ปาฏิหาริย์รักต่างพันธ์ Deep in the Jungle
ปาฏิหาริย์รักต่างเผ่าพันธ์เป็นเรื่องราวความรักระหว่าง จิน (พลอย จินดาโชติ) หญิงสาวชนกลุ่มน้อยที่หลบหนีภัยสงคราม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า กับนายทหารหนุ่มในไทยนายหนึ่ง (เจษฏาภรณ์ ผลดี)


จิน มีพี่น้องฝาแฝด ชื่อว่า จาย (ไม่ใช่ ใจส์) จากในเรื่องทั้งจิน และจายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ครึ่งคนครึ่งงู ซึ่งเนื้อเรื่องพยายามโยง เข้ากับพุทธประวัติ ตอนที่มีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า "นาค" มาขอพระพุทธเจ้าบวช
โดยเนื้อเรื่องพยายามชี้โยงให้ชวนเข้าใจได้ว่าว่า พื้นที่บริเวณชายแดนพม่ากับอินเดีย มี สิ่งมีชีวิตประเภทนี้อาศัยอยู่

เมื่อ นาคแม้จะมาขอบวชในร่างมนุษย์ แต่ก็ ยังไม่ใช่มนุษย์โดยสมบูรณ์อยู่ดี พระพุทธเจ้า จึงไม่ทรงอนุญาตให้บวชเป็นพระภิกษุได้ แต่อย่างน้อย เพื่อเป็นการระลึกถึงความตั้งใจใฝ่ธรรม ของนาค จึงมีการกำหนดให้ ก่อนที่จะบวช ทุกคนจะต้องผ่านพิธีและขั้นตอนการนุ่งขาวห่มขาว เป็น "นาค" เสียก่อน แล้วจึงจะได้เป็นพระภิกษุในบวรพุทธศาสนา

นอกจากหนัง เรื่องนี้จะชวนให้ใคร่ครวญถึงประเด็นในทางพุทธศาสนาแล้ว ผมก็ยังอดนึกถึง เรื่อง "ผู้คน" กับ "สภาวะข้ามชาติ" ในยุคปัจจุบันไม่ได้

แน่นอน ว่า จิน และจาย เป็นชนกลุ่มน้อยในพม่า และได้ถูกกระทำย่ำยี จากรัฐบาลทหารพม่า ประหนึ่งว่า ไม่ใช่มนุษย์ จนผู้คนเหล่านี้ต้องหลบหลี้หนีภัย มายังดินแดนที่น่าจะปลอดภัยกว่า อย่างประเทศไทย

ซึ่งในชีวิตจริงเราก็ได้เห็นกรณีเช่นนี้อยู่บ่อย ครั้ง ไม่ว่าจะเป็น กะเหรี่ยง พุทธ คริสต์ ก๊อดอาร์มี ที่บุกยึด โรงพยาบาลราชบุรีเมื่อต้น สหัสวรรษใหม่ หรือแม้แต่กรณีชาวโรฮิงยา เมื่อไม่นานมานี้

บุคคลเหล่านี้ หลายคนไร้สัญชาติ ไร้เสียง ไร้สิทธิ์ ถูกทารุณกรรม โดยที่ไม่เคยมีใครได้ยินเสียงร้องของพวกเขา ด้วยไม่มีกฏหมายใด ๆ จะให้ความคุ้มครองในสิทธิความเป็นมนุษย์

อย่าง ที่ Giorgio Agamben เรียกชีวิตอย่างนี้ว่า Naked life หรือ Bare life กล่าวคือคนเหล่านี้ เป็น ผู้คน ที่หากเขียนด้วยอักษรโรมัน ย่อมจะเป็น people ที่ขึ้นต้นด้วย ตัว p ตัวเล็ก หาใช่ People ที่ขึ้นต้นด้วยตัว p. ตัวใหญ่ อันเป็นบุคคลที่จะมีสิทธิ์ทาง กฏหมาย สิทธิ์การเมือง หรือแม้แต่สิทธิ์ที่จะรักษาชีวิตตลอดจนความยุติธรรมของตัวเองไม่

