Group Blog
 
All Blogs
 

เหตุเกิดจากความรัก

ความรักทั้งหลายย่อมมีแก่บุคคลผู้มีความเกี่ยวข้อง.
ทุกข์นี้เป็นไปตามความรัก ย่อมปรากฏ. บุคคลเมื่อเห็นโทษอันเกิด
แต่ความรัก พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรดฉะนั้น


ความเกี่ยวข้องมี ๒ อย่าง คือ ความเกี่ยวข้องเพราะได้เห็น ๑ ความเกี่ยวข้อง เพราะได้ฟัง ๑ ชื่อว่าสังสัคคะ ในอุเทศว่า สํสคฺคชาตสฺส ภวนฺติ เสฺนหา ดังนี้.

ความเกี่ยวข้องเพราะได้เห็นเป็นไฉน? บุคคลบางคนในโลกนี้ เห็นสตรีหรือกุมารีที่มีรูปสวย น่าดู น่าชม ประกอบด้วยความเป็นผู้มีผิวพรรณงามอย่างยิ่ง ครั้นพบเห็นแล้ว ก็ถือนิมิตเฉพาะส่วนๆ ว่า ผมงาม หน้างาม นัยน์ตางาม หูงาม จมูกงาม ริมฝีปากงาม ฟันงามปากงาม คิ้วงาม นมงาม อกงาม ท้องงาม เอวงาม ขางาม มืองาม แข้งงาม นิ้วงามหรือว่าเล็บงาม ครั้นพบเห็นเข้าแล้ว ย่อมพอใจ รำพันถึง ปรารถนา ติดใจ ผูกพันด้วยอำนาจความรัก. นี้ชื่อว่าความเกี่ยวข้องเพราะได้เห็น.

ความเกี่ยวข้องเพราะได้ฟังเป็นไฉน? บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมได้ฟังว่า ในบ้านหรือในนิคมโน้น มีสตรีหรือกุมารีรูปสวย น่าดู น่าชม ประกอบด้วยความเป็นผู้มีผิวพรรณงามอย่างยิ่ง ครั้นได้ยินได้ฟังแล้ว ย่อมชอบใจ รำพันถึง ปรารถนา ติดใจ ผูกพันด้วยอำนาจความรัก. นี้ชื่อว่าความเกี่ยวข้องเพราะได้ฟัง.

ความรัก ในคำว่า เสนหา มี ๒ อย่าง คือ ความรักด้วยอำนาจตัณหา ๑ ความรักด้วยอำนาจทิฏฐิ ๑.

ความรักด้วยอำนาจตัณหาเป็นไฉน? สิ่งที่ทำให้เป็นเขต ทำให้เป็นแดน ทำให้เป็นส่วนทำให้มีส่วนสุดรอบ การกำหนดถือเอา ความยึดถือว่าของเราโดยส่วนแห่งตัณหาเท่าใด คือบุคคลถือเอาว่า สิ่งนี้ของเรา นั่นของเรา สิ่งเท่านั้นของเรา ของๆ เราโดยส่วนเท่านี้ รูปของเราเสียงของเรา กลิ่นของเรา รสของเรา โผฏฐัพพะของเรา เครื่องลาดของเรา เครื่องนุ่งห่มของเราทาสีของเรา ทาสของเรา แพะของเรา แกะของเรา ไก่ของเรา สุกรของเรา ช้างของเราโคของเรา ม้าของเรา ลาของเรา ไร่นาของเรา ที่ดินของเรา เงินของเรา ทองของเราบ้านของเรา นิคมของเรา ราชธานีของเรา แว่นแคว้นของเรา ชนบทของเรา ฉางข้าวของเราคลังของเรา ย่อมยึดถือแผ่นดินใหญ่แม้ทั้งสิ้นว่าของเราด้วยอำนาจตัณหา. ตัณหาวิปริต ๑๐๘นี้ชื่อว่าความรักด้วยอำนาจตัณหา.

ความรักด้วยอำนาจทิฏฐิเป็นไฉน? สักกายทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐ มิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ อันตคาหิกทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ ทิฏฐิเห็นปานนี้ ทิฏฐิไปแล้ว ทิฏฐิรกชัฏ ทิฏฐิกันดาร ทิฏฐิเป็นเสี้ยนหนามทิฏฐิกวัดแพว่ง ทิฏฐิเป็นสังโยชน์ ความถือ ความถือเฉพาะ ความถือมั่น ความลูบคลำ ทางผิด คลองผิด ความเป็นผิด ลัทธิแห่งเดียรถีย์ ความถือด้วยการแสวงหาผิด ความถืออันวิปริต ความถืออันวิปลาส ความถือผิด ความถือว่าจริงในวัตถุอันไม่จริง ทิฏฐิ ๖๒ ประการ. นี้ชื่อว่าความรักด้วยอำนาจทิฏฐิ.

คำว่า ความรักทั้งหลายย่อมมีแก่บุคคลผู้มีความเกี่ยวข้อง ความว่า ความรักด้วยอำนาจตัณหา และความรักด้วยอำนาจทิฏฐิ ย่อมมี คือ ย่อมเกิด ย่อมเกิดพร้อม ย่อมบังเกิด ย่อมบังเกิดเฉพาะ ย่อมปรากฏ เพราะเหตุแห่งวิปัลลาส และเพราะเหตุแห่งความเกี่ยวข้องด้วยการได้เห็นและการได้ยิน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ความรักทั้งหลายย่อมมีแก่บุคคลผู้มีความเกี่ยวข้อง.
ชื่อว่า ความรัก ในอุเทศว่า เสฺนหนฺวยํ ทุกฺขมิทํ ปโหติ ดังนี้ ความรักมี๒ อย่าง คือ ความรักด้วยอำนาจตัณหา ๑ ความรักด้วยอำนาจทิฏฐิ ๑. ฯลฯ นี้ชื่อว่าความรักด้วยอำนาจตัณหา. ฯลฯ นี้ชื่อว่าความรักด้วยอำนาจทิฏฐิ. ฯลฯ

