สะบายดีหลวงพะบาง
ผมเป็นคนหนึ่งที่มีโอกาสได้ไปประเทศลาวหลายครั้ง และก็ประทับใจในวิถีชีวิต ที่เรียบง่าย ไม่รีบร้อน สบาย ๆ

ส่วนผู้หญิงลาว นอกจากลักษณะภายนอกจะดูเป็นธรรมชาติ ๆ มาก ๆ เช่น เธอจะไว้ผมยาว ไม่มีการซอย ไม่ย้อมสี ลักษณะการพูดจา นิสัยใจคอ ยังมีเสน่ห์ คุยด้วยแล้วรู้สึกเย็นใจนัก โดยเฉพาะตอนฟังเสียง ตอบรับ "เจ้า" หรือ "โดย" เนี่ยยิ่งฟังก็ยิ่งเพราะ

-----------------



ภาพยนตร์เรื่อง "สะบายดีหลวงพระบาง" เป็นเรื่องราวความรักระหว่างชายหนุ่มลูกครึ่ง ลาว-ออสเตรเลีย ที่เติบโตในเมืองไทย กับสาวลาวแท้ ๆ ที่บ้านฝั่งแม่อยู่หลวงพระบางแต่มาทำกิจการในเวียงจันทน์

หากใครที่ชื่นชอบหนังที่มีฉากระทึกใจ มีการขมวดปม ความตื่นเต้น หรือเทคนิคสลับซับซ้อน คุณจะหาไม่ได้ในหนังเรื่องนี้แน่

แต่เสน่ห์ของ "สะบายดีหลวงพระบาง" กลับอยู่ตรงที่ สิ่งที่ ศ.ดร. เจตนา นาควัชระ เรียกว่า "สุนทรียศาสตร์แห่งการสงวนอารมณ์" (Aesthetics of Reticence)

คือ การแสดงทางอารมณ์ของเรื่องจะไม่แสดงออกมาอย่างโผงผาง แต่จะมีการยับยั้ง และกลั่นกรองการแสดงออกนั้น ๆ

ตัวอย่างของสุนทรียศาสตร์แห่งการสงวนอารมณ์นี้ พอจะมีให้เห็นชัด ก็อย่างเช่น การที่ Elizabeth ใน Pride and Prejudice ที่เขียนโดย Jane Austen ต้องอดทน ไม่แสดงออกสิ่งที่ตัวเองรู้สึกออกมาตรง ๆ เพราะค่านิยมสังคมแบบวิกตอเรียน มันกำหนดบทบาทของสตรีอยู่

หรือในทำนองเดียวกัน ในบริบทแบบไทย เราก็พบเห็นใน นวนิยายเรื่อง ข้างหลังภาพที่ ด้วยสถานะภาวะทางสังคมที่ "กีรติ" ไม่สามารถแสดงออกว่า เธอรัก "นพพร" ออกมาได้

----------------

แต่ในหนังเรื่อง "สะบายดีหลวงพระบาง" เราจะยิ่งเห็น สุนทรียศาสตร์แห่งการสงวนอารมณ์นี้ชัดเจนมากขึ้น เมื่อทั้งเนื้อเรื่องที่เล่าถึง
ความรักที่เนิบนาบ กลิ่นอาย อุปนิสัยใจคอ ที่เรียบง่ายน่ารักของคนลาว ถูกจารลงบนแผ่นฟิล์มทั้งสิ้น

ทำนองสูงคว้าง สุข อมเศร้า ของเพลงดอกจำปา ซึ่งเป็นเพลงประกอบ และลักษณะสีหน้าแววตาของนางเอก คือ "น้อย" คือ คุณคำลี่ พิลาวง สื่อได้อย่างชัดเจนถึงลักษณะเฉพาะ ซึ่งตรงนี้ นี่น่าจะเป็นจุดหนึ่ง ที่เป็นเสน่ห์ ที่น่ารักของความเป็น "คนลาว"

ถ้าคนใจร้อนมาดูหนังเรื่องนี้ และใส่ใจในรายละเอียดเสียหน่อย ก็อาจจะรู้สึกยืดยาด ว่าทำไม จะแสดงออกว่า เรารักใครมันถึงได้ยากเย็นขนาดนี้

จนบางที คนดู (ใจร้อน) ก็คิดเลยไปล่วงหน้าก่อนแล้ว ว่าเขาจะบอกรัก หรือสารภาพ รักกันยังไง ทั้งที่จริง ๆ แล้วกับหนังรักเรื่องอื่น คนดู ก็อาจจะต้องใช้การเดา มุขบอกรัก พอ ๆ กัน

