Group Blog
 
All Blogs
 

ถ้าจิตขุ่นมัวในขณะนั้น ตายแล้วไปไหน ?

ถ้าจิตขุ่นมัวในขณะนั้น ตายแล้วไปไหน ?

ถ้าจิตขุ่นมัวในขณะนั้น ตายแล้วไปสู่อบายภูมิ มีนรก เป็นต้น สมดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ใน ปุคคลสูตร ว่า...

   
แรงบันดาลใจจากพระไตรปิฎก

 
ถ้าจิตขุ่นมัวในขณะนั้น ตายแล้วไปไหน ?



ตอบ  ถ้าจิตขุ่นมัวในขณะนั้น ตายแล้วไปสู่อบายภูมิ มีนรก เป็นต้น สมดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ใน ปุคคลสูตร ว่า

    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  เรากำหนดรู้จิตของบุคคลบางคนในโลกนี้ ผู้มีจิตขุ่นมัว ด้วยจิตอย่างนี้แล้ว ถ้าในสมัยนี้ บุคคลนี้พึงกระทำกาละไซร้ เขาถูกกรรมของตนซัดไปในนรก เหมือนถูกนำมาทิ้งลงฉะนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะจิตของเขาขุ่นมัว

    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะเหตุแห่งจิตขุ่นมัวแล สัตว์บางพวกในโลกนี้ เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก อย่างนี้.

ย่อมาจากพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พุทธศักราช 2525 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ปุคคลสูตร เล่มที่ 45 หน้าที่ 135

 
 
เหตุที่ทำให้ไปสู่อบาย - นรก มีอะไรอีก ?



ตอบ คนที่มีศีลอันลามก (ชั่ว)  และทิฏฐิอันลามก (ความเห็นผิด) ย่อมไปสู่อบาย - นรก สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ปฐมสีลสูตร ว่า

    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม 2 ประการ อันกรรมของตนซัดไปในนรก เหมือนถูกนำมาทิ้งลงฉะนั้น ธรรม 2 ประการเป็นไฉน คือ ศีลอันลามก 1 ทิฏฐิอันลามก 1
    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม 2 ประการนี้แล อันกรรมของตนซัดไปในนรก เหมือนถูกนำมาทิ้งลงฉะนั้น.

    พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

     นรชนใดผู้มีปัญญาทราม ประกอบ ด้วยธรรม 2 ประการนี้ คือ ศีลอันลามก 1 ทิฏฐิอันลามก 1 นรชนนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงนรก.

    เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้า ได้สดับมาแล้ว ฉะนี้แล.
 
จบปฐมสีลสูตรที่ 5

จากพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พุทธศักราช 2525 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ปฐมสีลสูตร เล่มที่ 45 หน้าที่ 199


7. ปฐมราชสูตร
ว่าด้วยท้าวโลกบาลตรวจโลก


    [476] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

    ในดิถีที่ 8 แห่งปักษ์ พวกอำมาตย์บริวารของมหาราชทั้งสี่เที่ยวดูโลกนี้ ดิถีที่ 14 แห่งปักษ์ พวกบุตรของมหาราชทั้งสี่ เที่ยวดูโลกนี้ วันอุโบสถ 15 ค่ำนั้น มหาราชทั้งสี่ เที่ยวดูโลกนี้ด้วยตนเอง (เพื่อสำรวจ)ว่า ในหมู่มนุษย์ คนที่เกื้อกูลมารดาบิดา บำรุงสมณพราหมณ์ อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในสกุล อธิษฐานอุโบสถ ถือปฏิชาครอุโบสถ ทำบุญมีจำนวนมากอยู่หรือ

    ถ้าในหมู่มนุษย์ คนที่เกื้อกูลมารดาบิดา ฯลฯ ทำบุญมีจำนวนน้อย มหาราชทั้งสี่ก็บอกแก่คณะเทวดาดาวดึงส์ผู้นั่งประชุมในสุธัมมาสภาว่า

    ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ในหมู่มนุษย์ คนที่เกื้อกูลมารดาบิดา ฯลฯ ทำบุญมีจำนวนน้อย

    เพราะข้อที่บอกนั้นคณะเทวดาดาวดึงส์ก็เสียใจ (บ่นกัน) ว่า ทิพกายจักเบาบางเสียละหนอ อสุรกายจักเต็มไป

    แต่ถ้าในหมู่มนุษย์ คนที่เกื้อกูลมารดาบิดา ฯลฯ ทำบุญมีจำนวนมาก มหาราชทั้งสี่ก็บอกแก่คณะเทวดาดาวดึงส์ ณ สุธรรมสภาว่า

    ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ในหมู่มนุษย์ คนที่เกื้อกูลมารดาบิดา ฯลฯ ทำบุญมีจำนวนมาก
    เพราะข้อที่บอกนั้น คณะเทวดาดาวดึงส์ก็ชื่นชม (แสดงความยินดี) ว่า ทิพกายจักบริบูรณ์ละพ่อคุณ อสุรกายจักเบาบาง.

จบปฐมราชสูตรที่ 7

จากพระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย พุทธศักราช 2525 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปฐมราชสูตร เล่มที่ 34 หน้าที่ 162




 

Create Date : 04 ธันวาคม 2555    
Last Update : 4 ธันวาคม 2555 17:46:52 น.
Counter : 1994 Pageviews.  

สำรวมจิตเพื่อชีวิตที่สมบูรณ์

สำรวมจิตเพื่อชีวิตที่สมบูรณ์
 

 
     เราได้เหน็ดเหนื่อยกันมาตลอดทั้งวัน จากการประกอบภารกิจหน้าที่การงาน การศึกษาเล่าเรียน หรือเรื่องอื่นๆ ที่เราได้ทำผ่านมาแล้ว ดังนั้น ในช่วงเวลาต่อจากนี้ไป เราจะได้ให้โอกาสแก่ตัวของเราเอง ในการแสวงหาสาระอันแท้จริงของชีวิต เพื่อเพิ่มเติมสิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุดให้กับชีวิตด้วยการปฏิบัติธรรม ชีวิตจะได้ประสบแต่ความสุขความเจริญรุ่งเรือง เมื่อใจอยู่ในกระแสธรรม เราย่อมมีความสุขสดชื่นเบิกบาน ใจที่เบิกบานจะทำให้เราได้เข้าถึงธรรมอย่างง่ายดาย
 
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย  ธรรมบท ว่า
 
                            “สุทุทฺทสํ สุนิปุณํ      ยตฺถ กามนิปาตินํ
                             จิตฺตํ รกฺเขถ เมธาวี   จิตฺตํ คุตฺตํ สุขาวหํ
 
     ผู้มีปัญญา พึงรักษาจิตที่เห็นได้ยาก ที่ละเอียดอ่อน มักตกไปในอารมณ์ที่น่าใคร่ เพราะว่าจิตที่คุ้มครองดีแล้ว นำสุขมาให้”
 
     ธรรมชาติดั้งเดิมของจิตนั้นประภัสสร คือ สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส มีความสว่างไสวอยู่ในตัว ปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง แต่ว่าถูกอวิชชา คือ ความมืดเข้ามาห่อหุ้ม จึงทำให้ใจนั้นขุ่นมัวไม่ผ่องใส และหวั่นไหวไปตามกระแสกิเลส หากเราไม่สำรวมอินทรีย์คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ปล่อยให้หลงใหลไปในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส  ติดอยู่ในอารมณ์ที่เป็นเหยื่อล่อของพญามาร เราก็จะเป็นเหมือนปลาที่ติดเบ็ดของนายพราน ฉะนั้น
 
