ฝัน โคตร โคตร: เกมส์ระหว่างคนดูกับคนทำหนัง
มีคนเคยบอกว่า เพราะทุกวันนี้ ผู้คนอยู่ในความรีบเร่งด้วยแรงบีบอัดของเวลาจากความเร่งรีบด้านการงานและการแข่งขันในสังคมเมืองใหญ่ ทำให้หลาย ๆ คนพอใจที่จะเลือกเสพย์อะไรที่เข้าถึงง่ายเข้าว่าเอาไว้ก่อน

ไม่ว่าจะเป็นเพลง หากจะให้ "โดน" หูคนฟัง ผู้แต่งเพลงก็ต้องสรรหาถ้อยคำ และ เนื้อหา ที่ กลุ่มผู้ฟัง ฟังแล้วเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว และเนื้อหาต้อง สะกิดอารมณ์ ผูกพันในชีวิตประจำวันของเขาเหล่านั้นได้ด้วยยิ่งดี

งานเขียน ก็ต้องเป็นงานที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย ใช้ภาษาที่ไม่ยากจนเกินไป แล้วถ้าจะให้เป็นงนเขียนที่คนเข้าถึงได้มากที่สุด เนื้อหาที่เขียนนั้นก็ต้องเป็นเนื้อหาที่ ผู้อ่านจะต้องมีปูมหลังอยู่แล้วด้วย

หากนักเขียนคนใดใช้ภาษาที่ต้องใช้การตีความ จำนวนกลุ่มผู้อ่านจะยิ่งแคบลงไปเรื่อย ๆ นี่ผมกำลังพูดถึงงานเขียนที่เป็นร้อยแก้วธรรมดา



ยิ่งเป็นร้อยกรองที่คนเขียนต้องเลือกสรรคคำพูดจากคลังคำที่เขามีอยู่ เข้ามาใส่สัมผัสนอกใน ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะโอกาส ที่การสรรคำนั้น จะไม่ใช่คำ ที่ "โดน" กลุ่มตลาด ยิ่งมีสูงขึ้น เพราะอย่างที่บอก ยิ่งธรรมชาติของคนยิ่งมีเวลาน้อยลงเท่าไหร่ โอกาสที่เขาจะมาใช้เวลานั่งคิด หรือไตร่ตรองอะไรพรรค์อย่างนี้ก็ลดลงไปเรือ่ย ๆเท่านั้น

พูดง่าย ๆ คือถ้าจะหวังผลทางการตลาด ศิลปินผู้สร้างทั้งเพลงทั้งงานเขียนก็ต้องลดความเป็นตัวของตัวเอง "เข้าหา" ผู้เสพย์ พยายามช่วยเหลือผู้เสพย์ให้เข้าถึงสารที่ตัวเองรังสรรค์ออกไปให้ได้
แต่ถ้า ศิลปินผู้สร้างคนนั้น ยิ่งแสดงความเป็นตัวของตัวเองออกมาในเนื้องานมากขึ้นเท่าไหร่ โอกาสคนที่จะสนใจงานของเขาก็ยิ่งจะลดน้อยลงเท่านั้น

ประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมด ก็คงจะไม่ต่างจากคนทำหนัง หากว่าผู้สร้าง นำเสนอสิ่งที่ตัวองต้องการจะสื่อ โดย "เข้าหา" ผู้เสพย์หรือผู้ชม แต่ข้อเสียของมันก็คือ ศิลปินอาจต้องลดทอนความเป็นตัวของตัวเองลงไป

---------------------------------

ผมไม่แน่ใจว่าท่านอื่นคิดอย่างไร แต่ที่แน่ ๆ สำหรับผม
ผมยอมรับว่า ภาพยนตร์เรื่อง "ฝัน โคตร โคตร" ของพิง ลำพระเพลิง เป็นผลงานที่ ผู้ชมต้องพยายาม "เข้าหา" สาระที่คนทำหนังต้องการจะสื่อ

จากที่ผมพยายามทำความเข้าใจ ตลอดทั้งเรื่อง ผู้กำกับพยายามจะใช้เทคนิค กลวิธี สลับห้วงเวลาย้อนไปย้อนมา ซึ่งผู้ชม ต้องใส่ใจกับรายละเอียดทุกอย่างของตัวละคร ไม่ว่าจะเป็น ทรงผมของตัวละครเอกทั้งชายทั้งหญิง รถยนตร์ที่ขับทั้งสองคัน สไตล์การแต่งตัวและความสอดคล้องด้วยวัยและฐานะของพระนาง หรือแม้แต่บ้าน จึงจะสามารถเรียบเรียงปะติดปะต่อความฝันหรือความจริงของคนสองคนอันเป็นเนื้อหาสาระของหนังออกมาได้

ด้วยเทคนิคอันวิจิตรพิศดารเช่นนี้ ทำให้คุณค่าของภาพยนตร์เรื่อง "ฝัน โคตร โคตร" มิได้จำกัดอยุ่เพียงประเด็นที่ว่า "ความฝัน" กับ "ความจริง" นั้นแยกออกจากกันหรือไม่หรือว่าผสมกลมกลืนจนเป็นเนื้อเดียวกันแม้จะไม่สนิทก็ตาม หากแต่ยังมีคุณค่าตรงที่ว่าคนทำหนังและผู้ชมต้องฝึกสมองประลองปัญญากันได้อีกด้วย

หนังเรื่องฝัน โคตร โคตร จึงอาจไม่ใช่งานที่ ผุ้สร้าง "เข้าหา" ผู้ชม (อย่างน้อยก็ในสายตาของผม) แต่กลับเป็นงานที่ผู้ชม ต้องพยายามเข้าหาเนื้อหาของหนังซึ่งมีความเป็นตัวของตัวเองของผุ้สร้างอยูค่อนข้างสูง

ลักษณะของหนังเช่นนี้ย่อมทำให้ผู้คนที่มีชีวิตรีบเร่งด้วยแรงบีบรัดในการแข่งขันในเมืองใหญ่ ได้ฝึกพยายามคิดอะไรให้ช้าลง และอ่านโลกให้ละเอียดยิ่งขึ้น ซึ่งผมต้องยอมรับเลย ว่า ถ้าศิลปินคนนั้นเขาไม่เป็นคนที่ "แน่" จริงแล้วละก็ เขาก็อาจจะไม่กล้าสร้างผลงานที่ท้าทายถึงขนาดนี้ออกมาเลยด้วยซ้ำไป



Create Date : 22 กันยายน 2552
Last Update : 22 กันยายน 2552 13:32:47 น.
Counter : 424 Pageviews.

