส เรื่องความโลภ ทำอย่างไรจึงจะทำมาหากินให้ร่ำรวย ใครมาขัดผลประโยชน์ ก็ให้โกรธเคือง หมกมุ่นอยู่ในเรื่องไร้สาระ อันเป็นความโง่หลง เช่นเรื่องแต่งตัว เรื่องแข่งดี เรื่องหึงหวง ฯลฯ

จะสร้างบารมีเรื่อง วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา อะไร ๆ ก็ให้ขัดข้องไปเสียหมด ยิ่งถ้าหากคู่ครองเป็นคนดีมาก ก็ยิ่งต้องเกรงใจกันมาก

นี่ป้าฟังคำสั่งสอนของหลวงพ่อเจ้าอาวาส เรื่องใดก็ไม่กินใจ ไม่จับใจเท่าโทษของการครองเรือน ยิ่งเห็นท่านและหมู่คณะบางคน ตั้งสัจจะประพฤติพรหมจรรย์แล้ว หลายคนก็เตรียมตัวเตรียมใจ ชักชวนพวกพ้อง คิดจะตั้งสัจจะในวันคล้ายวันเกิดคุณยายฯ ในปี ๒๕๑๒ ป้าก็ให้ชื่นชมยิ่งนัก พร้อมกันก็รู้สึกสงสารตนเอง ที่ไม่มีโอกาสอย่างพวกเขา

เย็นวันหนึ่ง ใกล้จะหมดเวลาบวชในพรรษานั้นเต็มที ป้ามีโอกาสไปบ้านธรรมประสิทธิแต่วัน ระยะนั้นป้ามักจะไปแทบทุกเย็นหลังเลิกงานแล้ว คนอื่นๆ ยังไม่มีใครมา มีแต่หลวงพ่อฯ ส่วนป้ากราบคุณยายแล้ว ก็นั่งอยู่ตรงข้างประตูด้านตรงข้าม

แล้วคุณยายก็ชวนหลวงพ่อบวชในเดือนนั้นเลย ( เดิมหลวงพ่อตั้งใจบวชประมาณเดือนธันวามคม เพราะต้องการตะล่อมใจโยมพ่อ แต่คุณยายพิจารณาดูแล้วเห็นว่าสมควรให้บวชให้ทันพรรษา คือภายในเดือนสิงหาคม ) ซึ่งหลวงพ่อเมื่อได้ยินคุณยายกล่าวเช่นนั้น ก็นั่งตัวตรงพร้อมกับกล่าวเสียงดังหนักแน่น ตกลงที่จะบวชเร็วกว่าเดิมตามที่คุณยายชวน

ป้าไม่ทราบจะบรรยายสีหน้า แสดงความยินดีเห็นที่สุดของคุณยายฯ ได้อย่างไร รู้แต่ว่า บุญที่ทำให้คุณยายฯ สมหวังในครั้งนี้ คงเป็นบุญใหญ่ทีเดียว ป้าก็พูดอะไรไม่ออก เพราะกำลังดีใจไปกับคุณยายด้วย

ครู่ใหญ่หลวงพ่อฯ เป็นฝ่ายพูดขึ้นก่อน " ยาย ผมบวชคราวนี้ ผมจะเป็นพระจริงๆ ไม่ใช่พระปลอม เพราะงั้นผมอยากใช้เครื่องบวช ที่เป็นของจริง ไม่ใช่ของปลอม "

ป้าฟังแล้วเข้าใจทันที เครื่องบวชหมายถึง อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบเครื่องใช้ต่างๆ ในการบวชเช่น พานแว่นฟ้าใส่ผ้าไตร กราบถวายอุปฌาย์ ต้นดอกไม้พร้อมของถวายพระคู่สวด และพระอันดับ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ผู้คนส่วนใหญ่ ใช้ของเทียม เช่น ดอกไม้กระดาษ ดอกไม้พลาสติก ซึ่งหาซื้อได้ง่ายในท้องตลาด ราคาไม่แพง สีสันฉูดฉาด คงทนถาวร ทิ้งไว้เป็นปี ๆ ก็ไม่เสียหาย จึงปรากฏว่าตามวัดต่างๆ มีของเหล่านี้เก็บไว้ จนรกเต็มไปหมด

ทีนี้ของจริง หมายถึงใช้ดอกไม้สด ใบไม้สด หรือของที่ต้องใช้เวลา ใช้ฝีมือความประณีตสวยงามมากก็จริง แต่เพียงไม่กี่ชั่วโมงก็เหี่ยวเฉาหมดสวย

การทำเครื่องบวชด้วยของสด นอกจากต้องเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ในการซื้อหาแล้ว ยังต้องมีผู้คนที่มีฝีมือในการประดิษฐ์ ร่วมใจกันทำหลายๆ คน จึงจะทำเสร็จทัน ดอกไม้ใบไม้ไม่เหี่ยวแห้งโรยราไปก่อน ทั้งต้องทำแข่งกับเวลาโดยรีบด่วนด้วย เช่นถ้าจะบวชเช้าก็ต้องทำกันตั้งแต่บ่าย ก่อนวันบวช ถ้าบวชบ่ายก็ต้องทำตั้งแต่ตอนกลางคืน

ป้ามองหน้าคุณยายฯ ป้าพอเดาออก ท่านคงไม่มีปัญหาเรื่องเงิน ถึงอย่างไรก็พอบอกบุญได้ แต่เรื่องคนช่วยทำ จะเอาผู้มีฝีมือเรื่องการประดิษฐ์ดอกไม้ มาจากไหน ครั้นจะใช้วิธีจ้าง ก็ต้องเสียเงินมากโยไม่จำเป็น เงินที่พอมีอยู่บ้าง ควรใช้ไปในเรื่องการบวชจริงๆ ดีกว่าเรื่องประกอบ

ตัดสินใจชั่วพริบตานั้น ป้าก็พูดว่า " คุณแม่คะ เรื่องทำดอกไม้สดงานบวช ไม่ต้องห่วงค่ะ หนูมีครูลูกน้องเป็นร้อย พวกมีฝีมือเรื่องดอกไม้เนี่ย มีหลายสิบคน หนูรับทำงานนี้เองค่ะ "

คุณยายฯ ยิ้มอย่างโล่งอก เย็นนั้นท่านเบิกบานที่สุด บอกข่าวดีให้ทุกคนที่มาปฏิบัติธรรมประจำวันทราบ ทุกคนพลอยดีอกดีใจ เป็นความปีติของส่วนรวม ที่ยิ่งกว่าการได้เงินทองเป็นร้อยล้านพันล้าน

ป้าจำได้ ดูเหมือนวันนั้นเราไม่ได้นั่งสมาธิ แต่กลับช่วยกันคิด เรื่องจัดงานบวชจนดึก ทุกคนกลับบ้านไปด้วยใจพองฟู หน้าตาแช่มชื่นเบิกบาน เป็นความสุขใจที่ยิ่งใหญ่จริงๆ ของพวกเราทุกคน

จากวันนั้นมา เราก็แบ่งงานกัน หลวงพ่อฯ มีหน้าที่ไปพูดจาเกลี้ยกล่อม ให้โยมพ่ออนุญาตการบวช บางฝ่ายไปจัดเตรียมซื้อหาเครื่องอัฐบริขาร และของใช้ส่วนตัวของพ่อนาค บางฝ่ายไปจัดเตรียมสิ่งของสำหรับถวายอุปฌาย์ คู่สวด และพระอันดับ สำหรับป้าก็เรื่องเครื่องสด เช่นดอกไม้คลุมไตร กรวยอุปชฌาย์ คู่สวด พานพุ่ม ฯลฯ

ยังจำได้ว่าหลวงพ่อฯ ขอให้ทำดอกไม้สด คลุมไตรเป็นรูปสุครีพ อยู่ในวิมานแก้ว ๒ ไตร ไตรครองกับไตรอาศัย ป้าได้ให้หลวงพ่อฯ ดู เมื่อดัดแปลงเป็นที่ถูกใจแล้ว ครูฝ่ายประดิษฐ์ ก็นำไปฉลุลงในแผ่นไม้อัด ใช้กลีบดอกบานไม่รู้โรย ย้อมเป็นสีต่างๆ ตกแต่งตามแบบในภาพ ทำทั้งสองด้าน ช่วยกันทำ ๒ คน ใช้เวลาตลอดสัปดาห์ ส่วนวิมานนั้นเราไม่สามารถหาดอกไม้ ที่มีสีใสเหมือนแก้วมาใช้ ถ้าใช้สีขาวก็จะกลายเป็นวิมานเงิน จึงขออนุโลม ใช้ดอกบานบุรีสีเหลือง กลายเป็นแค่วิมานทอง โครงที่คลุมพานผ้าไตร ใช้ไม้ไผ่เหลาเป็นก้านกลมเล็กๆ มัดด้วยด้ายแล้วใช้ผ้าขาวตัดเป็นเส้นยาวกว้างราว ๒ เซ็นติเมตรพันปิดจนมิด เพื่อใช้เข็มร้อยดอกไม้ร้อยได้ ป้าวานหมู่คณะให้เตรียมงานล่วงหน้ากัน เป็นสัปดาห์ โดยบอกให้รู้ว่าผู้ที่จะบวชครั้งนี้ มีโอกาสบวชไม่สึกตลอดชีวิต ใครได้มีส่วนร่วมการบวช โดยเฉพาะได้ช่วยเหลือในงานบวช จะได้บุญใหญ่หมาศาล ครูลูกน้องของป้าก็พากันเต็มใจช่วย

เวลานั้นบุญมหาศาลยังไง ป้าก็ไม่เข้าใจนัก ดีแต่ไม่มีใครซักไซ้ไล่เลียง ถ้าได้รู้เห็นเหมือนเวลานี้ คงจะอธิบายให้แจ่มแจ้ง คนช่วยงานต้องดีใจ เต็มใจเป็นทวีคูณ

เรื่องการบวช ผู้บวชได้ผลบุญเป็นอานิสงห์ ๖๔ กัป บิดามารดาได้อานิสงห์ ๓๒ กัป ผู้ร่วมอนุโมทนาอื่นๆ ได้อานิสงห์ ๑๖ กัป กัปหนึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน คำนวณไม่ได้ อุปมาเหมือนมีเมล็ดพันธ์ผักกาด อยู่ในบ่อที่กว้างยาวลึกด้านละ ๑ โยชน์ คือประมาณ ๑๖ กิโลเมตร เต็มบ่อ พอถึง ๑๐๐ ปี เอาออกทิ้ง ๑ เมล็ด หมดบ่อเมื่อใดเรียกว่า ๑ กัป หรืออุปมาเหมือนมีภูเขาแท่งศิลาทึบ กว้างยาวสูงอย่างละ ๑ โยชน์ เช่นเดียวกันครบร้อยปี มีเทวดาเอาผ้าทิพย์ที่บางเบาราวควันไฟ มาลูบภูเขานั้นครั้งหนึ่ง เมื่อใดภูเขาสึกกร่อนราบเรียบเท่าพื้นดิน เรียกว่า ๑ กัป

ทีนี้คำว่าอานิสงห์ก็หมายถึง ในเวลายาวนานดังกล่าวแล้ว ผลบุญจะส่งให้ได้เกิด พบพระพุทธศาสนา และมีโอกาสบำเพ็ญบุญกุศล สร้างบารมีในพระศาสนาอยู่เรื่อยไป ทำให้ได้เปรียบกว่าผู้ที่ไม่เคยได้บวช หรืออนุโมทนาบุญกับผู้บวช เพราะจะมีโอกาสน้อยในการเกิดพบและสร้างบารมี ในพระพุทธศาสนา ถ้าสร้างเองได้โดยไม่มีพระพุทธศาสนาเป็นเนื้อนาบุญ บุญนั้นก็เกิดผลไม่มาก ได้กำไรมากกว่ากันตรงนี้

นี่ถ้าตอนนั้นป้ารู้อานิสงห์ดี คงจะถือโอกาสชักชวนผู้คน ให้ไปช่วยงานบวชกันมากมายทีเดียว เพราะรู้ไม่มากก็ชวนเท่าที่ชวนได้ ป้ายังเอาบุญเรื่องกรวยอุปัชฌาย์ ไปให้พ่อของป้าที่ต่างจังหวัด คือป้าอยากใช้ดอกลำเจียก ทำเป็นกรวยอุปัชฌาย์ แต่ที่กรุงเทพฯ ไม่มีต้นไม้ประเภทนี้ ช่างดอกไม้มักใช้ใบตอง หรือใช้ยอดมะพร้าวอ่อนแทน ป้าไปขอร้องให้พ่อของป้าช่วยหาดอกลำดจียกให้ เพราะป้าเคยเห็นเมื่อสมัยเด็กๆ มีต้นไม้ดังกล่าว อยู่ในตำบลบ้านเกิดของพ่อ ซึ่งห่างจากที่อยู่ในปัจจุบัน หลายสิบกิโลเมตร ดอกลำเจียก เป็นต้นไม้ล้มลุก ชอบขึ้นริมน้ำ

ก่อนวันงาน พ่อก็นำมาให้ป้าเป็นกองใหญ่ ล้วนแต่ยอดลำเจียก พ่อบอกว่า " หนูใหญ่ ฤดูน้ำหลากยังงี้ ลำเจียกมันยังไม่ออกดอกหรอกลูก พ่อก็เลยเอายอดของมันมาแทน หาต้นมันยากเต็มที สมัยนี้ไม่มีใครนิยมปลูก เพราะมันรกหนามของมันแยะ แล้วนานๆ จึงออกดอกซักหนหนึ่ง นี่พ่อถ่อเรือไปหลายกิโลเชียวลูก ตั้งแต่เช้าจนเย็นตลอดวันเลย กว่าจะได้ยอดของมันมา เท่านี้พอมั้ย "

แม้จะผิดหวังที่ไม่ได้ดอกไม้หอม แต่เมื่อได้ยอดของมันมา ก็ใช้แทนกันได้ และเมื่อนึกถึงความเหน็ดเหนื่อย น้ำพักน้ำแรงตลอดวันของพ่อ ที่ต้องถ่อเรือตากแดดไปหามา ป้าก็เต็มใจคิดว่าพ่อของป้าก็คงได้บุญไม่น้อย ครูช่างประดิษฐ์ราวกับรู้ใจป้า เขาใช้ใบลำเจียกอ่อนนั้น ทำกรวยอุปัชฌาย์ได้งามแท้

เรื่องราวของหลวงพ่อฯ ที่ต้องไปขออนุญาตโยมพ่อ ดูจะไม่ราบรื่นนัก มีปัญหาหนักมากแม้จะอ้างว่าขอบวชเพียงพรรษาเดียว โยมพ่อก็ไม่ยินยอม เพราะเหมือนท่านสังหรณ์ใจอยู่ว่า จะไม่ใช่พรรษาเดียว แต่จะตลอดไปชั่วชีวิต หลวงพ่อฯ ต้องอ้อนวอนขอกันหลายครั้งหลายหน ครั้งสุดท้ายป้าเห็นโยมพ่อเสียไม่ได้ ยอมอนุญาตก็จริง แต่ท่านก็ร้องไห้น้ำตาไหลสะอื้นฮักทีเดียว ท่านต้องการเห็นลูกรุ่งเรืองทางโลก

เกี่ยวกับเรื่องการไม่เต็มใจให้บวช ของโยมพ่อนั้น ในความคิดของป้าเห็นเป็นเรื่องธรรมดา โยมพ่อยังไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน และปฏิบัติธรรมแต่ประการใด ในขณะที่เล่าถึงอยู่นี้ ท่านก็ย่อมเสียดายลูกชาย อุตส่าห์เรียนจบปริญญาตรีแล้ว มีงานทำรายได้ดี ท่านเองยังฝากเข้าทำงาน เป็นนายร้อยตำรวจกับเพื่อนไว้ เพื่อนก็รับตัวเตรียมบรรจุให้อยู่แล้ว การบวชทำให้เสียโอกาส ในการทำงานไปหลายเดือน ยิ่งถ้าลูกเกิดไม่ยอมสึก ก็ยิ่งน่าเป็นห่วงยิ่งขึ้นไปอีก เพราะไม่ทราบจะอยู่ในเพศนักบวช ไปตลอดรอดฝั่งหรือเปล่า ถ้าเกิดไปสึกภายหลัง การหางานทำก็ยิ่งยากลำบากมากขึ้น คิดแง่ของชาวโลกแล้ว ก็อยู่ในวิสัยที่น่าเห็นใจ

