October Sonata: จิตสำนึกทางความรักกับจิตสำนึกทางการเมือง
แรกเริ่มก่อนที่ซื้อตั๋วชมหนังเรื่อง October Sonata สิ่งที่ผมคาดหวังที่จะได้พบในเนื้อเรื่อง ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากหนังรักทั่ว ๆไป ที่ดูแล้วยิ้มเล็กยิ้มใหญ่ สะเทือนความรู้สึก เอาใจตลาด

แต่พอดูหนังเรืองนี้แล้ว ผมกลับรู้สึกว่า ตัวหนังได้ให้อะไร ต่อมิอะไร มากกว่าที่ผมคาดไว้ คือจะกล่าวว่า หนังเรื่องนี้ดูแล้ว คุ้มเกินคุ้ม ก็คงจะไม่ผิดนัก คือดู แล้วไม่ได้รู้สึก "อิน" ไปกับความรักระหว่าง ชายหนุ่ม-หญิงสาว ชีวิตของคนเมืองคล้าย ๆ หนังเรื่องอื่นในรอบปีที่ทำรายได้ถล่มทลาย อย่าง "รถไฟฟ้ามาหานะเธอ" หรือ "ม.3ปี 4" เรารักนาย เท่านั้น แต่ผมกลับรู้สึกว่า ได้ฉุกคิดถึงประเด็นที่เกิดขึ้นรอบตัว จากชีวิตจริง หลายอย่าง ที่เรา ๆ ท่าน ๆ ก็คงพบเห็น เพียงแต่ ไม่ค่อย/ไม่เคยได้เก็บมาคิดไตร่ตรองหาที่มาของมันเท่าใดนัก

สัญลักษณ์ที่เป็นแก่นของเรื่องเริ่มปรากฏ ตั้งแต่ตอนที่หนังเริ่มดำเนิน

ระหว่างที่ "รวี" หนุ่มปัญญาชน ชี้ชวนให้ "แสงจันทร์" สาวช่างฝัน ชื่นชมกับความงามของหิ่งห้อยอยู่นั้น จู่ ๆ ความงามของหิ่งหอยเหล่านั้นก็พลันสลาย ไปด้วยความ "แรง" และ ความ "เร็ว" ของรถไฟที่วิ่งมาตัดหน้า

ผมอดนึกเชื่อมโยงไม่ได้ ว่า "หิ่งห้อย" นั่นเป็นตัวแทน ของ จินตนาการ จิตวิญญาแห่งความเป็นนักเขียน และความเป็นกวี แต่แสง และนาฏกรรมของมันช่างมีพลังงานน้อยเหลือเกิน จนกระทั่ง มันไม่อาจต้านทาน ความเร็วและแรง ของ แสงไฟจากหัวรถจักร์ ซึ่งเปรียบเสมือน กระแสของอำนาจทุนหรือเงินตรา ที่โหมแล่น เข้ามาทำลายจังหวะและลีลาของมัน


ขอบคุณภาพจาก Thaicinema

ผมอดจะนึกโยงไม่ได้ว่า ทั้ง "แสงหิ่งห้อย" และ "แสงไฟจากหัวรถจักร" นั้นเป็นสัญลักษณ์ของ แนวคิดหลัก ๆ ของหนังเรื่องนี้ที่อยากจะพูดถึง ก็มีอยุ่สองมุมมอง

1. ความมั่นคงของชีวิตคู่ นักหาเงิน v.s. นักคิดหรือนักเขียน

ในวาทกรรมทุนนิยมและวัตถุนิยม กระบวนการสร้างความหมาย ของ "ความเป็นหัวหน้าครอบครัว" ที่ดี คือฝ่ายชายจำเป็นต้องมี ทุนทรัพย์

ฝ่ายชายต้อง มีเงิน ซึ่งจะนำมาเป็นเครื่องมือในการดูแลปกป้อง ผู้หญิงได้ วาทกรรมนี้สถาปนาความเป็นใหญ่ในสังคมหลายต่อหลายสังคม

ผมไม่แปลกใจเลย ที่บ่อยครั้ง หลายคู่ เวลาเราเห็นผู้ชายสักคนจีบผู้หญิง เขาจะใช้วิธีประเคนข้าวของ แพง ๆ เอามาให้ฝ่ายหญิง เพื่อพิสูจน์ศักยภาพของเขา

ค่าของเงิน ซึ่งมาจากความสามารถในการทำมาค้าขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ ทุน เคลื่อนไหวไปทั่วโลกได้ อย่างรวดเร็วเช่นนี้ ยิ่ง ความสามารถในการหาเงินจึงเป็นตัวกำหนด สถานะ ต่ำสูง ของผู้ชาย ว่า พึงปรารถนา หรือไม่พึงปรารถนา สำหรับสตรีไปเสียแล้ว

ในเรื่อง นางเอก แม้จะ มีใจ ให้กับ "รวี" ซึ่งเป็นตัวแทนของ นักคิดนักเขียน นักจินตนาการ แต่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เธอ ก็ต้องยอมจำนน ต่อความ "จับต้องได้" ของ "ลิ้ม" พ่อค้านักธุรกิจ

เราจะเห็นได้ชัดว่า ลิ้มประกาศจุดยืนชัดเจน เขาไม่อยากมาเสียเวลาจินตนาการอ่านนิยาย เรื่องสงครามชีวิต ของ ศรีบูรพา สู้เอาเวลานี้ไป "ทำมาหากิน" ยังจะดีกว่า

ด้วยความที่ไม่แน่ใจ และความคลุมเคลือ ของ "รวี" หรือความที่ทั้งรวี และ แสงจันทร์ ต้องคลาดแคล้วเพราะโชคชะตาก็ตามแต่ ที่ รวี ก็ต้องจำยอมไปใช้ชีวิตคู่ กับชายที่ตนไมได้รัก

สุดท้าย เธอก็ต้องหนีออกมาตามเสียงหัวใจตัวเองเรียกร้อง

นั่นคือ ความพยายามตะเกียกตะกาย ต่อสู้กันระหว่าง ความรักที่แสงจันทร์มีต่อความเป็นนักเขียนของรวีซึ่งเป็นตัวแทนของความคิดจินตนาการ กับ ภาวบีบคั้นที่บังคับให้เธอต้องเลือกอยู่กินกับ "ลิ้ม" ซึ่งเป็นตัวแทนของพ่อค้า และนายทุน

