Group Blog
 
All Blogs
 

ปัญญินทรีย์ (ปัญญา)เป็นยอดแห่งบทธรรม.. [สารสูตร]

           

             [๑๐๔๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย รอยเท้าของสัตว์ผู้เที่ยวไปบนพื้นแผ่นดิน ชนิดใดชนิดหนึ่ง รอยเท้าเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมรวมลงในรอยเท้าช้าง รอยเท้าช้าง โลกกล่าวว่าเป็นยอดของรอยเท้าเหล่านั้น เพราะเป็นรอยใหญ่ แม้ฉันใด บทแห่งธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ บท คือ ปัญญินทรีย์ เรากล่าวว่า เป็นยอดของบทแห่งธรรมเหล่านั้นเพราะเป็นไปเพื่อควาตรัสรู้ ฉันนั้นเหมือนกัน.


             [๑๐๔๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไม้มีกลิ่นที่แก่นชนิดใดชนิดหนึ่ง จันทน์แดง โลกกล่าวว่าเป็นยอดของไม้เหล่านั้น แม้ฉันใด โพธิปักขิยธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ปัญญินทรีย์ เรากล่าวว่า เป็นยอดแห่งโพธิปักขิยธรรมเหล่านั้น เพราะเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ฉันนั้นเหมือนกัน.
             

             [๑๐๔๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็โพธิปักขิยธรรมเป็นไฉน? คือ สัทธินทรีย์ ...วิริยินทรีย์ ... สตินทรีย์ ... สมาธินทรีย์ ... ปัญญินทรีย์ เป็นโพธิปักขิยธรรม ย่อมเป็นไปเพื่อความตรัสรู้.

 
             [๑๐๔๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไม้มีกลิ่นที่แก่นชนิดใดชนิดหนึ่ง จันทน์แดง โลกกล่าวว่าเป็นยอดของไม้เหล่านั้น แม้ฉันใด โพธิปักขิยธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ปัญญินทรีย์ เรากล่าวว่าเป็นยอดแห่งโพธิปักขิยธรรมเหล่านั้น เพราะเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ฉันนั้นเหมือนกัน.

เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙  บรรทัดที่ ๖๐๓๒ - ๖๐๔๘.  หน้าที่  ๒๕๑ - ๒๕๒.

ขอบพระคุณภาพประกอบจาก @Single Mind for Peace Smiley




 

Create Date : 30 พฤษภาคม 2556    
Last Update : 30 พฤษภาคม 2556 17:45:21 น.
Counter : 1359 Pageviews.  

ธรรมอันน่าปรารถนาและหายากในโลก ๑๐ [อิฏฐสูตร]




[๗๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้ เป็นธรรมอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ หาได้ยากในโลก ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ

โภคสมบัติ ๑ วรรณะ ๑ ความไม่มีโรค ๑ ศีล ๑ พรหมจรรย์ ๑ มิตร ๑
ความเป็นพหูสูต ๑ ปัญญา ๑ ธรรม ๑ สัตว์ทั้งหลาย ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ธรรม ๑๐ ประการนี้แล เป็นธรรมอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ หาได้ยากในโลก ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการเป็นอันตรายแก่ธรรม ๑๐ ประการนี้แล ซึ่งเป็นธรรมอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ หาได้ยากในโลก คือ

ความเกียจคร้าน ความไม่ขยันหมั่นเพียร เป็นอันตรายแก่โภคสมบัติ การไม่ทำการสาธยาย เป็นอันตรายแก่ความเป็นพหูสูต การไม่ฟังด้วยดี ไม่สอบถามเป็นอันตรายแก่ปัญญา การไม่ประกอบความเพียร การไม่พิจารณา เป็นอันตรายแก่ธรรมทั้งหลาย การปฏิบัติผิด เป็นอันตรายแก่สัตว์ทั้งหลาย

ดูกรภิกษุทั้งหลายธรรม ๑ - ๑๐ ประการนี้เป็นอันตรายแก่ธรรม ๑๐ ประการนี้แล ซึ่งเป็นธรรมอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ หาได้ยากในโลก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม๑๐ ประการเป็นอาหารของธรรม ๑๐ ประการนี้แล ซึ่งเป็นธรรมอันน่าปรารถนาน่าใคร่ น่าชอบใจ หาได้ยากในโลก คือ