สภาวะ ข้ามชาติจากชายขอบเช่นนี้ ยังคงมีให้เห็นอยู่ในยุคปัจจุบัน ในยุคที่เราเรียกว่าโลภากิวัตน์ แม้ว่าทุกวันนี้ คนหลายคนจะมีกินอิ่มจนท้องจะแตก แต่ก็ยังมีคนอีกหลายล้าน ที่ขาดสถานพลเมือง ยังต้องดินรน พยายามร้องตะโกน โหยหวนถึงความทุกข์ระทม ของพวกเขาเพื่อให้โลกได้ยินอยู่นั่นเอง ตอนนี้อย่าว่า แต่จะขอบวชเป็นพระเลย

แม้เพียงแค่จะขอมีชีวิตที่ก็มีเลือดเนื้อเชื้อไข มีรักมีเกลียดอย่างเรา ๆ อยู่อย่างสงบตามอัตภาพ พวกเขา ก็ยังไม่อาจจะมีได้เลย



Create Date : 19 มีนาคม 2552
Last Update : 27 มิถุนายน 2552 18:59:05 น.
Counter : 3674 Pageviews.

1 comment
ความสุขของกะทิ The Happiness of Kati
ภาพยนตร์เรื่องความสุขของกะทิ ก็คงจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่หลาย ๆ คนที่คาดหวังฉากแอ๊คชั่น หวือหวา พอดูจบแล้วอาจจะไม่ชอบสักเท่าไหร่

ผม ต้องบอกก่อนเลยว่า แม้ ความสุขของกะทิ จะเป็นวรรณกรรมที่ได้รับรางวัลซีไรต์ เมื่อปี 2549 แต่ ผมก็ยังไม่เคยอ่าน หรือรู้เรื่องราวเนื้อหามาก่อนเลย

เพิ่งจะมาได้สัมผัสกับความประทับใจกับสิ่งที่ งามพรรณ เวชชาชีวะ ถ่ายทอดออกมาหนแรกก็ในโรงภาพยนตร์นี่แหละครับ

เนื้อ เรื่อง ของหนังเรื่องนี้ดำเนินไปอย่างเรียบง่าย แต่ก็แฝงปรัชญาชีวิตตามคติทางพุทธศาสนา เรื่องอิทัปปัจจยตาไว้อย่างไม่ซับซ้อน แต่ก็มีความแยบยลเป็นที่สุด



สุข กับทุกข์ ในชีวิตนั้นเป็นปัจจัยเกื้อกูลหนุนกัน จนเราไม่อาจแยกออกได้อย่างชัดเจน ผู้ที่ครอง "สติ" ระมัดระวังสำรวม ไม่ให้ใจเตลิด ไปกับความสุข หรือ ทุกข์ จนเกินเลย นั่นแหละ คือผู้ที่จะรับมือกับ มรสุมแห่งชีวิตได้อย่างเจ็บตัวน้อยที่สุด

ความไม่แน่นอนของชีวิตมนุษย์ ที่ย่อมจะมาเยือนทุกชีวิตเป็นธรรมดา

มนุษย์เรา จึงควรจะตั้งอยู่ในความประมาท เมื่อใดทุกข์ ก้ขอให้ให้กำลังใจไว้ว่า อีกไม่นาน ความสุขจะมา

หากเมื่อใดสุข ก็จงอย่าได้ประมาท กับความสุขนั้น เพราะอีกไม่ช้า จะต้องเจอทุกข์แน่ ๆ

เปรียบเสมือน กับ ผ้าที่กะทิได้รับมอบหมายจากยายให้ตาก และเก็บผ้า อยู่เป็นประจำ
กะทิ จะต้อง มี "สติ" ระมัดระวัง ว่าเมื่อใดฝนจะมา แล้วต้องเก็บผ้าให้ทันไม่ให้ผ้าเปียก

หากจะมีเหตุสุดวิสัย ที่ลมพายุจะพัดผ้าไปไหนต่อไหน หรือฝนจะตก จนผ้าเปียกไปบ้าง ก็คงเป็นเรื่องธรรมดา ที่ต้องยอมรับ และเข้าใจ

