Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2564
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
11 ธันวาคม 2564
 
All Blogs
 
Ladakh 2019 - หมู่บ้าน Rumbak ที่อ่านว่า รุมบัค




รถรับจ้างจากเลห์วิ่งตรงเข้ามายัง Spituk ข้ามผ่านแม่น้ำสินธุเพื่อตรงไปยังเส้นทางที่สร้าง
ลัดเลียบเขาไปยัง Zinchen (ที่เรียกว่าถนน Spituk - Zinchen) ผ่าน Phey และที่ตั้งของ
SECMOL CAMPUS ที่มองเห็นได้จากฟากตรงข้าม ซึ่งเมื่อหลุดไปจากนี้แล้ว รถก็จะหักเลี้ยว
เพื่อเข้าโค้งวกไปวนมาบนไหล่ทางแคบ ๆ ก่อนที่จะพาไปส่งยังจุดที่รถสามารถวิ่งเข้าไปถึง
ได้มากที่สุด 
https://goo.gl/maps/dWWcypf3szqEt1UdA


เขาว่ากันว่า การเทรกในระยะสั้น ๆ จาก Zinchen ไปยังหมู่บ้าน Rumbuk ถูกหั่นย่นย่อให้สั้น
ลงเยอะแล้วด้วยการปรับทางใหม่ให้รถรับจ้างวิ่งเข้าถึงได้มากกว่าเมื่อก่อน  ช่วงสิบเอ็ดโมงเศษ
ที่เริ่มลงเท้าเดินจ้ำเข้าพื้นที่เองในสภาพบรรยากาศใกล้เที่ยงวัน ความแห้งแล้งของภูมิประเทศ
ที่แวดล้อมไปด้วยภูเขาทะเลทราย แม้ว่าฟากหนึ่งของเส้นทางจะมีลำธารสายเล็ก ๆ ไหลผ่านให้
พอแวะพักไปวักน้ำลูบหน้าให้หายเหนื่อยบ้าง แสงแดดที่แรงจัดช่วงนี้เหมือนพร้อมทำหน้าที่เผา
มอดไหม้ผู้เดินทางให้เหือดระเหยจนใกล้เป็นสภาพเดียวกับผลไม้ตากแห้งที่พกติดมายังไงงั้น

เส้นทางระหว่างเดินที่จริงก็ไม่ได้ดูร้างจากผู้คนสักเท่าไหร่ เมื่อไปได้ครึ่งทาง จะมีจุดตั้งเต็นท์
ทรงกระโจมสูง 3-4 หลัง มีเขียนป้ายติดไว้ว่าเป็นร้านอาหาร น่าเสียดายที่เจ้าของกิจการดังกล่าว
หายไปไหนก็ไม่รู้ เราเลยไม่ได้หนีร้อนเข้าไปหลบพักจิบชาตามอย่างที่คิดไว้  นอกเหนือไปจากนี้
ก็ยังมีเต็นท์ที่กางทิ้งไว้ตามจุดอื่นให้เห็นตามรายทาง มันไม่ใช่จุดตั้งแคมป์ของนักเดินทางแต่กลับ
เป็นของคนงานที่มาทำพื้นที่ถนนหรือเคลียร์ไหล่ทางที่ดูระเกะระกะไปด้วยหิน โดยนำหินเหล่านั้น
มาจัดระเบียงวางกองรวมเป็นเขตแนวยาว และมัดตรึงด้วยตะแกรงลวดเหล็กเพื่อป้องกันไม่ให้มัน
ร่วงพังลงมา   

สัตว์ประจำถิ่นเท่าที่เห็นผ่านตาแถวนี้ถ้าไม่นับ ลา ก็มี Himalayan Pika โผล่มาตัวนึง
กับ Himalayan Snowcock ที่ยกโขยงลงมายังแหล่งน้ำกันเป็นฝูง ส่วนเรื่องร่มไม้เนี่ย
แทบไม่ต้องพูดถึงโดยมากก็มีแค่ไม้พุ่มเตี้ยเท่านั้น แต่ยังดีที่ดอกของมันมีน้ำมันหอมระเหย
ให้ได้ขยี้ดมแทนยาดม   ของกินที่พอเด็ดกินได้ก็มีผลสีแดงจากต้นกุหลาบป่า สามารถกัดกิน
แค่บริเวณผิวเปลือกนอกเท่านั้น ให้พอรู้รสฝาด ๆ คล้ายกับเปลือกฝรั่งที่ยังไม่สุกดี แล้วก็ยังมี
ผลไม้รสเปรี้ยวอย่าง Seabuckthorn ที่ขึ้นเป็นดงตามทางอีก ใจจริงก็อยากเรียนรู้การเก็บหา
ของกินตามป่าตามแหล่งธรรมชาติอย่างที่เขาเรียกว่า Foraging เป็นบ้าง คงสนุกดีถ้ารู้ว่าพืช
ชนิดไหนกินได้หรือตัวไหนกินไม่ได้ 

