bloggang.com mainmenu search
สถานที่ท่องเที่ยว : วัดบวกครกหลวง, เชียงใหม่ Thailand
พิกัด GPS : 18° 46' 46.50" N 99° 2' 17.91" E

ดูแผนที่เพิ่มเติม




ตั้งใจไว้ว่าโพสบล็อกท่องเที่ยวในวันศุกร์ที่แล้ว  แต่คุณชายเกิดไอเดียวจะไป  “ตามรอยละครกรงกรรม”  ที่อำเภอชุมแสง  จังหวัดนครสวรรค์  เลยใช้เวลาว่างอันน้อยนิดในวันศุกร์ทั้งวันในการหาข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวและร้านอาหารเลยไม่ได้โพสบล็อกเลยครับ  เลยโอนมาโพสวันนี้ซะเรยย
 

 
วันนี้จะพาไปเที่ยววัดสำคัญของเมืองเชียงใหม่ที่มีความสวยงามของจิตรกรรมฝาผนังภายในพระวิหารกันครับ
 
 



วัดบวกครกหลวง  ท่าศาลา เชียงใหม่




 
วัดบวกครกหลวง  ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าศาลา  อำเภอเมือง  เชียงใหม่  .... ถ้าจะบอกพิกัดง่ายที่สุดก็คืดวัดที่อยู่ติดกับโรงแรมดาราเทวีครับ
 
 

วัดบวกครกหลวง  เป็นวัดที่มีความเก่าแก่วัดหนึ่งของเชียงใหม่  ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใด  ชาวบ้านเล่าต่อๆกันมาว่าเดิมชื่อว่า  “วัดม่วงคำ”  แต่ชาวบ้านกลับนิยมเรียกว่า  “วัดบวกครกหลวง”  มากกว่า  เพราะสภาพทางภูมิศาสตร์ที่มีหลุมใหญ่อยู่บริเวณนี้  (บวกครก = หลุม , หลวง = ใหญ่)  มีเรื่องเล่าต่อๆกันมาว่าสมัยหนึ่งเชียงใหม่เกิดข้าวยากหมากแพง  เจ้าเมืองจึงสั่งให้ขุดหลุมใหญ่เพื่อเอาข้าวปลาอาหารมาใส่เพื่อให้ชาวเมืองได้เอาไปประทังชิวิต  


 
ถึงแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานปรากฏชัดว่าวัดบวกครกหลวงสร้างในสมัยใด  แต่มีหลักฐานว่าในสมัยของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 9 ได้ทำการบูรณะวิหารวัดบวกครกหลวง โดยเฉพาะจากเจ้าราชภาคิไนย (แผ่นฟ้า) บิดาของเจ้าจามรี ชายาของเจ้าแก้วนวรัฐ ได้ทำการบูรณะวิหารครั้งใหญ่ ซึ่งปรากฏหลักฐานที่หน้าบัน ระบุปี  พ.ศ.2468 ซึ่งเป็นปีที่บูรณะ และต่อมามีการบูรณะอีกครั้งในปีพ.ศ. 2498 มีการเทพื้นวิหารและซ่อมแซมโครงสร้างภายในก็ปรากฏหลักฐานที่ฐานของพระวิหารด้วย

 
โครงสร้างของวิหารเป็นไม้ผสมปูน หลังคาเป็นหลังคาจั่วซ้อนสามชั้น ด้านหน้าทำเป็นมุขโถงยื่นออกมาคลุมราวบันได ซึ่งทำเป็นมกรอมนาค  ตัวนาคมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์มากคือปากนาคมีลักษณะเหมือนจะงอยปากนกแก้วทำด้วยปูนปั้นประดับกระจก  ซึ่งนาคที่มีปากเหมือนจงอยปากนกแก้วนี้หาดูได้ยาก  ...  จะมีอีกที่นึงที่เจ้าของบล็อกพอจะนึกออกก็คือนาคราวบันไดวิหารวัดโลกโมลี  นอกคูเวียง  เชียงใหม่ครับ  ที่มุมวิหารทำเป็นปูนปั้นรูปเทพพนมยืน