3 comment
แฟนเก่า: เพื่อนแฟนเก่าที่เข้ามายุ่งมั่วเวลาคู่รักเขาเลิกกัน
โดยนิสัยส่วนตัวของผม เวลาผมตั้งคำถามต่อสิ่งใด แล้วหากว่าผมหาคำตอบต่อสิ่งนั้นจนคาดว่า ได้คำตอบที่น่าจะพอใจแล้ว ผมก็จะหยุด และไม่ถามเกี่ยวกับสิ่งนั้นอีก

แต่อันที่จริง ๆ แล้ว หากอ้างตามวิธีคิดแบบนักปรัชญาการเมือชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ Jacques Ranciere อย่างในหนังสือเรื่อง On the Shores of Politics หากใครสักคนจะได้ชื่อว่า เป็นผู้ที่มีนิสัย "ใฝ่รู้" นั้น เขาจะต้อง พยายาม "ผลัก" ความคิดให้ตั้งคำถามต่อสิ่งที่เขาอ้างว่ารู้ต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อให้เกิดการตกผลึกในเชิงความคิดมากยิ่งขึ้น

หากจะยกตัวอย่างในทางการเมือง ในช่วงสงครามเย็นย้อนไปถึงช่วงที่มีการปฏิวัติ อุตสาหกรรม นักคิดทางการเมือง มักจะเรียกร้องสิทธิ์ ให้กับ "ชนชั้นกรรมาชีพ" ว่าถูกเอารัดเอาเปรียบขูดรีด โดยกฏุมพี หรือพวกขุนศึกศักดินา

มาวันนี้ เหมือนคำถามเรื่องการกฏขี่ขูดรีด ของ ชนชั้นกรรมาชีพ มันได้รับการจัดการหาคำตอบไปในระดับหนึ่ง ทั้งในทางทฤษฏีแล้วก็ในทางปฏิบัติ ดังจะเห็นได้จากหลาย ๆ ประเทศได้มีการช่วงชิงคับเคี่ยวทางอำนาจ เปลี่ยนแปลงประเทศเป็นระบอบสังคมนิยม ได้สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง พอปกครองไปได้ ระบอบสังคมนิยมนั้น ล้มเหลวไปเสียมาก ที่อยู่ได้ ก็ต้องปรับตัวเข้ากับโลกก็มีให้เห็นถมไป น้อยประเทศที่จะแช่แข็ง ความเป็นสังคมนิยมได้แบบแทบจะไม่เปลี่ยนแปลง

พอมาถึงทุกวันนี้ การเรียกร้องสิทธิของนักคิดนักเขียนหลังโครงสร้างนิยม อย่างมิเชล ฟุโก้ ก็มิได้จำกัดอยู่แค่ เพียง สิทธิ์เสียงของ ชนชั้นกรรมาชีพ เท่านั้น หากแต่ยังมีการผลัก ไปตั้งคำถามเกี่ยวกับสิทธิ์ของคนชายขอบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ที่ถูกตราหน้า ว่าผิดปกติทางเพศ คนที่ถูกตราหน้าว่าเป็นโรคจิต คนไร้รัฐไร้สัญชาติ ว่าคนเหล่านี้ก็มีส่วนต่อการเมือง โลกที่เราไม่อาจจะมองข้ามได้

การตั้งคำถามเชิงอำนาจเช่นนี้ จัดได้ว่า เป็นการ "ผลัก" ประเด็นทางความคิดออกจากกรอบเดิม ๆ ที่เคยตั้งคำถามกันมา



--------------------------------------------


ผมดูหนังเรื่อง "แฟนเก่า" ที่เกี่ยวกับ ความรู้สึกอาฆาตมาดร้ายต่อดวงวิญญาณของหญิงสาวที่เธอเชื่อว่า เธอถูกปฏิบัติอย่าง "ไม่เป็นธรรม" ของผู้ชายมากรักคนหนึ่ง

เธอต้องเจ็บช้ำน้ำใจ จนด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม (ที่จะได้ชมในหนัง)จน เธอได้กลายเป็นดวงวิญญาณมาตามถามทวงความรักจากชายคนรัก และปัดป้องมิให้หญิงอื่นเขามาครอบครองทั้งเรือนกายและเรือนใจของชายคนนั้น



กระนั้นก็ดี
ประเด็นการที่หญิงสาวถูกชายคนรักทอดทิ้ง จนกลายเป็นผีมาหลอกนั้นเป็นเรื่องที่ผมเชื่อว่า สังคมเราๆ ได้ผ่านการตั้งคำถาม การใคร่คิดครุ่นครวญ หาผิด/ถูกกันมาพอสมควรแล้ว
เราตั้งคำถามกับมันมามาก จนได้คำตอบและมีความคิดค่อนข้างตกผลึกกับประเด็นเช่นนี้พอสมควร คนทีเขารักกันหรือเคยรักกัน อย่างไรเสียความรุ้สึกรักนั้นมันก็ไม่จางหายไปหรอก แรก ๆ อาจจะกระฟัดกระเฟียดไม่พอใจบ้าง แต่พอวันเวลาผ่านไป ความรู้สึกดีๆ มันก็มีอยู่ ไม่หายไปไหน

แต่ยังมีประเด็นอีกประการหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่า ควรมีการ "ผลัก" การตั้งคำถาม เข้าไปพิจารณา ว่ามันคืออะไร มีกระบวนการอย่างไร เราจะเข้าใจความเป็นมาของวงจรการ "รัก" และ "การบอกเลิก" ของคู่รักสักคู่และอีกหลาย ๆ คู่ได้ดีขึ้น


นั้นก็คือ การที่เพื่อนของผู้ชายมาเข้าข้างเขา ทั้ง ๆ ที่ฝ่ายชายเป็นฝ่ายไปทิ้งเขา พูดให้ชัดก็คือ ฝ่ายชายไปทิ้งเขา แล้วพอฝ่ายหญิงมาทวงสิทธิ์ เรียกร้องความจริงว่า ฝ่ายชาย "ผิดสัญญา" ไอ้เพื่อนเจ้ากรรม มันก็ไม่ฟังอีร้าค่าอีรม ด่าคนที่เขามาทวงสิทธิ์เสียอย่างงั้น โดยไม่สนใจประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้