จุดที่ผมพยายามครุ่นคิดต่อไปอีกก็คือ
แม้ในหนังพยายามจะแยก สองขั้วของกลุ่มคนออกจากกัน แต่ส่วนตัวแล้วผมยังเชื่อว่า คนทั้งสองกลุ่ม นั้น แปดเปือนและปะปนกันอยู่

ในชีวิตจริง หลายครั้งหลายหน ที่นักเขียนต้องอาศัยวิธีทางการตลาดเพื่อจะมีชีวิตรอด ในขณะเดียวกัน หลายครั้งหลายหน เราก็พบว่า งานเขียนของนักคิดนักเขียน ไม้เว้นแม้กระทั่ง นักเขียนเพื่อชนชั้นกรรมาชีพเอง ก็ยัง "ถูกแปรให้เป็นทุน" โดยชนชั้นนายทุนเลย

เพราะฉะนั้น ในชีวิตจริง คนสองกลุ่มนี้จึงประกอบสร้างกันและกัน แยกจากกันไม่ออกเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

-------------------------

2. มิติทางการเมือง กลิ่นอายของนักคิดนักเขียนหัวก้าวหน้า

ผมกล้าพูดได้เต็มปากว่าภาพยนตร์เรือ่ง October Sonata ไม่ใช่เรื่องราวของความรักโดยไม่ได้สอดแทรกถึงแง่คิดสังคมการเมือง

ตลอดทั้งเรื่องผมสัมผัสได้ถึงกลิ่นอาย ความคิด ของนักเขียนระดับปรมาจารย์ในอดีต อย่าง ศรีบูรพา เสนีย์ เสาวพงศ์ หรือ แม้แต่ฉากช่วง 14 ตุลา หรือ 6 ตุลา ก็ชวนให้คิดถึงเบื้องหลังแหล่งกำเนิดวรรณกรรมทรงคุณค่า อย่าง "เพียงความเคลื่อนไหว" ของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ "ขุนทองเจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง" ของ อัศศิริ ธรรมโชต "ใบไม้ที่หายไป" ของ จีระนันท์ พิตรปรีชา

แม้กระทั่ง ฉาก ตอน ที่ "แสงจันทร์" เอ่ย ปากขอเงินเดือนจากนายจ้าง แล้วโดนนายจ้างปฏิเสธ แสงจันทร์ยืนกรานในความ เท่าเทียมกันของมนุษย์ แต่นายจ้างปฏิเสธ แล้วบอกว่า "เธอกับฉันมันเกิดมาต่างกัน เธอเป็นใคร แล้วฉันเป็นใคร ฉันนามสกุลอะไรรู้ไหม"

ตรงนี้ ช่างละม้ายคล้ายคลึงกับฉากตอนหนึ่งในนวนิยายเรื่อง "ปีศาจ" ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ และชวนให้ผมนึกถึงประเด็นด้านชนชั้นในสังคมไทย ที่พบเห็นในงาน "โฉมหน้าศักดินาไทย" ของจิตร ภูมิศักดิ์อย่างไรก็อย่างงั้น

นายจ้างของ แสงจันทร์ เปรียบเสมือน ชนชั้น ขุนศึกศักดินา
ลิ้ม เปรียบเสมือน ชนชั้น พ่อค้า หรือ "นายทุน"
ส่วนแสงจันทร์ นั้นเป็นไพร่ ที่ในยุคใหม่ กำลังจะกลายสภาพ มาเป็น "ชนชั้นกรรมาชีพ" ที่หากจะอ้างแนวคิด "คอมมิวนิสต์" แบบฮาร์ดคอร์ ที่ รวี ถูกยัดเยียดกล่าวหา ว่าเขาเป็นคอมมิวนิสต์ ก็ต้องบอกว่า แสงจันทร์ (ชนชั้นกรรมาชีพหรือไพร่" กำลังโดน กลุ่มนายทุน หรือ ขุนศึกศักดินาขูดรีด

ผมจะไม่เข้าไปถกหรือวิพากษ์ "วาทกรรมมาร์กซิสต์" ว่ามีกระบวนการการสร้างความหมาย หรือ อัตลักษณ์อย่างไร โดยที่มุ่งเน้นเรื่องปัจจัยการผลิตจนละเลยประเด็นทางวัฒธรรมไปหรือไม่ ด้วยเพราะบทความบทนี้ มีจุดประสงค์สำคัญ อยู่ที่การสื่อว่า ภาพยนตร์เรื่อง October Sonata มีความลึกซึ้งเกินจะบอกว่า เป็นเพียงแค่หนังรักอย่างดาด ๆ ทั่วไป

ความคิดทางสังคมการเมืองทุกอย่างถูกร้อยเรียงลงตัว พอ ๆ กับความโรแมนติกในความรักที่ไม่อาจจะเป็นจริงได้ ระหว่าง "แสงจันทร์" กับ "รวี" หรือแสงตะวัน

เพียงแค่ชื่อสองชื่อ คือตะวัน กับพระจันทร์ นั้นก็บ่งบอกในตัวของมันแล้ว ว่า ตะวันกับพระจันทร์ จะพบกันได้ ก็เพียงแค่ช่วงเวลา เช้าตรู่ และ ช่วงเวลาเย็นโพล้เพล้ใกล้ค่ำ ของแต่ละวัน เท่านั้น

เพราะฉะนั้น แสงจันทร์และรวี จึงมิอาจอยู่ร่วมกันได้ แม้ว่าหัวใจทั้งสองดวงจะคงอยู่เคียงคู่กันก็ตาม



Create Date : 28 ธันวาคม 2552
Last Update : 28 ธันวาคม 2552 21:16:41 น.
Counter : 747 Pageviews.

