Group Blog
 
All Blogs
 

รากฐานของสุขและทุกข์

“ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กายกรรม....วจีกรรม...มโนกรรม... ที่ประกอบกระทำตามความเห็น (ที่ผิด) เจตนา ความปรารถนา ความตั้งใจ และการกระทำทั้งปวงของบุคคลผู้มีความเห็นผิดธรรมทั้งหมดนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อผลที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจ ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เป็นไปเพื่อทุกข์ ข้อนั้นเพราะอะไร เพราะทิฏฐิเป็นของเลวทราม

“ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเมล็ดสะเดาก็ดี เมล็ดบวบขมก็ดี เมล็ดน้ำเต้าขมก็ดี ที่เขาหมกไว้ในดินที่ชุ่มชื้น รสดิน รสน้ำทั้งหมดที่มันดูดซึมเอาย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นของขม เพื่อความเป็นของขื่น เพื่อความไม่น่ายินดีเพราะเหตุใด เพราะเมล็ดพืชเป็นของเลว...ฉะนั้น


“ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กายกรรม....วจีกรรม...มโนกรรม... ที่ประกอบกระทำตามความเห็น (ที่ผิด) เจตนา ความปรารถนา ความตั้งใจ และการกระทำทั้งปวงของบุคคลผู้มีความเห็นชอบ.... ทั้งหมดย่อมเป็นไปเพื่อผลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ....เพื่อความสุข นั้นเพราะเหตุไร เพราะความเห็นเจริญดี

“ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนพันธุ์อ้อยก็ดี พันธุ์ข้าวสาลีก็ดี พันธ์จันทน์ก็ดี ที่เขาหมกไว้ในดินที่ชุ่มชื้น รสดิน รสน้ำทั้งหมดที่มันดูดซึมเอาย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นของหวาน น่ายินดี น่าชื่นใจ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเมล็ดพันธ์ดีฉันนั้นเหมือนกัน”

 

เอกธัมมาทิบาลี อีกนัยหนึ่ง เอก. อํ. (๑๘๙-๑๙๐)

ขอขอบพระคุณภาพจาก @Single Mind for Peace Smiley




 

Create Date : 26 สิงหาคม 2556    
Last Update : 26 สิงหาคม 2556 12:08:23 น.
Counter : 1296 Pageviews.  

หญ้าปากคอก : เรื่องที่ไม่ควรมองข้ามในชีวิตประจำวัน

เวลาที่เรามองข้ามสิ่งสำคัญที่อยู่ใกล้ตัวในชีวิตประจำวัน
คนโบราณมักชอบพูดว่า หญ้าปากคอก คำสอนนี้หมายความว่าอย่างไร ?

 

 สิ่งใดก็ตามที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง แล้วเราไม่ได้มอง ไม่ได้พิจารณาให้ดี หรือคุ้นจนมองข้ามความสำคัญไป จะมีอาการที่โบราณเรียกว่า หญ้าปากคอก

          หญ้าปากคอกเป็นอย่างไร เป็นการมองข้ามสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว จนกลายเป็นละทิ้ง หรือละเลย จนไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรจะเป็น

          หญ้าปากคอกที่ขึ้นอยู่ตรงปากทางเข้า-ออกของคอกวัวคอกควาย ถ้าเราไม่เกี่ยวเอามา วัวก็ไม่ได้กิน หญ้าจะแก่ตายอยู่ตรงนั้น แล้วรกปากคอกด้วย เพราะถูกทิ้งให้เป็นหญ้าแห้ง หญ้าเหี่ยว แล้วพอมีวัชพืชขึ้นมากเข้า ๆ ปากคอกก็จะกลายเป็นบริเวณที่รกที่สุดของคอก

          หญ้าปากคอกที่น่ากิน น่าเกิดประโยชน์ นอกจากไม่ได้เกิดประโยชน์แล้ว ยังต้องเสียเวลามาเกี่ยว มาดูให้วัวด้วย คือสิ่งเตือนใจเราว่า อะไรที่ใกล้ตัว ถ้าไม่มอง ไม่พิจารณาให้ดี นอกจากเสียประโยชน์แล้ว ยังเกิดโทษอีกมาก

          ลองถามตัวเองดูว่า เวลาจะคบคน จะดูที่ไหน จะดูว่าคนนั้นคนนี้ได้ดอกเตอร์หรือเปล่า จบปริญญาตรี โท เอกหรือเปล่า หรือจะดูว่านิสัยของเขาเป็นอย่างไร

