Group Blog
All Blog
### สติและปัญญา ###











“สติและปัญญา”

พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า

 ไม่มีธรรมอันใดที่จะสำคัญเท่ากับ “สติ”

 “สติ” นี้เป็นธรรมที่สำคัญที่สุดในการปฏิบัติ

 เพราะถ้าเราไม่มีสติเราจะไม่สามารถดึงใจ

ให้เข้ามาข้างในได้ เมื่อใจไม่เข้าข้างใน

 ใจก็จะไม่เห็นอริยสัจ ๔ จะไม่เห็นทุกข์

สมุทัย นิโรธ มรรค

 ก็จะไม่สามารถดับความทุกข์ใจได้

แต่ถ้าใจกลับเข้ามาข้างในได้

เวลาเกิดความทุกข์ใจนี้ ใจจะเห็นชัดเลยว่า

เกิดจากความอยากของใจ

ไม่ว่าจะเป็นการอยากใน

รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

หรืออยากในภวะต่างๆ อยากมีอยากเป็น

หรืออยากไม่มีอยากไม่เป็น

 สติธรรมจึงเป็นธรรมที่ยิ่งใหญ่สำคัญที่สุด

ถึงแม้ว่าสติธรรมนี้ไม่สามารถ

ที่จะทำลายความอยากได้

 แต่ถ้าไม่มีสติธรรม ปัญญาก็จะไม่สามารถ

ที่จะเกิดได้ ปัญญาจะไม่สามารถเห็นว่า

ต้นเหตุของความทุกข์ใจนั้น อยู่ที่ความอยาก

 และปัญญานี้จะไม่สามารถเห็นว่า

สิ่งที่ใจอยากนั้นเป็นทุกข์ เพราะว่าไม่เที่ยง

เพราะว่ามันไม่ใช่ เป็นของเรา

มันจะต้องพลัดพรากจากเราไป

ต้องให้ใจสงบ ใจเข้าไปข้างในแล้ว

 ใจก็จะสามารถใช้ปัญญา พิจารณาสอนใจ

 ให้เห็นว่าความทุกข์ของใจ

เกิดจากความอยากของใจ

และสิ่งที่ใจอยากได้

ก็เป็นสิ่งที่ ไม่เที่ยงแท้แน่นอน

 เป็นสิ่งชั่วคราวได้มาแล้วเดี๋ยวก็ต้องเสียไป

 ไม่ได้เป็นของเราอย่างแท้จริง

เดี๋ยวก็ต้องพลัดพรากจากเราไป

ถ้าเราไม่อยากจะทุกข์

เราก็ต้องไม่ไปหาสิ่งต่างๆ

 เช่นรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ไม่ไปหาร่างกาย ไม่ไปมีร่างกาย

 เพราะถ้ามีร่างกายแล้วก็ต้องมีความแก่

ความเจ็บ ความตายตามมา

 อันนี้เกิดจากการที่เรามีสติดึงใจ

เข้าข้างในก่อน ถ้าเราไม่มีสติ

 อวิชชา โมหะ กิเลสตัณหา ก็จะคอยดันใจ

ให้ออกไปหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 ให้ไปหาบุคคลนั้นบุคคลนี้

ให้ไปหาเหตุการณ์นั้นเหตุการณ์นี้

 แล้วก็จะยึดจะติดกับบุคคลต่างๆ

 เหตุการณ์ต่างๆ รูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ

 แล้วก็ไปทุกข์กับสิ่งเหล่านี้

แล้วพอถึงเวลาพลัดพรากจากสิ่งเหล่านี้

 ก็อยากจะกลับมาหา สิ่งเหล่านี้อีก

ก็จะกลับมาเกิดใหม่ พอกลับมาเกิดใหม่

 ก็จะมาแก่ มาเจ็บ มาตายใหม่

แต่ถ้าเราดึงใจ ให้เข้าข้างในได้ด้วยสติ

 เช่นบริกรรมพุทโธๆไปนี้เรียกว่า

เป็นการสร้างสติเพื่อที่จะดึงใจให้เข้าข้างใน

 ถ้าเราพุทโธๆอยู่เรื่อยๆ ใจก็จะสามารถ

คิดไปหารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 คิดไปหาเหตุการณ์ต่างๆ บุคคลต่างๆ

