Ladakh 2019 - Matho Monastery
"ที่ลาดัก ก็มีเพียงแค่นี้แหละ ภูเขาทะเลทราย แสงแดดที่แผดแรง แล้วก็ฝุ่น”
คุณลุงชาวลาดัก ผู้มายืนรอรถรอบเช้าบริเวณท่ารถได้คุยกับเรา เหมือนอยากสะท้อน มุมมองของเขาที่เห็นว่าองค์ประกอบส่วนใหญ่ของพื้นที่ราบสูงกึ่งทะเลทรายที่เห็นมา ตั้งแต่เกิดก็มีตามอย่างที่เห็นมาโดยตลอด ลุงคงไม่เข้าใจว่านักท่องเที่ยวอย่างเราจะ เดินทางมาจากที่ไกลแสนไกลจะมาดูอะไรที่นี่กัน
เที่ยวโดยสารรถบัสเล็กในเช้าวันนั้นมาช้ากว่าปกติเล็กน้อย ชาวเมืองหลายคนที่มา รอรถ ต่างอาศัยฟังจากเสียงประกาศที่ดังมาจากจุดไหนสักแห่งเป็นภาษาถิ่นที่เรา ฟังไม่ออก ในขณะที่ชาวต่างถิ่นอย่างเราจะรู้เพียงแค่เวลาเที่ยวโดยสารตามตาราง ที่จดไว้ คนขับมักจะมาเทียบท่าก่อน 15 นาที
การที่จะรู้ว่าคันไหนวิ่งไปที่ใดนั้นก็ดูจากป้ายหน้ารถที่ติดบอก ไม่ก็คงต้องเดินไปถาม หากเด็กรถเผลอลืมหยิบเอาป้ายมาวาง Matho คือสถานที่ลึกลับสำหรับเรา ไม่ว่าจะมารอที่ท่ารถกี่ครั้ง ๆ ก็ไม่เคยทันเห็น หรือพลาดเที่ยวรถดังกล่าวเสมอ งดวิ่งบ้าง ออกไปแล้วบ้าง ฯลฯ แต่ไม่ใช่กับหนนี้! หลังจากได้ขึ้นมาจับจองที่นั่งได้ ไม่นานนักรถก็เคลื่อนตัวออกไปจากท่ารถขนส่ง ไปยังทางทิศใต้ จอดรับผู้โดยสารเพิ่มจากจุดรอรถระหว่างทาง จำนวนคนบางส่วน จะเริ่มลดลงไปเมื่อถึงหน้าโรงเรียนแห่งหนึ่งไม่ไกลไปจากตัวเมืองเลห์ พวกที่ลงจากรถในระยะทางสั้น ๆ (ค่าโดยสารจะตกอยู่ที่ 10 รูปี) ก็จะหยิบเงินส่ง ให้คนขับโดยตรง หากไกลกว่านี้กระเป๋ารถเมล์ก็จะเริ่มทำหน้าที่เดินเก็บเงินตาม ที่นั่งโดยคิดเงินตามความใกล้ไกลที่ต่างกัน -- ค่ารถไปมาโธ : 40 รูปี ความจอแจและจำนวนคนที่อัดแน่นเป็นปลากระป๋องบนรถ อาจทำให้วุ่นวายในช่วงแรก พอทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง สามารถวิ่งยาว ๆ ได้โดยไม่ต้องแวะจอดบ่อย พี่คนขับก็ จะเริ่มเปิดเพลงเพื่อสร้างบรรยากาศผ่อนคลาย ซึ่งรูปแบบดังกล่าวก็มักจะเป็นเหมือน กันแทบทุกสายจนคาดเดาได้เสมอ แต่สำหรับเที่ยวรถไปมาโธคือเป็นข้อยกเว้น
ก่อนที่รถจะแวะเลี้ยวเข้าปั๊มเพื่อเติมน้ำมัน เราได้ยินเสียงของผู้หญิงรายหนึ่งเริ่มต้นท่อง อะไรบางอย่าง มันเหมือนบทอาขยาน ไม่ก็บทสวดมนต์ เมื่อมีเสียงที่สองและสาม ท่อง รับช่วงต่อ ผู้คนที่อยู่บนรถเกือบทั้งหมดก็เริ่มออกเสียงตามยังกับนัดกันไว้
ผู้โดยสารบนที่นั่งยาวไปลงจนถึงปลายทางรถส่วนมากเป็นผู้หญิง เมื่อรถเริ่มเลี้ยวลัดเข้าสู่ หมู่บ้านปลายทาง ก็จะหยุดจอดลงตรงที่หน้าโรงเรียน ตรงนี้เองที่หลายคนต่างทะยอยลง จากรถจนเกือบหมด พวกเขาต่างหายเข้าไปยังหลังรั้วโรงเรียน คงเป็นครูประจำโรงเรียน ที่นั่งรถมาทำงาน...