          ก็ต้องดูที่นิสัย จบดอกเตอร์หรือไม่จบจะเป็นไรเล่า นิสัยดีต่างหากที่ต้องการ แม้แต่ในการเลือกรับคนเข้าทำงาน ตอนแรกก็คัดจากวุฒิการศึกษา แต่เวลาจะใช้ทำงานสำคัญๆ สิ่งที่ต้องการก็คือคนที่นิสัยดี ๆ

          นิสัยเป็นเรื่องที่ปล่อยปละละเลยไม่ได้ หากพบว่ามีนิสัยอะไรที่ส่อแววว่าจะเสียหาย ต้องรีบแก้ ซึ่งกว่าจะแก้นิสัยแต่ละอย่างได้นั้นไม่ง่าย ต้องทำซ้ำ ๆ ต้องใช้กำลังใจมหาศาล ต้องใช้เวลานานมาก เพื่อล้าง นิสัยเดิมให้หมดสิ้น

          เรารู้กันว่า ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว แล้วอะไรเป็นนายของใจเรา?

          เราควานหามานาน ในที่สุดก็เริ่มมาพบว่า นิสัยคือเจ้านายของใจเรา

          มันบังคับเราให้คิด ให้พูด ให้ทำสารพัด ถ้าปล่อยปละละเลย นิสัยแย่ ๆ จะเกิดมากขึ้น แล้วเราจะได้ เจ้านายแย่ ๆ

          เจ้านายที่เขาแต่งตั้งมาเป็นผู้บังคับบัญชาเราในที่ทำงาน อย่างมากก็เจอกันในที่ทำงาน แต่ว่านิสัยที่ ไม่ดีของเรา มันครอบงำใจเรา ๒๔ ชั่วโมง มองให้ดีเถิด ไม่คิดไม่แปลก ยิ่งคิดยิ่งแปลก

          ตื่นเช้าขึ้นมา มีงานต่าง ๆ ที่เราทำโดยอัตโนมัติ ตามความเคยชิน ไม่ต้องมีใครสั่ง ชีวิตอยู่ไปตามความเคยชิน ทั้งที่มนุษย์เป็นสัตว์โลกที่สามารถคิดได้ จะคิดปรับปรุงอย่างไรก็ทำได้ แต่เมื่อไม่ยอมคิด เท่ากับปล่อยให้ความโง่เริ่มครอบงำเราแล้ว

          ความเคยชินเหล่านี้เริ่มมาตั้งแต่เมื่อใด เริ่มมาตั้งแต่ท่าทางในการพับผ้าห่ม ปูที่นอน เก็บมุ้งเก็บหมอน ท่าทางเหล่านี้เคยใช้เมื่อหัวเท่ากำปั้น โตขึ้นมาจนแก่ชราก็ยังใช้ท่าเดิม อย่างอื่น ๆ ก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้น สิ่งที่ทำจนเป็นอัตโนมัติ ทั้งหมดนี้ คือนิสัย นิสัยก็เลยกลายเป็นนายของใจ

          แต่นิสัยเกิดจากอะไร? นิสัยเกิดจากการคิด พูด ทำ ซ้ำ ๆ แล้วในที่สุดก็ติด พอติดก็คุ้น หนักเข้าก็เคย แล้วก็ชิน ถ้าชินในทางดี ก็ส่งผลให้กระชุ่มกระชวย กระฉับกระเฉง แล้วก็ติดที่จะทำอย่างนั้น แล้วก็กลาย เป็นนิสัย ตรงกันข้ามถ้าในทางไม่ดี พอทำบ่อย ๆ จนชินแล้ว มันก็ชา จากชาก็ด้าน แล้วก็ได้นิสัยกระแทก กระทั้น กระแทกส้นเท้า กระแทกมือ กระแทกเท้า วาจาก็กระโชกโฮกฮาก กลายเป็นโปรแกรมติดตัวไป

          ถามต่อไปว่า อะไรหนอที่บังคับเราให้คิด พูด ทำซ้ำ ๆ ตลอดชีวิต?

