Group Blog
 
All Blogs
 

คติธรรมดาของโลก [โลกธรรม 8]


[296] โลกธรรม 8 (ธรรมดาของโลก, เรื่องของโลก, ความเป็นไปตามคติธรรมดาซึ่งหมุนเวียนมาหาสัตว์โลกและสัตวโลกก็หมุนเวียนตามมันไป — worldly conditions; worldly vicissitudes)
       

       1. ลาภ (ได้ลาภ, มีลาภ — gain)
       2. อลาภ (เสื่อมลาภ, สูญเสีย — loss)
       3. ยส (ได้ยศ, มียศ — fame; rank; dignity)
       4. อยส (เสื่อมยศ — obscurity)
       5. นินทา (ติเตียน — blame)
       6. ปสํสา (สรรเสริญ — praise)
       7. สุข (ความสุข — happiness)
       8. ทุกข์ (ความทุกข์ — pain)


       โดยสรุปเป็น 2 คือ ข้อ 1-3-6-7 เป็น อิฏฐารมณ์ คือ ส่วนที่น่าปรารถนา; ข้อที่เหลือเป็น อนิฏฐารมณ์ คือ ส่วนที่ไม่น่าปรารถนา

       โลกธรรมเหล่านี้ ย่อมเกิดขึ้นทั้งแก่ปุถุชนผู้มิได้เรียนรู้ และแก่อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ ต่างกันแต่ว่า คนพวกแรกย่อมไม่รู้เห็นเข้าใจตามความเป็นจริง ลุ่มหลง ยินดียินร้าย ปล่อยให้โลกธรรมเข้าครอบงำย่ำยีจิต ฟูยุบเรื่อยไปไม่พ้นจากทุกข์ มีโสกะปริเทวะ เป็นต้น ส่วนอริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ พิจารณาเห็นตามเป็นจริง ว่า สิ่งเหล่านี้อย่างใดก็ตามที่เกิดขึ้นแก่ตน ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ไม่หลงใหลมัวเมาเคลิ้มไปตามอิฏฐารมณ์ ไม่ขุ่นมัวหม่นหมอง คลุ้มคลั่งไปในเพราะอนิฏฐารมณ์ มีสติดำรงอยู่ เป็นผู้ปราศจากทุกข์ มีโสกะ ปริเทวะ เป็นต้น

องฺ.อฏฺฐก. 23/96/159

ขอขอบพระคุณภาพจาก @Single Mind for Peace.Smiley





 

Create Date : 18 มิถุนายน 2556    
Last Update : 18 มิถุนายน 2556 12:43:29 น.
Counter : 1914 Pageviews.  

เมตตาจิตลัดนิ้วมือ




[๕๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผุดผ่อง แต่ว่าจิตนั้นแล เศร้าหมองแล้ว
ด้วยอุปกิเลสที่จรมา ปุถุชนผู้มิได้สดับ ย่อมจะไม่ทราบจิตนั้นตามความเป็นจริงฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า ปุถุชนผู้มิได้สดับ ย่อมไม่มีการอบรมจิต ฯ

[๕๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตนี้ผุดผ่อง และจิตนั้นแล พ้นวิเศษแล้ว
จากอุปกิเลสที่จรมา พระอริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ย่อมทราบจิตนั้นตามความเป็นจริง ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า พระอริยสาวกผู้ได้สดับ ย่อมมีการอบรมจิต ฯ

[๕๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุซ่องเสพเมตตาจิต แม้ชั่วการเพียงลัด
นิ้วมือเดียวเท่านั้น ภิกษุนี้เรากล่าวว่า อยู่ไม่เหินห่างจากฌาน ทำตามคำสอนของพระศาสดา ปฏิบัติตามโอวาท ไม่ฉันบิณฑบาตของชาวแว่นแคว้นเปล่า ก็จะกล่าวไยถึงผู้ทำเมตตาจิตนั้นให้มากเล่า ฯ

[๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุเจริญเมตตาจิต แม้ชั่วกาลเพียงลัดนิ้วมือ
เดียวเท่านั้น ภิกษุนี้เรากล่าวว่า อยู่ไม่เหินห่างจากฌาน ทำตามคำสอนของ
พระศาสดา ปฏิบัติตามโอวาท ไม่ฉันบิณฑบาตของชาวแว่นแคว้นเปล่า ก็จะกล่าวไยถึงผู้ทำเมตตาจิตนั้นให้มากเล่า ฯ

[๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุใส่ใจเมตตาจิต แม้ชั่วกาลเพียง
ลัดนิ้วมือเดียวเท่านั้น ภิกษุนี้เรากล่าวว่า อยู่ไม่เหินห่างจากฌาน ทำตามคำสอนของพระศาสดา ปฏิบัติตามโอวาท ไม่ฉันบิณฑบาตของชาวแว่นแคว้นเปล่า ก็จะกล่าวไยถึงผู้ทำเมตตาจิตนั้นให้มากเล่า ฯ

[๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อกุศลธรรมที่เป็นไปในส่วนอกุศล ที่เป็นไป
ในฝักฝ่ายอกุศลทั้งหมด มีใจเป็นหัวหน้า ใจเกิดก่อนธรรมเหล่านั้น อกุศลธรรมเกิดหลังเทียว ฯ

[๕๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุศลธรรมที่เป็นไปในส่วนกุศล ที่เป็นไปใน
ฝักฝ่ายกุศลทั้งหมด มีใจเป็นหัวหน้า ใจเกิดก่อนธรรมเหล่านั้น กุศลธรรมเกิด
หลังเทียว ฯ

[๕๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่
เป็นเหตุให้อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เสื่อมไปเหมือนความประมาท ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลประมาทแล้ว อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป ฯ

[๖๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่เป็น
เหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรืออกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เสื่อมไป
เหมือนความไม่ประมาท ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลไม่ประมาทแล้ว กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป ฯ

[๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้อย่างหนึ่ง ที่
เป็นเหตุให้อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เสื่อมไปเหมือนความเป็นผู้เกียจคร้าน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลเกียจคร้านแล้ว อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป ฯ



เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ บรรทัดที่ ๒๑๐ - ๒๔๖. หน้าที่ ๙ - ๑๑.
ขอบพระคุณภาพจาก @Single Mind for Peace




 

Create Date : 17 มิถุนายน 2556    
Last Update : 17 มิถุนายน 2556 12:42:28 น.
Counter : 1283 Pageviews.  

สมบัติของอุบาสก (อุบาสิกา)...[มหานามสูตร]




[๑๕๙๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ใกล้พระนครกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้งนั้นแล พระเจ้ามหานามศากยราช เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรงอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร บุคคลจึงจะชื่อว่าอุบาสก?

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรมหาบพิตร บุคคลผู้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล บุคคลจึงจะชื่อว่า เป็นอุบาสก.


[๑๕๙๑] ม. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร อุบาสกจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล?

พ. ดูกรมหาบพิตร อุบาสกเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต เป็นผู้งดเว้นจากอทินนาทานเป็นผู้งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร เป็นผู้งดเว้นจากมุสาวาท เป็นผู้งดเว้นจากสุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล อุบาสกจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล.

[๑๕๙๒] ม. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร อุบาสกจึงจะชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา?

พ. ดูกรมหาบพิตร อุบาสกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา คือ เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้จำแนกธรรม ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล อุบาสกจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา.

[๑๕๙๓] ม. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร อุบาสกจึงจะชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ?

พ. ดูกรมหาบพิตร อุบาสกในธรรมวินัยนี้ มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน มีจาคะอันไม่ติดขัด มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนกอยู่ครอบครองเรือน ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ อุบาสกจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ.

[๑๕๙๔] ม. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ด้วยเหตุเพียงเท่าไร อุบาสกจึงจะชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา?

พ. ดูกรมหาบพิตร อุบาสกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาเป็นเหตุให้ถึง (เห็น) ความเกิดและความดับ เป็นอริยะ เป็นไปเพื่อชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล อุบาสกจึงชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา

เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ บรรทัดที่ ๙๔๐๓ - ๙๔๓๑. หน้าที่ ๓๙๒ - ๓๙๓.
ขอขอบพระคุณภาพจาก @Single Mind for Peace




 

Create Date : 14 มิถุนายน 2556    
Last Update : 14 มิถุนายน 2556 12:29:05 น.
Counter : 1432 Pageviews.  

ว่าด้วยแสงและความสว่าง.. [อาภาวรรคที่๔]





[๑๔๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย แสงสว่าง ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน
คือ แสงสว่างแห่งพระจันทร์ ๑ แสงสว่างแห่งพระอาทิตย์ ๑ แสงสว่างแห่งไฟ ๑แสงสว่างแห่งปัญญา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แสงสว่าง ๔ ประการนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาแสงสว่าง ๔ ประการนี้ แสงสว่างแห่งปัญญาเป็นเลิศ ฯ

[๑๔๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย รัศมี ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน
คือ รัศมีแห่งพระจันทร์ ๑ รัศมีแห่งพระอาทิตย์ ๑ รัศมีแห่งไฟ ๑ รัศมี
แห่งปัญญา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย รัศมี ๔ ประการนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย
บรรดารัศมี ๔ ประการนี้ รัศมีแห่งปัญญาเป็นเลิศ ฯ