ส่วนเรื่องของป้าเรียบร้อยสะดวกทุกอย่าง บ่ายวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๑๒ ป้าพร้อมด้วยครูช่างทำดอกไม้ ๒๒ คน เดินทางไปที่บ้านธรรมประสิทธิ์ เราซื้อดอกไม้สดหลายอย่าง จากตลาดปากคลองไปด้วย บ่ายสองโมงก็ลงมือช่วยกันทำ ครูส่วนใหญ่ไม่เคยมาที่บ้านธรรมประสิทธิ์ มี ๒-๓ คน ที่ไม่ถนัดทำดอกไม้ ก็รับอาสาไปตลาด จ่ายกับข้าวมาทำอาหารมื้อเย็นเลี้ยง

หมู่คณะที่บ้านธรรมประสิทธิ์ มาช่วยงานอยู่ด้วยหลายคน โดยเฉพาะหลวงพ่อรองเจ้าอาวาส ท่านคุยกับครูลูกน้องของป้าสนุกสนาน

เล่าถึงการทำดอกไม้ของหมู่คณะ เราเร่งมือทำกันเต็มที่ เพราะครูทั้งหมดจะต้องรีบกลับบ้านในคืนนี้ รุ่งเช้าต้องไปทำงาน ไม่ได้อยู่ร่วมงานบวชด้วย ยกเว้นป้าคนเดียวที่ไม่มีชั่วโมงสอน เวลาหมดเร็วมาก เที่ยงคืนแล้วงานก็ยังไม่เสร็จ บางคนจำเป็นต้องขอกลับก่อน ยังเหลืออยู่ประมาณ ๑๐ คน เรื่องขัดข้องก็เกิดขึ้น แต่สามารถแก้ปัญหาได้อัศจรรย์ที่สุด ป้าจะเล่าให้ฟัง

ขณะนั้นเป็นเวลาใกล้ตีหนึ่ง ดอกบานบุรีที่ใช้ทำเสาวิมาน ครอบพานแว่นฟ้าวางผ้าไตรเกิดหมดลง ยังขาดอีกเกือบสองเสา จะใช้ดอกสีอื่นที่เป็นสีเหลืองแทน เช่นดอกสร้อยทอง ดอกจำปำก็ไม่สวย และลักลั่นกัน วิมานเดียวมีสี่เสา แต่งไม่เหมือนกันเหมือนไม่มีระเบียบ ครั้นจะขับรถไปซื้อที่ปากคลองตลาด ก็ยังไม่ถึงเวลาขาย สมัยนั้นทางตลาดจะเปิดขายกันประมาณตีสี่ ครูช่างกลับบ้านกันแล้ว ป้าจะได้ใครทำให้ ตอนเช้าทุกอย่างจะต้องเสร็จเรียบร้อยเพราะพิธีเริ่มตอนเช้า

ป้าหมดหนทาง จึงเดินออดจากบ้านธรรมประสิทธิ์ เดินไปตามกุฏิพระและบ้านพักแม่ชี ก็ไม่มีที่ใดปลูกกันไว้บ้างเลย เดินมาจนถึงหน้าหอไว้ศพหลวงพ่อวัดปากน้ำ ป้าก็พนมมือไหว้กล่าวอธิษฐานพึมพำเสียงดังว่า " หลวงพ่อคะ ลูกกับหมู่คณะมาทำดอกไม้งานบวชคุณไชยบูลย์ค่ะ มีคนพูดกันว่า คนนี้บวชแล้วจะไม่สึก จะทำงานกอบกู้พระศาสนาต่อจากหลวงพ่อค่ะ ถ้าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง ขอให้ลูกแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเดี๋ยวนี้ สำเร็จเถิด คืดให้ลูกหาดอกบานบุรีมาทำพานดอกไม้ตอนนี้ให้ได้ ถ้าไม่ใช่เรื่องจริง ผู้ชายคนนี้ไม่ใช่คนมาช่วยงานพระศาสนา มาสืบงานเผยแผ่วิชชาธรรมกาย ของหลวงพ่อไปทั่วโลก ก็ขออย่าให้ลูกหาดอกไม่ที่ขาดอยู่นี่ได้เลย เจ้าประคู้น "

ป้าอธิษฐานเสร็จก็ยืนนิ่ง ส่งสายตาอ้อนวอนขึ้นไปยังที่ไว้ศพ รู้สึกเหี่ยวแห้ง ดึกดื่นป่านนี้ มาอธิษฐานสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ทำให้เสียกำลังใจตนเองเปล่าๆ เมื่อหาดอกไม้ไม่ได้ ก็คงไม่ยอมเชื่อเรื่องบวชไม่สึก ไม่ยอมเชื่อเรื่องการทนุบำรุง พระศาสนาของหมู่คณะอีกต่อไป

หันหล้งกลับเดินหงอยเหงา ก้มหน้าออกมาได้ ๔-๕ ก้าว ทางซีกที่อยู่ของแม่ชี ทันใดนั้นท่ามกลางความเงียบ ป้าได้ยินเสียงคนเดินลากรองเท้าดังแชะ แชะ พร้อมกับเสียงผิวปากด้วยความสบายใจ ป้าจึงหยุดยืนคอยอยู่ เมื่ออีกฝ่ายเดินมาถึง ป้าจึงเห็นว่าเป็นเด็กหนุ่มลูกศิษย์วัด กลับจากดูโทรทัศน์ที่ร้านค้าในตลาด เป็นเรื่องน่าแปลก แทนที่เขาจะเดินตรงไปทางกุฏิพระ ซึ่งเขาพักอยู่อีกด้านหนึ่งของวัด กลับเดินอ้อมมายังที่พักแม่ชี ป้าพูดถามไปทั้งที่ไม่มีความหวังเลยว่า

" หนู หนูรู้จักดอกไม้ชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อว่าดอกบานบุรีไหมคะ มันมีสีเหลืองๆ น่ะค่ะ "

" รู้จักครับ " เสียงเด็กตอบ ทำให้ป้าชื้นขึ้นมานิดหนึ่ง ถามต่อว่า

" หนูพอเห็นบ้างมั้ยว่า มีดอกไม้นี้ที่ไหน ใกล้ๆ เนี่ยบ้าง " ป้าย้ำเรื่องที่ใกล้ เพราะตอนนี้รถส่วนตัวของพวกเรา กลับไปหมดแล้ว รถของสามีป้าก็บังเอิญมาเครื่องเสียเอาคืนนี้เอง ราวกับแสดงให้เห็นว่าไม่เต็มใจช่วยงาน ถ้าเด็กบอกว่าเคยเห็นอยู่ในที่ไกลๆ ก็คงไม่สามารถไปเอาได้ เพราะแถวนั้นไม่มีทางที่รถแท็กซี่จะผ่านเข้ามา คำตอบของเด็กทำเอาหัวใจป้าพองฟู

" มีครับน้า อยู่ไม่ไกลจากวัดนี่เอง เป็นบ้านคน เค้าปลูกไว้ที่หัวบันไดบ้าน แต่บ้านเค้ามีรั้วหน้าบ้าน มีประตูสังกะสี ถ้าเราเดินตามทางเดิน จะมองไม่เห็นต้นไม้หรอกครับ "

ต่อจากนั้นเด็กก็อธิบายทางเดินไปยังบ้านนี้ ว่าออกจากหน้าวัดไปแล้วเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาอย่างไรบ้าง ป้าฟังด้วยความตั้งใจ จดจำได้หมดทุกคำพูด ชุ่มชื่นใจ ยังเหลือความหวังอีกสิ่งเดียว คือต้นไม้นั้นมีดอกหรือเปล่า

หล้งจากที่ขอบใจเด็กเป็นอย่างยิ่งแล้ว เด็ก็เดินเลี้ยวกลับไปทางที่อยู่ ป้าก็มองตามพร้อมกลับนึกฉงนใจว่า ทำไมเด็กจึงต้องเสียเวลาเดินอ้อมมา ถึงที่ป้ายืนอยู่นี่ ในเมื่อร้านค้าที่ดูโทรทัศน์เดินไปกุฏิพระ ที่เขาพักอยู่ ก็มีทางเดินไปอีกทาง ใกล้นิดเดียว อะไรดลใจให้เดินอ้อมมาเป็นระยะทาง ๓ - ๔ เท่าตัวให้มาพบป้า แล้วเดินอ้อมกลับไป

ป้ารีบไปชวนครูผู้ชายคนหนึ่ง ครูผู้หญิงคนหนึ่ง เอาไฟฉายไปด้วยกัน ทางเดินมืดมาก ไม่ใคร่มีไฟฟ้าตามถนนหน้าบ้านคนเลย เดินผ่านหน้าบ้านใคร สุนัขบ้านนั้นก็เห่า บ้านอื่นก็พากันเห่าตาม เสียงขรึมไปหมด ดีแต่ไม่มีตัวไหนวิ่งตามออกมาไล่กัด คงเห่ากันอยู่ในบ้าน ทางเดินนอกจากมืดแล้ว ยังมีน้ำทั้งแฉะทั้งลื่น เพราะฝนเพิ่งตกไป เดินเลี้ยวไปมาตามที่เด็กอธิบาย ประมาณครึ่งกิโลเมตร จึงถึงบ้านมีประตูรั้วตามคำบอกเล่า

เสียงครูผู้ชายพูดท่ามกลางกลางความเงียบขึ้นว่า " อาจารย์ครับ บ้านนี้รึครับ ไม่เห็นมีต้นบานบุรีซักหน่อย เด็กจำผิดกระมังครับ "

ป้าตอบว่า " เด็กแกบอกว่าต้นไม่ที่อยู่ตรงบันไดขึ้นบ้านโน่น ไม่ใช่อยู่ที่ประตูรั้ว " เราทั้งสามคนต่างคนต่างเพ่งไปที่บันไดบ้าน มองไม่เห็นอะไรเลยเพราะมืดมาก แม้จะพอเห็นว่าเป็นต้นไม้ ก็บอกไม่ได้ว่าเป็นต้นอะไร ป้ายืนนิ่งคิด " เจ้าของบ้านคงนอนหลับหมดแล้ว การส่งเสียงเรียก ปลุกให้เขาลุกขึ้นเพื่อขอดอกไม้ ถ้าเขาโกรธก็จะเป็นบาปแก่เขาเปล่าๆ ถึงอย่างไรเราก็ไม่มีทางเลือก จะต้องปลุกอยู่ดี เราจะใช้วิธีขอซื้อ จะเอาราคาเท่าไรก็ยอม คงจะไม่ทำให้เขาโกรธ " ป้าคิดเอากิเลสตัดกิเลส คือเอาโลภะตัดโทสะดังนี้ ก็ชวนอีกสองคน ช่วยกันส่งเสียงเรียก " คุณคะ คุณคะ คุณคะ เจ้าของบ้านี้น่ะค่ะ ตื่นรึเปล่าคะ ขอพบหน่อย " พร้อมกับเคาะรั้วสังกะสี ปัง ปัง ปัง เสียงดังทีเดียว

เรียกอยู่ ๒-๓ นาที ไฟในบ้านก็เปิดขึ้น มีสามีภรรยาคู่หนึ่งเปิดประตูออกมา ถามว่า " นั่นใครกัน มีธุระอะไร มาเรียกคนกำลังหลับ " เสียงตอนท้านแสดงอาการตำหนิแถมมาด้วย

ป้ากล่าวคำขอโทษ และอธิบายความประสงค์ให้ทราบ พร้อมทั้งย้ำว่า " เป็นเรื่องสุดวิสัยจริงๆ ไม่ทราบจะไปหาดอกไม้ที่ไหน พอสว่างก็จะแห่นาคกันแล้ว ขอให้คุณเอาบุญด้วยดันเถิดนะคะ ดอกไม้นี้จะคิดเป็นเงินเท่าไหร่ ดิฉันยอมจ่ายให้ทั้งนั้นค่ะ "

ป้าพูดทั้งที่ไม่รู้ว่าต้นมีดอกหรือเปล่า สองสามีภรรยาเงียบไปสักครู่ก็พูดว่า " เอายังงี้แล้วกัน เราสองคนง่วงนอน ไม่มีกะใจเก็บให้พวกคุณหรอก คุณมาเก็บกันเองก็แล้วกัน ไม่คิดเงินหรอก เก็บเสร็จแล้ว คุณก็งับประตูรั้วให้ด้วยก่อนกลับ " กล่าวแล้ว ผู้เป็นสามีก็เดินลงบันไดมาเปิดประตูรั้ว แล้วก็ขึ้นบ้านปิดประตู ดับไฟเข้านอน

ป้ากับครูอีกสองคน เดินไปยังต้นบานบุรีที่เชิงบันได ฉายไฟส่องดู ต้นไม่โตนัก มีดอกอยู่บ้างแต่ไม่มาก ช่วยกันเด็ดจนหมดต้น ทั้งดอกบานดอกตูมได้ประมาณขันน้ำพูนๆ แล้วก็พากันกลับ ทุกคนเห็นเข้าดีใจกันมาก นี่ถ้าพวกเขารู้ถึงคำอธิษฐานของป้า หน้าศพหลวงพ่อสด เขาคงจะยิ่งดีใจกันเป็นพิเศษ แต่ป้าก็ไม่ได้บอกใครเพราะเกรงว่าคนเหล่านี้ ไม่เคยสนใจเรื่องศาสนา นอกจากไม่เห็นคุณค่าแล้ว ถ้ามีใครสักคนเกิดนึกขบขัน การกระทำของป้าขึ้นมา คนนั้นคงจะบาปไม่น้อย

ที่น่าแปลกใจอีกประการหนึ่งคือ จำนวนดอกไม้ที่ได้มานั้น มีจำนวนพอดีที่ขาดอยู่ พอทำเสร็จดอกไม้ก็หมดพอดี ไม่มีเหลือแม้แต่กลีบเดียว ใช้จนหมดทั้งดอกบานดอกตูม เสร็จงานประมาณตีสองครึ่ง ต่างคนต่างแยกย้ายกันกลับบ้าน

รุ่งเช้าป้าไปร่วมในพิธีบวช มีคนมาในงานประมาณ ๓๐ คน เราเดินตามหลังนาครอบโบสถ์ ๓ รอบ รอบสุดท้ายป้าถือพาน ใส่เหรียญสลึงไปเบื้องหน้านาค นาคก็หยิบออกหว่านทาน มีเด็กวัดผู้มาร่วมงาน และคนทำงานในวัดที่เห็นเข้า มาแย่งทานกันเป็นที่สนุกสนาน

คำอธิษฐานของป้าไม่ได้ขอดอกไม้โดยตรง ป้าอธิษฐานเรื่องความสำคัญของหลวงพ่อฯ เป็นหลัก การหาดอกไม้ได้ ถือว่า หลวงพ่อฯ เป็นคนสำคัญจริง และต่อมาเมื่อมีผู้ได้อภิญญาจิต มีหูทิพย์ตาทิพย์ ระลึกชาติในอดีตได้ รู้เหตุการณ์ในอนาคตด้วย ก็พบว่า หลวงพ่อฯ เป็นบุคคลสำคัญยิ่งใหญ่อย่างนั้นจริงๆ

ยังมีคำรับรองของหลวงพ่อวัดปากน้ำเอง ในเรื่องนี้ คือครั้งหนึ่งเมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่เกิดอาพาธ น้องชายของท่านมาเฝ้าพยาบาล เอาลูกสาวอายุสิบกว่าขวบมาด้วย เด็กนั้นได้ยินคำสนทนาของบิดา และหลวงพ่อวัดปากน้ำ โดยฝ่ายบิดาเด็กพูดว่า

" ทำไมเช้าวันนี้ ดูหลวงพ่อสดชื่น หน้าตาเบิกบาน ไม่มีกังวลเหมือนวันก่อนๆ " หลวงพ่อวัดปากน้ำตอบว่า " เออใช่ วันนี้ข้าหายห่วงแล้ว เพราะคนที่มาทำงานสืบทอดจากข้าเกิดแล้ว" อีกฝ่ายถามว่า " เขาเกิดที่ไหนครับหลวงพ่อ " หลวงพ่อวัดปากน้ำตอบว่า " เกิดที่จังหวัดสิงห์บุรี"

ต่อมาเมื่อเด็กหญิงอายุราวสีสิบปีเศษ ได้อ่านประวัติหลวงพ่อเจ้าอาวาสเรา ซึ่งเขียนลงในหนังสือโลกทิพย์ ว่าหลวงพ่อเป็นคนสิงห์บุรี จึงได้มานมัสการ เล่าเรื่องที่เคยได้ยินนั้น ให้หลวงพ่อฯ ทราบ ยืนยันว่าตรงกับที่หลวงพ่อวัดปากน้ำ ท่านพูดไว้หลายสิบปีมาแล้ว

ป้าเอามาเล่าไว้ในที่นี้ด้วย เพื่อเป็นกำลังใจในการสร้างบารมี ของหมู่คณะ จะได้มีศรัทธาในหลวงพ่อฯ ไม่หวั่นไหวคลอนแคลน เมื่อมีการกล่าวร้ายต่างๆ จากผู้ต้องการทำลาย




 

Create Date : 23 เมษายน 2551    
Last Update : 23 เมษายน 2551 11:11:41 น.
Counter : 2043 Pageviews.  

