ฮักนะ(เด้อ) สารคาม: เทรนด์ภาษาอีสานกำลังแฮง
ไม่รู้ว่าเป็นความบังเอิญหรือเปล่า ที่หลังจากดาราเชื้อสายอีสาน พากันโด่งดังเป็นผลุแตกทางโทรทัศน์และภาพยนต์ ไม่ว่าจะเป็น ณเดช เวียร์ หรือมิน ภาพยนตร์ อีสาน ก็หลั่งไหลออกมาให้คนเสพย์ภาพยนตร์ได้บริโภคกันอย่างไม่ขาดสาย

สำหรับคนที่ไม่ได้พูด/ไม่ได้ฟัง/ไม่คุ้นกับภาษาอีสาน หรือภาษาลาว ผมไม่แน่ใจว่า เขามองคนที่พูดภาษาอีสานอย่างไร และก็คงไม่กล้าจะคาดเดา พื้นฐานทางความคิดดั้งเดิม ที่เขาตั้งไว้ ว่าคนที่ "พูดอีสาน" ต้องมีลักษณะ อย่างที่พบเห็นดาราตามทีวีในอดีตเป็น หรือไม่

แต่ที่แน่ ๆ ที่มั่นใจ คือ เวลา ณเดช พูดลาว หลายคนฟังแล้ว "หัวเราะ" อย่างมีความสุข แต่ถ้าจะถามว่า "สุข" เพราะอะไร สุข เพราะ "ไม่เคยได้ยิน" หรือ "ผิดคาด ที่คนพูดอีสานต้องไม่ใช่หน้าตาอย่างนี้" หรือไม่นี่ก็คงจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่อยู่ลึกเกินกว่าวิสัยที่จะไปตามถาม เพื่อเอาคำตอบ แต่เอาเป็นว่า ได้ฟังแล้วคงรุ้สึกดี บ้างไม่มากก็น้อย

-----------

การได้ดูหนังเรื่อง "ฮักนะ สารคาม" ต่อจาก "ปัญญา กับเรณู" ยิ่งตอกย้ำซ้ำเติมสมมติฐานที่ตั้งธงไว้ในใจว่า ภาษาที่ยังมีคนพูดคนใช้ นั้นเปลี่ยนแปลงตลอด ไม่ต้องไปพูดถึงภาษาไทย ที่วัยรุ่นไทย พูดจนเปลี่ยนเปี้ยน ทั้งการใช้คำ หรืออักขรวิธี จนร้อนถึงครูภาษาไทย ต้องพยายามดุด่าว่า กล่าวเพื่อ มา "ควบคุม" และ "ชลอ" การเปลี่ยนแปลงนั้น

ก็ขนาดภาษาไทยกลางยังมีหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ควบคุม มันก็ยังเปลี่ยนอย่างที่เราเห็น

ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ภาษาถิ่นอื่นๆ ที่ปราศจากหน่วยงานอย่างว่า จะ "ปนเปื้อน" อิทธิพลภาษาอื่นแค่ไหน

ดังที่ได้ยกตัวอย่างจากเรื่องปัญญากับเรณู ในคำว่า "กลับบ้าน" แทนที่จะเป็น "เมือบ้าน" ไปแล้ว

ยิ่งในหนังเรื่อง "ฮักนะ สารคาม" เป้นเรื่องราวชีวิตของวัยรุ่น ภาษาอีสานหรือภาษาลาวที่ใช้จึงเป็นภาษาที่วัยรุ่นอีสานใช้พูดกันจริง ๆ ก็ยิ่งได้รับอิทธิพลภาษาไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งผู้ใช้จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็แล้วแต่

อย่างเช่นคำสร้อย ภาษาอีสาน เช่นคำว่า "เด้อ" หรือคำว่า "ตี้ล่ะ"

คำว่า "ตี้ละ" แปลว่า "สิ" ใช้ในการเชิญชวน เช่น

"ไปตี้ล่ะ" (Let's go) จะแปลว่า "ไปสิ"
"กินตี้ล่ะ" (Let's eat) จะแปลว่า "กินสิ"

หรือ

"เด้อ" จะ แปลว่า "นะ" ในภาษาไทยกลาง หรือ "เน้อ" ในภาษาเหนือ
เช่น ถ้าจะพูดว่า "รักนะ" ก็จะต้องบอกว่า "ฮักเด้อ"

ถ้าพูดว่า "ฮักนะ" นั่นน่าจะเป็นภาษาที่ขาโจ๋เขาใช้กันอยู่ในวัยรุ่นเสียแล้ว

ซึ่งถ้า concept และเนื้อหาสาระ ต้องการสื่อถึงชีวิตคนรุ่นใหม่ในอีสาน (ไม่ใช่เรื่องราวของคนรุ่นก่อน หรือของเด็ก อย่างปัญญากับเรณู) การตั้งชื่อหนังว่า "ฮักนะ" ก็น่าจะตรงตามเจตนาการใช้งานและกลุ่มเป้าหมายอยู่ และก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเลย ที่ใช้ เพลงของบอดี้สแลม ที่ร้องกับศิริพร มาเป็นหนึ่งใน soundtrack ด้วย

