Group Blog
 
All Blogs
 

เรื่องพระเถระผู้เกือบเสียท่า

เรื่องพระสุนทรสมุทรเถระ

               ข้อความเบื้องต้น พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระสุนทรสมุทรเถระตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "โยธ กาเม" เป็นต้น.

กุลบุตรออกบวช 

               ได้ยินว่า ในกรุงสาวัตถี กุลบุตรคนหนึ่งชื่อสุนทรสมุทรกุมารเกิดในตระกูลใหญ่อันมีสมบัติ ๔๐ โกฏิ.
               วันหนึ่ง เขาเห็นมหาชนมีของหอมและระเบียบดอกไม้เป็นต้นในมือไปสู่พระเชตวันเพื่อต้องการฟังธรรม ในเวลาภายหลังภัตจึงถามว่า "พวกท่านจะไปไหนกัน?"เมื่อมหาชนนั้นบอกว่า "พวกฉันจะไปสู่สำนักพระศาสดา เพื่อประโยชน์แก่การฟังธรรม"กล่าวว่า "ฉันก็จักไป" แล้วไปกับมหาชนนั้น นั่ง ณ ที่สุดบริษัท.
               พระศาสดาทรงทราบอัธยาศัยของเขา จึงทรงแสดงอนุปุพพีกถา.เขาคิดว่า "บุคคลผู้อยู่ครองเรือน ไม่อาจประพฤติพรหมจรรย์ให้เป็นดุจสังข์ที่ขัดแล้วได้."อาศัยพระกถาของพระศาสดา มีความอุตสาหะเกิดแล้วในบรรพชาเมื่อบริษัทหลีกไปแล้ว จึงทูลขอบรรพชากะพระศาสดา
               ได้สดับว่า "พระตถาคตทั้งหลายไม่ยังกุลบุตรที่มารดาบิดายังไม่อนุญาตให้บรรพชา"จึงไปสู่เรือนแล้ว ยังมารดาบิดาให้อนุญาตด้วยความพยายามมากเหมือนกุลบุตรชื่อรัฏฐบาลเป็นต้นได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักพระศาสดาแล้ว
               คิดว่า "ประโยชน์
อะไรของเรา ด้วยการอยู่ในที่นี้"จึงออกจากกรุงสาวัตถีนั้นไปสู่กรุงราชคฤห์ เที่ยวบิณฑบาตอยู่ ยังกาลให้ล่วงไปแล้ว.

หญิงแพศยารับอาสาจะให้พระเถระสึกให้ได้   

               ต่อมาวันหนึ่ง มารดาบิดาของพระสุนทรสมุทรเถระนั้น เห็นพวกกุมารที่เป็นสหายของท่านกำลังเล่นอยู่ด้วยสิริโสภาคย์๑- อันใหญ่ในวันมหรสพวันหนึ่งในกรุงสาวัตถี คร่ำครวญว่า "การเล่นชนิดนี้ บุตรของเราได้โดยยาก."
____________________________
๑- ความเป็นผู้มีส่วนงามด้วยสิริ.

