Raise the Red Lantern: การขับเคี่ยวระหว่างคนมีอำนาจและบารมี
หลาย ๆ ครั้ง ผมเคยตั้งคำถามว่า "อำนาจ" กับ "บารมี" มันต่างกันอย่างไร
ไป ๆ มา ๆ จากเท่าที่สังเกตได้ ดูเหมือนว่าอำนาจจะหมายความถึงว่า หากใครสักคนมีอำนาจ เขาย่อมมี ความสามารถในการที่จะให้ใครทำอะไร หรือไม่ทำอะไรตามที่เขาต้องการ ตัววัดของความมีอำนาจอาจเป็นเงิน การศึกษา หรือตำแหน่งหน้าที่การงาน ในหลาย ๆ ครั้งอาจเป็นอาวุธ หรือ เป็นได้กระทั่ง คนที่ตัวเอง ดูแล เลี้ยงดู อยู่ คือมีลูกน้องบ่าวไพร่บริวาร นั่นเอง

ซึ่งหากพูดึง บริวารหรือลูกน้องที่ผู้มีอำนาจดูแล แล้วตรงนี้ สามารถดึงต่อไปถึงนัยยะ ความหมายของคำว่า "บารมี"

คือ ถ้าใครสักคนมีบารมี แน่นอนหล่ะ ว่าเขาต้องมีอำนาจ อาจจะด้วยฐานะการเงิน ตำแหน่งหน้าที่การงาน แต่คนมีอำนาจ ก็ไม่ใช่ว่าจะมีบารมีไปเสีย ทุกคน

คนที่มีบารมี คือ คนที่ได้ให้ความช่วยเหลือผู้อื่น คือ พูดง่าย ๆ ว่า ผู้ที่อยู่ในฐานะด้อยกว่ามักจะมาอาศัยขอความช่วยเหลือ เพราะผู้มีอำนาจนั้น อยู่ในฐานะที่จะคุ้มภัยอันตรายได้ เมื่อผู้มีอำนาจ ได้ให้ความช่วยเหลือ ชีวิต เลี้ยงดูแล ผู้คนมากขึ้น นั่นย่อมเป็นการสั่งสมบารมี และในทางตรงกันข้าม ผู้ที่เข้าไปอาศัยบารมี ของคน ๆ นั้น ก็ตอบแทนด้วยการรับใช้อย่างซื่อสัตย์ภักดีเช่นกัน

หากจะยกตัวอย่างที่จับต้องได้ง่าย ในยามที่ผู้มีอำนาจสักคนทำอะไรสักอย่างผิดพลาดหรือทำเลวขึ้นมา ถ้าคนมารุมด่า หรือรุมซ้ำเติมอีกทั้งยังจ้องหาโอกาสจะรุมเหยียบ เพราะผู้คนไม่ได้เคารพไม่ได้รัก ในตัวเขา แสดงว่าคนนั้นสักแต่ว่ามีอำนาจ แต่บารมีอาจยังไม่ถึงขั้น

ในทางตรงกันข้าม เมื่อใด ที่ใครสักคนกระทำการอะไรที่ผิด แต่ว่า ก็ไม่ค่อยจะมีคนไปด่า และ/หรือ ถึงมีคนรู้ว่า ผู้มีอำนาจคนนั้นทำผิด เขาก็จะแสร้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นเสีย เพราะรัก เคารพ และเกรงใจคนนั้น ๆ ในที่สุดผู้คนทั้งหลายก็จะไม่พยายามพูดถึงความผิดที่ผู้นั้นกระทำอีกเลย
เมื่อเกิดภาวะเช่นนี้ขึ้นแสดงว่า คน ๆ นั้นไม่ได้มีแค่อำนาจ แต่ยังมีบารมีด้วย


-------------------------

ผมดูหนังเรื่อง Raise the Redlantern ของ จาง อี้ โหม่ว แล้วอดนึกถึงเรื่อง การแก่งแย่งอำนาจในครอบครัวใหญ่ของสังคมจีนไม่ได้

ภาพยนตร์เรื่องนี้ พูดถึงครอบครัว ครอบครัวหนึ่ง ในยุคขุนศึกของประเทศจีน ซึ่งก็คงอยู่ราว ๆ ปี ค.ศ. 1920

หญิงสาววัยสิบเก้าปีคนหนึ่ง ชื่อว่า ซ่งเหลียน เรียนไม่จบมหาวิทยาลัย และต้องไปเป็นเมียน้อย คนที่สี่ ของสกุลเฉิน

เจ้าของบ้านคือ คุณเฉิน มีภรรยา สี่คน ในแต่ละคืน เขาจะเป็นคนเลือกว่า จะเข้าไปนอนในบ้านภรรยาคนไหน ที่น่าสนใจก็คือ บ้านสกุลเฉิน จะมีพิธีเลือกภรรยาของเจ้าบ้าน คือก่อนจะเข้านอน จะต้องให้ภรรยา มายืนหน้าบ้านของตัวเอง แล้วให้ คุณเฉินเป็นคนเลือก
ถ้าเขาเลือกใคร ก็จะมีการส่งหมอนวดไปนวดฝ่าเท้าให้ภรรยาคนนั้นสบายเท้า และจุดโคมไฟ ที่บ้านภรรยาคนนั้นให้สุกสว่างที่เรือนหลังนั้นตลอดทั้งคืน

เห็นแบบนี้แล้ว ก็คงคาดการได้ไม่ยากว่า คงจะต้องการแก่งแย่งชิงดีกันระหว่างภรรยาทั้งสี่คนแน่

