Blog เล็กๆแห่งหนึ่ง รวมเกร็ดข่าวสาระประจำวัน กับ เรื่องที่อาจจะไร้สาระ ของ ลูกผู้ชายคนหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ในมหานครใหญ่แห่งหนึ่ง ในที่โลกที่กว้างใหญ่ใบนี้
Group Blog
 
All Blogs
 
ธาริษา ชี้วิกฤติสหรัฐ "โลกเกิดขั้วที่ 3"

ที่มา //www.bangkokbiznews.com



ธาริษา วัฒนาเกส



:นักวิชาการเชื่อ "จีน-อินเดีย" จะช่วยกอบกู้เศรษฐกิจโลก ในยามที่สหรัฐและยุโรปมีปัญหา ส่วน "ธาริษา" คาดว่าวิกฤติการเงินโลก ส่งผลให้เอเชียเกิดเป็นมหาอำนาจ "ขั้วที่ 3"

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : ในช่วงเวลาที่มหาอำนาจของโลก ทั้งสหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) และ ญี่ปุ่น กำลังดิ้นรนอย่างหนัก เพื่อนำพาประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจที่เข้าขั้นถดถอยไปให้ได้นั้น ทั่วโลกต่างจับตามองไปยังตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย


โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน และอินเดีย ในฐานะความหวังใหม่ ที่จะช่วยขับเคลื่อนไม่ให้เศรษฐกิจโลกตกอยู่ในภาวะซบเซามากเกินไปนัก และกำลังจะยกระดับเป็น "อีกขั้วอำนาจใหม่ของโลก"

ทั้งนี้นับตั้งแต่จีนเริ่มปฏิรูปตลาดเสรีเมื่อปี 2521 เศรษฐกิจของประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกแห่งนี้ก็ก้าวหน้าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยประมาณ 9.9% ต่อปี รายได้ประชากรต่อหัวต่อปีเพิ่มขึ้นกว่า 8% ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ถือเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่เติบโตรวดเร็วที่สุดในโลกและเป็นผู้สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกมากที่สุดเมื่อปีที่แล้ว

นอกจากนี้ จีนยังได้ชื่อว่ามีทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศมากที่สุดในโลก โดยข้อมูลล่าสุดระบุตัวเลขอยู่ที่ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อเดือนก.ย. 2251 เพิ่มขึ้น 32.9% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว

ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและการเงินของจีนทำให้ทั่วโลกหันมาจับจ้องเป็นพิเศษ เมื่อวิกฤติการเงินในสหรัฐลุกลามไปยังประเทศพัฒนาแล้วรายอื่นๆ จนทำให้เศรษฐกิจซบเซาไปทั่วโลก

แม้ว่าจีนจะได้รับผลกระทบเช่นกันเมื่อความต้องการจากต่างประเทศหดตัวลง แต่นักวิเคราะห์หลายรายเชื่อมั่นว่าจีนจะเอาตัวรอดจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ได้ และยังมีแรงมากพอที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกอีกด้วย

ดร.ธาริษา วัฒนาเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า วิกฤติเศรษฐกิจที่กระทบต่อสหรัฐครั้งนี้ ย่อมที่จะฉุดให้ศักยภาพของสหรัฐและยุโรป "ถดถอย" ลงไปมาก ขณะเดียวกันจะเป็นโอกาสให้เอเชียกลายมาเป็น "ขั้วที่สาม" ของโลก ที่สามารถคานอำนาจกับสหรัฐและยุโรปได้อย่างดี

" ในกรณีของจีนคงต้องใช้ระยะเวลาอีกพอสมควรที่จะผงาดขึ้นมาเป็นเจ้าโลก แทนสหรัฐแต่อย่างน้อย ก็เกิดขั้วใหม่ เป็นขั้วที่ 3 ที่จะมีถ่วงดุลกับขั้วที่ 1 อย่างสหรัฐและขั้วที่ 2 อย่างยุโรป "

นายราจัต นัก กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) กล่าวระหว่างเยือนอินเดียเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า โลกประเมินผลกระทบจากวิกฤติการเงินโลกที่มีต่อเอเชียรุนแรงมากเกินไป

ถึงแม้ว่า จีน อินเดีย และประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ได้รับผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้ และอาจย่ำแย่มากขึ้นในปีหน้า แต่ไม่มีเหตุผลที่จะต้องตื่นตระหนก การเติบโตของจีนและอินเดียยังแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับมาตรฐานที่ลดลงของเศรษฐกิจทั่วโลก