เป็นความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ อีกแบบนึงที่หา(กิน)ได้ระหว่างเดินทาง ในพื้นที่แห้งแล้งแบบนี้
ก็เหมือนกับเวลาที่เราไปอยู่ค่ายแล้วเห็นมี ฝักมะขาม ลูกมะม่วง ออกบนต้นแล้วนึกอยากไป
สอยเพื่อเก็บกินกันขึ้นมา ทั้ง ๆ ในชีวิตปกติ ไม่เคยคิดจะซื้อมากินด้วยซ้ำ 

 

เพื่อนร่วมทางอีกหนึ่งกลุ่มที่ต้องหนีไปให้ไวก็คือเหล่าฝูงลาที่ไล่เดินตามกันมาพร้อมคนคุม
ทำหน้าที่แบกขนข้าวของเข้ามายังพื้นที่ด้านใน เนื่องจากไม่มีถนนเชื่อมต่อเข้ามาได้นั่นเอง
เมื่อพวกมันเดินไล่ระยะประชิดมาเรื่อย ๆ ความคิดที่จะชะลอฝีเท้าเพื่อหลีกทางให้อาจเสีย
เวลามาก เพราะหลังจากที่ฝูงลาเดินผ่านไปแล้วก็ต้องทิ้งช่วงให้ห่างไปพักใหญ่  หากไม่
อยากชิมฝุ่นที่ฟุ้งตลบไล่หลัง



ในเวลาบ่ายโมงกว่า ๆ ตัวหมู่บ้านที่เป็นจุดหมายปลายทางของเราก็ปรากฏให้เห็นเสียที
มันมีขนาดเล็กมาก แม้จะดูไม่มีอะไรพิเศษ  แต่มันก็เป็นจุดแวะพักกลางทางสำหรับคนที่จะ
เดินทางไกลไปยัง Stok (โดยผ่านช่องเขา Stok la) จึงไม่น่าแปลกใจ  ที่คนหมู่บ้านนี้จะแบ่ง
พื้นที่ห้องสำหรับรองรับผู้มาเยือนไว้ เราเข้าพักกับบ้านหลังหนึ่งที่คุณยายเจ้าบ้านมีพื้นเพเดิม
เป็นคนจากหมู่บ้าน Sakti

ได้ยินแล้วก็แอบสงสัยว่า แกแต่งงานออกเรือนมาอยู่ที่นี่ได้ยังไงกัน
ถ้านึกถึงว่าคนสมัยก่อนเขาไปมาหาสู่ข้ามหมู่บ้านด้วยการเดินเท้าแบบนี้เนี่ย 
       





⭗  หมู่บ้านกลางทางที่ชื่อว่า Rumbak  


 

⭗  เจอเรเนียม ดอกสีแดงสดที่ชูกิ่งออกมารับแสงริมหน้าต่าง ไม้ประดับยอดนิยมของคนแถวนี้ ไปที่ไหน ๆ ก็เจอแทบทุกบ้าน



⭗  พื้นที่นาข้าวหลังช่วงเก็บเกี่ยว 



⭗ ทางเดินเลียบเขาทิศนี้สามารถเชื่อมต่อไปยัง Stok ได้ ชาวบ้านบอกว่าใช้เวลาเดินราว 5 ชม. (อิงจากกำลังขาของคนท้องถิ่น)