               ในขณะนั้น หญิงแพศยาคนหนึ่งไปสู่ตระกูลนั้นเห็นมารดาของพระสุนทรสมุทรเถระนั้นกำลังนั่งร้องไห้อยู่ จึงถามว่า"คุณแม่ เพราะเหตุไร? คุณแม่จึงร้องไห้."
               มารดาพระสุนทรสมุทร. ฉันคิดถึงลูก จึงร้องไห้.
               หญิงแพศยา. ก็บุตรนั้นไปที่ไหนเล่า? คุณแม่.
               มารดาพระสุนทรสมุทร. บวชใน (สำนัก ) ภิกษุทั้งหลาย.
               หญิงแพศยา. การให้ท่านสึกเสีย ไม่ควรหรือ?
               มารดาพระสุนทรสมุทร. ควร แต่เธอไม่ปรารถนา, เธอออกจากกรุงสาวัตถีนี้ ไปสู่กรุงราชคฤห์.
               หญิงแพศยา. ถ้าดิฉันพึงให้ท่านสึกได้ไซร้, คุณแม่พึงทำอะไร? แก่ดิฉัน.
               มารดาพระสุนทรสมุทร. พวกฉันพึงทำเจ้าให้เป็นเจ้าของแห่งขุมทรัพย์ตระกูลนี้.
               หญิงแพศยากล่าวว่า "ถ้าเช่นนั้น คุณแม่จงให้สินจ้างแก่ดิฉัน"ถือเอาสินจ้างแล้ว ไปสู่กรุงราชคฤห์ด้วยบริวารหมู่ใหญ่ กำหนดถนนที่เที่ยวบิณฑบาตของท่านได้แล้วยึดเอาเรือนเป็นที่พักหลังหนึ่งในที่นั้นตกแต่งอาหารที่ประณีตไว้แต่เช้าตรู่ แล้วถวายภิกษาในเวลาพระเถระเข้าไปบิณฑบาตโดยกาลล่วงไป ๒-๓ วัน นิมนต์ว่า "ท่านเจ้าข้า ขอท่านจงนั่งในที่นี้นี่แหละ ทำภัตกิจ" แล้วรับเอาบาตร.ท่านได้ให้บาตรแล้ว.

หญิงแพศยาออกอุบายเกลี้ยกล่อมพระเถระ

               ครั้งนั้น หญิงแพศยานั้นเลี้ยงพระเถระนั้นด้วยอาหารอันประณีตเรียนว่า "ท่านเจ้าข้า การเที่ยวบิณฑบาตในที่นี้นี่แหละสะดวกดี"นิมนต์ให้พระเถระนั่งฉันที่ระเบียง ๒-๓ วันแล้ว เอาขนมเกลี้ยกล่อมพวกเด็กแล้วพูดว่า "พวกเจ้าจงมา ในเวลาพระเถระมาแล้ว แม้ฉันห้ามอยู่,พวกเจ้าพึงมาในที่นี้แล้ว (คุ้ย) ธุลีให้ฟุ้งขึ้น."
               ในวันรุ่งขึ้น เวลาพระเถระฉันพวกเด็กเหล่านั้น แม้ถูกหญิงแพศยานั้นห้ามอยู่ ก็ (คุ้ย) ธุลีให้ฟุ้งขึ้นแล้ว.
               ในวันรุ่งขึ้น หญิงแพศยานั้นเรียนว่า "พวกเด็ก แม้ดิฉันห้ามอยู่ก็ไม่ฟังคำของดิฉัน ยัง (คุ้ย) ธุลีให้ฟุ้งขึ้นในที่นี้ได้ขอท่านจงนั่งภายในเรือนเถิด"ให้ท่านนั่งภายในแล้ว นิมนต์ให้ฉันสิ้น ๒-๓ วัน,นางเกลี้ยกล่อมเด็กอีก พูดว่า "พวกเจ้า แม้ถูกฉันห้ามอยู่ พึงทำเสียงอึกทึก ในเวลาพระเถระฉัน."เด็กเหล่านั้นทำอย่างนั้นแล้ว.
               ในวันรุ่งขึ้น นางกล่าวว่า "ท่านเจ้าข้า ในที่นี้มีเสียงอึกทึกเหลือเกินพวกเด็กแม้ดิฉันห้ามอยู่ ก็ไม่เชื่อถือถ้อยคำของดิฉันนิมนต์ท่านนั่งเสียในปราสาทเบื้องบนเถิด"
               เมื่อพระเถระรับนิมนต์แล้ว ทำพระเถระไว้ข้างหน้า เมื่อจะขึ้นไปสู่ปราสาท ปิดประตูทั้งหลายเสีย จึงขึ้นไปสู่ปราสาท.
               พระเถระ แม้เป็นผู้ถือการเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็นวัตรอย่างอุกฤษฏ์ถูกความอยากในรสพัวพันแล้ว จึงขึ้นไปสู่ปราสาท ๗ ชั้นตามคำของนาง.

