วันนี้ ทุกจอคอมพิวเตอร์ ในบ้านคุณ

รีวิวหนัง : The Girl on the Train มุมมองบนรถไฟ






The Girl on the Train เป็นหนังสือนิยายเขย่าขวัญขายดีอันดับ 1 ของนิวยอร์กไทมส์จากปลายปากกาของ พอลลา ฮอว์กินส์ นักเขียนสาวชาวอังกฤษ (ในไทยชื่อ ปมหลอน รางมรณะ) ซึ่งต่อมาผลงานเรื่องนี้ถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ทริลเลอร์ชื่อเดียวกันโดย เท็ด เทย์เลอร์ ผู้กำกับเจ้าของผลงาน The Help พร้อมทีมนักแสดงคุณภาพอย่าง เอมิลี บลันท์, เฮลีย์ เบนเนทท์, ลุค อีแวนส์, รีเบ็คกา เฟอร์กูสัน , จัสติน เธอโรซ์ และ เอ็ดการ์ รามิเรซ

หนังเล่าถึง เรเชล วัตสัน ม่ายสาวติดแอลกอฮอล์ที่ชอบนั่งรถไฟไปกลับในเมืองทุกวัน โดยมีช่วงเวลาสั้นๆที่เธอจะใช้แอบมองบ้านเก่าที่ ทอม อดีตสามีอาศัยอยู่กับ แอนนา ภรรยาคนใหม่และลูกน้อยด้วยความเจ็บปวด ขณะเดียวกันเธอยังเฝ้ามองไปยังบ้านข้างเคียงของ เมแกน กับ สก็อต ฮิปเวลล์ สองสามีภรรยาที่มีชีวิตสมบูรณ์แบบพลางจินตนาการเรื่องราวต่างๆในหัว แต่แล้ววันหนึ่งเธอบังเอิญเห็น เมแกน กอดกับชายคนอื่นที่ระเบียงบ้าน ซึ่งความอยากรู้อยากเห็นของ เรเชล นี้เองที่อาจนำอันตรายมาสู่ตัวเธอ

บทหนังของ The girl on the train ลึกลับซับซ้อนแต่ไม่เข้มข้นเท่ากับ Gone Girl แม้ว่าภาพยนตร์สองเรื่องนี้จะแทบไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันเลย นอกจากฉบับหนังสือคนเขียนเป็นผู้หญิง และ ฉบับหนังมีผู้กำกับเป็นผู้ชายเหมือนกัน แต่ที่หลายคนอดเอามาเปรียบเทียบไม่ได้เพราะเนื้อหาหลายส่วนบอกเล่าถึงเรื่องราวที่คล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาระหว่างสามีภรรยาอเมริกัน การคบชู้ คดีคนหาย และฆาตกรรม

ส่วนสิ่งที่ต่างกันคือ Gone Girl เล่าผ่านมุมมองตัวละครแค่2ตัว แต่ The girl on the train เล่าผ่านมุมมองของตัวละคร4-5ตัว ซึ่งเน้นหนักไปที่ตัวละครผู้หญิงอย่าง เรเชล , แอนนา และ เมแกน แถมยังเล่นท่ายากด้วยการตัดสลับเหตุการณ์ไปมาทั้ง อดีต ปัจจุบัน อนาคต ผสมปนเปกัน เชื่อว่าผู้ชมที่หลุดความตั้งใจไปเพียงไม่กี่นาทีจะมีเครื่องหมายคำถามเต็มหัว ขณะที่การตัดต่อก็ไม่ค่อยลื่นไหล ทำให้ในแง่การดำเนินเรื่อง Gone Girl ชนะขาด

ทว่าความน่าสนใจของ The girl on the train อยู่ที่การสืบสวน การคาดเดาฆาตกรที่ค่อนข้างยาก ตัวละครแทบทุกตัวล้านน่าสงใสไปหมด บรรยากาศจึงเต็มไปด้วยความน่าหลาดระแวง บทสรุปช่วงท้ายถามว่าสะพรึงไหม ก็เพียงเล็กน้อย ไม่ได้หักมุมชนิดทำคนดูหงายหลัง ส่วนตัวมองว่ายังมีอีกหลายปมที่น่าสงสัยให้คิดและถกเถียงต่ออยู่