0 comment
Samsara: ไม่เห็นทุกข์ไม่เห็นทำ (ธรรม)
ภาพยนตร์เรื่อง Samsara เป็นเรื่องราวของพระลามะ นักปฏิบัติผู้หนึ่ง ซึ่งบวช เรียนมาตั้งแต่วัยยังเด็ก ถ้าให้เดาจากบริบทในท้องเรื่อง ลามะนักปฏิบัตินามว่า "ต้าชิ" ผู้นี้น่าจะเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ตั้งแต่อายุ 5-6 ขวบโน่น

ต้าชิ ฝึกปฏิบัติการทำสมาธิ หรือ ฌาณสมาบัติจนน่าจะบรรลุขั้นสูง เพราะ เขาได้เข้าไปนั่งสมาธิแล้วขังตัวเองอยู่ในถ้ำนานถึง 3 ปี 3 เดือน 3 วัน ซึ่งถ้าให้เดาอีก ก็น่าจะเป็นการศึกษาโดยการปฏิบัติขั้นสูงสุดที่ลามะแถบนั้นจะทำได้ จน ต้าชิ เป็นที่เคารพ นับถือเลื่องชื่อในหมู่นักปฏิบัติหรือลามะด้วยกัน

แต่ปัญหาก็มีอยู่ว่า แม้ว่า ต้าชิ จะบรรลุสามารถนั่งสมาธิ ได้ลึกเพียงใด แต่ เขาก็เป็นลามะ ที่มีความรู้สึกทางเพศ สูงมาก

ประกอบกับ ต้าชิ ไม่เคยใช้ชีวิตทางโลกมาก่อน ด้วยความเย้ายวนของ รูป และผัสสะ จากอิสตรี สีกา ทำให้ต้าชิ ทนไม่ไหว ต้อง "หนี" จากเพศบรรพชิต มาสู่ เพศฆราวาส เสียอย่างงั้น

จากความรู้สึกส่วนตัว ฉาก คืนที่ ลามะผู้นี้ หนีออกจากวัด มันเหมือน กำลังล้อ เรื่องราวตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะ ออกบวชอย่างไรก็ไม่รู้ คือ เจ้าชายสิทธัตถะ เดินไปในปราสาทราชวัง เห็นภาพอุจาดที่นางสนมกำนัลนอนหลับ แล้วให้รุ้สึกเหนื่อยหน่ายนั้น มัน เหมือนกำลังถูกท้าทาย (จนท้ายที่สุดต้องออกบวช) จาก คนทำหนัง ที่สร้างภาพให้ ต้าชิ เดิน พิจารณา ภาพลามะ นอนน้ำลายไหลยืด แล้ว หนีลาสิกขาบท

ถ้าจะให้เดา คนที่บวชเรียนจนบรรลุสมาธิ ขั้นสูงขนาดนั้น แต่ท้ายที่สุด ก็เบื่อ ชีวิตความเป็นลามะ และโหยหา รสสัมผัสทางเพศ ชวนให้นึกถึงคำถาม ข้อหนึ่ง ในรายการ "วู้ดดี้เกิดมาคุย" ที่ถาม ท่าน ว.วชิรเมธี ไมได้ว่า

"คนที่เป็นพระ ไม่เคยใช้ชีวิตอย่างฆราวาส แล้วจะมาสอนมาเข้าใจฆราวาสได้อย่างไร"



ท่านว.วชิรเมธี ก็ตอบไปว่าประมาณว่า พระสังเกตชีวิตฆราวาสอยู่เสมอ สังเกตและศึกษา เปรียบไปก็เหมือนกับ นักมวย กับพี่เลี้ยง ฆราวาสนั้นเปรียบเป็นนักมวยที่ขึ้นชก แต่พระเป็นพี่เลี้ยง ที่สังเกตวิธีการชก ของนักมวยตลอด

เวลาฆราวาสชก ฆราวาสจะมองไม่เห็นว่าตัวเองกำลังทำอะไร แต่พี่เลี้ยง หรือพระภิกษุผู้ทรงปัญญา จะสังเกตและรู้และสอน ให้ฆราวาสชกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นั่นเป็นคำตอบที่ ท่าน ว.วชิรเมธีให้กับ พิธีกรในรายการวู้ดดี้เกิดมาคุย

----------------------------

กระนั้นก็ดี ผมรู้สึกว่า "ต้าชิ" ในเรื่อง อาจจะไม่ได้อยากเป็นพี่เลี้ยง แต่อยากจะลงมาเป็นคนชก เสียเอง ลามะผู้นี้ก็เลยสึก มาใช้ชีวิตแบบฆราวาสแล้วก็สัมผัสกับความทุกข์แบบเต็มตัว

ทำไปทำมา การใช้ชีวิตแบบฆราวาส กลับทำให้ คนที่เคยเป็นลามะ ได้เรียนรู้อะไร ๆ มากกว่า ทั้งการทำบาป การทะเลาะเบาะแว้ง ผิดประเวณี ความผิดหวัง สมหวังสิ่งเหล่านี้ ต้าชิได้สัมผัสลึกซึ้งกว่าที่จะนั่งภาวนาอยู่ในถ้ำ เสียอีก ทั้งภรรยา ของต้าชิ หลายครั้งหลายหน ก็เหมือนจะรู้ซึ้งเรื่องสัจธรรมของชีวิตเพราะได้ใช้ชีวิตมา มากกว่าอดีตลามะ ด้วยซ้ำ

ตรงนี้ ผมกลับยิ่งนึกถึงพุทธพจน์ที่ว่า "ผู้ใดเห็นทุกข์ ผู้นั้นเห็นธรรม" จนนำไปสู่ประโยคที่ว่า "ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา (ตถาคต) "

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตอนที่ ลูกชาย ของต้าชิ จะวิ่งออกไปนอกบ้าน โดยที่หิมะ กำลังตก อากาศหนาวเหน็บ

ต้าชิ ก็พยายามห้ามลูกว่า อยากออกไป เพราะอากาศ มันหนาว แล้วบอกให้ลูกกลับมาใส่เสื้อก่อน แต่ลูกไม่ฟัง

ภรรยา ก็บอกต้าชิว่า "ปล่อยแกไปเหอะ เดี๋ยวพอแกหนาว แกก็กลับมาในบ้าน ขี้คร้านจะหาเสื้อใส่เอง"