แต่หนังรักของลาวเรื่องนี้มันพิเศษ ตรงที่ว่า เพราะความเรียบง่ายของการเดินเรื่อง คนดู เลยไม่ได้มัวไปนึกถึงปัจจัยอื่น ๆ ทางเทคนิค

หากแต่คิดอยู่อย่างเดียวว่า พระเอกนางเอก เขาจะดำเนินบทบาทกันอย่างไร

ซึ่ง การที่ คนดู มีเวลาได้คิดปรุงแต่งไปล่วงหน้าด้วยอารมณ์ท่ามกลางความช้า ความเนิบแบบนี้ แล้วด้วยความรุ้สึกคนดูที่ถูก "ชะลอ" ลง ผมก็เลยมองว่า เป็นความงดงามของหนังเรื่องนี้

และในตอนจบ แก่นของหนังรัก ด้วยข้อจำกัดของชีวิตมนุษย์ที่ว่า "บางที เราอาจจะไม่ได้อยุ่กับคนที่เรารัก หรือรักเรา" ก็ได้ถูกกล่าวซ้ำอีกครั้ง ด้วยกลิ่นอายที่มีลักษณะเรียบง่าย แต่ก็งดงามมีความเฉพาะในแบบของตน



Create Date : 26 สิงหาคม 2551
Last Update : 23 กันยายน 2551 20:02:16 น.
Counter : 536 Pageviews.

4 comment
โหมโรง: ก่อนที่จะไปวิจารณ์คนอื่น
ชีวประวัติ ของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ หรือ ศร ศิลปบรรเลง ถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เมื่อ ปี 2547

ตอนนั้น แรกเริ่มที่หนังเขาฉาย ดูเหมือนว่า คนจะไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าไหร่ เพราะ มองกันว่า เป็น หนังเกี่ยวกับดนตรีไทย เรา ๆ ท่าน ๆ พาลเหมา ไปอีกว่าอาจจะ "น่าเบื่อ"

แต่หลังจากที่ โหมโรง กำลังใกล้จะลาโรง ไปอย่างรวดเร็ว
จู่ ๆ กระแส ก็พลิกผันอย่างคาดไม่ถึง เมื่อ หลายต่อหลายคนในวงการสื่อมวลชนพยายามเชียร์ จนกระทั่งท้ายที่สุดก็กลับกลายเป็นหนังที่ทำรายได้ ได้อย่างถล่มทลาย

-------------------



หนังเรื่องนี้ผ่านมาหลายปีแล้ว และก็มีคนคนหยิบยกประเด็นที่น่าสนใจมาวิเคราะห์วิจารณ์กันมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ประวัติศาสตร์ช่วงสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือ ประวัติชีวิต บวกด้วยอัจฉริยภาพ ของ "ครูศร" เอง

แม้กระนั้นก็ดี
ประเด็นหนึ่งที่พบเห็นในหนัง แต่ยังไม่มีคนกล่าวถึงมากนัก ก็คือ "วัฒนธรรมการวิจารณ์งานศิลปะ" ที่แฝงอยู่ในสังคมไทย

ผมเคยพยายาม ทำความเข้าใจการวิจารณ์ ว่าเวลาเราจะชอบ หรือไม่ชอบงานอะไร ตอนไหน ตอนใด ที่คนอย่างเรา ๆ มีสิทธิ์วิจารณ์ได้บ้าง แล้วพอเราวิจารณ์แล้ว ความเป็น "สังคมไทย" จะยอมรับ อะไรอย่างไร ขนาดใดได้บ้าง

ในที่นี้ผมจะขอแยก การวิจารณ์ ออกเป็นสองลักษณะคือ

1. การวิจารณ์ที่ผุ้วิจารณ์ สามารถวิจารณ์ศิลปิน แต่ ไม่จำเป็นต้องทำได้ดีกว่าศิลปิน

2. การวิจารณ์ที่ผุ้วิจารณ์ สามารถวิจารณ์ได้และต้องทำให้ได้เหนือกว่าศิลปินคนที่ตัวเองวิจารณ์ด้วย

เช่น
บางที ผม ไปกินอาหารที่ภัตตาคาร แต่อาหารมันไม่ถูกปาก ผม ก็อยากจะวิจารณ์ ว่า "ไม่อร่อยเลย"

ทั้งที่ผม ก็ทำอาหารไม่เป็น

ตรงนั้น ผมว่า มันน่าจะเป็นการวิจารณ์ที่ยอมรับไ้ด้
เพราะผมเข้าใจว่า พ่อครัวแม่ครัวที "ใจกว้าง" น่าจะอยากรับฟัง นะครับ