หญิงแพศยาแสดงอาการ ๔๐ อย่างเกี้ยวพระเถระ

               นางให้พระเถระนั่งแล้ว แสดงแง่งอนของหญิง ลีลาของหญิงซึ่งมาแล้วอย่างนี้ว่า
 "เพื่อนผู้มีหน้าเอิบอิ่ม ได้ยินว่า หญิงย่อมเกี้ยวชายด้วยฐานะ ๔๐#- อย่างคือ
                         สะบัดสะบิ้ง ๑ ก้มลง ๑ กรีดกราย ๑ ชมดชม้อย ๑
                         เอาเล็บดีดเล็บ ๑ เอาเท้าเหยียบเท้า ๑ เอาไม้ขีดแผ่นดิน ๑
                         ชูเด็กขึ้น ๑ ลดเด็กลง ๑ เล่นเอง ๑ ให้เด็กเล่น ๑ จูบเอง ๑
                         ให้เด็กจูบ ๑ รับประทานเอง ๑ ให้เด็กรับประทาน ๑
                         ให้ของเด็ก ๑ ขอของคืน ๑ ล้อเลียนเด็ก##- ๑ พูดดัง ๑
                         พูดค่อย ๑ พูดคำเปิดเผย ๑ พูดลี้ลับ ๑
                         (ทำนิมิต) ด้วยการฟ้อน ด้วยการขับ ด้วยการประโคม
                         ด้วยการร้องไห้ ด้วยการเยื้องกราย ด้วยการแต่งตัว ๑
                         ซิกซี้ ๑ จ้องมองดู ๑ สั่นสะเอว ๑ ยังของลับให้ไหว ๑
                         ถ่างขา ๑ หุบขา ๑ แสดงถัน ๑ แสดงรักแร้ ๑ แสดงสะดือ ๑
                         ขยิบตา ๑ ยักคิ้ว ๑ เม้มริมฝีปาก ๑ แลบลิ้น ๑ เปลื้องผ้า ๑
                         นุ่งผ้า ๑ สยายผม ๑ เกล้าผม ๑"

               ยืนข้างหน้าของพระเถระนั้น แล้วกล่าวคาถานี้ว่า :-
                                   "หญิงแพศยาผู้มีเท้าย้อมแล้วด้วยน้ำครั่ง สวม
                         เขียงเท้า (กล่าวแล้วว่า) แม้ท่านก็เป็นชายหนุ่มสำหรับ
                         ดิฉัน และแม้ดิฉันก็เป็นหญิงสาวสำหรับท่าน, แม้เรา
                         ทั้งสองแก่แล้ว มีไม้เท้ากรานไปข้างหน้าจึงจักบวช."
____________________________
#- มาในอัฏฐกถาชาดก กุณาลชาดก. กุณาลชาดก
##- กตมนุกโรติ ย่อมทำตามซึ่งกรรมอันเด็กทำแล้ว.