เช่นลาภยศ สรรเสริญได้

ใจจะนิ่งจะเย็นจะสบาย ถ้านั่งเฉยๆ

 ใจก็จะดิ่งเข้าสู่ข้างในเต็มที่เข้าไปสู่ตัวรู้ผู้รู้

 แล้วจะได้เห็นว่า

สิ่งที่เกิดขึ้นภายในใจนั้นมีอะไรบ้าง

 เวลาทุกข์เกิดขึ้นก็จะเห็นเลยว่า

เกิดจากความอยากอย่างใดอย่างหนึ่ง

ใน ๓ ความอยากนี้ ไม่ว่าจะเป็นกามตัณหา

หรือภวตัณหา หรือวิภวตัณหา

 แล้วพอรู้แล้วว่ากามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

เป็นต้นเหตุของความทุกข์ใจ

ถ้าอยากดับความทุกข์ใจ

ก็ต้องหาเครื่องไม้เครื่องมือมาดับ

เครื่องไม้เครื่องมือที่จะดับได้ก็คือปัญญานี้เอง

ปัญญาที่จะสอนใจให้เห็นว่า

การทำตามความอยากนี้

เป็นการไปหาความทุกข์

 ไม่ได้เป็นการดับความทุกข์

 เพราะสิ่งที่ได้มานั้นจะต้องมีวันสิ้นสุดลง

มีวันหมด มีวันจบ เช่นร่างกาย

เกิดแล้วเดี๋ยวก็ต้องตาย

แล้วเวลาตายก็ต้องทุกข์กัน

 เวลาแก่ก็ต้องทุกข์กันเวลาเจ็บก็ต้องทุกข์กัน

หรือข้าวของเงินทอง

สิ่งของต่างๆ บุคคลต่างๆ

เดี๋ยวเวลาได้มาก็ดีใจ

 พอเดี๋ยวเขาจากไปก็ทุกข์ใจเศร้าโศกเสียใจกัน

 ถ้าเห็นว่าการทำตาม ความอยากนี้

นำไปสู่ความทุกข์ใจ เราก็ไม่ทำหยุดทำ

พอหยุดความอยาก ความทุกข์ใจ

ที่เกิดจากความอยาก ก็จะหายไป

 ใจก็จะสงบนิ่งเย็นสบายมีความสุข

นี่คือวิธีการที่ทำให้จิตใจนั้นหลุดพ้น

จากความทุกข์ต่างๆได้อย่างสิ้นเชิง

ต้องดับด้วยการภาวนา คือการเจริญสติ

ดึงใจให้เข้าสู่ข้างในเพื่อให้ใจสงบนิ่งเย็นสบาย

เป็นอุเบกขาเป็นกลางสักแต่ว่ารู้

ซึ่งเป็นสภาพของจิตที่มีความสุขอย่างยิ่ง

 เมื่อได้พบกับความสุขที่แท้จริงแล้ว

ก็จะทำให้เลิกหาความสุขปลอมได้

 เลิกหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายได้

เลิกหาความสุขจากลาภยศ สรรเสริญ

 จากบุคคลนั้นจากบุคลลนี้

จากเหตุการณ์นั้นเหตุการณ์นี้ได้

เลิกหาความสุขจากการรักษา

สิ่งที่เรารักษากันไม่ได้

 รักษาลาภยศ สรรเสริญ สุขกันไม่ได้

รักษาร่างกายกันไม่ได้

ของพวกนี้ต้องมีวัน

ที่จะต้องมีการพลัดพรากจากกัน

คือเวลาที่เราตายนี่เอง

หรือก่อนหน้านั้นก็อาจจะจากเราไปก็ได้

ข้าวของเงินทองก็อาจจะหายไปหมดก็ได้

 หมดเนื้อหมดตัวขึ้นมาก็ได้

แต่ถ้าเราไม่มีความอยากทั้ง ๓ ประการนี้

เราจะไม่ทุกข์กับการสูญเสียของสิ่งต่างๆ ไปเลย

 เพราะเราไม่ต้องอาศัยสิ่งต่างๆ เหล่านี้

มาให้ความสุขกับเรา

เรามีความสุขจากการดึงใจเข้าข้างในได้

 เลิกหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายได้

เลิกหาความสุขจากลาภยศ สรรเสริญ

 จากบุคคลนั้นบุคคลนี้

จากเหตุการณ์นั้นเหตุการณ์นี้ได้

เลิกหาความสุขจากการรักษา

สิ่งที่เรารักษากันไม่ได้

รักษาลาภยศสรรเสริญสุขกันไม่ได้

 รักษาร่างกายกันไม่ได้

ของพวกนี้ต้องมีวัน

ที่จะต้องมีการพลัดพรากจากกัน

 คือเวลาที่เราตายนี่เอง หรือก่อนหน้านั้น

ก็อาจจะจากเราไปก็ได้

ข้าวของเงินทองก็อาจจะหายไปหมดก็ได้

หมดเนื้อหมดตัวขึ้นมาก็ได้

แต่ถ้าเราไม่มีความอยากทั้ง ๓ ประการนี้

เราจะไม่ทุกข์กับการสูญเสียของสิ่งต่างๆ ไปเลย

เพราะเราไม่ต้องอาศัยสิ่งต่างๆ เหล่านี้

มาให้ความสุขกับเรา

 เรามีความสุขจากการดึงใจเข้าข้างใจ

ดึงใจให้สงบ ดึงใจให้เย็นให้สบายให้เป็นกลาง

 ด้วยการกำลังของสติ

สตินี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถ้าเราไม่มีสติ

เราจะไม่สามารถดึงใจให้เข้าข้างในได้

 เราก็จะหาความสุขที่แท้จริงไม่เจอ

 เราก็เลยต้องไปหาความสุขปลอมกัน

 ไปหาความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 ไปหาความสุขจากลาภยศ สรรเสริญ