(ยกเว้นจะเจอคนใจแคบ หรือไม่ก็พูดผิดเวลา)

ซึ่งการวิจารณ์แบบนี้ ผมก็อาจจะพูดขึ้นมาในฐานะผู้บริโภค ที่ต้องการจะ ติ เพื่อก่อ เพราะความนิยมชมชอบในอาหารร้านนั้นเป้นทุนเดิม

ซึ่งในกรณีนี้
ผมไม่ได้ไปอวดเก่ง ทำกับข้าวแข่ง ทั้ง ๆ ที่ทำไม่เป็นแล้วก็ไปตะโกนด่า ว่าคุณทำไม่อร่อยเลย

ในทำนองเดียวกัน
วัฒนธรรมตะวันตก การวิจารณ์แบบอาชีพ นักวิจารณ์ที่เกิดมาเพื่อวิจารณ์อย่างเดียว นี่แพร่หลายมาก

ก็เลยกลายเป็นว่า หากศิลปินคนไหน ถูกวิจารณ์มาก ๆ นั่นแปลว่า ศิลปินคนนั้นควรจะภูมิใจ เพราะอย่างน้อย งานของเขา ก็มีคนสนใจ ไม่ใช่ว่าผลิตงานออกมาแล้ว ลอยหายไปกับสายลมไม่มีคนพูดถึง

-------------------------

แต่ในทางตรงกันข้าม หากผมไม่ได้นิยมชมชอบรักใคร่เอ็นดูเจ้าของร้านอะไรมากมายนัก ก็จะพูดกันกับคนกันเองหรือไม่ก็คงบ่นว่า "ไม่เห็นอร่อยเลยหว่ะ" อยุ่กับตัวเองไป

ผม คงไม่กล้า ลุกขึ้นมาชี้หน้าด่า แม่ค้าร้านนั้นหรอกนะครับ เพราะผมกลัวจะโดนแม่ค้าด่ากลับแล้วแพ้ ทักษะสงครามนำลายสู้ไม่ได้ประการหนึ่ง

อีกประการหนึ่งมันเป็นการผิดกาลเทศะด้วยประการทั้งปวง ไม่ใช่เพราะผมทำกับข้าวไม่เป็นเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังเป็นเพราะ ถ้าพูดผิดเวลา มันอาจเป็นการทำให้แม่ค้าคนนั้นเสียหน้า ต่อหน้าลูกค้าคนอื่น ๆ บาปโดยไม่จำเป็นเข้าไปอีก

-------

ส่วนการวิจารณ์ที่ผู้วิจารณ์จำเป็นจะต้อง "ทำให้ได้" และ วิจารณ์โดยการ "ทำให้ดู" นั้น
ในบทความ ของ ศ.ดร. เจตนา นาควัชระ เรื่อง "วัฒนธรรมระนาดทุ้ม" กับภาพยนตร์เรื่องโหมโรง ตอนหนึ่ง เคยพูดถึง "การประชันระนาด" ว่าก็เป็นวัฒนธรรมการวิจารณ์อย่างหนึ่ง

"การประชัน" เป็นบรรทัดฐานคนวิจารณ์จะไม่กล่าวออกมาตรง ๆ แต่จะใช้การแสดงเทคนิคที่ตัวเองมีดีออกมา

กล่าวคือ คนเล่นจะพยายามใช้เทคนิคยาก มาเล่น เพื่อ ท้าทายฝ่ายตรงข้ามว่า

"เล่นแบบนี้ได้อะป่าว"

ถ้าฝ่ายตรงข้ามเล่นได้ ก็ต้องมีการหาลูกยาก ๆ กว่านั้นมาลองเชิงอีก แต่ถ้าทำไม่ได้ ก็เป็นอันว่า ฝ่ายตรงข้าม ได้ "ถูกวิจารณ์" ไปเรียบร้อย แล้วว่า เขาเล่นเทคนิคนั้น ๆ ไม่ได้

ผมเข้าใจว่า ในการประชันกลอน ก็คล้าย ๆ กัน
ครูกลอนท่านหนึ่ง เคยบอกไว้ว่า เวลาเขียนกลอนประชันกัน ถ้าเราใช้เทคนิคที่เหนือกว่า ใช้ภาษาที่งดงามกว่า ฝ่ายตรงข้าม หากว่ามี สามัญสำนึก เขาก็จะหยุดฟังเรา

เพราะการที่เราทำเช่นนั้นแสดงว่า เรากำลังวิจารณ์เขาอยู่

และถ้าเขาอยากวิจารณ์เรากลับบ้าง เขาก็ต้อง "งัด" ทักษะ อื่น ๆ ในเชิงกลอนที่เขาคาดว่าเราทำไม่ได้ มาประลอง กัน