อุบาสิกา ถวิล - บทที่สาม - มงคลชีวิตข้อสอง คบบัณฑิต

ป้าได้พบคุณยายอาจารย์เป็นคนแรก ท่านนั่งอยู่ตรงประตูบ้าน ผิวเนื้อท่านไม่ขาวนัก รูปร่างผอม มีที่ป้าสะดุดใจมากคือดวงตาของคุณยาย เวลานั้นคุณยายอายุ ๖๐ ปี ดวงตาของท่านใสแต่คมกริบ เวลามองดูเรา ทุกคนจะคิดเหมือนกันว่า ไม่มีสิ่งใดเป็นความลับสำหรับท่านเลย ป้าเองเห็นแล้ว รู้สึกเคารพและไว้วางใจขึ้นมาทันที มีความรู้สึกว่า ผู้ใหญ่ท่านนี้ เป็นคนมีความจริงใจให้ทุกคน

ต่อจากนั้นป้ากับลูกคนโตและคนรองก็ได้ไปที่บ้านธรรมประสิทธิ์แทบทุกอาทิตย์ ที่นั่นมีหมู่คณะไปปฏิบัติธรรมร่วมกันอยู่หลายสิบคน บางคนไปทุกเย็น บางคนไปเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์

เมื่อไปหลายเดือนเข้า ความคุ้นเคยในหมู่คณะก็มีมากขึ้น จึงเห็นได้ว่า บุคคลที่มาเป็นลูกศิษย์คุณยาย เป็นหมู่คณะที่น่าชื่นชมมาก เพราะแม้จะมาจากที่ต่างกัน อาชีพต่างกัน ก็มีความสามัคคี รักใคร่สนิทสนมกัน เหมือนญาติพี่น้อง ใครมีเรื่องเดือดร้อนสิ่งใดก็จะนำมาบอกเล่า หมู่คณะก็ช่วยกันหาทางแก้ไข คุณยายจะเป็นประธาน ในการแก้ปัญหาทุกเรื่อง ไม่ว่าเรื่องทางธรรม เรื่องครอบครัว เรื่องหน้าที่การงาน

กลุ่มที่น่าสนใจเป็นพิเศษ คือกลุ่มนักศึกษาที่มาปฏิบัติธรรม มากันจากหลายสถาบัน ที่มีจำนวนมากหน่อยคือ มาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ผู้เป็นหัวหน้านำเพื่อนๆ มาได้แก่ คุณเผด็จ ผ่องสวัสดิ์ ส่วนคุณเผด็จเอง นิสิตรุ่นน้องชื่อไชยบูลย์ สุทธิผล เป็นคนชักชวนให้มาเรียนปฏิบัติธรรม

ป้าต้องขอเล่าความเกี่ยวข้องของบุคคลทั้งสองไว้โดยย่อๆ เพราะขณะนี้ ปี ๒๕๓๖ คุณไชยบูลย์ สิทธิผล คือพระเดชพระคุณเจ้าคุณพระสุธรรมยานเถระ เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และคุณเผด็จ ผ่องสวัสดิ์ คือพระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย

หลวงพ่อเจ้าอาวาส ท่านสนใจการปฏิบัติธรรม มาตั้งแต่อายุยังไม่ถึง ๒๐ ปี คงจะเป็นเพราะ ท่านมีบารมีติดตัวจากชาติในอดีตมามาก เมื่อต้องมาเกิดในครอบครัว ที่พ่อแม่แตกแยกกัน แทนที่จะเป็นเด็กมีปัญหาเหมือนเด็กทั่วไป ท่านกลับมีปัญญาพิจารณาความทุกข์ยากของชีวิตครองเรือน ใคร่ทำชีวิตตนเองให้มีประโยชน์ที่สุด จึงอ่านประวัติของบุคคลสำคัญต่างๆ ทั้งของประเทศและของโลก เพื่อจะได้ทำตาม ในที่สุดได้อ่านพบ ประวัติชีวิตของหลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ (พระมงคลเทพมุนี) ถูกใจมากที่สุด ได้ลงมือปฏิบัติธรรมตามอย่าง ทั้งที่กระทำด้วยตนเอง และแสวงหาผู้รู้ ให้การอบรมสั่งสอน กระทั่งได้พบและเป็นศิษย์ ของคุณยายอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ศิษย์เอกของหลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ

ผลการปฏิบัติธรรมก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นผู้มีพลังจิตเข้มแข็งกว่าคนทั่วไป ในขณะเดียวกันก็ยังศึกษาเล่าเรียน อยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (บางเขน)

เหตุที่ได้พบกับหลวงพ่อรองเจ้าอาวาส เนื่องจากหลวงพ่อรองเจ้าอาวาส เป็นนิสิตรุ่นพี่ยังเรียนไม่จบได้ทุนไปเรียนต่อ ที่ประเทศออสเตรเลีย ท่านได้กลับมาเรียนต่อใหม่เพื่อให้จบ จึงได้มาพบกัน ขณะนั้นหลวงพ่อรองเจ้าอาวาส เรียนเดรัจฉานวิชาไว้มาก เล่นเรื่องหนังเหนียว อยู่ยงคงกระพัน ชอบแสดงให้เพื่อนฝูงเห็นอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนังเหนียว เรื่องทนความร้อน เอามือจุ่มในกระทะน้ำมัน ที่เดือดพล่าน เป็นต้น

หลวงพ่อเจ้าอาวาสเห็นเข้ามีความเมตตา ต้องการให้หันมาสนใจเรื่องการปฏิบัติธรรม ได้ชักชวนให้เป็นศิษย์คุณยายอาจารย์ด้วยกัน แรกๆ มีปัญหามาก ซักถามปัญหาธรรมต่างๆ ทุกคืน เป็นแรมเดือน (ทุกครั้งที่ถามปัญหาธรรมะ หลวงพ่อรองเจ้าอาวาสจะให้หลวงพ่อเจ้าอาวาสขึ้นไปอยู่บนเตียงของท่าน ส่วนท่านเองลงไปอยู่ที่พื้นห้อง ) คุณยายอาจารย์ได้เคยปรารภกับหลวงพ่อเจ้าอาวาสว่า บุคคลนี้จะเป็นกำลัง ในการสร้างบารมีต่อไปภายหน้า

เมื่อหลวงพ่อรองเจ้าอาวาสมา เรียนปฏิบัติธรรมกับคุณยายอาจารย์ คุณายาฯ ก็ต้องใช้การอดทนในสอนเป็นพิเศษ เพราะเหตุที่เคยเรียนเดรัจฉานวิชาไว้มาก ทำมิจฉาสมาธิแบบกลั้นลมหายใจ เมื่อมาปฏิบัติธรรมจึงติดนิสัย กลั้นลมหายใจ ทำให้การปฏิบัติธรรมีอุปสรรค ยังมีผลบาปเรื่องปาณาติบาต เพราะเรียนสัตวบาล ฆ่าสัตว์ มีวัว หมู เป็ด ไก่ ฯลฯ ไว้มาก เวลาปฏิบัติธรรม มักเห็นสัตว์เหล่านั้นมีเลือดท่วมตัว เป็นภาพนิมิตในสมาธิ คุณยายอาจารย์ต้องเหน็ดเหนื่อยแก้ไข ในที่สุดก็ปฏิบัติธรรมได้ผล

จากนั้นหลวงพ่อรองเจ้าอาวาส ก็ชักชวนเพื่อนนิสิต ทั้งรุ่นเดียวกันและรุ่นน้องๆ ให้มาเรียนปฏิบัติธรรมกับคุณยายอาจารย์ ที่บัานธรรมประสิทธิ์ได้หลายคน มีทั้งที่เอาจริง และไม่เอาจริง

ป้าเห็นนิสิตนักศึกษามาจากหลายสถาบัน มาร่วมใจกันปฏิบัติธรรมทุกเย็น ที่บ้านพักคุณยายฯ ป้ารู้สึกชื่นชมเป็นพิเศษ เพราะไม่เคยเห็นคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาว สนใจเรื่องแบบนี้ เห็นแต่ชอบเที่ยวเตร่สนุกสนาน เมื่อมาพบเด็กหนุ่มสาวที่เลิกเรียนจากตอนกลางวัน ก็มาชุมนุมกันฟังธรรม และปฏิบัติธรรมในตอนเย็นทุกเย็น ทำให้ป้าหวนคิดถึงบรรดานักเรียน นิสิต นักศึกษาในสถาบันต่างๆ เวลานั้น ล้วนแต่สนใจฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์ กันเป็นจำนวนมาก มีการชุมนุมเรื่องการเมืองเกิดขึ้นบ่อยครั้ง บ้านเมืองไม่สงบสุข ส่วนประเทศเพื่อนบ้านทั้งเวียดนาม เขมร ลาว และพม่า ล้วนแต่ตกอยู่ในอำนาจลัทธิมิจฉาทิฏฐิ ดังกล่าว มีสงครามภายในประเทศกันอย่างรุนแรง ผู้คนล้มตายกันเป็นล้านๆ คน

ในความคิดเห็นของป้าเห็นว่า บ้านเมืองของเรา ถ้าปล่อยปละละเลยเยาวชนของชาติให้สนใจลัทธิดังกล่าวต่อไป คงจะต้องเกิดสงครามกลางเมือง อย่างประเทศเหล่านั้นแน่นอน วิธีแก้ไขมีอยู่หนทางเดียว คือการให้เยาวชนทุกระดับการศึกษา สนใจและปฏิบัติตามคำสอนของศาสนา

ทีนี้พระภิกษุของพุทธศาสนา ในประเทศของเราเวลานั้น ที่มีชื่อเสียงส่วนมากเป็นพระเถระมีอายุ เด็กหนุ่มสาวไม่สนใจ บางทียังถือตัวว่ามีความรู้ทางโลกสูงกว่า ไม่เห็นความสำคัญของคำสั่งสอนอบรม ไม่ว่าสอนดีเพียงใด

ป้ามาพบเด็กหนุ่มสาวทั้งที่จบปริญญาแล้ว และกำลังศึกษาอยู่ สนใจเรื่องศาสนาอย่างหมู่คณะที่บ้านธรรมประสิทธิดังนี้ ป้าก็คิดปรารถนาให้หมู่คณะ ทำงานเผยแผ่อบรมสั่งสอนเยาวชน ที่ถือตัวว่าเป็นปัญญาชน เพราะเด็กเหล่านั้นจะยอมรับได้ เมื่อมีความรู้ทางโลก ในระดับมหาวิทยาลัยเหมือนกัน ก็จะสอนกันได้รู้เรื่อง เข้าใจจิตใจกันได้ดี

ป้าคิดกระทั่งว่า " แหม อยากให้หนุ่มๆ เหล่านี้ บวชเป็นพระให้หมดก็ดีนะซี บวชแล้วศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย แล้วอุทิศตัวเผยแผ่ศาสนา คงจะหันกลับใจพวกนิสิตนักศึกษา ที่กำลังบ้าลัทธิคอมมิวนิสต์กัน บ้านเมืองของเราจะได้ไม่ลุกเป็นไฟ อย่างประเทศอื่น " ป้าคิดอย่างนั้นจริงๆ

ยิ่งได้ฟังธรรมปฏิบัติอันลุ่มลึกต่างๆ จากคุณยาย และเห็นผู้ปฏิบัติ ที่มีอภิญญาจิตสามารถมีความรู้พิเศษเป็นอัศจรรย์ ป้าก็ยิ่งหวนนึกเสียใจ และสำนึกผิดในมิจฉาทิฏฐิ ที่ตนเองเคยมี ที่เล่าไว้ข้างต้น และก็ตั้งใจแน่วแน่มั่นคงว่า หากมีหนทางใดสนับสนุน ให้บรรดากลุ่มปัญญาชนผู้ปฏิบัติธรรม ที่บ้านธรรมประสิทธิ์ของคุณยายฯ บวชอุทิศชีวิตทำงานเผยแผ่พุทธศาสนา ต้านทานลัทธิมหาภัย ที่กำลังคุกคามเยาวชนของชาติอยู่ในขณะนั้นได้ ป้าจะพยายามช่วยอย่างเต็มที่ ป้าคิดเอาไว้โดยที่ไม่ทราบมาก่อนเลยว่า จะตรงกันกับความคิดคุณยาย

คุณยายท่านคิด เพราะต้องการสืบต่อวิชชาภาวนาขั้นสูง ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำฯ และเพื่อบุญกุศลที่จะเกิดขึ้นกับตัวคุณยายฯ เอง รวมทั้งเพื่อช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข็ให้มากที่สุด ส่วนป้าคิดตื้นๆ แค่ว่า ถ้าทำงานนี้สำเร็จ บาปของป้าที่เคยมีมิจฉาทิฏฐิ คงจะลดน้อยลง และอาจจะเป็นวิธีช่วยชาติบ้านเมือง ที่ดีที่สุด ไม่ให้ร้อนเป็นไฟเหมือนประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลายเหล่านั้น แล้ววันหนึ่งฝันนั้น ก็เริ่มก่อเค้าความเป็นจริงให้เห็น

วันนั้นเป็นวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๑๑ ครบรอบวันคล้ายวันเกิดปีที่ ๖๐ ของคุณยายอาจารย์ มีหลวงพ่อรองเจ้าอาวาส คุณสุวิทย์ สิทธิชัยเกษม (ปัจจุบันคือท่านสุวิชาภิกขุ) และคนอื่นอีก ๒ คนรวม ๔ คน ได้ตั้งสัตยาธิษฐานเป็นของขวัญวันเกิดให้คุณยายฯ ขออยู่เป็นโสด ประพฤติพหรมจรรย์ ตั้งใจปฏิบัติธรรม และช่วยงานพระศาสนาไปจนตลอดชีวิต

สาเหตุที่บุคคลทั้ง ๔ กระทำดังนี้ เพราะมีตัวอย่างให้เห็น คือหลวงพ่อเจ้าอาวาสได้กระทำก่อนเป็นคนแรก ( ในวันคล้ายวันเกิดคุณยายฯ ปีก่อน) เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อคุณยายฯ

เมื่อมีตัวอย่างผู้ตั้งสัจจะ ไม่ครองเรือนเกิดขึ้น ก็มีผู้คิดทำตามอีกนับสิบราย ต่างคิดกันว่า จะกระทำในวันคล้ายวันเกิดของคุณยายฯ ในปีถัดไป

แม้จะมีการปฏิญาณตนถึงขนาดนี้ แต่ก็ยังไม่มีใครคิดเรื่องการบวช คิดกันแต่ว่าเมื่อเรียนจบมีงานทำ ก็จะช่วยกันเก็บหอมรอมริบ สร้างบ้านพักชายโสด อยู่กันตามลำพัง กลางวันออกไปทำงาน เย็นและกลางคืนมารวมกลุ่มกันปฏิบัติธรรม และสร้างกุศลอื่นๆ กันตามกำลัง เท่าที่จะกระทำได้ คิดกันแค่นี้เอง