"ถึงมาโธแล้วจะไปลงที่ไหนครับ" พี่คนขับ หันมาถามถึงที่หมายของเรา เพราะใกล้จะสุดทางแล้ว เหลือคนบนรถเพียงสามราย และพวกเขาต่างก็คุ้นหน้ากันดี จะมีหน้าไม่คุ้นที่หลงมาหนึ่งรายเท่านั้น....โอเค นี่คือมุขเดิม ๆ ในลาดักของเรา ที่หากนึกถึงจุดลงรถไม่ออกก็จะบอกให้เขาลงจอดหน้าวัด
"ลงแถวทางขึ้นกอมปาก็ได้ค่ะ"
⭗ เนินเขา ที่ตั้งของ Matho Monastery เมื่อมองขึ้นมาจากจุดลงรถ
⭗ ถนนที่ตัดผ่านเข้าหมู่บ้าน เช้านั้นพบเจอประชากรอยู่แค่ไม่กี่ราย ระยะทางจาก Leh – Matho ไกลห่างกันเพียง 26 กม. แต่ด้วยตำแหน่งที่ตั้งของตัวหมู่บ้าน อยู่ห่างจากหน้าถนนเส้นหลักเช่นที่อื่น จึงดูไม่โดดเด่นนักและมีนักท่องเที่ยวค่อนข้างน้อย สิ่งหนึ่งที่เราลืมไปเสียสนิท ก็คือแถวนี้ไม่มีร้านอาหารเสียด้วย คนขับรถจอดให้เราลงบริเวณหน้าร้านขายของ ที่เป็นเพิงเล็ก ๆ แบ่งเป็น 4 ห้อง มีขนมกรุบกรอบ นม น้ำผลไม้ขายเท่านั้น
"บ่าย 4 กลับมาที่นี่" คนขับบอกเวลาที่รถจะตีกลับเลห์ให้รู้ แล้วจากนั้นเขาก็กลับรถหายไปหาที่หลบยังร่มเงาไม้สักที่ในบริเวณนี้
เรามองหาที่ตั้งของหมู่บ้านที่ต้องเดินลึกเข้าไปยังด้านใน แต่ก็เห็นจุดเลี้ยวที่เป็นเนินขึ้นวัด เสียก่อน มันเป็นถนนที่ปูลาดอย่างดีเพื่อให้รถสามารถวิ่งขึ้นไปด้านบนได้ เดินไปเกือบครึ่ง ทางก็เจอคนต่างชาติรายหนึ่งกำลังนั่งผูกเชือกรองเท้าตรงไหล่ทาง น่าจะมาถึงก่อนเราตั้ง แต่เช้า หากเขาไม่มากับรถรับจ้างก็คงหาที่พักตามบ้านแน่ ๆ เพราะเที่ยวรถที่วิ่งมาจากเลห์ ก็มีแค่คันเดียวเอง
⭗ เส้นทางขึ้นไปยังวัด ตรงฝั่งถนนราดยาง
⭗ ที่ตั้งตัวอาคารและดงต้นป็อปล่าร์ที่ปกคลุมพื้นที่ด้านบน
⭗ ด้านหน้าทางอุโบสถ
กว่าจะขึ้นมาถึงตำแหน่งวัดด้านบน ยกดูนาฬิกาขึ้นมาดูก็ปาไปสิบโมงกว่า ทำไมยังได้ยินเสียงพระกำลังทำวัตรด้านในอุโบสถกันอยู่นะ? ก่อนชะเง้อหน้าไปหา ต้นทางของเสียงในห้องพิธีนั้น ก็มีพระรูปหนึ่งเรียกเก็บค่าเข้าสถานที่ (50 รูปี) เลย ถามหลวงพี่ว่าถ่ายรูปได้มั้ย ตามกติกามารยาทหากวัดบางแห่งอาจไม่ให้ถ่ายรูป หรือหากอนุญาตก็มักจะขอความร่วมมือไม่ให้ใช้แฟลช
เมื่อเดินเข้าไปยังห้องทำวัตรเช้าของพระ ผู้ดูแลก็ผายมือไปยังจุดนั่งที่เป็นเบาะรองนั่ง สำหรับผู้มาเยือนและวางน้ำดื่มให้หนึ่งขวดเล็ก ที่นั่งของพระถูกแบ่งเป็นสองฝั่งชิดผนัง ซ้ายขวา ไม่ได้วางเป็นจัดวางหลายแถวเหมือนกับที่อื่น ๆ ที่เคยไปเห็น