หลายครั้งหลายหนที่ผู้ใหญ่ในเรื่อง ประมาทในความสามารถในการเข้าใจ "ธรรมดาของโลก" ของกะทิไป

อาจจะเพราะเป็นห่วงกลัวว่ากะทิ จะเป็นทุกข์กับชีวิต ที่ต้องเสียทั้งพ่อ และแม่

ยก ตัวอย่างตอนที่ ลุงตองให้ที่อยู่ พ่อ ที่แยกทาง กับแม่ตั้งแต่กะทิ ยังไม่เกิดหรือจำความไม่ได้ไป แล้ว ก็พะวงไปต่าง ๆ นานา ว่ากะทิ อาจจะอยากเจอพ่อ

ในตอนที่ไปสวนลุม (ในหนัง) พอเห็นกะทิ เดินไปส่งจดหมาย
ผู้ใหญ่ ทุกคนต่างคาดการณ์ ว่า กะทิ จะต้องส่งหาพ่อ เป็นแน่และก็กลัวว่ากะทิ จะทุกข์ใจ ที่อาจจะต้องผิดหวัง

แต่ที่ไหนได้ กะทิไม่ได้ทำอะไร หรือคิดอะไร อย่างที่ผู้ใหญ่เหล่านั้นคาดการณ์ไว้เลย
กะทิ ส่งจดหมาย ไปหา "ทอง" เพื่อนที่บ้านริมคลองตางหาก

ฉะนั้นการ "อ่าน" โลก ของกะทิ เป็นมุมมอง ที่ดูจะมี ความสุข หรือ "ทุกข์" น้อยที่สุดแล้ว

------------

งาน ของ งามพรรณ เวชชาชีวะ ค่อนข้างจะสื่อให้เห็นถึงชีวิต แบบ "ไทย"มาก ตั้งแต่ฉากชนบท ในอยุธยา ลักษณะความเป็นชาวบ้าน และหลักธรรมพุทธศาสนา

แต่ กระนั้น ก็ยังมีกลิ่นอายตะวันตกมาให้เราพบเห็นอยู่ อย่างเช่น ตอนที่ เรือของกะทิหลุด จากตลิ่ง เมือ่มีพายุ แล้วแม่พยายามจะตะกายน้ำให้กะทิ กลับมา

เผอิญ "ทอง" พายเรือผ่านมาพอดี เลยช่วยไว้ได้ทัน นั้นเปรียบประดุจ "อัศวินม้าขาว" เข้ามาช่วย เจ้าหญิง ใน นิยาย romance ของตะวันตก ก็ไม่ปาน แต่เป็น อัศวินเด็กวัดที่พายเรือมาช่วยเจ้าหญิง ในแบบไทย ๆ

งานวรรณกรรม เรื่อง "ความสุขของกะทิ" จึงจัดได้ว่าเป็นผลงานชิ้นหนึ่งที่เป็นตัวแทนของแนวคิด "ตะวันออก พบตะวันตก" ได้เช่นกัน



Create Date : 17 มกราคม 2552
Last Update : 27 มิถุนายน 2552 18:58:01 น.
Counter : 676 Pageviews.

1 comment
สะท้อนปัญหายิว-ปาเลสไตน์ใน You don't mess with the Zohan
ภาพยนตร์เรื่อง You Don't Mess with the Zohan เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงสภาวะข้ามชาติในยุคปัจจุบัน ที่ ความขัดแย้งไม่ว่าจะเป็น ณ จุดเล็ก ๆ จุดหนึ่งจุดใดของโลกก็ตามแต่ ก็อาจจะส่งผลประทบต่อโลกทั้งโลกได้



บุคคลมุดรัฐ ลอดรัฐ จำนวนนับหลายล้านที่ต้องจากลาบ้านเกิดเมืองนอน ไม่ว่าจะเป็นเพราะภาวะอัตคัดขัดสนหรือหนีเอาชีวิตรอดก็ตาม เมื่อเข้ามาอยู่ในแผ่นดินใหม่ที่ตนไปใช้ชีวิตอยู่ ทำให้เราอาจได้พบเห็นภาวะที่บุคคลกลุ่มนี้พยายามคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของตน และ/หรือการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะใหม่ ในระดับและลักษณาการที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่

