Group Blog
 
All Blogs
 

ทำความดีโดยไม่หวัง กับทำความดีแบบตั้งความหวัง




บางคน กล่าวว่าในการทำความดีไม่ควรตั้งความหวังไว้ จึงจะได้ผล แต่อีกคนหนึ่งกล่าวว่าควรตั้งความหวังไว้จึงจะได้ผล พระผู้มีพระภาคทรงเห็นอย่างไรในเรื่องนี้?


พุทธดำรัสตอบ “.....ดูก่อนภูมิชะ ก็สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง ที่มีทิฐิผิด มีสังกัปปะผิด มีวาจาผิด มีกัมมันตะผิด มีอาชีวะผิด มีวายามะผิด มีสติผิด มีสมาธิผิด ถ้าแม้ทำความหวังแล้ว ประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุผล ถ้าแม้ไม่ทำความหวังแล้ว ประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็ไม่สามารถสามารถจะบรรลุมรรคผล ถ้าแม้ทำความหวังและไม่ทำความหวังประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็ไม่สามารถจะบรรลุมรรคผล..... นั่นเพราะอะไร ดูก่อนภูมิชะ เพราะเขาไม่สามารถจะบรรลุผลได้โดยอุบายไม่แยบคาย

“.....ดูก่อนภูมิชะ เปรียบเหมือนบุรุษต้องการน้ำมัน.... เกลี่ยทรายลงในรางแล้วคั้นไป เอาน้ำพรมไปๆ ถ้าแม้ทำความหวัง...... เขาก็ไม่สามารถจะได้น้ำมัน ถ้าแม้ไม่ทำความหวัง..... เขาก็ไม่สามารถจะได้น้ำมัน

“.....ดูก่อนภูมิชะ ส่วนสมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง ที่มีทิฐิชอบมีสังกัปปะชอบ มีวาจาชอบ มีกัมมันตะชอบ มีอาชีวะชอบ มีวายามะชอบมีสติชอบ มีสมาธิชอบ ถ้าแม้ทำความหวังแล้วประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็สามารถบรรลุผล ถ้าแม้ไม่ทำความหวังประพฤติพรหมจรรย์ เขาก็สามารถบรรลุผล“.....ดูก่อนภูมิชะ เปรียบเหมือนบุรุษต้องการน้ำมัน..... เกลี่ยงาป่นลงในรางแล้วคั้นไป...... ถ้าแม้ทำความหวัง...... เขาก็สามารถได้น้ำมัน ถ้าแม้ไม่ทำความหวัง..... เขาก็สามารถได้น้ำมัน.....”

ภูมิชสูตร อุ. ม. (๔๐๙-๔๑๕)
ขอขอบพระคุณภาพจาก @Single Mind for Peace




 

Create Date : 15 กรกฎาคม 2556    
Last Update : 15 กรกฎาคม 2556 12:28:54 น.
Counter : 1146 Pageviews.  

สมบัติ ความเพียบพร้อม ๔ ประการ

 

มบัติ 4  (ข้อดี, ความเพียบพร้อม, ความสมบูรณ์แห่งองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งอำนวยแก่การให้ผลของกรรมดี และไม่เปิดให้กรรมชั่วแสดงผล, ส่วนประกอบอำนวย ช่วยเสริมกรรมดี -accomplishment; factors favorable to the ripening of good Karma)
      

 1. คติสมบัติ  (สมบัติแห่งคติ, ถึงพร้อมด้วยคติ, คติให้; ในช่วงยาวหมายถึงเกิดในกำเนิดอันอำนวย หรือที่เกิดอันเจริญ ในช่วงสั้นหมายถึง ที่อยู่ ที่ไป ทางดำเนินดีหรือทำถูกเรื่อง ถูกที่ คือ กรณีนั้น สภาพแวดล้อมนั้น สถานการณ์นั้น ถิ่นที่นั้น ตลอดถึงแนวทางดำเนินชีวิตขณะนั้น เอื้ออำนวยแก่การกระทำความดี หรือการเจริญงอกงามของความดี ทำให้ความดีปรากฏผลโดยง่าย - accomplishment of birth; fortunate birthplace; favorable environment, circumstances or career)


 2. อุปธิสมบัติ (สมบัติแห่งร่างกาย, ถึงพร้อมด้วยรูปกาย, รูปกายให้; ในช่วงยาวหมายถึงมีกายสง่า สวยงาม บุคลิกภาพดี ในช่วงสั้นหมายถึง ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดี - accomplishment of the body; favorable or fortunate body; favorable personality, health or physical conditions)


3. กาลสมบัติ (สมบัติแห่งกาล, ถึงพร้อมด้วยกาล, กาลให้; ในช่วงยาว หมายถึง เกิดอยู่ในสมัยที่โลกมีความเจริญ หรือบ้านเมืองสงบสุข มีการปกครองที่ดี คนในสังคมอยู่ในศีลธรรม สามัคคีกัน ยกย่องคนดี ไม่ส่งเสริมคนชั่ว ในช่วงสั้นหมายถึงทำถูกกาล ถูกเวลา - accomplishment of time; favorable or fortunate time)