ฉากหลังที่ตั้งของพระประธาน เป็นเหมือนรูปต้นไม้ที่แตกแขนงแผ่ร่มใบ มีรูปปั้นเล็ก จำนวนหนึ่ง (ไม่แน่ใจว่าเป็นพระโพธิสัตว์หรือพระพุทธรูป) ที่นั่งบนฐานดอกบัวติดอยู่ ตามกิ่งก้านคล้ายกับการออกดอกผล ตามตำแหน่งที่นั่งของพระ บนโต๊ะจะมีเล่มบทสวดที่ทำเป็นรูปแบบโบราณวางไว้ อุปกรณ์ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ประกอบการสวดมนต์ก็คือ ระฆังและวัชระ ส่วนเครื่อง ดนตรีอย่าง ฉาบ กลอง แตร จะถูกใช้บรรเลงในช่วงที่กำหนดไว้ในบทสวด จากที่ ได้เห็นและจดจำได้ในช่วงที่เราเข้าไปอยู่ด้านใน ก็มีทั้งช่วงที่สวดโดยการท่อง ถัดมาก็เริ่มใช้ระฆังและวัชระ ประกอบ ถัดมาก็ยกเครื่องดนตรีมาบรรเลงครู่หนึ่ง กระทั่งสวดพร้อมกับทำสัญลักษณ์มือที่เรียกว่า มุทรา (Mudra) ถึงจะเคยเห็นภาพการทำวัตรเช้าของพระนิกายวัชรยานมาก่อน ก็เป็นเพียงการ ส่งเสียงท่อง ไม่ได้เห็นเต็มรูปแบบขนาดนี้มุมที่นั่งของเราค่อนข้างมืด ขยับเขยื้อน ยาก ทำให้เก็บภาพลำบากนิด ๆ บวกกับรู้สึกเกรงใจเบา ๆ ด้วย
นั่งอยู่คนเดียวได้ไม่นาน ก็มีชาวต่างชาติรายหนึ่งมานั่งอยู่ที่เบาะถัดไป เขาเข้ามา พร้อมกับพระหนึ่งรูปที่ทำหน้าที่เป็นไกด์ให้ พระมานั่งที่ตำแหน่งท้ายต่อจากรูปอื่น ที่ทำพื้นที่เว้นว่างไว้ เยื้องมุมใกล้เบาะของเรา
สักพักหนึ่งหลวงพี่ที่ดูแลเรื่องการเสิร์ฟชาก็นำถ้วยมาวางให้ และรินน้ำชาเผื่อ นักท่องเที่ยวสองถ้วย เอ๊ะ ...หรืออาจเป็นกุศโลบายหลอกให้เราวางกล้องก็ไม่รู้สิ :)
⭗ ที่โต๊ะหัวมุมห้องฝั่งขวา น่าจะเป็นตำแหน่งของพระที่มีลำดับชั้นอาวุโส
⭗ ที่นั่งมุมซ้าย จะมีจุดวางเบาะรองนั่งสำหรับผู้มาเยือน
⭗ ระฆังและวัชระ ที่ใช้สำหรับเป็นสัญลักษณ์ระหว่างการสวดมนต์
ระฆัง หมายถึงปัญญา เวลาสั่นระฆังคือการปลุกปัญญาให้ตื่น วัชระ (ดอร์เจ) คือสายฟ้า เป็นสัญลักษณ์ของความกรุณา เปรียบแทนพระพุทธเจ้า ทั้งความกรุณาและปัญญา สองสิ่งนี้ ไม่สามารถแยกกันได้ แนวทางของ วัชรยาน เน้นในเรื่องความกรุณาเป็นอันดับแรกก่อนปัญญา คือมีปณิธานแบบโพธิสัตว์