การแสดง เอมิลี บลันท์ เล่นดีในระดับมาตรฐาน บุคลิกมในเรื่องนี้ดูโทรมมาก ทำให้เราเชื่อได้ว่าเธอเป็นโรคติดเหล้าจริงๆ อีกคนที่น่าพูดถึงคือ รีเบ็คกา เฟอร์กูสัน ย้อมผมเป็นสีบอลนด์จนจำแทบไม่ได้ ตัวละคร แอนนา ของเธอมีความลึกลับมาก ด้าน เฮลีย์ เบนเนทท์ มีพัฒนาการและโดดเด่นกว่าหนังเรื่องอื่นๆที่เคยแสดงมา นักแสดงฝ่ายชายผ่านคนเดียวคือ เอ็ดการ์ รามิเรซ ผู้รับบทจิตแพทย์ของ เมแกน

The girl on the train อาจไม่ได้เป็นหนังที่ทำให้คนดูลุ้นหรือสนุกเท่า Gone Girl แม้จะมีจุดอ่อนอยู่บ้างแต่ก็เป็นภาพยนตร์แนวระทึกขวัญที่ใช้ได้ทีเดียว ในฐานะที่ช่วยตีแผ่สังคมอเมริกันผ่านความจริง คำลวง และสัญชาติญาณมืดของมนุษย์ออกมาได้อย่างมีชั้นเชิงพอสมควร

คะแนน 7.5/10

โดย นกไซเบอร์ https://www.facebook.com/cyberbirdmovie




 

Create Date : 15 ตุลาคม 2559    
Last Update : 16 ตุลาคม 2559 10:15:45 น.
Counter : 1135 Pageviews.  

รีวิวหนัง : Tsukiji Wonderland พ่อค้าคนกลางผู้ส่งต่อวิถีชีวิต




ตลาดปลาสึคิจิ คือ ตลาดค้าส่งปลาและอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีอายุเก่าแก่ถึง81ปีตั้งอยู่ในใจกลางเมืองโตเกียวประเทศญี่ปุ่น นอกจากจะหล่อเลี้ยงคนญี่ปุ่นแล้ว สถานที่แห่งนี้ยังหล่อเลี้ยงผู้คนอีกหลายชาติ เพราะสัตว์นํ้าที่กินได้เกือบทุกชนิดบนโลกจะถูกส่งมาที่นี่ ก่อนจะถูกกระจายไปยังประเทศต่างๆ ความพิเศษอีกอย่างคือปลาและอาหารทะเลของที่นี่มาจากแหล่งนํ้าธรรมชาติทั้งสิ้น ไม่มีปลาที่เลี้ยงเองในกระชังเลย

น่าเสียดายที่ในปีนี้อาจเป็นปีสุดท้ายของตลาดปลาสึคิจิ เนื่องจากมันจะถูกปิดตัวลงเพื่อย้ายไปยังที่แห่งใหม่ภายใต้ชื่อ Toyosu Market ซึ่งจะมีพื้นที่กว้างขวางขึ้นอีกหลายเท่าตัว แต่ล่าสุดแผนการย้ายตลาดในวันที่ 7 พย. 2016 ถูกเลื่อนออกไปเพราะยังไม่พร้อม ช่างประจวบเหมาะกับการที่ นาโอะทาโระ เอนโดะ สร้างภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Tsukiji Wonderland ขึ้นมา เขาใช้เวลาถ่ายทำ1ปีและหนังได้เข้าฉายในช่วงนี้เพื่ออำลาตลาดปลาสึคิจิพอดิบพอดี

Tsukiji Wonderland กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของตลาดแห่งนี้ผ่านมุมมองของพ่อค้าคนกลางเป็นหลัก เสริมด้วยผู้บริหารกับพนักงานในตลาด เจ้าของร้านอาหาร พ่อค้าส่ง เชฟชื่อดัง นักเขียนต่างชาติ นักวิชาการ ลูกจ้าง ลูกค้า ยันคนขายนํ้าแข็ง ทั้งหมดเปรียบเสมือนครัวใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งพวกเขามาผลัดกันบอกเล่าความทรงจำที่ดีต่อตลาดปลาสึคิจิ