สำหรับป้าเมื่อพบเหตุการณ์เหล่านั้ ป้าไม่คิดเพียงแค่นั้น แต่คิดไกลออกไปว่า คนเหล่านี้น่าจะบวชอุทิศชีวิต ปฏิบัติธรรมและทำการเผยแผ่ให้กว้างขวาง และควรมีวัดของตัวเอง เพื่อให้พวกผู้หญิงที่คิดตั้งสัจจะตาม จะได้มีที่พักและทำงานบุญตามอย่างบ้าง การจำกัดแค่สร้างบ้านพักชายโสดอยู่กัน และมีอาชีพทำมาหากินด้วย โอกาสทำงานเผยแผ่พุทธศาสนามีไม่มาก พวกผู้หญิงเองก็พลอยหมดโอกาสไปด้วย

เวลานั้นป้าก็ได้แต่คิดไว้ หวังไว้ ยังไม่ได้กล่าวคำอะไรออกมา คอยดูทีท่าของคนหนุ่มกลุ่มนี้ไปก่อน

สำหรับคนหนุ่มสาวที่ตั้งสัจจะภายหลังนั้น ล้วนแต่ตามอย่างหลวงพ่อเจ้าอาวาสทั้งสิ้น เพราะหลวงพ่อเจ้าอาวาสนั้นตั้งใจปฏิบัติธรรมอย่างมาก คุณยายเล่าให้ฟังว่า " แล้วอยู่ๆ วันเกิดยาย ก็มาบอกยายว่า " ยาย ยาย ผมไม่มีวัตถุสิ่งของอะไรให้เป็นของขวัญยาย ผมขอตั้งสัตย์ปฏิญาณตน ประพฤติพรหมจรรย์ต่อหน้ายาย เอาบุญเรื่องนี้ให้เป็นของขวัญวันเกิดนะครับ " แล้วเค้าก็ตั้งสัจจะต่อหน้ายาย "

ป้ามั่นใจในบุญเก่าของหลวงพ่อฯ ท่านมาก เพราะเมื่อป้าเห็นท่านครั้งแรก มีความรู้สึกเหมือนท่านเป็นผู้ใหญ่คราวปู่คราวตา แล้วตัวป้าเองคล้ายเป็นเด็กอายุแค่สองขวบ ทั้งที่ท่านอ่อนกว่าป้าถึง ๑๐ ปีเต็ม มีความรู้สึกทั้งรักเคารพ ขณะเดียวกันก็กลัวเกรง บอกตนเองว่า " เด็กหนุ่มคนนี้ น่าเกรงใจมาก ถ้าใช้ให้เราทำอะไรแล้ว เราคงต้องช่วยทำเต็มที่ เราทนไม่ได้ที่จะเห็นเค้าเสียใจ หรือผิดหวัง "

เวลาที่ป้าซื้อของกินเล็กๆ น้อยๆ แต่เป็นของค่อนข้างดีและประณีต ไปฝากคุณยายทุกเย็น เช่นขนม ผลไม้ แล้วคุณยายไม่เก็บไว้กิน หรือ ให้เด็กๆ ที่อยู่ด้วยกิน แต่กลับเก็บไว้ในตู้เหล็ก พอหลวงพ่อเจ้าอาวาสเดินทางจากมหาวิทยาลัยมาถึงเหนื่อยๆ คุณยายฯ ก็เปิดลิ้นชัก หยิบของที่ป้าเอามาฝาก ออกมาให้หลวงพ่อฯ รับประทานจนหมด

ป้าเห็นอยู่บ่อยๆ เห็นแล้วก็สงสัยว่า " ทำไม ยายต้องเอามาให้เด็กคนนี้กินหมด เราซื้อมาให้ยายนี่ ไม่ใช่ซื้อมาให้เด็กหนุ่มคนนี้กินซักหน่อย " อดรนทนไม่ได้ จึงไปถามหลวงพ่อรองเจ้าอาวาสว่า " เด็กคนนี้เป็นใครกัน ทำไมยายต้องสนใจ ดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษยังงี้ "

พอได้รับคำชี้แจงว่า " เป็นคนปฏิบัติธรรมได้ผลดีมาก คุณยายฯ สอนได้อย่างใจ อีกหน่อยจะสืบต่อ งานของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ตอนนี้ยายต้องช่วยดูแลอุปการะอยู่ เพราะพ่อ ต้องการให้ลูกเอาดีทางโลก ลูกก็เลยไม่กล้าไปเบิกค่าใช้จ่ายจากพ่อ เพราะไปทีไรก็ต้องถูกห้าม เรื่องการเรียนธรรมะทุกทีไป " ป้าก็หายขุ่นเคืองใจนับแต่นั้นมา กลับซื้อของเพิ่มจำนวนขึ้น เพราะเกิดศรัทธา ดีใจที่ตนเองจะได้บุญ ให้ของกินแก่ผู้ปฏิบัติธรรมได้ผล แล้วยิ่งดีใจใหญ่เป็นพิเศษทวีคูณ เมื่อต่อมาคุณยายฯ ได้มอบหมายให้หลวงพ่อเจ้าอาวาส เป็นผู้ทำการอบรมสั่งสอนหมู่คณะแทน ในยามที่คุณยายเจ็บป่วยหรืออ่อนเพลีย นับว่าเป็นครูคนที่สองของเรา

บ้านธรรมประสิทธิ์ ที่พักของคุณยายในเวลาครั้งกระโน้น เป็นบ้านในฝันของพวกเราทุกคน มีความจริงใจต่อกัน เป็นกันเอง เห็นอกเห็นใจ ทุกคนเข้าไปแล้วมีความรู้สึกตรงกันคือมีความอบอุ่นใจ รักใคร่ปรองดองกัน ดูจะยิ่งกว่าพี่น้อง มีคุณยายฯ เป็นหัวหน้าครอบครัว ใครมีปัญหาอะไรๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษาเล่าเรียน เรื่องครอบครัว เรื่องในสถานที่ทำงาน เรื่องสุขภาพร่างกาย และอื่นๆ จิปาถะ เราจะเอามาเล่าสู่กันฟัง แล้วหมู่คณะก็จะช่วยกันหาทางแก้ไข โดยมีคุณยายเป็นผู้ให้คำแนะนำ ป้ายังจำได้ว่า เมื่อลูกของพวกเราบางคนเรียนจบชั้นมัธยม จะสอบเข้ามหาวิทยาลัย ป้ายังต้องช่วยวิ่งเต้นหาที่เรียนให้ บางคนป่วยไข้ ฝ่ายที่เป็นหมอก็ช่วยเป็นธุระพาไปรักษา

คุณยายฯ เอาใจใส่พวกเราทุกคน เหมือนท่านเป็นทั้งพ่อแม่และครู ไปในตัว ท่านแก้ปัญหา หาทางออกให้ได้ทุกเรื่อง ทั้งที่ไม่เคยออกไปไหนนอกวัด ไม่เคยรู้เรื่องทางโลก โดยเฉพาะหนังสือ ก็อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แต่กลับมีทั้งความฉลาดและเฉลียว พร้อมปฏิภาณไหวพริบ เป็นที่พึ่งได้ทุกเรื่องอย่างนึกไม่ถึง

ทุกเย็นพวกเราทุกคนจะพากันเดินทาง มาที่บ้านธรรมประสิทธิ์ ที่เป็นนักเรียน นักศึกษามักจะมาถึงก่อน เพราะเลิกเรียนเร็ว คนทำงานแล้วมาถึงช้าหน่อย คุณยายฯ จะต้อนรับเราด้วยอัธยาศัยอันดียิ่ง ใครหิวท่านก็ให้เข้าครัวหาอาหารในตู้กิน ใครกินอิ่มมาแล้ว ท่านก็สอบถามสารทุกข์สุกดิบทั่วไป ใครมีปัญหาเดือดร้อนอะไร ก็เล่าให้คุณยายฟังในตอนนี้ คุณยายมักตั้งใจฟัง และสามารถให้คำแนะนำได้อย่างดี

ถ้าเป็นวันอาทิตย์ก็จะมีคนมาแต่เช้า เพิ่มเป็นราว ๒๐ คน คุณยายจะสอนเป็นสองรอบคือเช้าและบ่าย ไม่มีตอนเย็น ถ้าเป็นวันอาทิตย์ต้นเดือน จะมีถวายข้าวพระ มีผู้คนมามากหน่อยราว ๓๐-๔๐ คน นั่งกันทั้งชั้นบนชั้นล่าง

อาหารถวายข้าวพระ ต่างคนต่างนำไป คนที่ไม่ได้นำไป ก็มีอาหารที่ร่วมกันทำที่บ้านพักคุณยายฯ แล้วแต่จะสมทบบริจาค เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ก็จะนำอาหารส่วนหนึ่งไปถวายพระสงฆ์ของวัดปากน้ำที่ศาลาฉัน ส่วนที่เหลือก็ร่วมกันรับประทานอาหาร

ส่วนเรื่องการปล่อยสัตว์ปล่อยปลา เราทำกันตั้งแต่วันเสาร์ต้นเดือน โดยที่การจัดดอกไม้บูชาพระอย่างสวยงาม ทำสมาธิในตอนเช้า แล้วร่วมกันบริจาคเงิน ให้ทานชีวิตสัตว์ นำเงินทั้งหมดออกไปซื้อปลาและสัตว์อื่น ที่ตลาดหน้าวัด คุณยายฯ เป็นผู้ทำพิธีปล่อย

ทำพิธีเสร็จแล้ว เราก็ปล่อยลงในคลองภาษีเจริญ ข้างประตูหลังบ้านพักคุณยายฯ นั่นเอง วันเสาร์และวันอาทิตย์ต้นเดือนติดกันสองวันนี้ หมู่คณะของเราร่วมกันทำบุญด้วนความอิ่มใจเป็นอย่างยิ่ง วิธีการสอนของคุณยาย และหลวงพ่อที่ท่านสอนเด็กๆ ลูกๆ ของสมาชิกที่เป็นลูกศิษย์ เด็กเหล่านั้นสามารถมีตาทิพย์หูทิพย์ มีอภิญญาจิตต่างๆ ไปรู้ไปเห็นว่า การทำบุญมีหลายชนิด ผลบุญที่เกิดขึ้นแตกต่างกัน ทำทานด้วยเครื่องนุ่งห่ม เวลาไปเกิดที่ไหนก็เป็นผู้มีผิวพรรณสวยงาม มีเครื่องนุ่งห่มบริบูรณ์ ถ้าทำทานด้วยอาหาร ก็ทำให้ไม่อดอยากและไม่ลำบากในการสร้างบารมี พร้อมกันนั้นก็ต้องรักษาศีล เพื่อให้ไปเกิดได้รูปร่างดี สุขภาพแข็งแรง และเจริญภาวนาให้เป็นคนมีปัญญาเฉลียวฉลาดรวมไปด้วย

ย้อนมาเล่าเรื่องความรักความอบอุ่น ในบ้านธรรมประสิทธิ์กันใหม่ ป้าจำได้ว่าเวลาบางคนในหมู่คณะหายหน้าไปไหน ไม่ไปปฏิบัติธรรมร่วมกันตอนเย็นหลายๆ วันไปหน่อย พวกที่สามารถทำอภิญญาจิตได้ จะใช้อำนาจสมาธิจิตไปติดตามดูว่า อยู่ที่ไหน กำลังทำอะไร ถ้าเห็นไม่ชอบมาพากล จะออกนอกเส้นทางบุญ คุณยายฯ ก็จะใช้อำนาจสมาธิจิตเรียกตัวกลับ และก็เป็นเรื่องอัสจรรย์ ภายในวันสองวันนั้น คนนั้นก็จะรีบกลับมาพร้อมกับพูดว่า " ไม่รู้เป็นยังไง คิดถึงหมู่คณะเหลือเกิน "

ความเป็นห่วงเป็นใยซึ่งกันในหมู่คณะ มีทั้งที่เป็นห่วงร่วมกัน และทั้งที่เป็นห่วงส่วนตัว บางทีก็ห่วงใยเรื่องความเป็นอยู่ ห่วงเรื่องการเรียน เรื่องสุขภาพ ตลอดจนเรื่องการเงิน โดยเฉพาะที่ยังเป็นนักเรียนนักศึกษา ไม่มีรายได้ อาจขาดแคลนค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียน

ที่ยังประทับใจอยู่ไม่รู้ลืม ป้าจะเล่าให้ฟัง มีอยู่วันหนึ่งขณะที่ทุกคนกำลังนั่งสมาธิกันเงียบกริบ ป้ายังกำหนดใจอะไรไม่ได้ พอหูได้ยินเสียงเคลื่อนไหวที่พื้นกระดาน ใจของป้าก็คิดเป็นห่วงกระเป๋าสตางค์ ของบรรดาฝ่ายชาย เกรงจะมีใครแอบขึ้นบันไดมาหยิบเอาไปหมด เวลานั้นป้าไม่เข้าใจว่า ทำไมเวลานั่งสมาธิผู้ชายทุกคนจะต้องหยิบกระเป๋าสตางค์ ออกมาจากกางเกง วางไว้ข้างตัว ป้าคิดเอาว่า " เค้าคงปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นในสมบัติอะไรกระมัง เลยเอาทรัพย์สินเงินทองออกมาวางทิ้งซะ " ภายหลังจึงทราบว่า เหตุที่พากันทำดังนั้น เพราะถ้ามีกระเป๋าสตางต์อยู่ในกางเกง กระเป๋าจะค้ำตัว ทำให้กางเกงตึง นั่งไม่สบาย แต่การนั่งสบายของฝ่ายชาย ทำให้ป้ารู้สึกไม่สบาย เป็นห่วงเป็นใยกระเป๋าพวกนั้นยิ่งนัก

พอนึกห่วงหนักเข้าก็เลยต้องหรี่ตา ดูว่าอะไรมาทำเสียงเหมือนคนเคลื่อนไหว ป้าเห็นหลวงพ่อรองเจ้าอาวาสของเรา ท่านกำลังคลานมาทางด้านหลังของคนอื่นๆ ที่นั่งสมาธิล้อมกันเกือบเป็นรูปวงกลม ป้าก็นึกในใจ " เอ คุณเด็ดเนี่ย ทำอะไรกัน ทำไมไม่นั่งสมาธิ มาคลานเล่นซะนี่ เราต้องดูหน่อยเถอะว่า คลานไปไหน "

ในที่สุดป้าก็เห็นคลานไปที่กระเป๋าสตางต์ของหลวงพ่อเจ้าอาวาส หยิบขึ้นมาเปิด ป้าหรี่ตาจ้องมองเป๋งเลย เปิดกระเป๋าคนอื่นทำไม ป้าเห็นเปิดแล้วทำท่าเหมือนนับดูเงิน ขณะเดียวกันก็ดึงกระเป๋าสตางค์ตนเองออกมาจากกางเกง หยิบธนบัตรออกมานับปึกหนึ่ง ใส่ลงในกระเป๋าของอีกฝ่าย ป้าถอนใจอย่างโล่งอก รู้สึกตื้นตันน้ำตาซึม นึกไป " โธ่เอ๋ย ไปสงสัยซะใหญ่โต ที่แท้คุณ เด็ดก็ห่วงน้องจะไม่มีเงินใช้ กำลังเรียนปีสุดท้ายต้องใช้จ่ายมาก ส่วนคุณ เด็ดเรียนจบแล้วมีรายได้ดี จึงเอามาแอบแบ่งให้ใช้ ถ้าให้ซึ่งๆ หน้า ฝ่ายน้องก็คงไม่ยอมรับ คงบอกคอเป็นเอ็นว่ามีแล้ว ทั้งที่บาทเดียวก็บอกได้ว่ามีแล้วนั่นแหละ คุณ เด็ดเลยต้องใช้วิธีแอบให้ยังงี้ ไอ้เราก็คิดมาก สงสัยวุ่นวายไปได้ "

นับแต่วันนั้นมา ป้าจะได้ยินเสียงคนคลานเคลื่อนไหว ขณะนั่งสมาธิอีกกี่ครั้ง ก็ไม่กังวลห่วงใจจนต้องลืมตาดูอยู่อีกเลย