⭗ รูปเล่มของคัมภีร์แบบดั้งเดิม ที่เป็นแผ่นกระดาษแนวยาว จัดเรียงหน้าโดยการวางซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ใช้ผ้ามัดห่อคลุมเวลาจัดเก็บ อักขระที่พิมพ์บทสวดเป็นภาษาทิเบต สร้อยประคำด้านบนที่วางด้านบน น่าจะใช้สำหรับสวดภาวนา คงเป็นของประจำตัวของพระที่นั่งโต๊ะนี้ที่วางเอาไว้ ส่วนเปลือกหอยสังข์ ที่วางไว้น่าจะถูกนำมาใช้เป่าระหว่างพิธี (เราไม่ทันได้มองเห็นจนครบทุกขั้นตอน)
⭗ กระติกน้ำร้อนใส่ชา ระหว่างการสวดมนต์ก็จะมีช่วงพักจิบชาด้วยนะ มีทั้งชาร้อนแบบอินเดีย(chai) และชาเนย ภาชนะโลหะที่วางด้านข้าง คือที่เผากำยานชุกปะ (ใบจูนิเปอร์แห้ง) เป็นกลิ่นที่เข้าวัดทีไรก็จะลอยแตะจมูกทุกครั้ง
⭗ ตำแหน่งวางโต๊ะของพระผู้ใหญ่ ที่มีลักษณะต่างไปจากพระรูปอื่นรวมถึงอุปกรณ์ที่วางอยู่ด้วย
[วีดิโอ] ช่วงเวลา 0.00-0.22 น. เป็นตอนที่อยู่บนรถ โดยอัดไว้แค่เสียง ส่วนที่เหลือจากนี้จะเป็นการทำวัตรของพระตามที่เขียนบรรยายไว้ข้างต้น ภาพด้านในจะไม่ค่อยมีแสง ลำดับช่วงท้ายที่ดูชัดเพราะเพิ่งมีคนไปเปิดไฟ
จบเรื่องการนั่งฟังพระสวดโดยแบบไม่ได้ตั้งใจแล้ว พระก็พากันออกจากอุโบสถ หลวงพี่ที่เป็นไกด์ให้ชาวต่างชาติก็นำผ้าคาตักที่เตรียมมาให้เขา นำมาวางพาดตรง แนวไม้ที่เป็นเหมือนรั้วกั้นเขตองค์พระประธานใกล้ ๆ กับตำแหน่งที่นั่งของพระผู้ใหญ่ จากนั้นก็พาไปยังพื้นที่ส่วนอื่นของวัด หลวงพี่ที่ทำหน้าที่ดูแลอุโบสถเดินมาตรวจตรา ความเรียบร้อยก่อนที่จะปิดประตู พระบอกให้เราเดินตามชาวต่างชาติคนนั้นไปที่ทาง ขึ้นบันไดเพราะจะได้ไขกุญแจเปิดพิพิธภัณฑ์กับห้องอื่น ๆ ให้ดูทีเดียวเลย
⭗ ช่องไม้ที่ใช้สำหรับเก็บคัมภีร์และตำรา
⭗ ส่วนห้องนี้เรียกว่า Lhakhang ภาษาอังกฤษแปลว่า God's House มีทั้งรูปปั้นของ Sakya Pandita รวมถึงลามะที่สำคัญ ในนิกายสาเกียปะ ฉาบและแตรที่วางอยู่ด้านหน้าชั้นวางองค์พระ ก็คือหนึ่งในอุปกรณ์ใช้ประกอบการสวดมนต์ ความจริงแล้ว ในห้องนี้เก็บภาพทังกะเก่าแก่ที่นำมาจากทิเบตตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษ 15 (เก่าพอ ๆ กับช่วงก่อตั้งวัดมาโธ) หาก จขบ. ฉุกคิด ได้ในตอนนั้นก็คงจะถอยหลัง ปรับมุมมอง ออกมาอีกนิด ก็จะได้เห็นจุดวางภาพทังกะผืนใหญ่ และส่วนที่แขวนห้อยอยู่เหนือ ศีรษะอีกหลายผืนที่ดูเก่าแก่มากจริง ๆ