เมื่อวัฒนธรรมการละเล่นแบบไทย ๆ เป็นเช่นนี้แล้ว
เพราะฉะนั้น คนที่จะไปวิจารณ์คนอื่นได้ ก็ต้องเล่นเป็นในสิ่งนั้น พอสมควร อย่างน้อย ก็ต้องมีความรู้มากกว่า คนที่เขาจะไปวิจารณ์ให้ได้เสียก่อน

ตรงนี้ ก็ต้องถามต่อไปอีกว่า จะเอา "มาตรฐาน" อะไรมาวัดล่ะ ว่าฝีมือขนาดไหน ถึงเรียกได้ว่า ผู้วิจารณ์ "เก่ง" กว่าผุ้ถูกวิจารณ์ หรือยัง

ผมก็ตอบไม่ได้หรอกคับ
แต่อย่างน้อย ถ้าอ้างอิงวัฒนธรรมแบบนี้แล้ว คนที่จะไปด่าคนอื่น ก่อนอื่นเขาต้องสำรวจตัวเองให้ดีเสียก่อน

เพราะไม่เช่นนั้นเราคงจะเห็น

เด็กหัดเล่นระนาดใหม่ ๆ ไม่เป็นกระบวน ไปอหังการ์ประชันระนาด แข่งกับครู ระดับขุนอิน

หรือถ้าเป็นกลอน เราก็จะอาจเห็นคนแต่งโคลงกลอนห่วย ๆ ผิดฉันทลักษณ์ ตกเอกโท ไป ชี้หน้าด่า บรมครูระดับสุนทรภู่ แบบหน้าไม่อาย

ซึ่งในโลกปัจจุบัน นี้ผมว่าผมเห็นเหตุการณ์คล้าย ๆ แบบนี้เยอะมากเลยนะครับ

ไอ้พวกด่าคนอื่น แล้วไม่ดูตัวเอง

นอกจากจะไม่มียางแล้ว ยังมีพรรคพวกลิ่วล้อมาสนับสนุน เฮโล เชียร์อีกตางหาก ประมาณว่า ถิ่นใครถิ่นมัน ถิ่นไหน ก็ใช้กฎของ "ผู้มีอิทธิพล" ประจำถิ่นเป็นเกณฑ์สำคัญ

ความถูกต้องจึงไม่ได้เป็นเรื่องของเนื้องานศิลปะอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องใครพวกมากกว่าไปซะอย่างงั้น


ก็ทำไงได้

เพราะระดับ "สามัญสำนึก" ของคนเรามันต่างกัน



Create Date : 22 สิงหาคม 2551
Last Update : 23 กันยายน 2551 20:04:50 น.
Counter : 1692 Pageviews.

1 comment
Shaolin Girl: นักเตะสาวเสี้ยวลิ้มยี้

ผมเคยไ้ด้ยินญาติผู้ใหญ่สอนไว้ว่า
"เวลาลงแข่งขันอะไร อย่าสักแต่คิดอยากจะเอาชนะ เพราะถ้ามุ่งมั่นเกินไปมันจะทำให้เราพ่ายแพ้"

ตอนนั้นผมฟังแล้วก็งง

ก็ถ้าไม่ให้คิดอยากจะเอาชนะ แล้วมันจะชนะได้ยังไง

---------------

พอเวลาผ่านไป หลังจากที่เริ่มได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้นทีละนิดทีละหน่อย ผมก็เริ่มจะเข้าใจว่า

การไม่อยากชนะ นั่นไม่ได้หมายถึงการยอมหมอบราบคาบแก้ว จนไม่ใส่ใจ ฝึกฝน ไม่พยายาม

แต่ มันคือการ ตั้งเป้าหมายไว้ โดยปราศจาก ความ "อยาก" แบบ "กระเหี้ยนกระหือรือ" จนกระทั่งว่า ความอยาก นั้นมันมาทำลายจิต อันเป็นสมาธิ ในขณะ ฝึกฝน กิจกรรมนั้น ๆ ตางหาก

เพราะผลสำเร็จ ไม่อาจคาดหวังจากความพยายามเพียงไม่กี่ครั้ง

ยิ่งกระเหี้ยนกระหือรือ โดย มุ่งหมายกับ "ผล" มากจนเกินไป แล้วไม่เห็นความสำเร็จ มันจะเป็นการกดดันตัวเองเปล่าๆ สุดท้าย ก็จะอารมณ์เสีย พออารมณ์เสีย ก็เหนื่อยหน่ายยอมแพ้ ในที่สุด