เวลานั้นป้าถือเอาบ้านธรรมประสิทธิ์ เป็นที่พึ่งอันยิ่งใหญ่ ไปครั้งใดจะปฏิบัติได้ผลหรือไม่ได้ผล ก็มีแต่ความสุขความสงบใจ สำหรับคนอื่นอาจจะไม่นึกอย่างป้า ที่ป้านึกเพราะบังเอิญเป็นระยะที่ ต้องรับหน้าที่ราชการค่อนข้างหนัก ต้องไปอยู่เป็นหัวหน้าสถานศึกษาในโรงเรียนขนาดใหญ่ เด็กนักเรียนเกือบทั้งหมด มาจากแหล่งเสื่อมโทรมที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ คือท่าเรือคลองเตย โรงเรียนเพิ่งตั้งขึ้นใหม่ งบประมาณอัตรากำลังครูไม่มี ทางกรมต้องใช้วิธีขอครูจากโรงเรียนอื่นที่มีครูเกิน ไม่มีโรงเรียนไหนเลย ที่ยกครูชนิดดีมาให้ มีแต่ให้ครูที่เขาต้องการคัดทิ้งทั้งสิ้น

เรื่องเด็กยากจนและมีปัญหาความประพฤติ โดยเฉพาะการลักขโมย กับเรื่องครูที่มีปัญหาแทบทั้งโรงเรียน จึงเป็นความทุกข์หนัก ในหน้าที่การงานของป้า จะปรับทุกข์กับพ่อบ้านเขาก็ไม่เข้าใจเพราะคนละอาชีพกัน ยังดีที่ผู้บังคับบัญชาพอเข้าใจ และเห็นใจอยู่บ้าง แต่ก็ช่วยอะไรได้ไม่มาก ก็มีแต่หลักธรรมและคำพูดสอนต่างๆ ที่คุณยายฯ หลวงพ่อเจ้าอาวาส และรองเจ้าอาวาส รวมทั้งเพื่อนสหธรรมิก ที่บ้านธรรมประสิทธิ์เท่านั้น ที่ทำให้ป้ามีที่พึ่ง มีความอบอุ่นใจตลอดมา

เล่ามาถึงตอนนี้ ทำให้ป้าหวนคิดถึงบ้านหลังนั้นอีกครั้ง คิดถึงจับใจทีเดียว บรรยากาศอันแสนอบอุ่นอย่างั้น ไม่มีอีกแล้ว กลายเป็นความทรงจำในอดีต ที่ไม่มีวันย้อนกลับมาเกิดได้ใหม่ เป็นเพียงความฝันชั่วคราว ที่ตื่นขึ้นก็จากไป

อย่างไรก็ดีมาบัดนี้ บ้านหลังนั้นในครั้งกระโน้น ได้ให้ข้อคิดที่ประมาณคุณค่าไม่ได้แก่ป้า นอกจากเป็นบ้านที่เป็นต้นกำเนิด การก่อสร้างวัดพระธรรมกาย ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาแล้ว ยังชี้ให้เห็นว่า คนมีความทุกข์ จะเป็นทุกข์แง่ใดก็ตาม จะขวนขวายสนใจและเอาจริงต่อการศึกษาเล่าเรียน ปฏิบัติตามคำสอนของศาสนา ตรงข้ามกับบุคคลที่มีความสุข มีความสมบูรณ์พรั่งพร้อม ในทางโลกธรรม ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มักเป็นผู้ประมาทมัวเมา มองไม่เห็นของคุณค่าคำสอน ถือดีว่า ไม่ต้องสนใจ ไม่ต้องทำตาม ชีวิตก็สุขสบายดีแล้ว ไม่รู้ความจริงว่า ที่ตนสุขสบายอยู่นั้น เพราะผลของกรรมดี ที่ทำไว้ในอดีตค้ำจุนอยู่ เมื่อใดบุญนั้นหมดลง กรรมชั่งอื่นๆ ที่ค้างอยู่ก็คงตามมาให้ผลแทน เมื่อนั้นก็ต้องพบกัยความวิบัติอย่างแน่นอน

ดังนั้น คนฉลาดย่อมต้องสะสมบุญกุศลต่างๆ ไว้ให้เพิ่มพูนยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่พยายามเปิดโอกาสให้กรรมชั่งให้ผล

ทีนี้การจะคิดกระทำได้ดังนี้ มิใช่จะคิดกันเองได้ง่ายๆ จะต้องอาศัยกัลยาณมิตรชี้ทาง อย่างเช่นหมู่คณะที่บ้านธรรมประสิทธิ์ ที่ป้าเล่าให้ฟังอยู่นี้ มีคุณยายฯ เป็นกัลยาณมิตรอันยอดเยี่ยม พวกเราจึงมีสัมมาทิฏฐิเกิดชึ้น เป็นต้นเหตุให้มีโอกาสประกอบกุศลกรรมต่างๆ

เมื่อป้าไปที่บ้านธรรมประสิทธิ์ครั้งนั้น ป้าเห็นคุณยายฯ ต้อนรับให้ความอบอุ่น ทุกคนที่ไปสม่ำเสมอ ป้าก็เห็นเป็นเรื่องธรรมดา มาบัดนี้เมื่อป้ามีอายุย่างเข้าวัยชรา เท่ากับคุณยายฯ สมัยโน้น ป้าจึงซาบซึ้งในการปฏิบัติตัวของคุณยายฯ สมัยที่เล่าไว้ เป็นอย่างยิ่ง คุณยายฯ ต้อนรับผู้คนที่ไปหาท่าน ไม่ว่าจะไปเรียนธรรมปฏิบัติ หรือมีปัญหาอะไรไปให้ช่วยแก้ไข จะไปพบเวลาใด มืดค่ำดึกดื่นแค่ไหน ถ้าท่านยังไม่หลับ เป็นต้องได้รับการต้อนรับอย่างดี จากคุณยายฯ พอถึงคราวป้าบ้าง เมื่อถูกรบกวนขอให้สอนหรือขอพบ ป้าจึงรู้สึกถึงความยากลำบาก ความเหน็ดเหนื่อยที่ตนเองได้รับ ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร ให้ผู้อื่นได้ดีไม่เท่า หนึ่งในร้อยในพันของคุณยายฯ

คนอย่างคุณยายฯ จะนับเป็นหนึ่งในโลก ก็คงไม่ผิด มีความตั้งใจในการทำกุศลใหญ่ และใจใหญ่ในการช่วยเพื่อนมนุษย์ ใครได้พบเห็น และช่วยงานท่าน นับว่าเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตตนเองโดยแท้




 

Create Date : 23 เมษายน 2551    
Last Update : 23 เมษายน 2551 11:10:34 น.
Counter : 1688 Pageviews.  

อุบาสิกา ถวิล - บทที่สอง - เหมือนพบน้องชายที่หายไปนาน

ในปีพ.ศ. ๒๕๐๒ ปีเดียวกับที่ป้ารู้จักอาจารย์วรณี สุนทรเวชนี้เอง ป้าก็ได้รู้จักเด็กชายวัยรุ่น อายุราว ๑๘-๑๙ ปีผู้หนึ่ง เป็นเพื่อนเพื่อนรักสนิทสนมมากของน้องชาย ป้าจะเล่าความเป็นไปให้ฟัง

เมื่อป้าเริ่มเข้าทำวานรับราชการใหม่ๆ ปลายเดือนมีนาคม ๒๕๐๒ ได้พักอยู่บ้านหลังใหญ่ ป้าอยู่กับเพื่อนข้าราชการสตรีอีกคนหนึ่งเท่านนั้น ป้าจึงไปขอย้ายน้องชายชื่อ ธนู บุญทรง ซึ่งกำลังเรียนอยู่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (สามพราน) ให้มาโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (พญาไท) อันเป็นโรงเรียนเครือข่ายเดียวกัน ผู้อำนวยการโรงเรียนเดียวกัน จึงได้รับอนุญาตด้วยดี การเรียนเตรียมอุดม ฯ ครั้งนั้นยากลำบากมาก นักเรียนต้องตั้งใจเรียนกันอย่างจริงจัง จึงจะสอบไล่ได้ การสอบคิดคะแนนเป็นร้อยละ ไม่ใช่คิดเป็นเกรดหรือเรียนเป็นหน่วยกิจ อย่างปัจจุบัน สมัยโน้นสอบตกวิชาใด ก็ถือว่าต้องซ้ำชั้นทั้งปี เรียนใหม่หมดทุกวิชา น้องชายของป้าเรียนไม่เก่งมาก จึงต้องสนใจคร่ำเคร่งกว่าปกติ

วันหนึ่งเป็นเวลาใกล้ๆ สอบ น้องได้พาเพื่อนผู้ชายคนหนึ่งมาพบ แนะนำว่า " พี่ครับ เพื่อนรักของผมคนนี้ชื่อเผด็จ ผ่องสวัสดิ์ เป็นคนเมืองกาญจน์ (จังหวัดกาญจนบุรี) อยากจะมาพักท่องหนังสือกะผมตอนก่อนสอบเนี่ย เพราะผมบอกว่า บ้านพักของเราเงียบดี พี่อนุญาตนะครับ " น้องชายขออนุญาตเป็นพิธี เพราะรู้ว่าป้าต้องอนุญาตอยู่แล้ว เพื่อนท่องหนังสือหายากเต็มที มีแต่เพื่อนเที่ยวเสียเป็นส่วนมาก

ป้าเงยหน้ามองเพื่อนของน้องชาย ที่ยืนพนมมือไหว้อยู่ที่หน้าบันไดขึ้นบ้าน ไหว้แล้วก็ลดมือทั้งสองข้างลงไปแนบไว้ข้างขา ทำตัวตรง ยิ้มเผล่ เหมือนท่าของนักเรียนกำลังทำความเคารพครู ป้าเห็นหน้าเต็มตาแล้วก็ตกใจ และประหลาดใจบอกไม่ถูก รวมทั้งตื่นเต้นดีใจ ระคนปนเปกัน รู้สึกเหมือนว่า น้องชายแท้ๆ ของตนเอง กลายเป็นคนแปลกหน้าอื่นไป ส่วนเด็กที่เพิ่งมาใหม่ยืนอยู่ตรงหน้านี่ต่างหาก คือน้องชายตัวจริง ที่พลัดพรากจากกันไปนานแสนนาน เพิ่งได้กลับคืนมาพบกัน หายตกตลึงแล้ว ป้ารีบระล่ำระลักอนุญาตทันที เพื่อนของป้าก็เต็มใจอนุญาต และรู้สึกมีความสนิทสนมด้วย ในทำนองเดียวกัน

หนุ่มน้อยเผด็จ ผ่องสวัสดิ์เป็นคนขาว รูปร่างล่ำสัน อารมณ์ดี เบิกบาน ยิ้มง่าย หัวเราะเสียงดัง สุภาพอ่อนโยน ที่น่ารักมากคือความเป็นกันเอง เลี้ยงง่าย ทำอาหารอะไรให้ ก็จะรับประทานอย่างเอร็ดอร่อยเสมอ เป็นคนรับประทานค่อนข้างจุ แต่ก็เป็นเรื่องแปลก ป้ากับเพื่อนกลับมีความพอใจ ที่เห็นเด็กหนุ่มผู้นี้เจริญอาหาร ไม่เคยรู้สึกเสียดายเลยจนนิดเดียว กลับช่วยกันยุให้รับประทานให้เต็มที่

น้องของป้าเล่าว่า เขาเป็นเพื่อนรักกันได้ เพราะต่างคนต่างเป็นแชมป์งัดข้อ ประจำห้องเรียน พอมีการแข่งระหว่างห้อง ทั้งคู่ก็เข้าแข่งขัน เพื่อนๆ พากันมาเชียร์ให้กำลังใจเป็นที่สนุกสนาน ถ้างัดข้อแขนซ้าย หนุ่มน้อยเผด็จจะเป็นฝ่ายชนะ ถ้างัดทางแขนขวา น้องชายป้าก็จะชนะ ต่อมากี่ครั้งก็เป็นทำนองเดียวกัน ในที่สุดถ้ามีการแข่งกันอีก ก็จะเสู้กันพอเป็นพิธี ไม่ได้ออกแรง ให้การตัดสินออกมาเหมือนเดิม แล้วแบ่งของรางวัลกันคนละครึ่ง ทั้งคู่จึงกลายจากคู่แข่งเป็นเพื่อนรักกัน นับแต่นั้นมา

หนุ่มน้อยนี้เป็นแขกประจำที่บ้านป้า ในเวลาใกล้สอบทุกครั้ง เป็นที่ชอบพอของเพื่อนป้าที่อยู่ด้วยกัน และเพื่อนอื่นๆ ที่มาเยี่ยมแล้วรู้จัก ต่างรักในนิสัยสุภาพ และ ความอ่อนน้อมถ่อมตนที่ได้พบเห็นซึ่งเป็นสิ่งที่มาได้ยาก ในเด็กรุ่นเดียวกัน ความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นบุญญกิริยาวัตถุอย่างหนึ่ง ใครทำแล้วได้บุญทันตาเห็น

นอกเหนือจากเรื่องดูหนังสือเพื่อเตรียมตัวสอบแล้ว วันหยุดเรียน เสาร์-อาทิตย์ ที่ไม่มีการเรียนเร่งด่วน สองหนุ่มก็มักพากันไปเรียนวิชาปลุกพระ ปลุกเสกเลขยันตร์ อยู่ยงคงกระพันหนังเหนียว เรียนแล้วก็มาลองวิชากันที่บ้านพัก เป็นที่อกสั่นขวัญแขวงของป้าและเพื่อน ปลุกพระก็มีอาการตัวสั่น นั่งหลับตาตัวกระดอนไปมา เสียงโครมครามลั่นบ้าน ส่วนเรื่องหนังเหนียว บางทีป้ากำลังช่วยเพื่อนทำกับข้าวตอนเย็น เอามีดปังตอสับหมูอยู่ป๊อกๆ น้องชายวิ่งเข้ามาอย่างรวดเร็ว

" พี่ ๆ ยืมปังตอหน่อยครับ แป๊บเดียว จะลองวิชาหนังเหนียวหน่อย " ว่าแล้วก็แย่งมีดในมือป้าไป ป้าตกใจสุดขีด มีดลับไว้คมกริบ เดี๋ยวได้แผลกันแหวะหวะ รีบวิ่งตามไปจะเอามีดคืน ไปไม่ทัน ทั้งคู่ผลัดกันฟันแขนเต็มแรงเสียแล้ว ก็เป็นเรื่องแปลก หนังเหนียวกันได้จริงเหมือนกัน ฟันลงไปผิวหนังไม่ขาดออกจากกันเป็นผลก็จริง แต่น้ำหนักมือคงจะแรงอยู่ไม่น้อย ทำให้เนื้อเป็นรอยช้ำ เป็นทางยาใอยู่ใต้ผิวหนังกระทั่งทุกวันนี้ นานกว่า ๓๐ ปีแล้ว แขนน้องชายป้าก็ยังมีรอยดังกล่าวอยู่

บางครั้งทั้งคู่หายกันไปเป็นวันๆ กลับมาถึงบ้าน มานั่งทำพิธีเสกปรอทเข้าตัว เวลานั้นป้าไม่เข้าใจ พลอยเห็นเป็นเรื่องแปลกไปด้วย เวลาเอาปรอทวางในฝ่ามือบริกรรมคาถา เอามือถูที่ปรอทถูไปถูมา ปรอทก็หายเข้าฝ่ามือไปหมดเกลี้ยง แล้วก็เชื่อกันว่า ใครมีปรอทเข้าไปในตัวแล้ว ทำให้หนังเหนียว แต่ความจริงปรอทเป็นสารที่มีเนื้อละเอียดกว่าเนื้อคนเรา ผิวหนังคนเราเป็นของหยาบ มีรูขุมขนอยู่เต็มไปหมด พอเอาปรอทมาถู ปรอทก็จะลอดผิวหนังเข้าไปได้เอง ไม่ต้องเสกคาถาอะไร ใครๆ ก็ทำได้ ส่วนที่ทำให้เกิดอาการหนังเหนียว เป็นเพราะอำนาจความเชื่อของคน เมื่อเชื่อมากเต็มที่ ก็ทำให้ใจมีพลัง ทำให้ร่างกายผลิตสารชนิดหนึ่งออกมา ทำให้เกิดอาการหนังเหนียวได้เอง ไม่ใช่ความสามารถของปรอท ปรอทเสียอีก ให้โทษต่อร่างกาย เข้าไปแล้งอาจไปเกาะอยู่ตามกระดูก ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ เกี่ยวกับข้อหรือกระดูก