ด้านบนนั้น มีทั้งห้องเก็บคัมภีร์และภาพทังกะเก่าแก่ รูปปั้นพระลามะองค์สำคัญของนิกายสาเกียปะ และส่วนพิพิธภัณฑ์ที่เป็นไฮไลท์เด็ดก็ห้ามถ่ายรูป มีหลายสิ่งที่เก็บรวบรวมไว้ ข้าวของเก่าแก่ เครื่องประดับ หอก ดาบ ฯลฯ เสื้อผ้า-หน้ากากสำหรับระบำในงานประจำปี วิกผมสำหรับคนทรงสองอัน รวมถึงภาพถ่าย ขาวดำของพระที่กำลังเตรียมตัวเข้าทรง และอีกหลายอย่างที่เป็นของสำคัญ ได้ใช้เวลาส่วนนี้ไปได้ไม่มากนัก พวกเขาก็พากันออกเดินทางไปที่อื่นกันต่อ ส่วนเราก็คงหาเรื่องตระเวนเที่ยวแถว ๆ นี้จนกว่าจะถึงเวลาเดินรถรอบขากลับ
เหลียวซ้ายแลขวามองไปรอบ ๆ ตำแหน่งวัดเหนือหมู่บ้าน Matho ช่างดูเวิ้งว้าง ชื่อขอมาโธมาจากสองคำในภาษาทิเบตคือ Mang + Tro = Many Happiness อีกทั้งเป็นที่ตั้งของ วัดนิกายสาเกียปะ ที่มีเพียงแห่งเดียวในลาดัก
** ว่าแต่ มีใครคุ้นชื่อของ Sakya มั้ย เราเคยถอดคำเขียนชื่อนิกายนี้ตรง ๆ ว่า “ศากยะ” หากคุ้นกับเอนทรี่ย์เก่าก่อนเมื่อนานมาแล้ว ด้วยความที่ตอนนั้นไม่เข้าใจถึงบริบทการใช้ คำเฉพาะเจาะจง ก็หวังว่ารอบนี้คงจะเขียนได้อย่างถูกต้องเสียทีนะ
ถึงแม้ว่ว่าเมื่อสองสามวันก่อนจะได้ยินเรื่องของงานใหญ่ที่จัดขึ้นในมาโธจากการพูดคุย กับคนที่ท่ารถอย่างผิวเผิน มาทราบว่ามีคุรุคนสำคัญมาเยือนเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้เสียดายอะไร เพราะไม่ใช่กำหนดการของงานเทศกาล Matho Nagrang ที่จะมีขึ้นในฤดูหนาว (ปี 2019 จัดในวันที่ 18-19 ก.พ.) ถึงแม้ว่างาน Nagrang นั้นจะมีการแสดงระบำหน้ากาก (หรือ ชัม) เช่นเดียวกับวัดอื่นแต่สิ่งที่ผู้คนในหมู่บ้านเฝ้ารอหลังจากนั้นก็คือการทำนายทายทักในช่วง พิธีเข้าทรงโดยมากก็จะเป็นเรื่องของดินฟ้าอากาศที่อิงกับวิถีชีวิตการเกษตรของหมู่บ้านนี้
ผู้ทำหน้าที่นี้ เป็นพระที่ได้รับการคัดเลือกสองรูป โดยทำหน้าที่สลับเปลี่ยนกันทุกสามปี ช่วงระหว่างปีดังกล่าว พระสองรูปต้องเก็บตัวทำสมาธิภาวนาชำระใจกายให้บริสุทธิ์ เหตุที่ มีจำนวนพระที่ทำพิธีเข้าทรงสองรูป ก็คือเชื่อกันว่าเทพยดาผู้พิทักษ์หมู่บ้านมาโธนั้นมีสองตน ระหว่างพิธีดังกล่าวจะทำบนดาดฟ้าสูงของวัดและที่สำคัญก็คือจะไม่อนุญาตให้เก็บภาพเด็ดขาด
⭗ ลานวัดในช่วงเที่ยงวัน ขณะนั้นมีพระรูปหนึ่งขึ้นมายืนอยู่ตรงจุดเคาะสัญญาณแจ้งบอกเวลา