 หาความสุขจากร่างกายของเรา

และร่างกายของคนอื่น

 แล้วพอเราต้องสูญเสียสิ่งเหล่านี้

 ไปเราก็จะทุกข์ใจกัน

ดังนั้นถ้าเราอยากจะหลุดพ้นจากความทุกข์

เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าได้ทรงหลุดพ้น

 เราต้องปฏิบัติสติกัน เราต้องเจริญสติกัน

 ต้องสร้างสติกัน ต้องนั่งสมาธิกัน

เพื่อทำจิตให้รวมเป็นหนึ่ง

เป็นอัปปนาสมาธิ สักแต่ว่ารู้

แล้วก็จะทำให้เราเห็นพระอริยสัจ ๔

ที่แสดงอยู่ในใจเราตลอดเวลา

ส่วนใหญ่พระอริยสัจ ๔ ของปุถุชน

ของผู้ที่ยังไม่หลุดพ้นนี้

จะแสดงเพียงแต่อริยสัจ ๒ ข้อแรก

คือทุกข์กับสมุทัย

เพราะในใจของผู้ที่ยังไม่ปฏิบัติธรรมนี้

จะไม่มีนิโรธกับไม่มีมรรคนั่นเอง

 จึงเป็นหน้าที่ของผู้ที่ปฏิบัติ เมื่อได้ตั้งใจปฏิบัติแล้ว

 ก็จะต้องมาเจริญมรรค

 มรรคก็คือสติ สมาธิ ปัญญา นี่เอง

 การเจริญสตินี้เป็นการ สร้างมรรค

 และเป็นการดึงใจให้เข้าข้างใน

เพื่อที่จะได้เห็นว่าความทุกข์ของใจนั้น

เกิดจากตัณหา ความอยากของใจเอง

ไม่ได้เกิดจากการสูญเสียสิ่งนั้นสิ่งนี้ไป

 หรือไม่ได้เกิดจากการที่ไปสัมผัส

กับ สิ่งที่ไม่ปรารถนากัน

 แต่เกิดจากความอยากที่ไม่อยากจะเจอ

สิ่งที่ไม่น่าปรารถนาหรือความอยากที่จะให้

 สิ่งที่รักที่ชอบไม่พลัดพรากจากเราไป

 เราจะได้มาแก้ปัญหาได้ที่ถูกจุด

 ก็คือมาหยุดความอยาก ถ้าเราจิตสงบแล้ว

 เวลาเกิดความอยากเราจะรู้ทันที

เพราะเวลาที่ไม่อยากนี้มันจะเป็นอย่างหนึ่ง

 พอเวลามันอยากมันก็จะ เป็นอีกอย่างหนึ่ง

 เหมือนน้ำที่นิ่งกับน้ำที่ไม่นิ่ง

 เวลาน้ำนิ่งนี้เราจะรู้ว่ามันนิ่ง

 แต่พอน้ำกระเพื่อมเราก็จะรู้ทันที

 แต่ตอนนี้ใจของเราไม่เคยนิ่งเลย

ใจของเรามีกระเพื่อมตลอดเวลา

 กระเพื่อมไปตามความอยากต่างๆ

 จนเราไม่รู้ว่ามันเป็นผลที่เกิดจาก

ความอยากของเรา เราก็เลยไม่ไปโทษ

ความกระเพื่อมความไม่สบายใจของเรา

ไปที่ความอยาก เราไปโทษสิ่งต่างๆ

ว่ามันเปลี่ยนไป

 คนที่ดีกับเราแล้วเขาเปลี่ยนมาไม่ดีกับเรา

 เราก็ทุกข์ใจกับเขา เราไม่ไปโทษใจของเรา

ที่อยากให้เขาดีไปตลอด ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้

ไม่มีใครจะดีไปตลอด

นอกจากผู้ที่สิ้นกิเลสเท่านั้นแหละ

ถึงจะดีได้ตลอด

 แต่ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นี้

เขาจะไม่สามารถดีไปได้ตลอด