แล้วลูกก็กลับมา เพราะได้สัมผัสกับความหนาวเหน็บด้วยตัวเอง ต่อให้พ่อบอกอย่างไรก็คงไม่เชื่อ ของแบบนี้ ต้องให้โดนด้วยตัวเอง

เราสามารถโยงจุดนี้เข้ากับแก่นของเรื่อง ที่เหมือนผู้สร้างหนังจะตั้งคำถาม ว่า บางครั้งบางคราว คนที่ไม่ได้สัมผัสกับความทุกข์จริง ๆ "การเห็นทุกข์"ของผู้อื่น โดยที่ไม่เคยได้ประสบด้วยตัวเอง สำหรับบางคนเขาก็ไม่เข้าใจ การที่จะให้เขาเข้าใจ ต้องให้เขา "เป็นทุกข์" เพื่อที่จะได้ฝึกฝนใช้สติปัญญา ให้ได้ "เห็นทุกข์" นั้น

ตอนช่วงสุดท้ายของหนัง เหมือนต้าชิ จะได้ลิ้มรสความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของชีวิต เขา เริ่มคิดถึง การปฏิบัติของบรรพชิตเพศ และจะหนี ออกบวชอีกครั้ง

ฉากนี้ก็เป็นอีกจุดสำคัญ การหนีออกบวช นี้ ทำให้ย้อนถึง จุดตอน ที่หนี ออกสึก ตอนต้นเรื่อง ซึ่งอาจโยงไปถึง ตอนที่เจ้าชาย สิทธัตถะ จะออกบวช ในพุทธประวัติ

แต่ในกรณีของ ต้าชิ นั้น ภรรยาของเขา ได้มาพบเห็น ตอนเขาเตรียมตัวจะหนีออกบวชพอดีและภรรยา แต่กระนั้น ภรรยา ก็ไม่ได้ห้ามไม่ให้เขาบวช แต่เธอเหมือนจะรู้ว่าวันนี้จะต้องมาถึงอยู่แล้ว จึงได้ตระเตรียมอาหารและการเดินทางเอาไว้ให้

จุดนี้เป็นอีกหนึ่งแก่นสำคัญของเรื่อง ปกติ เวลาเราอ่านพุทธประวัติ โดยเฉพาะตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะ ออกบวช หนีพระนางยโสธรา นั้น เราจะฟังเรื่องเล่าที่เป็นมุมมอง ของ บุรุษ

แต่สิ่งที่ ภรรยา ต้าชิ ได้พูดนั้น เป็นการตั้งคำถาม ถึง พุทธประวัติ ตอนนี้โดยตรง ว่า ในวันนั้น พระนางยโสธรา นั้นต้องเสียพระทัยเพียงแค่ไหน แต่ ก้ไม่มีผู้ใดกล่าวไว้ หรือถึงกล่าวก็ไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร และก็ไม่มีใครรู้เลยว่า ก่อนหน้าที่เจ้าชายจะทรงหนีพระชายา นั้น พระนางยโสธรา อาจเป็นผู้ให้สติ หรือเป็นผู้เห็นทุกข์อยุ่แล้วก็ได้

เพียงแต่ด้วย สัญชาตญาณแห่งความเป็นมารดา ทำให้พระนางไม่อาจทอดทิ้งโอรสไปบวชได้ แต่บุรุษก็ทำได้ สิ่งเหล่านี้ เป็นประเด็นที่ภรรยา ต้าชิได้ยก ขึ้นในตอนจบของเรื่อง

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้หนังเรื่อง Samsara นั้นน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการทำความรู้จักกับความทุกข์ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่มีผลต่อการเล่าพุทธประวัติ รวมถึงภาพสวย ๆ ของทิเบต หากผู้ชม พินิจพิเคราะห์ภาพยนตร์เรื่อง Samsara อย่างละเอียด ท่านอาจจะเกิดคำถามที่ต้องฉุกคิด จนได้คำตอบที่ท่าน ไม่คาดว่าจะได้มาก่อน



Create Date : 28 ธันวาคม 2552
Last Update : 28 ธันวาคม 2552 12:55:07 น.
Counter : 589 Pageviews.

2 comment
2012
ตั้งแต่เล็ก จนโต ผมจำได้ว่า เคยดูหนังแนวอวสานโลกถล่ม ฟ้าทะลาย มนุษย์ต่างดาวบุกมาน่าจะเกือบสิบเรื่อง และทุกเรื่อง "ผู้นำ" ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการนำมวลมนุษยชาติต่อสู้กับภัยพิบัติทั้งหลายแหล่ นั้นมักจะเป็น ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เสียเกือบหมด

เหตุที่เป็นเช่นนี้ อาจจะเป็นเพราะว่า ผู้ผลิตภาพยนตร์ที่ฉายเอง ก็อยู่ในสหรัฐอเมริกา ประการหนึ่ง

อีกประการหนึ่งอาจเป็นเพราะสถานการณ์การเมืองในโลกปัจจุบันที่ สหรัฐอเมริกาดูเหมือนว่าจะเป็นประเทศมหาอำนาจเพียงชาติเดียวที่สามารถจะทำอะไรก้ได้ตามอำเภอใจ
นโยบายต่างประเทศของสหรัฐในรอบสิบปีมานี้ดูจะออกแนวก้าวร้าวค่อนข้างมาก ถึงขนาดที่ มหาอำนาจอย่างฝรั่งเศส หรือประเทศในสหภาพยุโรป แม้กระทั่งจีน แสดงความเห็นคัดค้าน สหรัฐอเมริกา ก็ยังสามารถดำเนินการอะไรต่อมิอะไรตาใจตัวเองได้ โดยเฉพาะในยุค จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ที่ได้รับอิทธิพลจากพวกกลุ่ม "นีโอคอนเซอร์เวถีบ" ที่คอย "ถีบ" ส่งแนวความคิดกรอบนโยบายอยู่ตลอด

ก็เห็นอยู่ว่าอเมริกาจัดการอะไรต่อมิอะไรเอง ได้ บางที มีเพียงแค่ประเทศกลุ่ม "แองโกลโฟน" อย่างอังกฤษของโทนี่ แบลร์ ที่คอยสนับสนุนอยู่เพียงประเทศเดียวมันก็เพียงพอแล้ว ที่จะไม่ต้องแคร์ใครหน้าไหน