ความไม่เกียจคร้าน ความขยันหมั่นเพียร เป็นอาหารของโภคสมบัติ การประดับ การตกแต่งร่างกาย เป็นอาหารของวรรณะ การกระทำสิ่งเป็นที่สบาย เป็นอาหารของความไม่มีโรค ความเป็นผู้มีมิตรดี เป็นอาหารของศีลทั้งหลาย การสำรวมอินทรีย์ เป็นอาหารของพรหมจรรย์ การไม่แกล้งกล่าวให้คลาดจากความจริง เป็นอาหารของมิตรทั้งหลายการกระทำการสาธยาย เป็นอาหารของความเป็นพหูสูต การฟังด้วยดี การสอบถาม เป็นอาหารของปัญญา การประกอบความเพียร การพิจารณา เป็นอาหารของธรรมทั้งหลาย การปฏิบัติชอบ เป็นอาหารของสัตว์ทั้งหลาย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๑๐ ประการนี้เป็นอาหารของธรรม ๑๐ ประการนี้แล ซึ่งเป็นธรรมอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ หาได้ยากในโลก ฯ


เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔ บรรทัดที่ ๓๒๐๓ - ๓๒๒๙. หน้าที่ ๑๓๘ - ๑๓๙.

ขอบพระคุณภาพประกอบจาก @Single Mind for Peace.




 

Create Date : 29 พฤษภาคม 2556    
Last Update : 29 พฤษภาคม 2556 12:52:47 น.
Counter : 1247 Pageviews.  

บุคคลเปรียบด้วยน้ำ ๗ จำพวก [อุทกูปมสูตร]




ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเปรียบด้วยน้ำ ๗ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก ๗ จำพวกเป็นไฉน

บุคคลบางคนในโลกนี้ จมลงแล้วคราวเดียวก็เป็นอันจมอยู่นั่นเอง ๑ บางคนโผล่ขึ้นมาแล้ว กลับจมลงไป ๑ บางคนโผล่พ้นแล้วทรงตัวอยู่ ๑ บางคนโผล่ขึ้นแล้วเหลียวไปมา ๑ บางคนโผล่ขึ้นแล้วเตรียมตัวจะข้าม ๑ บางคนโผล่ขึ้นแล้วได้ที่พึ่ง ๑ บางคนโผล่ขึ้นมาได้แล้วเป็นพราหมณ์ข้ามถึงฝั่งอยู่บนบก ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่จมลงแล้วคราวเดียวก็เป็นอันจมอยู่นั่นเองอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ประกอบด้วยอกุศลธรรมฝ่ายดำโดยส่วนเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่จมลงแล้วคราวเดียวก็เป็นอันจมอยู่นั่นเองอย่างนี้แล ฯ


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่โผล่ขึ้นมาได้กลับจมลงไปอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ โผล่ขึ้นมาได้ คือเขามีธรรม คือ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะวิริยะ ปัญญาชั้นดีๆ ในกุศลธรรมทั้งหลาย แต่ศรัทธาของเขานั้นไม่คงที่ ไม่เจริญขึ้น เสื่อมไปฝ่ายเดียว หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญาของเขานั้น ไม่คงที่
ไม่เจริญขึ้น เสื่อมไปฝ่ายเดียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่โผล่ขึ้นมาแล้วกลับจมลงอย่างนี้แล ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่โผล่ขึ้นมาแล้วทรงตัวอยู่อย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ โผล่ขึ้นมาได้ คือ เขามีธรรมเหล่านี้ คือ ศรัทธา หิริโอตตัปปะ วิริยะ ปัญญาชั้นดีๆ ในกุศลธรรมทั้งหลาย แต่ศรัทธาของเขานั้นไม่เสื่อมลง ไม่เจริญขึ้น คงที่อยู่ หิริ โอตตัปปะ วิริยะ และปัญญาของเขานั้นไม่เสื่อมลง ไม่เจริญขึ้น คงที่อยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่โผล่ขึ้นมาได้แล้วทรงตัวอยู่อย่างนี้แล ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่โผล่ขึ้นมาได้แล้วเหลียวไปมาอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ โผล่ขึ้นมาได้ คือ เขามีธรรมเหล่านี้ คือ ศรัทธา หิริโอตตัปปะ วิริยะ ปัญญาชั้นดีๆ ในกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะสังโยชน์ ๓ สิ้นไปเขาเป็นพระโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้าดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลที่โผล่ขึ้นมาได้แล้วเหลียวไปมาอย่างนี้แล ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่โผล่ขึ้นมาได้แล้วเตรียมตัวจะข้ามอย่างไรบุคคลบางคนในโลกนี้ โผล่ขึ้นมาได้ คือ เขามีธรรมเหล่านี้ คือ ศรัทธา หิริโอตตัปปะ วิริยะ ปัญญาชั้นดีๆ ในกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะสังโยชน์ ๓สิ้นไป เพราะทำราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลง เขาเป็นพระสกทาคามี
มาสู่โลกนี้อีกครั้งเดียวเท่านั้น แล้วทำที่สุดทุกข์ได้ บุคคลที่โผล่ขึ้นมาได้แล้วเตรียมตัวจะข้ามอย่างนี้แล ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่โผล่ขึ้นมาแล้วได้ที่พึ่งอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ โผล่ขึ้นมาได้ คือ เขามีธรรมเหล่านี้ คือ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะวิริยะ ปัญญา ชั้นดีๆ ในกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕สิ้นไป เขาเป็นพระอนาคามี จักปรินิพพานในภพนั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา บุคคลที่โผล่ขึ้นมาแล้วได้ที่พึ่งอย่างนี้แล ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลที่โผล่ขึ้นมาได้แล้วเป็นพราหมณ์ ข้ามถึงฝั่งอยู่บนบกอย่างไร บุคคลบางคนในโลกนี้ โผล่ขึ้นมาได้ คือ เขามีธรรมเหล่านี้คือ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญา ชั้นดีๆ ในกุศลธรรมทั้งหลายเขากระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะ
ทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ บุคคลที่โผล่ขึ้นมาได้แล้วเป็นพราหมณ์ ข้ามถึงฝั่งอยู่บนบกอย่างนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลเปรียบด้วยน้ำ ๗ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก ฯ


เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ บรรทัดที่ ๒๓๓ - ๒๗๘. หน้าที่ ๑๑ - ๑๒.
ขอบพระคุณภาพประกอบจาก @Single Mind for Peace




 

Create Date : 28 พฤษภาคม 2556    
Last Update : 28 พฤษภาคม 2556 12:46:47 น.
Counter : 1186 Pageviews.  

นกกระเรียนแก่สิ้นปลา...[ธรรมบท ชราวรรคที่๑๑ ]




ร่าเริงอะไรกันหนอ ยินดีอะไรกัน ในเมื่อโลกสันนิวาสถูก
ไฟไหม้โพล่งแล้วเป็นนิตย์ ท่านทั้งหลายถูกความมืดหุ้มห่อ
แล้ว เพราะเหตุไรจึงไม่แสวงหาประทีป

ท่านจงดูอัตภาพอันบุญกรรมทำให้วิจิตรแล้ว
มีกายเป็นแผล อันกระดูกสามร้อย
ท่อนปรุงขึ้นแล้ว กระสับกระส่าย อันมหาชนดำริกันโดย
มาก ไม่มีความยั่งยืนมั่นคง รูปนี้คร่ำคร่าแล้ว เป็นรังแห่ง
โรค ผุพัง

กายของตนอันเปื่อยเน่าจะแตกเพราะชีวิตมีความ
ตายเป็นที่สุด กระดูกเหล่าใดเขาไม่ปรารถนาแล้ว เหมือน
น้ำเต้าในสารทกาล มีสีเหมือนนกพิราบ จะยินดีอะไร
เพราะได้เห็นกระดูกเหล่านั้น สรีระอันกรรมสร้างสรรให้
เป็นเมืองแห่งกระดูก มีเนื้อและเลือดเป็นเครื่องไล้ทา เป็น
ที่ตั้งแห่งความแก่ ความตาย ความถือตัว และความลบหลู่

ราชรถทั้งหลายอันวิจิตรย่อมคร่ำคร่าได้โดยแท้ อนึ่งแม้
สรีระก็เข้าถึงความคร่ำคร่า ส่วนธรรมของสัตบุรุษย่อมไม่
เข้าถึงความคร่ำคร่า สัตบุรุษแลย่อมสนทนาด้วยสัตบุรุษ

บุรุษมีสุตะน้อยนี้ ย่อมแก่เหมือนโคถึก เนื้อของเขาย่อม
เจริญ [แต่] ปัญญาของเขาหาเจริญไม่ เราแสวงหานาย
ช่างเรือนอยู่ เมื่อยังไม่ประสบ แล่นไปแล้วสู่สงสารมีชาติ
ไม่น้อย ความเกิดเป็นทุกข์ร่ำไป

แน่ะนายช่างเรือน บัดนี้
เราพบท่านแล้ว ท่านจักไม่ต้องสร้างเรือนอีก ซี่โครงของ
ท่านทั้งหมดเราหักแล้ว ยอดเรือนเราขจัดเสียแล้ว จิตของ
เราถึงแล้วซึ่งนิพพานอันปราศจากสังขาร เราบรรลุความสิ้น
แห่งตัณหาแล้ว

คนพาลทั้งหลายไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่
ได้ทรัพย์ในคราวเป็นหนุ่ม ย่อมซบเซา เหมือนนกกระเรียน
แก่ ซบเซาอยู่บนเปือกตม ซึ่งสิ้นปลาแล้ว ฉะนั้น คน
พาลทั้งหลายไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ได้ทรัพย์ในคราว
เป็นหนุ่มย่อมนอนทอดถอนถึงทรัพย์เก่า เหมือนลูกศรสิ้น
ไปแล้วจากแล่ง ฉะนั้น ฯ


เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ บรรทัดที่ ๖๖๒ - ๖๙๑. หน้าที่ ๒๙ - ๓๐.