 เขาจะต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ดีบ้างไม่ดีบ้าง

 เพราะอารมณ์เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา

อารมณ์ดีเขาก็ดี อารมณ์ไม่ดี เขาก็ไม่ดี

ไม่ใช่แต่เขา เราก็เหมือนกัน

เราเองก็ไม่ได้ดีได้ตลอด

 เวลาเราอารมณ์ดี เราก็ทำดี คิดดี พูดดีได้

 แต่เวลาที่เราอารมณ์ไม่ดี

เราก็คิดดี ทำดี พูดดีไม่ได้ เราก็จะคิดไม่ดี

พูดไม่ดี ทำไม่ดี

 ดังนั้นเราต้องมองความจริงด้วยปัญญาว่า

ของทุกอย่างในโลกนี้ มันไม่เที่ยงแท้แน่นอน

 เราจะไปยึดไปติดกับสิ่งต่างๆ

 เราก็จะต้องทุกข์เวลาที่เขาเปลี่ยนแปลงไป

 เวลาที่เขาไม่ดี เปลี่ยนจากเวลาที่เขาดี

ก็จะทำให้เราทุกข์ใจ ไม่สบายใจ

 แต่ถ้าเรามีปัญญาเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ

เรื่องธรรมดาของคนที่จะต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา

 เราอย่าไปอยากให้เขาดีไปตลอด

เราก็จะไม่ทุกข์ เวลาที่เขาไม่ดี

เราจะมาแก้ปัญหาที่ความอยากของเรา

ถ้าเราเข้าข้างในแล้วทุกครั้งที่ใจเรากระเพื่อม

 ใจเราไม่สบายนี้ เราจะเห็นทันทีว่า

เกิดจากความอยาก แล้วถ้าเรามีปัญญา

เห็นว่าทุกอย่างไม่เที่ยง มีการที่จะต้องเปลี่ยนไป

 เปลี่ยนมาแล้วเราก็จะต้องยอมรับความจริงอันนี้

 พอเรารับความจริงไม่ฝืนความจริง

ไม่อยากให้เป็นอย่างอื่น ใจก็จะสงบ

ใจก็จะกลับมานิ่งสงบ ความทุกข์ก็จะหายไป

นี่คือการทำงานของพระอริยสัจ ๔

 ภายในใจของพวกเราทุกคน

 ตอนนี้พระอริยสัจ ๔ ของพวกเรามีแค่ ๒

 คือมีแต่ทุกข์กับสมุทัยเป็นส่วนใหญ่ นานๆ

จะมีมรรคสักครั้งหนึ่ง

นานๆ เราจะทำบุญกันสักครั้ง

 รักษาศีลกันสักครั้ง ฟังเทศน์ฟังธรรมกันสักครั้ง

เวลาฟังธรรมเราได้ปัญญา

 ความทุกข์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้น

ก็อาจจะดับหายไป ถ้าเราฟังธรรมแล้วเข้าใจ

 แล้วเราสามารถปล่อยวางความอยากของเราได้

 ความทุกข์ใจของเราก็จะหายไปได้

 แต่มันจะเป็นการหายเพียงชั่วคราว

 เพราะเรายังไม่ได้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

ถ้าอยากจะให้ความทุกข์ใจหายอย่างตลอดเวลา

 เราต้องปฏิบัติตลอดเวลา เราต้องมีสติปัญญา

 คอยแก้ความอยากตลอดเวลา

 พอเกิดความอยากขึ้นมา

ก็จะได้ใช้สติปัญญาเข้าไปเคลียร์

ว่าเราทุกข์เพราะเราอยาก ให้สิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น