⭗  กลุ่มเจดีย์เก่าที่สร้างอยู่ตรงกลางทางเดินบนเนินเขา 






ลา สัตว์ที่ต้องเลี้ยงเพื่อเอาไว้ใช้งานแบกขน มันคือพาหนะขนส่งที่สำคัญของที่นี่



⭗ แนวกำแพงหิน ที่แบ่งเขตกั้นสำหรับเลี้ยงสัตว์ 




⭗ คุณยายกำลังรีดแผ่นแป้งเพื่อเตรียมทำอาหารมื้อค่ำ

 
ค่ำนี้อาหารที่ทางบ้านพักทำให้ก็คือเมนูท้องถิ่นที่ชื่อว่า Chu Tagi มันเป็นเมนูที่เรียบง่ายไม่ค่อยมีขั้นตอนอะไร
มากมายนัก ยกเว้นแต่ตอนจับแผ่นแป้งให้เป็นรูปทรงก็เท่านั้น ผักสวนครัวที่ใช้ทำอาหารอย่าง ปวยเล้ง  แครอท 
ถั่วลันเตาหวาน กระหล่ำดอก ก็จะถูกนำลงไปต้มใส่ในซุปด้วย เราได้โปรตีนจากชีสแห้งที่เรียกว่า Churpi แทน
เนื้อสัตว์ โดยปกติแล้วก็ไม่ค่อยเห็นคนในหมู่บ้านนอกเมืองทำอาหารที่ใช้เนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบสักเท่าไหร่
เพราะหากต้องออกไปซื้อมากักตุน คงละเป็นเรื่องที่ดูลำบากพอสมควร จากที่สังเกตไม่มีบ้านไหนมีตู้เย็นไว้แช่
อาหาร พวกผักสด ๆ ที่ได้กินก็มาจากในสวนหน้าบ้านทั้งนั้นเป็นวิถี Self-sufficiency ที่ดูเป็นรูปธรรมชัดเจนมาก
สำหรับการใช้ชีวิตในพื้นที่ห่างไกลเช่นหมู่บ้านกลางเขาแบบนี้ 

แต่ว่าหากพูดปัจจัยห้าอย่างเงิน พวกเขายังต้องการมันอยู่มั้ย
แน่นอนว่าใช่ รายได้จากการทำโฮมสเตย์ก็นับว่าเป็นกำไรที่งดงามอยู่ไม่น้อย
ข้าวของเครื่องใช้บางอย่างที่ทำขึ้นมาเองไม่ได้ การเดินทางเข้าเมือง ค่าเทอมลูก
ค่าน้ำมัน เสื้อผ้า รองเท้า ค่ารักษาตัวยามเจ็บป่วย ฯลฯ  มันก็ต้องใช้เงินแลกเปลี่ยนอยู่ดี


สมาชิกในบ้านหลังนี้   นอกเหนือไปจากคุณยายและสามี (ลูกชายแกไปทำงานในเลห์) ก็ยังมีลูกสะใภ้
กับหลานตัวเล็กวัยหัดพูดที่เพิ่งจะเข้ามาร่วมนั่งกินข้าวด้วยกัน  พวกเขาปรับจูนช่องโทรทัศน์เพื่อดูข่าว
หลังจบมื้อค่ำ  เจ้าตัวเล็กก็เดินต๊อกแต๊กมาเล่นด้วยพร้อมกับลูกบอลเป่าลม โยนส่ง โยนรับ กับเรา
หัวเราะเอิ๊กอ๊ากอย่างมีความสุข  เราก็ไม่รู้ว่ามันสนุกตรงไหนนะ เด็กคงไม่ได้คิดอะไรซับซ้อนมาก ได้
วิ่งเล่นได้มีเพื่อนใหม่ ได้หัวเราะ แค่นี้ก็ดูเหลือเฟือแล้วละมั้ง

แล้วอยู่ ๆ ก็มีสิ่งหนึ่งที่ขโมยบรรยากาศนี้ไปได้ มันเป็นเสียงเลียนแบบที่ดังมาจากโทรศัพท์ของแม่ที่
เปิดแอปหนึ่งขึ้นมา น้องวิ่งแจ้นไปดูหน้าจอที่มีรูปการ์ตูนแมวหน้ากวน ๆ มันคือแมวทอมใน Talking
Tom Cat นั่นเอง จากนั้นความสนุกของเจ้าหนูก็หันเหไปอยู่กับโทรศัพท์มือถือ 

ใช่...ในเช้าวันถัดมาน้องก็ลืมเราไปเลย
เจ้าหนูกำลังสนุกกับเกมบนหน้าจอโทรศัพท์
ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกับเด็ก ๆ หลายคนบนโลกนี้