ผู้กำกับร้อยเรียงเรื่องราวของตลาดออกมาได้อย่างละเอียด อบอุ่น ลึกซึ้ง และเป็นธรรมชาติมาก แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของตลาดปลาแห่งนี้ว่าเป็นดั่งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ด้วยท่าทีที่ภาคภูมิใจ มิใช้โอ้อวด การถ่ายภาพสวยงาม สบายตา โดยเฉพาะมุมกล้องที่ติดกับโดรน นำเสนอบรรยากาศการคัดแยกสินค้า การประมูลปลา การหั่นปลา การซื้อขายปลา ไปจนถึงการทำอาหารออกมาได้อย่างมีชีวิตชีวา เป็นสารคดีไม่น่าเบื่อเลย ถึงจะไม่ได้ตื่นตาตื่นใจเท่าไหร่ แต่ก็เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์อันน่าประทับใจ เหมือนกับดูหนังมากกว่า มีตัวละคร มีบทสนทนา มีฉากต่างๆ

Tsukiji Wonderland คล้ายภาพสะท้อนหนึ่งของวิถีชีวิตคนญี่ปุ่น ความแข็งแรงของวัฒนธรรมการกินที่กลายเป็นศิลปะ แม้หน้าหนังอาจจะสื่อว่าเป็นเรื่องของอาหาร โดยมีคำพูดกินใจมากมายไม่ว่าจะเป็น อาหารญี่ปุ่นขึ้นตรงต่อฤดูกาล ที่นี่คือสถานที่แรกที่คุณจะรับรู้ได้ว่าฤดูกาลได้เปลี่ยนแปลงแล้ว การกินปลาชนิดนี้เหมือนคุณได้กินสามฤดูกาลที่มันผ่านด้วย อาหารที่เราทานจะเข้าไปเป็นเซลล์ต่างๆในร่างกายเรา และทารกที่กินปลาจะจดจำรสชาตินี้ไปตลอดชีวิต

ทว่าแก่นของหนังกลับเน้นไปที่เรื่องของอาชีพ สายสัมพันธ์ที่เกี่ยวโยงกันของผู้คนในตลาด หนังค่อนข้างยกย่อง พ่อค้าคนกลาง ซึ่งไม่เหมือนพ่อค้าคนกลางหน้าเลือดในตลาดสดหรือตามแบบเรียนสมัยเด็กที่เราเคยรับรู้ว่าเป็นพวกนิสัยไม่ดี ชอบเอาเปรียบคนอื่น แต่พ่อค้าคนกลางของตลาดปลาสึคิจิตรงกันข้ามทุกอย่าง พวกเขาคือผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลาและอาหารทะเลที่ขยัน ทำงานหนัก (ตืนมาตลาดตั้งแต่เที่ยงคืน อยู่ยาวจนถึงสายๆ แทบไม่มีวันหยุด) ใส่ใจ (ปลาตัวไหนมาจากน่านนํ้าไหนจับด้วยวิธีอะไรตอบได้หมด) ซื่อสัตย์ (พร้อมที่จะบอกลูกค้าทันทีว่าปลาตัวไหนไม่ดี) และมีความรับผิดชอบมากๆ (พยายามตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้ หากไม่สำเร็จจะรู้สึกผิด) ดังนั้นในหนังเราจึงได้ยินคำว่า กำไร เงิน ธุรกิจ น้อยเหลือเกิน (เป็นตลาดที่เราไม่เห็นการต่อราคาเลย)

ที่ชอบที่สุดน่าจะเป็นทัศนคติในการทำงานของคนญี่ปุ่นที่ไม่ว่าพวกเขาจะรวยหรือจน แก่หรือหนุ่ม ก็ล้วนแต่ให้เกียรติ เคารพซึ่งกันและกัน รู้ว่าต่างต้องพึ่งพากันเป็นห่วงโซ่ สิ่งที่ทุกคนทำที่นี่ก็แค่ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด จากรากเหง้าความเชื่อที่พวกเขายึดถือมาเนิ่นนาน บางคนอาจตีความว่าเป็นชาตินิยม แต่ส่วนตัวอยากใช้คำว่าเห็นแก่ส่วนรวมมากกว่า คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีแนวคิดที่น่านับถือคือไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามจะคิดถึงสังคมหรือคนอื่นก่อนตัวเองเสมอ ชาวประมงจับปลาอย่างระมัดระวังเพื่อผู้บริโภค พ่อค้าส่งพยายามขายสินค้าราคาดีๆเพื่อชาวประมง พ่อค้าคนกลางคัดเลือกสินค้าที่ดีที่สุดเพื่อผู้บริโภค ผู้บริโภคกินอาหารด้วยความรู้สึกขอบคุณชาวประมงที่เสี่ยงอันตรายจับปลามา