     ถ้าหากเราสำรวมระวังอินทรีย์อยู่เสมอ ไม่เผลอสติปล่อยใจในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ต่างๆ ภายนอก หมั่นฝึกฝนอบรมจิตใจให้หยุดนิ่งอยู่ภายใน ตั้งใจไว้ในต้นแหล่งแห่งความสุขและความบริสุทธิ์ คือ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นทางมาแห่งบุญกุศล เป็นต้นทางแห่งการบรรลุมรรคผลนิพพาน เราจะเข้าถึงความสุขที่แท้จริงซึ่งอยู่ภายในตัวของเรา ตำแหน่งนี้เป็นจุดที่จะเชื่อมโยงใจเราไปสู่อายตนนิพพาน
 
     ในอดีตมีพราหมณ์เข้าไปถามพระโมคคัลลานะว่า “ทำไมภิกษุในพระพุทธศาสนาซึ่งมีผมดำสนิท ร่างกายแข็งแรง ไม่ถูกอาพาธรุมเร้า ถึงไม่ยินดีในการครองเรือน ไม่ยินดีในการบริโภคกาม” พระเถระตอบว่า “เพราะภิกษุสาวกตั้งใจออกบวช เพื่อแสวงหาพระนิพพาน มีความสำรวมอินทรีย์ สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ท่านมีสมณสัญญา มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ จึงไม่ยินดีในเบญจกามคุณเหล่านั้น” ดังนั้นความสำรวมอินทรีย์ จึงเป็นทางมาแห่งความบริสุทธิ์หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง
 
     * ดังเช่นในสมัยหนึ่ง พระจิตตคุตเถระ ท่านรักในการประพฤติปฏิบัติธรรมมาก ตั้งแต่ตัดสินใจออกบวชอุทิศตนให้กับพระพุทธศาสนา ท่านหมั่นสำรวมอินทรีย์ ชำระกาย วาจา ใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์อยู่เสมอ หลังจากบวชได้ไม่นาน ท่านได้ขอโอกาสพระอาจารย์ไปปลีกวิเวก เพื่อแสวงหาที่ปฏิบัติธรรมตามป่าตามเขา เพิ่มพูนความบริสุทธิ์ในสมณธรรมให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ท่านได้ไปอาศัยอยู่ในถ้ำกุรันฑกะ ซึ่งเป็นถ้ำที่มีความใหญ่โตมโหฬาร สวยสดงดงามวิจิตรด้วยจิตรกรรมฝาผนังซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึง ๗ พระองค์
 
     แม้พระเถระจะอาศัยอยู่ในถ้ำนี้เป็นเวลานาน แต่เพราะท่านเป็นผู้มีความสำรวมอินทรีย์อย่างยิ่ง แม้แต่ผนังถ้ำ พระเถระก็ไม่เคยแหงนดูเลย และท่านไม่เคยคิดที่จะสนใจเรื่องนอกตัวเหล่านั้น ทำวันเวลาให้ผ่านไปด้วยการทำใจหยุดนิ่งมุ่งเข้าสู่ความบริสุทธิ์ภายใน ไม่ปล่อยจิตให้หลงใหลไปในสิ่งที่น่ารักน่าใคร่น่าพอใจภายนอก ท่านได้ใช้เวลาอย่างมีประโยชน์และมีคุณค่า ด้วยการทำภาวนาฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งตลอดเวลา
 
     กระทั่งวันหนึ่ง ภิกษุอาคันตุกะได้เดินทางมานมัสการ และขอพักอาศัยอยู่กับท่าน เมื่อได้เห็นทัศนียภาพอันตระการตาของจิตรกรรมฝาผนังในถ้ำแห่งนั้น ทุกรูปต่างตะลึงในความสวยงาม ที่จิตรกรได้บรรจงแต่งแต้มลงไปด้วยความศรัทธาเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ภาพที่เห็นเป็นประดุจว่า พระบรมศาสดายังทรงพระชนม์ชีพอยู่ ภิกษุทุกๆ รูป ได้เที่ยวเดินชมด้วยความปีติใจ เพราะไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน แล้วมาเล่าให้พระเถระฟังด้วยความชื่นชมยินดียิ่งนัก
 