หนึ่ง เพื่อนตัวเองไปทำอะไร พูดอะไรผิดรึเปล่า หรือว่า เพื่อนตัวเองถูกอยู่ฝ่ายเดียว

สอง คิดให้ไกลไปอีก เรื่องใครจะเลิกกับใครมันเป็นเรื่องของคนสองคน ที่เขาก็เข้าใจกันดีในระหว่างกันและกันนั่นแหละ บางที คนนอกอย่างเราหากเข้าไปยุ่งเกี่ยว มันก็อาจจะไม่เข้าใจเรื่องไม่ครบทุกด้านเพราะฟังความข้างเดียวหรือเปล่า

อย่างในเรื่อง นิมิต ที่เป็นเหมือนทั้งเพื่อนและผู้จัดการส่วนตัวของเคน ก็เข้ามาจัดการประเด็นความรักของเขา

ซึ่งสิ่งที่นิมิตรทำ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะเราก้เห็น ๆ กันอยู่ว่า มันก็มักจะเป็นแบบนี้ คือเพื่อนก็เข้าข้างเพื่อนเสมอ จะให้ตายอย่างไร ก็ต้องเข้าข้างกัน หากว่าได้ชื่อว่า เป็น "มิตรที่ดี"

มิตรที่ดีตามหลักธรรมนูญชีวิต ของ ป.อ.ปยุตโตได้ระบุเอาไว้ว่า "คนชั่วหัวประจบ" มีลักษณาการการเป็นมิตรเทียม สี่ประการ คือ

- จะทำชั่วก็เออออ
- จะทำดีก็เออออ
- ต่อหน้าสรรเสริญ
- ลับหนังนินทา

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก
หลายครั้ง เราก็เห็นๆ กันอยู่ว่า "การศึกษา" มันไม่ได้ช่วยให้คนเป็นเพื่อน รู้ฐานะภาวะ ว่าอะไรควรยุ่ง ตรงไหนไม่ควรยุ่ง แม้กระทั่งคนเรียนจบปริญญาเอก หลาย ๆ คนก็ยังคิดไม่เป็น ถือวิสาสะ เข้าไปยุ่งกับเรื่องในมุ้งในเตียงของคนอื่นอยู่ร่ำไป

จริงอยู่การช่วยเหลือเพื่อนเป็นสิ่งทีควรทำ แต่การช่วยเพื่อนนั้น บางที ต้องคำนึงว่า สิ่งที่เราฟังจริงเท็จประการใด มีการเล่าที่ขาดตกบกพร่องไปไหม รวมถึงเวลาจะช่วยใคร "ยุ่ง" กับเรื่องที่คน เขารู้กันสองคน เราต้องถึงขอบเขตว่าตัวเองมีสิทธิ์ก้าวล่วงเรื่องส่วนตัวอะไรของคนอื่นรึเปล่า ทางที่ดี ควรยึดมั่นตามหลัก ทางสายกลาง คือเราก็เมตตากรุณาต่อเพื่อน ให้ความเห็นใจ ให้ความเข้าใจ

แต่ไอ้พวก ที่ลุกขึ้นมาโวยวาย ชี้หน้าด่า แฟนเก่าเพื่อน นี้ อาจจะถือว่าเป็นส่วนที่ทำเกินไป ไม่ดู สถานะภาวะของตัวเอง ไม่พิจารณาประเด็นว่า คนสองคน มันมีอะไรซับซ้อนกว่าที่คิด คนรักกันเลิกกัน เขาย่อมเข้าใจกันดีว่า เขามีข้อตกลงอะไรกันไว้

คำถามที่เป็นเหมือนฮุกของหนังเรื่อง "แฟนเก่า" ที่ถามว่า "คุณเลิกกับเขา แต่คนที่คุณเลิกเขายอมเลิกกับคุณรึเปล่า" หากจะใช้ภาษาของ Jacques Ranciere คือการผลักวิธีคิดออกไปอีก เราก็ต้องถามว่า

"คุณเข้าไปยุ่งเรื่องชาวบ้านเขาเลิกกัน แล้วคนที่คุณเข้าไปยุ่ง เขายอมให้คุณยุ่งรึเปล่า"

เพราะถ้าไปยุ่งสุ่มสี่สุ่มห้า ผมเชื่อว่า ไม่ว่าคนหรือผี ก็คงไม่ค่อยมีคนชอบเท่าไหร่ เหมือนกับที่เราเห็นในหนังเรื่อง "แฟนเก่า" นั่นแหละครับ




Create Date : 04 กันยายน 2552
Last Update : 4 กันยายน 2552 9:07:53 น.
Counter : 751 Pageviews.

2 comment
Raise the Red Lantern: การขับเคี่ยวระหว่างคนมีอำนาจและบารมี
หลาย ๆ ครั้ง ผมเคยตั้งคำถามว่า "อำนาจ" กับ "บารมี" มันต่างกันอย่างไร
ไป ๆ มา ๆ จากเท่าที่สังเกตได้ ดูเหมือนว่าอำนาจจะหมายความถึงว่า หากใครสักคนมีอำนาจ เขาย่อมมี ความสามารถในการที่จะให้ใครทำอะไร หรือไม่ทำอะไรตามที่เขาต้องการ ตัววัดของความมีอำนาจอาจเป็นเงิน การศึกษา หรือตำแหน่งหน้าที่การงาน ในหลาย ๆ ครั้งอาจเป็นอาวุธ หรือ เป็นได้กระทั่ง คนที่ตัวเอง ดูแล เลี้ยงดู อยู่ คือมีลูกน้องบ่าวไพร่บริวาร นั่นเอง

ซึ่งหากพูดึง บริวารหรือลูกน้องที่ผู้มีอำนาจดูแล แล้วตรงนี้ สามารถดึงต่อไปถึงนัยยะ ความหมายของคำว่า "บารมี"

คือ ถ้าใครสักคนมีบารมี แน่นอนหล่ะ ว่าเขาต้องมีอำนาจ อาจจะด้วยฐานะการเงิน ตำแหน่งหน้าที่การงาน แต่คนมีอำนาจ ก็ไม่ใช่ว่าจะมีบารมีไปเสีย ทุกคน