คำว่า ทุกข์นี้ ... ย่อมปรากฏ ความว่า บุคคลบางคนในโลกนี้ ประพฤติทุจริตด้วยกายประพฤติทุจริตด้วยวาจา ประพฤติทุจริตด้วยใจ ฆ่าสัตว์บ้าง ถือเอาทรัพย์ ที่เขามิได้ให้บ้างตัดที่ต่อบาง ปล้นหลายเรือนบ้าง ทำการปล้นเฉพาะเรือนหลังเดียวบ้าง ดักตีชิงในทางเปลี่ยวบ้าง คบชู้ภรรยาของผู้อื่นบ้าง พูดเท็จบ้าง. พวกราชบุรุษจับบุคคลผู้นั้นได้แล้ว ทูลแด่พระราชาว่า ขอเดชะ ผู้นี้เป็นโจรประพฤติชั่ว ขอพระองค์ทรงลงอาชญาตามพระประสงค์แก่ผู้นั้น.พระราชาก็ทรงบริภาษผู้นี้. ผู้นั้นย่อมเสวยทุกขโทมนัส แม้เพราะเหตุแห่งบริภาษ. ทุกข์โทมนัสอันน่ากลัวนี้เกิดเพราะอะไร? เกิดเพราะเหตุแห่งความรัก เพราะเหตุแห่งความยินดี เพราะเหตุแห่งความกำหนัด เพราะเหตุแห่งความกำหนัดด้วยอำนาจความยินดีของผู้นั้น.

พระราชายังไม่พอพระทัยแม้ด้วยอาชญาเท่านั้น ยังรับสั่งให้จองจำผู้นั้นด้วยการตอกขื่อบ้าง ด้วยการผูกด้วยเชือกบ้าง ด้วยการจำด้วยโซ่บ้าง ด้วยการผูกด้วยเถาวัลย์บ้าง ด้วยการกักไว้ในที่ล้อมบ้างด้วยการกักไว้ในบ้านบ้าง ด้วยการกักไว้ในนิคมบ้าง ด้วยการกักไว้ในนครบ้าง ด้วยการกักไว้ในแว่นแคว้นบ้าง ด้วยการกักไว้ในชนบทบ้าง ทรงทำให้อยู่ในถ้อยคำเป็นที่สุด (ทรงสั่งบังคับเป็นที่สุด) ว่า เจ้าจะออกไปจากที่นี้ไม่ได้. ผู้นั้นย่อมเสวยทุกข์โทมนัสแม้เพราะเหตุแห่งพันธนาการ.

ทุกข์โทมนัสอันน่ากลัวนี้ เกิดเพราะอะไร? เกิดเพราะเหตุแห่งความรัก เพราะเหตุแห่งความยินดี เพราะเหตุแห่งความกำหนัด และเพราะเหตุแห่งความกำหนัดด้วยอำนาจความยินดีของผู้นั้น. พระราชายังไม่พอพระทัยด้วยอาชญาเท่านั้น ยังรับสั่งให้ริบทรัพย์ของผู้นั้น ร้อยหนึ่งบ้าง
พันหนึ่งบ้าง. ผู้นั้นย่อมเสวยทุกข์โทมนัสแม้เพราะเหตุแห่งความเสื่อมจากทรัพย์. ทุกข์โทมนัส อันน่ากลัวนี้เกิดเพราะอะไร? เกิดเพราะเหตุแห่งความรัก เพราะเหตุแห่งความยินดี เพราะเหตุแห่งความกำหนัด และเพราะเหตุแห่งความกำหนัดด้วยอำนาจความยินดีของผู้นั้น.

พระราชายังไม่พอพระทัย แม้ด้วยอาชญาเท่านั้น ยังรับสั่งให้ทำกรรมกรณ์ต่างๆ แก่ผู้นั้น คือให้เฆี่ยนด้วยแส้บ้าง ให้เฆี่ยนด้วยหวายบ้าง ให้ตอกคาบ้าง ตัดมือบ้าง ตัดเท้าบ้าง ตัดทั้งมือทั้งเท้าบ้าง ตัดใบหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตัดทั้งใบหูทั้งจมูกบ้าง ทำให้เป็นผู้มีหม้อข้าวเดือดบนศีรษะบ้าง ให้ถลกหนังศีรษะโล้นมีสีขาวเหมือนสังข์บ้าง ให้มีหน้าเหมือนหน้าราหูบ้างทำให้มีไฟลุกที่มือบ้าง ให้ถลกหนังแล้วผูกเชือกฉุดไปบ้าง ให้ถลกหนังเป็นริ้วเหมือนนุ่งผ้าคากรองบ้าง ทำให้มีห่วงเหล็กที่ศอกและเข่า แล้วใส่หลาวเหล็กตรึงไว้บ้าง ให้เอาเบ็ดเกี่ยวตัดที่เนื้อปากบ้าง ให้เอาพร้าถากตัวให้ตกไปเท่ากหาปณะบ้าง ให้เอาพร้าถากตัวแล้วทาด้วยน้ำแสบบ้าง ให้นอนลงแล้วตรึงหลาวเหล็กไว้ในช่องหูบ้าง ให้ถลกหนังแล้วทุบกระดูกพันไว้เหมือนตั่งใบไม้บ้าง รดตัวด้วยน้ำมันอันร้อนบ้าง ให้สุนัขกัดกินเนื้อที่ตัวบ้าง เอาหลาวเสียบเป็นไว้บ้าง และย่อมตัดศีรษะด้วยดาบ. ผู้นั้นย่อมเสวยทุกข์โทมนัส แม้เพราะเหตุแห่งกรรมกรณ์.