     พระเถระได้ฟังดังนั้น จึงบอกว่า “กระผมอยู่ที่นี่มาตั้ง ๖๐ พรรษา ไม่เคยรู้เลยว่า ที่นี่มีภาพมหาภิเนษกรมณ์ของพระพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่ อาศัยพวกท่านทั้งหลายผู้มีนัยน์ตานั่นแหละ จึงทำให้ผมได้รู้ในวันนี้นี่เอง” คำพูดของพระเถระได้สะกิดใจเหล่าภิกษุอาคันตุกะที่มาขอพักอาศัยว่า “พระเถระเป็นผู้มีความสำรวมอินทรีย์มาก ใจท่านมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวอยู่กับการปฏิบัติธรรม เพื่อความหลุดพ้นอย่างเดียวจริงๆ ” ทำให้ภิกษุอาคันตุกะเกิดแรงบันดาลใจ ที่จะฝึกตัวเช่นท่านบ้าง
 
     ความสำรวมอินทรีย์ของพระเถระนี้ แม้ต้นกากะทิงซึ่งเป็นต้นไม้แห่งการตรัสรู้ธรรม อยู่หน้าถ้ำที่ท่านอาศัยอยู่ พระเถระก็ยังไม่เคยแหงนดูต้นไม้นั้นเลย รู้เพียงว่ามีอยู่เท่านั้นเอง ต่อเมื่อเกสรของต้นไม้นั้น ร่วงหล่นลงมาบนพื้นดินตามฤดูกาล ท่านจึงรู้ว่าเป็นไม้มีดอก กิตติศัพท์ความสำรวมอินทรีย์ของท่าน ได้ฟุ้งขจรขจายไปทั่วทุกสารทิศ
 
     พระราชาได้ทรงสดับเรื่องราวของพระเถระ บังเกิดความเลื่อมใส จึงได้อาราธนานิมนต์ให้ท่านมาฉันภัตตาหารในพระราชวัง ขณะที่พระราชาและพระมเหสีตลอดจนเหล่าอำมาตย์ราชบริพารมานมัสการ และถวายภัตตาหารด้วยมือของตนเอง ท่านก็กล่าวเพียงว่า “สุขี โหตุ มหาราชา ขอมหาบพิตรจงมีความสุขเถิด” ไม่ได้กล่าวคำอื่นใด เพราะท่านไม่ได้คำนึงถึงว่า คนนั้นจะเป็นชายหรือหญิง นึกเพียงว่าเป็นคน เพราะร่างกายนี้ประกอบไปด้วยธาตุ ๔ เท่านั้นเอง ยิ่งทำให้พระราชาเพิ่มพูนความเลื่อมใสมากขึ้น ทรงถวายภัตตาหารเป็นเวลาต่อเนื่องกันถึง ๗ วัน
 
     ในวันที่ ๘ หลังจากพระเถระได้โปรดพระราชาแล้ว ได้เดินทางกลับถ้ำตามเดิม คืนนั้นเอง ขณะที่พระเถระกำลังเดินจงกรมทำความเพียรตามปกติ เทวดาที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นกากะทิง เห็นพระเถระเดินจงกรมทำความเพียรไม่ลดละ เกิดจิตเลื่อมใส อยากเอาบุญพิเศษกับท่าน จึงได้ทำแสงสว่างให้ปรากฏ ให้พระเถระได้มองเห็นทางในขณะเดินจงกรม ท่านจะได้ไม่สะดุดหกล้ม
 