 

Create Date : 23 พฤษภาคม 2556    
Last Update : 23 พฤษภาคม 2556 12:50:49 น.
Counter : 1885 Pageviews.  

ผู้ค้นหาโทษด้วยปาก..[ขตสูตร]




[๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็น
คนพาล ไม่เฉียบแหลม ไม่ใช่สัตบุรุษ ย่อมคุ้มครองตนที่ ปราศจากคุณสมบัติ
ย่อมเป็นผู้ประกอบไปด้วยโทษ นักปราชญ์ติเตียน และย่อมประสบกรรมมิใช่บุญ
เป็นอันมาก

ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ ไม่ใคร่ครวญสืบสวนให้รอบคอบ
แล้ว กล่าวสรรเสริญคุณของผู้ไม่ควรสรรเสริญ ๑

ไม่ใคร่ครวญสืบสวนให้รอบคอบแล้ว กล่าวติเตียนผู้ที่ควรสรรเสริญ ๑

ไม่ใคร่ครวญสืบสวนให้รอบคอบแล้ว ยังความเลื่อมใสให้เกิดในฐานะที่ไม่ควรเลื่อมใส ๑

ไม่ใคร่ครวญสืบสวนให้รอบคอบแล้ว ยังความไม่เลื่อมใสให้เกิดในฐานะที่ควรเลื่อมใส ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล เป็นคนพาล ไม่
เฉียบแหลม ไม่ใช่สัตบุรุษ ย่อมคุ้มครองตนที่ปราศจากคุณสมบัติ ย่อมเป็นผู้
ประกอบไปด้วยโทษ นักปราชญ์ติเตียน และย่อมประสบกรรมมิใช่บุญเป็น
อันมาก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นบัณฑิต
เฉียบแหลม เป็นสัตบุรุษ
ย่อมคุ้มครองตนให้ประกอบไปด้วยคุณสมบัติ เป็นผู้
หาโทษมิได้ ทั้งนักปราชญ์ไม่ติเตียน และย่อมประสบบุญเป็นอันมาก ธรรม ๔
ประการเป็นไฉน คือ

ใคร่ครวญ สืบสวนรอบคอบแล้ว กล่าวติเตียนผู้ที่ควรติเตียน ๑

ใคร่ครวญสืบสวนรอบคอบแล้ว กล่าวสรรเสริญผู้ที่ควรสรรเสริญ ๑

ใคร่ครวญ สืบสวนรอบคอบแล้ว ยังความไม่เลื่อมใสให้เกิดในฐานะที่ไม่ควร
เลื่อมใส ๑

ใคร่ครวญสืบสวนรอบคอบแล้ว ยังความเลื่อมใสให้เกิดในฐานะที่ควรเลื่อมใส ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล เป็นบัณฑิต เฉียบแหลม เป็นสัตบุรุษ ย่อมคุ้มครองตนให้ประกอบไปด้วยคุณสมบัติ เป็นผู้หาโทษมิได้ ทั้งนักปราชญ์ไม่ติเตียน และย่อมประสบบุญเป็นอันมาก ฯ

ผู้ใด ย่อมสรรเสริญผู้ที่ควรนินทา หรือย่อมนินทาผู้ที่ควร
สรรเสริญ ผู้นั้นชื่อว่าย่อมค้นหาโทษด้วยปาก ย่อมไม่ได้
ประสบสุขเพราะโทษนั้น ความพ่ายแพ้การพนันด้วยทรัพย์
ทั้งหมด พร้อมด้วยตน มีโทษน้อย การที่ยังใจให้
ประทุษร้ายในท่านผู้ดำเนินไปดีแล้วนี้แหละ เป็นโทษใหญ่
กว่า (โทษการพนัน) ผู้ที่ตั้งวาจา และใจอันเป็นบาปไว้
ติเตียนพระอริยเจ้า ย่อมเข้าถึงนรกสิ้นแสนสามสิบหกนิรัพ
พุททะ และห้าอัพพุททะ ฯ



เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑ บรรทัดที่ ๔๒ - ๗๓. หน้าที่ ๒ - ๔.
ขอบพระคุณภาพจาก @Single Mind for Peace




 

Create Date : 22 พฤษภาคม 2556    
Last Update : 22 พฤษภาคม 2556 22:24:59 น.
Counter : 1058 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

อุ่นอาวรณ์
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Friends' blogs
[Add อุ่นอาวรณ์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.