แต่แม้กระนั้นก็ดี เราก็ต้องยอมรับว่า สหรัฐอเมริกา เหมือนจะกำลังจับตามอง รัฐชาติ มหาอำนาจหนึ่งในสมาชิกถาวรขององค์การสหประชาชาติ อย่างสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่กำลังเติบโต ทางด้านเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ สหภาพยุโรป รัสเซีย หรือ อินเดียเอง ก็เป็นประเทศที่ มีศักยภาพที่จะพัฒนาขึ้นมาเป็นคู่แข่ง ทางเศรษฐกิจ หรืออาจจะเป็นทางด้านการทหารกับสหรัฐอเมริกาได้ ในอนาคต

------------------------------

ด้วยเหตุผลที่สาธยายมาเบื้องต้นแล้ว ผมจึงไม่แปลกใจเลยที่ในภาพยนตร์เรื่อง 2012 ที่เนื้อหาเกี่ยวกับ "วันสิ้นโลก" นั้น หัวเรี่ยวหัวแรงในการกู้วิกฤต คือการรักษาเผ่าพันธุ์มนุษยชาตินั้น ไม่ได้มี แต่คนอเมริกันอย่างเดียวที่มีบทบาท แต่ในท้องเรื่องยังมีการพูดถึง

1.นักวิทยาศาสตร์ชาวอินเดียที่ค้นพบความรับของวันสิ้นโลก
2. การสร้างเรืออยู่บนดินแดนทิเบต โดยอาศัยวินัย และแรงงานจากวัฒนธรรม "ขงจื๊อ" ของสาธารณรัฐประชาชนจีน
3. การกล่าวถึงศิลปวัฒนธรรม ที่ควรค่าแก่การรักษาของพิพิธภัณฑ์ ลูฟร์ในฝรั่งเศส

แม้บางครั้งบางคราว ผมจะรู้สึกได้ถึงการกล่าวถึงในเชิงเสียดสี อย่างการพูดถึง



การมีประธานาธิบดีผิวสีผู้กล้าหาญ ซึ่งคาดว่า ก็คงประกอบสร้างมาจากการเมืองในประเทศของสหรัฐอเมริกาเอง

เรื่องราว"ชาล้นถ้วย" ของพระลามะที่สั่งสอนลูกศิษย์ที่มาเตือนเรื่องน้ำท่วมโลก (ที่ผมเคยได้ยินแตกต่างจากเนื้อเรื่องว่าพระเซนเคยใช้สั่งสอนคนที่มาลองดี แต่ก็อย่างว่า วิชาความรู้และธรรมะ มันถ่ายทอดถึงกัน ประกอบสร้างกันและกันได้)

มหาเศรษฐีชาวรัสเซียกับลูกแฝด และสาวผมบลอนด์ผู้รักสุนัขซึ่งเป็นชู้กับนักบิน

มหาเศรษฐีเชื้อพระญาติพระวงศ์ของรัฐชาติสักแห่งในตะวันออกกลาง ที่ต้องการ "ซื้อตั๋ว" ขึ้นเรือพิเศษ ในราคาใบละ พันล้านยูโร ให้กับพระบรมวงศานุวงศ์

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ผมได้กลิ่นอารมณ์เสียดสีล้อเลียนอยู่กราย ๆ แต่ก็พอยังมองโลกในแง่ดี ได้ว่า อย่างน้อยแนวคิดอย่างนี้ ก็ยังพอได้มี "พื้นที่" ในการเล่าเรื่องจากมุมของตัวเอง แม้จะผ่าน เลนส์ของ วัฒนธรรมฮอลลีวูดอเมริกันก็ตามที

-----------------------------

แม้ภาพยนตร์เรื่อง "2012" จะนำเสนอ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่มวลมนุษยชาติมีส่วนร่วมในการฝ่าฟันวิบัติโลก "มากขึ้น" กว่าภาพยนตร์ตะวันตกหลายๆ เรื่อง แต่เราจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า "กลวิธีเล่าเรื่อง" ยังมีความเป็นแนวคิด แบบ อเมริกันยุคบุกเบิกที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาตระกูล ยูเดโอ คริสเตียน ค่อนข้างมาก

ไม่ว่าจะเป็น การ ขึ้นเรือหนีน้ำท่วม ตามอย่างที่โนอาห์เคยทำในพระคัมภีร์ ดูแล้ว มันฃวนให้คิดถึงแนวคิดการมี "มหานครบนขุนเขา" (city upon the hill) ตั้งแต่สมัยอเมริกายุคบุกเบิกยังไงก็ไม่รู้

การมีส่วนร่วมของคนหลากหลายชาติพันธุ์ใน 2012 จึงถูกผนวกเข้าตามค่านิยมอย่างเป็นอเมริกัน และผ่านการเล่าเรื่องผ่าน เลนส์วากรรมของความเป็นอเมริกันได้อย่างแนบเนียนขึ้นตามเหตุปัจจัยที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งก็ไม่น่าจะแปลกอะไรด้วยเพราะกระบวนการสร้างความหมายและอัตลักษณ์ของโลกทุกวันนี้ มัน ปลูกฝังความคิด ค่านิยม ของเราให้มองว่า แนวคิดเช่นนี้ เป้นสัจธรรม ปรมัตถสัจจะ และอกาลิโกไปเสียแล้ว



Create Date : 05 ธันวาคม 2552
Last Update : 7 ธันวาคม 2552 16:18:33 น.
Counter : 409 Pageviews.