ตรงนี้ก็คงตรงกับ สิ่งที่ Deepak Chopra กล่าวไว้ในหนึ่งในเจ็ดข้อ ของความสำเร็จทางจิตวิญญาณว่าด้วย "ความพยายามให้น้อยที่สุด"

ซึ่งความพยายามให้น้อยที่สุดในที่นี้ไม่ได้หมายความไม่ให้พยายาม หรืออยู่เฉยๆ สบาย ๆ แต่ ให้ มุ่งสมาธิ มาสู่ ปัจจุบันเป็นสำคัญ มากกว่า ที่จะไปคาดหวังที่จุดหมาย

กล่าวคือ หากทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ผลที่ตามมาในอนาคตก็ย่อมจะดีไปด้วย

------------------------------------
หนังเรื่อง นักเตะสาวเสี้ยวลิ้มยี้ ยิ่งตอกย้ำ
ลักษณะแนวคิดดังกล่าว



จะเห็นได้ว่า "ริน" เมื่อแรกเริ่มเข้าร่วมทีมลาครอสนั้น

เธอมุ่งเน้น ที่ผลการแข่งขัน คือ่อยากเอาชนะมากเกินไป จนบางครั้งดูลนลาน และเห็นแก่ตัวเกินเหตุ

พอมุ่งหวังอยากแต่จะชนะ พอยิ่งพลาด ก็ยิ่งลน จนบ่อยเข้า ทั้งทีมก็พัง
และผลที่ได้รับกับกลายเป็นความพ่ายแพ้ของทีม

จนท้ายที่สุด "ริน" ก็ได้เรียนรู้ว่า การมัวพะวง กระเหี้ยนกระหือรือ เร่งรีบไปให้ถึงแต่จุดหมายปลายทาง คือ ชัยชนะ นั้น มันทำให้เธอพลาด ที่จะเห็นอะไรในรายละเอียดไป

ในทางตรงกันข้าม หากเธอให้ความสนใจกับรายละเอียดรอบตัว สังเกตสิ่งต่าง ๆ ให้มากขึ้น หายใจให้ช้าลง ปรับสมดุลให้เข้ากับสภาพแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอเคยปรารถนา ก็จะประดังประเดมาหาเธอเอง โดยที่เธออาจไม่ต้องออกแรงพยายามให้เหนื่อยเลย

และนั่นก็คือแนวคิดสำคัญประการหนึ่งของศิลปการต่อสู้แบบกังฟู



Create Date : 17 สิงหาคม 2551
Last Update : 23 กันยายน 2551 20:20:50 น.
Counter : 616 Pageviews.

1 comment
สัญญารัก 20000 วัน : Love in the Time of Cholera
Love in the Time of Cholera เป็นนวนิยายภาษาสเปนระดับรางวัลโนเบล ที่มีชื่อว่า El Amor en los Tiempos de Colera แต่งโดย กาเบรียล การ์เซีย มาเกซ นักเขียนชาวโคลัมเบีย





คือจริง ๆ ผมก็ไม่เคยอ่านต้นฉบับหรอก ได้ยินชื่อก็ตอนมันเป็นภาพยนตร์แล้ว

เหมือนกับว่า เหตุการณ์นี้จะเกิดในประเทศโคลัมเบีย ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เมื่อบุรุษไปรษณีย์ที่ชื่อว่า ฟลอเรนติโน่ อาริซ่า ผู้ต่ำต้อย ดันไปตกหลุมรัก กับหญิงสาว ในตระกูลนายทุนอันมีฐานะพอจะกิน อย่าง เฟอร์มิน่า ดาซ่า



ทั้งคู่ ลักลอบส่งจดหมายรักหากัน จนกระทั่ง พ่อ ของฝ่ายหญิงจับได้

และเหตุการณ์ก็คล้ายคลึงกับละครน้ำเน่า แบบไทย ๆ เสียเหลือเกิน เมื่อพ่อได้กีดกันทั้งคู่ไม่ให้พบกัน เพราะไอ้ฟลอเรนติโน่มันมีอาชีพไม่น่าชื่นชมและต้อยต่ำด้วยประการทั้งปวง



คุณพ่อได้ส่งฝ่ายหญิงไปอยุ่ชนบทห่างไกล
และเกลี้ยกล่อม ลุกสาวตัวเองทุกวันว่า

"ความรู้สึกที่มีต่อบุรุษไปรษณีย์นั้นไม่ใช่ความรัก แต่มันเป็นภาพลวงตา ความรักไม่มีอยุ่จริง และเป็นเรื่องเพ้อฝัน สถานภาพทางสังคม และความมั่นคงในชีวิตต่างหากที่เป็นสิ่งที่จับต้องได้"