ปีนี้จีนยังโตได้ 6.5%

เอดีบี คาดว่า เศรษฐกิจจีนจะเติบโตประมาณ 9.5-9.7% ในปี 2551 และประมาณ 8.5% ปีนี้ ลดลงจากระดับเฉลี่ย 10.5% ต่อปีระหว่างปี 2545-2550 ส่วนเศรษฐกิจอินเดียคาดว่าจะเติบโตประมาณ 7.8% ในปีที่แล้ว และ 6.3-6.5% ปี 2552 ลดลงจากประมาณ 8% ต่อปี ตั้งแต่ปี 2545-2550

นายนัก แสดงความเชื่อมั่นว่า จีนและอินเดียจะเป็นผู้ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชีย และเอเชียจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกต่อไป พร้อมกับระบุว่า ธนาคารในเอเชียมีเงินทุนมากพอและไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์อันตราย ที่สร้างความปั่นป่วนให้กับธนาคารในส่วนอื่นๆ ของโลก

เขาเห็นว่า ธนาคารในเอเชียชะลอการปล่อยสินเชื่อโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะสำหรับโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่สมควรได้รับการอุดหนุนเงินทุนเหมือนกับเมื่อ 6 เดือนก่อนหน้านี้

ขณะเดียวกัน นายบ็อบ บักเคิล ประธานคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) กล่าวก่อนการประชุมสุดยอดเอเปคที่กรุงลิมา เปรู ว่า ความสามารถของจีนและอินเดียในการต้านทานภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จะมีอิทธิพลอย่างมากต่อความเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจโลกถึงขั้นถดถอยหรือไม่ ถ้าหากจีนและอินเดียสามารถรอดพ้นวิกฤติไปได้ด้วยอัตราการเติบโตที่น่าพอใจ ก็จะเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

โลกฝากความหวังที่จีน-อินเดีย

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ทำนายไว้ว่า ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่รวมถึงจีนและอินเดีย จะช่วยให้เศรษฐกิจทั่วโลกมีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ย 2.2% ในปีนี้ โดยเศรษฐกิจของประเทศร่ำรวยจะมีอัตราการโตเพียง 0.1% ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนาจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 5%

เศรษฐกิจจีนเติบโตในระดับตัวเลขสองหลักมาตลอด 15 ปี ส่วนอินเดียเติบโตเฉียด 10% และประเทศทั้งสองมีสัดส่วนประชากรประมาณ 40% ของทั่วโลก ไอเอ็มเอฟเพิ่งปรับคำทำนายการเติบโตของเศรษฐกิจโลกเมื่อเดือนที่แล้ว คาดว่าจีนจะเติบโต 9.7% ปี 2551 และ 8.5% ปี 2552 ส่วนอินเดียคาดว่าจะเติบโต 7.8% ปีที่แล้ว และ 6.3% ปีนี้ ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกจะหดตัว 0.7% ปีนี้

ทางด้าน นายยี่ กัง รองผู้ว่าการธนาคารกลางจีน กล่าวว่า ภาวะปั่นป่วนทางการเงินทั่วโลกจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน แต่ภาคการเงินของจีนมีความแข็งแกร่งมากพอที่จะรับมือได้ โดยย้ำถึงความพยายามของจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในการปฏิรูปภาคธนาคาร ซึ่งมีการลงทุนไม่มากในต่างประเทศ และประสบภาวะขาดทุนเพียงเล็กน้อย

จีนมั่นใจภาคการเงินแกร่ง

นายยี่ กล่าวว่า มีเหตุผลมากมายที่เชื่อได้ว่าภาคการเงินโดยรวมของจีนมีเสถียรภาพและมั่นคง และผลกระทบของวิกฤติการเงินโลกต่อเสถียรภาพทางการเงินของจีนอยู่ในวงจำกัด ระดับหนี้สินภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และภาคเอกชนของจีน อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ

ขณะที่ภาคธนาคารมีสภาพคล่องมากมาย แต่จีนไม่สามารถคาดการณ์ว่าจะหลีกเลี่ยงผลกระทบจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้จึงจำเป็นต้องเตรียมตัวอย่างเต็มที่

อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ลดลงทุก 1% ของสหรัฐและยุโรป จะทำให้การส่งออกของจีนลดลง 6-8%

ขณะที่ผลกระทบต่อจีนจากสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยของเศรษฐกิจโลกและภาคการเงิน เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นต่อเนื่อง และสถานการณ์ต่างๆ อาจเลวร้ายลงในปีนี้ มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการซื้อขายในตลาดเงิน รวมทั้งการลดลงอย่างมากของราคาหุ้นและการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าความรู้สึกไม่แน่นอนเข้าเกาะกุมจีนแล้ว

นายยี่กล่าวว่า หากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้รับการจัดการที่ดี ผลกระทบเชิงลบที่กล่าวไปข้างต้นก็อาจลุกลามออกไป และกระทบเสถียรภาพของเศรษฐกิจและภาคการเงินของจีน ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญอย่างมากกับความเสี่ยงในขณะนี้ และดำเนินมาตรการที่เข้มแข็งเพื่อป้องกันผลกระทบดังกล่าวอย่างเหมาะสม