โดยรวมแล้วประเด็นทางด้านภาษาทีมงานทำหนังเรื่องนี้ทำได้ดีมาก ยิ่ง sub-title ยิ่งแปลได้ถึงใจได้อารมณ์มาก คือไม่ได้แปลโดยยึดติดกับคำในความหมายแรก (first meaning) อย่างเดียว แต่ลงลึกไปถึงคำในความหมายในระดับวาทกรรม (discursive) และมั่นใจว่า ทำได้ดีกว่าหนังอีสานหลายๆ เรื่อง หลังๆ เสียอีก อันนี้ต้องขอชมเชย

--------------------------

"ฮักนะ สารคาม" เป็นเนื้อเรื่อง คล้าย ๆ กับหนังฝรั่งอย่าง Love Actually หรือแม้กระทั่ง "ปิดเทอมใหญ่หัวใจว้าวุ่น" ที่เป็นการผสมผสานเรื่องราวหลากหลายระหว่างผู้คนที่มีบทบาทหน้าที่ในชีวิตแตกต่างกันไป แต่ในการใช้ชีวิตนั้นของคนหลายคนกลุ่มนั้น ต้องมาเกี่ยวข้องกันโดยไม่รู้ตัว เพียงแต่ต่างจาก Love Actually ตรงที่บริบทของเรื่องนั้นเกิดในตัวเมืองมหาสารคาม

ไม่ว่าจะเป็นคนในรุ่นเก่าที่พยายามรักษาอัตลักษณ์ดั้งเดิมของความเป็นอีสาน และคนรุ่นใหม่ที่ต้องเติบโตขึ้นมาในยุคที่ความเป็นอีสานกำลังถูกปนเปื้อนโดยความเป็นอื่น อันนี้ไม่ได้หมายรวมถึงภาคกลาง กรุงเทพ เพียงอย่างเดียว อย่างเช่นลูกชายของหมอลำฝีมือเยี่ยมที่เขินอายทุกครั้งที่ต้องเปิดเผยว่าตัวเอง "เว้าลาวได้" แต่ยังมีความเป็นตะวันตก และความเป็นตะวันออก ต่างประเทศรวมด้วย เพียงแต่เราไม่ได้ใส่ใจกับมันมาก เช่น การเล่นกีฬาเทควันโด

นักศึกษามหาวิทยาลัยในใจกลางสะดืออีสาน หรือนักเรียนม.ปลายที่ต้องการสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่กำลังเลือกว่าจะเข้ากรุงเทพดี หรือว่าจะอยู่บ้านดี หรือแม้กระทั่งตัวละครที่เป็นเพศทางเลือกก็ตามที

มุขตลกของเรื่องก็มีมาเรื่อย ๆ ผมไม่แน่ใจว่าคนที่ไม่เข้าใจภาษาอีสานถ้ามาดูเรื่องนี้จะขำหรือเปล่า เท่าที่ฟังจากเพื่อนภาคกลางที่ไปดูแหยม ยโสธรภาคหนึ่ง บอกว่า ดูแล้วขำบางมุขไม่ทัน เพราะมัวแต่อ่าน subtitle อยู่ แต่อย่างที่บอก เรื่องฮักนะสารคาม คนแปล subtitle ทำการบ้านมาดีมาก


------------
นอกจากความคล้ายหนังเรื่องก่อน ๆที่ต้องการขยายลักษณะตัวละครเพื่อให้เขาถึงกลุ่มผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด แล้วบางครั้งก็ยังมีการอ้างถึง (allusion) ภาพยนตร์เรื่องก่อน เช่น "รักแห่งสยาม" หรือ "เพื่อนสนิท" อีกด้วย ซึ่งถ้าจะให้ชมให้ได้อรรถรสเพื่อจะ "get มุก" ยิ่งขึ้น ผู้ชมจะต้องดูหนังพวกนี้มาบ้างแล้ว



สไตล์การทำหนังยังมีเจตนารมณ์คล้ายกับหนังเรื่อง Season Change ที่ต้องการโปรโมตสถานศึกษาในตอนนั้นคือดุริยางคศาสตร์ มหิดล

แต่ "ฮักนะ สารคาม" อาจจะโปรโมท มหาวิทยาลัยสารคาม และมนต์เสน่ห์ของเมืองสารคาม รวมถึงภาษาอีสาน และแพทย์ในโรงพยาบาลที่มีงานอดิเรกในการร้องหมอลำเองด้วย

โดยส่วนตัวแล้ว อาจจะเป็นเพราะความสนใจในการสังเกตปรากฎการณ์การเปลี่ยนแปลงทางภาษาอยู่เป็นทุนเดิม ผมชอบหนังเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวัยรุ่น ที่ไม่ใช่วัยรุ่นชนชั้นกระแสหลักของสังคมไทย แต่เป็นวัยรุ่นในภาคอีสาน

ภาษาที่ใช้จึงเป็นภาษาอีสานของคนในวัยนี้ ที่มีพลวัตร ด้วยเพราะไม่เคยมีใครทำหนังอีสานที่มีเรื่องราวของคนในวัยนี้และก็ไม่ค่อยใครสนใจจะศึกษา



Create Date : 20 มีนาคม 2554
Last Update : 20 มีนาคม 2554 8:04:46 น.
Counter : 862 Pageviews.

1 comments
  
3 รอบแล้วค่ะกับหนังเรื่องนี้
โดย: น้ำเคียงดิน วันที่: 27 มีนาคม 2554 เวลา:0:05:38 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

เชษฐภัทร
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]



New Comments
All Blog
MY VIP Friend