------

ตามท้องเรื่อง โซแฮน เป็นนักรบชาวอิสราเอล ที่เบื่อการสู้รบ และสงครามใน ฉนวนกาซา เต็มที่ เขาทำเป็นแกล้งตาย แล้วหนี เข้ามาในสหรัฐอเมริกา เพื่อจะเรียนรู้การเป็นช่างทำผม ในดินแดนใหม่ในลักษณะและความหมายแบบ "อเมริกันดรีม" ที่เรา ๆ หลายท่านได้รับการปลูกฝังกล่อมเกลามาไม่มีผิดเพี้ยน

โซแฮน เข้ามาอยู่หัดทำผม อยู่ในร้านเสริมสวยของ "ดาเลีย" หญิงสาวชาวปาเลสไตน์ ในฝั่งตรงข้ามชุมชนชาวยิว ในนิวยอร์ก ซึ่งจุดนี้เราจะเห็น "บุคคลมุดรัฐ ลอดรัฐ" มากมาย ที่เป็นลูกมือของดาเลียอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ชาวเอเชีย หรือ ชาวฮิสแปนิกที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สลัมกลางนิวยอร์ก

หลายครั้งหลายหน ชาวยิวและชาวปาเลสไตน์ถูกยุจากนักธุรกิจใหญ่ในท้องที่ที่ต้องการให้ คนในสลัมย้ายออกไป ยุให้ คนทั้งสองกลุ่มทะเลาะบาดหมางกัน ด้วยภาวะที่มีความแค้นบาดหมางกันมาตั้งเดิมอยู่แล้วทำให้ ยิ่งยุง่ายขึ้น

แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นชาวยิว หรือปาเลสไตน์ ในบริเวณนี้ ก็ล้วนแล้วแต่ถูกมองในฐานะของพลเมืองชั้นสอง หรือ "ชาวต่างชาติ" อยู่ดี

ในเนื้อเรื่องมีอยู่ตอนหนึ่งที่บทสนทนาของตัวละครชวนให้คิดว่า แม้ว่ายิวและปาเลสไตน์ จะฆ่ากันแทบเป็นแทบตาย แต่เมื่อพวกเขาเข้ามาอยู่ในอเมริกา แล้ว "ชาวอเมริกัน" ก็คงไม่สนใจจะแยกแยะ เท่าใดนัก ว่า ใครเป็นยิว ใครเป็นปาเลสไตน์ แต่ที่แน่ ๆ นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ ถล่มตึกเวิร์ลดเทรด เป็นต้นมา ใครก็ตามที่หน้าตากระเดียดไปทางตะวันออกกลางจะโดนสงสัยหมด

แม้ว่าหนังเรื่องนี้จะออกแนวลักษณะล้อเลียนการเมืองด้วยการเล่าเรื่องเกินจริง และแฟนตาซี แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็สะท้อนภาพ สภาวะข้ามชาติที่ปรากฏอยู่ในโลกาภิวัตน์นี้ได้เป็นอย่างดี

ขนาดคู่ปรับของโซแฮน ที่เป็นนักรบปาเลสไตน์ อย่าง แฟนธ่อม หรือ "ฟาตุ๊ด" (ชื่ออาหรับเดิม) ก็ยังอุตสาห์มีเฟรนไชส์ อาหารอาหรับเป็นของตัวเอง

ถึงเนื้อเรื่องตอนจบ จะสะท้อนแนวคิดแบบเดิม ๆ ให้เราฟังทำนองว่า การฆ่าการจองเวรระหว่างยิวและปาเลสไตน์ไม่ได้ช่วยอะไรดีขึ้น ความแค้นมีแต่ก่อให้เกิดความแค้นไม่จบสิ้น แต่กระนั้นก็ดี การเล่าเรื่องลักษณะเกินความจริง และมีการล้อเลียนตลอดเวลา ทำให้หนังเรื่องนี้มีลักษณะพิเศษที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย



Create Date : 14 มกราคม 2552
Last Update : 14 มกราคม 2552 4:00:50 น.
Counter : 631 Pageviews.