อินเดียหวังแรงหนุนกำลังซื้อในประเทศ

ในส่วนของอินเดียนั้น แม้ในปัจจุบันจะเริ่มรู้สึกถึงผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกแล้ว และมีแนวโน้มว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของประเทศ ที่ตลอดเวลา 3 ปีที่ผ่านมา เติบโตในอัตรามากกว่า 9% มาตลอด จะชะลอตัวลงอย่างมาก จนทำให้รัฐบาลต้องออกมาปรับคาดการณ์ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2551 ลดลงมาอยู่ที่ราว 7.5% เทียบกับนักวิเคราะห์อิสระที่มองว่าไม่น่าจะเกิน 6%

กระนั้นก็ตาม แดนภารตะยังมีความหวังที่จะสามารถรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ได้ โดยได้แรงหนุนจากตลาดภายในประเทศที่มีขนาดใหญ่ รวมถึงการขยายตัวของกลุ่มแรงงานอายุน้อย และอุตสาหกรรมบันเทิง ควบคู่ไปกับการมีระบบธนาคาร และการเงิน ที่มีการควบคุมอย่างเข้มงวด และพฤติกรรมของประชาชนที่เน้นการออมเป็นส่วนใหญ่

บรรดานักวิเคราะห์ชี้ด้วยว่า โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ยังแข็งแกร่งอยู่ ทั้งของจีน และอินเดีย ทำให้มีความเป็นไปได้ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และแม้ว่ายักษ์เกิดใหม่ทั้ง 2 รายนี้ จะต้องเผชิญกับความเจ็บปวดจากเศรษฐกิจโลกซบเซา เหมือนกับประเทศอื่นๆ แต่ด้วยขนาดตลาดที่ใหญ่อย่างมากของทั้ง 2 ประเทศ ทำให้โลกค่อนข้างมั่นใจว่า อนาคตข้างหน้าคงไม่มืดมนเกินไปนัก

นักวิชาการเชื่อมั่นจีนมีประสิทธิภาพ

ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ รองศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจโลกตกอยู่ในภาวะชะลอตัวโดยเฉพาะสหรัฐ ประเทศจีนน่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าประเทศอื่นโดยเปรียบเทียบ เนื่องจากจีนมีตัวแปรหลายอย่างที่ทำให้จีนสามารถบริหารจัดการประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง

ในส่วนของการบริหารจัดการเศรษฐกิจ ดร.สมภพ กล่าวว่าแม้จีนจะได้รับผลกระทบการส่งออกจากภาวะเศรษฐกิจโลกแต่จีนไม่ได้พึ่งพาการส่งออกมากเหมือนบางประเทศในเอเชีย โดยมูลค่าการส่งออกของจีนมีประมาณ 37% ของจีดีพี น้อยกว่าไทยที่การส่งออกมีสัดส่วนถึง 65% อีกทั้งจีนยังมีโอกาสในการลงทุนในประเทศที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจจีนได้ด้วย โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จีนยังขาดแคลนอยู่ ซึ่งจีนน่าจะใช้ช่วงวิกฤติขณะนี้เป็นโอกาสในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน

“ถ้าโครงสร้างพื้นฐานได้รับการปรับปรุง จะช่วยกระตุ้นการลงทุนทำให้มีโอกาสผ่อนคลายปัญหาวิกฤติในระยะสั้นที่เศรษฐกิจโลกชะลอลง และยังได้ผลระยะยาวในการที่ทำให้จีนมีความสามารถในการบริหารโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิมและช่วยทำให้ทั่วประเทศของจีนมีเศรษฐกิจเชื่อมโยงกันมากขึ้น” ดร.สมภพ กล่าว

ทั้งนี้ การลงทุนภายในประเทศของจีนยังมีส่วนช่วยทำให้การอุปโภคบริโภคภายในประเทศของจีนที่มีสัดส่วนประมาณ 38% ของ จีดีพี สามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย

ดร.สมภพ กล่าวด้วยว่าเศรษฐกิจของจีนทั้งที่เป็นภาคเศรษฐกิจจริงและภาคการเงินยังมีโอกาสในการขยายตัวได้อีกมาก โดยในส่วนของเศรษฐกิจจริงยังมีโอกาสที่จะเกิดการลงทุนทั้งของรัฐบาลและเอกชนอีกมาก เพราะขณะนี้รัฐบาลเปิดโอกาสให้มีการลงทุนในมณฑลต่างๆ ของจีนมากขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยถูกรัฐบาลคุมไม่ให้มีการลงทุนใหม่จากความกังวลว่าจะเกิดภาวะฟองสบู่ภายในประเทศ