สิ่งสำคัญอีกอย่างที่คนดูจะได้จาก Tsukiji Wonderland คือคลังความรู้เรื่องปลาและอาหารทะเลมากมายจากปากของมืออาชีพที่บอกเล่าด้วยประสบการณ์เกือบทั้งชีวิต พวกเขามีสายตาที่เข้าใจโลก ยอมรับความจริง เช่น คนสมัยนี้กินปลากับอาหารทะเลน้อยลงโดยหันไปกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแทน หนุ่มสาวยุคใหม่ไม่เข้าครัวทำอาหาร และ พ่อค้าคนกลางคนหนึ่งที่ต้องปิดแผงขายปลาอายุร้อยปีของตระกูลเพราะไม่มีคนสืบทอด แม้จะผูกพัน อาลัยตลาดปลาสึคิจิมาเพียงใดเขาก็สามารถตัดใจละทิ้งชีวิตได้ เมื่อไม่มีคนยอมรับไม้ต่อ(ลูกของเขาเลือกทำงานออฟฟิศ) คำพูดทิ้งท้ายของเขาบอกว่า จากนี้ไปก็คงจะใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายกับภรรยาให้นานที่สุด ช่างเหมาะกับการปิดฉากตลาดปลาแห่งนี้จริงๆ

คะแนน 8/10

โดย นกไซเบอร์ https://www.facebook.com/cyberbirdmovie




 

Create Date : 13 ตุลาคม 2559    
Last Update : 13 ตุลาคม 2559 12:10:06 น.
Counter : 1025 Pageviews.  

รีวิวหนัง : Sing Street สุนทรีของความสุขปนเศร้า




Sing Street เป็นการกลับมาของผู้กำกับหนังเพลงชื่อดัง จอห์น คาร์นีย์ เจ้าของผลงานที่เคยสร้างปรากฏการณ์อย่าง Once และ Begin Again ที่คราวนี้ขอพาผู้ชอมย้อนไปในยุคปี 1980 ของนครดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ โดยได้นักแสดงหน้าใหม่คือ เฟอร์เดีย วอลช์ พีลโล มารับบทนำ

ตัวหนังว่าด้วยเรื่องราวของ คอสโม เด็กหนุ่มจากเมืองดับบลินที่ได้พบกับ ราฟิน่า หญิงสาวสุดสวยซึ่งชอบมายืนหน้าโรงเรียนชายล้วน เพื่อพิชิตใจสาวคนนี้เขาจึงได้เริ่มตั้งวงดนตรีชื่อ Sing Street แต่งเพลง ถ่ายมิวสิควีดีโอ เพื่อถ่ายทอดความคิดและความรู้สึกที่เขามีให้ต่อเธอ ซึ่งเขาได้รับคำแนะนำจาก เบรนแดน พี่ชายขาร็อคที่วันๆเอาแต่สูบยากับฟังเพลงอยู่ในห้อง

ระหว่างที่ คอสโม กำลังหมกมุ่นอยู่กับเสียงเพลง เขาก็ต้องพบกับอุปสรรคมากมายที่เข้ามาท้าทายชีวิต ทั้งถูกอันธพาลในโรงเรียนใหม่รังแก โดนครูสุดเคร่งบังคับเรื่องส่วนตัว พ่อกับแม่ก็ทะเลาะกันบ่อยแถมยังทำท่าจะหย่ากัน และ ราฟิน่า เองก็กำลังวางแผนจะหนีไปลอนดอนกับแฟนหนุ่มรุ่นพี่ของเธอ

Sing Street ไม่ใช่แค่หนังเด็กหนุ่มร้องเพลงจีบสาว แกนหลักของหนังยังเป็นเรื่องการไล่ตามความฝัน เหมือนกับผลงานที่ผ่านมาของ จอห์น คาร์นีย์ ทว่าใน Sing Street มีการแฝงประเด็นรักแรก-ดราม่าครอบครัวเขามา นอกจากนี้ยังมีพาร์ท Coming of age นิดๆ ขณะเดียวกันแม้หนังจะนำเสนอเรื่องราวของผู้คนในยุค80 แต่เนื้อหาของมันกลับเกี่ยวเนื่องกับชีวิตวัยรุ่น ซึ่งทำให้คนรุ่นใหม่สามารถอินกับมันได้มากกว่า ไม่เหมือนกับตอน Begin Again ที่เน้นเข้าถึงคนหนุ่มสาววัยทำงาน