พระเถระชนะหญิงแพศยาเพราะอาศัยพระศาสดา

               ครั้งนั้น ความสังเวชใหญ่ได้เกิดขึ้นแก่พระเถระว่า "โอหนอ! กรรมที่เราไม่ใคร่ครวญแล้วทำ หนัก."ในขณะนั้น พระศาสดาประทับนั่งอยู่ในพระเชตวัน ณ ที่ไกลประมาณ ๔๕ โยชน์นั่นแลทรงเห็นเหตุนั้นแล้ว ได้ทรงทำความยิ้มแย้มให้ปรากฏ.
               ลำดับนั้น พระอานนทเถระทูลถามพระองค์ว่า"พระเจ้าข้า อะไรหนอแล? เป็นเหตุ,อะไร? เป็นปัจจัยแห่งการทรงทำความยิ้มแย้มให้ปรากฏ."
               พระศาสดาตรัสว่า. อานนท์ สงครามของภิกษุชื่อสุนทรสมุทรและของหญิงแพศยา กำลังเป็นไปอยู่ บนพื้นปราสาท ๗ ชั้น ในกรุงราชคฤห์.
               พระอานนท์ทูลถามว่า พระเจ้าข้า ความชนะจักมีแก่ใครหนอแล? ความปราชัยจักมีแก่ใคร?
               พระศาสดาตรัสว่า "อานนท์ ความชนะจักมีแก่สุนทรสมุทร,ความปราชัยจักมีแก่หญิงแพศยา" ดังนี้แล้ว ทรงประกาศความชนะของพระเถระประทับนั่งในพระเชตวันนั้นนั่นเอง ทรงแผ่พระรัศมีไป ตรัสว่า "ภิกษุ เธอจงหมดอาลัย ละกามแม้ทั้งสองเสีย"
ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :-

                         ๓๒.   โยธ กาเม ปหนฺตฺวาน     อนาคาโร ปริพฺพเช
กามภวปริกฺขีณํ     ตมหํ พฺรูมิ พฺราหฺมณํ.
 บุคคลใด ละกามทั้งหลายในโลกนี้แล้ว เป็น
ผู้ไม่มีเรือน งดเว้นเสียได้, เราเรียกบุคคลนั้น ผู้มี
กามและภพสิ้นแล้วว่า เป็นพราหมณ์.

แก้อรรถ               
               พึงทราบเนื้อความแห่งพระคาถานั้น (ดังนี้) :-
               ความว่า บุคคลใด ละกามแม้ทั้งสองในโลกนี้แล้ว เป็นผู้ไม่มีเรือน งดเว้นเสียได้เราเรียกผู้นั้น ผู้มีกามสิ้นแล้ว และผู้มีภพสิ้นแล้ว ว่าเป็นพราหมณ์.
               ในกาลจบเทศนา พระเถระบรรลุพระอรหัตแล้ว เหาะขึ้นไปสู่เวหาสด้วยกำลังแห่งฤทธิ์ทะลุมณฑลช่อฟ้าออกไปแล้ว ชมเชยพระสรีระพระศาสดาอยู่นั่นเทียว มาถวายบังคมพระศาสดาแล้ว.

พระศาสดาเป็นที่พึ่งของพระเถระ               
               ภิกษุทั้งหลายสนทนากันแม้ในโรงธรรมว่า"ผู้มีอายุทั้งหลาย พระสุนทรสมุทรเถระอาศัยรสที่พึงรู้ด้วยลิ้น เกือบเสียท่า.แต่พระศาสดาเป็นที่พึ่งของเธอ."
               พระศาสดาทรงสดับกถานั้นแล้ว ตรัสว่า"ภิกษุทั้งหลาย เราเป็นที่พึ่งของสุนทรสมุทรนั่น แต่ในบัดนี้เท่านั้นหามิได้,แม้ในกาลก่อน เราก็เป็นที่พึ่งของสุนทรสมุทรนั่น ผู้ติดอยู่ในรสตัณหาแล้วเหมือนกัน"
               อันภิกษุเหล่านั้นทูลอ้อนวอนแล้ว ทรงนำอดีตนิทานมาเพื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น ทรงยังวาตมิคชาดก๑- นี้ให้พิสดารว่า :-
                                   "ได้ยินว่า สภาพอื่นที่เลวกว่ารสทั้งหลาย คือ
                         การเคยชินกัน หรือการสนิทสนมกัน ย่อมไม่มี,
                         คนรักษาอุทยานชื่อสญชัย ย่อมนำเนื้อสมันตัวอาศัย
                         อยู่ในรกชัฏ มาสู่อำนาจได้ ก็เพราะรสทั้งหลาย."