ทุกข์โทมนัสอันน่ากลัวนี้เกิดเพราะอะไร? เกิดเพราะเหตุแห่งความรัก เพราะเหตุแห่งความยินดีเพราะเหตุแห่งความกำหนัด และเพราะเหตุแห่งความกำหนัดด้วยอำนาจความยินดีของผู้นั้น.

พระราชาเป็นใหญ่ในการลงอาชญาทั้ง ๔ อย่างนี้. ผู้นั้น เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบายทุคติ วินิบาต นรก เพราะกรรมของตน. พวกนายนิรยบาลย่อมให้ทำกรรมกรณ์ ซึ่งมีเครื่องจำ๕ ประการกะสัตว์นั้น คือ ให้ตรึงหลาวเหล็กแดงที่มือ ๒ ข้าง ที่เท้า ๒ ข้าง ที่ท่ามกลางอก.สัตว์นั้นเสวยทุกขเวทนาอันกล้าแสบเผ็ดร้อนในนรกนั้น แต่ก็ยังไม่ทำกาลกิริยา ตลอดเวลาที่บาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด.
 ทุกขโทมนัสอันน่ากลัวนี้เกิดเพราะอะไร? เกิดเพราะเหตุแห่งความรัก เพราะเหตุแห่งความยินดี เพราะเหตุแห่งความกำหนัด และเพราะเหตุแห่งความกำหนัดด้วยอำนาจความยินดีของผู้นั้น. พวกนายนิรยบาลให้สัตว์นั้นนอนลงแล้วเอาผึ่งถาก และจับเอาเท้าขึ้นเอาศีรษะลงแล้วเอาพร้าถาก และให้เทียมสัตว์นั้นเข้าที่รถแล้วให้วิ่งไปบ้าง วิ่งกลับไปบ้าง บนแผ่นดินที่ไฟติดโชนมีเปลวลุกรุ่งโรจน์โชติช่วงบ้าง ต้อนให้ขึ้นภูเขาถ่านเพลิงใหญ่ไฟติดโชนมีเปลวลุกรุ่งโรจน์โชติช่วงบ้าง ให้กลับลงมาบ้าง และจับสัตว์นั้นเอาเท้าขึ้นเอาศีรษะลงแล้วเหวี่ยงไปในหม้อเหล็กแดงอันไฟติดโชนมีเปลวรุ่งโรจน์โชติช่วง. สัตว์นั้นย่อมเดือดพล่านอยู่ในหม้อเหล็กแดงเหมือนฟองน้ำข้าวที่กำลังเดือด สัตว์นั้นเมื่อเดือดร้อนพล่านอยู่ในหม้อเหล็กแดงเหมือนฟองน้ำข้าวที่กำลังเดือด ไปข้างบนคราวหนึ่งบ้าง ไปข้างล่างคราวหนึ่งบ้าง หมุนขวางไปคราวหนึ่งบ้าง. สัตว์นั้นเสวยทุกขเวทนาอันกล้าแสบเผ็ดร้อนอยู่ในหม้อเหล็กแดงนั้น แต่ก็ยังไม่ทำกาลกิริยา ตลอดเวลาที่บาปกรรมนั้นยังไม่สิ้น.
 ทุกข์โทมนัสอันน่ากลัวนี้เกิดเพราะอะไร?เกิดเพราะเหตุแห่งความรัก เพราะเหตุแห่งความยินดี เพราะเหตุแห่งความกำหนัด และเพราะเหตุแห่งความกำหนัดด้วยอำนาจความยินดีของผู้นั้น. พวกนายนิรยบาลเหวี่ยงสัตว์นั้นลงในนรก.
ก็แหละนรกนั้นเป็นมหานรก