4. ปโยคสมบัติ (สมบัติแห่งการประกอบ, ถึงพร้อมด้วยการประกอบความเพียร, กิจการให้; ในช่วงยาวหมายถึงฝักใฝ่ในทางที่ถูก นำความเพียรไปใช้ขวนขวายประกอบการที่ถูกต้องดีงาม มีปกติประกอบกิจการงานที่ถูกต้อง ทำแต่ความดีงามอยู่แล้ว ในช่วงสั้นหมายถึงเมื่อทำกรรมดี ก็ทำให้ถึงขนาด ทำจริงจัง ให้ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ ใช้วิธีการที่เหมาะกับเรื่อง หรือทำความดีต่อเนื่องมาเป็นพื้นแล้ว กรรมดีที่ทำเสริมเข้าอีก จึงเห็นผลได้ง่าย - accomplishment of undertaking; favorable, fortunate or adequate undertaking)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์

ขอขอบพระคุณภาพจาก @Single Mind for Peace Smiley




 

Create Date : 12 กรกฎาคม 2556    
Last Update : 12 กรกฎาคม 2556 13:01:09 น.
Counter : 1580 Pageviews.  

ความสุข ๔ ประการของผู้ครองเรือน....[อันนนาถสูตร]




[๖๒] ครั้งนั้นแล ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรคฤหบดี สุข ๔ ประการนี้ อันคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามพึงได้รับตามกาลตามสมัย สุข ๔ ประการเป็นไฉน คือ

สุขเกิดแต่ความมีทรัพย์ ๑ สุขเกิดแต่การจ่ายทรัพย์บริโภค ๑ สุขเกิดแต่ความไม่เป็นหนี้ ๑ สุขเกิดแต่ประกอบการงานที่ปราศจากโทษ ๑

ดูกรคฤหบดี ก็สุขเกิดแต่ความมีทรัพย์เป็นไฉนโภคทรัพย์ของกุลบุตรในโลกนี้ เป็นของที่เขาหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียรสั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาโดยธรรมเขาย่อมได้รับความสุขโสมนัสว่า โภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียรสั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาโดยธรรมของเรามีอยู่ นี้เรียกว่า สุขเกิดแต่ความมีทรัพย์

ดูกรคฤหบดี ก็สุขเกิดแต่การจ่ายทรัพย์บริโภคเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ ย่อมใช้สอยโภคทรัพย์ และย่อมกระทำบุญทั้งหลาย ด้วยโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร สั่งสมขึ้นด้วยกำลังแขน มีเหงื่อโทรมตัว ประกอบในธรรม ได้มาโดยธรรม เขาย่อมได้รับความสุขโสมนัสว่า เราย่อมใช้สอยโภคทรัพย์ และย่อมกระทำบุญทั้งหลายด้วยโภคทรัพย์ ฯลฯ นี้เรียกว่า สุขเกิดแต่การจ่ายทรัพย์บริโภค

ดูกรคฤหบดีก็สุขเกิดแต่ความไม่เป็นหนี้เป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ ย่อมไม่เป็นหนี้อะไรๆของใครๆ น้อยก็ตาม มากก็ตาม เขาย่อมได้รับความสุขโสมนัสว่า เราไม่เป็นหนี้อะไรๆ ของใครๆ น้อยก็ตาม มากก็ตาม นี้เรียกว่า สุขเกิดแต่ความไม่เป็นหนี้

ดูกรคฤหบดี ก็สุขเกิดแต่การประกอบการงานที่ปราศจากโทษเป็นไฉน
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันหาโทษมิได้ เขาย่อมได้รับความสุขโสมนัสว่า เราประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรมมโนกรรม อันหาโทษมิได้ นี้เรียกว่า สุขเกิดแต่การประกอบการงานที่ปราศจากโทษ ดูกรคฤหบดี สุข ๔ ประการนี้แล อันคฤหบดีผู้บริโภคกามพึงได้รับตามกาลตามสมัย ฯ

นรชนผู้มีอันจะตายเป็นสภาพ รู้ความไม่เป็นหนี้ว่าเป็นสุขแล้ว
พึงระลึกถึงสุขเกิดแต่ความมีทรัพย์ เมื่อใช้สอยโภคะเป็นสุข
อยู่ ย่อมเห็นแจ้งด้วยปัญญา ผู้มีเมธาดี เมื่อเห็นแจ้ง ย่อมรู้
ส่วนทั้ง ๒ ว่า สุขแม้ทั้ง ๓ อย่างนี้ ไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ อัน
ปราศจากโทษ ฯ


เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ บรรทัดที่ ๑๘๔๖ - ๑๘๗๘. หน้าที่ ๗๙ - ๘๐.

