ความเป็นจีนหรือความเป็นไทย: จดหมายจากเมืองไทยของโบตั๋น
"จดหมายจากเมืองไทย" เป็นหนังสือ"หนึ่งร้อยเล่มที่คนไทยควรอ่าน"
มาเป็นตัวบทเสริมให้นักศึกษาได้อ่านกันก็คือเรื่อง "จดหมายจากเมืองไทย" ของ โบตั๋น

นวนิยายเล่มนี้กล่าวถึงชีวิตชาวจีนโพ้นทะเล ที่มาเติบโตสร้างเนื้อสร้างตัวทางธุรกิจ และชีวิตครอบครัวในเมืองไทย เมื่อราวหลังน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพ พ.ศ. 2485

ตอนท้าย ๆ เล่มที่เมืองไทยน่าจะอยู่ในช่วง จอมพล สฤษดิ์ เพิ่งถึงแก่อสัญกรรม ผู้อ่านจะได้อ่านความคิดตัวละครตัวหนึ่งที่วิพากษ์วิจารณ์ "อัตลักษณ์ความเป็นชาติ" แล้วรู้สึกอดไม่ถามไม่ได้ ว่ามันคล้าย ๆ กับแนวคิดของนักคิดหลังอาณานิคมหลาย ๆคนที่ครั้งหนึ่งผมเคยท่อง ๆ แบบหลับหูหลับตาไม่รู้ว่าไอ้คำใหญ่ ๆ เหล่านั้น มันคืออะไร

คล้าย ๆ ว่าโบตั๋นจะเชื่อว่า อัตลักษณ์ เมื่อปะทะกัน ย่อมปนเปื้อน และหล่อเลี้ยง ประกอบสร้างกันขึ้น อัตลักษณ์ไม่ว่า "ความเป็นไทย" หรือ "ความเป็นจีน" ก็ไม่แข็งทื่อตายตัว แต่เปลี่ยนแปลงตลอด

ฉะนั้นการไปจำแนกแยกแยะ แล้วสรุปว่า คนจีนต้องเป็นอย่างนั้น หรือคนไทยต้องเป็นอย่างนี้ จึงเป็นวิธีการมองโลกที่ง่ายเกินไป ในความเป็นจริง เราไม่สามารถสรุปอะไรแบบเหมารวมได้ เหมือนกับที่ตัวละครเอกที่มักเหมารวมว่าคนไทยต้องเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ท้ายที่สุดเขาก็เรียนรู้ว่า จะให้ไปสรุปแบบนั้น แล้วเหมารวม อาจจะไม่เหมาะเสียทีเดียว

อ่านอย่างนี้แล้วเห็นภาษาของ Gayatri Spivak ลอยมาในหัวคือ อัตลักษณ์มีลักษณะ ที่ต้องแสดงและผลิตขึ้นใหม่อยู่เรื่อย (performativity) แถมยังมีความแตกต่างหลากหลายรายละเอียดยิบย่อยอีก



Create Date : 01 พฤษภาคม 2555
Last Update : 1 พฤษภาคม 2555 7:54:16 น.
Counter : 1084 Pageviews.

1 comment
็How To Talk To Anyone: หัวข้อสนทนาไม่ได้กำหนดประเด็นทะเลาะ
เขาว่ากันว่าหนังสือเรื่อง How to Talk to Anyone ของ Leil Lowndes เล่มนี้มีเนื้อหาที่เกี่ยวเนื่องกับ How to Win Friends and Influence People ของ Dale Carnegie

ทั้งสองเล่มต่างแนะนำวิธีการพูดให้ "เข้าหู" คน อย่างผมจำได้ว่า Dale Carnegie บอกว่า ไม่ควรพูดขัดกับคู่สนทนา แม้ว่าเขาจะพูดผิดอย่างไรก็ตาม

ในทำนองใกล้เคียงกัน Leil Lowndes บอกว่า ถ้าไม่อยากขัดแย้งกับคู่สนทนา ให้หลีกเลี่ยงหัวข้อที่เกี่ยวกับการเมือง และศาสนา เพราะอ่อนไหวมาก

แล้วให้หันมาชวนสนทนาเรื่อง "ธรรมชาติ ดินฟ้า อากาศ" แทน โอกาสจะผิดใจ หรือพูดอะไร ไม่เข้าหู มันจะลดน้อยถอยลง

ส่วนตัวแล้ว ผมมองว่า หนังสือ How To ไม่ใช่คำตอบท้ั้งหมด เพราะบางที บางครั้ง มันใช้กับชีวิตจริง สถานการณ์จริงไม่ได้ เรื่องของเรื่องประสบการณ์ การพูดคุย หรือเข้าอกเข้าใจคนอื่น เอาใจเขามาใส่ใจเราจึงสำคัญเป็นพิเศษ

โดยเฉพาะในยุคที่ข้อมูลข่าวสาร "ล้น" ทำให้มีช่องทางกระตุ้นความอยากสื่อในสิ่งที่คิดหลากหลายขึ้น จนห้ามใจไม่ทัน บางที แม้จะไม่พูดการเมือง แล้วหันไปพูดเรื่อง "ดินฟ้าอากาศ" โอกาสที่จะมีการสื่อสารผิด หรือเกิดข้อขัดแย้งก็มีมากอยู่พอ ๆ กับการสนทนาเรื่องการเมือง หากว่าผู้พูด "ไม่ระมัดระวัง" ให้พอ