 
ปั้นลมเป็นนาคลำยอง หางหงส์ทำเป็นหัวนาคปิดทองประดับกระจกสี ราวโก่งคิ้วด้านหน้าเป็นไม้แกะสลักปิดทอง หน้าบันเป็นไม้แกะสลักเป็นลายก้านขดปิดทองแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมคล้ายฝาปะกน เครื่องบนของเพดานเปิดให้เป็นโครงสร้างไม้และเสารับน้ำหนักของหลังคา


 
หลังคาวิหารเป็นหลังคาซ้อนกัน 3 ชั้น ประดับด้วยกระเบื้องดินเผา มีช่อฟ้าและหางหงส์ เป็นรูปนาคตามคติชาวล้านนาที่เชื่อว่า วิหารเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ ต้องมีนาคคอยดูแลอยู่ จึงมีการประดับตกแต่งวารด้วยนาค ส่วนลานทรายที่อยู่รายรอบวิหารหรือศาสนสถานอื่น ๆ ของล้านนาเปรียบเสมือนว่าเป็นน้ำหรือนทีสมุทร ดังนั้นจะเห็นว่า ทางเข้าด้านหน้าวิหารทำเป็นราวบันไดรูปมกรคายนาคด้วยและนาคที่นี่ก็มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว ส่วนมุขโถงด้านหน้าวิหารเป็นการสร้างขึ้นมาใหม่ในสมัยที่มีการบูรณะ


 
หน้าบันวิหารเป็นหน้าบันสลักไม้แบ่งเป็นช่องแบบฝาปะกน แต่ละช่องแกะลายประดับกระจกสวยงาม และมีจารึกบอกปี พ.ศ. 2468 สันนิษฐานว่าเป็นปีที่มีการบูรณปฏิสังขรณ์ ผนังด้านนอกของตัวอาคารจะมีปูนปั้นรูปเทพพนมประดับอยู่ตามมุม ด้านบนเป็นคันทวยลักษณะเป็นสามเหลี่ยม ทำด้วยไม้ มีอยู่ 2 ลายคือ คันทวยด้านหน้าทั้งสองข้างทำเป็นรูปหนุมานเหยียบเมฆ ส่วนในตำแหน่งอื่น ๆ จะเป็นลายเมฆไหลท่านั้น


 
วิหารวัดบวกครกหลวงเดิมทีเป็นอาคารโถงเช่นเดียวกับอาคารล้านนาทั่วไป ซึ่งสถาปัตยกรรมล้านนาส่วนใหญ่จะเน้นให้เห็นโครงสร้างของไม้และเครื่องบนหลังคาใช้เสาในการรับน้ำหนักของหลังคาทั้งหมด โดยเฉพาะโครงสร้างไม้แบบม้าตั่งไหมซึ่งเป็นการสร้างตามคติดั้งเดิมอันเป็นลักษณะเฉพาะของล้านนา จึงจะเห็นว่าภายใจวิหารวัดบวกครกหลวงนี้จะมีเสาขนาดใหญ่อยู่กลางวิหารถึง 12 ต้น ภายหลังจึงได้มีการทำผนังทึบขึ้นมา 3 ด้านคือ ด้านข้างและด้านหลังโดยก่ออิฐถือปูนถึงคอสอง แต่มิได้เป็นการรับน้ำหนักอาคาร มีประตูด้านข้างทำเป็นมุขยื่นออกมา  ส่วนด้านหน้าเปิดโล่งไว้ และต่อมาได้มีการสร้างประตูบานใหญ่ขึ้นด้านหน้าเพื่อป้องกันโจรผู้ร้าย ประตูนี้มีการแกะสลักเป็นรูปทวารบาลปิดทองอย่างงดงาม

 
จากแผนผังวิหารแห่งนี้จะเห็นได้ว่าเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหน้าและด้านหลังมีการลดขนาดความกว้างของห้องเป็น 3 ช่วง เพื่อให้สอดคล้องกับชั้นลดของหลังคา ด้านหลังทำเป็นฐานชุกชีไว้ประดิษฐานพระประธาน และพระพุทธรูป





