แม้แต่พื้นที่ชนบทห่างไกลเมืองและถนน พวกเขาก็ยังคงต้องการเทคโนโลยี
เงินตรา สิ่งบันเทิง และความสะดวกสบาย เหมือนกับมนุษย์โลกพึงมีนั่นแหละ
ก็แล้วแต่ว่าพวกเขาจะอนุญาตให้มันเข้ามามีบทบาทและอิทธิพลในการกำหนด
ชีวิตมากน้อยแค่ไหน
​​​​​​
​​​




⭗ กิจวัตรยามเช้าของคุณยาย ตื่นมาก็ต้องตรงไปยังคอกสัตว์เพื่อรีดนมโซโม่ (Dzomo เป็นชื่อเรียกลูกผสมระหว่างวัวกับจามรี
ที่เป็นตัวเมีย) น้ำนมที่ได้ก็จะถูกนำมาใช้บริโภคกันในครัวเรือนกันแบบวันต่อวัน ส่วนผู้หญิงที่ยืนอยู่ด้านนอกกำลังยืนรองน้ำ ที่
ไหลผ่านมาจากจุดปล่อยน้ำของหมู่บ้าน





ชื่อแปลก ๆ 

ก่อนออกจากที่พักเพื่อเดินทางกลับเลห์  เจ้าบ้านได้ส่งแฟ้มหนาเล่มหนึ่งมาให้เขียน
มันเป็นเอกสารสำหรับกรอกแบบสอบถามและข้อมูลนักท่องเที่ยวที่จะทำการรวบรวมส่ง
ให้กับทางการภายหลัง

ด้วยความอยากรู้ เราพลิกเปิดหน้าอื่น ๆ ดูรายชื่อผู้เคยเข้าพักในนั้น เพื่อมองหาคนไทย
ก็พบว่ามีอยู่จำนวน 3-4 รายชื่อที่มาด้วยกัน เมื่อหลายเดือนก่อน พอไล่อ่านไปจนถึงชื่อ
ที่น่าจะอ่านว่า 'นำโชค' ก็ทำให้เกิดหัวข้อพูดคุยขึ้นมาซะงั้น 

"มีคนชื่อว่า นัม-ชก ด้วยเหรอ?"

ก็แปลกดีที่ชื่อคนไทยรายอื่นกลับไม่มีใครรู้สึกตื่นเต้นเท่าชื่อของคุณนำโชค 
เราแปลแบบคร่าว ๆ ถึงความหมายในภาษาไทยที่น่าจะตรงกับคำว่า Lucky

ก่อนได้คำเฉลยในภาษาลาดัก ที่ว่า Namchok  แปลว่า หู

แม้การออกเสียงจะไม่ได้เหมือนจนชัดเจนนักระหว่าง นัมชก กับ นำโชค
ชื่อภาษาไทยของคุณหู เอ๊ย คุณนำโชค คงเป็นที่จดจำง่ายดีสำหรับคนลาดัก


เช่นเดียวกัน ชื่อหมู่บ้าน 'รุมบัค' เราก็ไม่รู้ว่าเกณฑ์ในการตั้งชื่อนั้นมีที่มายังไง
แต่ก็แอบนิสัยเสียไปเรียกเป็นภาษาไทยว่า ลำบาก (จากตอนแรกที่ดันเผลอไปอ่าน
Rumbak เป็น รัม-บาก)  และด้วยเหตุที่ว่ามันเดินเข้ามาถึงยากมากมายเสียเหลือเกินด้วย
ก็เลยจำติดปากกับชื่อเรียกผิด ๆ แบบนี้โดยอัตโนมัติ  และความหมายของมันคงเพี้ยนไป
ไกลกว่าชื่อต้นฉบับ มั่นใจเลยว่าหากบอกไปพวกเขาคงไม่น่าจะปลื้มสักเท่าไหร่

 




เดินย้อนกลับไปยังเส้นทางเก่าในเช้าวันถัดมา 


ขากลับเราย้อนมายังเส้นทางเดิมนั่นแหละ ดีตรงที่ตอนเช้าไม่ค่อยร้อนมากแถมภูเขาฝั่งตะวันออกช่วยบังแดดไว้
ทำให้เดินแล้วไม่ค่อยเหนื่อย  หลังออกแรงย่ำเท้าไปไกลได้ไม่ถึงชั่วโมงก็ได้สวนทางกับรถรับจ้างที่วิ่งเข้ามาส่ง
ผู้โดยสารพอดี อีกสักพักหนึ่งรถคันนั้นก็ต้องวิ่งย้อนกลับไปยังเลห์ และนี่คือสัญญาณที่บอกเราว่าการเทรกได้สิ้น
สุดลงแล้วในครั้งนี้ 