2 comment
รถไฟฟ้ามาหานะเธอ รถไฟฟ้าสายรัก
หากจะมองดูเผิน ๆ ตลอดสิบปีที่ผ่านมา รถไฟฟ้า BTS ได้เข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนกรุงในเรื่องของการเดินทางได้ค่อนข้างมาก และในขณะเดียวกันถ้าหากจะมองให้โรแมนติกลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของความรัก ผมเชื่อว่า ก็ต้องมีคู่รักจำนวนไม่น้อย ในกรุงเทพมหานคร ที่เดินทาง พบรัก หรือใช้ "รถไฟฟ้า" เป็นสื่อในการพัฒนาความสัมพันธ์ของตน

งานศิลปะ วรรณกรรมอย่าง สื่อทางเสียงอย่างเพลง "นิราศรถไฟฟ้า" ของ อ่ำ อัมรินทร์ หรือ สื่อทางตัวอักษร อย่าง บทกวีชุดนิราศรถไฟฟ้า มาจนถึง "สื่อที่เป็นภาพและเสียง" อย่าง ภาพยนตร์รถไฟฟ้ามาหานะเธอ ของจีทีเอช โดยเฉพาะอย่างหลังได้สร้างแรงกระเพื่อมให้กับชีวิตการบริโภคสื่อบันเทิงคนกรุงเป็นอย่างมาก ก็คงจะเป็นประจักษ์พยานแล้วว่า รถไฟฟ้าบีทีเอส ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนกรุงเทพ ทั้งทางด้านชีวิตและจิตใจอย่างแยกไม่ออก

---------------

ในวังวนของความรัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทย ค่านิยมที่ว่า ผู้หญิงที่ "ดี" ไม่ควรเริ่มจีบผู้ชายก่อน ทำให้ผู้หญิงหลายต่อหลายคนต้องข่มใจตัวเอง เวลาที่เจอ ผู้ชายที่ "ใช่" แล้วต้อง พยายามเก็บความรู้สึก เอาไว้ แม้ว่าอยากจะเป็นฝ่ายรุก จีบใจจะขาดแค่ไหน ก็ตาม เพราะกลัวความรู้สึกผิดบาปในใจว่า คนอื่นอาจจะมองว่า เธอเป็นผู้หญิงที่ไม่ดี ตามวาทกรรมกุลสตรี ทั้งทีการเข้าไปจีบผู้ชายก่อน อาจจะไม่ได้หมายความว่าเธอจำเป็นจะต้องเป็นคนที่ไม่ดี ผิดศีลธรรม ใจร้ายใจดำเสมอไป

เท่าที่ผมเข้าใจ ได้อ่าน ได้ยินและได้ฟัง วิธีที่พวกเธอจัดการ กับความรู้สึกที่มีนั้น ก็คงหนีไม่พ้น การทำตัวให้ปกติ แต่ก็แอบมองบ้างบางเวลา

หรือถ้าชอบจริง ๆ พวกเธอก้คงพยายามทำทุกวิถีทาง ที่เป็นการสื่อว่า เธอเปิดประตูให้ผู้ชายคนนั้นเข้ามาจีบได้ แล้วก็รอ

แต่ว่า กรณีที่ผู้หญิงเข้าไปจีบผู้ชายแบบรุกเข้าไปเลยเนี่ย ดูจะมีน้อยกว่า กรณีแรกและกรณีที่สอง

แล้วเผอิญ จากสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมา ผู้ชายที่ถูกผู้หญิงเริ่มเข้าไปจีบก่อน มักจะเป็นผู้ชายที่มีความ "พิเศษ" มาก ๆ

-----------------

แม้ว่าใจจริง แล้วผมจะไม่เชื่อเรื่องการแบ่งกลุ่ม กลวิธีการรุกจีบ อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ด้วย เพราะ หลาย ๆ ครั้ง กรณีที่หนึ่งอาจมีลักษณะของกรณีที่สองหรือสามปนอยู่ คือ บางครั้ง เราก็ตีความไดว่า การที่ผู้หญิงแสดงที่ท่าว่า "เปิดทาง" ให้ผู้ชายจีบได้ มันก็เป็น "การจีบ" ผู้ชายในลักษณะหนึ่งได้ เหมือน กัน แต่ สุดท้ายแล้ว เพื่อความเข้าใจง่าย ผมเลยต้องแบ่งกลุ่มหยาบๆ ออกเป็นสามกลุ่มดังกล่าว



หากคาดคะแนไม่ผิด ผู้ที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่อง "รถไฟฟ้ามาหานะเธอ" หลายต่อหลายคน ต้อง มองความรักของ "เหมยลี่" สาวหมวย น่ารัก วัยสามสิบ กับ "ลุง" วิศวกรหนุ่มหล่อซึ่งทำงานอยู่บริษัท BTS ว่าอยู่ในกรณีที่ "ผู้หญิงจีบผู้ชายก่อน" แน่ ๆ ก็ คุณลุงแก "หล่อทะลุแป้ง" เสียขนาดนั้น แถมอาชีพการงานยังดูดี มีการศึกษา แบบนี้สาว ๆ ที่ไหนเห็น ร้อยทั้งร้อย ก็ต้องชอบ

ผมก็เชื่อเหลือเกิน ว่า ในชีวิตจริง ถ้าผู้หญิงไม่ถูก วาทกรรมกุลสตรีกำหนดท่าทีไว้ เราอาจจะพบเห็นผู้ชายที่มีความ "พิเศษ" อย่าง "คุณลุง" คนนั้น ถูกผู้หญิงรุมจีบมากขึ้นแน่ ๆ

--------------------

ด้วยความที่ภาพยนตร์เรื่อง "รถไฟฟ้ามาหานะเธอ" มีลักษณะที่ "โดน" วิถีชีวิตของคนทงาน หรือวัยกำลังที่จะจริงจังกับความรัก ถึงขนาดที่ผมเคยได้ยินคนพูดว่า "ทำไมหนังเรื่องนี้ถึงคล้ายชีวิตฉันได้ขนาดนี้" ผมจึงเชื่อว่า หนังเรื่องนี้น่าจะเป็นที่นิยม และเข้าถึงคนได้และโดนใจผู้ชมมากกว่า หนังรักตามสไตล์ "ฝัน โคตร โคตร" ของ พิง ลำพระเพลิง ที่คนดูต้องใช้ความพยายามปีนเขาไปหาเพื่อทำความเข้าใจ จึงจะสามารถรับสาร ที่คนทำหนังต้องการจะสื่อได้


หนังพูดถึงความทุกข์ ของคนที่รอคอยความรัก หรือใฝ่ฝันถึงชีวิตรักที่สมบูรณ์ สาระหลัก ๆ ที่ผู้ชมหลายท่านพบเห็นจากหนังเรื่องนี้ก็คือว่า คนเราเวลาไม่มีคนรัก ก็ดิ้นรนเพื่อจะหาคนรักมาอยู่ข้างกาย เพราะคิดว่า พอมีคนรัก แล้วเราจะมีความสุข