[๑๔๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความสว่าง ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน
คือ ความสว่างแห่งพระจันทร์ ๑ ความสว่างแห่งพระอาทิตย์ ๑ ความสว่าง
แห่งไฟ ๑ ความสว่างแห่งปัญญา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความสว่าง ๔ ประการนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาความสว่าง ๔ ประการนี้ ความสว่างแห่งปัญญาเป็นเลิศ ฯ


[๑๔๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โอภาส ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน
คือ โอภาสแห่งพระจันทร์ ๑ โอภาสแห่งพระอาทิตย์ ๑ โอภาสแห่งไฟ ๑
โอภาสแห่งปัญญา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย โอภาส ๔ ประการนี้แล ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย บรรดาโอภาส ๔ ประการนี้ โอภาสแห่งปัญญาเป็นเลิศ ฯ

[๑๔๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความโพลง ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน
คือ ความโพลงแห่งพระจันทร์ ๑ ความโพลงแห่งพระอาทิตย์ ๑ ความโพลง
แห่งไฟ ๑ ความโพลงแห่งปัญญา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความโพลง ๔ ประการนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาความโพลง ๔ ประการนี้ ความโพลงแห่งปัญญาเป็นเลิศ ฯ

[๑๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กาล ๔ นี้ กาล ๔ เป็นไฉน คือ การฟัง
ธรรมตามกาล ๑ การสนทนาธรรมตามกาล ๑ การสงบตามกาล ๑ การพิจารณาตามกาล ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย กาล ๔ นี้แล ฯ

[๑๔๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กาล ๔ นี้ อันบุคคลบำเพ็ญโดยชอบ
ให้เป็นไปโดยชอบ ย่อมให้ถึงความสิ้นอาสวะโดยลำดับ กาล ๔ เป็นไฉน
คือ การฟังธรรมตามกาล ๑ การสนทนาตามกาล ๑ การสงบตามกาล ๑
การพิจารณาตามกาล ๑ กาล ๔ นี้แล อันบุคคลบำเพ็ญโดยชอบ ให้เป็นไปโดยชอบ ย่อมให้ถึงความสิ้นอาสวะโดยลำดับ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อฝนเม็ดใหญ่ตกบนภูเขา น้ำไหลไปตามที่ลุ่ม ย่อมยังซอกเขา ลำธารและห้วยให้เต็มซอกเขา ลำธารและห้วยเต็มแล้ว ย่อมยังหนองให้เต็ม หนองเต็มแล้วย่อมยังบึงให้เต็ม บึงเต็มแล้ว ย่อมยังแม่น้ำน้อยให้เต็ม แม่น้ำน้อยเต็มแล้วย่อมยังแม่น้ำใหญ่ให้เต็ม แม่น้ำใหญ่เต็มแล้ว ย่อมยังสมุทรสาครให้เต็มแม้ฉันใด กาล ๔ นี้ อันบุคคลบำเพ็ญโดยชอบ ให้เป็นไปโดยชอบย่อมให้ถึงความสิ้นอาสวะโดยลำดับ ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯ

[๑๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย วจีทุจริต ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน
คือ พูดเท็จ ๑ พูดส่อเสียด ๑ พูดคำหยาบ ๑ พูดเพ้อเจ้อ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลายวจีทุจริต ๔ ประการนี้แล ฯ

[๑๔๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย วจีสุจริต ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน
คือ พูดจริง ๑ พูดไม่ส่อเสียด ๑ พูดอ่อนหวาน ๑ พูดด้วยปัญญา ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย วจีสุจริต ๔ ประการนี้แล ฯ

[๑๕๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สาระ ๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน
คือ สีลสาระ ๑ สมาธิสาระ ๑ ปัญญาสาระ ๑ วิมุตติสาระ ๑ ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย สาระ ๔ ประการนี้แล ฯ


เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ บรรทัดที่ ๓๘๓๕ - ๓๘๘๓. หน้าที่ ๑๖๔ - ๑๖๖.

ขอบพระคุณภาพจาก @Single Mind for Peace




 

Create Date : 13 มิถุนายน 2556    
Last Update : 13 มิถุนายน 2556 12:03:01 น.
Counter : 1372 Pageviews.  

ธรรม ๔ เพื่อแจ้งโสดาปัตติผล




[๑๖๓๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน?

คือ การคบสัตบุรุษ ๑ การฟังสัทธรรม ๑ การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ๑ การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วย่อมเป็นไป เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล.



เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ บรรทัดที่ ๙๗๙๒ - ๙๗๙๙. หน้าที่ ๔๐๘.
ขอบพระคุณภาพประกอบจาก @Single Mind for Peace 




 

Create Date : 11 มิถุนายน 2556    
Last Update : 11 มิถุนายน 2556 17:25:37 น.
Counter : 1124 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

อุ่นอาวรณ์
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Friends' blogs
[Add อุ่นอาวรณ์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.