ในขณะที่กับคนบางคน ต่อให้คุยเรื่องการเมืองซีเรียสแค่ไหน หรือเห็นไม่ตรงกันแค่ไหน เขาก็ไม่โกรธ

ในทางตรงกันข้าม ยิ่งจะเป็นการสร้างเพื่อน หากการพูดคุยนั้นเป็นสุนทรียสนทนา แลกเปลี่ยนความเห็นอย่างกัลยาณมิตร มีความอดกลั้นต่อความเห็นต่าง (toleration) ถนอมน้ำใจกันและกัน สมกับเป็นบัณฑิตผู้ได้ชื่อว่าได้รับการฝึกตนมาเป็นอย่างดีแล้ว

ประเด็นที่สำคัญกว่า สิ่งที่หนังสือทั้งสองเล่ม แนะนำ อาจไม่จำกัดอยู่ที่ว่า เรากำลังคุยเรื่องอะไร จะเป็นเรื่องการเมือง หรือดินฟ้าอากาศ ก็ไม่เกี่ยว

หากแต่สิ่งที่ต้องตระหนักยิ่งกว่า คือ "เรากำลังคุยอยู๋กับใคร" เขาเป็นคนอย่างไร ถ้าเรารู้จัก และใส่ใจคนที่เรากำลังคุยด้วย ความระมัดระวัง ในเนื้อหาสาระ อาจจะตามมาเอง

สุดท้าย แม้จะอ่านหนังสือมายืดยาวก็จำได้ไม่หมด ปฏิบัติจริงไ่ม่ได้

จนต้องกลับไปที่คำสอนแบบเก่า ๆ สั้น ๆ ที่ได้ใจความว่า "อยู่คนเดียวระวังความคิด อยู่กับมิตรระวังวาจา" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารล้น และ รวดเร็ว แบบในยุคนี้



Create Date : 21 เมษายน 2555
Last Update : 21 เมษายน 2555 5:24:44 น.
Counter : 663 Pageviews.

0 comment
ลับแลแก่งคอย: แว่นตาที่มนุษย์ใช้ส่องมองปรากฏการณ์
เคยมีผู้รู้สาธยายความให้ผมฟังว่า มนุษย์เรา เวลาจะอธิบาย ปรากฏการณ์อะไรซะอย่าง ไม่ว่าเขาจะใช้ ทฤษฏี หรือเล่าแบบชาวบ้านก็ตามแต่

วิธีการที่เขาเล่านั้น มันก็เปรียบเสมือน "แว่นตา" ทีมีสีสันแตกต่างกันออกไป

หลายคนเล่าเรื่องเดียวกัน อาจได้มุมมองหลายมุม ด้วยแว่นตา หลายสี มันขึ้นอยู่กับว่าคนเล่าเป็นใคร มีปูมหลังอย่างไร และยืนอยู่ข้างไหน


และคนฟังเองจะเลือกเชื่อคนเล่าแบบไหน ด้วยแว่นสีอะไร แค่ไหน
ประเด็นที่ว่าคนฟังเองเป็นใคร อยู่ในสถานะอะไร กับผู้เล่า นั้นก็สำคัญด้วยเช่นกัน

เช่น

นาย เอ ทะเลาะ กับ นายป๋อง
พอนายเอ ไปเล่าให้เพื่อน-ของเขาฟัง นาย เอ ก็ต้องเล่าให้ตัว นายเอ ดูดี โดย เลือกที่จะเลือกเล่า แต่เฉพาะความเลวของนายป๋อง และ "ละไว้" ไม่กล่าวถึง มูลเหตุ หรือความผิดที่ตัวเองทำให้เพื่อนนายเอฟัง

ทำยังไงก็ได้ให้ตัวนาย เอ ดูน่าสงสาร และน่าเห็นใจที่สุด

เพื่อนของนายเอ ก็รู้จักนาย เอมากกว่าเป็นทุนเดิม อยู่แล้ว ยิ่งนาย เอ เล่าการวิวาทให้ฟังแบบนี้

เพื่อนนายเอ ก็ต้องเชื่อ นายเอ อยู่วันยังค่ำ

นั่นหมายความว่า เพื่อนนายเอ "ชอบ" และเลือกมองเหตุการณ์ตาม "สีแว่น" ที่นายเอ เอามาให้ เขาใส่ตาเรียบร้อยแล้ว
ฉะนั้น เพื่อนนาย เอ ก็จะ มองการวิวาท นั้นและตัดสินความ เป็นสีแว่นอย่างนั้น อาจผิดเพี้ยน ได้ตาม มุม และองศา ที่ตัวเพื่อนอยู่ หรือไม่ มันก็ขึ้นอยู่กับว่า เพื่อนของ นาย เอ. คนนั้น มีความยับยั้งชั่งใจและวิจารณญาณแค่ไหน