 



Create Date : 11 ธันวาคม 2564
Last Update : 16 ธันวาคม 2564 11:18:12 น. 9 comments
Counter : 989 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณนายแว่นขยันเที่ยว, คุณmultiple, คุณnewyorknurse, คุณhaiku, คุณอุ้มสี, คุณทุเรียนกวน ป่วนรัก, คุณtoor36, คุณtuk-tuk@korat, คุณ**mp5**


 
ชื่อหมู่บ้านชื่อคนเรียกแบบไทยๆจำง่ายดี


โดย: สำรวจฟ้า IP: 1.46.159.10 วันที่: 12 ธันวาคม 2564 เวลา:19:00:32 น.  

 
โอ้ ไปหมู่บ้าน ลำบาก สมชื่อเลยเชียว 555

เส้นทางก็น่าจะสูงๆต่ำๆ ฝุ่นก็แยะ สองข้างทางก็ไม่มี 7-11 ซะด้วย
มีแต่น้ำในลำธาร นี่ถ้าพวกลา อยู่ต้นน้ำ ฉี่ออกมา แล้วเราไปกินละก็ คงชื่นใจน่าดู เย้ย 555

ส่วนเรื่องของกินกันตายตามข้างทางนี่ เค้าบอกว่า ให้สังเกต นก
ถ้านกกินได้ เราก็กินได้ แต่อย่าไปดูแล้วกินตาม อีแร้งละ เดี๋ยวจะเป็นปอบ เอา555

ส่วนโฮมสเตย์ ที่ไปพักนี่ หน้าต่างสีแดงสวยมาก อยากได้อีกแระ555 ดอกเจอเรเนียม ชื่อเหมือนธาตุ กัมมันตรังสีเลย แต่ดอกเหมือนกุหลาบมาก

แล้วก็อาหาร ชูตากิ นี่มีแป้งห่อ คล้ายๆเกี๊ยวน้ำเลยนะ
นี่ถ้าเราขอให้ยายเค้าใส่ มาม่า ต้มยำกุ้ง ลงไปด้วยละเด็ดเลยเชียว อิอิ

น้องฟ้า บอก เหรอ ข้าอุตส่าห์ถ่อไปถึงนู่น จะชิมอาหารพื้นถิ่นเค้าซักหน่อย
เอ็งยังจะให้ข้ากินมาม่าอีกเหรอ เดี๊ยะๆ 555

ว่าแต่ว่า ขากลับเดินเทรกรอบนี้ พอได้นั่งรถ ต้องควัก เคาน์เตอร์เพน แก้ปวดมานวดมั้ย อ่า สงสัยจัง 555





โดย: multiple วันที่: 13 ธันวาคม 2564 เวลา:4:04:56 น.  

 
จากบล็อก เพลงของเอลวิส นี่ หัดร้องก่อนเป็นเพลงแรกเลย ตอนที่
ทอด ไข่เจียวแซลมอน ส่ง คุณป้าโอ

ส่วนเพลง Bohemian Rhapsody นี่ หูย เดี๋ยวต้องไปไว้หนวด รีดพุงลดน้ำหนักซัก20โลก่อน ให้ไส้แห้งๆ555
แต่ยังไม่รู้จะร้องไหวมั้ย ให้เอลวิส มาร้องเพลง ควีน นี่นะ 555

แล้วเรื่องลิขสิทธิ์ นี่ก็แปลก เพลงฝรั่งเก่าๆอย่างในบล็อกนี่ไม่โดน
แต่เพลงไทยละก็ ไม่รอดซักกะเพลงเลยจ้า 555

ส่วนสัตว์เลี้ยง เคยแต่เลี้ยงหมาจ้า ส่วนสัตว์แปลกๆมีแต่ ของเพื่อนบ้าน ชอบหลุดมาอยู่บ้านเราทั้งนั้น 555

ขอบคุณที่แวะไปฟังเพลงด้วยกันน้า



โดย: multiple วันที่: 13 ธันวาคม 2564 เวลา:15:22:11 น.  

 
ตามมาอ่านต่อจ้า


โดย: อุ้มสี วันที่: 15 ธันวาคม 2564 เวลา:0:25:32 น.  