เพลงประกอบเพราะ เข้ากับเนื้อเรื่อง คอสตูมสุดจัดจ้าน มุขตลกในหนังโดนมาก ตัวละครเด็กในวง Sing Street โดดเด่นแทบทุกคน ไล่ตั้งแต่ มาร์ค แม็คเคนน่า กับบท เอม่อน มือกีตาร์สุดหล่อมันสมองของวง , เพอร์ซี่ แชมบูรูก้า เจ้าของบท Ngig มือคีย์บอร์ดผิวสี , เบน คาโรแลน แสดงบท ดาร์เรน ผู้จัดการสุดเนิร์ด และ คาร์ล ไรซ์ ในบท แกรี่ มือเบสตัวจิ๋วสุดน่ารัก พวกเขาสร้างสีสันกับเสียงหัวเราะได้ดี แม้ว่าการฟอร์มวงเล่นดนตรีของพวกเขาอาจจะดูง่ายดายไปหน่อยก็ตาม

เฟอร์เดีย วอลช์ พีลโล ทำได้ยอดเยี่ยมทีเดียวกับการรับบทเป็น คอสโม เด็กหนุ่มวัยหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต เขาแสดงอารมณ์ได้เก่งมาก เสน่ห์ของ เฟอร์เดีย ค่อยๆฉายแววทีละนิด ก่อนจะสว่างจ้าได้ใจผู้ชมในตอนจบ เช่นเดียวกับ ลูซี่ บอยน์ตัน แรกทีเดียวบท ราฟิน่า อาจเป็นแค่เด็กสาววัยรุ่นใจแตกธรรมดา แต่เมื่อเธอล้างเครื่องสำอางค์แปลงโฉม เปิดอกกับ คอสโม ช่วงท้าย ราฟิน่า ก็กลายเป็นตัวละครน่าสงสารที่คนดูอยากเอาใจช่วยให้พบความสุข อีกคนที่น่าพูดถึงคือ แจ็ค เรย์นอร์ ที่แสดงเป็น เบรนดอน พี่ชายของ คอสโม บุคลิกของเขาต้องบอกว่าถอดแบบมาจาก เคิร์ท โคเบน ชัดๆ ซีนที่ แจ็ค าถ่ายทอดความรู้สึกของการเป็นลูกชายคนโตที่ถูกคาดหวังนั้นทรงพลังที่สุด ทลายภาพชีวิตไร้สาระช่วงที่ผ่านมาไปได้หมดสิ้นเลย

Sing Street เปรียบบทเพลงเชิงปรัชญาเป็นความสุนทรีสามัญของชีวิต คือทางออก-ตัวช่วยสำคัญของวัยรุ่นในการเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ ส่วนเพลงอกหักก็คือ ความสุขปนเศร้า ที่เมื่อเราก้าวข้ามผ่านไปได้ เราจะเติบโต และเข้าใจชีวิตมากขึ้น

คะแนน Sing Street 8/10




 

Create Date : 27 มิถุนายน 2559    
Last Update : 27 มิถุนายน 2559 17:58:32 น.
Counter : 1590 Pageviews.  

รีวิวหนัง : Independence Day Resurgence การกลับมาของเอเลี่ยน






Independence Day หรือ ID4 จัดว่าเป็นหนึ่งภาพยนตร์แอ็คชั่นไซไฟตัวแทนแห่งยุค90 ที่อยู่ในความทรงจำของใครหลายคน ตอนนั้นมันคือหนังที่มีเทคนิคภาพเจ๋งกว่าเรื่องไหนๆ ไม่ว่าจะเป็นฉาก ยานอวกาศ การต่อสู้ทางอากาศ ไปจนถึง ตัวเอเลี่ยน หนังจบลงอย่างสมบูรณ์แล้ว ใครเลยจะคาดคิดว่าอีก 20 ปีให้หลัง Independence Day Resurgence ภาคต่อจะมาสานต่อเรื่องราวสงครามระหว่างมนุษย์กับเอเลี่ยน

ตัวหนังวางไทม์ไลน์ตรงกับของจริง 4 กรกฎาคม 2016 วันเดียวกับเมื่อ20ปีที่แล้ว สหรัฐฯกำลังจะฉลองวันแห่งชัยชนะที่มีต่อการรุกรานจากปี 1996 โลกพัฒนาไปมากด้วยเทคโนโลยีซึ่งต่อยอดมาจากพาหนะและอาวุธของมนุษย์ต่างดาว แต่ก็อาจไม่มากพอสำหรับการรุกรานครั้งใหม่