1 comment
ปืนใหญ่ จอมสลัด
โดยทั่ว ๆ ไปแล้วถ้าเราจะได้ชมภาพยนตร์แฟนตาซีอิงประวัติศาสตร์ในไทย ส่วนมากภาพยนตร์เหล่านั้น มักจะผลิตมาจาภ “เรื่องเล่า” ของประวัติศาสตร์กระแสหลัก ที่ตอกย้ำซ้ำเติมวาทกรรมความเป็นชาติ “ไทย” ที่แสดงให้เห็นถึงการบันทึกความทรงจำ ความเจ็บปวดร่วมกัน ของ คนไทยในความหมายเดียวคือ กรุงศรีอยุธยาที่ถูกกระทำจากผู้อื่น ทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น เรื่อง บางระจัน สุริโยทัย ทวิภพ หรือสมเด็จพระนเรศวร ก็ตามแต่



การเปิดตัวของภาพยนตร์เรื่องปืนใหญ่จอมสลัด บทภาพยนตร์โดยวินทร์ เลียววาริณ กำกับโดยนนนทรีย์ นิมิบุตร เป็นนี้นับว่า เป็นครั้งแรก ที่ผมเคยเห็น ที่มีการนำเรื่องเล่าของ อารยธรรม ที่ครั้งหนึ่ง (หรือยังเป็นอยู่?) มีตำแหน่งแห่งที่ ที่ถูกอารยธรรมความเป็นไทยชาตินิยมกระแสหลัก บดทับบั่นทอน มาตลอด ได้มีถูกผลิตซ้ำ ในรูปแบบความบันเทิงที่ได้รับความนิยมแพร่หลาย

ปืนใหญ่จอมสลัด เป็นเรื่องเล่าอิงประวัติศาสตร์ ของอาณาจักรลังกาสุกะ (บริเวณสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน) เมื่อ 400 ปีก่อน คะเนดูน่าจะอยู่ในยุคร่วมสมัยกับกรุงศรีอยุธยา ลังกาสุกะเป็นนนครรัฐที่ถูกรายล้อมด้วย นครรัฐอื่น ๆ อย่าง ปาหัง ยะโฮร์ (มาเลเซียในปัจจุบัน) รวมไปจนถึง การมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกอาณาจักรอย่าง ลิ่ม เคี่ยม จากจีน ยานิส บรี ปราชญ์แห่งการผลิตยุทโธปกรณ์ ชาวดัตช์ รวมไปจนถึง ปารี เด็กชายชาวเล คนหนึ่งดูแล้วไม่ได้มีความสลักสำคัญอะไรเลย แต่กลับมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการปกป้องราชบัลลังก์ลังกาสุกะ ตามท้องเรื่อง

ในเนื้อหาของตัวหนังเอง เรื่องราวของการฝึกวิชาดูหลำก็เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจ ปารีได้พบกับปรมาจารย์อย่าง “กระเบนดำ” และ “กระเบนขาว” บุคคลซึ่งน่าจะเป็นคน ๆเดียวกัน แต่การที่มีกระแบนสองสีนี้น่าจะแสดงถึง แนวคิดเรื่อง ความดีกับความชั่วนั้นแยกกันไม่ออก ซึ่งจุดนี้ สื่อให้เห็นถึง สัมพันธภาพของสรรพสิ่งในโลก ว่าเราไม่สามารถแยก “ขั้ว” ใดใด ออกจากกันได้เด็ดขาด หากแต่วัตถุภาวะที่อยู่ในสภาพตรงข้าม นั้น ย่อมเกื้อหนุนกัน

การมีความสุขถ้าขาดสติ ก็ คือมีความทุกข์ชนิดหนึ่ง
การทำความดี ถ้าขาดสติ ก็อาจจะนำมาซึ่งความชั่วได้เช่นกัน
การแยกฝ่ายเขาที่เป็นศัตรู ออกจากฝ่ายเราก็ทำได้ยาก
สุขทุกข์ ดีชั่ว นั้นเกื้อกูลหนุนกันฉันใด การแบ่งเขาแบ่งเรา ก็เกื้อกูลหนุนกันฉันนั้น จะโดยรุ้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตามแต่