 
ด้านข้างพระประธานประจำพระวิหารเป็นที่ตั้งธรรมาสน์คาดว่าจะสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างวิหาร มีลักษณะเฉพาะตามแบบล้านนา เป็นรูปทรงปราสาท ประดับตกแต่งด้วยลายพันธุ์พฤกษา และยังมีสิ่งที่ถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งที่จะพบได้ในวิหารล้านนาทั่วไปคือ สัตตภัณฑ์ อันเป็นเครื่องสักการบูชาภูเขาทั้ง 14 ในไตรภูมิตามความเชื่อของชาวล้านนา จะใช้กันในวันพระหรือวันสำคัญทางศาสนาโดยชาวบ้านจะนำเทียนมาจุดบนสัตตภัณฑ์นี้ มีลักษณะสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ตรงกลางทำเป็นรูปเทพพนมและมีลายพันธุ์พฤกษา ด้านหลังรูปเทพพนมประดับแก้วอังวะ (กระจกจีน) ด้านข้างทำเป็นรูปมกรคายนาค สัตตภัณฑ์นี้จะตั้งอยู่ด้านหน้าสุดของพระประธานอีกต้องพยายามจ้องกันหน่อยนะครับ








 



นอกจากวิหารแล้วที่วัดบวกครกหลวงแห่งนี้ยังมีอาคารเสนาสนะอื่น ๆ ที่น่าสนใจคือ อุโบสถที่มีรูปทรงสถาปัตยกรรมล้านนา พระอุโบสถอยู่ด้านข้างพระวิหารเยื้องมาทางด้านหลัง  เป็นทรงล้านนา  ที่หน้าบันระบุปี  2549  น่าจะเป็นปีที่บูรณะเพราะยังใหม่อยู่ 











เจดีย์ทรงปราสาทพระเจดีย์อยู่ด้านหลังพระวิหาร  เป็นเจดีย์ทรงปราสาทขนาดย่อมๆ บุทองจังโก้ทั้งองค์บนฐานเขียงทรงสี่เหลี่ยม  ต่อด้วยทรงปราสาทย่อมุมทั้งสี่ด้าน  แต่ละด้านมีซุ้มจรนำประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งทั้งสี่ทิศ  องค์เจดีย์มีลักษณะคล้ายพระธาตหริภุญไชยแต่มีขนาดที่ย่อมกว่ามาก  เหนือองค์ระฆังมีบัลลังก์  ปล้องไฉน  ประดับฉัตรแบบพม่า













หอไตรอยู่ด้านข้างพระวิหาร  เป็นหอไตร  2  ชั้น  ชั้นล่างสร้างด้วยปูนส่วนชั้นบนเป็นไม้  ที่หน้าบันระบุปี  2439   น่าจะเป็นปีที่สร้าง  และ  2545  น่าจะเป็นปีที่บูรณะ






 
จุดเด่นของภาพ
จิตรกรรมฝาผนังที่วัดบวกครกหลวงเขียนเรื่องราวพุทธประวัติและทศชาติชาดก ทั้งหมด 6 เรื่อง คือ เตมียชาดก สุวรรณสามชาดก เนมิราชชาดก มโหสถชาดก วิธูรบัณฑิตชาดก และเวสสันดรชาดก  จำนวน 14 ห้อง รอบ ๆ วิหารระหว่างช่องเสา  ภาพแต่ละส่วนจะอยู่ในกรอบซึ่งเขียนเป็นลายล้อมกรอบด้วยลายสีน้ำเงิน แดง และขาว สำหรับเรื่องที่เขียนนั้นทางทิศเหนือเป็นภาพชาดก เรื่องมโหสถชาดก ส่วนทางทิศใต้เป็นเรื่องทศชาติชาดก เป็นฝีมือช่างชาวไทใหญ่ที่ละเอียดประณีต
 

ภาพจิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดบวกครกหลวงมีลักษณะของภาพแสดงให้เห็นถึงลักษณะนิยมของท้องถิ่น ที่มีจุดเด่นที่เป็นภาพเขียนที่ใช้สีสันสดจัดจ้าน ท่าทีการเขียนภาพของช่างนิยมใช้พู่กันป้ายแต้มอย่างมีพละกำลังแฝงอยู่ภายในด้วย รอยพู่กันแสดงอารมณ์ที่ลิงโลด คึกคะนอง สนุกสนาน และปาดสีอย่างมันใจเด็ดเดี่ยว โดยเฉพาะบริเวณส่วนที่เป็นฉากธรรมชาติ เช่น เนินเขา โขดหิน และลำน้ำ ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วสิ่งเหล่านี้ล้วนมีรูปร่างเป็นอิสระ เลื่อนไหล คดเคี้ยว เมื่อผนวกเข้ากับความต้องการของผู้วาดที่ใช้พู่กันและสีแท้ ๆ สดในอย่างอิสระแล้ว นับเป็นฉากธรรมชาติที่มีชีวิตชีวา ไม่ดูจืดชื้ดยิ่งนัก นอกจากนั้นแล้ว วิธีการเน้นความน่าสนใจของภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดบวกครกหลวงคือ นิยมใช้กรอบรูปคล้ายภูเขา ระบายสีพื้นในด้วยสีดำ ขอบนอกเป็นแถบสีเทาและตัดเส้นด้วยสีดำ ส่วนเส้นนอกกรอบเลื่อนไหลล้อกับรูปนอกของตัวปราสาทด้วย

 
สำหรับสีที่ใช้ในจิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดบวกครกหลวงนี้พอจะจำแนกได้ 6 กลุ่ม คือ กลุ่มสีคราม สีแดงชาด สีทอง สีเหลือง – น้ำตาล สีดำ และสีขาว    ดังนั้นจิตรกรรมฝาผนังวัดบวกครกหลวงจึงถือเป็นงานฝีมือของช่างไทใหญ่ที่ได้ถ่ายทอดถึงชีวิตพื้นบ้านรูปแบบสถาปัตยกรรมและการแต่งกายแบบพม่าและไทใหญ่ไว้ด้วย เช่น ถ้าเป็นการแต่งกายของชาวบ้านจะมีลักษณะเป็นแบบคนพื้นเมือง แต่ถ้าเป็นเจ้าก็จะเป็นการแต่งกายแบบพม่าหรือไทใหญ่ รวมถึงข้าวของเครื่องใช้แบบชาวเมืองก็ยังมีให้เห็นอยู่ในภาพด้วย เช่น จุนโอ๊ก, ขันชี่ (ขันเงิน, ขันทอง) ซึ่งเป็นเครื่องใช้ของชาวล้านนา ผ้าซิ่นแบบคนเมือง หรือผ้าห่มคลุมตัวเวลาหนาวที่เรียกว่า ตุ้ม ด้วย ซึ่งลักษณะของจิตรกรรมฝาผนังวัดบวกครกหลวงนั้นจึงเป็นลักษณะพิเศษของจิตรกรรมล้านนา โดยอาจมีข้อแตกต่างหรือคล้ายกันกับจิตรกรรมที่ภาคกลางด้วย
 
 
 

 
 


 
วัดบวกครกหลวง  เป็นวัดเก่าแก่ที่มีจิตรกรรมฝาผนังสวยงามมากๆและมีสิ่งต่างๆน่าชมอีกเยอะเลย  ถ้าได้มากินขนมที่ร้านขนมของโรงแรมดาราเทวีแล้วละก็อย่าลืมแวะมาไหว้พระทำบุญเพื่อเป็นสิริมงคลและยังได้ชมภาพจิตรกรรมฝาผนังสวยๆด้วยนะครับ  วัดอยู่ติดกับโรงแรมเลยครับ 











อีกช่องทางหนึ่งในการติดตาม “ทนายอ้วนพาเที่ยว” นะครับ




Chubby Lawyer Tour - ทนายอ้วนพาเที่ยว


https://www.facebook.com/ChubbyLawyerTour/






Chubby Lawyer Tour ………….. เที่ยวไป............. ตามใจฉัน
 




 
136135134
Create Date :20 พฤษภาคม 2562 Last Update :20 พฤษภาคม 2562 20:39:22 น. Counter : 1709 Pageviews. Comments :19