     พระเถระ ได้ตรึกระลึกถึงศีลอันบริสุทธิ์ของตนตั้งแต่ออกบวช และความสำรวมอินทรีย์ที่มีมาตลอด เมื่อนึกแล้วก็เกิดความปลื้มปีติในความบริสุทธิ์ของตน จิตใจของท่านชุ่มชื่นเบิกบาน บริสุทธิ์ผ่องใสราวกับพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ เมื่อใจหยุดนิ่งถูกส่วน ท่านก็เข้าถึงดวงธรรม ดวงศีล สมาธิ(Meditation) ปัญญาไปตามลำดับ พระเถระเดินจงกรมไป แต่ใจนั้นยังหยุดนิ่งอยู่ในธรรม ข้างนอกเคลื่อนไหว ข้างในหยุดนิ่งอยู่กลางดวงธรรมที่เข้าถึง สว่างไสวทีเดียว  ท่านปล่อยใจให้หยุดในหยุดเรื่อยไป ในที่สุดก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ในขณะที่เดินจงกรมนั่นเอง แม้แต่ภูเขาก็เกิดเสียงสะเทือนเลื่อนลั่น ดังสนั่นหวั่นไหวไปทั่ว ประดุจจะแสดงความยินดีปรีดา อนุโมทนาสาธุการในการบรรลุธรรมของท่าน
 
     เราจะเห็นว่า การสำรวมอินทรีย์มีผลดีต่อการทำใจหยุดนิ่งอย่างมาก หากเราหมั่นสำรวมอินทรีย์อยู่เสมอ ดูในสิ่งที่ควรดู ฟังในสิ่งที่ควรฟัง รู้จักยับยั้งชั่งใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ที่มากระทบใจ เข้าใจในโลกธรรมที่เกิดขึ้น ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนพระพาหิยะไว้ว่า “ดูก่อนพาหิยะ เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเธอเห็น จักเป็นสักแต่ว่าเห็น เมื่อฟัง  จักเป็นสักแต่ว่าฟัง เมื่อรู้ จักเป็นสักแต่ว่ารู้ เมื่อรู้แจ้ง จักเป็นสักแต่ว่ารู้แจ้ง เมื่อเธอศึกษาเช่นนี้ เธอย่อมไม่มีในโลกนี้ ย่อมไม่มีในโลกหน้า ย่อมไม่มีในระหว่างโลกทั้งสอง นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์”
 
     บัณฑิตทั้งหลาย ได้แนะนำเรื่องการสำรวมอินทรีย์ไว้ว่า ผู้รักในการฝึกฝนอบรมจิต ไม่พึงเป็นผู้มีนัยน์ตาลอกแลก เหมือนลิงในป่า เหมือนเนื้อตื่นดง หรือเหมือนเด็กอ่อนสะดุ้งกลัว ควรสำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่าให้ไหลไปตามอำนาจกิเลสที่หลอกล่อให้เราตกหลุมพราง
 
     การสำรวมอินทรีย์ที่ดีที่สุด คือ การฝึกใจให้หยุดนิ่ง เพราะใจที่หยุดนิ่ง เป็นเกราะคุ้มกันกระแสกิเลส ที่ไหลเข้ามาสู่ใจของเรา หลวงปู่วัดปากน้ำท่านได้ให้ข้อเตือนใจเอาไว้ว่า “คนเราจะอยู่ให้เป็นสุขได้ทุกหนทุกแห่งนั้น ต้องทำตาของเราให้เหมือนตาไม้ไผ่ ทำใจให้หนักแน่นเหมือนแผ่นดิน ทำหูให้เหมือนหูกะทะ ทำตัวให้เหมือนผ้าขี้ริ้ว” คือลดตัวลงต่ำเพื่อยกใจของเราให้สูงขึ้น เพราะฉะนั้น แต่ละวันที่ผ่านไปควรหาโอกาสฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งเป็นประจำสม่ำเสมอ นำใจกลับเข้ามาหยุดไว้ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่๗ ซึ่งเป็นหลุมหลบภัยที่ดีที่สุด ที่จะทำให้เราหลุดพ้นจากการเป็นบ่าวเป็นทาสของพญามาร ได้เข้าถึงพระธรรมกาย ซึ่งเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึกอย่างแท้จริงของพวกเราทุกๆ คน

 
พระธรรมเทศนาโดย: พระเทพญาณมหามุนี
 
นามเดิม พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 
* วิมุตติรัตนมาลี (พระพรหมโมลี)




 

Create Date : 01 ธันวาคม 2555    
Last Update : 1 ธันวาคม 2555 17:35:11 น.
Counter : 1561 Pageviews.  