 สิ่งนั้นเป็นอย่างนี้ แล้วความทุกข์นั้นก็จะหายไป

ตอนนี้สิ่งที่เราขาดก็คือสติและปัญญากัน

จึงทำให้เราไม่เห็นต้นเหตุของความทุกข์

คือความอยากทั้ง ๓ และไม่เห็นธรรม

 เห็นมรรคที่จะนำเอามาใช้หยุดความอยาก

 ไม่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

 เราจึงมาสร้างธรรม ๒ อันนี้คือสร้างสติ

เพื่อทำให้เกิดสมาธิ เกิดความสงบ

เมื่อเรามีความสงบแล้ว

เราก็จะสามารถสร้างปัญญาสอนใจ

ให้เห็นสภาวะความเป็นจริงของทุกสิ่งทุกอย่าง

ว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์ไม่ใช่ของเรา

 พอเราเห็นว่าทุกอย่างไม่เที่ยง

 เป็นทุกข์ไม่ใช่ของเรา

 เราก็จะได้ไม่มีความอยากจะได้

อะไรมาเป็นของเรา

 เพราะมันไม่สามารถเป็นของเรา ได้ตลอด

สักวันหนึ่งเขาก็จะต้องไปจากเรา

พอเวลาเขาไป เราก็จะทุกข์กับเขา

 นี่คือเรื่องของการมี ดวงตาเห็นธรรม

เห็นอริยสัจ ๔ ถ้าเราเห็นอริยสัจ ๔ ได้ตลอดเวลา

 ทุกครั้งที่เกิดความทุกข์ขึ้นมา เรารู้ทันทีว่า

 เกิดจากกามตัณหา ภวตัณหา หรือวิภวตัณหา

 แล้วเราก็ใช้ปัญญามาสอนใจว่า

ของที่เราอยากได้นั้น มันเป็นสิ่งที่

เราไปควบคุมบังคับไม่ได้

เป็นอนัตตา เป็นธรรมชาติ

 เช่นเมื่อกี้ฝนตก ฝนตกนี้เราก็ห้ามฝนตกไม่ได้

 แต่เราห้ามใจของเราไม่ให้ทุกข์กับฝนได้

ถ้าเรามีปัญญา เราจะนั่งเฉยๆ

ฟังเทศน์ฟังธรรมต่อไปได้

เพราะเราจะปล่อยให้ร่างกายเปียกไป

มันจะเปียกก็เปียกไป

เราไม่ได้มีความอยากไม่ได้ให้มันไม่เปียก

 มันก็จะไม่มีความทุกข์ใจเราก็จะนั่งอยู่เฉยๆ

 นั่งอย่างสบายไม่ทุกข์กับฝนตกได้

แต่ถ้าเราไม่มีปัญญา พอฝนตกปั๊บ

 ความอยากไม่เปียกมันก็เลยทำให้

เราต้องขยับขยายกัน เปลี่ยนที่กันไป

 ไปหาที่หลบแดดหลบฝนกัน เพราะเราไม่มีปัญญา

เพราะเราไม่ได้ดูใจของเรา เราไปดูที่ร่างกาย

 พอร่างกายเปียก ใจของเราก็อยากไม่ให้มันเปียก

 เราก็เลยต้องขยับที่ หาที่

ที่จะทำให้ร่างกายมันไม่เปียก

 แต่ถ้าเรามีปัญญา เราดูที่ใจเรา

 ว่าตอนนี้ใจเรา เกิดความไม่สบาย

เพราะอยากไม่เปียก

 ถ้าเราอยากจะให้ใจเราสบายก็ปล่อยมันเปียกไป

เปียกก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็เปลี่ยนเสื้อผ้าได้

เปียกแล้วเดี๋ยวมันก็แห้งได้

 เราเวลาอาบน้ำอาบท่าเราเปียก

มากกว่าตอนที่ฝนตกเสียอีก ทำไมเราเปียกได้

 ขณะที่เรามีเสื้อผ้าใส่แล้วฝนตกนิดๆหน่อยๆ

 มันเปียกเราทำไมจะต้องไปทุกข์กับมันทำไม

 เราก็นั่งฟังเทศน์ฟังธรรมต่อไปได้อย่างสบาย

นี่คือเปรียบเทียบให้เห็นว่า

เวลาที่เราเห็นอริยสัจ ๔ กับไม่เห็นเป็นอย่างไร

 ถ้าเห็นอริยสัจ ๔ เราไม่มาแก้ที่ร่างกาย

 เราไม่มาแก้ที่คนนั้นคนนี้ เรามาแก้ที่ใจของเรา

เวลาถูกใครเขาด่า เราไม่ไปหยุดเขาไม่ไปด่าตอบ

 เราจะเฉยๆ ปล่อยเขาด่าไป

เรามาหยุดความอยากของเรา

 หยุดความอยากที่ไม่อยากให้เขาด่าเรา

อยากให้เขาหยุดด่าเรา เราอย่าไปอยาก

 อยากแล้วมันจะทรมานใจ

 เพราะเราไม่สามารถไปสั่งให้เขาหยุดได้

 ยิ่งไปด่าเขาเดี๋ยวเขายิ่งกลับมา

ด่าเราเพิ่มมากขึ้นอีก

 แต่ถ้าเราอยู่เฉยๆ ฟังไป

เขาอยากจะด่าก็ปล่อยเขาด่าไป

 เราทำใจให้เฉยๆ ไม่มีความอยากให้เขาไม่ด่า

รับรองได้ว่าเราจะไม่ทุกข์กับเขา

ไม่ทุกข์กับการด่าของเขา

 แต่ตอนนี้ใจเราไม่ได้ หันเข้าข้างใน

 ไม่ได้หันมาดูที่ความอยากของเรา

กลับหันไปดูคนที่มาด่าเรา เราเลยไปแก้ที่เขา

 แต่การจะไปแก้ที่เขาแทนที่จะแก้

กลับไปสร้างเรื่องราวให้มันใหญ่โตขึ้นมา