 ดังนี้แล้ว ทรงประมวลชาดกว่า
               "ในกาลนั้น สุนทรสมุทรได้เป็นเนื้อสมัน,ส่วนมหาอำมาตย์ของพระราชาผู้กล่าวคาถานี้แล้ว ให้ปล่อยเนื้อนั้นไป ได้เป็นเรานี้เอง."
____________________________
๑- ขุ. ชา. เอก. เล่ม ๒๗/ข้อ ๑๔. อรรถกถา ขุ. ชา. เอก. เล่ม ๒๗/ข้อ ๑๔.

               เรื่องพระสุนทรสมุทรเถระ จบ.




 

Create Date : 28 ธันวาคม 2556    
Last Update : 28 ธันวาคม 2556 22:31:23 น.
Counter : 1313 Pageviews.  

ทำจิตให้เหมือนแม่น้ำคงคา




ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษ ถือเอาคบหญ้าที่จุดไฟมาแล้ว กล่าวอย่างนี้ว่า เราจักทำแม่น้ำคงคาให้ร้อนจัด ให้เดือดเป็นควันพลุ่ง ด้วยคบหญ้าที่จุดไฟแล้วนี้ ดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นจักทำแม่น้ำคงคาให้ร้อนจัดให้เดือดเป็นควันพลุ่ง ด้วยคบหญ้าที่จุดไฟแล้วได้หรือไม่? ไม่ได้พระเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะแม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำที่ลึก สุดที่จะประมาณ เขาจะทำแม่น้ำคงคานั้นให้ร้อนจัดให้เดือดเป็นควันพลุ่ง ด้วยคบหญ้าที่จุดไฟแล้วไม่ได้ง่ายเลย ก็แลบุรุษนั้นจะต้องเหน็ดเหนื่อยลำบากเสียเปล่าเป็นแน่แท้

ดังนี้ แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทางแห่งถ้อยคำที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวกะท่านมีอยู่ ๕ ประการ คือ กล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควร ๑ กล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริง ๑ กล่าวด้วยคำอ่อนหวานหรือหยาบคาย ๑ กล่าวด้วยคำประกอบด้วยประโยชน์หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑ มีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าว ๑ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลอื่นจะกล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควรก็ตาม เขาจะกล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่ก็ตาม จะกล่าวถ้อยคำอ่อนหวานหรือหยาบคายก็ตาม จะกล่าวถ้อยคำประกอบด้วยประโยชน์หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ก็ตาม จะมีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าวก็ตาม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ในข้อนั้น พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่เปล่งวาจาที่ลามก เราจักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์ เราจักมีเมตตาจิต ไม่มีโทสะในภายใน เราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น และเราจักแผ่เมตตาจิตอันเสมอด้วยแม่น้ำคงคา ไพบูลย์ ใหญ่ยิ่ง
หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท ไปตลอดโลกทุกทิศทุกทาง ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้นดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย พึงศึกษาด้วยอาการดังที่กล่าวมานี้แล.


เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ บรรทัดที่ ๔๒๐๘ - ๔๔๔๒. หน้าที่ ๑๗๑ - ๑๘๐

Smiley




 

Create Date : 27 ธันวาคม 2556    
Last Update : 27 ธันวาคม 2556 13:26:11 น.
Counter : 1608 Pageviews.  

วิธีปฏิบัติเมื่อถูกด่าว่า




“.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางแห่งถ้อยคำที่บุคคลอื่นจะพึงกล่าวกะท่านมีอยู่ ๕ ประการ คือ กล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควร ๑ กล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริง ๑ กล่าวด้วยคำอ่อนหวานหรือคำหยาบคาย ๑ กล่าวด้วยถ้อยคำประกอบด้วยประโยชน์หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ๑ มีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายในกล่าว ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลอื่นจะกล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควรก็ตาม จะกล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริงก็ตาม จะกล่าวด้วยคำอ่อนหวานหรือคำหยาบคายก็ตาม จะกล่าวถ้อยคำประกอบด้วยประโยชน์หรือไม่ประกอบด้วยประโยชน์ก็ตาม จะมีจิตเมตตาหรือมีโทสะภายในกล่าวก็ตาม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในข้อนั้น พวกเธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่แปรปรวน เราจักไม่เปล่งวาจาลามก เราจักอนุเคราะห์ด้วยสิ่งอันเป็นประโยชน์ เราจักมีจิตเมตตา ไม่มีโทสะในภายในเราจักแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น และจักแผ่เมตตาจิตอันไพบูลย์ ใหญ่ยิ่งหาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาทไปตลอดโลก ทุกทิศทุกทางซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้นดังนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเธอทั้งหลายถึงศึกษาด้วยอาการดังที่กล่าวมานี้แลฯ ”