 
ไม่ใช่แค่ "รุมบัค" มั้ง อะไรชื่ออะไรที่ถอดเสียงมาเป็นอักษรโรมันนี่อ่าน "ลำบาก" แทบจะทุกชื่อแหละ ถ้าไม่ให้คนท้องถิ่นออกเสียงให้ฟังนี่เรียกชื่อไม่ถูกเลย ^^"
ชื่อคนไทยนี่ตัวดีเหมือนกัน ไม่ใช่แค่ชาวต่างชาติออกเสียงไม่ถูก คนไทยด้วยกันยังอ่านผึดผึก-ถืกถืกเลย เนี่ยไปโรงบาลฯ เจ้าหน้าที่ขานชื่อคนไข้ตั้งหลายทีไม่มีคนตอบ มาถึงบางอ้อ! จนท. อ่านชื่อไม่ถูก ส่วนคนฟังไม่แน่ใจก็เลยไม่ตอบรับ ไม่รู้ทำไมสงสัยชื่อคนไข้คนนั้นสะกดยากมั้ง :P


เรื่องเงินเข้ามาเป็นปัจจัยที่ห้าของมนุษย์ก็จริงนั่นแหละ ใคร ๆ ก็อยากมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นเรื่อย ๆ จากคนรุ่นก่อน ๆ ทั้งนั้น ถึงบ้านเกิดจะใช้ชีวิตแบบ Self-sufficiency ยังไง ก็ยังมีคนหนุ่มสาวออกไปทำงานหาเงินในเมืองเลย ^^


โดย: ทุเรียนกวน ป่วนรัก วันที่: 16 ธันวาคม 2564 เวลา:20:00:38 น.  

 
บางมุมนี่ภูเขาช่วยบังแดดให้เลยนะครับ ในภาพเหมือนลาทักทายเราเลย

เรื่องภาษาในภูมิภาคนี้มีการไหลกันไปมาตลอด น่าเชื่อว่าเราได้รับอิทธิพลจากทางเขามา บ้านเรารับอิทธิพลพวกนี้มาง่ายๆ ด้วย



เงินยังไงก็สำคัญจริงๆ แหละครับ เราไม่ได้ต้องการเงินหรอก แต่เงินมันใช้ในการแลกเปลี่ยนสิ่งที่เราต้องการได้ก็เท่านั้นเอง


โดย: คุณต่อ (toor36 ) วันที่: 16 ธันวาคม 2564 เวลา:22:55:11 น.  

 
"ฐูเฬียณฆ์" นี่สุดจริงแฮะ
คนไทยเห็นยังมึน คนต่างชาติไม่มีทางอ่านออกแน่นอน
ลองเอาไปให้ Google Translate อ่านออกเสียงดู
ออกมากลายเป็นอะไรก็ไม่รู้เหมือนไม่ใช่ภาษาไทย 55


โดย: ทุเรียนกวน ป่วนรัก วันที่: 17 ธันวาคม 2564 เวลา:21:31:25 น.  

 
ชอบชีวิตเรียบง่ายดีค่ะ แต่คงอยู่ไม่ได้


โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 19 ธันวาคม 2564 เวลา:14:53:04 น.  

 
แวะมาเยี่ยมและส่งกำลังใจครับ


โดย: **mp5** วันที่: 21 ธันวาคม 2564 เวลา:13:30:33 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

กาบริเอล
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 58 คน [?]




ชอบต้นไม้, แมว, หนังสือ
และออกเดินทางท่องเที่ยวบ้าง

ไม่ชอบพบปะผู้คนมากนัก
เป็นมนุษย์จำพวก introvert

การเขียนบล็อก
คืออีกพื้นที่บอกเล่าผ่านตัวอักษร
และตัวตนของเราก็อยู่ในสิ่งที่เขียนค่ะ

ขอบคุณ Bloggang
สำหรับพื้นที่แบ่งปันตรงนี้

....

เริ่มต้นลงบันทึกอย่างเป็นทางการ
ณ วันที่ 16 ม.ค. 2014


###ไม่สะดวกพูดคุยหลังไมค์นะคะ###

© ขอสงวนลิขสิทธิ์ ภาพถ่าย 
ห้ามนำไปใช้ ดัดแปลง แก้ไข 
โดยไม่แจ้งที่มา ก่อนได้รับอนุญาต


New Comments
Friends' blogs
[Add กาบริเอล's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.