 อย่างที่เขาเรียกว่า น้ำผึ้งหยดเดียว

เขาด่าเรา เราก็ด่ากลับ

 พอด่ากลับเขาก็ด่าแรงกว่าเก่า

พอเขาด่าเเรงกว่าเก่า

 เราก็ด่ากลับไปแรงกว่าเก่าอีก

 เดี๋ยวก็ลงไม้ลงมือกัน ตีกันไปตีกันมา

 เดี๋ยวก็ใช้มีดใช้ปืนทิ่มเเทงกันฆ่าฟันกัน

 คนหนึ่งตายไปอีกคนก็ต้องไปติดคุกติดตะราง

 แล้วพอภพหน้าชาติหน้า

ถ้ากลับมาเจอกันอีกเมื่อไร

 ก็มาด่ากันใหม่ มาตีกันใหม่

เพราะเราไม่ได้มาแก้ปัญหา

ที่ความอยากของเรา

 ความอยากไม่ให้เขาด่าเรา

 ความอยากที่ไม่ให้เขาร้ายกับเรา

 ไม่ดีกับเรา เราต้องใช้ปัญญา

พิจารณาว่าคนต่างๆ

 นี้มีทั้งคนที่ชอบเราและคนที่ไม่ชอบเรา

 เพราะอดีต เราอาจจะมีอะไรกันมาก็ได้

 คนที่ชอบเรา

 อดีตเราอาจจะเคยร่วมทำความดี

 เคยช่วยเหลือกันมาก็ได้

 ส่วนคนที่ไม่ชอบเราก็อดีตก็อาจจะเป็นเพราะ

เราเคยมีเรื่องมีราวกันมีโกรธเกลียดกันมา มาก่อน

 เราไปเปลี่ยนเขาไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนเราได้

 เพราะตอนนี้เรามีธรรม เรามีสติ มีปัญญาธรรม

ถ้าเรามีสติ มีปัญญาเราจะไม่ไปแก้ข้างนอก

 เพราะเรารู้ว่าแก้ไม่ได้ แล้วแก้ไม่ถูกจุด

 เพราะคนที่เขาด่าเรานี้ไม่ใช่ เป็นต้นเหตุ

ของความทุกข์ใจของเรา

 ต้นเหตุของความทุกข์ใจของเราอยู่ที่ความอยาก

ไม่ให้เขาด่าเราต่างหาก

เราก็มาหยุดความอยากนี้ เปลี่ยนใจ

ไม่อยากให้เขาด่าก็เปลี่ยนไปอยากให้เขาด่าเสีย

มันก็หมดเรื่อง พออยากให้เขาด่าแล้ว

เวลาเขาด่าเราก็สมใจอยาก เราก็สุขใจ

อยากได้อะไร พอได้ดังใจก็เกิดความสุขใจขึ้นมา

 ดังนั้นหัดอยากในสิ่งที่เราได้รับ

 อย่าไปอยากในสิ่งที่เราไม่ได้รับ

หรือไม่อยากได้ในสิ่งที่เรารับ

 เรารับอะไรหัดยินดีกับสิ่งที่เราได้รับ

แล้วเราจะไม่ทุกข์ใจ ถ้าเราไม่ยินดี

กับสิ่งที่เราได้รับเราจะเสียใจ เราจะทุกข์ใจ

เราเปลี่ยนใจของเราได้ ถ้าเรามีสติ มีปัญญา

 เราจะมีกำลังพลิกใจของเราได้

จากไม่อยากให้มันเฉยๆได้

จากอยากให้มันเฉยๆได้

นี่คือวิธีการที่จะดับความทุกข์ต่างๆ

ที่มีอยู่ภายในใจของพวกเราให้หมดไป

 พระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวกท่านใช้วิธีนี้ทั้งนั้น

 ท่านใช้วิธีดึงใจเข้าข้างในด้วยการเจริญสติ

 พุทโธๆไป แล้วก็นั่งสมาธิไป จนจิตสงบ

พอจิตสงบก็แสดงว่าจิตได้เข้าข้างในแล้ว

 ได้ปล่อยวางร่างกาย

ปล่อยวางรูปเสียงกลิ่นรส โผฏฐัพพะแล้ว

พอจิตเข้าข้างในแล้วพอจิตเริ่มกระเพื่อม

 พอออกจากความสงบ พอเกิดความอยากปั๊บ

มันจะเห็นทันทีว่าตอนนี้ความอยากเริ่มทำงานแล้ว

 อยากได้รูปเสียงกลิ่นรสแล้ว

 อยากให้สิ่งนั้นสิ่งนี้ บุคคลนั้นบุคคลนี้

เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้แล้ว

พอเกิดความอยากปั๊บ

เราก็หยุดความอยากเสียทำใจให้เฉยๆ

 เขาจะทำอะไรก็ปล่อยเขาทำไป

เขาจะไม่ทำอะไรก็ปล่อยเขาไม่ทำไป

รูปเสียงกลิ่นรสก็ปล่อยเขาเฉยๆ

อย่าไปยุ่งกับเขา เสพเท่าไรก็ไม่อิ่มไม่พอ

 มันสู้ความสงบสู้ความอยู่เฉยๆไม่ได้

ปัญญาก็จะสอนใจ ใจก็จะหยุดอยาก

ในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

หยุดอยากกับบุคคลนั้นบุคคลนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้

ให้เขาเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้

 เมื่อไม่มีความอยากอยู่ภายในใจแล้ว

 ใจก็จะไม่มีวันทุกข์อีกต่อไป

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับคนนั้นคนนี้ สิ่งนั้นสิ่งนี้