หนุ่มสองคนนี้ ยิ่งไปเรียนเดรัจฉานวิชาดังกล่าวมา ก็ยิ่งรักใคร่สนิทสนมกันมากขึ้นราวกับเป็นเพื่อนร่วมตาย มาห่างเหินกัน ก็ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย

แต่เดิมมหาวิทยาลัยต่างๆ มีสิทธิสอบคัดเลือก รับสมัครนิสิตนักศึกษาใหม่ของตนเองและมักเปิดรับไม่พร้อมกัน ทำให้นักเรียนที่จบชั้นเตรียมอุดมศึกษา ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก ต้องไปสมัครเผื่อไว้แทบทุกแห่ง พอประกาศผลสอบ บางตนสอบติด ๒-๓ แห่ง พอตัดสินใจเรียนที่ใดที่หนึ่ง ก็ต้องสละสิทธิที่อื่น ทำให้ทางมหาวิทยาลัย ยุ่งยากเรียกตัวสำรอง เพราะบางทีตัวสำรอง ก็ไปสอบได้ที่อื่น และชำระเงินค่าเล่าเรียนไปแล้ว ต้องสละสิทธิต่อบ้างเสียโอกาสบ้าง ดูยุ่งไปหมด

ในปีที่น้องชายของป้าเรียนจบ ทุกมหาวิทยาลัยใช้วิธีสอบรวมกัน เป็นปีแรก ที่สมัยนี้เรียกสอบเอ็นทรานซ์ ตัดปัญหาไปได้หลายเรื่องก็จริง แต่นักเรียนก็เสียโอกาสไปในตัวไม่น้อย เช่น เลือกมหาวิทยาลัยเกินความสามารถของตนไป เลือกคณะวิชาเกินสติปัญญาของตนไป เลือกเรียนเพราะติดเพื่อนก็มี ทำให้ผิดหวังไปตามๆ กัน

น้องชายของป้ากับเพื่อนรัก จากกันตอนนี้ เพื่อนสอบได้เรียนที่ มหาวิทลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน น้องของป้าสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ติด เพราะเลือกสูงเกินไป จึงต้องเปลี่ยนชีวิตไปเข้ากรมป่าไม้ และเรียนต่อในโรงเรียนป่าไม้แพร่ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชในที่สุด

ป้าได้พบคุณเผด็จอยู่ ๒ ครั้ง ในปี ๒๕๐๓ พิธีแต่งงานของป้า และปี ๒๕๐๖ วันส่งคุณเผด็จ ที่ดอนเมือง เพื่อไปเรียนต่อที่ประเทศออสเตรเลีย

ส่วนวันคุณเผด็จขึ้นเครื่องไปเรียนต่อ ป้าร้อยพวงมาลัยสวมคอ ด้วยฝีมือของป้าเอง ดอกไม้ชนิดต่างๆ ที่ใช้ ป้าขอจากภารโรงที่รู้จักกัน อยู่โรงเรียนใกล้ๆ บ้าน ครั้งนี้เป็นการจากกันนานหน่อย พบกันอีกครั้งและตลอดมา ในปี ๒๕๑๑ นานถึง ๕ ปีที่ป้าไม่ได้ข่าวคราวเอาเลย

ชีวิตของป้าในระหว่างนั้น วุ่นวายอยู่กับเรื่องทำมาหากินเลี้ยงครอบครัว ก่อนแต่งงานเลี้ยงดูเฉพาะ พ่อแม่ และส่งเสียน้องสองคนเล่าเรียน พอหลังแต่งงานก็เพิ่มสมาชิก ที่ต้องรับผิดชอบอีกหลายชีวิต มีทั้งลูกทั้งหลานทั้งลูกจ้าง

มีเรื่องหนึ่งที่ป้าเล่าไว้ในหนังสือจากความทรงจำ เป็นเรื่องสำคัญ ถือเป็นต้นเหตุที่ทำให้ป้าคิดสร้างวัด คือเรื่องชื่อของป้าที่เหมือนผู้ชาย ตอนเรียนหนังสือ เก้าอี้นั่งเรียนถูกจัดตามตัวอักษร เลยต้องนั่งอยู่ในกลุ่มเพื่อนผู้ชาย ซึ่งสมัยนั้นพากันนิยมเลื่อมใส ลัทธิคอมมิวนิสต์ ป้าก็ถูกเป่าหูให้คล้อยตามไปด้วย แต่ที่ป้าไม่เข้าร่วมขบวนการ เพราะ สะดุดใจ ในคำสอนเรื่องพ่อแม่ไม่มีบุญคุณ พ่อแม่รักป้ามาก ยอมเสียสละอะไรๆ ให้ป้าตลอดมา ป้ายอมรับคำสอนว่าพ่อแม่ไม่มีบุญคุณไม่ได้ แต่คำสอนที่ว่าศาสนาเป็นกาฝากของสังคม พวกนักบวชเป็นผู้เอาเปรียบ ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยทำมาหากิน อยู่กันสุขสบาย เรื่องนี้ป้ามีความเห็นคล้อยตาม

ที่รู้สึกผิดเป็นอย่างยิ่ง คือมีอยู่วันหนึ่ง ป้ากับเพื่อนสตรีผู้หนึ่งพร้อมด้วยคนรักของเธอ ไปธุระกันที่อำเภอบางกะปิ ขณะที่ขับรถส่วนตัวกลับมาตามทาง ฝนตกหนักมาก สองข้างทางสมัยนั้นไม่มีบ้านผู้คนเลย มีแต่ทุ่งนา ริมถนนมีพระภิกษุเดินตากฝนตัวเปียกอยู่รูปหนึ่ง เสียงคนรักของเพื่อน ผู้ซึ่งมีจิตใจฝักใฝ่ในลัทธิฝ่ายซ้ายเต็มที่ เพราะมีบิดานิยมลัทธิดังกล่าว และถูกฝ่ายรัฐบาลจับตัวไปฆ่าทิ้ง หัวเราะขึ้นอย่างขบขันปนความชิงชัง

" คุณถวิล ดูซิ นั่นกาฝากสังคมเดินอยู่ข้างถนนนั่น ไม่รู้จักทำมาหากิน ปล่อยให้เดินตากฝนให้สบาย " แล้วทั้งสองคนก็หัวเราะกันต่อ ป้าหัวเราะตามไปด้วยนิดหน่อย แล้วหยุดกึกคิดขึ้นมาว่า

" นี่ถ้าเป็นคนธรรมดา เดินอยู่อย่างนี้ เราก็แวะจอดรถรับตัว ให้นั่งไปด้วยแล้ว เพราะถนนสายนี้ ไม่มีรถเมล์หรือรถรับจ้างอะไรเลย เพียงแต่ห่มผ้าเหลืองต่างจากชาวบ้านเท่านั้น เราไม่จอดรถรับ อย่างงี้เราสามคนทำผิดหรือถูกกันแน่ เป็นคนใจร้ายหรือเปล่า " ป้าถามตนเองแล้วหาคำตอบไม่ได้ ค้างใจตลอดมา

จนปี ๒๕๐๖ ก่อนคุณเผด็จไปเมืองนอก เวลานั้นป้าทำงานอยู่หน้าห้องท่านรองอธิบดี ใกล้ๆ เวลาเลิกงานวันหนึ่ง ท่านรองอธิบดีออกมาพูดกับทุกๆ คนดังๆ ว่า

" เย็นนี้ที่หอประชุมคุรุสภา หลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ จะมาแสดงปาฐกถาธรรม ใครจะไปฟังกับผมมั่ง " จำนวนคนทำงานในห้องนั้นราวๆ ๓๐ คน ทุกคนเงียบกริบ ไม่มีใครตอบผู้บังคับบัญชา ป้ามองไปเห็นมีข้าราชการหนุ่มท่านหนึ่ง ชื่อ ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง ยกมือขึ้น แสดงว่าไปด้วยเพียงคนเดียว

ในทันทีนั้น ป้าก็รีบยกตามขึ้นอีกคนหนึ่ง ป้าทราบว่า ดร. เอกวิทย์ เป็นผู้เลื่อมสอนในคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุอยู่ ส่วนป้านั้นไม่มีความรู้ทางพุทธศาสนาอะไรเลย ยกมือเอาใจเจ้านายไปเท่านั้น เกรงท่านผิดหวัง และบางทีการแสดงความสนใจ ในสิ่งที่ผู้บังคับบัญชาสนใจอยู่ อาจจะได้รับความเอ็นดูพิเศษ ป้าคิดของป้าตื้นๆ แค่นี้ แล้วก็ยังคิดต่อว่า ตอนเย็นเวลาไป จะไปนั่งแถวหลังสุด พอคนเผลอก็จะแอบหนีออกทางด้านหลัง ไม่มีใครเห็น รีบกลับบ้าน เพราะลูกคนที่สองยังเล็ก จะรอกินนมแม่

แต่แล้วเย็นวันนั้น ขณะป้าฟังปาฐกถาธรรมเรื่องสุญญตา ป้าก็เข้าใจหลักธรรมเหล่านั้นโดยแจ่มแจ้ง เหมือนเป็นเรื่องเคยเรียนมาแล้ว พอมีใครทบทวนให้ ก็เข้าใจกระจ่าง ป้าจึงลืมเรื่องหนีกลับ ฟังจนเลิก เป็นเวลาค่ำ ความปีติใจมีมาก น้ำตาไหลพรากๆ ตลอดเวลาเดินกลับบ้าน ดีที่ไม่มีใครเห็น ขนตามตัว ตลอดจนเส้นผมบนศรีษะ ลุกชูชันอยู่เป็นระยะ ตัวเนื้อเบาประหลาด

นับแต่เย็นวันนั้น ป้าก็ตามผู้บังคับบัญชาไปฟังอีกทุกเย็น รวม ๑๐ วัน คำตอบที่ตนเองได้รับคือ หลักคำสอนในพระพุทธศาสนานั้น เป็นของหาค่าไม่ได้ พระสงฆ์เป็นผู้สืบศาสนา ย่อมเป็นผู้ทรงคุณค่าสูงส่ง การดูถูกดูหมิ่นพระภิกษุ ย่อมนับว่าเป็นบาปกรรมหนัก เวลานั้นป้าก็พลันนึกหวนเสียใจ ในเหตุการณืที่เล่าไว้ ในวันฝนตกดังกล่าวแล้ว คิดขึ้นในขณะนั้นว่า " ถ้ามีอะไรไถ่บาป ความนึกคิด ที่เคยล่วงเกินเหล่านั้นได้ จะกระทำทันที "

ต่อจากนั้นป้าก็หาหนังสือธรรมะต่างๆ มาอ่าน ตลอดจนซื้อหนังสือทุกเล่มของหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ อ่านแล้วอ่านอีก เล่มหนึ่งๆ หลายเที่ยว ได้ความรู้ที่ไม่เคยรู้มาก่อนมากมาย

กระทั่งเดือนสิงหาคม ๒๕๐๗ ป้าได้รับแต่งตั้งจากทางราชการ ให้คุมข้อสอบเลื่อนชั้นของข้าราชการไปที่จังหวัดเชียงใหม่ ป้าได้เจ็บป่วยเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน ในรถไฟขณะเดินทาง ความเจ็บป่วยในท้องครั้งนั้นรุนแรงมาก จนทำให้นึกถึงธรรมฝ่ายปฏิบัติ เพราะฝ่ายปริยัติที่ศึกษาเล่าเรียนมา ช่วยอะไรไม่ได้เลย กลับไปนึกถึงข่าวในหนังสือพิมพ์ที่เคยอ่านพบว่า มีสมภารวัดบ้านนอกรูปหนึ่งอาพาธ แพทย์จะลองวางยาสลบเพื่อทำการผ่าตัดลำไส้บางส่วนออก ท่านขอร้องหมอว่า ไม่ต้องวางยาสลบให้ท่าน

ขอเพียงกำหนดเวลาว่า จะต้องใช้กี่ชั่วโมงในการผ่า แล้วท่านสมภารรูปนั้นก็ทำสมาธิจิต แยกกายกับใจออกจากกัยชั่วคราว จิตใจท่านก็ไม่รับรู้ทุกขเวทนาใดๆ ตลอดเวลาผ่าตัด ครั้งนั้นป้าอยากเรียนธรรมปฏิบัติขึ้นมาจับใจ

พอหายป่วยคราวนั้น ป้าก็เริ่มซื้อหนังสือมาฝึกหัดปฏิบัติธรรม ด้วยตนเอง เริ่มด้วยการฝึกอานาปาณสติ กำหนดลมหายใจเข้าออก การฝึกที่ไม่มีครูบาอาจารย์สั่งสอน อบรมใกล้ชิดมีอุปสรรคมาก บ่อยครั้งที่มีประสบการณ์บางอย่างเกิดขึ้น ผู้ปฏิบัติก็ไม่สามารถจะแก้ปัญหาอย่างไร ยกตัวอย่างกรณีของป้า ป้าฝึกจนสามารถเห็นสิ่งต่างๆ ภายนอกห้องที่นั่งปฏิบัติอยู่ เห็นทั้งที่หลับตา ป้าก็ไม่ทราบจะทำอย่างไรต่อ จะเดินทางไปนมัสการถามพระภิกษุ ที่ตนเองศรัธทาท่านก็อยู่ไกลเกินไป สำหรับพระภิกษุที่อยู่ในเมืองป้าก็ไม่เกิดศรัธทา การปฏิบัติธรรมของป้าจึงไม่ก้าวหน้า

เวลานั้นเอง ตำแหน่งราชการของป้า ก็ดันเหมือนปัญหาการปฏิบัติธรรม คือมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนก เป็นข้าราชการชั้นโทเต็มขั้น ถ้าเลื่อนเป็นชั้นเอก ต้องมีตำแหน่งเป็นหัวหน้ากอง ทางราชการในยุคนั้น ไม่นิยมให้ผู้หญิงเป็นหัวหน้ากอง อ้างว่าไม่สะดวก ในการออกตรวจราชการในต่างจังหวัด ข้าราขการสตรีในกระทรวง จำนวนไม่น้อยต้องเสียโอกาส สำหรับป้าได้รับความเมตตาจากผู้บังคับบัญชา อยู่เสมอ เลื่อนตำแหน่งในกรมไม่สะดวก ท่านก็ให้ป้าย้ายออกไปเป็นหัวหน้าสถานศึกษา ที่สามารถเลื่อนชั้นได้

ได้เลื่อนตำแหน่งเลื่อนชั้นก็จริง แต่ก็เป็นทุกขลาภ เพราะสถานศึกษาแห่งนั้นสร้างขึ้นใหม่ อยู่ใกล้ท่าเรือคลองเตย เต็มไปด้วยนักเรียนที่มีปัญหาครอบครัว โดยเฉพาะความยากจน พอดีกับเวลานั้น งบประมาณของประเทศเริ่ใขาดแคลน ตัดอัตรากำลังการจ้างครูใหม่ออกไปมาก ทางราชการจึงแก้ปัญหา ด้วยวิธีย้ายครูจากโรงเรียนที่มีครูมาก ให้ตั้งโรงเรียนใหม่

ป้าต้องเผชิญปัญหาหนักที่สุด ทั้งเรื่องของนักเรียรและครู ยังโชคดีที่ผู้บังคับบัญชาเข้าใจบ้าง คัวป้าเองเริ่มสนใจ หลักคำสอนของพุทธศาสนาแล้วบ้าง จึงพอได้ช่วยปัญหาจากหนักให้เป็นเบา ได้เป็นครั้งคราว เวลานั้นป้าต้องการกำลังใจ ในการทำงานมาก การต้องเผชิญปัญหาของนักเรียนและครู อยู่เป็นประจำวัน ทำให้เบื่อหน่ายหน้าที่การงานเป็นที่สุด ถ้าขอลดตำแหน่งและเงินเดือนเหลือเท่านเดิม และให้กลับไปทำงานที่กนะทรวงอย่างเก่า ป้าก็ยอม

ขณะเดียวกันนั้นเอง ปลายปี ๒๕๑๑ เหมือนบุญบันดาล ทำให้ป้ามีโอกาสได้พบหนทางสว่างของชีวิต มีกำลังใจที่เข็มแข็งเกิดขึ้น จะเล่าให้ฟัง