สี่เหลี่ยม มีสี่ประตู อันบาปกรรมจัดแบ่งออกเป็นส่วนๆ
มีกำแพงเหล็กกั้นไว้เป็นที่สุด ปิดครอบด้วยแผ่นเหล็ก มี
พื้นล้วนเป็นเหล็กไฟลุกโคลงอยู่ แผ่ไปร้อยโยชน์โดยรอบ
ตั้งอยู่ทุกสมัย. นรกใหญ่ ร้อนจัด มีเปลวไฟรุ่งโรจน์ ยากที่จะ
เข้าใกล้ น่าขนลุก น่ากลัว มีภัยเฉพาะหน้า มีแต่ทุกข์.
กองเปลวไปตั้งขึ้นแต่ฝาด้านหน้า เผาเหล่าสัตว์ที่มีกรรม
ลามก ผ่านไปจนจดฝาด้านหลัง. กองเปลวไฟตั้งขึ้นแต่ฝา
ด้านหลัง เผาเหล่าสัตว์ที่มีกรรมลามก ผ่านไปจดฝาด้านหน้า.
กองเปลวไฟตั้งขึ้นแต่ฝาด้านใต้ เผาเหล่าสัตว์ที่มีกรรมลามก
ผ่านไปจนจดฝาด้านเหนือ. กองเปลวไฟตั้งขึ้นแต่ฝาด้านเหนือ
เผาเหล่าสัตว์ที่มีกรรมลามก ผ่านไปจนจดฝาด้านใต้. กอง
เปลวไฟตั้งขึ้นแต่ฝาด้านล่าง น่ากลัว เผาเหล่าสัตว์ที่มีกรรม
ลามก ผ่านไปจนจดฝาปิด. กองเปลวไฟตั้งขึ้นแต่ฝาปิด
น่ากลัว เผาเหล่าสัตว์ที่มีกรรมลามก ผ่านไปจนจดด้านพื้น
ล่าง. แผ่นเหล็กที่ไฟติดทั่ว แดงโชน ไฟโพลง ฉันใด
อเวจีนรกข้างล่าง ก็ปรากฏแก่สัตว์ที่เห็นอยู่ในข้างบน
ฉันนั้น. เหล่าสัตว์ในอเวจีนรกนั้นชั่วช้ามาก ทำกรรมชั่วมาก
มีแต่กรรมลามกอย่างเดียว ถูกไฟไหม้อยู่แต่ไม่ตาย. กาย
ของเหล่าสัตว์ที่อยู่ในนรกนั้นเสมอด้วยไฟ. เชิญดูความ
มั่นคงของกรรมทั้งหลายเถิด. ไม่มีเถ้า แม้แต่เขม่าก็ไม่มี.
เหล่าสัตว์วิ่งไปทางประตูด้านหน้า (ที่เปิดอยู่) กลับจากประตู
ด้านหน้าวิ่งมาประตูด้านหลัง วิ่งไปทางประตูด้านเหนือ
กลับจากประตูด้านเหนือวิ่งมาทางประตูด้านใต้. แม้จะวิ่งไป
ทิศใดๆ ประตูทิศนั้นๆ ก็ปิดเอง. สัตว์เหล่านั้นหวังจะ
ออกไป แสวงหาทางที่จะพ้นไป แต่ก็ออกจากนรกนั้นไป
ไม่ได้ เพราะกรรมเป็นปัจจัย. ด้วยว่ากรรมอันลามก สัตว์
เหล่านั้นทำไว้มาก ยังมิได้ให้ผลหมด ดังนี้.

ทุกข์โทมนัสอันน่ากลัวนี้เกิดเพราะอะไร? เกิดเพราะเหตุแห่งความรัก เพราะเหตุแหตุแห่งความยินดีเพราะเหตุแห่งความกำหนัด และเพราะเหตุแห่งความกำหนัดด้วยอำนาจความยินดีของสัตว์นั้น.

ทุกข์อันมีในนรกก็ดี ทุกข์อันมีในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานก็ดี ทุกข์อันมีในเปรตวิสัยก็ดีทุกข์อันมีในมนุษย์ก็ดี เกิดแล้ว เกิดพร้อมแล้ว บังเกิดแล้ว บังเกิดเฉพาะแล้ว ปรากฏแล้วเพราะเหตุอะไร? ทุกข์เหล่านั้น ย่อมมี ย่อมเป็น ย่อมเกิด เกิดพร้อม บังเกิด บังเกิดเฉพาะย่อมปรากฏ เพราะเหตุแห่งความรัก เพราะเหตุแห่งความยินดี เพราะเหตุแห่งความกำหนัด
และเพราะเหตุแห่งความกำหนัดด้วยอำนาจความยินดีของสัตว์นั้น เพราะ

ฉะนั้น จึงชื่อว่า ทุกข์นี้เป็นไปตามความรักย่อมปรากฏ.
ชื่อว่า ความรัก ในอุเทศว่า อาทีนวํ เสฺนหชํ เปกฺขมาโน ดังนี้ ความรัก
มี ๒ อย่าง คือ ความรักด้วยอำนาจตัณหา ๑ ความรักด้วยอำนาจทิฏฐิ ๑. ฯลฯ นี้ชื่อว่าความรักด้วยอำนาจตัณหา. ฯลฯ นี้ชื่อว่าความรักด้วยอำนาจทิฏฐิ.
คำว่า เมื่อเห็นโทษอันเกิดแต่ความรัก ความว่า เมื่อเห็น เมื่อแลเห็น เมื่อเพ่งดูเมื่อพิจารณาเห็น ซึ่งโทษในความรักด้วยอำนาจตัณหา และในความรักด้วยอำนาจทิฏฐิ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่า เมื่อเห็นโทษอันเกิดแต่ความรัก พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น.

เพราะเหตุนั้น พระปัจเจกสัมพุทธเจ้านั้นจึงกล่าวว่า
ความรักทั้งหลายย่อมมีแก่บุคคลผู้มีความเกี่ยวข้อง.
ทุกข์นี้เป็นไปตามความรัก ย่อมปรากฏ. บุคคลเมื่อเห็นโทษอันเกิด
แต่ความรัก พึงเที่ยวไปผู้เดียวเหมือนนอแรด ฉะนั้น
.


จาก : ขัคควิสาณสุตตนิทเทส
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๐ บรรทัดที่ ๖๑๓๙ - ๘๑๖๕. หน้าที่ ๒๕๐ - ๓๓๑.




 

Create Date : 09 มกราคม 2557    
Last Update : 9 มกราคม 2557 17:34:57 น.
Counter : 988 Pageviews.  