แต่พอตนมีคนรักเป็นตัวเป็นตนอย่างที่ตัวเองวาดหวังไว้ แล้ว ชีวิตเขากลับต้องไปพบกับความทุกข์อีกประเภทหนึ่ง อย่างที่โบราณว่าไว้ว่า "ในสุข มีทุกข์ ในทุกข์มีสุข เลือกมองแต่ด้านที่สุข ชีวิตมันก็มีความสุข" ไม่มีผิดเพี้ยน

ทั้งคนไม่มีแฟน และคนมีแฟน ที่ไม่ว่าชายหรือหญิงจะเป็นฝ่ายเริ่มจีบก่อน ต่างก้มีความทุกข์ แต่เป็นทุกข์คนละแบบ เป็นวังวนอยู่อย่างนี้ ถ้าเราไม่รุ้ที่มาที่ไปของความทุกข์นั้น และไม่แก้ให้ถูกจุด เราก็ต้องเจอกับมันอยู่ร่ำไป



Create Date : 18 ตุลาคม 2552
Last Update : 28 ธันวาคม 2552 13:02:11 น.
Counter : 744 Pageviews.

3 comment
Slumdog Millionaire: วิธีแสวงหาความรู้ วิกฤตที่ซ้อนมาด้วยโอกาส
ตลอดชีวิตของผม ผมมักจะได้ยินการถกเถียงในหมู่ครูบาอาจารย์มาตลอด ว่าการศึกษาแบบไหน ที่ครูบาอาจารย์ควรจะนำมาเป็นกุศโลบายสั่งสอนศิษย์ของตน ให้ประสบผลสำเร็จมากที่สุด

บ้างก็ว่าการศึกษาให้ลูกศิษย์ของตนท่องจำอย่างละเอียดชนิด ถ่ายสำเนาหนังสือใส่หัวสมอง เป็นการสอนที่มีประสิทธิภาพที่สุด

บ้างก็ว่า การท่องจำแบบนั้นเป็นการศึกษาที่จัดได้ว่าเป็น กุศโลบาย "อย่างเลวที่สุด" จะสอนให้คนเป็นคน ต้องสอนให้รู้จักการคิดวิเคราะห์ หัดประยุกต์ใช้ตางหาก จึงจะเหมาะสมกับการเอาชีวิตรอดใน ดงดิบสัตว์มนุษย์ ที่แก่งแย่งชิงดีกันในสังคมที่เร่งรีบยุคปัจจุบัน

เขาว่ากันว่า มนุษย์ เรายิ่งอายุมาก พื้นที่ในการบรรจุข้อมูลก็ยิ่งมีจำกัด จะให้มาบันทึกความรู้ใส่สมองทั้งหมด คงเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสเอาการ สู้ฝึกให้รู้จักวิธีคิด วิธีต่อกร ตอบสนองแก้ไขปัญหาในชีวิตที่จะใช้ได้ไปจนตาย จะไม่ดีกว่าหรือ

เปรียบเสมือน กับนักเดินทางล่องสายน้ำไปทั่วโลก นักเดินทางคนนั้นจะพก เกลือไว้ในกระเป๋าเครื่องหลัง ซึ่งเขาสามารถนำเกลือนี้ไปผสมกับสายน้ำในแม่น้ำที่ตักใส่กระบอกมาไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำสายใดก็ตาม ก็เกลือของเขาก็ให้ความเค็มได้ไม่ต่างกัน

-----------------

ผมเอง ก็เคยผ่านการอบรมสั่งสอนมาทั้งแบบ ให้ท่องจำ และ แบบให้รู้จักหัดประยุกต์วิเคราะห์ ทั้งสองอย่างสองวิธีก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป

ในเรื่องการท่องจำ ถ้าหากว่า ผมท่องเพื่อไปสอบอย่างเดียว ต่อให้ท่องแล้วจำ "ข้อมูล" ในบทเรียนนั้น ๆ ได้แม่นแค่ไหน แต่ท้ายที่สุด หลาย ๆ ครั้ง ผมก็จำได้ แค่ตอนสอบ พอสอบเสร็จปุ๊บ ก็ส่งคืนครูไปหมด

ส่วนในแบบการเรียนการสอนที่เน้นการคิดวิเคราะห์ มันก็มีปัญหาอยู่ หากว่า นักศึกษาอย่างผม เป็นคนที่ มี คลัง "ข้อมูล" อยู่น้อย ถ้าไม่ท่องจำเสียก่อน แล้วจะเอา "ข้อมูล" ที่ไหน มาเปรียบเทียบ ประมวลผล หรือคิดวิเคราะห์กันเล่า

สุดท้าย ไป ๆ มา ๆ แล้วผมก็ต้องพึ่งยุทธวิธีทั้งสองแบบ ขึ้นอยู่กับว่าผมมีพื้นฐานประสบการณ์เนื้อหาสาขาวิชาที่เรียนนั้นมากแค่ไหน


-------------------------

จนชีวิตของผมย่างก้าวมาสู่วัยที่ใกล้จะบรรลุนิติภาวะ ผมก็ได้รู้จักกับรายการเกมโชว์ เกมหนึ่ง ที่เกี่ยวกับเรื่อง "ความรู้" ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม นั่นก็คือ "เกมเศรษฐี" ในเวอร์ชั่นภาษาไทย

เกม ๆ นี้ ใครที่ตอบคำถามถูกต้องในแต่ละข้อ ก็จะได้รับเงินรางวัลเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ และถ้าตอบถูกจำนวนข้อที่ทางรายการกำหนดไว้จนเป็นผู้ชนะของรายการ ก็จะได้เงินล้านไป