วันหนึ่งน้องชายของป้า ซึ่งทำงานอยู่จันทบุรี เดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาบ้านป้า เพื่อจะมาดูหนังจีนกำลังภายใน นำแสดงโดนดาราจีนมีชื่อเสียงโด่งดัง ชื่อหวังอยู่ ฉายที่โรงภาพยนต์ใกล้หัวลำโพง เรื่องเดชไอ้ด้วน ภาค ๒ แต่เดิมป้าก็ชอบดู ต่อมาเมื่อมีลูก มีภาระในบ้านมาก จึงเลิกไปโดยปริยาย ทั้งป้าและน้องชาย เคยอ่านนิยายจีนกำลังภายใน ติดกันงอมแงม โดยเฉพาะน้องชาย เสียเงินเช่าหนังสือมาอ่านเป็นประจำ

วันนั้นกลับจากดูหนัง น้องได้พาเพื่อนคือคุณเผด็จ ผ่องสวัสดิ์ มาด้วย เราดีใจกันมาก ป้าถามน้องว่าไปพบตัวกันได้อย่างไร น้องเล่าให้ฟังว่า พบที่โรงภาพยนต์

" ผมตีตั๋วได้แล้ว กำลังยืนรอคนรอบแรกออกจากโรง ผมได้ยินเสียงหัวเราะดังอยู่ชั้นบนของโรงภาพยนต์ เป็นเสียงหนึ่งไม่มีสอง เป็นเอกลักษณ์ของเผด็จเค้าเฉพาะตัว เค้าหัวเราะเป็นระยะๆ ผมเลยเดินเบียดผู้คน ที่กำลังออกจากโรงมาแน่นมาก เดินไปตามเสียง พบเผด็จมาดูหนังกับเพื่อนอีก ๒ คน เราดีใจกันใหญ่ นัดพบกันหลังหนังเลิก นี่พาผมไปวัดปากน้ำ พบคุณยายจันทร์มาแล้ว และขอกลับมาเยี่ยมพี่ " น้องชายเล่าวิธีพบกันให้ป้าฟังเสียยืดยาว

คุณเผด็จยังยิ้มเก่ง อ่อนน้อมสุภาพอยู่เหมือนเดิม หลังจากรับประทานอาหารเย็นและเล่าสารทุกข์สุกดิบให้ฟังกันแล้ว คุณเผด็จก็หยิบหนังสือธรรมะ ของหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุที่ป้าซื้อมาอ่าน มองดูผ่านๆ พูดขึ้นเปรยๆ ว่า " พี่สนใจเรื่องพุทธศาสนาด้วยหรือครับ"

" พี่ก็ชอบอ่านหนังสือธรรมะบ้างเหมือนกัน อ่านแล้วก็ได้รู้อะไรๆ ขึ้นมั่ง " ป้าตอบ

" การอ่านทำให้ได้รู้ ก็ดีเหมือนกัน แต่ถ้าจะให้ดียิ่งกว่านั้น ต้องทั้งรู้ทั้งเห็น ครับพี่ " อีกฝ่ายตอบ

คำว่า "ทั้งรู้ทั้งเห็น" เป็นคำแหลกใหม่ สะดุดใจป้าอย่างแรง จึงได้เริ่มซักไซ้ ให้อีกฝ่ายอธิบาย แรกๆ คนในบ้านทุกคนก็นั่งฟังอยู่ด้วย ครั้งดึกเข้าก็ไปนอนทีละคนสองคน เหลือเพียงป้ากับลูกชายคนโตชื่อเล่นว่าใหญ่ อายุ ๗ ขวบ นั่งฟังกันเลยเที่ยงคืน ป้ากับลูกรู้สึกดีใจ รู้สึกเบิกบานลืมง่วงนอน

เรื่องที่คุณเผด็จเล่าคือ การปฏิบัติธรรมแนววิชชาธรรมกาย ของหลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ ว่าเป็นแนวปฏิบัติ ที่ทำให้ทั้งรู้ทั้งเห็นได้จริง เล่าเรื่องของบ้านธรรมประสิทธิ์ ซึ่งมีคุณยายอาจารย์ อุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ศิษย์เอกของหลวงพ่อวัดปากน้ำ เป็นผู้ให้การอบรมสั่งสอนปฏิบัติธรรม หลังจากหลวงพ่อมาณะภาพแล้ว เล่าถึงกลุ่มนิสิตนักศึกษาและข้าราชการ จำนวนเป็นสิบ ที่มาให้คุณยายสอนธรรมปฏิบัติให้

คืนนั้นป้าฟังด้วยความเพลิดเพลินและอิ่มอกอิ่มใจ ตั้งใจว่าจะไปที่บ้านธรรมประสิทธิ์ในวัดปากน้ำให้ได้ รุ่งเช้าคุณเผด็จก็จากไปทำงาน แต่ก็บอกวิธีเดินทางด้วยรถเมล์ไปบ้านธรรมประสิทธิ์ไว้ให้ ลูกชายได้ถามป้าว่า " แม่จะไปวัดปากน้ำเมื่อไหร่ครับ หนูจะไปกะแม่ด้วย "

" เราต้องไปกันวันหยุด เสาร์-อาทิตย์น่ะลูก วันธรรมดาลูกก็ไปโรงเรียน แม่ก็ไปทำงาน กลับถึงบ้านกันก็เย็นมากแล้ว ไปไหนกันไม่ไหว " ข้าพเจ้าตอบ

แต่พอถึงวันเสาร์อาทิตย์ ป้าก็วุ่นกับเรื่องลูก คนโต ๗ ขวบ คนมี่สองยังไม่ถึง ๖ ขวบ คนเล็กก็เพิ่ง ๒ ขวบเศษ ป้าต้องดูแลเต็มที่ทั้งสองวัน เพื่อให้เด็กลูกจ้างรีดผ้า เรื่องไปวัดก็เหมือนจะถูกลืม ลูกชายคนโตรบเร้าป้าทุกอาทิตย์ ป้าก็ชอลผลัดอยู่เรื่อยๆ

ครั้นผ่านไปหลายอาทิตย์เข้า ลูกชายก็ยื่นคำขาดกับป้าว่า " แม่ครับ หนูไม่เห็นแม่ไปวัดตามที่แม่บอกน้า เด็ดซะที หนูไม่คอยแม่แล้ว หนูจะไปเอง" เมื่อถูกลูกชายวัย ๗ ขวบ พูดอย่างนี้ ป้าก็ย้อนถามว่า "หนูจะไปยังไงกันลูก วัดนี้อยู่ไกลนะลูก"

" ไปถูกซิครับแม่ น้า เด็ดบอกว่า สุดทางรถเมล์สาย ๔ สาย ๙ สาย ๖๖ ก็ถึงวัดพอดี ที่หน้าโรงเรียนของหนูมีรถเมล์สายนั้นวิ่งผ่าน หนูจะขึ้นรถสายนั้นไปวัดคนเดียว อาทิตย์นี้แหละครับ "

ด้วยความเป็นห่วงลูก เวลานั้นแกเป็นเด็กรูปร่างหน้าตาน่ารักมาก กลัวว่าอาจจะหลงทาง หรือถูกใครจับตัวไปขาย ตามที่มีข่าวในหนังสือพิมพ์ ป้าจึงพาลูกชายคนโตไปบ้านธรรมประสิทธิ์ ในบ่ายวันอาทิตย์ต้นเดือน ปลายปี ๒๕๑๑

อุบาสิกา ถวิล (บุญทรง) วัติรางกูล




 

Create Date : 23 เมษายน 2551    
Last Update : 23 เมษายน 2551 11:08:05 น.
Counter : 1608 Pageviews.  

อุบาสิกา ถวิล - บทที่หนึ่ง - ไม่เข้าใจทำไมต้องทน

เดือนมีนาคม ปี พ.ศ. ๒๕๐๒ เป็นเวลาที่ป้าเรียนจบชั้นอุดมศึกษา ได้ปริญญา อักษรศาสตร์บัณฑิต และครุศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยม) รวม ๒ ปริญญา จากจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย สมัยนั้นยังไม่มีการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป ในประเทศไทย ใครต้องการศึกษาต่อจากระดับปริญญาตรี ต้องเดินทางไปศึกษาต่อในต่างประเทศทั้งสิ้น ฐานะทางบ้านของป้า ไม่สามารถส่งป้าไปเรียนต่างประทศได้ ป้าจึงต้องหางานทำ แต่ด้วยเหตุที่ป้าเรียนโดยรับทุนอุดหนุนจากกรมการฝึกหัดครู มาตั้งแต่เรียนจบชั้นมัธยม รวมเวลาถึง ๙ ปี จึงต้องเข้ารายงานตัวทำงานที่นั่น

ทางกรมเจ้าของทุน ให้ป้าเลือกสถานที่ทำงานตามโรงเรียนฝึกหัดครูในกรุงเทพฯ และธนบุรีในครั้งนั้น เช่น สวนสุนันทาวิทยาลัย บ้านสมเด็จเจ้าพระยา ประสานมิตร (สมัยนี้คือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) ฯลฯ

แต่ป้ายังมีความฝังใจ ตั้งแต่สมัยเริ่มเข้ามาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ อยู่แล้วว่าต้องการกลับไปทำงานอยู่ใกล้พ่อแม่ และไปทำประโยชน์ให้จังหวัดบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง จึงได้ขอร้องเจ้าหน้าที่ ผู้ดูแลนักเรียนทุนในขณะนั้นคือ ท่านดร.ก่อ สวัสดิพานิชย์ ให้ส่งป้าไปสวนที่วิทยาลัยครูจอมบึง จังหวัดราชบุรี ซึ่งขณะนั้นเพิ่งตั่งขึ้นใหม่ๆ อยู่ในป่า ไกลจากตัวเมืองหลายสิบกิโลเมตร ป้าเคยไปเห็น และชอบความเงียบสงบของป่าธรรมชาติที่นั่นมาก เป็นความชอบประหลาดลึกซึ้ง คงจะมีความผูกพันบางประการ ในอดีตชาติ เพราะภายหลังแม่ของป้าเล่าให้ฟังว่า เมื่อท่านแพ้ท้องตั้งครรภ์ป้านั้น ท่านดื่มน้ำที่อื่นไม่ได้เลย ดื่มแล้วจะต้องอาเจียน ดื่มได้แต่น้ำในหนองน้ำใหญ่ ที่ตำบลจอมบึงนี้เท่านั้น การไปเอาน้ำในสมัยนั้นยังไม่มีถนนหนทางลำบากมาก พ่อของป้าต้องเอาตุ่มบรรทุกเกวียน รอนแรมไปหลายวันหลายคืน ตามทางเกวียนเลียบชายป่าเขา จึงจะได้น้ำมาแต่ละเที่ยว

เมื่อขอกลับไปทำงานที่นั่นป้าไม่ได้รับอนุญาต เพราะผู้ดูแลนักเรียนทุกท่านอ้างว่า "ที่นั่นเป็นป่าเขาห่างไกลผู้คน คุณไปอยู่ คุณจะหิวเพื่อน ผมไม่ให้คุณไป"

ป้าไม่ใช่คนยอมแพ้อะไรง่ายๆ ป้าก็เลยขอย้ายไปอยู่กรมสามัญศึกษา ซึ่งเวลานั้น มีหน้าที่ดูแลโรงเรียนประชาบาล ทั่วประเทศ ป้าจะขอไปสอนในโรงเรียนประชาบาลประจำหมู่บ้านเดิมของป้า ย้ายได้แล้วก็ต้องไปผิดหวังต่อ เพราะผู้บังคับบัญชาระดับรองอธิบดีปฏิเสธ ท่านชี้แจงว่า ครูที่มีความรู้ระดับปริญญา ของฝ่ายประถมศึกษามีจำนวนน้อยมาก ต้องการเอาตัวป้าไว้ใช้งานในกรมฯ

ปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ที่ป้าเริ่มเข้าทำงานนี้เอง ป้าได้ร่วมประชุมกับครูประถมศึกษาที่มีวุฒิปริญญาด้วยกันบ่อย เพราะต้องช่วยกันทำเรื่องหลักสูตร และคู่มือการสอน ได้มีโอกาสรู้จักกัน เพื่อนรุ่นพี่ที่น่าสนใจผู้หนึ่งคืออาจารย์วรณี สุนทรเวช ขณะนั้นท่านเรียนจบปริญญาโท จากสหรัฐอเมริกาใหม่ๆ

ความจริง ท่านผู้นี้สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี จากคณะและมหาวิทยาลัยเดียวกับป้า แต่เป็นรุ่นพี่หลายปี ป้าจึงไม่มีโอกาสรู้จักมาก่อน เพิ่งมารู้จักกัน เพราะต้องร่วมประชุมทำงานด้วยกัน ในปีดังกล่าว คำบอกเล่าเกี่ยวกับตัวท่านที่ป้าได้ยินคือ

"..อาจารย์คนนี้นะ เป็นลูกคนเดียว พ่อเป็นพระยา สมบัติเยอะ แถมยังมีป้าที่เป็นพี่สาวของแม่ ไม่ได้แต่งงานตายลงทิ้งสมบัติไว้ให้อีก เลยรวมกันรวยไม่รู้เรื่อง มีแหวนเพชรงี้เป็นถาดๆ เป็นร้อยวงฝากอยู่ในธนาคาร บางทีเบิกออกมาให้ลูกน้องดูเป็นขวัญตา ปรากฏว่าคนดูนอนไม่หลับไปถึง ๓ คีน เพราะอยากมีมั่ง.. อ๋อ ท่านเป็นโสดไม่ยอมมีแฟนหลอก ใครถามท่านก็ว่า มีคนมาขอเหมือนกัน แต่ท่านปฏิเสธ เพราะไม่รู้ว่าผู้ชายรักตัวท่าน รีว่ารักสมบัติของท่าน ท่านไม่แน่ใจ เลยไม่คิดมีแฟน อยู่ตามลำพังสองคนกะคุณแม่อายุ ๘๐ กว่าปีแล้ว มีลูกจ้าง ๒-๓ คน กับหมาฝูงหนึ่ง ที่อุตส่าห์มาทำงานให้ราชการเนี่ย เพราะต้องการใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์กะส่วนรวมบ้าง เงินเดือนชั้นเอกท่านนะเหรอ ท่านยกให้คนขับรถหมดเลย ตัวเองใช้เงินมรดกสบาย.."