คนที่มีบารมี คือ คนที่ได้ให้ความช่วยเหลือผู้อื่น คือ พูดง่าย ๆ ว่า ผู้ที่อยู่ในฐานะด้อยกว่ามักจะมาอาศัยขอความช่วยเหลือ เพราะผู้มีอำนาจนั้น อยู่ในฐานะที่จะคุ้มภัยอันตรายได้ เมื่อผู้มีอำนาจ ได้ให้ความช่วยเหลือ ชีวิต เลี้ยงดูแล ผู้คนมากขึ้น นั่นย่อมเป็นการสั่งสมบารมี และในทางตรงกันข้าม ผู้ที่เข้าไปอาศัยบารมี ของคน ๆ นั้น ก็ตอบแทนด้วยการรับใช้อย่างซื่อสัตย์ภักดีเช่นกัน

หากจะยกตัวอย่างที่จับต้องได้ง่าย ในยามที่ผู้มีอำนาจสักคนทำอะไรสักอย่างผิดพลาดหรือทำเลวขึ้นมา ถ้าคนมารุมด่า หรือรุมซ้ำเติมอีกทั้งยังจ้องหาโอกาสจะรุมเหยียบ เพราะผู้คนไม่ได้เคารพไม่ได้รัก ในตัวเขา แสดงว่าคนนั้นสักแต่ว่ามีอำนาจ แต่บารมีอาจยังไม่ถึงขั้น

ในทางตรงกันข้าม เมื่อใด ที่ใครสักคนกระทำการอะไรที่ผิด แต่ว่า ก็ไม่ค่อยจะมีคนไปด่า และ/หรือ ถึงมีคนรู้ว่า ผู้มีอำนาจคนนั้นทำผิด เขาก็จะแสร้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นเสีย เพราะรัก เคารพ และเกรงใจคนนั้น ๆ ในที่สุดผู้คนทั้งหลายก็จะไม่พยายามพูดถึงความผิดที่ผู้นั้นกระทำอีกเลย
เมื่อเกิดภาวะเช่นนี้ขึ้นแสดงว่า คน ๆ นั้นไม่ได้มีแค่อำนาจ แต่ยังมีบารมีด้วย


-------------------------

ผมดูหนังเรื่อง Raise the Redlantern ของ จาง อี้ โหม่ว แล้วอดนึกถึงเรื่อง การแก่งแย่งอำนาจในครอบครัวใหญ่ของสังคมจีนไม่ได้

ภาพยนตร์เรื่องนี้ พูดถึงครอบครัว ครอบครัวหนึ่ง ในยุคขุนศึกของประเทศจีน ซึ่งก็คงอยู่ราว ๆ ปี ค.ศ. 1920

หญิงสาววัยสิบเก้าปีคนหนึ่ง ชื่อว่า ซ่งเหลียน เรียนไม่จบมหาวิทยาลัย และต้องไปเป็นเมียน้อย คนที่สี่ ของสกุลเฉิน

เจ้าของบ้านคือ คุณเฉิน มีภรรยา สี่คน ในแต่ละคืน เขาจะเป็นคนเลือกว่า จะเข้าไปนอนในบ้านภรรยาคนไหน ที่น่าสนใจก็คือ บ้านสกุลเฉิน จะมีพิธีเลือกภรรยาของเจ้าบ้าน คือก่อนจะเข้านอน จะต้องให้ภรรยา มายืนหน้าบ้านของตัวเอง แล้วให้ คุณเฉินเป็นคนเลือก
ถ้าเขาเลือกใคร ก็จะมีการส่งหมอนวดไปนวดฝ่าเท้าให้ภรรยาคนนั้นสบายเท้า และจุดโคมไฟ ที่บ้านภรรยาคนนั้นให้สุกสว่างที่เรือนหลังนั้นตลอดทั้งคืน

เห็นแบบนี้แล้ว ก็คงคาดการได้ไม่ยากว่า คงจะต้องการแก่งแย่งชิงดีกันระหว่างภรรยาทั้งสี่คนแน่

การที่คุณเฉินมานอนค้างคืนกับภรรยาคนใดคนหน่ง มันไม่ได้แสดงถึงแค่ความรุ้สึกผ่อนคลายจากการได้นวดเท้าเท่านั้น แต่ยังแสดงถึง "อำนาจ" ซึ่งผู้มี "อำนาจและบารมี" ในครอบครัวที่เลี้ยงบ่าวไพร่มากมายกำลังมอบให้ภรรยาคนนั้น

ในภาพยนตร์ เราจะได้เห็นกลเม็ด การต่อสู้ช่วงชิง ของบรรดาภรรยาทั้งสี่คน ซึ่งต่างคนต่างก็มีกลวิธี เสน่ห์เล่ห์พรายเป็นของตัวเอง มาถึงตรงนี้แล้วผมยิ่งต้องนึกถึงคำพูดของ Michel Foucault ทีว่า "When there's an exercise of power, there is a resistance to it" คือเมื่อใดก็ตามที่มีการใช้อำนาจ เมื่อนั้นก็จะมีการต่อต้านการใช้อำนาจนั้นเสมอ

การที่เจ้าของบ้านเลือกจะไปค้างคืนกับใคร และ เลือกที่จะไม่ค้างคืนกับใครอีกสามคนในคราวเดียวกัน นั้นมันย่อมเป็นการใช้อำนาจ ที่ ต้องมีคนได้ และ มีคนเสียประโยชน์

คนที่เสียประโยชน์ก็คงยอมไม่ได้ และจะต้องดิ้นรนต่อสู้ให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตัวเองต้องการ แม้กระทั่งสาวใช้ซึ่งไม่น่ามีเอี่ยวอะไรกับคุณนายทั้งสี่ ก็ยังขบถ ต่อต้านกลไกอำนาจที่ถูกจัดระบบไว้แล้ว ด้วยการดื้อรั้นต่อบทบาทและหน้าที่ของความเป็นสาวใช้ของตัว ริ จะฝันเป็นคุณนาย