คุณพ่อทั้งบังคับขู่เข็ญ เฆี่ยนตีสารพัด จนกระทั่ง เฟอร์มินา ดาซ่า เริ่มพยายามเชื่อในสิ่งที่พ่อบอก แม้ว่าลึก ๆ จะรู้สึกรัก ฟลอเรนติโน่อยู่

เธอก็ตัดใจ และ ปฏิเสธ ฟลอเรนติโน ในที่สุด

สองสามปีผ่านไป
เฟอร์มิน่าก็ได้แต่งงานกับนายแพทย์คนหนึ่ง ชื่อ ฆูแบร์นัล
ชีวิตของเธอดูผิวเผินเหมือนจะมั่นคง แต่ จริง ๆแล้วมันแฝง ความกระท่อนกระแท่นอยู่ในตัว ทั้งปัญหาคลาสสิค อย่างความไม่ลงรอยกันระหว่าง "แม่ผัวลูกสะใภ้" หรือ "สามีไปมีบ้านเล็กบ้านน้อย" ก็ตามแต่

------------------------------

ฟลอเรนติโน่ รู้สึกเสียใจอย่างมาก ที่ถูกเฟอร์มิน่า ปฏิเสธ
เขาเชื่อย่างปักใจ ว่าจริง ๆ แล้วเฟอร์มิน่า ยังรักเขาอยู่ และก็ตั้งคำมั่นสัญญาว่า เมื่อใด ก็ตาม ที่ ไอ้หมอฆูแบร์นาล นั่นตายไป เขาจะไป ขอ เฟอร์มิน่า แต่งงานอีกครั้ง และจะไม่ยอมเสีย "ความบริสุทธิ์" ให้กับหญิงใด เลยในระยะเวลาต่อจากนี้

--------------------

ทุกครั้ง ที่ฟลอเรนติโน่ ร้องไห้ เราคนดูก็จะเห็นแม่ของฟลอเรนติโนก็กอดเสาร้องไห้ทุกข์ใจไปกับลูกด้วย
ประสาแม่ที่รักลูกมาก
เธอพยายามจะทำทุกวิถีทาง เพื่อให้ลูก พ้นจากความทุกข์อันเกิดจากความรักที่ไม่สมหวังนี้

เธออยากให้ลูกชายของเธอลืม เฟอร์มิน่าให้ได้

คุณแม่จึงได้ออกอุบายให้ ทั้งการร้องขอให้เจ้านายเขาย้ายเขาไปทำงานในเมืองอื่น หรือไม่ว่าจะเป็นการทำทีเป็นพาหญิงหม้ายที่บ้านพังเพราะสงครามกลางเมือง ให้มาพักในห้องเดียวกับฟลอเรนติโน่ เพื่อยุให้เขาตบะแตก ยอมเสียความบริสุทธิ์เป็นครั้งแรก

หลังจากที่ถูกผู้หญิงสามคน "ฉุด" เข้าไปทำมิดีมิร้ายในเรือโดยสาร
ประกอบกับกลอุบายที่แม่พยายามสรรหามาทำให้เขาลืมความทุกข์จากรักที่ไม่สมหวัง

ในที่สุดฟลอเรนเลยสูญเสียความบริสุทธิ์จนได้ แล้วเขาก็เริ่มพบว่า การได้มีอะไรกับผู้หญิงมากหน้าหลายตา มันทำให้เขาบรรเทา ความคิดถึง เฟอร์มิน่า ไปได้บ้าง

หลังจากนั้น เขาก็เริ่มจดบันทึกชื่อของผุ้หญิงทุกคนที่ผ่านเข้ามาชีวิต
และเริ่มสร้างฐานะด้วยการรับจ้างเขียนกลอนรัก และเป็นผู้ช่วยในการดำเนินธุรกิจจนสามารถไต่เต้าขึ้นมาเป็นบรัษัทอันมีชื่อแห่งหนึ่งในโคลัมเบียได้

-----------------------------

จนกระทั่ง 51 ปีผ่านไป ฆูแบร์นาล สามีที่เป็นหมอของ เฟอร์มิน่า ได้ตายลงจริงๆ
โอกาสจึงกลายเป็นของฟลอเรนติโน
แม้ว่าอายุ อานาม จะปาเข้าไป 70 กว่าปีแล้ว



และแม้ว่า"หญิงสาวสะสม"ที่อยู่ในสมุดบันทึก ของการผ่าน "การร่วมประเวณี" ของเขา จะปาเข้าไป 600 กว่านาง แล้ว