คนเล่ามองเฉพาะแง่วัตถุสมบัติ แต่เมื่อป้ารู้จัก ป้ามองถึงจิตใจและอัธยาศัยทั่วไปก็พบว่า อาจารย์ท่านนี้มีนิสัยดี โอบอ้อมอารี ที่เป็นข้อเสียอยู่บ้าง ก็ตรงค่อนข้างเอาแต่ใจตัว เจ้าอารมณ์ เจ้าทิฏฐิ ถ้าเชื่อว่าอะไรเป็นอย่างไรแล้ว ก็เชื่อแน่นแฟ้น ไม่ใคร่ยอมฟังเหตุฟังผล อาจจะเป็นเพราะความเป็นลูกคนเดียว ทางบ้านตามใจมาตลอดตั้งแต่เด็กจนเคยตัว ยิ่งมารับราชการก็มีญาติสนิทเป็นรัฐมนตรี ก็เลยยิ่งเป็นที่เกรงอกเกรงใจของผู้ร่วมงานและผู้บังคับบัญชา ระดับรองๆ หมดทุกคน

สำหรับป้าเองก็มีนิสัยไม่ดีอยู่หลายอย่าง อย่างหนึ่งที่ติดตัวมาแต่เล็กแต่น้อย คือความถือตัวไม่ใคร่ก้มหัวให้ใครง่ายๆ ยิ่งเป็นคนเรียนเก่งตลอดตั่งแต่ยังเด็ก ก็เลยยิ่งไม่ใคร่เห็นใครดีกว่าตัว

ทีนี้เมื่อป้ามารู้จักกับอาจารย์วรณี แรกทีเดียวป้าไม่สนใจท่านเอาเสียเลย เห็นท่านเอาแต่ใจตัว แม้จะเป็นคนใจดี และมีฐานะร่ำรวยแค่ไหนก็ตาม เนื่องจากเป็นคนไม่สนใจทรัพย์สมบัติคนอื่นอยู่แล้ว ป้าจึงไม่คิดไปเข้าใกล้

แต่เป็นเรื่องแปลกประหลาดอย่างยิ่ง ป้ามีความคิดพิเศษเกิดขึ้น สั่งตนเองอยู่เสมอๆว่า "ผู้หญิงคนนี้นะ เราต้องยกเว้นเป็นพิเศษให้คนหนึ่ง ต้องอดทนคบหาสมาคมกับเค้า เค้าเฉลียวฉลาดเรื่องการศึกษาเล่าเรียนก็จริง แต่ไม่ฉลาดในการใช้ทรัพย์สมบัติ เค้าควรจะใช้ความร่ำรวยที่มีอยู่ ทำประโยชน์อะไรๆให้เป็นสาธารณะขึ้นมาบ้าง ด้วยเหตุนี้แหละเราจึงควรพยายามเป็นเพื่อนเค้า เผื่อวันข้างหน้าชักชวนเค้าได้ จะได้ให้เค้าสร้างสาธารณะประโยชน์อะไรขึ้นมาชีวิตและทรัพย์สินของเค้า ก็จะได้เกิดเป็นบุญติดตัวเค้าเอง ส่วนเราในฐานะผู้แนะนำ ก็อาจมีส่วนบุญติดตัวได้บ้าง เมื่อตนเองเกิดมาไม่ร่ำรวย ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมไม่ได้สมใจการชวนคนอื่นทำได้ ก็ยังนับว่าเป็นความดี"

การชวนให้ใครทำความดี ผู้ชวนจะได้บุญด้วยในฐานะไวยยาวัจจมัยกุศล อย่างนี้ป้าก็ไม่รู้จัก แต่ที่คิดอยากชวนก็เป็นเพราะคิดเอาว่าเป็นของดีน่ากระทำคิดเอาแค่นั้นเอง

ด้วยคิดอย่างนี้ ป้าจึงอดทนคบหาสมาคมกับอาจารย์ วรณี สุนทรเวช นับแต่เริ่มรู้จักกันเรื่อยมาประกอบกับเห็นท่านไม่ใคร่มีเพื่อนสนิทใกล้ชิด ป้าก็รู้สึกสงสารท่าน จึงสู้อดทนเอาใจ

เล่ามาถึงตอนนี้ ป้าอยากจะชี้ให้เห็นธรรมะ ๒ ข้อ ข้อแรกคือ เรื่องปุพเพกตปุญญตา บุญที่เคยกระทำเอาไว้ในชาติปางก่อนคือต่อมาภายหลังผู้ได้อภิญญาในวิชชาธรรมกาย ได้ระลึกชาติย้อนหลังดูความสัมพันธ์ระหว่างป้ากับอาจารย์วรณี ปรากฏเราทั้งคู่เคยเกิดเป็นพี่น้องกันบ้าง เป็นเพื่อนกันบ้าง มานานถึง ๕๐ ชาติแล้ว แต่ละชาติอาจารย์ท่านนี้ มักมัวเสียเวลาเฉไฉไปทำเรื่องอื่น ที่ไม่ใช่เรื่องบุญโดยตรงอยู่เสมอ ป้ามีหน้าที่คอยตามกลับให้ท่านมาทำเรื่องบุญกุศลอยู่ทุกชาติ เรียกว่าคอยเป็นกัลยาณมิตรให้ตลอดจนเรื่องทำบุญสร้างวัด ป้าก็มักเป็นผู้มีหน้าที่เริ่มงานเสมอมา บุญที่เคยกระทำไว้ในอดีตชาติเหล่านั้น มาเตือนใจให้รู้สึกเหมือนมีคำสั่ง ให้ทำซ้ำในสิ่งที่เคยทำ

ส่วนธรรมมะข้อที่สอง คือ คนเราจะมีชีวิตดีงามได้ ต้องไม่คบคนพาล เป็นมงคลชีวิตสูงสุด ข้อแรก ลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นลัทธิของคนพาล ไม่รู้บาปบุญคุณโทษ ไม่เชื่อกฎของกรรม ยึดถือเรื่องวัตถุเป็นใหญ่ ไม่คำนึงถึงเรื่องจิตใจ ใครไปสนใจเกี่ยวข้องเชื่อถือกระทำตามเข้า ทำให้เสื่อมจากคุณงามความดี

ป้าไปคบเพื่อนมิจฉาทิฏฐิ ทำให้ตนเองคิดมิจฉาทิฏฐิตาม ยังนับว่ามีโชคดี ที่มีบุญเก่า ส่งผลให้เกิดในครอบครัวที่อบอุ่น ด้วยความรักของพ่อแม่ และญาติพี่น้อง จึงรอดตัวมาได้ เรื่องคบเพื่อนจึงมีความสำคัญที่สุดของชีวิต สมกับที่เป็นสองข้อแรก ในมงคลสูงสุด

ป้าคบเพื่อนอย่างอาจารย์วรณี แม้ท่านจะไม่ใช่คนมิจฉาทิฏฐิ แต่ก็เป็นคนเจ้าทิฎฐิ ถือเอาความเห็นของตนเองเป็นใหญ่ และค่อนข้างเอาแต่ใจตน ป้าก็ต้องใช้ความอดทนสูงเป็นพิเศษ อีกทั้งฐานะพอมีพอกิน ไม่เหลือเฟือ อีกฝ่ายมาจากตระกูลขุนนาง มีฐานะเป็นเศรษฐีนับร้อยๆล้านในยุคนั้น การคบกันจึงเป็นความยากลำบากของป้าอย่างยิ่ง จะขอยกตัวอย่างให้ฟัง เช่น

เรื่องการรับประทานอาหารนอกบ้าน ชีวิตของป้า ซื้อกินได้ในทุกที่ทุกแห่ง ขอให้ดูสะอาดปราศจากเชื้อโรคก็เป็นอันใช้ได้ อาจจะเป็นจากหาบแร่ แผงลอย รถเข็น ร้านข้างถนน ฯลฯ ที่ไหนก็ได้ ราคาค่างวดไม่เกินฐานะ สำหรับอาจารย์วรณี เวลานั้นท่านทำไม่ได้ ท่านต้องเข้าร้านอาหารระดับภัตตาคาร ซึ่งคนมีฐานะดีนิยม

และด้วยใจของป้าที่คบกับท่านอย่างเพื่อน ต้องการให้รู้ว่าป้าเป็นเพื่อน ที่ไม่เอาเปรียบ เป็นเพื่อนแท้ไม่ใช่เพื่อนเทียม ไม่ใช่เพื่อนหรอกกิน ดังนั้นเวลาไปไหน ฯ ด้วยกันป้าจะคอยจำเอาไว้ ถ้ามื้อนี้ป้าได้รับเลี้ยงอาหาร มื้อหน้าป้าจะต้องเป็นฝ่ายขอจ่ายทุกครั้งไป

ราคาอาหารในร้านระดับภัตตาคารนั้น ไม่ว่ายุคไหน จะแพงกว่าร้านอาหารธรรมดาหลายเท่าตัว ดังนั้นครั้งใดที่ป้าเป็นฝ่ายต้องจ่าย ราคเพียงครั้งเดียว ก็มีจำนวนเงินมากกว่าค่าอาหารกลางวันของป้าตลอดเดือน ทั้งนี้เพราะเงินเดือนของป้า ต้องใช้จ่ายเลี้ยงครอบครัว เลี้ยงพ่อแม่ ส่งน้องๆ เรียน รายได้ฝ่ายพ่อบ้านต้องผ่อนส่งที่ดิน ส่งบ้านและส่งรถ ป้าไม่มีเงินเหลือเก็บในแต่ละเดือนอยู่เลย ด้วยเหตุนี้ คราใดที่ต้องเลี้ยงเพื่อน ในภัตตาคารเพียงมื้อเดียว ป้าก็จะต้องอดอาหารมื้อกลางวันไปจนตลอดเดือน หรือมิฉะนั้น ก็ต้องเอาข้าวใส่กล่องจากบ้านไปรับประทานตอนกลางวัน

ยังมีอีกตัวอย่างหนึ่งที่นิสัยต่างกันอย่างยิ่ง คือเรื่องความรักสุนัข เรื่องสัตว์ต่างๆนั้น ป้ามีความเมตตาเอ็นดูปกติธรรมดา มีอาหารอะไรที่พอจะแบ่งปันให้กินได้ก็จะทำ แต่ก็ไม่ถึงกับต้องเอามาเลี้ยงใกล้ชิดตัวในบ้าน เพราะนอกจากไม่มีเวลาดูแลสัตว์เหล่านั้นดีพอแล้ว ยังเกรงว่าสัตว์เลี้ยงบางอย่าง เช่นแมวหรือสุนัข ทำให้จิตใจของเราเกิดอกุศลได้ง่ายมาก เพราะสัตว์เหล่านี้ไม่รู้ภาษาคน เวลามันหิวมันย่อมไม่เข้าใจว่าเจ้าของพร้อมที่จะหาอาหารให้หรือยังมันก็จะร้องกวนวิ่งวนพันมือพันเท้า ทำให้เรารู้สึกโกรธมันได้ง่าย เมื่อโกรธก็ต้องดุต้องว่า บางทีถึงกับเฆี่ยนตี ทำให้มีเวรต่อกัน เมื่อเลี้ยงแล้วก็ต้องเป็นกังวลห่วงใย จะเดินทางไปค้างที่ไหน ก็เป็นห่วงเรื่องอาหารหารกินของสัตว์ ด้วยเหตุนี้ป้าจึงไม่เลี้ยงสัตว์

ส่วนอาจารย์วรณี ท่านรักสุนัขเป็นชีวิตจิตใจ เลี้ยงไว้เป็นฝูง ทั้งสุนัขไทยและฝรั่ง จ้างคนดูแลอย่างดีเหมือนแม่เลี้ยงลูกแล้วท่านก็เรียกสุนัขทุกตัวว่าลูก เรียกตัวท่านเองว่าแม่ ท่านอุ้มกอดได้อย่างสนิทสนม ท่านทำที่อยู่ที่นอนให้อย่างดี มีห้องมุ้งลวดเวลานอน อาหารที่เลี้ยงสุนัขก็ดีมาก ชนิดที่คนจนไม่มีรับประทาน ตอนกลางคืนก่อนนอนยังมีอาหารพิเศษ โอวัลติน ไข่ลวกให้กินจนอิ่ม เพื่อป้องกันไม่ให้กินอาหารใส่ยาเบื่อของพวกมิจฉาชีพ ที่ชอบหากินทางงัดแงะลักขโมยตามบ้านผู้มีอันจะกิน

สุนัขบางตัวของอาจารย์ท่านนี้ มันแสนรู้มาก ถ้าคนเลี้ยงเอาอาหารซ้ำ หรืออาหารที่ทำแล้วหลายวันให้กิน มันจะไม่ยอมกิน มันจะคาบเอามาวางต่อหน้าเจ้าของเป็นการฟ้อง ผู้เป็นนายก็จะเรียกลูกจ้าง ที่เป็นคนเลี้ยงมาดุ แล้วให้ออกไปซื้อหามาทำให้ใหม่ เวลาสุนัขตัวใดเจ็บป่วย จะได้รับการดูแลรักษาพยาบาลอย่างดียิ่งเป็นพิเศษจากสัตวแพทย์ชั้นดี

ป้าคิดว่าเจ้าสุนัขพวกนี้ มันคงเคยทำทานไว้มากแม้จะมีบาปกรรมบางอย่างส่งผลให้ต้องเกิดเป็นหมาผลทานยังตามรักษาให้ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี

ความจริงการเลี้ยงดูให้ทานสัตว์เดรัจฉาน ก็ได้บุญเหมือนกัน แต่ได้เพียงนิดเดียวเมื่อเทียบกับให้มนุษย์

ป้าเอาตัวอย่างเรื่องนี้มาเล่า เพื่อให้เห็นว่าเมื่อจำเป็นต้องคบหากันป้าก็ต้องอดทน รักสุนัขทั้งโขยงของเพื่อนป้าไปด้วย บางตัวขาพิการเจ้าของไม่อยากได้ขอให้ป้าช่วยเอามาเลี้ยง ป้าก็ต้องยอมตามใจเอามาเลี้ยง ทั้งที่ไม่เต็มใจ

จะอดทนสักกี่เรื่องก็ตาม ก็ถือว่าเป็นธรรมดา แต่ที่ต้องถือว่าอดทนกันเป็นพิเศษ นั่นคือการอดทนไม่แสดงความคิดเห็นขัดแย้งออกมา ที่นับว่าเป็นเรื่องพิเศษ เพราะเป็นการฝืนนิสัยของป้าอย่างยิ่ง ป้าเป็นคนปากกับใจตรงกัน คิดอย่างไรก็พูดออกมาอย่างนั้น ไม่ใคร่เก็บความรู้สึก ถ้าไม่เห็นด้วยก็จะกล่างคัดค้านทันที คำพูดที่ใช้มักไม่ทันได้ขัดเกลา ตรงไปตรงมาขาดความสุภาพนุ่มนวล

ทีนี้เมื่อป้ามาอดทน ยอมฟังความคิดเห็นของเพื่อนท่านนี้ ซึ่งมักจะไม่ตรงกับความรู้สึกนึกคิดของป้าอยู่เสมอได้ ไม่เคยแสดงกิริยาโต้แย้งคัดค้าน จึงต้องถือว่าเป็นเรื่องแปลก จะค้นหาเหตุผลอะไรอื่น ว่าทำไมต้องทนยอมกันได้ขนาดนั้นก็หาไม่พบ มีอยู่เหตุผลเดียงคือ คำสั่งบอกตนเองว่า "อดทนเอาไว้ ให้เค้ารักเราให้ได้ เมื่อถึงเวลานั้น เราจะได้ชวนเค้า เอาทรัพย์สมบัติบริจาคทำสาธารณะประโยชน์เค้าจะได้เกรงใจทำตาม "

ด้วยความรู้สึกที่ได้เล่าไว้นี้ ป้าจึงได้ปฏิบัติตัวเป็นเพื่อนที่ดียิ่งตลอดมา นับแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๒ จนถึงปี ๒๕๑๒ เป็นเวลา ๑๐ ปีเต็มโดยให้ความอดทนในการคบหามากที่สุดยิ่งกว่าเพื่อนใดๆ ที่เคยคบ

อุบาสิกา ถวิล(บุญทรง) วัติรางกูล




 

Create Date : 23 เมษายน 2551    
Last Update : 15 พฤษภาคม 2551 0:07:46 น.
Counter : 1487 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  

wbj
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 210 คน [?]




ต้องการสอบถาม กรุณาติดต่อทางเมล์ที่ wbjoong@gmail.com หรือ 062 641 5992, 062 826 1544

วิทยากรเชิงกิจกรรม

วิทยากรกระบวนการ

ที่ปรึกษาธุรกิจ

ด้านการบริหารจัดการ

การตลาดและการประชาสัมพันธ์

การบริหารทรัพยากรมนุษย์

การวางแผนกลยุทธ์

วิจัยธุรกิจ

IT Dashboard



ไม่ได้ ไม่มี ไม่ดี ไม่ได้...
ต้องได้ ต้องดี ต้องมี ต้องง่าย
และ ทำให้ดีกว่าดีที่สุด



<< Main Menu >>



ดวงถาวร


ดวงตามวันเกิด



ดวงตามปีเกิด






;b[^]pN 06' ไรินนื ่นนืเ "รินนื ๋นนืเ c:j06'

ต้องการสอบถาม โทร 062-641-5992, 062-826-1544
ติดต่อทางเมล์ที่ wbjoong@gmail.com
Line ID : wbjoong

ที่ปรึกษาธุรกิจ ด้านการบริหารจัดการ การตลาดและการประชาสัมพันธ์ การบริหารทรัพยากรมนุษย์ และ การวางแผนกลยุทธ์ วิทยากรเชิงกิจกรรม, วิทยากรกระบวนการ นักวิจัยการดำเนินงานธุรกิจ Executive & Management Coach

ไม่ได้ ไม่มี ไม่ดี ไม่ได้... ต้องได้ ต้องดี ต้องมี ต้องง่าย และ ทำให้ดีกว่าดีที่สุด
<< Main Menu >>
Friends' blogs
[Add wbj's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friends


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.