กกจูปมสูตร มู. ม. (๒๖๗)




 

Create Date : 26 ธันวาคม 2556    
Last Update : 27 ธันวาคม 2556 13:07:41 น.
Counter : 1264 Pageviews.  

เจริญกายคตาสติให้มากแล้ว พึงได้อานิสงส์ ๑๐ ประการ

 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายคตาสติอันภิกษุเสพแล้วโดยมาก เจริญ
แล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นยานแล้ว ทำให้เป็นพื้นที่ตั้งแล้ว ให้ดำรงอยู่
เนืองๆ แล้ว อบรมแล้ว ปรารภสม่ำเสมอดีแล้ว พึงหวังอานิสงส์ ๑๐ ประการ
นี้ คือ
            

 (๑) อดกลั้นต่อความไม่ยินดีและความยินดีได้ ไม่ถูกความไม่ยินดี
ครอบงำ ย่อมครอบงำความไม่ยินดีที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ด้วย ฯ
             

(๒) อดกลั้นต่อภัยและความหวาดกลัวได้ ไม่ถูกภัยและความหวาดกลัว
ครอบงำ ย่อมครอบงำภัยและความหวาดกลัว ที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ด้วย ฯ
             

(๓) อดทน คือเป็นผู้มีปรกติอดกลั้นต่อความหนาว ความร้อน ความหิว
ความกระหาย ต่อสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และ สัตว์เลื้อยคลาน ต่อ
ทำนองคำพูดที่กล่าวร้าย ใส่ร้าย ต่อเวทนาประจำสรีระที่เกิดขึ้นแล้ว อันเป็น
ทุกข์กล้า เจ็บแสบ ไม่ใช่ความสำราญ ไม่เป็นที่ชอบใจ พอจะสังหารชีวิตได้ ฯ
             

(๔) เป็นผู้ได้ฌาน ๔ อันเกิดมีในมหัคคตจิต เครื่องอยู่สบายในปัจจุบัน
ตามความปรารถนา ไม่ยาก ไม่ลำบาก ฯ
             

(๕) ย่อมแสดงฤทธิ์ได้เป็นอเนกประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้
หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ปรากฏตัวหรือหายตัวไปนอกฝา นอกกำแพง นอก
ภูเขาได้ไม่ติดขัด เหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ทำการผุดขึ้นและดำลงในแผ่นดิน
เหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศ
โดยบัลลังก์เหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์และพระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์ มีอานุภาพ
มากปานฉะนี้ ด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้ ฯ
             

(๖) ย่อมฟังเสียงทั้งสอง คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่ไกลและ
ที่ใกล้ได้ด้วยทิพยโสตธาตุ อันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์ ฯ
             

(๗) ย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น และบุคคลอื่นได้ ด้วยใจ คือ จิต
มีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะก็
รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะก็รู้ว่า
จิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ก็รู้ว่าจิตหดหู่
จิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหัคคตะก็รู้ว่าจิตเป็นมหัคคตะหรือจิตไม่เป็น
มหัคคตะก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหัคคตะ จิตยังมีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตยังมีจิตอื่นยิ่งกว่า
หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตตั้งมั่นก็รู้ว่าจิตตั้งมั่น หรือ
จิตไม่ตั้งมั่นก็รู้ว่าจิตไม่ตั้งมั่น จิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่าจิตหลุดพ้นแล้ว หรือจิตยังไม่
หลุดพ้นก็รู้ว่าจิตยังไม่หลุดพ้น ฯ
             