ความพอใจ...เป็นเหตุให้ตัณหาเจริญ




พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล ... พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็นความพอใจเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่ ตัณหาย่อมเจริญ เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาส ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฟกองใหญ่แห่งไม้สิบเล่มเกวียนบ้าง ยี่สิบเล่มเกวียนบ้าง สามสิบเล่มเกวียนบ้าง สี่สิบเล่มเกวียนบ้าง พึงลุกโพลง บุรุษใส่หญ้าแห้ง ใส่โคมัยแห้ง และใส่ไม้แห้ง ในไฟกองนั้นทุกๆ ระยะ ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ ไฟกองใหญ่นั้น มีอาหารอย่างนั้น มีเชื้ออย่างนั้น พึงลุกโพลงตลอด
กาลนาน แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็นความพอใจเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่ ตัณหาย่อมเจริญ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน ฯลฯ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเห็นโทษเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่ ตัณหาย่อมดับไป เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับเพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชราและมรณะ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไฟกองใหญ่แห่งไม้สิบเล่มเกวียนบ้าง ยี่สิบเล่มเกวียนบ้าง สามสิบเล่มเกวียนบ้าง สี่สิบเล่มเกวียนบ้าง พึงลุกโพลง บุรุษไม่ใส่หญ้าแห้ง ไม่ใส่โคมัยแห้ง และไม่ใส่ไม้แห่งในไฟกองนั้นทุกๆ ระยะภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ ไฟกองใหญ่นั้น ไม่มีอาหาร พึงดับไป เพราะสิ้นเชื้อเก่า และเพราะไม่เติมเชื้อใหม่ แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเห็นโทษเนืองๆ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นปัจจัยแห่งอุปาทานอยู่ ตัณหาย่อมดับฉันนั้นเหมือนกัน เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ ฯลฯ


เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๖ บรรทัดที่ ๒๒๗๙ - ๒๓๐๗. หน้าที่ ๙๓ - ๙๔.
ขอขอบพระคุณภาพจาก @Single Mind for Peace




 

Create Date : 08 มกราคม 2557    
Last Update : 8 มกราคม 2557 8:46:46 น.
Counter : 1218 Pageviews.  

ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น





“.....ดูก่อนจอมเทพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น ถ้าข้อนั้นภิกษุได้สดับแล้ว ภิกษุนั้นย่อมทราบชัดธรรมทั้งปวงด้วยปัญญาอันยิ่ง ครั้นทราบชัดธรรมทั้งปวงด้วยปัญญาอันยิ่งแล้ว ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงแล้ว เธอได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี เธอย่อมพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง พิจารณาเห็นความหน่าย พิจารณาเห็นความดับ พิจารณาเห็นความสละคืนในเวทนาทั้งหลายนั้น เมื่อพิจารณาเห็นดังนั้น ย่อมไม่ยึดมั่นสิ่งอะไรๆ ในโลก

เมื่อไม่ยึดมั่นย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสให้สงบได้เฉพาะตัว และทราบชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดูก่อนจอมเทพ กล่าวโดย่อด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าน้อมไปแล้ว ในธรรมเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา มีความสำเร็จอันยิ่งยวด ถึงที่สุดอันยิ่งยวด เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ฯ ”



จูฬตัณหาสังขยสูตร มู. ม. (๔๓๙)
ขอขอบพระคุณภาพประกอบจาก @Single Mind for Peace.




 

Create Date : 07 มกราคม 2557    
Last Update : 8 มกราคม 2557 8:25:03 น.
Counter : 1324 Pageviews.  

พวกมนุษย์ถือเอาอายุประมาณ ๑๐๐ ปี เกิดแล้วประมาท นอนหลับอยู่


เรื่องนางปติปูชิกา [๓๖]



พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี ทรงปรารภหญิงชื่อปติปูชิกา ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ปุปฺผานิ เหว" เป็นต้น.

เรื่องตั้งขึ้นในดาวดึงสเทวโลก.

เทพธิดาจุติแล้วเกิดในกรุงสาวัตถี
ได้ยินว่า เทพบุตรนามว่ามาลาภารี ในดาวดึงสเทวโลกนั้น มีนางอัปสรพันหนึ่งแวดล้อมแล้ว เข้าไปสู่สวน. เทพธิดา ๕๐๐ ขึ้นสู่ต้นไม้ ยังดอกไม้ให้ตกอยู่. เทพธิดา ๕๐๐ เก็บเอาดอกไม้ที่เทพธิดาเหล่านั้นให้ตกแล้ว ประดับเทพบุตร. บรรดาเทพธิดาเหล่านั้น เทพธิดาองค์หนึ่ง จุติบนกิ่งไม้นั่นแล. สรีระดับไป ดุจเปลวประทีป นางถือปฏิสนธิในเรือนแห่งตระกูลหนึ่ง ในกรุงสาวัตถี


ในเวลาที่นางเกิดแล้ว เป็นหญิงระลึกชาติได้ ระลึกอยู่ว่า "เราเป็นภริยาของมาลาภารีเทพบุตร" ถึงความเจริญ กระทำการบูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น ปรารถนาการเกิดเฉพาะในสำนักสามี. นางแม้ไปสู่ตระกูลอื่น ในเวลามีอายุ ๑๖ ปี ถวายสลากภัต ปักขิกภัต และวัสสาวาสิกภัตเป็นต้นแล้ว ย่อมกล่าวว่า "ส่วนแห่งบุญนี้ จงเป็นปัจจัยเพื่อประโยชน์แก่อันบังเกิดในสำนักสามีของเรา."

จุติจากมนุษยโลกแล้วไปเกิดในสวรรค์


ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายทราบว่า "นางนี้ ลุกขึ้นเสร็จสรรพแล้ว ย่อมปรารถนาสามีเท่านั้น" จึงขนานนามของนางว่า "ปติปูชิกา."


แม้นางปติปูชิกานั้น ย่อมปฏิบัติโรงฉัน เข้าไปตั้งน้ำฉัน ปูอาสนะเป็นนิตย์. มนุษย์แม้พวกอื่นใคร่เพื่อจะถวายสลากภัตเป็นต้น นำมามอบให้ด้วยคำว่า "แม่ ท่านจงจัดแจงภัตเหล่านี้ แก่ภิกษุสงฆ์." แม้นางเดินไปเดินมาอยู่โดยทำนองนั้น ได้กุศลธรรม ๕๖ ทุกย่างเท้า. นางตั้งครรภ์แล้ว. นางก็คลอดบุตร โดยกาลอันล่วงไป ๑๐ เดือน. ในกาลที่บุตรนั้นเดินได้ นางได้บุตรแม้อื่นๆ รวม ๔ คน. ในวันหนึ่ง นางถวายทาน ทำการบูชา ฟังธรรม รักษาสิกขาบท ในเวลาเป็นที่สุดแห่งวัน ก็ทำกาละด้วยโรคชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งบังเกิดขึ้นในขณะนั้น แล้วบังเกิดในสำนักสามีเดิมของตน.

