bloggang.com mainmenu search

เสียงเห่กล่อมกระบวนเรือดังไปทั่วผืนลำน้ำเจ้าพระยาครั้งใด คลื่นมหาชนต่างก็ยินดีและเรียงรายอยู่ตลอดทั้งสองฝั่งน้ำกันอย่างเนืองแน่นเพื่อชมความยิ่งใหญ่อลังการของเรือลำต่างๆ ที่สรรสร้างขึ้นด้วยความวิจิตรบรรจงตามเอกลักษณ์ของไทย แปรเปลี่ยนเป็นความอลังการกลางลำน้ำที่จะหาชมไม่ได้จากที่ใดอีกแล้วในโลกใบนี้


ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารของโลกยุคปัจจุบัน ทันทีที่ฝีพายจ้วงน้ำครั้งแรก ภาพอันงดงามและน่าประทับใจก็ถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลก แม้กระทั่งชาวต่างชาติที่ไม่รู้อะไรเลยก็ยังเฝ้าติดตามชมด้วยใจจดจ่อ บ้างก็ลงทุนบินลัดฟ้าเพื่อมาชมวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่แห่งเมืองสยามนี้โดยเฉพาะ ยังไม่มีความเหมาะสมด้วยอุดมฤกษ์ชัยใดๆ ที่จะบ่งบอกให้เราได้รู้ว่าเมื่อไหร่จึงจะได้ชมความยิ่งใหญ่กลางลำน้ำเช่นนั้นอีก แต่ที่แน่ๆ ก็คือเรือพระราชพิธีลำเด่นจะยังคงอวดโฉมอยู่ ณ ริมเส้นเลือดใหญ่ของประเทศบริเวณปากคลองบางกอกน้อย ฝรั่งมังค่าผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาชมไม่เว้นแต่ละวัน...

...ควรแล้วละหรือ? ที่ชาวไทยอย่างเราจะไม่เคยย่างกรายเข้าไปชื่นชมอย่างใกล้ชิดสักครั้งหนึ่ง...

"พิพิธภัณฑ์เรือพระราชพิธี" ตั้งอยู่ตรงบริเวณปากคลองบางกอกน้อยที่เชื่อมออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สมัยเดิมเป็นอู่หรือโรงเก็บเรือพระราชพิธีโดยอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของสำนักพระราชวังและกองทัพเรือในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง บริเวณบางกอกน้อยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่ตกเป็นเป้าโจมตี ระเบิดลูกแล้วลูกเล่าได้ถูกทิ้งลงมายังบริเวณนี้ และบางส่วนก็ได้สร้างความเสียหายให้กับโรงเก็บเรือพระราชพิธีรวมไปถึงเรือบางลำด้วย (พ.ศ. 2487) ต่อมาในปี พ.ศ. 2490 สำนักพระราชวังและกองทัพเรือได้มอบหมายให้กรมศิลปากรทำการซ่อมแซมตัวเรือที่ได้รับความ เสียหายจากระเบิด

เรือพระราชพิธีเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญและประเมินค่ามิได้ ปัจจุบันนี้ชิ้นส่วนเรือบางส่วนที่ได้รับความเสียหายยังคงเก็บเอาไว้ให้ชมที่บริเวณเดียวกันเพื่อเป็นอนุสรณ์เตือนใจถึงผลร้ายของสงคราม เรือพระราชพิธีเป็นเรือที่มีความสำคัญและมีประวัติการจัดสร้างมายาวนานตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ซึ่งถูกรังสรรค์ขึ้นด้วยความวิจิตรงดงามในฝีมือเชิงช่างอันล้ำเลิศทรงคุณค่าในงานศิลปกรรม และยังคงถูกนำมาใช้ในพระราชพิธีที่สำคัญในโอกาสต่างๆ มาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน

จากความสำคัญของโรงเก็บเรือพระราชพิธีดังกล่าว นี้เอง กรมศิลปากรจึงได้ขึ้นทะเบียนเรือพระที่นั่งต่างๆ ไว้เป็นมรดกของชาติ พร้อมทั้งยกฐานะของอู่เก็บเรือขึ้นเป็น "พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี" ในปี พ.ศ. 2517 เพื่อสืบทอดวัฒนธรรมอันล้ำค่าสู่ชนรุ่นหลังสืบต่อไป