การที่คุณเฉินมานอนค้างคืนกับภรรยาคนใดคนหน่ง มันไม่ได้แสดงถึงแค่ความรุ้สึกผ่อนคลายจากการได้นวดเท้าเท่านั้น แต่ยังแสดงถึง "อำนาจ" ซึ่งผู้มี "อำนาจและบารมี" ในครอบครัวที่เลี้ยงบ่าวไพร่มากมายกำลังมอบให้ภรรยาคนนั้น

ในภาพยนตร์ เราจะได้เห็นกลเม็ด การต่อสู้ช่วงชิง ของบรรดาภรรยาทั้งสี่คน ซึ่งต่างคนต่างก็มีกลวิธี เสน่ห์เล่ห์พรายเป็นของตัวเอง มาถึงตรงนี้แล้วผมยิ่งต้องนึกถึงคำพูดของ Michel Foucault ทีว่า "When there's an exercise of power, there is a resistance to it" คือเมื่อใดก็ตามที่มีการใช้อำนาจ เมื่อนั้นก็จะมีการต่อต้านการใช้อำนาจนั้นเสมอ

การที่เจ้าของบ้านเลือกจะไปค้างคืนกับใคร และ เลือกที่จะไม่ค้างคืนกับใครอีกสามคนในคราวเดียวกัน นั้นมันย่อมเป็นการใช้อำนาจ ที่ ต้องมีคนได้ และ มีคนเสียประโยชน์

คนที่เสียประโยชน์ก็คงยอมไม่ได้ และจะต้องดิ้นรนต่อสู้ให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตัวเองต้องการ แม้กระทั่งสาวใช้ซึ่งไม่น่ามีเอี่ยวอะไรกับคุณนายทั้งสี่ ก็ยังขบถ ต่อต้านกลไกอำนาจที่ถูกจัดระบบไว้แล้ว ด้วยการดื้อรั้นต่อบทบาทและหน้าที่ของความเป็นสาวใช้ของตัว ริ จะฝันเป็นคุณนาย

เรื่องของเรื่องก็คือว่าถ้าให้คุณนายทั้งสี่ มาขับเคี่ยวต่อสู้กันเอง มันก็ยังดูพอสมน้ำสมเนื้ออยู่ แม้ว่าสุดท้ายแล้วมันก็เป็นการ่ช่วงชิงอำนาจ เพื่อให้ได้มาซึ่งการตกอยู่ใต้อำนาจของคุณชายเฉิน คือผู้เป็นใหญ่ในบ้าน ซึ่งทำอะไร ก็ถูกเสมออยู่วันยังค่ำก็ตาม

แต่ทว่าการดิ้นรนของคุณนายทั้งสี่ ก็ต้องระมัดระวัง การพลาดพลั้งแม้เพียงจังหวะก้าวอาจทำให้เธอต้องเจ็บเสียยิ่งกว่าเจ็บ เพราะอำนาจที่เธอมีอยู่ในฐานะคุณนายนั้นมันไม่ได้มีอะไรการันตี ว่าจะคงอยู่เช่นนั้น และอาจจะถูกริบคืนไปจากผู้ทรงอำนาจและบารมีที่แท้จริงเมื่อใดก็ได้

เนื้อเรื่องของ Raise the Red Lantern ที่เป็นเรื่องราวการดิ้นรนต่อสู้กับอำนาจของผู้ที่เหนือกว่าอย่างนี้ ชวนให้ผมนึกถึงงานของ จาง อี้ โหม่วที่ทำออกมาใน ยี่สิบปีให้หลังอย่างเรื่อง Curse of Golden Flower ที่คนในครอบครัว คือในระดับราชวงศ์ของจักรพรรดิ์จีน พยายามจะดิ้นรนทำตามสิ่งที่หัวใจตัวเองต้องการ ตั้งแต่การผิดลูกผิดเมีย ไปจนถึงขั้นคิดกบฏต่อจักรพรรดิ์

แม้ว่าการท้าทายอำนาจจักรพรรดิ์ในเรื่อง Curse of Golden Flower จะมีการเตรียมการมาดีแค่ไหน สั่งสมพลกำลังทหารและวางแผ่นอย่างไร แต่สุดท้าย ก็พ่ายแพ้ ต่อผู้มีอำนาจและบารมีตัวจริง คือ องค์จักรพรรดิ์ อยู่ดี


----------------

เรื่องการดิ้นรนต่อสู้ระหว่างผู้ที่มีอำนาจ (แต่อาจจะไม่มีบารมีพอ?)อย่างในหนังเรื่องนี้ ทำให้ผมต้องโยงมาถึงการเมืองในประเทศบางประเทศซึ่งเราก็รู้ ๆ กันอยู่

แม้ว่าบางครั้ง เงินทอง ตำแหน่งแห่งที่ในการบริหารประเทศที่ใครหลาย ๆ คนได้รับมานั้น ก็อาจแสดงให้เห็นถึงอำนาจตนได้ในระดับหนึ่ง แต่เรื่องบารมี และศรัทธาของผู้คนนั้น มันเป็นเรื่องที่ไปไกลกว่าอำนาจมาก ๆ และต้องใช้เวลา สั่งสมนานมาก

หากว่าใครจะกล้าลุกขึ้นมางัดข้อ โดยไม่ดูตาหม้าตาเรือ โอกาสที่จะเข้าอีหรอบเดิม คืออารมณ์ว่าถ่มน้ำลายรดฟ้า สุดท้ายน้ำลายมันก็ร่วงมารดหน้าตัวเองก็มีสูงเสียยิ่งกว่าสูง



Create Date : 01 กันยายน 2552
Last Update : 1 กันยายน 2552 13:08:44 น.
Counter : 2841 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

เชษฐภัทร
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]



New Comments
All Blog
MY VIP Friend