ขอขอบพระคุณภาพจาก @Single Mind for Peace




 

Create Date : 10 กรกฎาคม 2556    
Last Update : 10 กรกฎาคม 2556 17:40:12 น.
Counter : 1697 Pageviews.  

ความรู้เกี่ยวกับการทำทาน

 

v
v
v
การทำบุญกับการทำทานเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ?
 
         ถ้ามองไปถึงที่สุดต้องถือว่าคล้าย ๆ กัน แต่ที่ใช้แยกเป็นทำบุญทำทาน เพราะเป็นนัยว่า ถ้าทำบุญจะเป็นการทำกับผู้ที่มีสถานะสูงกว่า มีคุณธรรมสูงกว่า เช่น ทำบุญกับพระภิกษุสงฆ์ เป็นต้น ส่วนการทำทานมีนัยในเชิงว่า เป็นการทำทานทั่วไป เห็นคนลำบากยากจนก็ไปช่วยกัน     ก็เลยเรียกว่าเป็นการให้ทาน อย่างนี้เป็นต้น แต่จริง ๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นการให้กับใครก็ได้บุญ  ทั้งนั้น จะได้มากหรือน้อยแล้วแต่กรณี
 
อานิสงส์ในการทำบุญทำทานเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ?
 
       ถ้าหากจะทำบุญให้ได้บุญเยอะ จะทำทานให้ได้บุญมาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าต้องประกอบด้วยบริสุทธิ์ ๓ ประการ คือ 
 
๑. วัตถุบริสุทธิ์ คือ ได้ทรัพย์มาด้วยความถูกต้อง ไม่ได้ทุจริตฉ้อโกงใครมา 
 
๒. เจตนาบริสุทธิ์ คือ ตัวเราเองทั้งก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้ มีศรัทธาเต็มเปี่ยม
 
๓. บุคคลบริสุทธิ์ คือ บุคคลที่เราให้เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ยิ่งมีศีลมีคุณธรรมสูงเท่าใด เราก็ได้บุญมากไปตามส่วน 
 
        ท่านจึงเปรียบพระภิกษุเหมือนเนื้อนาบุญ ใครทำนาบนเนื้อนาดีย่อมได้รับผลตอบแทนดี ข้าวก็ออกเต็มรวง ถ้าเป็นนาดอนแห้งแล้งไม่มีปุ๋ย ก็ได้ผลผลิตแค่นิด ๆ หน่อย ๆ ท่านเปรียบอย่างนั้น บริสุทธิ์ ๓ เมื่อไรได้บุญมาก 
 
การทำทานด้วยเงิน สิ่งของ หรือใช้     แรงกายช่วยงานพระพุทธศาสนา ได้     รับอานิสงส์ต่างกันอย่างไร ?
 
        ได้บุญทุกกรณี ไม่ว่าให้ทานเป็นสิ่งของหรือปัจจัยก็ได้บุญ เพราะว่าเสร็จแล้วท่านก็เอาไปจัดหาสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อพระศาสนามาใช้ได้ หรือเวลาเห็นวัดมีการก่อสร้าง เราเอาไม้เอาปูนไปช่วยก็ได้บุญ หรือจะถวายเป็นปัจจัยให้ท่านไปจัดหาอุปกรณ์มาดำเนินการก่อสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลา ก็ได้บุญเหมือนกัน แล้วแต่ความสะดวก เพียงแต่ในยุคหลัง ๆ รู้สึกว่า ถ้าเป็นปัจจัยก็ง่ายต่อการนำไปใช้ให้ตรงกับวัตถุประสงค์ 
 
      บางกรณีซื้อถังสังฆทานไปถวายพระ ท่านรับมาแล้วก็เรียงอยู่ในกุฏิหลายถัง ไม่ได้แกะออกมาใช้ อย่างนี้บุญก็ยังได้อยู่ แต่ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นไม่เต็มที่ เพราะถวายสิ่งที่ท่านไม่ได้ใช้ อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นให้พิจารณาดูว่า เวลาถวายพระ ของที่ถวายควรเป็นของที่ท่านได้ใช้จริง ๆ ถ้าเราเอาแรงกายไปช่วยก็เป็นบุญอีกแบบ ที่เรียกว่า ไวยาวัจจมัย คือ บุญสำเร็จด้วยการขวนขวายการงานที่ชอบ ไม่มีเงินก็ช่วยด้วยกำลังกาย หรือบางทีต้องการสติปัญญา ความคิด อย่างนี้ถ้าไปช่วยเราก็ได้บุญ  
 
การทำบุญทำทานกับพระภิกษุ มนุษย์ และสัตว์ ได้อานิสงส์ต่างกันไหม ?
 
         พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้หลักไว้ว่า การให้ทานจะได้บุญมากต้องประกอบด้วยบริสุทธิ์ ๓     ข้อ ๑ สมมุติว่าทรัพย์ที่เราได้มาเป็นทรัพย์ก้อนเดียวกัน อันนี้ถือว่าทุกคนได้บุญเท่ากัน ข้อ ๒ อยู่ที่ว่าก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้ เรามีความเลื่อมใส ศรัทธาขนาดไหน เช่น ก่อนทำปลื้มอกปลื้มใจ    มีปีติ มีศรัทธามาก เห็นประโยชน์ ตั้งใจทำบุญจริง ๆ ถ้าศรัทธาเหนียวแน่นมากอย่างนี้ได้บุญเยอะ ระหว่างถวายปลื้มปีติมาก หลังถวายนึกถึงบุญนี้ทีไรก็ชื่นใจ ไม่รู้สึกเสียดาย บางคนก่อนถวาย ระหว่างถวายรู้สึกปลื้ม แต่ถวายเสร็จแล้วมาคิดว่า เมื่อครู่ถวายมากไปหน่อย ถ้าถวายน้อยลงสักครึ่งหนึ่ง เราจะมีเงินเหลือมากขึ้น คิดอย่างนี้ต่อไปพอบุญส่งผลจะทำให้รวย แต่รวยแล้วจะเกิดความตระหนี่ ไม่อยากใช้ทรัพย์ เป็นเศรษฐีแต่ว่าต้องใส่เสื้อขาด ๆ หรือเวลาซื้อผลไม้ต้องซื้อแบบเน่าไปครึ่งลูก เวลากินต้องแอบกินไม่ให้ใครเห็น กลัวเขาจะขอ คือมีทรัพย์แต่ว่าใช้ทรัพย์ได้ไม่เต็มที่ เพราะความเสียดาย อีก ๑ ข้อ คือข้อ ๓ ผู้รับเป็นผู้ที่มีคุณธรรมมากเพียงใด ถ้ามีคุณธรรมมาก เวลาผู้รับนำสิ่งที่เราถวายไปบริโภคใช้สอย แล้วเอาเรี่ยวแรงกำลังที่เกิดขึ้นไปทำความดี เราก็ได้บุญมากไปตามส่วน ตัวตัดสินอยู่ตรงนี้ 
 
ถ้าให้เงินขอทานหรือคนยากจนแล้วเขาเอาไปทำในสิ่งที่ผิด เราจะมีส่วนในบาปกับคนเหล่านั้นหรือไม่ ?
 
        ตัวผู้ให้ไม่บาป แต่จะได้บุญแค่ไหนขึ้นอยู่ที่ผู้รับนำไปทำคุณประโยชน์หรือความดีมากแค่ไหน ต่างจากที่เราสนับสนุนให้เขานำเงินไปทำอะไรที่ไม่ถูก ไม่ดี 
 
เห็นเด็กนั่งขอทานรู้สึกสงสาร แต่ไม่รู้ว่าเด็กถูกหลอกมาขอทานหรือเปล่า ถ้าเราไปช่วยจะผิดไหม ?
 
      ถ้าเราไม่สบายใจ อย่าทำ แต่ถ้าอยากทำ ให้ทำเลย ถ้าเรารู้สึกว่าเป็นแก๊งขอทานแน่ ไม่อยากให้ เพราะให้แล้วเหมือนสนับสนุนให้เขาเอาเด็กมาทรมาน อย่าให้ ถ้าให้โดยที่เราคิดอย่างนี้ มันเหมือนการสนับสนุน เราจะมีส่วนหน่อย ๆ แต่ถ้าเราไม่ได้คิดอย่างนี้ เราอยากจะช่วยเขาแล้ว เราก็ให้โดยใจเราไม่ได้คิดสงสัยอะไร อันนี้เราไม่มีส่วนในบาปใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะเราให้ด้วยจิตที่เมตตา แต่ถ้าเราเกิดความระแวงขึ้นมา ไม่ต้องให้ 
 
อยากถวายสังฆทานเป็นถัง ไปซื้อก็กลัวเป็นของเก่า ควรทำอย่างไรดี ?
 
        บางคนเวลาพูดถึงสังฆทานก็นึกถึงถังเลย ในนั้นมีผงซักฟอก มีผ้าไตรเล็ก ๆ สบงเล็ก ๆ มีอะไรต่าง ๆ นานา 
 
         การถวายสังฆทานคือการถวายแด่สงฆ์โดยไม่เฉพาะเจาะจงรูปใดรูปหนึ่ง มีพระมานั่งเรียงอาจจะ ๔ รูป ๙ รูป ก็แล้วแต่ ไปถึงแล้วนั่งตรงรูปไหน ก็ถวายรูปนั้น ถือว่าเป็นการถวายสงฆ์โดยภาพรวม แล้วแต่สงฆ์จะนำไปใช้อะไร สังฆทานจริง ๆ คืออย่างนี้  แต่บางครั้งคนไม่ค่อยรู้ธรรมเนียมพระ ไม่รู้จะเตรียมอะไรไปถวาย พอไปที่ร้านสังฆภัณฑ์เห็นถังสำเร็จรูป ก็รู้สึกว่ามันง่ายดี เลยซื้อไปถวายพระ 
 