อาคารขนาดใหญ่โตหลังนี้ มองจากภายนอกแล้ว แทบไม่รู้เลยว่ามีสิ่งล้ำค่าอยู่ภายในหากมาจากทาง ถนนก็จะเป็นซอยของชุมชนเล็กๆ ที่อยู่หลังค่ายทหาร เรือ แต่การเดินทางอย่างเป็นทางการและนิยมมากเพื่อ มาถึงที่นี่ก็คือทางเรือ วิ่งข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาปาก คลองบางกอกน้อยเข้ามาไม่ไกล

เมื่อได้เข้ามาเห็นใกล้ๆ ในระยะประชิดความรู้สึกเป็นบุญตาก็บังเกิดขึ้นแทบจะในทันที ยามที่ลอยอยู่กลางลำน้ำก็แลดูเด่นเป็นสง่ายามจอดสงบนิ่งก็ดูยิ่งใหญ่อลังการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙ ซึ่งมีโขน (หัวเรือ) สูงเด่นจนต้องแหงนคอตั้งบ่าเพียงแค่ทำให้เรือลอยอยู่กลางลำน้ำได้ก็ต้องใช้ฝีมือชั้นครู แต่เรือขนาดใหญ่และสูงแบบนี้นึกภาพตอนสร้างไม่ออกเลยทีเดียว ไม่เพียงแค่ความรู้สึกว่าเป็นบุญตาเท่านั้น อีกความรู้สึกที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือเลือดรักและภาคภูมิใจในชาติไทยที่เรามี

วัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ให้ใครต่อใครต้องทึ่งก็ฉีดซ่านไปทั่วร่างกายฝีมือเชิงช่างทางศิลปะที่สลักเสลาไปตามลำเรือ พระราชพิธีเหล่านี้ไม่ว่ากล้องชั้นเทพคนชั้นเซียนแค่ไหนก็ไม่สู้การมาเห็นของจริงด้วยตาตนเอง น่ายินดีเป็นยิ่งนัก ที่เรามีบรรพบุรุษที่เก่งกาจสามารถถึงเพียงนี้

นอกจากตัวเรือพระราชพิธีแล้ว บริเวณโดยรอบ ยังจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนเรือพระราชพิธี เรือจำลองขนาดเล็กแบบต่างๆ ส่วนประกอบของลำเรือ รวมไปถึงประเพณีและเครื่องแต่งกายของฝีพายอีกด้วยสถานที่แห่งนี้คืออีกหนึ่งเครื่องมือ หยุดเวลา ซึ่งได้หยุดผลงานทรงคุณค่าเอาไว้ให้ผู้ถือกำเนิดมาทีหลังได้ชม รอยแกะสลักทุกรอย ฝีแปรงทุกเส้น กระจกประดับทุกชิ้นล้วนมีเรื่องราว และความหมายที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ค่าบำรุงในการเข้าชมในอัตราชาวไทยคนละ 20 บาท จัดว่าถูกมากเสียยิ่งกว่าข้าวหนึ่งจานเสียอีก หรือ ค่าธรรมเนียมการนำกล้องเข้าไปถ่ายภาพตัวละ 100 บาทก็ถูกอย่างมหาศาล เมื่อเทียบกับความทรงจำที่เราได้บันทึกผลงานแห่งแผ่นดินในระดับนี้ 

..ไม่อยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบันทึกคุณค่าแห่งสายน้ำของสยามหรือ? พิพิธภัณฑ์เรือพระราชพิธีเปิดให้เข้าชมทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการในระหว่างเวลา 9.00 - 17.00 น.ปิดทำการเฉพาะวันขึ้นปีใหม่และวันสงกรานต์เท่านั้นสำหรับนักเรียนนักศึกษาในเครื่องแบบ พระภิกษุสามเณรและนักบวชในศาสนาต่างๆ สามารถเข้าชมโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม โทร. 02-424-0004

Create Date :04 พฤศจิกายน 2555 Last Update :4 พฤศจิกายน 2555 19:57:17 น. Counter : 2127 Pageviews. Comments :1