หรือเกิดขึ้นกับร่างกายของเราเอง

มันก็จะไม่ทำให้ใจ เดือดร้อนเลย ใจก็นิ่งเฉยๆ

 เพราะไม่มีความอยากกับอะไรทั้งหมด

ไม่มีความอยากให้ร่างกายไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

 เวลามันจะแก่ มันจะเจ็บ มันจะตาย

ใจก็ไม่เดือดร้อน แล้วก็ไม่มีความอยาก

จะมีร่างกายอันใหม่อีกต่อไป

 เวลาร่างกายนี้ตายไปแล้วก็จบ

ไม่มีวันที่จะกลับมามีร่างกายอันใหม่อีกต่อไป

 เมื่อไม่มีร่างกายอันใหม่

ก็ไม่มีการแก่ เจ็บ ตายตามมา

 ไม่มีความทุกข์ตามมา

ท่านจึงทรงตรัสแสดงไว้ว่า

 ทุกข์ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่เกิดเท่านั้น

ตราบใดที่ยังมีการเกิดอยู่

ตราบนั้นก็ยังจะมีความทุกข์

ทุกข์จากความแก่ ความเจ็บ ความตาย

 ทุกข์จากการพลัดพรากจากสิ่งที่เรารัก เราชอบ

 ทุกข์จากการที่เราเผชิญ

กับสิ่งที่เราไม่รักเราไม่ชอบ

 แต่ถ้าไม่มีการเกิด

ก็จะไม่มีเหตุการณ์เหล่านี้ตามมา

 การที่จะไม่มีเหตุการณ์เหล่านี้ตามมาได้

ก็ต้องหยุดความอยากต่างๆ ที่มีอยู่ในใจได้

การจะหยุดความอยากได้ก็ต้องมีสติ

 มีปัญญามีสมาธินี่เอง

 เราจึงต้องมาฝึกสติกันมานั่งสมาธิกัน

มาเจริญปัญญากันมาสอนใจว่า

ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์

 ไม่ใช่ของเรา ร่างกายของคนทุกคนนี้

ไม่น่ารักไม่น่าใคร่ เพราะร่างกายของทุกคนนี้

มันจะต้องแก่จะต้องเจ็บจะต้องตาย

มันมีอวัยวะ ๓๒ อาการ ๓๒ อวันยวะต่างๆ

ที่ไม่น่าดูน่าชม ปกปิดหุ้มห่อ

ด้วยผิวและเนื้อนี้เท่านั้นเอง

 ถ้าเราแกะมันออกมาดูข้างใน

เราก็จะไม่มีความรักใคร่ในร่างกายของใครเลย

 แต่ตอนนี้เรามองไม่เห็นกัน

เรียกว่าเราไม่มีมรรคกัน

เราจึงต้องมาสร้างมรรคกัน

 มาสอนใจให้เห็นอสุภะกัน

สอนใจให้เห็นอนิจจังกัน

สอนใจให้เห็นอนัตตากัน

สอนใจให้เห็นทุกข์กัน ถ้าสอนอยู่เรื่อยๆ

สอนอยู่บ่อยๆ ต่อไปใจก็จะเห็นตลอดเวลา

ใจก็จะมีมรรคตลอดเวลา

 เวลาเกิดความอยากขึ้นมา

 ใจก็จะหยุดความอยากได้ทันที

หยุดด้วยอนิจจังบ้าง หยุดด้วยอนัตตาบ้าง

 หยุดด้วยอสุภะบ้าง แล้วแต่เหตุการณ์

ว่าจำเป็นจะต้องใช้อันไหนหยุด

 เวลาที่เราสูญเสียคนที่เรารักไป

เราก็หยุดด้วยอนิจจาว่าเป็นธรรมดา

มีการพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา

เวลาไปเจอสิ่งที่เราไม่ชอบ

แต่กำจัดเขาไม่ได้

เราก็ใช้อนัตตาเป็นธรรมชาติ

 เป็นสิ่งที่เราไปห้ามไม่ได้

เช่น ฝนตกเราไปสั่งให้มันหยุดไม่ได้

 ก็ปล่อยมันตกไป ถ้าใจเรายอมเปียก

แล้วมันก็จะไม่เดือดร้อน

ถ้าเรายอมให้เขาด่าเรา เราก็จะไม่เดือดร้อน

 ถ้าเรายอมให้เขาทุบตี เรายอมให้เขาฆ่าเรา

 เราจะไม่เดือดร้อน

นี่คือการสร้างมรรคที่เรายังไม่มีกัน

 เราต้องสร้างสติดึงใจเข้าข้างใน

 เสร็จแล้วก็สร้างปัญญา

ให้ใจเตรียมรับกับ เหตุการณ์ต่างๆ

ที่จะเกิดขึ้นด้วยควาไม่อยาก

ด้วยการไม่มีความอยาก เผชิญด้วยอุเบกขา