          ลองสำรวจหาความจริงจากชีวิตของเราเองว่า ตั้งแต่เช้าจรดเย็น ตั้งแต่ตื่นในห้องนอนตอนเช้า จนกลับเข้ามาห้องนอนอีกในตอนเย็น ก็จะพบว่าชีวิตแต่ละวัน เราทำอะไรซ้ำ ๆ แบบเป็นวงจรเดิม

          เริ่มจากห้องนอนอันเป็นที่อยู่ เข้าไปสู่ห้องน้ำ ดูแลสุขภาพ แปรงฟัน อาบน้ำชำระร่างกาย ขับถ่าย จัดเข้าพวกเภสัช พอเข้าห้องครัวก็เป็นเรื่องของอาหาร มาสู่ห้องแต่งตัวก็เป็นเรื่องของเสื้อผ้า จากนั้นจึงมาสู่ ที่ทำงาน กลับจากทำงาน มาสู่ห้องแต่งตัว หิวแล้วไปเข้าห้องครัว แล้วเข้าห้องอาบน้ำ ก่อนเข้าสู่ห้องนอน ชีวิตดำเนินเป็นวงจรทำนองนี้

          สิ่งที่เป็นตัวเพาะนิสัยเรา ที่บังคับให้เราคิด พูด ทำซ้ำ ๆ ก็คือ ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค อาหาร เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เรียกรวมว่า ปัจจัย ๔ แล้วก็งานที่ทำในชีวิตประจำวัน

          เพราะฉะนั้น นิสัยเกิดจากอะไร? เกิดจากการใช้ปัจจัย ๔ และงานที่ทำ ส่วนสถานที่เกิดนิสัยก็คือ ๕ ห้องนี่เอง โดยมีงานที่เกี่ยวกับห้องต่าง ๆ นี้ ที่บังคับโดยปริยายให้คิด พูด ทำ ซ้ำ ๆ

          ประเภทของงานมีส่วนสำคัญที่ทำให้นิสัยดีและนิสัยไม่ดี ประเภทของงานไม่ว่างานหยาบหรืองานละเอียด ก่อเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับการเกิดนิสัยของคน ๆ นั้น ยังมีสิ่งแวดล้อมที่เป็นวัตถุ และบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นประจำ และวัฒนธรรม ขนบประเพณี หรือวิธีการทำงานในเขตนั้น ๆ บวกกับวิธีการใช้ปัจจัย ๔ ล้วนเป็นตัวหลอมให้กลายเป็นนิสัยไป จะเห็นได้ว่าการทำงานก่อให้เกิดนิสัยขึ้นมา ถ้าอยู่เฉย ๆ แล้ว โดยทั่วไปนิสัยดี ๆ ไม่เกิด เกิดแต่นิสัยขี้เกียจ

          ใคร ๆ จึงไม่ควรจะมองข้ามเรื่องนิสัยในชีวิตประจำวัน ทั้งนิสัยที่เกิดจากการใช้ปัจจัย ๔ นิสัยจากการทำงานอาชีพ นิสัยจากการใช้ห้าห้องชีวิต ได้แก่ ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องแต่งตัว ห้องอาหาร ห้องทำงาน เพราะถ้าเรามองข้ามจนปล่อยปละละเลยให้ตัวเองคุ้นกับนิสัยไม่ดีไปแล้ว จะกลายเป็นความเสียหายต่อชีวิตของเราเข้าทำนองมองข้ามหญ้าปากคอกที่ปู่ย่าตายายเคยเตือนเอาไว้

 

หลวงพ่อตอบปัญหา พระภาวนาวิริยคุณ

ขอขอบพระคุณภาพจาก @Single Mind for Peace Smiley




 

Create Date : 20 สิงหาคม 2556    
Last Update : 20 สิงหาคม 2556 11:59:09 น.
Counter : 1652 Pageviews.  

ผู้หญิง ที่ชายชอบและไม่ชอบ




สตรีมีคุณสมบัติอย่างไร บุรุษจึงชอบ และไม่ชอบ ?

พุทธดำรัสตอบ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มาตุคาม (แม่บ้าน) ผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ย่อมไม่เป็นที่ชอบใจของบุรุษโดยส่วนเดียว องค์ ๕ คืออะไร คือ รูปไม่สวย ๑ ไม่มีโภคสมบัติ ๑ ไม่มีศีล ๑ เกียจคร้าน ๑ ไม่ได้บุตรจากเขา ๑

“มาตุคามผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ย่อมเป็นที่ชอบใจของบุรุษโดยส่วนเดียว คือ รูปสวย ๑ มีโภคสมบัติ ๑ มีศีล ๑ ขยันไม่เกียจคร้าน ๑ ได้บุตรจากเขา ๑”



อมนาปสูตร สฬา. สํ. (๔๕๘-๔๕๙)
ขอขอบพระคุณภาพจาก @Single Mind for Peace




 

Create Date : 16 สิงหาคม 2556    
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2558 13:35:41 น.
Counter : 1431 Pageviews.  