-----------

ผมอ่านนวนิยายรางวัลซีไรต์ ปี 2552 เรื่อง "ลับแลแก่งคอย" แล้ว นอกจากจะทำให้ผมนึกถึงหนังเกาหลี เรื่อง "ตู้ซ่อนผี" ที่หลอกคนดูตั้งแต่ต้น แต่ตอนจบกลับหักมุมได้อย่างสนุก

นวนิยายเล่มนี้ยังทำให้ผมย้อนนึกถึงเรื่องราวชีวิตในวัยเด็กของผมเอง โดยเฉพาะเรื่องเล่าของตัวละครเอกของเรื่องที่เหมือนจะลึกลับพิศวง เกี่ยวข้องกับโลกวิญญาณ

ผมก็ยิ่งนึกถึงประสบการณ์ ที่เคยเจอ ในขณะที่ใช้ชีวิตช่วงวันหยุดปิดเทอมอยู่ในวัดป่าแห่งหนึ่ง อย่างที่ตัวละครเอกกำลังเล่าด้วยเช่นกัน

ปรากฏการณ์วันนั้นผมจำได้แม่นยำ
ด้วยอายุ 13 ปี ผมบวชเป็นเณรอยู่ที่วัดในชนบทของภาคอีสานแห่งหนึ่ง

วันนั้นเป็นวันสงกรานต์ ลูกหลานชาวบ้านที่ไปทำงานในกรุงเทพ ก็จะกลับมาเยี่ยมเยียนพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย

หลายคนพาคู่ชีวิต ซึ่งเป็นคนต่างถิ่น มาเยี่ยมพ่อแม่ ซึ่งเป็น "พ่อออกแม่ออก" โยมที่มาวัดในวันพระ ด้วย

ปรากฏการณืที่ผมและ เพื่อนเณรอีกสองสามคนเจอวันนั้น คืออาการของคน ๆ หนึ่ง สามีเป็นคนในหมู่บ้าน แต่ตัวเธอเป็นคนภาคกลาง
ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า ตลอดทั้งวันในวันนั้น เธอออกเดินทางจากกรุงเทพ เพื่อมาภาคอีสาน
หลังจากนั่งรถมาถึงหมู่บ้าน เธอก็หลับไป
แต่พอเธอตื่น ขึ้นมากลับพูดจาไม่รู้เรื่อง ตาขวาง ลุกขึ้น ด่าท่อ คนอื่น ไปหมด ชาวบ้านต้องพากันช่วยจับมาวัด มาหาหลวงปู่เจ้าอาวาส

แม้มาถึงกุฏิเจ้าอาวาส แล้วหญิงผู้นั้น ก็ยังมิวายออกอาการขัดขืน ตาขวาง พูดด้วยน้ำเสียงแข็ง

พอหลวงปู่เจ้าอาวาส บอกให้เธอ "กราบพระตี้หละ" เธอก็ไม่กราบ ปฏิเสธเสียงแข็ง ตาขวาง

จนชาวบ้านที่หิ้วปีกมา ต้องเอามือขืนคอ จับมือเธอ แล้วทำท่ากราบ

พอก้มลงกราบทั้งฝืนเสร็จเท่านั้น

น้ำเสียงเธอเปลี่ยนไป
แล้วหันไปหาสามี ด้วยสำเนียงภาษาไทยภาคกลางว่าพลางถามว่า "ที่นี่ที่ไหนหรือพ่อ"

พอเธอได้สติเช่นนั้น
หลวงปู่ก็พาเธอไหว้พระสวดมนต์ อาราธนาพระรัตนตรัยและก็รดน้ำมนต์
เสร็จสิ้นพิธี ทุกคนก็กลับบ้านแบบ แฮปปี้เอ็นดิ้ง

-------------



ถ้าไปถามชาวบ้านหรือพระเณรที่เฝ้าดูเหตุการณ์ทั้งหมดในเวลานั้นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นคืออะไร

แน่นอน หละ คำตอบที่ได้มันต้องเป็นรูปแบบหนึ่ง ซึ่งคุณและผมที่เกิดขึ้นมาในวัฒนธรรมอย่าง อาจจะคิดไปในทำนองเดียวกัน นั่นหมายความว่า คุณและผม ใส่แว่นในสีที่คล้ายกันมองปรากฏการณ์นี้แล้ว

แต่ ในทางตรงกันถ้าคุณเอาเรื่องนี้ ไปเล่าให้จิตแพทย์ หรือคนอื่น ที่มีปูมหลังการศึกษา ความเชื่อแบบอื่น พวกคุณก็จะได้คำอธิบาย ปรากฏการณ์นั้น ๆ ต่างกันออกไป ก็แปลว่า คนที่เชื่อ หรือได้คำอธิบายแบบอื่น ใส่แว่นในสีอื่น มองปรากฏการณ์ คนที่เอะอะโวยวาย พูดจาไม่รู้เรื่องนั่น

เพราะฉะนั้น ก็เป็นอย่างที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น
ผู้ฟัง "เรื่องเล่า" หรือแม้จะไม่ใช่แค่ผู้ฟัง เพราะบางทีก็หมายรวมถึงผู้ร่วมประสบเหตุด้วยกับตาตัวเองก็ตาม จึงต้องชั่งใจให้จงหนัก ว่าจะใช้ "แว่นตา" สีใด มาใช้มองและพิจารณาปรากฏการณ์นั้น