         แต่ความต่างอยู่ที่ว่า การถวายพระต่างจากการซื้อของมาใช้เอง ถ้าซื้อมาใช้เอง ได้ของไม่ดี เราไปต่อว่าเขาได้ แต่การถวายของพระเป็นสิ่งที่คนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ ถวายเสร็จพระเปิดดูอาจจะเจอนมบูด หรือผ้าสบงผืนนิดเดียว สามเณรยังใส่ไม่ได้เลย เพราะคนขายต้องการกำไรมาก ๆ เลยตัดผืนเล็กนิดเดียว ใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ กรณีอย่างนี้ถ้าหากเราเตรียมเครื่องสังฆทานเองได้ก็ดี ถ้าถวายเป็นอาหารให้ถวายก่อนเพล แต่ถ้าเป็นเครื่องดื่ม น้ำปานะ ถวายหลังเพลพอได้ พวกของใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอกอะไรต่าง ๆ ก็ถวายได้  
 
การถวายสังฆทานพระต้องครบ ๔ รูปไหม ?
 
         ต้องมี ๔ รูปขึ้นไปจึงจะนับว่าเป็นสงฆ์ แต่การที่เราไปถวายสังฆทาน เราถือว่าพระท่านเป็นตัวแทนมา จะมารับรูปเดียวเราก็ถวายได้ไม่เป็นไร 
 
นอกจากการกรวดน้ำ มีวิธีไหนที่จะอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับได้อีกบ้าง ?
 
       การกรวดน้ำเวลาอุทิศส่วนกุศลนั้นเป็นอุบายอย่างหนึ่ง เพราะคนทั่วไปไม่ค่อยได้ฝึกสมาธิ ถึงคราวอุทิศส่วนกุศลก็เหมือนเครื่องส่งที่สัญญาณไม่ค่อยแรง แต่ถ้าใจใครเป็นสมาธิ เวลาส่งบุญไปมันจะแรง จึงมีอุบายเอาน้ำมากรวด จะได้อาศัยจังหวะที่น้ำรินไหลช่วยให้ใจจดจ่อ ไม่คิดฟุ้งซ่าน พอใจเป็นสมาธิเครื่องส่งก็จะแรงขึ้น บุญจะได้ส่งไปเต็มที่มากขึ้น
 
      แต่บางคนนึกว่าบุญมาจากสายน้ำที่ไหล เลยเอามือไปจ่อ ความจริงที่เขาเอานิ้วไปจ่อก็เพราะว่า เวลาเทน้ำมันย้อยก้น เลยเอานิ้วไปจ่อที่ปากแก้ว น้ำจะได้ไหลตามนิ้วมือลงไป ไม่หกเลอะเทอะ ถ้ามีที่กรวดน้ำเป็นกิจจะลักษณะ เช่น เป็นโถที่เทแล้วไม่ย้อยก้น ก็เทลงไปได้เลย แล้วจังหวะที่น้ำไหลก็เอาใจจดจ่อที่น้ำ จะช่วยให้เป็นสมาธิได้ในระดับหนึ่ง แม้ในช่วงสั้น ๆ ก็ตาม จะได้ส่งบุญไปด้วยกำลังที่แรงขึ้น 
 
       แต่ถ้าคนที่เคยฝึกสมาธิมา ถึงแม้ไม่ได้กรวดน้ำก็ส่งบุญได้ สมมุติว่าไปกัน ๒๐ - ๓๐ คน มีตัวแทนกรวดน้ำสักคนหนึ่ง คนอื่นพนมมือรับพร แล้วทำใจเป็นสมาธิ นึกให้บุญกุศลที่เกิดขึ้นไปถึงหมู่ญาติที่ละโลกไปแล้ว 
 
ตอนกรวดน้ำต้องมีบทสวดอะไรหรือ   เปล่า ?
 
        ไม่จำเป็น บทสวดอิมินา สักกาเรนะ...ที่เป็นบทกรวดน้ำ เป็นอุบายช่วยคนที่ยังไม่เคยฝึกสมาธิให้มีสมาธิมากขึ้น จะได้ส่งบุญไปได้แรงขึ้นเท่านั้น แล้วถือเป็นธรรมเนียมต่อ ๆ กันมา แต่ถ้าเราเคยฝึกสมาธิอยู่แล้ว หลักจริง ๆ คือให้นึกถึง     ผู้ที่เราจะอุทิศบุญไปให้ ให้นึกถึงเขาใส ๆ ที่กลางท้องของเรา อย่างนี้บุญแรงที่สุด อุทิศให้ผู้ที่ละโลกไปแล้วได้ บุญส่งได้เต็มที่ยิ่งกว่าการกรวดน้ำเสียอีก
 