ว่าด้วยทุกข์และมูลเหตุแห่งทุกข์ [อฆมูลสูตร]



พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ

[๖๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงทุกข์และมูลเหตุแห่งทุกข์แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกข์เป็นไฉน?

ทุกข์คือรูป ทุกข์คือเวทนา ทุกข์คือสัญญา ทุกข์คือสังขาร ทุกข์คือวิญญาณ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่าทุกข์.

[๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มูลเหตุแห่งทุกข์เป็นไฉน? ตัณหานี้ใด นำให้เกิดในภพใหม่ ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน มีปกติเพลิดเพลินยิ่งในอารมณ์นั้นๆ ได้แก่กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่ามูลเหตุแห่งทุกข์.


เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ บรรทัดที่ ๗๑๓ - ๗๒๒. หน้าที่ ๓๑.
ขอขอบพระคุณภาพจาก @Single Mind for Peace




 

Create Date : 15 สิงหาคม 2556    
Last Update : 15 สิงหาคม 2556 13:14:35 น.
Counter : 1246 Pageviews.  

ผลการบูชาพระพุทธองค์เมื่อทรงพระชนม์ และแม้ทรงปรินิพพานแล้ว

เรื่องพระเจดีย์ทองของพระกัสสปทสพล [๑๕๖]




ความพิสดารว่า พระตถาคตเจ้ามีพระสงฆ์หมู่ใหญ่เป็นพุทธบริวาร เสด็จออกจากเมืองสาวัตถีแล้วเสด็จไปเมืองพาราณสีโดยลำดับ เสด็จถึงเทวสถานแห่งหนึ่ง ในที่ใกล้บ้านโตไทยคาม ในระหว่างทาง. พระสุคตเจ้าได้ประทับใกล้เทวสถานนั้น ทรงส่งพระธรรมภัณฑาคาริก (คือพระอานนท์ผู้เป็นขุนคลังแห่งพระธรรม) ให้บอกพราหมณ์ซึ่งกำลังทำกสิกรรม อยู่ในที่ไม่ไกลมาเฝ้า. พราหมณ์นั้นมาแล้วไม่ถวายอภิวาทแด่พระตถาคต แต่ไหว้เทวสถานนั้นอย่างเดียว แล้วยืนอยู่.


แม้พระสุคตเจ้าก็ตรัสว่า "ดูก่อนพราหมณ์ ท่านสำคัญประเทศนี้ว่าเป็นที่อะไร?"
พราหมณ์จึงกราบทูลว่า "ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าไหว้ด้วยตั้งใจว่า ที่นี้เป็นเจติยสถานตามประเพณีของพวกข้าพเจ้า."


พระสุคตเจ้าจึงให้พราหมณ์นั้นชื่นชมยินดีว่า "ดูก่อนพราหมณ์ ท่านไหว้สถานที่นี้ ได้ทำกรรมที่ดีแล้ว." ภิกษุทั้งหลายได้สดับพระพุทธดำรัสนั้นแล้ว จึงเกิดสงสัยขึ้นว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้พราหมณ์ชื่นชมยินดีอย่างนี้ ด้วยเหตุอะไรหนอ."

ลำดับนั้น พระตถาคตเจ้าเพื่อทรงปลดเปลื้องความสงสัยของภิกษุเหล่านั้น จึงตรัสเทศนา ฆฏิการสูตร ในมัชฌิมนิกาย แล้วทรงนิรมิตพระเจดีย์ทองของพระกัสสปทสพล สูงหนึ่งโยชน์ และพระเจดีย์ทองอีกหนึ่งองค์ไว้ในอากาศ ทรงแสดงให้มหาชนเห็นแล้วตรัสว่า