เรื่องของเรื่องก็คือว่าถ้าให้คุณนายทั้งสี่ มาขับเคี่ยวต่อสู้กันเอง มันก็ยังดูพอสมน้ำสมเนื้ออยู่ แม้ว่าสุดท้ายแล้วมันก็เป็นการ่ช่วงชิงอำนาจ เพื่อให้ได้มาซึ่งการตกอยู่ใต้อำนาจของคุณชายเฉิน คือผู้เป็นใหญ่ในบ้าน ซึ่งทำอะไร ก็ถูกเสมออยู่วันยังค่ำก็ตาม

แต่ทว่าการดิ้นรนของคุณนายทั้งสี่ ก็ต้องระมัดระวัง การพลาดพลั้งแม้เพียงจังหวะก้าวอาจทำให้เธอต้องเจ็บเสียยิ่งกว่าเจ็บ เพราะอำนาจที่เธอมีอยู่ในฐานะคุณนายนั้นมันไม่ได้มีอะไรการันตี ว่าจะคงอยู่เช่นนั้น และอาจจะถูกริบคืนไปจากผู้ทรงอำนาจและบารมีที่แท้จริงเมื่อใดก็ได้

เนื้อเรื่องของ Raise the Red Lantern ที่เป็นเรื่องราวการดิ้นรนต่อสู้กับอำนาจของผู้ที่เหนือกว่าอย่างนี้ ชวนให้ผมนึกถึงงานของ จาง อี้ โหม่วที่ทำออกมาใน ยี่สิบปีให้หลังอย่างเรื่อง Curse of Golden Flower ที่คนในครอบครัว คือในระดับราชวงศ์ของจักรพรรดิ์จีน พยายามจะดิ้นรนทำตามสิ่งที่หัวใจตัวเองต้องการ ตั้งแต่การผิดลูกผิดเมีย ไปจนถึงขั้นคิดกบฏต่อจักรพรรดิ์

แม้ว่าการท้าทายอำนาจจักรพรรดิ์ในเรื่อง Curse of Golden Flower จะมีการเตรียมการมาดีแค่ไหน สั่งสมพลกำลังทหารและวางแผ่นอย่างไร แต่สุดท้าย ก็พ่ายแพ้ ต่อผู้มีอำนาจและบารมีตัวจริง คือ องค์จักรพรรดิ์ อยู่ดี


----------------

เรื่องการดิ้นรนต่อสู้ระหว่างผู้ที่มีอำนาจ (แต่อาจจะไม่มีบารมีพอ?)อย่างในหนังเรื่องนี้ ทำให้ผมต้องโยงมาถึงการเมืองในประเทศบางประเทศซึ่งเราก็รู้ ๆ กันอยู่

แม้ว่าบางครั้ง เงินทอง ตำแหน่งแห่งที่ในการบริหารประเทศที่ใครหลาย ๆ คนได้รับมานั้น ก็อาจแสดงให้เห็นถึงอำนาจตนได้ในระดับหนึ่ง แต่เรื่องบารมี และศรัทธาของผู้คนนั้น มันเป็นเรื่องที่ไปไกลกว่าอำนาจมาก ๆ และต้องใช้เวลา สั่งสมนานมาก

หากว่าใครจะกล้าลุกขึ้นมางัดข้อ โดยไม่ดูตาหม้าตาเรือ โอกาสที่จะเข้าอีหรอบเดิม คืออารมณ์ว่าถ่มน้ำลายรดฟ้า สุดท้ายน้ำลายมันก็ร่วงมารดหน้าตัวเองก็มีสูงเสียยิ่งกว่าสูง



Create Date : 01 กันยายน 2552
Last Update : 1 กันยายน 2552 13:08:44 น.
Counter : 2842 Pageviews.

0 comment
Apocalypto: ผู้ยืนท้ากระแสพายุแห่งอำนาจ
โดยทั่ว ๆ ไป หากว่าเรากล่าวถึง "การล่าอาณานิคม" เรา ๆ ท่าน ๆ มักจะนึกถึงแต่ภาพฝรั่งตัวขาวผมทอง ไปไล่ฆ่า ไล่ยิง ขูดรีดทรัพยากร จากประเทศอื่นๆ นอกยุโรป ไม่ว่าจะเป็น อัฟริกา อเมริกาเหนือใต้ เอเชีย หรือแม้กระทั่งชาวเกาะต่าง ๆ ในแถบเอเชียแปซิฟิก และออสเตรเลีย

ทั้งที่จริง ๆ แล้ว คำว่า "การล่าเมืองขึ้น" หากไม่จำกัดความหมายเฉพาะ การรุกรานของชาติตะวันตกแล้ว ก็มีมิติ ที่กินความถึง การรุกราน อาณาจักรของชาติที่ไม่ใช่ตะวันตกที่มีต่อ อาณาจักรที่อ่อนแอกว่า เช่น การสู้รบบริเวณตะวันออกกลาง การล่าประเทศราชของอยุธยา หรือกรุงเทพ ไม่ว่าจะเป็นการตีล้านนา ล้านช้าง หรือ การที่พม่ายึดครองล้านนา แม้แต่การโจมตีกรุงศรีอยุธยาก็น่าจะจัดว่าเข้าข่ายคาบเกี่ยวการล่าอาณานิคมอยู่

เพียงแต่ว่า การรุกรานของชาติตะวันตก ทั้งจักรวรรดิสเปน จักรวรรดิอังกฤษ จักรวรรดิ์ฝรั่งเศส นั้นกินพื้นที่ไปเกือบทั่วโลก

เมื่อเราผ่านรูปแบบการศึกษามาในระเบียบโลก ที่แม้สหรัฐอเมริกาจัดขึ้นตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สอง แต่กลิ่นอายของความเป็นการมองโลกแบบเจ้าอาณานิคมตะวันตกก็ยังคงมีอยู่มาก

ด้วยเหตุนี้เอง จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ตลอดทั้งหลักสูตรจะพูด ถึงแต่การ ล่าอาณานิคม ระหว่างคนจากยุโรป และคนที่ไม่ใช่ยุโรป ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการใช้ศาสนานำ หรือการจับฉวยอาวุธเข้าประหัตประหารกันก็ตามแต่

โดยที่เราไม่ได้ และ/หรือ ลืมใส่ใจไปว่า ประวัติศาสตร์ คือการรบพุ่ง ปฏิสัมพันธ์กันระหว่างอารยธรรมนั้นก็มีส่วนประกอบสร้างประวัติศาสตร์โลกในอย่างที่มันเป็น