⭗ ตรงหน้าฉากเทือกเขาด้านหน้าและเนินสีขาว ๆ เกาะกลุ่มเป็นกระจุกนั่นก็คือ Thiksay Monastery จากวิวมุมสูงของมาโธ สามารถมองเห็นได้ทั้ง Thiksay และ Stakna ได้เช่นกัน (ที่ตั้งของ Stakna จะอยู่อีกฟากนึง โดยต้องหันกล้องไปทางขวามือถัดจากมุมนี้)
มองไปด้านหน้าผ่านความเว้งว้างของผืนทรายก็จะเห็นที่ตั้งของ Thiksay ได้สบาย ๆ เลนส์ Fix มันก็เก็บกลับมาย้อนดูได้แค่นี้แหละ ถ้ามีกล้องส่องทางไกลพกมาด้วยคงจะดี
ระหว่างสอดส่องมองหาร้านค้าประจำหมู่บ้าน หญิงสาวรายหนึ่งที่น่าจะเป็นคนของที่นี่ เดินผ่านมาบนวัด เราถามถึงร้านขายอาหารที่แถวนี้เผื่อว่าจะมีหลบซ่อนอยู่บ้าง เธอบอก ว่าไม่มีหรอกนะ ได้ยินแล้วหน้ามืดตาลายคล้ายจะเป็นลม คงต้องโทษความไม่รอบคอบ ของตัวเองจริง ๆ
⭗ มุมสีเขียวของหมู่บ้านมาโธ และตัวบ้านเรือนที่ปลูกสร้างกันห่างลิบ
⭗ ทางที่ลัดลงเขา
⭗ แนวรั้วกั้นเขต ที่ตอกกิ่งวิลโล่เป็นแนวยาวรวมถึงลวดหนามที่น่าจะไว้กันสัตว์เดินบุกขึ้นมา ไม่มีช่องเดินนะแต่มีบันไดพาดไว้
⭗ พื้นที่ด้านล่าง มีอาคารหลังเล็กที่ก่อด้วยหิน (จำไม่ได้ว่าคืออะไร) ร่องน้ำ และกลุ่มต้นไม้ที่ดูร่มรื่นมาก
⭗ สะพานที่สร้างพาดทางน้ำไหลผ่าน อยู่ตำแหน่งหลังร้านขายของชำ
⭗ ร่มเงาจากทางเนินทางขึ้นไปยังวัด
⭗ กลุ่มเจดีย์ขาว และวัวของชาวบ้านที่มายืนเล็มหญ้าใกล้กับทางน้ำไหล บริเวณนี้มีป้ายติดห้ามไม่ให้คนเอารถมาล้างและนำผ้ามาซักกันตรงนี้ด้วย
⭗ ศาลาหน้าหมู่บ้าน มีกงล้อมนตราใหญ่อยู่ด้านใน
⭗ ที่ตั้งของวัดมาโธ เมื่อแหงนมองจากอีกฝั่ง (ใจนึงก็คิดว่าควรกลับขึ้นไปดีมั้ย)
เดินลงจากที่ตั้งของวัดลัดไปยังอีกทางนึงที่เชื่อมต่อไปถึงร้านขายของชำด้านล่าง ต้องมาฝากท้องกับ ขนม นมและน้ำผลไม้ ที่น่าจะเรียกว่าเป็นของว่างแทน จากนั้น ก็ไปหามุมนั่งใต้ร่มไม้ จุดที่มีธารน้ำไหล ฟังเสียงพวกนกแม็กพายตัวเบ้ง ที่มันร้อง จ๊อกแจ๊ก ๆ กระโดดข้ามโขดหินหยอกเล่นกันไปมา
แดดตอนเที่ยงวันมันจ้าซะเหลือเกิน แสงที่กระทบกับกลุ่มเจดีย์ขาวมองแล้วก็พร่าตา ทีแรกคิดว่าจะใช้เวลาเดินสำรวจหมู่บ้าน แต่ระยะทางที่ลึกเข้าไปกว่านี้เกรงว่าจะสลบ เหมือดเสียก่อน...เพิ่งเข้าใจคำว่ากองทัพต้องเดินด้วยท้องอย่างลึกซึ้งก็วันนี้ เวลาผ่านไปพักหนึ่งก็คิดได้ว่าบนวัดด้านบนมีมุมนั่งที่เหมาะกว่านี้นะ ว่าแล้วก็ออกแรงเดินกลับไปบนเขา...