แต่เขาก็ไม่ละความพยายามจะย้อนอดีตหาความรักในวัยหนุ่ม
เขาได้เริ่มเขียนจดหมายรัก จีบหญิงคนรักคนเดียวของเขาอีกครั้ง

ฟลอเรนติโน่ใช้เวลาจีบเฟอร์มินาหญิงชราอีกสองปี จนกระทั่ง ในที่สุด หลังจากที่รอคอยมานานนับครึ่งศตวรรษ
ความรักของเขาก็ประสบความสำเร็จ

อย่างที่คนดูอย่างผมไม่รุ้จะรู้สึกเศร้าใจหรือว่าขำดี




------------------------
เป็นที่น่าสังเกตว่า นวนิยายละตินอเมริกามีหลายอย่างที่คล้ายคลึงกับละครไทย ทั้งการกีดกันความรักระหว่างชายหญิง ปัญหาแม่ผัวลูกสะใภ้ หรือเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ทั้งหลาย

แต่ตอนที่น่ากล่าวถึงที่สุด คือคำพูดของนักธุรกิจผู้หนึ่งที่ผมดูแล้ว อดไม่นึกถึงการเมืองบ้านเราไม่ได้

เมื่อฟลอเรนติโนกำลังหางานทำ แล้วพูดว่า

ฟลอเรนติโน่บอกว่า : I want to be rich like you (ผมอยากรวยเหมือนคุณบ้าง)
นักธุรกิจคนนั้นตอบกลับมาว่า: I am not rich. I am just a poor guy with a lot of money (ผมไม่ใช่คนรวย แต่เป็นคนจนคนหนึ่งที่มีเงินมากมาย ก็เท่านั้น)

ดู ๆ แล้ว เริ่มคิดขึ้นมาได้ว่า บางที คนเรา แม้จะมีเงินเยอะ แต่ก็ไม่สามารถเป็นคนรวยได้จริง ไม่เชื่อลองมองไปรอบ ๆ ตัวคนเราปะไร คนบางคนมีเงินมากมาย แต่เหตุใด จึงยังจนใจ จนหนทางชีวิต มีเงินมากก็แทบไม่ได้ช่วยให้ตัวมีความสุขขึ้นมาได้เลย

คงไม่ต่างจาก ฟลอเรนติโน่ เอง ที่แม้ว่า เขาจะผ่านหญิงมา 600 กว่า คนแต่นั้น ก็ไม่ได้มีความหมายกับเขา เท่ากับ ที่ได้อยู่เคียงข้าง เฟอร์มิน่าเพียงคนเดียว



Create Date : 15 สิงหาคม 2551
Last Update : 23 กันยายน 2551 20:27:21 น.
Counter : 1719 Pageviews.

1 comment
อุดมคติในคืนมืด: ฺBatman - The Dark Knight
ผมเข้าชมหนังเรื่อง Batman ครั้งล่าสุด เมื่อปี 1995 เท่าที่จำได้น่าจะมี Jim Carey เป็นผู้แสดงนำ
พอมาชมภาค The Dark Knight หรือชื่อไทยว่า "ัอัศวินรัตติกาล" ก็เลยไม่ค่อยจะปะติดปะต่อที่มาที่ไปอะไรได้เท่าไหร่



ตอนแรก ๆ ดู แล้วก็งง ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร แต่พอหนังเริ่มไปสักระยะ ความทรงจำสมัยที่ดูการ์ตุน Batman ที่ช่องเจ็ดเคยเอามาฉายตอนเช้า เสาร์อาทิตย์ ก็เริ่มกลับมาอีกครั้ง
ตัวสนับสนุนของเรื่อง ก็มี Rachel และ Alfred ที่คอยดูแล
ตัวเอก ก็คือ Bruce Wayne หรือเด็ก ๆ แถวบ้านผมเรียกว่า "ไอ้เวยน์" (Mr Wayne) เป็นนักธุรกิจหนุ่ม ผู้ที่ได้ตัดสินใจเสียสละความสุข ส่วนตัว เพื่อปราบปรามเหล่าร้าย โจรและมาเฟียในเมือง Gotham City


แต่การสียสละของ คุณเวยน์ เนี่ย กลับเป็นปฏิบัติการที่ต้องคอยซ่อนตัวตนที่แท้จริง
โดยจะมาในรูปของมนุษย์ค้างคาว ผู้ที่ชาวเมือง Gotham ก็ไม่รู้ว่าเขาคือใคร
แต่เมื่อไรที่เขามา ก็เป็นเรื่องดี เพราะเขามาช่วยเรา