ปรัชญาการฝึกวิชาดูหลำในภาพยนตร์นั้นให้แง่คิดที่ชัดเจน
ว่าการทำร้ายฆ่าฟันห้ำหั่นศัตรู โดยขาดสติในทางหนึ่ง ก็คือการทำร้ายตัวเราเองด้วย
และไม่มีความแค้นใดที่จะใช้ยุติความแค้นได้

เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกวันนี้ ส่วนหนึ่ง มีสาเหตุมาจากความไม่ลงรอยกันระหว่าง การเขียนแผนทีทางกฎหมายของรัฐชาติ กับการเขียนแผนที่ทางวัฒนธรรม การแบ่งแยกเขาเรา การพยายามยัดเยียดประวัติศาสตร์เรื่องเดียวเข้าไปบดทับเรื่องเล่า และความทรงจำที่คนในท้องถิ่นเคยมีร่วมกัน


การปรากฏขึ้นของเรื่องเล่าจากลังกาสุกะ ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในแบบเรียน หรือสื่อบันเทิงใด ๆ ในครั้งนี้ น่าจะมีนัยยะทางการเมืองที่สำคัญในวันนี้ ที่หลาย ๆ คนบนดินแดนทีอดีตมีอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่เรืองอำนาจอยู่บริเวณแหลมมลายูนั้นโหยหาสันติภาพ และความสงบสุขเหลือเกิน



Create Date : 14 ธันวาคม 2551
Last Update : 14 ธันวาคม 2551 14:27:29 น.
Counter : 726 Pageviews.

0 comment
หลวงพี่เท่ง ไม่ใช่แค่หนังตลก
ในเรื่องหลวงพี่เท่ง 2 พระใหม่ที่เข้ามาจำพรรษาแทนหลวงพี่เท่ง ซึ่งก็คือหลวงพี่โจอี้ ได้ตัดสินใจออกธุดงค์เพื่อค้นหา "รสพระธรรม" (แม้ว่าพอเอาเข้าจริงจะเจอแต่ "รถพระทำ" ก็ตาม) ในดินแดนที่ห่างไกล ออกไปและพบกับทุกวิบัติมากมาย



โดยรวมแล้ว หนังเรื่องหลวงพี่เท่งไม่ได้ให้แค่ความบันเทิง แบบฮาร่ำรวย อย่างดียว แต่ในหนังยังแสดงให้เห็นถึงการตีความ "สัญญะ" ที่หลากหลายของคนที่มีพื้นเพ ปูมหลังต่างกันออกไป หนังเรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่หนังตลกธรรมดา หากแต่ยังสื่อให้เห็นถึงความหลากหลายทางความคิดความรู้สึกต่อสิ่งต่าง ๆ ของผู้คน ในสังคมปัจจุบัน อีกด้วย

ไอ้สัญญะที่พูดถึง นี่ไม่ได้เป็นเรื่องของถ้อยคำ ภาษาอย่างเดียว หากแต่ยังหมายถึง วัตถุ รูปลักษณ์ กลิ่นเสียง สิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฎอยู่รอบตัว ที่พอคนรับพบเห็นแล้วเกิดการตีความตามประสบการณ์การหล่อหลอมตั้งแต่วัยเด็กนั่นเอง

ยกตัวอย่างเช่น "ตำรวจ" ก็เป็นสัญญะ ในลักษณะหนึ่ง ที่คนแต่ละคน อาจมีความรู้สึกต่าง กันไป

บางคนที่เคยมีประสบการณ์ถูกกระทำโดยตำรวจไม่ดี พอได้ยิน ได้เห็นสัญญะหรืออะไรที่เป็นตำรวจ ก็ย่อมมีความรู้สึกในแง่ลบ

ขณะที่บางคน ที่เป็นลูกเมีย ตำรวจ หรือคนที่ไม่เคยถูกกระทำกดขี่จากตำรวจเลย อาจจะไม่มีความรู้สึกในแง่ลบต่อตำรวจสักเท่าไหร่ ทั้งที่ก็เป็น "สัญญะ" ตัวเดียวกัน

-----------

การตีความ นิยามนามธรรม ในเรื่อง ของแต่ละกลุ่มคน ก็เลื่อนไหล ไม่มีแก่นแกน และแตกต่างกัน