ไม่ใช่สิเรียกว่าบนวัดดีกว่า จากทางขึ้นหลัง ร้านขายของชำที่ทำทางไว้นี่แหละ เร้าใจดี มันดูเหมือนทางวิบากตามด่านในค่าย ลูกเสือ มีทั้งแนวไม้ รั้วลวดหนาม บันไดไม้ และเนินหินสุดชัน กลับมาที่หน้าอุโบสถ เห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนหนึ่งที่เพิ่งเดินทางมาถึง กำลังสาละวนเดินดูพื้นที่ลานโดยรอบ บางคนก็เข้าไปนั่งฟังพระทำพิธีสวดในอุโบสถ อันนี้ไม่รู้จริง ๆ ว่าทำไมวันนี้ถึงมีสวดหลายช่วงจัง รวมไปถึงนักท่องเที่ยวชายสองราย ที่ขึ้นไปดูห้องชั้นบน ที่อยู่สูงกว่าตำแหน่งที่เป็นพิพิธภัณฑ์และห้องจัดแสดงอื่นที่เรา เข้าไปเมื่อเช้า มานึกได้ว่าจะเป็นพื้นที่หวงห้ามสำหรับสตรีแน่ ๆ พระที่ดูแลสถานที่เมื่อ ช่วงเช้าจึงไม่เอ่ยให้รู้
การแสดงออกของคนและคนในวัด ช่างดูคล้ายกันเสียจริง บ้างก็เดินสงบนิ่งไปมา หน้าตาอิ่มเอม หรือไม่ก็นั่งถือลูกประคำภาวนาในมุมเงียบ ๆ เสียงกลองที่เคาะประกอบบทสวดยังคงทำหน้าที่ต่อไปในห้องประกอบพิธี ไม่อยากเข้า ไปด้านในแล้ว เราหามุมที่เหมาะกับตัวเองได้แล้วเป็นริมหน้าต่างที่มีพื้นที่ให้นั่งได้ ก็จัด แจงงัดเอาสมุดบันทึกเล่มเล็กที่ใช้จดโน่นนี่คั่นเวลามากางออก ใช้เวลาที่มีอยู่จับปากกา มาขีด ๆ เขียน ๆ รูปแก้เซ็งละกัน...เล็งตรงมุมระเบียงด้านหน้านั่นแหละ
⭗ ประตูหน้าวิหารอีกฝั่งที่ปิดไว้
⭗ ริมหน้าต่างและแบ็กกราวด์หลังเป็นเทือกเขา หากชะโงกหน้าออกไปทางซ้ายก็จะเห็นที่ตั้งของ Stakna Monastery ได้
⭗ ลวดลายที่วาดประดับตามผนัง
⭗ มุมนั่งพักและวาดรูปคั่นเวลา หลังจากตัดสินใจกลับขึ้นมาบนวัดอีกรอบ
"นั่นโยมทำอะไรอยู่นะ" พระที่ทำหน้าที่เก็บค่าเข้าชมสถานที่เดินมาเมียงมอง สิ่งที่กำลัง ขีดร่างอยู่ในสมุด "อ่อ วาดรูป..." แล้วหลวงพี่ก็มองไปยังมุมที่น่าจะเป็นแบบ มันเป็นส่วน ของระเบียงที่มีรายละเอียดอันสวยงาม ผิดกับสิ่งที่ปรากฏในภาพสเก็ตช์ คงคิดเบา ๆ อยู่ในใจ ว่านั่นเป็นภาพเดียวกับวัดมาโธแน่เรอะ "เดี๋ยวจะอาตมาจะถ่ายรูปไว้นะ" ว่าแล้วพระก็หยิบ มือถือออกมาเก็บรูปไว้ ... (รบกวนส่งบลูทูธมาด้วยค่ะ) ช่วงเวลาบ่ายแบบนี้ คงไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวแวะมาเท่าไหร่แล้ว หลวงพี่เลยมีเวลาว่าง มานั่งเสวนาด้วย ท่านชื่อนีม่า ทำหน้าที่เก็บค่าเข้าชมสถานที่ จากนั้นพระก็หายไปครู่หนึ่ง และกลับมาพร้อมผลไม้อย่าง กล้วย แอปเปิ้ล อย่างละสองผล มีน้ำมะม่วงบรรจุกล่องแถม มาให้อีกหนึ่ง สงสัยจะเก็บอาการหิวไม่อยู่ ไม่ก็รู้แหละแถวนี้ไม่มีอาหารขาย