        ถ้าเรากรวดน้ำไปให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่จะถึงไหม ไม่ถึง กรวดให้ได้แต่ผู้ที่ละโลกไปแล้วและอยู่ในภพภูมิที่เหมาะสม ถ้าตกมหานรกขุมลึก ๆ     ไม่ถึงเหมือนกัน แต่บุญจะไปรออยู่ พ้นกรรมจากมหานรกขึ้นมาเกิดในยมโลกเมื่อไร บุญจึงจะไปถึง แต่ถ้าไปเกิดเป็นเปรตบางประเภท หรือเป็นเทวดา บุญไปถึง ถ้าเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานบุญไปไม่ถึง 
 
        แล้วถ้าผู้มีพระคุณของเรายังมีชีวิตอยู่ เราอยากให้ท่านได้บุญด้วย ต้องทำอย่างไร ให้บอกท่านว่า เราไปทำบุญอย่างนี้ ๆ มา แล้วให้ท่านอนุโมทนา ถ้าท่านอนุโมทนา ท่านก็ได้บุญด้วย เป็นปัตตานุโมทนามัย จะส่งบุญให้มนุษย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ต้องบอกให้เขาอนุโมทนา ส่วนการกรวดน้ำกรวดให้ผู้ที่ละโลกไปแล้ว 
 
การอุทิศบุญให้คนอื่นทำให้บุญเราหมดไหม ?
 
      พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ว่าทางมาแห่งบุญ โดยย่อมี ๓ ข้อ คือ ทาน ศีล ภาวนา ถ้าขยายละเอียดขึ้นมี ๑๐ ข้อ หนึ่งในนั้นคือปัตติทานมัย (บุญสำเร็จด้วยการอุทิศส่วนกุศล) ถามว่าทำอย่างนี้แล้วบุญหมดไหม ไม่หมด เพราะการอุทิศส่วนกุศลเป็นทางมาแห่งบุญอย่างหนึ่ง เหมือนใครมีเทียนอยู่เล่มหนึ่ง ยิ่งจุดต่อกันไปก็ยิ่งสว่างขึ้นทั่วถึงกัน เพราะฉะนั้นอย่าไปกลัวเรื่องนี้ ให้ใจเรามีเมตตาจิต แล้วอุทิศส่วนบุญนี้ไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลายไม่มีประมาณ ฝึกให้เป็นนิจ แล้วเราจะเป็นคนที่ไม่มีเวรไม่มีภัยต่อใคร  
 
การชวนคนทำบุญได้อานิสงส์อย่างไร ?
 
       จะเป็นอานิสงส์ติดตัวไปเลยว่า ต่อไปถ้าเรามีทรัพย์แล้วจะไม่มีทรัพย์แบบโดดเดี่ยว แต่จะมีเพื่อนฝูงคนรู้จักที่เป็นคนดีมีทรัพย์ตามไปด้วย    คนที่ทำบุญคนเดียวไม่ชวนใคร ต่อไปจะรวยแต่ไม่มีเพื่อน คนบางคนชอบชวนคนอื่นเขาทั่วไปหมด แต่ตัวเองไม่ทำ ต่อไปจะมีเพื่อนมหาเศรษฐีเป็นใหญ่เป็นโตมากมาย ตัวเองไม่รวย แต่ภูมิใจว่ามีเพื่อนรวย บางคนทั้งไม่ชวนใคร แล้วตัวเองก็ไม่ทำด้วย แถมใครมาชวนยังว่าเขาอีก ถ้าอย่างนี้
 
      ต่อไปจะจน เพื่อนฝูงก็ไม่มี ถ้ามีก็มีแต่เพื่อนจน ๆ แต่คนไหนทำบุญด้วยตัวเองด้วย ชวนคนอื่น    ทำด้วย ต่อไปจะมีทรัพย์มาก มีชื่อเสียงเกียรติยศ ทุกคนยอมรับ แล้วพรรคพวกเพื่อนฝูงทุกคนมี   พาวเวอร์หมดเลย จะเป็นสมาคมมหาเศรษฐี     ทำอะไรสำเร็จหมด เพราะมีเครือข่ายเพื่อนฝูง     เกื้อหนุนกัน อะไรก็ง่ายไปหมด ฉะนั้นทำความดีอย่าทำคนเดียว ให้ชวนคนอื่นทำกันเยอะ ๆ ด้วย 
 
วิธีไปบอกบุญต้องทำอย่างไร ?
 