ความอดทนที่สูงสุด...............[ภาพประกอบงานภูเขาทองวัดสระเกศ]






บุคคลพึงอดทนถ้อยคำของคนที่ประเสริฐกว่าได้เพราะความกลัว

พึงอดทนต่อถ้อยคำของคนที่เสมอกันได้เพราะการแข่งขันเป็นเหตุ

ส่วนผู้ใดในโลกนี้ พึงอดทนถ้อยคำของคนที่เลวกว่าได้ สัตบุรุษทั้งหลายกล่าวความอดทนของผู้นั้นว่า "สูงสุด"


(๔๓/๗๗๙ สรภังคชาดก)
ภาพงานภูเขาทองวัดสระเกศปี 2552 โดย @Single Minde for Peace




 

Create Date : 24 พฤศจิกายน 2555    
Last Update : 24 พฤศจิกายน 2555 20:13:38 น.
Counter : 1713 Pageviews.  

กรรมตามไม่เจอ................................




เราทำกรรมสิ่งใดไป กรรมคือการกระทำนั้นย่อมประจักษ์แจ้งชัดอยู่ภายในจิตใจของตัวเราเองทั้งสิ้น

ไม่มีมนต์คาถาวิเศษอันใดที่จะช่วยเราให้รอดพ้นจากการกระทำของตัวเราไปได้เลย

นอกจากว่า..เราจะสามารถข้ามพ้นความยึดถือในตัวตนของเราไปได้เท่านั้น

...กรรมจึงจะตามเราไม่เจอ...

 

-ธรรมภาษิต-

ภาพประกอบ @Single Mind for Peace




 

Create Date : 22 พฤศจิกายน 2555    
Last Update : 22 พฤศจิกายน 2555 18:26:51 น.
Counter : 1490 Pageviews.  

ว่าด้วย.......บุคคลที่มีจิตเหมือนแผลเก่า เหมือนฟ้าแลบ และเหมือนเพชร





ปัญหา บุคคลที่มีจิตเหมือนแผลเก่า เหมือนฟ้าแลบ เหมือนเพชรคืออย่างไร ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่มีจิตเหมือนแผลเก่าเป็นอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มักโกรธ มากด้วยความแค้นใจ ถูกเขาว่าแม้เล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธเคืองพยาบาทขึ้งเคียด ทำความโกรธ ความขัดเคือง และความโทมนัสให้ปรากฏ เปรียบเหมือนแผลเก่า ถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบเขาย่อมให้สิ่งหมักหมมกระจัดกระจายมากมาย.....บุคคลนี้เรียกว่ามีจิตเหมือนแผลเก่า


“บุคคลที่มีจิตเหมือนฟ้าแลบคืออย่างไร ? บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่านี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา... เหมือนบุรุษผู้มีดวงตา เห็นรูปในขณะฟ้าแลบในเวลากลางคืนอันมืดมิด..... บุคคลนี้เรียกว่ามีจิตเหมือนฟ้าแลบ.....



“บุคคลที่มีจิตเหมือนเพชรคืออย่างไร ? บุคคลบางคนในโลกนี้ ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุต ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เปรียบเหมือนแก้วมณี หรือหินชนิดใดชนิดหนึ่ง ที่เพชรจะทำลายไม่ได้ไม่มี.... บุคคลนี้เรียกว่ามีจิตเหมือนเพชร.....”


ที่มา : วชิรสูตร ติก. อํ. (๔๖๔)
ตบ. ๒๐ : ๑๕๕-๑๕๖ ตท. ๒๐ : ๑๔๐-๑๔๑
ตอ. G.S. ๑ : ๑๐๖-๑๐๗

ภาพประกอบ @Single Mind for Peace




 

Create Date : 20 พฤศจิกายน 2555    
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2555 18:08:34 น.
Counter : 1716 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

อุ่นอาวรณ์
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Friends' blogs
[Add อุ่นอาวรณ์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.