อายุของมนุษย์ประมาณ ๑๐๐ ปี
ฝ่ายนางเทพธิดานอกนี้ กำลังประดับอยู่นั่นเอง ตลอดกาลเท่านี้. เทพบุตรเห็นนางนั้น กล่าวว่า "เธอหายหน้าไปตั้งแต่เช้า, เธอไปไหนมา?"
เทพธิดา. ดิฉันจุติค่ะ นาย.
เทพบุตร. เธอพูดอะไร?
เทพธิดา. ข้อนั้นเป็นอย่างนี้ นาย.
เทพบุตร. เธอเกิดแล้วในที่ไหน?
เทพธิดา. เกิดในเรือนแห่งตระกูล ในกรุงสาวัตถี.
เทพบุตร. เธอดำรงอยู่ในกรุงสาวัตถีนั้นสิ้นกาลเท่าไร?
เทพธิดา. ข้าแต่นาย ดิฉันออกจากท้องมารดา โดยกาลอันล่วงไป ๑๐ เดือน ในเวลาอายุ ๑๖ ปี ไปสู่ตระกูลสามี คลอดบุตร ๔ คน ทำบุญมีทานเป็นต้น ปรารถนาถึงนาย มาบังเกิดแล้วในสำนักของนายตามเดิม.
เทพบุตร. อายุของมนุษย์มีประมาณเท่าไร?
เทพธิดา. ประมาณ ๑๐๐ ปี.
เทพบุตร. เท่านั้นเองหรือ?
เทพธิดา. ค่ะ นาย.
เทพบุตร. พวกมนุษย์ถือเอาอายุประมาณเท่านี้เกิดแล้ว เป็นผู้ประมาทเหมือนหลับ ยังกาลให้ล่วงไปหรือ? หรือทำบุญมีทานเป็นต้น?
เทพธิดา. พูดอะไร นาย, พวกมนุษย์ประมาทเป็นนิตย์ ประหนึ่งถือเอาอายุตั้งอสงไขยเกิดแล้ว ประหนึ่งว่าไม่แก่ไม่ตาย.
ความสังเวชเป็นอันมาก ได้เกิดขึ้นแก่มาลาภารีเทพบุตรว่า "ทราบว่า พวกมนุษย์ถือเอาอายุประมาณ ๑๐๐ ปีเกิดแล้ว ประมาท นอนหลับอยู่, เมื่อไรหนอ? จึงจักพ้นจากทุกข์ได้."
____________________________
๑- อภิ. สํ. เล่ม ๓๔/หน้า ๑๖. ได้แก่ อภิ. สํ. เล่ม ๓๔/ข้อ ๔๖-๕๑

๑๐๐ ปีของมนุษย์เท่า ๑ วันในสวรรค์
ก็ ๑๐๐ ปีของพวกเรา เป็นคืนหนึ่งวันหนึ่งของพวกเทพเจ้าชั้นดาวดึงส์, ๓๐ ราตรีโดยราตรีนั้น เป็นเดือนหนึ่ง, กำหนดด้วย ๑๒ เดือนโดยเดือนนั้น เป็นปีหนึ่ง, ๑,๐๐๐ ปีทิพย์ โดยปีนั้น เป็นประมาณอายุของเทพเจ้าชั้นดาวดึงส์, ๑,๐๐๐ ปีทิพย์นั้น โดยการนับในมนุษย์เป็น ๓ โกฏิ ๖ ล้านปี.
เพราะฉะนั้น แม้วันเดียวของเทพบุตรนั้น ก็ยังไม่ล่วงไป ได้เป็นกาลเช่นครู่เดียวเท่านั้น. ขึ้นชื่อว่าความประมาทของสัตว์ผู้มีอายุน้อยอย่างนี้ ไม่ควรอย่างยิ่งแล.