ขณะที่ภาคการเงินจีนมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศประมาณ 2 ล้านล้านดอลลาร์ ทำให้จีนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของสหรัฐ โดยถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ มากที่สุดในโลก อีกทั้งการมีเงินสำรองจำนวนมากยังทำให้จีนสามารถดำเนินนโยบายการเงินได้คล่องตัว สามารถลดอัตราดอกเบี้ยได้อีกด้วย ทำให้สถาบันการเงินจีนถูกกระทบน้อยกว่าประเทศอื่นๆ

จีนการเมืองแกร่ง

ในส่วนของการบริหารการเมืองของจีนนั้น ดร.สมภพ กล่าวว่ารัฐบาลจีนมีประสิทธิภาพสูง เนื่องจากรัฐสภาจีนมาจากพรรคเดียว ทำให้ประสิทธิภาพการตัดสินใจในการบริหารเศรษฐกิจประเทศทั้งในระดับมหภาคและระดับจุลภาคจะมีประสิทธิภาพสูง และมีความคล่องตัวในการดำเนินนโยบายต่างๆ ได้อย่างมีเอกภาพ

นอกจากนี้ในด้านการจัดการบริหารสังคมของจีน ดร.สมภพ กล่าวว่าการที่จีนมีเงินสำรองจำนวนมากภายในประเทศทำให้โอกาสที่จีนจะใช้เงินเพื่อผ่อนคลายปัญหาการว่างงานที่จะเพิ่มขึ้นตามการชะลอตัวของการส่งออกมีมากขึ้น เช่น การลงทุนที่เพิ่มขึ้นในจีนจะช่วยทำให้การจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็นการผ่อนภาระทางสังคมของจีนได้มากขึ้น

ปี 2030 จีนจีดีพีขึ้นอันดับหนึ่งของโลก

การที่จีนมีการบริหารจัดการเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้จีนถูกกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกน้อยกว่าประเทศอื่นโดยเปรียบเทียบ เป็นผลให้โอกาสในการที่จีนจะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลกเร็วขึ้นกว่าที่หลายคนคาดการณ์ไว้ว่าจีนจะมีจีดีพีเป็นอันดับหนึ่งของโลกในปี 2030 เพราะสหรัฐ ยังน่าจะต้องใช้เวลาในการตั้งหลักอีกหลายปี

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจีนจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นในเวทีโลกแต่การที่ค่าเงินหยวนจะขึ้นมาเป็นสกุลเงินหลักของโลกนั้นไม่น่าจะทำได้ง่ายนัก เพราะภาคการเงินของจีนยังเปิดเสรีน้อย แต่หากจีนสามารถร่วมมือด้านการเงินกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียผลักดันค่าเงินสกุลเอเชียร่วมกัน เหมือนกรณีที่ยุโรปผลักดันเงินยูโรขึ้นมาได้น่าจะมีความเป็นไปได้มากกว่า

ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่การเติบโตของจีนที่เพิ่มขึ้น นอกจากประเทศในเอเชียจะเร่งผลักดันความร่วมมือทางด้านการเงิน ผ่านกองทุนการเงินแห่งเอเชีย (Asian Monetary Fund) ให้มากขึ้น เช่น การร่วมผลักดันค่าเงินสกุลเอเชีย แล้ว ประเทศในเอเชียยังควรเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ในภูมิภาคร่วมกันมากขึ้นเพื่อแบ่งงานกันทำในภูมิภาค และทำให้เสถียรภาพเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียเข้มแข็งขึ้น

ส่วนประเทศไทยนั้น ดร.สมภพ กล่าวว่าการที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนทั้งเก่าและใหม่ ทำให้ไทยมีโอกาสที่ดีซึ่งหากไทยสามารถวางนโยบายระหว่างประเทศให้ดีและรักษาความเป็นผู้นำอาเซียนของไทยไว้ให้ดี จะทำให้ไทยได้ประโยชน์จากการเติบโตของจีนได้ดี





Create Date : 02 มกราคม 2552
Last Update : 2 มกราคม 2552 7:44:18 น. 1 comments
Counter : 413 Pageviews.

 


โดย: DOOM_MAN วันที่: 3 มกราคม 2552 เวลา:18:37:13 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Rushing Dandy
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




สวัสดีทุกๆท่านครับ ขอต้อนรับเข้าสู่ Bloggang ผมนะครับ
อยาก Comment อะไรเชิญได้เต็มที่ครับ
แล้วก็ยังไง ช่วยกรุณาสนับสนุน Sponsor link ด้านล่างนี้ ด้วยนะครับ




มีผู้เข้าชม Blog แห่งนี้นับตั้งแต่ 14 ธ.ค 51 แล้ว free counters
free counter

Friends' blogs
[Add Rushing Dandy's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.