ดีแลน ดูโบรว์ ฮิลเลอร์ ลูกชายของ สตีเวน ฮิลเลอร์ ขึ้นเป็นหัวหน้าฝูงบินยานรบของโลก เขาไม่ถูกกับ เจค นักบินมากฝีมือที่เคยเกือบทำให้เขาตายในการฝึก เจค เป็นแฟนกับ แพทริเซีย ลูกสาวของอดีตประธานาธิบดี วิทมอร์ ขณะเดียวกัน เดวิด ลีวินสัน นักวิทยาศาสตร์จากภาคแรกก็ได้ขึ้นเป็นที่ปรึกษาของกองทัพสหรัฐฯ และเขาต้องกลับมาใช้ความสามารถในการปกป้องโลกอีกครั้ง

โรแลนด์ เอมเมอริค ผู้กำกับจอมถล่มโลกจาก Godzilla , The Day After Tomorrow , 2012 ทำ Independence Day Resurgence ออกมาได้ในระดับพอไม่เสียของ สิ่งที่เหนือกว่าภาคแรกคือเทคนิคภาพกับฉากแอ็คชั่นสุดอลังการ แต่บทภาพยนตร์และการแสดงใน IDR ด้อยกว่า Independence Day ในปี 1996 ของเขามากๆ

พล็อตหนังไม่ซับซ้อน รวมถึงค่อนข้างจะเป็นสูตรสำเร็จ เต็มไปด้วยแนวคิดแบบอเมริกันฮีโร่ และมนุษย์นิยม เนื้อหาเหมือนสร้างมาเพื่อคนรุ่นใหม่มากกว่าคนรุ่นเก่าที่เคยดูภาคแรก ขณะเดียวกันก็ยังเอาอกเอาใจชาวจีนอย่างมากด้วยการดัน แองเจล่า เบบี้ นักบินสาวจากจีนที่ชื่อ เรน บทของเธอโดดเด่นกว่านักแสดงสาวทุกคนในเรื่อง (หวังรายได้จากประเทศจีนคล้ายๆกับ Transformers 4 Age of Extinction )

อีกข้อที่น่าเสียดายคือการใช้ตัวละครเก่าๆจากภาคก่อนได้ไม่คุ้มเท่าไหร่ แถมพวกเขายังประสบกับชาตากรรมที่ไม่สมเหตุผลจนน่าขัน การที่ วิลล์ สมิธ ไม่รับเล่นภาคต่อเรื่องนี้ก็มีส่วนทำให้หนังดร็อปลงไปเยอะ (เขาอาจคิดถูกก็ได้ที่ไม่รับ) เพราะตัวละครนี้เคยสร้างสีสันและมีเสน่ห์อย่างมาก สำหรับประเด็นการรวมแรงรวมใจสู้ของมนุษยชาติในการเอาตัวรอดก็ทำออกมาได้ทื่อมะลื่อ ไม่น่าประทับใจ

Independence Day Resurgence คือหนังแอ็คชั่นไซไฟที่พอดูได้เพลินๆ ไม่ค่อยมีอะไรน่าจดจำ แฟนหนัง ID4 หลายคนลงความเห็นว่าหนังเรื่องนี้ไม่เคยมีภาคต่อ ดังนั้นการที่เราจะได้เห็นภาค3ของหนังแฟรนไชส์สงครามมนุษย์กับเอเลี่ยนชุดนี้คงริบหรี่เต็มทน

คะแนน 7/10

โดย นกไซเบอร์




 

Create Date : 24 มิถุนายน 2559    
Last Update : 27 มิถุนายน 2559 16:42:48 น.
Counter : 1320 Pageviews.  