และแว่นตาสีนั้นและ ก็จะกรอง ปรากฏการณ์นั้นเป็นคำอธิบาย และเล่าต่อให้ผู้อื่นฟังอีกต่อหนึ่ง

---------------------------------------------

นวนิยายเรื่อง "ลับแลแก่งคอย" เริ่มต้นด้วยการเล่าเรื่องของเด็กหนุ่มกำลังจะเข้าสู่วัยรุ่นคนหนึ่ง ตั้งแต่ต้นเรื่อง จนเกือบจบเรื่อง ทุกสิ่งทุกอย่างเล่าผ่านแง่คิดมุมมอง ของเด็กคนนั้นคนเดียว และผมก็แทบเชื่อไปเลยว่า ผู้อ่านหลายคน ก็ "อิน" กับ ลีลาและยุทธวิธีการเล่าของผู้เล่า

จนบางครั้งอาจลืมไป ว่า "ปรากฏการณ์" มันไม่ใช่เหรียญที่มี แค่ "สองด้าน"
หากแต่ว่าเราสามารถมองได้หลายด้าน หลายวิธี

ขึ้นอยู่กับว่า คุณมองเหตุการณ์เหล่านั้น ด้วยอคติแบบใด มองมาจากมุมไหน และใช้ "แว่นตา" สีอะไรมองมัน

แล้วตอนจบ คุณก้อาจจะได้คำอธิบายปรากฏการณ์ที่เพิ่มมากขึ้น



Create Date : 27 ตุลาคม 2553
Last Update : 28 ตุลาคม 2553 0:04:13 น.
Counter : 434 Pageviews.

3 comment
ก่อกองทราย โดยไพฑูรย์ ธัญญา
ผมอ่านหนังสือชุดรวมเรื่องสั้น "ก่อกองทราย" ของ "ไพฑูรย์ ธัญญา" จบ แล้วเกิดความรู้สึกประทับใจ และก็มีอารมณ์ "คึก" อยากจะลงมือลงไม้ลงมือหัดเขียนเรื่องสั้นกับเขาบ้างให้ได้

ตรงนี้ เป็นเรื่องแปลก ด้วยเพราะถ้าจะให้สารภาพตามตรง กลวิธีการเล่าเรื่องของนักเขียนเรื่องสั้นคนอื่นอย่างวินทร์ เลียววาริณ นั้นค่อนข้างจะถูกจริต หรือ "โดน" กับรสนิยมของผมมากกว่า แต่ เืรื่อง "ก่อกองทราย" ที่บอกเล่าสภาพชีวิตชนบทปักษ์ใต้ (ถ้าให้เดา ๆ น่าจะเป็นแถว ๆ พัทลุงหรืออำเภอบางอำเภอในสงขลาน่าจะได้) กลับทำให้เกิดความรู้สึกพวยพุ่ง อยากจะลงมือเขียนเรื่องของผมเองมันเสียเดี๋ยวนี้ได้มากกว่า

เหตุ ที่เป็นเช่นนั้นน่าจะเป็นเพราะความรู้สึก "โหยหาในสิ่งที่ผมไม่อาจมี" นั่นก็คือ การสัมผัสวิถีชีวิตแบบคนภาคใต้ แล้วนำเอาแนวคิดเล่าเรื่องสั้นแบบท้องถิ่นมาผสมผสานกับประสบการณ์ที่ผมมี อยู่แล้ว นั่นก็คือประสบการณ์ในวัยเด็กที่เติบโตขึ้นมาในภาคอีสาน

คน หน้าอย่างผมเนี่ย เดินไปไหนมาไหน ใคร ๆ ก็รู้เลยว่าเป็นคนใต้ แน่ ๆ ยิ่งไปเดินแถวราม ขี้คร้าน จะมีคนมา "แหลงใต้" ใส่หน้า หารู้ไหมว่า ว่าผมฟังไม่ค่อยออก และพูดไม่เป็นเลย เพราะ ชีีวิตทั้งชีวิต ใช้เวลา อยู่ในพื้นไม่ถึง สิบเดือน คือเกิดที่อุบลก็จริง แต่พออายุได้เดือนสองเดือน ก็ต้องลงไปอยุ่ทีหาดใหญ่เสียแล้ว จากนั้นมาก็วนเวียน อยู่ระหว่าง ชุมพรหาดใหญ่ แล้วพออายุได้หนึ่งขวบ ก็ย้ายมาอยุ่อีสาน จนผ่านไปยี่สิบห้ายี่สิบหกปีนี่แหละครับ

บัดนี้ พูดอีสานคล่องปรื๋อ เรียกว่ากลายเป็นคนอีสานหน้าตาปักษ์ใต้ไปเสียแล้ว

แต่ ในช่วงปีสองปีนี้ ผมมีโอกาสได้ไปภาคใต้แม้จะเป็นครั้งคราวแต่ก็บ่อยขึ้น พอได้พูดได้คุยกับชาวบ้านแล้วรู้สึกว่าอยากหัดพูดภาษาใต้บ้าง เพราะภาษาเพราะ โดนใจ และถูกกับบุคลิกน้ำเสียงการพูดของผมเสียเหลือเกิน เหมือนมันมีเสน่ห์ มาตรึงใจกับคนอย่างผมอย่างไรก็บอกไม่ถูก