ในวันรุ่งขึ้น พวกภิกษุเข้าไปสู่บ้าน เห็นโรงฉันยังไม่ได้จัด อาสนะยังไม่ได้ปู น้ำฉันยังไม่ได้ตั้งไว้ จึงกล่าวว่า "นางปติปูชิกาไปไหน?"
ชาวบ้าน. ท่านผู้เจริญ พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายจักเห็นนาง ณ ที่ไหน? วันวานนี้ เมื่อพระผู้เป็นเจ้าฉันแล้ว (กลับ) ไป, นางตายในตอนเย็น.
ภิกษุปุถุชนฟังคำนั้นแล้ว ระลึกถึงอุปการะของนางนั่น ไม่อาจจะกลั้นน้ำตาไว้ได้, ธรรมสังเวชได้เกิดแก่พระขีณาสพ. ภิกษุเหล่านั้นทำภัตกิจแล้ว ไปวิหาร ถวายบังคมพระศาสดา ทูลถามว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุบาสิกาชื่อปติปูชิกา ลุกขึ้นเสร็จสรรพแล้ว ทำบุญมีประการต่างๆ ปรารถนาถึงสามีเท่านั้น, บัดนี้ นางตายแล้ว (ไป) เกิด ณ ที่ไหน?"
พระศาสดา. ภิกษุทั้งหลาย นางเกิดในสำนักสามีของตนนั่นแหละ.
ภิกษุ. ในสำนักสามี ไม่มี พระเจ้าข้า.
พระศาสดา. ภิกษุทั้งหลาย นางปรารถนาถึงสามีนั่น ก็หามิได้, มาลาภารีเทพบุตร ในดาวดึงสพิภพ เป็นสามีของนาง, นางเคลื่อนจากที่ประดับดอกไม้ของสามีนั้นแล้ว ไปบังเกิดในสำนักสามีนั้นนั่นแลอีก.
ภิกษุ. ได้ยินว่า อย่างนั้นหรือ? พระเจ้าข้า.
พระศาสดา. อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย.
ภิกษุ น่าสังเวช ! ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายน้อย (จริง) พระเจ้าข้า เช้าตรู่ นางอังคาสพวกข้าพระองค์ ตอนเย็น ตายด้วยพยาธิที่เกิดขึ้น.
พระศาสดา. อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่าชีวิตของสัตว์ทั้งหลายน้อย (จริง), เหตุนั้นแล มัจจุผู้กระทำซึ่งที่สุด ยังสัตว์เหล่านี้ซึ่งไม่อิ่ม ด้วยวัตถุกามและกิเลสกามนั่นแล ให้เป็นไปในอำนาจของตนแล้ว ย่อมพาเอาสัตว์ที่คร่ำครวญ ร่ำไรไป"
ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :-

 ปุปฺผานิ เหว ปจินนฺตํ พฺยาสตฺตมนสํ นรํ
อติตฺตํเยว กาเมสุ อนฺตโก กุรุเต วสํ ฯ
มัจจุ ผู้ทำซึ่งที่สุด กระทำนระผู้มีใจข้องในอารมณ์ต่างๆ
เลือกเก็บดอกไม้อยู่เทียว ผู้ไม่อิ่มในกามทั้งหลายนั่นแล
สู่อำนาจ.


แก้อรรถ


บรรดาบทเหล่านั้น บาทพระคาถาว่า ปุปฺผานิ เหว ปจินนฺตํ ความว่า ผู้มัวเลือกเก็บดอกไม้ คือกามคุณทั้งหลาย อันเนื่องด้วยอัตภาพ และเนื่องด้วยเครื่องอุปกรณ์อยู่ เหมือนนายมาลาการเลือกเก็บดอกไม้ต่างชนิดอยู่ในสวนดอกไม้ฉะนั้น.


บาทพระคาถาว่า พฺยาสตฺตมนสํ นรํ ความว่า ผู้มีจิตซ่านไปโดยอาการต่างๆ ในอารมณ์อันยังไม่ถึงแล้ว ด้วยสามารถแห่งความปรารถนาในอารมณ์ที่ถึงแล้ว ด้วยสามารถแห่งความยินดี.
บาทพระคาถาว่า อติตฺตํเยว กาเมสุ ความว่า ผู้ไม่อิ่มในวัตถุกามและกิเลสกามทั้งหลายนั่นแล ด้วยการแสวงหาบ้าง ด้วยการได้เฉพาะบ้าง ด้วยการใช้สอยบ้าง ด้วยการเก็บไว้บ้าง.
บาทพระคาถาว่า อนฺตโก กุรุเต วสํ ความว่า มัจจุผู้ทำซึ่งที่สุด กล่าวคือมรณะ พานระผู้คร่ำครวญ ร่ำไร ไปอยู่ ให้ถึงอำนาจของตน.
ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น,
เทศนามีประโยชน์แก่มหาชน ดังนี้แล.

เรื่องนางปติปูชิกา จบ.
-----------------------------------------------------

.. อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปุปผวรรคที่ ๔




 

Create Date : 04 มกราคม 2557    
Last Update : 4 มกราคม 2557 13:34:20 น.
Counter : 960 Pageviews.  

ควรทำวันนี้

***

*****

เรื่องพ่อค้ามีทรัพย์มาก

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพ่อค้ามีทรัพย์มาก ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อิธ วสฺสํ" เป็นต้น.

พ่อค้าไม่ทราบความตายที่จะมาถึงตน

ดังได้สดับมา พ่อค้านั้นบรรทุกผ้าซึ่งย้อมด้วยดอกคำ จนเต็มเกวียน ๕๐๐ เล่ม จากกรุงพาราณสีแล้ว มาสู่กรุงสาวัตถีเพื่อค้าขาย. เขาถึงฝั่งแม่น้ำแล้ว คิดว่า "พรุ่งนี้เราจึงจักข้ามแม่น้ำ" ปลดเกวียนแล้วพักอยู่ที่ฝั่งนั้นนั่นแล.

ตอนกลางคืน มหาเมฆตั้งขึ้นแล้วยังฝนให้ตก. แม่น้ำเต็มด้วยน้ำได้ทรงอยู่ตลอด ๗ วัน. ถึงในพระนคร พวกชนก็เล่นนักษัตรกันตลอด ๗ วัน. กิจด้วยผ้าซึ่งย้อมด้วยดอกคำไม่มี.

พ่อค้าจึงคิดว่า "เรามาสู่ที่ไกล ถ้าเราจักไปอีก ความเนิ่นช้าก็จักมี เราจักอยู่ทำการงานของเราในที่นี้แหละ ตลอดฤดูฝน ฤดูหนาว และฤดูร้อน แล้วขายผ้าเหล่านี้."

พระศาสดาเสด็จเที่ยวไปบิณฑบาตในพระนคร ทรงทราบจิต (ความคิด) ของเขาแล้ว ทรงทำความยิ้มแย้มให้ปรากฏ. พระอานนทเถระทูลถามเหตุแห่งการทรงยิ้มแย้ม จึงตรัสว่า "อานนท์ เธอเห็นพ่อค้ามีทรัพย์มากหรือ?"