เริ่มตั้งแต่ที่
บางคนอาจตีความ ตอนที่ หลวงพี่โจอี้ไปลาโยมแม่ แล้วโยมแม่เกิด "วูบ" ขึ้นมาจนหลวงพี่ต้องพยาบาลเบื้องต้นนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ควร (อาจจะต้องไปปวารณาอาบัติภายหลังก็สุดแท้แต่) จะผิดมากผิดน้อยก็แล้วแต่การตีควาามของแต่ละคนอีก ด้วยเขาอาจมองว่า การเป็นพระที่ดี นั้น ควรละเว้นการถูกเนื้อต้องตัว "สีกา" โดยเด็ดขาด แม้ว่า สีกาคนนั้น อาจเป็นโยมแม่ที่กำลังป่วย

แต่หลายคนอาจมองว่าไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เหมือนกับที่หนังพยายามจะสื่อว่าการกระทำของหลวงพี่โจอี้นั้นแสดงให้เห็นถึงกตัญญูกตเวทิตา ตอบแทนพระคุณบิดามารดา

หรือว่าการเผยแพร่ธรรมะ หนังเองก็เปิดโอกาสให้ผู้ชมตัดสินใจว่า จำเป็นไหมที่การเทศนาจะต้องเป็นแบบ "แหล่" แบบดั้งเดิม หากว่า การเทศน์ แบบ "แร๊ป" มัน "เข้าถึง" คนฟังในยุคสมัยปัจจุบันมากกว่า


ซึ่งตรงนี้ชวนให้คิดได้ว่า "สัญญะ" มันเลื่อนไหลไปได้ตลอด

หรือแม้แต่ ตอนที่มีประโยคสบถ ในสถานีอนามัยของตัวประกอบที่ว่า "เมื่อไหร่ ไอ้จำลองมันจะตายวะ" ก็เป็นสัญญะที่เปิดกว้างให้คนได้ตีความ อีก ว่าแท้จริงแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ ตั้งใจจะเสียดสีการเมืองในตอนนั้นหรือไม่ หรือว่ามันเป็นแค่เรื่องบังเอิญกันแน่

----------------

ประเด็นการตีความนามธรรมอย่างความสุขในเรื่องก็เป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจ
หลายคน มีความสุขที่จะได้พัฒนาจิตใจ ทางศาสนา การเข้าวัดฟังธรรม ประพฤติคุณงามความดี ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใดก็ตาม

แต่ในขณะที่บางคน
เป็นพ่อค้า ก็ย่อมจะตีความว่า "เงิน" เป็น "สัญญะ" ที่สื่อถึงความสุข และยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งเงิน

แม้ว่าการกระทำนั้นอาจจะไปทำร้ายบั่นทอน สิทธิ์ที่จะมีความสุขของผู้อื่นในชุมชนเดียวกัน
การหมกหมุ่นอยู่กับการตีความ "ความสุข" ในแบบของตัวเอง โดยไม่สนใจว่า จะไปทำร้ายผู้อื่นหรือไม่ จึงจัดได้ว่า เป็นความเห็นแก่ตัวอย่างหนึ่ง

ซึ่งกระบวนการทางสังคม จะมีวิธีการจัดการ กับ ความเห็นแก่ตัจากที่เห็นในหนัง เขาใช้ "ตำรวจ" มาจัดการพ่อค้าหน้าเงินคนนั้น เมื่อมาถึงจุดนี้ การตีความสัญญะที่มีต่อ "ตำรวจ" ก็อาจเลื่อนไหลได้อีก คือต่อให้ใครมีความรู้สึกไม่ดีกับตำรวจมาก่อนยังจะสามารถรู้สึกโล่งใจ ที่ พ่อค้าผู้เห็นแก่ตัวคนนั้นถูกลงโทษตามกฎหมายในท้ายที่สุด





Create Date : 19 พฤศจิกายน 2551
Last Update : 19 พฤศจิกายน 2551 0:23:51 น.
Counter : 4833 Pageviews.

1 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  

เชษฐภัทร
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]



New Comments
All Blog
MY VIP Friend