--------------------



อย่าง ที่กล่าวไปแล้วว่า ฉากของเรื่องสั้น "ก่อกองทราย" น่าจะอยู่ในพื้นที่ชนบทของเมืองพัทลุง ผมอ่านแล้วรู้สึกประทับใจในความ นำเสนอเรื่องราวของผู้คนในท้องถิ่น แล้วก็แอบคิดในใจว่า น่าจะมีคน นำเรื่องราวในภาคอีสานมาเขียนเป็นเืรื่องสั้นเช่นนี้บ้าง ยิ่งถ้ามีกลวิธีการเล่าเรื่องที่มีกลเม็ด เด็ดพราย การเล่าผ่านมุมมองแนวคิดในรูปแบบของการนำเสนอให้เห็นถึงกระบวนการสร้างความ หมายและอัตลักษณ์ของคนพื้นถิ่นได้ก็คงดีไม่หยอก

น่าเสียดาย ที่ผมไม่มีความาสามารถจะทำอะไรแบบนั้น คงได้แต่เป็นนักฝันหวานและอยากเขียนต่อไป แต่ถ้านักเขียนท่านอื่นท่านใด สามารถทำได้จริง การผสมผสานอัตลักษณ์ของภูมิภาคด้วยการเล่าผ่านมุมมองตะวันตกเช่นนี้ ก็คงจะเป็นนวตกรรมที่สุดยอดของวงการงานเขียนเลยทีเดียว

-----------------------------

จริงๆ แล้ว ถ้าได้อ่านเรื่องหลายเรื่องในก่อกองทราย คนต่างถิ่นอาจต้องใช้จินตนาการนิดหน่อย เพราะไม่คุ้นกับบรรยากาศแวดล้อม ทั้งการชนวัว นกเขา เรือหาปลา พูดไปก็คงจะทำนองเดียวกันกับ ที่ผมต้องพยายามนึกภาพหาข้อมูล เวลาที่อ่าน "เสเพลบอยชาวไร่" ของ รงค์ วงษ์สวรรค์ หรือ คนอื่นที่ไม่ใช่คนอีสาน เวลา อ่าน "ลูกอีสาน" ของ คำพูน บุญทวี นั่นแหละ

เรื่องที่ผมชอบที่สุดในหนังสือเล่มนี้ ก็คือ เรื่องสั้นก่อกองทราย ซึ่งเป็นชื่อเดียวกันกับหนังสือเอง เหมือนผู้เขียนจะระบุในคำนำไว้ว่า เคยมีคนบอกว่า การเขียนหนังสือของเขานั้นเปรียบเสมือนกับเด็กเล่นกองทรายอยู่ริมน้ำ คือ ก่อมาเป็นรูปเป็นร่างอะไรขึ้นมา ไม่ช้าไม่เร็ว น้ำก็มาเซาะ จนกองทรายพังไปอยู่ดี

กระนั้นก็ดี จากที่สังเกตในเรื่องสั้น เด็กน้อยผู้นั้น ก็ยังคงมุมานะที่จะก่อกองทรายอยู่ต่อไป แม้ว่าน้ำจะเซาะมาพังกี่ครั้งต่อกี่ครั้งก็ตาม เด็กคนนั้นกะจะก่อให้สูงเทียมวัดเทียมโบสถ์โน่นที่เดียวเชียวหล่ะ

ผม อ่านถึงตรงนั้น แล้วรู้สึก "โดน" มาก ๆ เพราะ ถ้าเปรียบนักเขียน เหมือน เด็กเล่นกองทราย ก่อปราสาททราย แล้วโดนน้ำกัดเซาะ จนปราสาททรายพังอยู่เรื่อย ๆ ชีวิตการหัดเขียนของผม ก็คงไม่ต่างอะไรเท่าใดนัก

จริงอยู่ว่า หลายครั้งหลายหนที่อาจจะมี คนเห็นคุณค่า แต่ ก็มีอีกไม่รู้ต่อกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ที่โดนคนสบประมาท ว่า "เขียนไ่ม่รู้เรื่อง" บ้าง หรือไม่ก็ ไล่ให้กับไปเรียนวิชาหัดเขียระดับพื้นฐาน" อะไรต่อมิอะไรบ้าง ยิ่ง เวลาที่เขียนกวี แล้วยิ่งโดนหนัก

และผมก็เชื่อ ว่านักเขียน หรือกวี หลาย ๆคนก็อาจจะเจอ ช่วงเวลาคล้าย ๆ อย่างนี้ แต่ ผมยังเชื่อว่า นักเขียนหรือกวี อีกหลาย ๆ ่ท่านนั้นจะยังคงสร้างสรรค์งานของตัวเอง ไม่ว่าจะโดน ใครเหยียดหยาม หรือ จะถูกมองข้าม แค่ไหน ด้วยฉันทาคติ ในการศึกษา พัฒนาทักษะการเขียนต่อไปอย่างสมำ่เสมอ

เหมือนกับ กองทรายของเด็ก ๆ ที่แม้ว่า มันจะโดนน้ำกัดเซาะ แค่ไหน แต่ถ้าคนก่อมีความพยายาม หมั่นคิดตรึกตรอง ฝึกฝนแก้ไข ปรับปรุง สักวัน มันจะสูงเทียมวัดเทียมโบสถ์ได้เหมือนกัน



Create Date : 21 ธันวาคม 2552
Last Update : 21 ธันวาคม 2552 13:55:26 น.
Counter : 2502 Pageviews.