อานนท์. เห็น พระเจ้าข้า.

พระศาสดา. เขาไม่รู้อันตรายแห่งชีวิตของตน จึงได้ตั้งจิตเพื่ออยู่ขายสิ่งของในที่นี้แหละตลอดปีนี้.

อานนท์. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็อันตรายจักมีแก่เขาหรือ?

พระศาสดาตรัสว่า "เออ อานนท์ เขาเป็นอยู่ได้ตลอด ๗ วัน เท่านั้น ก็จักตั้งอยู่ในปากแห่งมัจจุ (ตาย)" ดังนี้แล้ว ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า :-

*

ความเพียรเครื่องเผากิเลส ควรทำในวันนี้
ทีเดียว, ใครพึงรู้ได้ว่า ‘ความตายจะมีในวันพรุ่งนี้’
เพราะว่า ‘ความผัดเพี้ยนด้วยความตาย ซึ่งมีเสนา
ใหญ่นั้น ไม่มีเลย.’
มุนีผู้สงบ ย่อมเรียกบุคคลผู้มีปกติอยู่อย่าง
นั้น มีความเพียร ไม่เกียจคร้านตลอดกลางวันและ
กลางคืน นั้นแลว่า ‘ผู้มีราตรีเดียวเจริญ.’๑-

 อานนท์. ข้าพระองค์จักไปบอกแก่เขา พระเจ้าข้า.

พระศาสดา. อานนท์ เธอคุ้นเคยกัน ก็ไปเถิด.

พระเถระไปสู่ที่แห่งเกวียนแล้วเที่ยวไปเพื่อภิกษา. พ่อค้าต้อนรับพระเถระด้วยอาหาร. ลำดับนั้น พระเถระจึงกล่าวกะพ่อค้านั้นว่า "ท่านจักอยู่ในที่นี้ ตลอดกาลเท่าไร?"

พ่อค้า. ท่านผู้เจริญ ผมมาแต่ที่ไกล ถ้าจักไปอีก ความเนิ่นช้าจักมี, ผมจักอยู่ในที่นี้ตลอดปีนี้ ขายสิ่งของ (หมด) แล้วจักไป.

อานนท์. อุบาสก อันตรายแห่งชีวิตรู้ได้ยาก การทำความไม่ประมาท จึงจะควร.

พ่อค้า. ท่านผู้เจริญ ก็อันตรายจักมีหรือ?

อานนท์. เออ อุบาสก, ชีวิตของท่านจักเป็นไปได้ตลอด ๗ วันเท่านั้น.

เขาเป็นผู้มีใจสังเวชแล้ว นิมนต์ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ถวายมหาทานตลอด ๗ วัน แล้วรับบาตรเพื่อประโยชน์แก่การอนุโมทนา.


คนเขลาย่อมไม่รู้อันตรายแห่งชีวิต

ลำดับนั้น พระศาสดา เมื่อจะทรงทำอนุโมทนาแก่เขา ตรัสว่า "อุบาสก ธรรมดาบัณฑิตคิดว่า ‘เราจักอยู่ในที่นี้นี่แหละตลอดฤดูฝนเป็นต้น จักประกอบการงานชนิดนี้ๆ’ ย่อมไม่ควร ควรคิดถึงอันตรายแห่งชีวิตของตนเท่านั้น".

ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-

*

 อิธ วสฺสํ วสิสฺสามิ อิธ เหมนฺตคิมฺหิสุ
อิติ พาโล วิจินฺเตติ อนฺตรายํ น พุชฺฌติ.
คนพาลย่อมคิดว่า ‘เราจักอยู่ในที่นี้ตลอดฤดูฝน,
จักอยู่ในที่นี้ ในฤดูหนาวและฤดูร้อน’ หารู้อันตรายไม่.


แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิธ วสฺสํ ความว่า เราจักอยู่ทำการงานชนิดนี้ๆ ในที่นี้ ตลอดฤดูฝน ๔ เดือน.


บทว่า เหมนฺตคิมฺหิสุ ความว่า คนพาลผู้ไม่รู้ประโยชน์อันเป็นไปในทิฏฐธรรมและสัมปรายภพ ย่อมคิดอย่างนี้ว่า "เราจักอยู่ทำการงานชนิดนี้ๆ ในที่นี้นี่แหละ ตลอด ๔ เดือน แม้ในฤดูหนาวและฤดูร้อน."


บทว่า อนฺตรายํ ความว่า ย่อมไม่รู้จักอันตรายแห่งชีวิตของตนว่า "เราจักตายในกาล ในประเทศ หรือในวัยชื่อโน้น."


ในกาลจบเทศนา พ่อค้านั้นดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว เทศนาได้มีประโยชน์ แม้แก่บุคคลที่ประชุมกันแล้ว.

ฝ่ายพ่อค้าตามส่งเสด็จพระศาสดาแล้ว กลับมานอนบนที่นอน ด้วยคิดว่า "ดูเหมือนโรคในศีรษะจะเกิดขึ้นแก่เรา" นอนแล้วด้วยอาการนั้นแหละ ทำกาละแล้ว บังเกิดในดุสิตวิมาน ดังนี้แล.

เรื่องพ่อค้ามีทรัพย์มาก จบ.

 

อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท มรรควรรคที่ ๒๐
ขอบพระคุณภาพประกอบจาก @Single Mind for Peace Smiley




 

Create Date : 03 มกราคม 2557    
Last Update : 3 มกราคม 2557 9:06:49 น.
Counter : 1146 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

อุ่นอาวรณ์
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Friends' blogs
[Add อุ่นอาวรณ์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.