รีวิวหนังสารคดี : Where to Invade Next ปักธงทวงคืนไอเดีย






Where to Invade Next คือสารคดีเรื่องใหม่ของ ไมเคิล มัวร์ ผู้กำกับ Fahrenheit 9/11 ที่ว่าด้วยการบุกโลกกว้าง เพื่อเปิดตาชาวอเมริกันเพื่อนร่วมชาติของเขากับแนวคิดสร้างคุณภาพชีวิตดีๆของหลายประเทศ โดยเจ้าตัวแต่งชุดเป็นทหารพร้อมนำธงชาติสหรัฐฯไปปักในต่างแดน พร้อมขโมยไอเดียต่างๆกลับมาใช้ในบ้านเกิดของเขา ประเทศมหาอำนาจผู้ทะนงตนในความยิ่งใหญ่ ภูมิใจในอเมริกันดรีมฝันเฟื่อง คิดว่าตัวเองอยู่เหนือว่าชาติอื่น

สหรัฐฯ ไม่เคยชนะสงครามใหญ่ๆอีกเลยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยยังคงบุคลิกนักบู๊ผลาญภาษีหลายหมื่นล้านเหรียญฯไปกับการทหาร เงินแผ่นดินเกินกว่าครึ่งถูกนำไปอุดหนุนกระทรวงกลาโหมที่ซื้อและผลิตอาวุธใหม่ๆแทบทุกเดือน ขณะที่ประชาชนยังคงเดือนร้อนกับภาวะ เศรษฐกิจฝืดเคือง เป็นหนี้สิน ตกงาน สุขภาพแย่ ปัญหาอาวุธปืน เหยีดสีผิว ยาเสพติด อาชญากรรม อาหารปนเปื้อนสารพิษ ฯลฯ

ไมเคิล มัวร์ ออกเดินทางเพื่อเรียนรู้ วัฒนธรรม ประเพณี สังคม กฏหมาย ของหลายประเทศในยุโรป (1ประเทศในแอฟริกาเหนือ) ทั้ง มนุษย์เงินเดือนในอิตาลีมีวันหยุดมากกว่า2เดือนต่อปี แถมถ้าใช้ไม่หมดปีนี้ก็ทบไปเรื่อยๆได้ ยังไม่หมดชั่วโมงการทำงานก็น้อยกว่า8ชั่วโมง และตอนพักเที่ยงพวกเขามีเวลากว่า2ชั่วโมงจึงสามารถกลับไปรวมตัวกินข้าวที่บ้านได้ , โรงเรียนชนบทในฝรั่งเศสเสิร์ฟคัดสรรอาหารเที่ยงชั้นดีระดับโรงแรมให้เด็กกิน ฟินแลนด์ทะยานสู่การเป็นเจ้าของการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก เด็กๆที่นั่นเรียนน้อย แทบไม่มีการบ้าน แต่กลับฉลาดทุกคน สโลวีเนีย ทุ่มงบให้นักศึกษาเรียนมหาวิทยาลัยฟรีโดยไม่มีข้อแม้

เยอรมนี มีกฏหมายห้ามนายจ้างติดต่อลูกจ้างหลังเลิกงานหรือในวันหยุด รวมถึงหากลูกจ้างรู้สึกว่าตัวเองเครียดสามารถให้หมอส่งใบสั่งลางานไปสปาได้หลายสัปดาห์ นอกจากนี้พวกเขายังสอนประวัติศาสตร์ยุคนาซีแก่เด็กๆอย่างตรงไปตรงมา , โปรตุเกส กำหนดให้ยาเสพติดไม่ใช่สิ่งผิดกฏหมาย แต่กลับแก้ไขปัญหาคนติดยาได้ , นอร์เวย์ จัดการกับผู้ต้องหาด้วยความเห็นใจ ในฐานะเพื่อมนุษย์ นักโทษนอร์เวย์ถูกขังอยู่บนเกาะที่สวยงามราวรีสอร์ต พวกเขาไปไหนมาไหนโดยอิสระ มีเรื่องมืออำนวยความสะดวกครบครัน สุขสบายเหมือนกับกำลังพักร้อน สถิติการทำผิดซํ้าของนักโทษที่นี่ตํ่าที่สุดสุดในโลก , ตูนิเซีย เป็นชาติมุสลิมที่การทำแท้งถูกกฏหมาย ผู้หญิงที่นั่นมีสิทธิเสรีภาพมากมาย และ ไอซ์แลนด์ ประเทศที่ผู้หญิงเป็นใหญ่ พวกเขามีประธานาธิบดีหญิงคนแรกของโลก เพศหญิงในไอซ์แลนด์มีโควต้าแทรกอยู่ในเก้าอี้บริหารไม่ว่าจะในภาครัฐหรือเอกชน หมดนี้ถ้าเอามารวมเป็นประเทศเดียวคงกลาเป็นประเทศยูโทเปีย ซึ่งเคล็ดลับไม่มีอะไรมากไปกว่าประชากรที่มีคุณภาพ พวกเขาถูกปลูกฝังเรื่องการมองทุกคนในฐานะมนุษย์ ทุกคนมีคุณท่าเท่าเทียมกัน และทุกคนรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมมกาว่าส่วนตัว