ก่อนจะรู้ว่าลาว ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส เราก็ต้องเข้าใจว่า ล้านช้างต้องส่งบรรณาการให้กับกรุงเทพกี่ครั้ง มีประวัติศาสตร์ การรบ กี่หน ที่ถูกลบออกไปไม่พูดถึง

เช่นเดียวกัน ก่อนจะรู้ว่า อังกฤษยึดพม่าเป็นอาณานิคม เราก็ต้องเข้าใจว่าพม่า เคยรบกับ จีนกี่คร้ง ใครแพ้ชนะบ้าง หรือ พม่า เคยยึดล้านนาเป็นประเทศราชกี่หน (แต่เท่าที่เห็นในบทเรียนประวัติศาสตร์พื้นฐานรู้สึกว่า จะมีแต่เรื่องการที่พม่าบุกกรุงศณีอยุธยา แล้วก็สงครามเก้าทัพสมัยต้นรัตนโกสินทร์)

---------------------

หนังเรื่อง Apocalypto เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่แสดงให้เห็นถึงการขับเคี่ยวและปฏิสัมพันธ์กันของมนุษย์บนแผ่นดินอเมริกา ก่อนที่ชาวยุโรปจะเดินทางไปถึง

เรื่องราวของหนังบรรยายถึงการใช้ชีวิตที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ของสังคมในระดับชนเผ่า
ปฏิสัมพันธ์ระหว่างชนเผ่าต่อชนเผ่า แม้ว่าอาจจะมีพุ่งรบกันบ้าง แต่ก็เป็นไปอย่างถ้อยทีถ้อยาศัย แต่การสู้รบดูจะรุนแรงโหดร้ายทารุณมากขึ้น เมื่อสังคมระดับอาณาจักรไปรุกราน กลุ่มคนที่เล็กกว่า ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ หรือความต้องการแรงงานในการก่อสร้างพีระมิดก็ตามแต่



เนื้อเรื่องของหนัง แสดงให้เห็นถึงไหวพริบ การเอาตัวรอดของหนุ่มลูกหัวหน้าเผ่าเล็ก ๆ เผ่าหนึ่งในป่า ซึ่งถูก ทหารมายาจากอาณาจักรมารุกราน

เพื่อนชาวบ้านถูกฆ่าตายเกือบหมด ยกเว้น คนที่พอจะเป็นแรงงานในการก่อสร้างเทวสถานได้ ก็จะถูกเกณฑ์เข้าไปในเขตอาณาจักร ซึ่งเราจะเห็นการชิงไหวชิงพริบ ความอดทน (อย่างมาก) ของผู้ถูกรุกรานขูดรีด ที่กว่าจะสลัด หนีเอาตัวรอด ออกมา นอกเหนือจะใช้ความแข็งแกร่งของร่างกายและจิตวิญญาณเป็นอย่างยิ่ง แล้วต้องใช้ไหวพริบในการต่อสู้อีกด้วย

หลาย ๆ ครั้งที่ชายชาวป่าผู้นั้น เกือบจะเอาตัวไม่รอดอยู่แล้ว เพราะโดนทหารจากในเมืองไล่ล่า หลายคน
จน วิ่งหนีเข้าไปในป่า แล้วยังไปเจอ สัตว์ป่า เข้าให้อีก

คือหนีคน ไม่พอยังต้องหนี เสือ

แต่เขาก็มีไหวพริบพอที่จะ "ล่อ" ให้เสือ "วิ่ง" มาชน ทหารจากในเมืองเหล่านั้น

และนั่นไม่ใช่ครั้งเดียว ที่เราเห็นการ สร้างสมดุลของอำนาจของชายหนุ่มผู้เฉลียวฉลาดผู้นั้น
หลายครั้งที่เราเห็นเขา ใช้งู ใช้เสือ ใช้น้ำตกหน้าผา แม้กระทั่งเขียดหรือ ปาด เขาก็ยังเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้



ตรงนี้เป็นข้อพิสูจน์แล้วว่า คนเราจะมีความเป็นเลิศหรือเอาตัวรอดได้นั่น ไม่ใช่ แค่จะมีพลังกำลังอย่างเดียว แต่ต้องมี ไหวพริบ ในการตัดตอนศัตรูของตนอีกด้วย

มาถึงตรงนี้แล้วถ้าจะให้ผมบอกว่า หนังเรื่อง Apocalypto ชวนให้ผมนึกถึงสุภาษิตฝรั่งบทที่ว่า
"We cannot direct the winds but we can adjust our sails
เราไม่สามารถกำหนดทิศทางลมได้แต่เราสามารถปรับใบของเรือให้แล่นได้"

(อุตส่าห์จะรื้อสร้างลัทธิล่าอาณานิคมแล้วยังต้องใช้สุภาษิตฝรั่งอีก ฮาฮา)

การ "ปรับใบเรือ" ของ คนผู้มีอำนาจน้อยกว่า ให้ "พายุ" ลูกที่หนึ่ง พัดไปชน "พายุ" ลูกที่สอง หรือไม่ก็ กำนดให้ พายุ พัด พาเราไปในที่ ๆ เราอยากไป ย่อม จะเป็นงานง่าย กว่าที่เราจะลุกขึ้นมาต่อสู้กับพายุด้วยตัวของเราเอง ทั้งที่เราก็ยังไม่มีขีดความสามารถขนาดนั้น

พูดถึงตรงนี้ แล้วผมก็นึกถึงเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินของประเทศที่ปริ่ม ๆ ว่าจะถูกชาติตะวันตกรุกราน ในยุคล่าอาณานิคม

นอกจากจะต้องพัฒนาโครงสร้างของ ประเทศชาติ (nation-state) แบบยุโรป (ที่เพิ่งจะปรับเปลี่ยนมาจากรูปแบบการปกครองแบบอาณาจักรไม่นาน) แล้ว ยังจะต้องรู้จัก เล่นเกมส์อำนาจให้ดี รู้ว่าชนกับใครตรง ๆ ไม่ได้ ก็ต้องพยายามดึงมหาอำนาจตัวอื่น เขามาคานอำนาจ ของคนที่กำลังจ้องจะรังแกเราอยู่


ใครทำงานทั้งสองอย่างนี้พร้อม ๆ กันไปได้ด้วยดี โอกาสเอาตัวรอดเงื้อมมือจักรวรรดิตะวันตกได้ก็มีสูง

เหมือนกับที่ ชายหนุ่มเผาพื้นเมืองคนนั้น ใช้ไหวพริบ หนีเอาตัวรอดมาได้จากทั้ง การไล่ล่าของทหารเมือง และสัตว์ป่า ซึ่งตรงนี้ น่าจะรวมไปถึงการไล่ล่าอาณานิคมของฝรั่งผิวขาวผมทองที่ปรากฏตอนท้ายเรื่องด้วย



Create Date : 18 สิงหาคม 2552
Last Update : 1 กันยายน 2552 13:10:38 น.
Counter : 626 Pageviews.