"ดูก่อนพราหมณ์ การบูชาซึ่งบุคคลควรบูชาชนิดเช่นนี้ ย่อมสมควรกว่าแท้"
ดังนี้แล้ว จึงทรงประกาศปูชารหบุคคล ๔ จำพวก มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น โดยนัยดังที่ตรัสไว้ในมหาปรินิพพานสูตรนั้นเอง แล้วทรงแสดงโดยพิเศษถึงพระเจดีย์ ๓ ประเภทคือ สรีรเจดีย์ ๑ อุททิสเจดีย์ ๑ ปริโภคเจดีย์ ๑ (ครั้นแล้ว) ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า :-

๙. ปูชารเห ปูชยโต พุทฺเธ ยทิ จ สาวเก
ปปญฺจสมติกฺกนฺเต ติณฺณโสกปริทฺทเว
เต ตาทิเส ปูชยโต นิพฺพุเต อกุโตภเย
น สกฺกา ปุญฺญํ สงฺขาตุ ํ อิเมตฺตมปิ เกนจิ.

"ใครๆ ไม่อาจเพื่อจะนับบุญของบุคคลผู้บูชาอยู่
ซึ่งท่านผู้ควรบูชา คือพระพุทธเจ้า หรือว่าพระสาวก
ทั้งหลายด้วย ผู้ก้าวล่วงปปัญจธรรมเครื่องเนิ่นช้าได้
แล้ว ผู้มีความเศร้าโศกและความคร่ำครวญ อันข้าม
พ้นแล้ว (หรือว่า) ของบุคคลผู้บูชาอยู่ ซึ่งท่านผู้ควร
บูชาเช่นนั้นเหล่านั้น ผู้นิพพานแล้ว ไม่มีภัยแต่ที่
ไหนๆ ด้วยการนับแม้วิธีไรๆ ก็ตามว่า บุญนี้มี
ประมาณเท่านี้" ดังนี้.



แก้อรรถ
บุคคลผู้ควรเพื่อบูชา อธิบายว่า ผู้ควรแล้วเพื่อบูชา ชื่อว่าปูชารหบุคคลในพระคาถานั้น.
คำว่า ของบุคคลผู้บูชาอยู่ซึ่งท่านผู้ควรบูชา ความว่า ผู้บูชาอยู่ด้วยการนอบน้อมมีกราบไหว้เป็นต้นและด้วยปัจจัย ๔.

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงปูชารหบุคคลด้วยคำว่า พุทฺเธ คือ พระพุทธะทั้งหลาย.
บทว่า พุทฺเธ ได้แก่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า. ศัพท์นิบาตว่า ยทิ ได้แก่ ยทิวา อธิบายว่า อถวา คือ ก็หรือว่า. คำว่า ซึ่งพระปัจเจกพุทธะทั้งหลายก็เป็นอันตรัสไว้แล้วในพระคาถานั้น. (หรือว่า) พระสาวกทั้งหลายด้วย.
บทว่า ผู้ก้าวล่วงปปัญจธรรมได้แล้ว หมายความว่าปปัญจธรรม คือตัณหา ทิฏฐิ มานะ ท่านก้าวล่วงได้เเล้ว.
คำว่า ผู้มีความเศร้าโศกความคร่ำครวญอันข้ามพ้นแล้ว ได้แก่ ผู้มีความโศกและความร่ำไรอันล่วงพ้นแล้ว. อธิบายว่า ข้ามล่วงได้ทั้งสองอย่าง. ความเป็นผู้ควรแก่บูชา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสด้วยบทวิเสสนะ (คุณบท) เหล่านั้น.
คำว่า เหล่านั้น ได้แก่ พระพุทธะเป็นต้น.
คำว่า ผู้เช่นนั้น ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยคุณเช่นนั้น ด้วยอำนาจแห่งคุณดังกล่าวแล้ว.
คำว่า นิพพานแล้ว ได้แก่ นิพพานด้วยการดับพระพุทธะเป็นต้น.
ภัยแต่ที่ไหนๆ คือ จากภพหรือจากอารมณ์ย่อมไม่มีแก่ท่านผู้ควรบูชาเหล่านั้น ฉะนั้น ท่านเหล่านั้นจึงชื่อว่าไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ. ซึ่งท่านผู้ไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ เหล่านั้น.
คำว่า อันใครๆ ไม่อาจเพื่อจะนับบุญได้ ความว่า ไม่อาจเพื่อคำนวณบุญได้.