5 comment
ลูกอีสาน โดย คำพูน บุญทวี
จำได้คับคล้ายคับคลาว่า ผมได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับวรรณกรรมเรื่อง "ลูกอีสาน" ครั้งแรกตอนอายุ 8 ขวบ วันนั้น ผมกำลังดูโทรทัศน์ดูรายการเกมส์โชว์ ในช่วงบ่ายวันเสาร์อยู่ ด้วยความไม่ใส่ใจกับเสียงโฆษณาในระหว่างเกมส์โชว์ตอนสุดท้ายว่าถัดไปจะเป็นภาพยนตร์เรื่อง "ลูกอีสาน" ผมก็ดันฟัง "ลูกปิศาจ" เสียนี่

แต่กระนั้นผมก็ยังเปิดทีวีทิ้งไว้เป็นเพื่อน ในขณะที่ตัวเอง ก็นั่งเล่น เรียงหุ่นพลาสติกรูปสิงสาราสัตว์ของตัวเอง ต่อไปเรื่อย ๆ สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ในตอนนั้น ก็คือ ดาราที่เล่นในเรื่องลูกอีสานที่เป็นภาพยนตร์ในตอนนั้น พูดอีสานสำเนียงชัด และเหมือนจริงทุกคน ซึ่งต่างจากละครช่องสามไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ตอนผมยังเด็ก หรือ วันสองวันก่อนที่ได้ยินมานี้ ที่ดาราเล่นละครรับบทเป็นคนอีสาน แต่พูดสำเนียงไม่เหมือน (แต่ด้วยเหตุผลทางการตลาดหรืออะไรก็แล้ว แต่ ที่คนทำละครจำเป็นต้องใช้ดาราที่พูดอีสานไม่ชัดมาเล่น)

หลังจากนั้น ผมได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับวรรณกรรมเรื่อง "ลูกอีสาน" อีกครั้งก็ตอน มัธยม ที่อาจารย์ภาษาไทยมอบหมายสั่งงานให้อ่านเป็นหนังสือนอกเวลา

และต้องสารภาพเลยว่าผมเป้นคนที่อ่อนภาษาไทยมาก ๆ ตั้งแต่เรียน ม.1 ถึง ม.6 ผมได้เกรด 4 แค่ตัวดียว ก็คือ ม.6 เทอมสุดท้าย ช่วงจะสอบเอ็นทรานซ์ เข้ามหาวิทยาลัยนั่นแหละ นอกนั้น เกรดหนึ่งเกือบตลอด เพราะ ไม่สนใจเรียน และต่อต้าน วิชาภาษาไทย มาก ๆ

ในช่วงที่ต้องอ่านหนังสือเรื่อง "ลูกอีสาน" เป็นหนังสือนอกเวลาก็เหมือนกัน ที่ ตอนผมไปสอบ ผมก็สอบตก และก็ต้องไปสอบแก้หลายต่อหลายหน กว่าจะผ่านมาได้ แล้วไอ้ที่ผ่านมาเนี่ย ก็ผ่านแบบคาบเส้น แถมไอ้คะแนนที่คาบเส้น เนี่ยเป็นเพราะเพื่อน บอก คำตอบ เป็นข้อ มาให้อีกตางหาก อาจารย์ก็รู้ แต่ อาจารย์เขาสงสาร เขาเลยให้ผ่าน ๆ ไปอย่างงั้นอย่างงั้น

-------------------

จนมาสมัยที่เรียนระดับปริญญาตรี ในวิชาภาษาไทยตัวแรก ๆ ที่นิสิตชั้นปีที่หนึ่งทุกคนต้องเรียน อาจารย์ที่สอน ได้กล่าวไว้ว่าหากใครจะเป็น "นักเขียน" ที่ดี เขาผู้นั้นจะต้องเป็น "นักอ่าน"ที่ดี ให้ได้เสียก่อน

ว่าแล้วท่านอาจารย์ก็ยกตัวอย่าง คำพูน บุญทวี นักเขียนซีไรต์ผู้นี้ทำงานอยู่ในห้องสมุดมานับสิบปี ทำให้เขามีโอกาสได้อ่านหนังสืออยู่ทุกวัน จนกระทั่งสามารถเขียนนวนิยายระดับคุณภาพอย่างเรื่อง ลูกอีสาน เล่มนี้ขึ้นมาได้ และในช่วงเวลานั้นเองเป็นช่วงเวลาที่ผมเริ่มจะหัดเขียนหนังสือหนังหากับเขาบ้างแล้ว ยิ่งได้รู้ว่า นวนิยายเล่มนี้ถูกจัดอยู่ในประดาหนังสือ 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน ผมจึงตั้งใจไว้ว่า สักวันจะต้องอ่าน "ลูกอีสาน" ให้จงได้