(๘) ย่อมระลึกถึงขันธ์ ที่อยู่อาศัยในชาติก่อนได้เป็นอเนกประการ คือ
ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติ
บ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง
พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง หลายสังวัฏกัปบ้าง หลายวิวัฏกัปบ้าง หลายสังวัฏ-
*วิวัฏกัปบ้าง ว่าในชาติโน้น เรามีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ มีผิวพรรณอย่างนี้
มีอาหารอย่างนี้ เสวยสุขและทุกข์อย่างนี้ มีกำหนดอายุเท่านี้ เรานั้นเคลื่อนจาก
ชาตินั้นแล้ว บังเกิดในชาติโน้น แม้ในชาตินั้น เราก็มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้
มีผิวพรรณอย่างนี้ มีอาหารอย่างนี้ เสวยสุขและทุกข์อย่างนี้ มีกำหนดอายุเท่านี้
เรานั้นเคลื่อนจากชาตินั้นแล้ว จึงเข้าถึงในชาตินี้ ย่อมระลึกขันธ์ที่อยู่อาศัยในชาติ
ก่อนได้เป็นอเนกประการ พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ เช่นนี้ ฯ
             

(๙) ย่อมมองเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณ
ดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์
ฯลฯ ย่อมมองเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี
มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อม
ทราบชัดหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม เช่นนี้ ฯ
             

(๑๐) ย่อมเข้าถึงเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะ
อาสวะทั้งหลายสิ้นไป ทำให้แจ้งเพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในปัจจุบันอยู่ ฯ
             

ดูกรภิกษุทั้งหลาย กายคตาสติอันภิกษุเสพแล้วโดยมากเจริญแล้ว ทำ
ให้มากแล้ว ทำให้เป็นยานแล้ว ทำให้เป็นพื้นที่ตั้งแล้ว ให้ดำรงอยู่เนืองๆ แล้ว
อบรมแล้ว ปรารภสม่ำเสมอดีแล้ว พึงหวังอานิสงส์ ๑๐ ประการได้ ดังนี้แล ฯ
            

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  บรรทัดที่ ๔๔๔๑ - ๔๔๙๖.  หน้าที่  ๑๘๘ - ๑๙๐.

ขอขอบพระคุณภาพประกอบจาก @Single Mind for Peace Smiley




 

Create Date : 24 ธันวาคม 2556    
Last Update : 25 ธันวาคม 2556 10:25:47 น.
Counter : 1526 Pageviews.  

ทำไมพระองค์จึงไม่มีทุกข์ ทำไมความเพลิดเพลินจึงไม่มี ทำไมความเบื่อหน่ายจึง...




ปัญหา (เทวดาทูลถาม)ข้าแต่ภิกษุ ทำไมพระองค์จึงไม่มีทุกข์ ทำไมความเพลิดเพลินจึงไม่มี ทำไมความเบื่อหน่ายจึงไม่ครอบงำพระองค์ผู้นั่งแต่ผู้เดียว ?

พุทธดำรัสตอบ “ผู้มีทุกข์นั่นแหละจึงมีความเพลิดเพลิน ผู้มีความเพลิดเพลินนั่นแหละจึงมีทุกข์ ภิกษุย่อมเป็นผู้ไม่มีความเพลิดเพลิน ไม่มีทุกข์....”


กกุธสูตรที่ ๘ ส. สํ. (๒๗๑)
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก @Single Mind for Peace




 

Create Date : 16 ธันวาคม 2556    
Last Update : 16 ธันวาคม 2556 17:14:33 น.
Counter : 1197 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

อุ่นอาวรณ์
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Friends' blogs
[Add อุ่นอาวรณ์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.