สักแต่ว่ารู้เฉยๆ เพราะว่าถ้ามีความอยากขึ้นมาปุ๊บ

ใจจะทุกข์ขึ้นมาทันที แล้วความทุกข์ของใจนี้

ร้ายแรงกว่าที่เราสูญเสีย สิ่งที่เราอยากได้ไป

เราก็จะตัดความอยากเพราะเราจะไม่เสียดาย

กับสิ่งที่เราต้องเสียไป

 หรือสิ่งที่เราอยากได้แล้ว เราไม่ได้ไป

 เพราะเราไม่อยากจะทุกข์

ได้มาแล้วทำให้เราทุกข์ ได้มาทำไม

 เสียไปแล้วทำให้เราทุกข์ ดึงไว้ทำไม

ปล่อยมันเสียไป อย่าไปอยากได้อะไร

 อย่าไปอยากเสียอะไร ให้มันไป

ถ้ามันอยากจะเสียก็ให้มันเสียไป

ถ้ามันจะมาก็ปล่อยมันมาไป

ใจเราสักแต่ว่ารู้เฉยๆ ไป แล้วเราจะไม่ทุกข์

กับเหตุการณ์ต่างๆ เราก็จะหลุดพ้น

 จากความทุกข์ปวง

 หลุดพ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย

 เหมือนกับที่พระพุทธเจ้า

และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย

ได้หลุดพ้นกัน

 ท่านหลุดพ้นด้วยการดึงใจเข้าข้างใน

เพื่อให้เห็นอริยสัจ ๔

 ให้เห็นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

 แล้วก็ให้ทำหน้าที่ในพระอริยสัจ ๔

คือให้ละสมุทัย แล้วให้เจริญมรรคให้มากๆ

 เพื่อที่จะทำให้ความทุกข์นั้นดับไป

ก็มีเท่านี้เรื่องของการปฏิบัติในพุทธศาสนา

 ก็คือเรื่องดึงใจเข้าข้างในนี่เอง

 ตอนนี้ใจเราชอบออกไป เพ่นพ่านข้างนอก

เหมือนหมาที่เราเลี้ยงอยู่ชอบหนีออกไปนอกบ้าน

 ไปเที่ยวที่นั่นที่นี่แล้วก็ไปกัดกับตัวนั้นตัวนี้

กลับมาก็ร้องห่มร้องไห้

 พวกเราก็เหมือนกัน

ชอบออกไปหาลาภยศ สรรเสริญ

หารูปเสียงกลิ่นรสกัน

แล้วเดี๋ยวสูญเสียลาภยศ สรรเสริญ

เสียรูปเสียงกลิ่นรสกันไปก็ร้องห่มร้องไห้กัน

เราต้องดึงใจของเรา อย่าให้ออกไปเที่ยวนอกบ้าน

 นอกใจ ดึงใจไว้ข้างใน อยู่ในใจนี้เป็นที่ปลอดภัย

 เป็นที่ให้ความสุขกับเรา อย่างแท้จริง

ไม่ต้องไปหาความสุขนอกบ้าน

 สอนใจที่เป็นเหมือนสุนัขที่ยังโง่อยู่

ชอบหนีออกไปเที่ยวเรื่อย ดึงกลับเข้ามา

ดึงด้วยสติ ดึงด้วยศีล

ดึงด้วยสติด้วยสมาธิด้วยปัญญา

 พอเราสามารถดึงใจให้อยู่ข้างใน

 จนมันไม่มีความอยากจะออกข้างนอกแล้ว

ใจก็จะเย็นสบายไปตลอด ไม่มีความทุกข์

ไม่มีเรื่องวุ่นวายใจต่างๆ

เข้ามารบกวนใจอีกต่อไป

ใจก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง

 ใจก็จะถึงพระนิพพาน

ที่มีแต่ความสุข เพียงอย่างเดียว

นี่คือผลที่เกิดจากการที่เราเห็นอริยสัจ ๔ กัน

เห็นด้วยการเจริญสติ เห็นด้วยการนั่งสมาธิ

 เห็นด้วยการเจริญปัญญา 

นี่คือทางเดียวเท่านั้นที่จะพาให้เราได้หลุดพ้น

จากความทุกข์ทั้งหลายได้

ยุติการเวียนว่ายตายเกิดไม่มีทางอื่น

 มีทางนี้ทางเดียวเท่านั้น


พระอาจารย์ สุชาติ อภิชาโต




ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 23 พฤศจิกายน 2559
Last Update : 24 พฤศจิกายน 2559 5:25:02 น.
Counter : 567 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