แต่ก็ยังไม่ได้อ่านเสียที จนกระทั่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมจึงมีโอกาสได้อ่าน สองวันก็อ่านจนจบเล่ม

--------------------

ประเด็นแรกที่ผมประทับใจจากหนังสือเรื่องนี้ ก็คือประเด็นเรืองภาษา
ถึงแม้ว่าคุณแม่ผมจะเป็นคนอุบล และเติบโตที่อีสานมา แต่เพราะคุณพ่อ ไม่ใช่คนอีสาน ที่บ้านจึงพูดภาษาไทยกัน

จะมีได้ยินเสียงภาษาลาวบ้าง ก็ตอนไปบ้านคุณยาย หรือไม่ก็ตอน แม่โมโห นาน ๆ จะมีคำอีสานหลุดมาสักที

ผมฟังอีสานออก แต่พูดไม่ได้เลย จนกระทั่ง ขึ้นชั้นมัธยม ถึงเริ่มพูดอีสานเป็น เพราะ เพื่อนพูดกัน เลยต้องปรับตัว จนบัดนี้ พูดคล่องปร๋อ แล้ว

แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ภาษาอีสานที่ผมรู้จัก มันก็เป็น "อีสานที่กลายพันธุ์" ไปจาก ภาษาของคำพูน บุญทวี พอสมควร ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะ ผมฟังไม่ชัดถนัดถนี่ แล้วก็ไม่ได้เรียนตัวอักษรลาวมา ทำให้ หลายครั้ง "ฟังบ่คัก" จึงได้เสียงที่ผิดเพี้ยนไป ผมได้มารู้มาเข้าใจ ก็ตอนอ่านนวนิยายเรื่องนี้นี่เอง อย่างเช่นคำว่า

"ยาพ่อ" ที่คนลาว(อีสาน) ผม เคยได้ยินยายพูดเป็นเสียง "ยะพ่อ" เวลาที่จะเรียกผมมากินข้าวแล้วไม่มากินซะที ผมก็เพิ่งรู้ว่าคำว่า "ยะพ่อ" นั้น มันคือ คำว่า "ยาพ่อ" ที่เขาใช้เรียกพระสงฆ์องคเจ้า แต่ยายเรียกผม เพราะต้องการจะประชดที่มากินข้าวช้า

หรือคำพูดเวลาเพื่อนเถียงกัน ที่ผมได้ยินเป็นคำว่า

"เว้าไปทั่วทีบทั่วแดน" ที่แปลเป็นไทยว่า "พูดไปมั่วไปเรื่อย" จริงๆ มันออกเสียงเต็มรูปว่า "เว้าไปทั่วทวีปทั่วแดน" แต่เข้าใจว่า เวลามาพูดจริง ๆ เสียง "ว.แหวน" มันหาย จากคำว่า "ทั่วทวีป" เลยเหลือแค่ "ทั่วทีป"

อีกคำที่น่าสนใจคือคำว่า "ย่าน" ที่ผมได้ยิน ที่แปลว่า "กลัว"
แต่ใน "ลูกอีสาน" คำพูน ใช้คำว่า "ยั่น" ตรงนี้ก็เป็นอีกจุด ที่น่าตั้งข้อสังเกต

ผมจำได้ว่า เคยอ่านเจอใน ไตรภูมิพระร่วง ของ พญาลิไท ว่ามันมีคำว่า "อย่าน" ที่แปลว่า "กลัว"อยู่ตรงนั้น และตอนที่อ่าน ก็คิดเดาไปว่า มันน่าจะเป็นคำเดียวกันกับคำว่า "ย่าน" ในภาษาอีสาน เป็นแน่
แต่พอมาเจอ "ยั่น" ของ คำพูน แล้วทำให้ผมเริ่มลังเลกับสมมติฐานในข้อนี้

นอกเหนือจากประเด็นทางด้านภาษาแล้ว ประเด็นทางอัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ก็เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจ คือ เหมือนผม เคยอ่านเจอมาว่า ในสมัยก่อนที่ประเทศไทยจะสถาปนาระบบรัฐชาติสมัยใหม่ ใน รัชกาลที่ 5 นั้น ภาคอีสาน ทั้งภาค จัดได้ว่า มีความเป็นชาติพันธุ์และความภักดีอยู่แห่งเดียวกัน กับ ล้านช้าง หรือ กรุงศรีศตนคนหุต สังเกตได้จากดนตรี วัฒนธรรมและภาษาที่ใช้ มีความคล้ายคลึงกัน

คือ คนในภาคอีสานและล้านช้างจะเรียกตัวเองว่า เป็น "คนลาว" เหมือนกัน แต่ ถ้ามาจากกรุงเทพ จะเรียกว่าเป็นคนไท

เมืองนครราชสีมา ถือได้ว่าเป็นเมืองชายแดนแล้ว คือ ทีสื่อความเป็นชายแดน "นคร" แปลว่า "เมือง" "ราช" น่าจะแปลว่า "ราชา" ส่วนคำว่า "สีมา" น่าจะแปลว่า "เขตแดน" รวมความ คือ เขตแดนเมืองของพระราชาอะไรทำนองนั้น