แรก ๆ ไอ้คุณเวยน์ ก็คงรู้สึกสนุกกับการทำหน้าที่เป็นฮีโร แต่พอเวลาผ่านไป เขาคงเริ่มรู้สึกว่า ถ้าจะให้ทำหน้าที่อย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เก้คงจะเป็นไปไม่ไดที่จะรักษาภาพลักษณ์ และความดีไว้ไม่ให้พร่อง

ถ้าจะพูดในภาษากีฬา ก็คงจะประมาณว่า "การเป็นแชมป์ว่ายากแล้ว การรักษาแชมป์ยิ่งยากกว่า"

เพราะในภาค The Dark Night นี้ อะไร ๆ ก็เริ่มแปลกเปลี่ยนเพี้ยนไป
ไม่ว่าจะเป็นการที่มีคนแต่งตัวเลียนแบบ Batman แล้วมาทำท่าปราบปรามเหล่าร้าย (แต่ดันโดนคนร้ายจับฆ่าเสียเอง) เป้นจำนวนมาก

แถม Rachel คนรัก ยังผละหนีเขาไปคบหาอยู่กับฮาร์วีย์ เดนท์ หนุ่มคนใหม่อีกตางหาก

คุณเวยน์จึงเริ่มมีความคิดที่ จะ "ถ่ายโอน" หน้าที่ฮีโร ของเขา ออกมาจากความมืด เพื่อมอบหมาย ให้ ฮาร์วีย์ เดนท์ ถ้าจำไม่ผิดหมอนี่ น่าจะเป็นอัยการของเมือง ให้รับบทบาทการปราบปรามผู้ร้าย และยืดอกได้อย่างภูมิใจ

---------------------



แต่การเป็นฮีโร หรือ การทำความดี นั้นไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ สำหรับคนมีความสามารถแต่กำลังใจอาจไม่แข็งพอ

พอการทำดี ไม่ใช่ว่าจะเห็นผลวันสองวัน

่เมื่อทำดี แล้ว ผลดีมันดูเหมือนว่าไม่สามารถเห็นผลได้ หลายๆ คน ก็อาจจะท้อ จนเลิกทำความดีไปเลย

บางคนถึงขนาด จะทำความชั่วประชด เสียนี่

ยิ่งเป็นคนที่มีความสามารถและตั้งใจจริง แล้วยิ่งอันตราย

---------------------

ตัวร้ายในเรื่องคือ Joker ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่น่ากล่าวถึง

๋Joker มีความเจ็บแค้นเพราะชีวิตวัยเด็ก ต้องเจอกับเรื่องราวไม่สู้ดี ซึ่งนั่นก็คือ "แผลเป็น" ที่กลายเป็นตราบาป ติดตรึงทั้งที่ใบหน้า และหัวใจของเขามาทั้งชีวิต

จน ตัว Joker เองเชื่อว่า โลกนี้ทั้งโลกสุดท้ายแล้ว ก็จะมีแต่ความเลว ที่จะขึ้นเถลิงอำนาจเหนือความดีทั้งปวง

เขาไม่เชื่อว่าแม้แต่คนที่อยู่ฝ่ายธรรมะ ก็จะหันกลับมาเป็นเครื่องมือ ของอธรรม

และการเฝ้ามองคนทำความชั่วก็เหมือนจะกลายเป็นความสุขสำราญของนาย Joker ไปเสียนี่

---------------

ฉากสำคัญของเรื่องก็คือการที่ Joker หลอกให้ชาวเมือง และนักโทษลงไปอยู่ในเรือ

แล้วให้รีโมทระเบิดให้ คนในเรือแต่ละลำ ไว้ แล้วบอกว่า



"ถ้าคุณไม่กด ระเบิดเรือลำโน้น คนในเรือลำโน้นเขาก็จะระเบิดคุณ"

ดูมาถึงตรงนี้ แล้วผมอดคิดโยงมาถึงสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบันไม่ได้
ว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์คล้าย ๆ กันนี้

คนสองฝ่าย มันคงกดระเบิดกันตูมตามลามบ้านลามเมืองกันไปหมดแล้ว

เป็นเรื่องยากที่ความเชื่อในอุดมคติจะเกิดขึ้นได้จริง
เพราะถ้าเกิดได้จริง เราก็คงไม่เรียกมันว่า อุดมคติ



Create Date : 31 กรกฎาคม 2551
Last Update : 23 กันยายน 2551 20:31:49 น.
Counter : 386 Pageviews.

2 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  

เชษฐภัทร
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]



New Comments
All Blog
MY VIP Friend