1 comment
The Notebook: จะรักใครสักคนต้องใช้ "สมอง" หรือว่า ใช้ "จิตใจ"
ผมยังจำได้ติดหูอยู่ถึงทุกวันนี้ เมื่อครั้งที่เรียนวิชาวรรณคดีไทยเรื่อง "กามนิต" อาจารย์ผู้สอนในห้องเรียนใหญ่ เคยกล่าวไว้ว่า

"การจะรักใครสักคน นั้นไม่ต้องใช้เหตุผล หากว่าเราใช้เหตุผลขึ้นมาเมื่อไหร่แล้วละก็ แสดงว่านั่นไม่ใช่ความรักแล้ว"

ผมได้ยินได้ฟังแล้วก็มานั่งคิด หากตีความประโยคที่อาจารย์กล่าวมาให้ชัดขึ้น อาจารย์น่าจะหมายความว่า

เรานิยามคำว่ารักโดย แยก "เหตุผล" กับ "อารมณ์" ออกจากกัน

การที่ใครสักคนจะรักใครคนหนึ่ง แล้วรู้สึกว่ามันใช่เลย โดยที่ไม่พยายามหาเหตุผล มีแต่จะบอกว่า "รัก รัก รัก" อย่างนั้นนั่นแหละ น่าจะเป็นความรักในนิยามที่อาจารย์พยายามบอกสอน

ในทางตรงกันข้าม หากใครสักคน ยกประเด็นเหตุผลขึ้นมาตั้งเป็นเกณฑ์ไว้ก่อน ว่าต้องจบ วุฒิเท่านั้นเท่านี้ ต้องมีอะไรอย่างโน้นอย่างนี้ มีเงินขนาดนี้ แล้วจึงหา "ร่างกายของมนุษย์" เพศชายหรือเพศหญิงสักร่างที่มันผ่านเกณฑ์ที่ตั้งไว้ อย่างนี้อาจจะไม่ใช่ความรักแล้ว

พูดแบบนี้ ก็เหมือนกับจะสื่อเป็นนัย ๆ ว่า "เหตุผล" และ "อารมณ์" น่าจะแยกออกจากกันชัดเจน ประการที่หนึ่ง

ประการที่สอง "เหตุผล" นั้นน่าจะโยงเกี่ยวกับการทำงานของ "สมอง"
ในขณะที่ "อารมณ์" นั่นเป็นเรื่องความรู้สึก ที่เกี่ยวข้องกับ "จิตใจ" ล้วน ๆ

เหมือนพูดตามตรรกะ แบบนี้ แล้ว ผู้ที่นิยามว่า "ความรัก" ไม่จำเป้นต้องมี "เหตุผล" จึงน่าจะ มองว่าความรัก เป็นเรื่องของ "จิตใจ" (บางคนเรียกว่า "หัวใจ" แต่แน่นอนว่าไม่ใช่อวัยวะที่อยู่ข้างเยื้องซ้ายของหน้าอกอย่างที่หลายคนเข้าใจ)

ในขณะที่คนที่นิยามความรัก หรือเลือกใครสักคนที่ตนรัก โดย ตั้งเกณฑ์เป็นธงกำหนดคุณสมบัติไว้ก่อนเพื่อให้เป็นเหตุเป็นผลในการจะอ้างได้ว่า "รัก" ใครสักคน กรณีนี้ อาจจะเชื่อมโยง กับ การใช้ "สมอง" เพราะ รัก แล้วต้องอ้าง "เหตุผล" ให้ได้ว่าทำไมถึง อ้างว่ารักคน ๆ นั้น

แยกออกเป็นสองแนวแบบนี้ก็เท่ดีเหมือนกันนะ

------------

จากวันนั้นถึงวันนี้ วันเวลาผ่านไปเจ็ดแปดปี ด้วยประสบการณ์ชีวิต ที่เพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อย ผมเริ่มรู้สึกว่า หลายครั้งหลายหน เราไม่อาจแยกขั้ว คู่ตรงข้ามออกในลักษณะ ทวิลักษณะ (dualism)

ในยามที่เราใช้ เหตุผล เราก็ใช้อารมณ์ เพราะการเลือก ที่จะมีเหตุผล ก็เป็นอารมณ์ชนิดหนึ่ง คือ ชอบเหตุผล และรังเกียจความไร้เหตุผล

ในขณะเดียวกัน ยามที่เราใช้อารมณ์ เวลาทะเลาะหรือโต้เถียงกับใคร เราจะเห็นได้ว่า หลายครั้งหลายหน มีการเรียบเรียงเหตุผล ด้วยตรรกะที่หนักแน่น โดยเฉพาะผู้มี "การศึกษา" ทั้งหลาย ทั้งที่ก็มีอารมณ์โกรธไม่ต่างจากคนที่ไม่ได้ผ่านการศึกษาในระบบตะวันตก แต่ก็มีจุดต่าง ก็คือ ว่า คนมีการศึกษาเหล่านี้ สามารถเรียบเรียงอ้างอิงเหตุผล (rationalize) มาสนับสนุนการใช้ อารมณ์โกรธ/ไม่พอใจ ของตนได้อย่างช่ำชอง

เพราะอย่างงี้ไงเล่าครับ ผมถึงได้มองว่า การแยกขั้วคู่ตรงข้าม ระหว่า "อารมณ์" กับ "เหตุผล" นั่นมันทำให้ คนเราพลาดอะไร ต่อมิอะไรหลายๆ อย่างไป

หลายครั้งอารมณ์ ก็ทำให้คนมีเหตุผล และในทางกลับกัน การใช้เหตุผลก็เป็นที่มาของการใช้อารมณ์เหมือนกัน