หากว่าทุกท่านจำกันได้ คำถามที่ใช้เล่นในรายการ จะเป็นความรู้ในวงการต่าง ๆ ซึ่งแน่นอนหล่ะ ในโลกนี้ไม่มีใครจะรู้อะไรได้ครอบจักรวาลทุกสาขาวิชาชีพอยู่แล้ว บางคำถามอาจจะง่ายสำหรับบางคน ง่ายชนิดที่ว่า ไม่ต้อง "ท่องจำ" เลยเพราะ เขาต้องพบเจอกับสิ่งเหล่านี้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว แต่ในขณะเดียวกัน ในคำถามเดียวกันนั้นแหละอาจจะยากแสนยากสำหรับอีกคน เพราะเขาไม่เคยสนใจ/ใส่ใจที่จะอยากรู้เรื่องเหล่านั้น

เพราะฉะนั้น ผมจึงสามารถยืนยันได้เต็มปากเต็มคำเลยว่า คนที่จะชนะเลิศ "เกมเศรษฐี" นี้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนที่รู้ทุกเรื่อง แต่เขาต้องมีทักษะบางประการในการ "หาคำตอบ" หรือทำยังไงก็ได้ ให้ตอบคำตอบได้ถูก ซึ่งหลายครั้ง โชค ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการตอบคำถามด้วย

การทดสอบความรู้ในเกมเศรษฐี จึงเป็นความรู้ในลักษณะที่บูรณาการ ไม่จำเพาะเจาะจงเฉพาะการท่องจำ ในเมื่อถามคำถามกว้างแบบนั้น ท่องจำให้ครอบคลุมทุกเรื่องเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว

--------------------

ภาพยนตร์เรื่อง Slumdog Millionaire เป็นเรื่องราวของ "จามาล" เด็กหนุ่มมุสลิมที่เกิดในสลัมเมืองบอมเบย์ ที่เติบโตมาในชีวิตที่แสนรันทด ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อจะมีชีวิตรอดจากอันตรายต่าง ๆ ตั้งแต่ยังเด็ก



แน่นอนหล่ะ ว่าจากในหนัง "จามาล" ไม่ใช่คนโง่ แม้ว่าอาจจะได้รับการศึกษาน้อยกว่า ระดับการศึกษามาตรฐาน ที่โลกใน "ประเทศพัฒนาแล้ว" กำหนดไว้ แต่การที่จามาลต้องฝ่าฟันอุปสรรค และคิดหาวิธีจัดการกับปัญหาของชีวิตของเขาตลอดเวลา ตั้งแต่ยังเด็ก มันทำให้เขาแข็งแกร่ง และมีทักษะในการเอาตัวรอดมากกว่าคนปกติธรรมดาที่มีชีวิตสุขสบาย

ชีวิตของคนเรามีทั้งโชคดีและโชคร้าย สลับวนเวียนเข้ามาเป็นเพื่อนเล่นหยอกล้อแล้วก็จากเราไป แต่จะมีสักกี่คน ที่จะสามารถ มองแง่ดี ของ "โชคร้าย" และนำเอามาเตรียมตัวให้พร้อม เมื่อยามที่ "โชคดี" โผล่เข้ามา เขาจะคว้าโอกาสแห่งความสุขนั้นไว้


ในชีวิตของ "จามาล" เขาเคยประสบพบเจอกับ "โชคร้าย" มากกว่า "โชคดี" แน่ ๆ แต่โชคร้ายทั้งหลายแหล่ที่ถาโถมประดังประเด เข้ามาในชีวิตของเขานั้น มันช่างมีความทรงอานุภาพเหลือเกินที่ เพราะ "จามาล" สามารถแปรเปลี่ยนสิ่งร้าย ๆ ทีเกิดขึ้นกับเขา เป็นสิ่งดี ๆ ได้ตั้งแต่การตอบคำถามในเกมเศรษฐีข้อแรกๆ ที่หลายข้อ ๆ คน "ไร้การศึกษา" อย่างเขา ก็ไม่น่าจะรู้ แต่เผอิญ ว่า คำถามนั้น ไปอยู่ในเหตุการณ์เลวร้ายบางอย่างในชีวิต ที่ ต่อให้เขาไม่ต้อง "ท่องจำ" สักนิด เขาก็ต้องจำฝังใจไปจนตาย
แต่ผมก็มั่นใจเหลือหลายว่า อีกหลาย ๆ ข้อ ทักษะการเอาตัวรอด ที่ความโหดร้ายในชีวิตได้สั่งสอนเขามาตั้งแต่เกิดก็มีส่วนช่วยเป็นอย่างมาก ให้เขา "เดา" คำตอบจนเจอคำตอบสุดท้ายที่ถูก

เรื่องราวความมหัศจรรย์ของชีวิตเด็กจากสลัมเมืองบอมเบย์ หรือมุมไบ คนหนึ่ง เหมือนจะแสดงให้เห็นนัยยะทางการศึกษาประการหนึ่ง



หลายครั้งหลายคราว คนเราอาจไม่จำเป็นต้อง "ท่องจำ" นำความรู้ใส่หัวสมอง เพื่อไปสอบ แล้วก็ลืม แต่การจำสิ่งใดให้แม่นนั้นจะต้องมี "จิตใจ" อันประกอบสร้างจากความรู้สึกฝังใจจากความกดดันในชีวิต เป็นตัวช่วยสำคัญ ผมเชื่อว่า หลาย ๆ ท่านคงเคยได้ยินคำว่า "ปัญหาคือยาวิเศษ" ในโลกนี้ ไม่มีอะไร ที่มีมุมมองด้านเดียว ความทุกข์ที่เห็นอยู่ตรงนั้นในอนาคตมันคือเมล็ดพันธุ์แห่งความสุข

เมื่อมนุษย์ถุกกดดันมาก ๆ จนพยายามเรียนรู้ที่จะค้นหาด้านบวก ของความทุกข์แต่ละระลอก ความรู้อันเกิดจากความรู้สึกอันมีจิตใจเป็นตัวช่วยนั้น ก็จะทำให้เรารู้จัก คิดวิเคราะห์เพื่อที่จะเอาตัวรอด ได้เอง โดยที่เราไม่รู้ตัว อย่างที่ "จามาล" ได้ทำไว้อย่างมหัศจรรย์ใน Slumdog Millionaire



Create Date : 07 ตุลาคม 2552
Last Update : 7 ตุลาคม 2552 18:46:21 น.
Counter : 455 Pageviews.

2 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  

เชษฐภัทร
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]



New Comments
All Blog
MY VIP Friend