สวัสดีครับเพื่อนๆ หากพูดถึงน้ำดื่มในอดีต เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงน้ำฝนเย็นๆ ที่ตกลงมาจากฟากฟ้า ซึ่งน่าจะบริสุทธิ์และน่าดื่มยิ่งนัก แต่ในสมัยโบราณจริงๆ ไม่ดื่มน้ำฝนครับเชื่อว่าแสลงลม ดังนั้นคนโบราณจะดื่มน้ำจากแม่น้ำซึ่งว่ากันว่ามีรสอร่อยกลมกล่อมกว่า น้ำเสวยของกษัตริย์โบราณจึงล้วนเป็นน้ำจากแม่น้ำหรือจากบึงแทบทั้งนั้น
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงติดพระทัยน้ำในแม่น้ำเพชรที่จังหวัดเพชรบุรี ไม่ว่าจะเสด็จไป ณ ที่ใด จะต้องมีมหาดเล็กนำน้ำเพชร อันเป็นน้ำเสวยติดไปด้วยเสมอ เคยมีการทดลองคือเอาน้ำจากที่ต่างๆ รวมทั้งน้ำฝนด้วยมาใส่ขวดปิดฉลากไว้ข้างใต้ ให้พระองค์ทรงชิม พระองค์จะบอกได้ถูกว่าน้ำขวดไหนคือน้ำเพชร ด้วยรสชาติอร่อยผิดจากน้ำจากที่อื่น แม้น้ำฝนก็ทราบไม่ติด
น้ำเพชร ถือได้ว่าเป็นของดีของเมืองเพชรประการหนึ่ง เป็นน้ำธรรมชาติอันเกิดจากทิวเขาตะนาวศรีที่แบ่งเขตแดนไทยกับพม่าในเขตท้องที่อำเภอแก่งกระจาน ได้ไหลผ่านพื้นที่ในเขต อำเภอแก่งกระจาน อำเภอบ้านลาด วัดท่าไชย อำเภอเมืองเพชรบุรี ถือกันว่าเป็นน้ำที่มีรสอร่อย ใสสะอาด และที่วัดท่าไชยนี่เองที่เป็นแหล่งน้ำที่มหาดเล็กจะต้องมาตักเพื่อนำกลับเข้าวัง คนรุ่นปู่ย่าตายายได้เล่าให้ลูกหลานฟังกันเสมอว่า เวลาทำงานมงคลจะต้องไปตักเอาน้ำที่วัดไชยมาทำเป็นน้ำมนต์ ถือว่าเป็นน้ำที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ทำน้ำมนต์ประจำพรรษาตามวัดต่าง ๆ ทำน้ำพระพิพัฒน์สัตยา น้ำราชาภิเษกนั้น ไม่ใช่แต่น้ำ 4 สระ ใช้แม่น้ำทั้ง 5 ในกรุงสยาม คือ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำเพชรบุรี มีชื่อตำบลที่ตักทุกเมือง แต่ที่เพชรบุรีนี้ ที่ท่าน้ำวัดท่าไชยศิรินี้เป็นที่ตักเสวย
อุโบสถวัดท่าไชยศิริ
.ศาลาเครื่องไม้ริมท่าน้ำวัดท่าไชย สร้างขึ้นเมื่อ ร.ศ.130 เป็นไม้สักทั้งหลัง
.
.
.
แม่น้ำเพชรหน้าวัดท่าไชยศิริ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ทรงกล่าวไว้ในพระราชหัตถเลขาที่มีถึงเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2465 ความตอนหนึ่งว่า “...เรื่องน้ำเพชรบุรีนี้ เคยทราบมาแต่ว่า ถือกันว่าเป็นน้ำดี เคยได้ยินพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 5 รับสั่งว่า นิยมกันว่ามีรสแปลกกว่าน้ำลำน้ำเจ้าพระยา และท่านรับสั่งพระองค์เองเคยเสวยน้ำเพชรบุรีเสียจนเคยแล้ว เสวยน้ำอื่น ๆ ไม่อร่อย จึงต้องส่งน้ำเสวยมาจากเมืองเพชรบุรี และน้ำนั้นใช้เป็นน้ำเสวยจริง ๆ ตลอดมากาลปัจจุบัน”
การที่น้ำเพชรได้รับเกียรติยศและเกียรติคุณเป็นน้ำเสวยสำหรับพระเครื่องต้นนั้น จะเริ่มตั้งแต่เมื่อใดยังหาหลักฐานไม่ได้ แต่ก็พอจะบอกให้ชัดได้ในขณะนี้เพียงแค่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จครองราชย์ได้ 2 พรรษา ในราว พ.ศ. 2396 พระองค์ได้ทรงโปรดเสวยและสรงน้ำเพชรบุรีที่วัดท่าไชย ทรงรับสั่งว่าเป็นน้ำที่จืดสนิทดี แลทรงสั่งให้พระยาเพชรบุรี กรมการ จัดส่งน้ำเพชรเข้าไปถวายทุกเดือน เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติใน พ.ศ. 2411 ก็ได้ใช้น้ำเพชรฯ ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเสวยน้ำเพชรอยู่เป็นนิตย์ บางครั้งขาดน้ำเพชรทรงใช้น้ำกลั่น ต้องทรงเดือดร้อนทุกครั้ง เสวยไม่ได้ ให้กระสับกระส่วยต่าง ๆ เสวยน้ำไม่อร่อยจึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขออารักขาให้ได้เสวยน้ำเพชรได้เสมอและตลอดไป
จากท้ายบทความนี้ ผู้เขียนให้ได้เกิดข้อสงสัยว่า ในน้ำเพชรบุรีมีส่วนผสมของแร่ธาตุอะไรเป็นสำคัญหรือไม่ จึงทำให้เกิดความอร่อยและติดใจถึงขนาดทรงเดือดร้อน (น่าจะหมายถึงหงุดหงิด กระวนกระวาย) หากที่นั่นยังไม่มีการเจือปนสารเคมีในยุคอุตสาหกรรมสมัยใหม่เข้าไป ก็น่าจะเก็บตัวอย่างน้ำมาตรวจสอบคงจะดีไม่น้อย แล้วพบกันใหม่ครับ...mata
เรียบเรียงโดย พรชัย สังเวียนวงศ์ (mata)
ขอบคุณภาพประกอบ //pra-ong-dum.blogspot.com, oknation.net
ที่มา: //www.khonlumnampet.com, happy.teenee.com
- Comment
โดย: Kavanich96