หากมีคำถามสอดมาว่า นับอย่างไร?
พึงแก้ว่า อันใครๆ ไม่อาจเพื่อนับบุญว่านี้มีประมาณเท่านี้
อธิบายว่า อันใครๆ ไม่อาจเพื่อจะนับว่า บุญนี้มีประมาณเท่านี้ บุญนี้มีประมาณเท่านี้. อปิศัพท์พึงเชื่อมในบทว่า เกนจิ. อธิบายว่า อันบุคคลไรๆ หรือว่าด้วยการนับวิธีไรๆ ในสองคำนั้น
คำว่า อันบุคคล ได้แก่ อันบุคคลนั้นมีพระพรหมเป็นต้น.
คำว่า ด้วยการนับ ได้แก่ ด้วยการนับ ๓ อย่าง คือด้วยการคะเน ด้วยการชั่งและด้วยการตวง. การคะเนโดยนัยว่าของนี้มีประมาณเท่านี้ ชื่อว่าคะเน การชั่งด้วยเครื่องชั่ง ชื่อว่าชั่ง การทำให้เต็ม (ตวง) ด้วยสามารถแห่งกึ่งฟายมือ ฟายมือ แล่ง และทะนานเป็นต้น ชื่อว่าตวง. อันบุคคลไรๆ ไม่อาจเพื่อนับบุญของผู้บูชาอยู่ ซึ่งท่านผู้ควรบูชามีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ด้วยการนับทั้ง ๓ วิธีเหล่านี้ ด้วยสามารถแห่งวิบากคือผล เพราะเว้นจากที่สุดฉะนี้.

ผลทานของผู้บูชาในสถานะทั้งสอง เป็นอย่างไรกัน?


บุญของผู้บูชาพระพุทธเจ้าเป็นต้น ผู้ยังทรงพระชนม์อยู่ ใครๆ ไม่อาจนับได้ก็พอทำเนา. บุญของผู้บูชาพระพุทธเจ้าเป็นต้น ผู้เช่นนั้นแม้นิพพานแล้วด้วยขันธปรินิพพาน อันมีกิเลสปรินิพพานเป็นนิมิต ใครๆ ก็ไม่อาจนับได้อีกเล่า เพราะฉะนั้น ควรจะแตกต่างกันบ้าง.
เพราะเหตุ (ที่จะมีข้อสงสัย) นั้นแหละ ท้าวสักกะจึงกล่าวไว้ในวิมานวัตถุว่า

"เมื่อพระสัมพุทธเจ้าเป็นต้น ยังทรงพระชนม์อยู่ก็ดี
นิพพานแล้วก็ดี เมื่อจิตเสมอกัน ผลก็ย่อมเท่ากัน ในเพราะ
เหตุคือความเลื่อมใสแห่งใจ สัตว์ทั้งหลาย ย่อมไปสู่สุคติ" ดังนี้.

ในอวสานแห่งพระธรรมเทศนา พราหมณ์นั้นได้เป็นพระโสดาบันแล้วแล.
พระเจดีย์ทองสูงตั้งโยชน์ ได้ตั้ง (เด่น) อยู่ในอากาศนั้นแลตลอด ๗ วัน. ก็สมาคมได้มีแล้วด้วยชนเป็นอันมาก พวกเขาบูชาพระเจดีย์ด้วยประการต่างๆ ตลอด ๗ วัน. ต่อนั้นมา ความแตกต่างแห่งลัทธิของผู้มีลัทธิต่างกันได้เกิดมีแล้ว.


พระเจดีย์นั้นได้ไปสู่ที่เดิมแห่งตนด้วยพุทธานุภาพ ในขณะนั้น พระเจดีย์ศิลาใหญ่ได้มีขึ้นแล้วในที่นั้นนั่นแล. ประชาสัตว์ ๘๔,๐๐๐ ได้บรรลุธรรมาภิสมัย (คือตรัสรู้ธรรม) แล้วในสมาคมนั้น.

เรื่องพระเจดีย์ทองของพระกัสสปทสพล จบ.
พุทธวรรควรรณนา จบ.
วรรคที่ ๑๔ จบ.
-----------------------------------------------------

อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท พุทธวรรคที่ ๑๔
ขอขอบพระคุณภาพจาก @Single Mind for Peace.




 

Create Date : 31 กรกฎาคม 2556    
Last Update : 31 กรกฎาคม 2556 17:17:27 น.
Counter : 1508 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

อุ่นอาวรณ์
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Friends' blogs
[Add อุ่นอาวรณ์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.