Where to Invade Next เป็นสารคดีที่ไม่เครียด แถมยังดูสนุก ด้วยอารมณ์ขันตลกร้ายกับการเสียดสี-ล้อเลียนรัฐบาลสหรัฐฯและคนอเมริกัน รวมถึงหลายๆประเทศทั่วโลกที่รัฐบาลล้มเหลวในการบริหารประเทศ แน่นอนว่าไทยด้วย เพราะเมื่อผ่านไปครึ่งเรื่องเรากลับรู้สึกว่าหลายถ้อยคำมันโดนใจมากๆ "กำไรของบริษัท ไม่จำเป็นต้องขัดแย้งกับความอยู่ดีกินดีของพนักงานครับ" ซีอีโอของดูคาติ บริษัทผลิตมอเตอร์ไซค์ "คนเราต้องมีวันหยุดนะ จะได้คลายเครียดและกลับมาทำงานอย่างมีความสุข" เจ้าของบริษัทลาร์ดินี เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าค่านิยมของประเทศที่เจริญแล้ว ผู้บริหารไม่ได้มองลูกจ้างเป็นฟันเฟืองในองค์กร พวกเขามองลูกจ้างในฐานะมนุษย์ เพื่อน มีผู้บริหารหญิงคนหนึ่งพูดว่า ในเมื่อฉันมีวันหยุดไปเที่ยวต่างประเทศได้ ลูกจ้างของฉันก็ควรได้รับสิทธิ์นั้น ส่วนผู้หริหารชายตอบกลับคำถามเกี่ยวกับผลกำไรว่า เราไม่รู้จะรวยมากๆไปทำไม

หลายคนอาจมองว่าหนังค่อนข้างโลกสวยไปหน่อย ความจริงบางส่วนอาจมีการปรุงแต่งอยู่บ้าง แต่ละประเทศที่มาเป็นเคสตัวอย่างก็ไม่ได้ดีพร้อมไปทุกด้าน ซึ่ง ไมเคิล มัวร์ ก็ได้ออกตัวว่าเขาจะมาเรียนรู้เฉพาะข้อดี ชอบการตัดสลับภาพ-คลิปไปมาเพื่อเปรียบเทียบวิถีชีวิตอเมริกันชนกับประเทศต่างๆ หลอกด่าได้เจ็บแสบมาก ข้อดีอีกอย่างคือการที่ ไมเคิล เลือกสัมภาษณ์ผู้คนได้หลากหลาย รอบด้าน เขาวางตัวเป็นตัวแทนของชาติแบบเล่นๆ ทว่าในประเทศสโลวีเนียเขากลับได้พบกับประธานาธิบดี และได้สนทนาส่วนตัวนานเกือบชั่วโมง

ดูอย่างผิวเผิน Where to Invade Next อาจถูกมองว่าทำมาเพื่อให้ชาวอเมริกันและชาติอื่นๆในโลกอิจฉาประเทศตัวอย่างในหนัง กระนั้นประเด็นที่ลึกกว่าคือสารคดีเรื่องนี้ช่วยให้ผู้ชมได้ทราบถึงสิ่งดีๆของแต่ละชาติ สิ่งดีๆที่ควรค่าแก่การจดจำมากกว่ารู้ว่า อิตาลีสปาเก็ตตี้อร่อย ฝรั่งเศสขายครัวซอง เยอรมันมีเบียร์ชั้นดี หนังให้ข้อมูลความรู้ที่น่าสนใจมากมาย ซึ่งเอามาปรับใช้ได้กับทุกประเทศ และที่สุดแล้ว ไมเคิล พบว่าไอเดียเจ๋งๆเกือบทั้งหมดในหนังเขาเขามีต้นตอมาจากสหรัฐอเมริกานั่นเอง การเดินทางของเขาจึงไม่ใช่การขโมยแนวคิด แต่ไปทวงคืนต่างหาก

คะแนน 8/10

โดย นกไซเบอร์




 

Create Date : 21 มิถุนายน 2559    
Last Update : 21 มิถุนายน 2559 17:50:06 น.
Counter : 1650 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  

mninho
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 16 คน [?]




นกไซเบอร์ วิจารณ์หนัง
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add mninho's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.