แล้วทีนี้ล่ะ ข้ออ้างที่บอกว่า "ความรักที่อ้างเหตุผลย่อมไม่ใช่ความรัก" ที่ผมเคยประทับใจเมื่อครั้งเป็นนิสิตเรียนวรรณคดีไทยเมื่อต้นปีหนึ่งน้นจะยังฟังขึ้นอยู่ไหมหนอ

แล้วจะให้ถามลึกลงไปอีก การที่ใครจะรักใครสักคนนั้นนะ เขาใช้ "จิตใจ" หรือใช้ "สมอง" มารักกันเล่า

ทำไปทำมากลายเป็นว่าเราไม่สามารถแยกออกหรอก มันอยู่แค่ว่า ใครจะมีแนวโน้มเอียงไปข้างไหนมากกว่ากัน เพียงแต่ว่า ก็ยังมีอีกส่วนหนึ่งซึ่งคอยประกอบสร้างกันอยู่

เช่นคนที่ ไตร่ตรองไว้แล้วว่าต้อง "รัก" คนรวย มีเงินนะ ตรงนี้อาจดูเหมือน คน ๆ นั้นกำลังใช้เหตุผลคัดกรองคู่ชีวิตตนอยู่ แต่ในขณะเดียวกัน มันก็แฝงอารมณ์ "ชอบ" หรือ "ไม่ชอบ" อยู่ในที

ในขณะเดียวกัน คนที่รักใครสักคนเพราะ เพราะปิ๊งแรกหัวใจมันบอกว่าใช่" มันก็ต้องถามหาเหตุผล เอาไปอ้างอิงกับเพื่อนฝูง หรือ พ่อแม่อยู่ดี

------------------------------

หนังเรื่อง The Noteboook เป็นเรื่องราวความรักของคู่รักคุณตาคุณยายคู่หนึ่ง ที่ชีวิตในวัยหนุ่มสาวต้องผ่านอุปสรรคมามากมาย



อุปสรรคเมื่อครั้งยังเยาว์เป็นเรื่องฐานะ ทรัพย์สินเงินทอง เพราะพ่อแม่ กำลังพยายามจะเลือกคู่ชีวิตให้เธอ ด้วย "เหตุผล" (ที่แฝงอารมณ์?) แต่พอบั้นปลายชีวิตแม้ว่าทั้งคู่จะได้อยู่ด้วยกันแล้ว ก็มีอุปสรรคเรื่องความเป็นอนิจจังของสังขาร ขึ้นมาอีก


คือฝ่ายหญิง คือ Allie มีอาการทางสมอง ที่จะจำคนรู้จักของตัวเองไม่ได้

แต่เป็นเพราะคุณตา Noah รัก เธอมาก คุณตาจึงพยายาม อ่านเรื่องราวความรัก ของพวกเขาทั้งสองคนในวัยหนุ่มสาวให้คุณยายฟัง ด้วยความหวังว่าวันหนึ่ง คุณยายจะรำลึก รื้อฟื้นความทรงจำทั้งหมดได้

ทั้งที่หมอ ก็บอกแล้วว่าโอกาสนั้นมีน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย

แต่คุณตา Noah ก้ไม่เคยละความพยายามเลย

----------------------------------



พอหนังดำเนินมาถึงท้ายเรื่อง หรือ ตรงจุดที่คุณตาอ่านสมุดบันทึกถึงจุดไคลแม็กซ์ คุณยาย่ฝ่ายหญิงเหมือนจะจำ คุณตาได้และจำได้ว่าตัวเธอเองเป็นใคร แต่ความทรงจำนั้นกลับมาไม่นาน คุณยายก็ลืมอีก

ถึงตรงนี้ผมเริ่มสงสัยแล้วว่า คนเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ มองว่า "ความรัก" เนี่ย เกิดจาก "สมอง" หรือ "จิตใจ" กันแน่

เหมือนในท้องเรื่องจะเข้าเค้าว่า ผู้เขียนบทจะตีความ ว่าความรัก เกิดจาก "สมอง" ด้วยเพราะ ตัวละครฝ่ายหญิงลืมทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต เพราะเธอมีอาการปกติทางสมอง



แต่ ในวินาที ที่ จู่ๆ คุณยายก็จำคุณตาได้ นั่นนะ ไม่ใช่เป้นเพราะเรื่องราวในสมุดบันทึกมันสะเทือนใจจนไปกระตุ้นต่อมความทรงจำของคุณยาย Allie ให้ทำงานหรอกหรือ

และ ณ วินาทีที่คุณยายตำคุณตาได้ เกิดจากอารมณ์ความรู้สึก คือเกิดจากก้นบึ้งของหัวใจที่เธอรัก Noah ที่สุดในชีวิตใช่หรือไม่

เหตุการณ์ตอนนี้ในหนังชวนให้ผมสงสัยต่อไปว่า ในความเชื่อของคนทำหนังเขาแยกแยะการทำงานของ "สมอง" ออกจากการทำงานของความรู้สึก จาก "จิตใจ" หรือไม่

มาถึงตรงนี้แล้วก็ต้องย้อนกลับไปที่คำถามแรก ว่าการจะรักใครสักคนเราใช้ "สมอง" คิดหาสารตะเหตุผล หรือ "จิตใจ" เพียงแค่พบเจอใครที่ใช่กันแน่

หรือสุดท้ายแล้ว เราก็แยกอะไรไม่ออกว่า "สมอง" หรือ "จิตใจ" ที่สั่งให้เรารักใครต่อใคร เพราะทั้งสมองและหัวใจต่างก็ทำงานกันเป็นทีม มันต่างกันที่ว่า แต่ละคนจะให้ใครเป็น "กัปตันทีม" ก็เท่านั้นแหละ

จะมาย่ง มาแยก "สมอง" ออกจาก "จิตใจ" หรือนี่มันคงจะป่วยการไปแล้ว ก็เห็น ๆ กันอยู่ว่า แม้แต่ "ตับไตไส้พุง" ก็ยังอยากมามีส่วนร่วมในนิยามรักเลย



Create Date : 15 สิงหาคม 2552
Last Update : 15 สิงหาคม 2552 18:18:23 น.
Counter : 546 Pageviews.

6 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  

เชษฐภัทร
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]



New Comments
All Blog
MY VIP Friend