      คนที่เขาชวนเพื่อนไปดื่มสุรา เขาเกรงใจไหม ชวนไปดื่มสุราต้องจ่ายเงิน สุขภาพก็เสีย ครอบครัวก็มีปัญหา ที่จริงควรจะเกรงใจ กลับไม่เกรงใจ แต่การชวนกันไปทำความดี ทำแล้วได้บุญกุศลติดตัวไป ตายแล้วยังเอาติดตัวไปได้อีก     แบบนี้กลับเกรงใจ เคอะ ๆ เขิน ๆ อย่าไปเกรงใจ ให้ชวนเต็มที่ ตอนนี้สังคมกลับตาลปัตร ชวนกันไปเที่ยว ไปดื่มสุรา ไม่เกรงใจ แต่ชวนทำความดี เกรงใจ ทำให้ทุกอย่างเริ่มเป๋ สังคมเลยแย่ ฉะนั้นเราต้องกลับให้มาอยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง ชวนทำดีต้องกล้าชวนเสียงดัง ชวนทำสิ่งไม่ดี ต้องให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องผิดปกติ อย่างนี้แล้วสังคมจะสงบร่มเย็น ศีลธรรมจะกลับคืนมาสู่โลก
 
เวลาชวนคนทำบุญ ทำความดี เขามักจะมีข้อจำกัดเรื่องเวลา ควรทำอย่างไร ?
 
      ถ้าเขาไม่มีเวลาจริง ๆ ก็ฝากมาทำได้ แต่มีข้อคิดนิดหนึ่ง คือปัจจุบันแต่ละคนรู้สึกว่าตัวเองงานยุ่งทั้งนั้น แต่เชื่อไหมคนที่ว่ายุ่ง ๆ ถ้าเขาชอบคอนเสิร์ต แล้วมีคอนเสิร์ตดัง ๆ มา เขาบอกพอมีเวลาดู อย่างพวกแฟนฟุตบอล เวลามีฟุตบอลโลกทีไรไม่ค่อยมีปัญหา ตี ๑ ก็ดูได้ ตี ๓ ก็ดูได้ อยู่ที่ว่าเขาเห็นความสำคัญหรือเปล่า คนเราถ้าเห็นความสำคัญของอะไร จะมีเวลาให้สิ่งนั้น และแต่ละคนจะสามารถจัดสรรตัวเองได้ แล้วถ้าเขาจัดสรรเวลาให้กับบุญกุศล มาทำความดี สวดมนต์ นั่งสมาธิ เขาจะพบว่า ชีวิตเขาเป็นระเบียบมากขึ้น แล้วเวลาในชีวิตที่มีอยู่จะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะคุณภาพชีวิตดีขึ้น คุณภาพของการใช้เวลาดีขึ้น  
*
*
*
เรื่อง : พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ (M.D.; Ph.D.) จากรายการข้อคิดรอบตัว
ขอขอบพระคุณภาพจาก @Single Mind for Peace.




 

Create Date : 09 กรกฎาคม 2556    
Last Update : 9 กรกฎาคม 2556 12:25:41 น.
Counter : 1311 Pageviews.  

ความเมา ๓ ประการ....[สุขุมาลสูตร]





[๔๗๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราเป็นผู้ไม่มีทุกข์ ไม่มีทุกข์อย่างยิ่ง
ไม่มีทุกข์โดยส่วนเดียว ได้ยินว่า พระชนกรับสั่งให้ขุดสระโบกขรณีไว้เพื่อเราภายในนิเวศน์ ให้ปลูกอุบลไว้สระหนึ่ง ปทุมไว้สระหนึ่ง ปุณฑริกไว้สระหนึ่งเพื่อประโยชน์แก่เรา แต่เราไม่ได้ใช้ไม้จันทน์เมืองกาสีเท่านั้น ผ้าโพก เสื้อผ้านุ่ง ผ้าห่มของเรา ล้วนเกิดในเมืองกาสี มีคนคอยกั้นเศวตฉัตรให้เราตลอดคืนตลอดวัน ด้วยหวังว่า หนาว ร้อน ธุลี หญ้า หรือน้ำค้าง อย่าเบียดเบียนพระองค์ท่านได้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรามีปราสาท ๓ หลัง ปราสาทหนึ่งเป็นที่อยู่ในฤดูหนาว ปราสาทหนึ่งเป็นที่อยู่ในฤดูร้อน ปราสาทหนึ่งเป็นที่อยู่ในฤดูฝนเรานั้นแลถูกบำเรอด้วยดนตรีซึ่งไม่มีบุรุษปนตลอด ๔ เดือนในฤดูฝน บนปราสาทอันเป็นที่อยู่ในฤดูฝน มิได้ลงมาข้างล่างปราสาทเลย ในนิเวศน์แห่งพระชนกของเรา เขาให้ข้าวสาลีระคนด้วยมังสะแก่ทาสกรรมกรบุรุษ ทำนองเดียวกับที่ใน
นิเวศน์ของเขาอื่น เขาให้ข้าวป่นอันมีน้ำส้มเป็นที่สอง

ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลายเรานั้นซึ่งประกอบด้วยความสำเร็จเห็นปานดังนี้ เป็นสุขุมาลชาติอย่างยิ่ง ก็ยังคิดเห็นดังนี้ว่า ปุถุชนผู้ยังไม่ได้สดับ เมื่อตนเป็นผู้มีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ เห็นคนอื่นแก่ ก็ล่วงตนเองเสียแล้วอึดอัด ระอา รังเกียจไม่คิดว่า แม้เราก็เป็นผู้มีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ก็และการที่เราซึ่งเป็นคนมีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ได้เห็นคนแก่เข้าแล้ว พึงอึดอัด ระอา รังเกียจ ข้อนั้นเป็นการไม่สมควรแก่เราเลย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรานั้นสำเหนียกอยู่ดังกล่าวมา ย่อมละความเมาในความเป็นหนุ่ม เสียได้โดยประการทั้งปวง ปุถุชนผู้มิได้สดับ เมื่อตนเป็นผู้มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ เห็นคนอื่นเจ็บไข้ ก็ล่วงตนเองเสียแล้วอึดอัด ระอา รังเกียจ ไม่คิดว่า แม้เราก็เป็นผู้มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ ก็และการที่เราซึ่งเป็นคนมีความเจ็บไข้เป็นธรรมดาไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ ได้เห็นคนเจ็บไข้เข้าแล้ว พึงอึดอัด ระอา รังเกียจ ข้อนั้นเป็นการไม่สมควรแก่เราเลย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรานั้นสำเหนียกอยู่ดังกล่าวมา ย่อมละความเมาในความไม่มีโรค เสียได้โดยประการทั้งปวง ปุถุชนผู้มิได้สดับ เมื่อตนเป็นผู้มีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ เห็นคนอื่นที่ตายแล้ว ก็ล่วงตนเองเสียแล้ว อึดอัด ระอา รังเกียจ ไม่คิดว่า แม้เราก็เป็นผู้มีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ก็และการที่เราซึ่งเป็นคนมีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ได้เห็นคนอื่นที่ตายไปแล้วพึงอึดอัด ระอา รังเกียจ ข้อนั้นไม่เป็นการสมควรแก่เราเลย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรานั้นสำเหนียกอยู่ดังกล่าวมา ย่อมละความเมาในชีวิต เสียได้โดยประการทั้งปวง ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเมา ๓ ประการนี้ ๓ ประการเป็นไฉน คือ
ความเมาในความเป็นหนุ่มสาว ๑ ความเมาในความไม่มีโรค ๑ ความเมาในชีวิต ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับ ผู้เมาด้วยความเมาในความเป็นหนุ่มสาว
ย่อมประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจ ครั้นแล้ว เมื่อกายแตกตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับ ผู้เมาแล้วด้วยความเมาในความเมาไม่มีโรค ฯลฯ หรือปุถุชนผู้มิได้สดับ ผู้เมาแล้วด้วยความเมาในชีวิต ย่อมประพฤติทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจ ครั้นแล้ว เมื่อกายแตกตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เมาแล้วด้วยความเมาในความเป็นหนุ่มสาวย่อมลาสิกขาสึกไป ภิกษุผู้เมาแล้วด้วยความเมาในความไม่มีโรค ฯลฯ หรือภิกษุผู้เมาแล้วด้วยความเมาในชีวิตย่อมลาสิกขาสึกไป ฯ

ปุถุชนเป็นผู้มีความป่วยไข้ ความแก่ และความตายเป็นธรรมดา มีอยู่ตามธรรมดา แต่พากันรังเกียจ ก็การที่เราพึงรังเกียจความป่วยไข้ ความแก่ และความตายนี้ ในหมู่สัตว์ซึ่งมีธรรมดาอย่างนี้ ข้อนั้นไม่สมควรแก่เราผู้มีปรกติอยู่เช่นนี้เรานั้นเป็นอยู่เช่นนี้ รู้จักธรรมที่หมดอุปธิ เห็นเนกขัมมะโดย
ความเป็นธรรมเกษม ย่อมครอบงำความเมาในความไม่มีโรคในความเป็นหนุ่มสาวและในชีวิตเสียได้ทั้งหมด ความอุตสาหะได้เกิดแล้วแก่เราผู้เห็นนิพพานด้วยปัญญาอันยิ่ง บัดนี้
เราไม่ควรที่จะกลับไปเสพกาม เราจักเป็นผู้ไม่ถอยหลัง จักเป็นผู้มีพรหมจรรย์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า ฯ

 

 เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐  บรรทัดที่ ๓๗๗๓ - ๓๘๒๖.  หน้าที่  ๑๖๒ - ๑๖๔

ขอขอบพระคุณภาพจาก @Single Mind for Peace Smiley




 

Create Date : 08 กรกฎาคม 2556    
Last Update : 8 กรกฎาคม 2556 12:20:31 น.
Counter : 2718 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

อุ่นอาวรณ์
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Friends' blogs
[Add อุ่นอาวรณ์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.