แม้แต่ ล้านนาเอง ก็ยังมีคนเรียกว่า เป็น "พวกลาว" ถ้าผมจำไม่ผิด ผมเคยเห็นจิตร ภูมิศักดิ์อ้างถึงโคลงบทหนึ่ง ที่กล่าวถึง พระเจ้าติโลกราช ว่าเป็น พระเจ้ากรุงลาว เช่นเดียวกัน

ด้วยเพราะเนื้อเรื่องลูกอีสานยังดำเนินอยู่ในยุคที่ อำนาจอธิปไตยของรัฐไทย ยังตอกย้ำและขีดเขียนทาบทับ "ความเป็นไทย"ลงไปยังบนวิถีชีวิตคนพื้นถิ่นได้ไม่ชัดเท่าใดนัก คือเป็นช่วงแรกที่รัฐไทยเพิ่งสถาปนากลไกการปกครองของรัฐจากส่วนกลาง เพลงชาติก็ยังเป็นเพลงชาติเพลงเก่า

ประจักษ์พยานด้าน "ความภักดี" ในทำนองเช่นนี้ ก็ยังพบเห็นได้ ในวรรณกรรมเรื่องลูกอีสาน เราจะพบข้อคิดข้อความ อยู่บ่อยครั้ง ที่ คนในนวนิยายแทนตัวเองว่าเป็น "คนลาว" แม้กระทั่ง ไทใหญ่ ที่เดินทางมาแถวยโสธรร้อยเอ็ด ก็ยังแทนตัวเองว่า "เป็นคนลาวคือกัน" (เป็นคนลาวเหมือนกัน)

ตัวละครในมีความศรัทธาเลื่อมใส่ ศิลปวิทยาการของครูบาอาจารย์สำนักหลวงพระบาง ซึ่งอยู่ในฝั่งลาวปัจจุบัน มีความศรัทธาในพระแก้วมรกต และชาวบ้านก็ยังจำเรื่องเล่าได้ว่า พระแก้วมรกตเคยอยู่เวียงจันทน์ และย้ายมาอยู่ในกรุงเทพ รวมถึงศรัทธาพระธาตุพนมที่นครพนม เรื่องเล่าประวัติศาสตร์การสร้างเมืองอุบลของพระวอพระตา เรื่องราวก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ ก็ยังเป็นที่จดจำและเป็นเรื่องเล่าที่ตอกย้ำซ้ำเติมความเป็นอัตลักษณ์ ของความเป็นคนอีสานนั่นเอง

----------------



ความแห้งแล้งของภูมิประเทศ ที่นานทีปีหนฝนจะตก เหมือนกับ กาพยานี "อีศาน" ที่อัศนี พลจันทร์ได้ประพันธ์ไว้ไม่มีผิด คนอีสานเป็นคนอดทน ต่อสู้ไม่ยอมจำนน แม้จะแลดูเหมือนสิ้นไร้หนทาง แต่ก็ยังมานะบากบั่นหาอาหาร กินตามมีตามเกิดจนได้

ตลอดเรื่อเราจึงพบอาหารที่ทุกวันนี้ไม่รู้จะหากินได้ที่ไหนอย่างเช่น หมกฮวก ลาบนกขุ้ม ปิ้งกะปอม ลาบไก่ป่า แกงอ่อมไก่ ปลาร้า จั๊กจั่น อึ่งปิ้ง ที่คนอีสานแท้ ๆ เลี้ยงชีพกันในอดีต

คำสอนจากเรื่องที่ผมประทับใจที่สุดก็คือคำสอนของหลวงพ่อ ตอนที่หลวงพ่อถามคูน ตัวละครเอกว่า รักอะไรและเกลียดอะไร มากที่สุด คูน ตอบว่า รักพ่อรักแม่ และน้องสาวสองคน แต่คูน เกลียดฟ้า

หลวงพ่อ บอกว่า คูนอย่าเกลียดฟ้า แม้ฟ้าจะไม่ได้ให้ฝน จนผืนดินแล้งไปหมด ที่คนเราเป็นทุกข์ นั้นเป็นเพราะคนเป็นสาเหตุเอง ฟ้าไม่เคยทำให้ใครต้องทุกข์

นั่นหมายความว่าหลวงพ่อสอนให้คูนเป็นคนอดทน และต่อสู้ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ได้หล่อหลอมความเป็นคนอีสาน นำเสนอการต่อสู้ชีวิตอดทน ไม่ยอมจำนน ต่อความอดอยากยากแค้น ผมคิดว่า ความประทับใจเพียงเท่านี้ ก็เพียงพอแล้วที่จะการันตี ความเป็นหนังสือ 100 เล่มที่คนไทยควรจะอ่าน



Create Date : 13 ธันวาคม 2552
Last Update : 13 ธันวาคม 2552 21:24:49 น.
Counter : 2523 Pageviews.

1 comment
1  2  3  4  5  6  

เชษฐภัทร
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]



New Comments
All Blog
MY VIP Friend