พูดคุยซักถามได้พอประมาณ หลวงพี่นีม่าก็ตะโกนเรียกพระอีกรูปนึงที่เดินถือกระติกน้ำชา ผ่านมาว่าแวะมาเติมชาทางนี้หน่อย แล้วจากนั้นก็มาร่วมนั่งคุยเพิ่มด้วยอีกหนึ่ง วงน้ำชา ยามบ่ายวันนี้เป็นชาเนย ชอบมากดื่มยังไงตาก็ไม่ค้าง จิบแล้วปากมันแผล่บ
"ดูสิ เขาวาดรูปวัดเรา" หลวงพี่นีม่าเริ่มต้นชี้รูปให้ดู อาจเพื่อให้หลวงพี่จัมยังช่วยออก ความเห็น แล้วพวกท่านก็คุยกันเป็นภาษาลาดักที่ฟังไม่ออก ซุบซิบ ๆๆ ก่อนจะตั้งคำถาม สอบสวน ไม่สิ...ไถ่ถามไปตามเรื่องราว
ที่จริงแล้วเราเองก็มีคำถามเยอะเหมือนกันว่าเป็นพระต้องเรียนอะไรกันบ้าง แล้วพวกท่านมีสถานะเป็นน้องชายคนเล็กของครอบครัวเหมือนกันหมดมั้ย ตามธรรมเนียมที่รู้ คือลูกชายคนโตจะได้สิทธิ์ถือครองที่ดินและมรดก ส่วน ลูกชายคนเล็กจะต้องไปบวชเรียน จากที่ถามมานอกเหนือจากที่พูดภาษาลาดักสื่อสารเป็นหลัก ก็ต้องเรียนภาษาทิเบต (สำหรับบทสวดและคัมภีร์ทางศาสนา) ภาษาฮินดี และภาษาอังกฤษ นั่นจึงไม่แปลก ที่ทำไมพระรุ่นใหม่ ๆ จะสามารถสื่อสารกับคนต่างถิ่นและคนต่างชาติได้โดยไม่ติดขัด "วัดมาโธตอนนี้ ถูกสร้างใหม่" แม้ของใหม่อาจใหญ่โตและดูดี พระนีม่าบอกว่าโดยส่วนตัวชอบแบบเดิมมากกว่า–มิน่า ตัวอาคารสถานที่ถึงได้ดูใหม่เอี่ยมจัง ขัดแย้งจากข้อมูลที่ว่าก่อตั้งในช่วงศตวรรษที่ 15
⭗ โครงการต่อเติมเสริมขยายวัด ที่ทำภาพจำลองเอาไว้
"พวกเราเป็นสาเกียปะ ทั้งลาดักมีวัดนิกายนี้แแค่แห่งเดียว"
พอหลวงพี่นีม่ารู้ว่าเราจะไปหุบเขาสปิติต่อ ก็ไล่ชื่อวัดที่สังกัดนิกายต่าง ๆ ให้ฟัง เลยรู้ว่าแถวนั้นมีวัดของสาเกียปะเยอะกว่าหนึ่งแห่ง หลวงพี่ถามว่าเคยลงไปเที่ยว แถวอินเดียใต้มั้ย เราบอกว่าไม่เคยไป (จุดใต้สุดของอินเดียคือ กันยากุมารี ในรัฐ ทมิฬนาฑู) แต่ว่าส่วนล่างสุดสำหรับเรากลับเป็น พุชการ์ ในรัฐราชสถาน เท่านั้น "แล้วทำไมถึงเลือกมาเที่ยวลาดัก" พระจัมยัง สงสัยไม่หายดูทรงก็รู้แล้วว่าเราไม่ใช่สายเที่ยววัดแบบเฉพาะเจาะจง หลังได้ยินความคิดเห็นว่าโดยปกติแล้วคนต่างชาติที่มาเที่ยวแนว ๆ นี้ เขาจะดูสงบ เงียบ เคร่งขรึม แทบไม่พูดอะไร จนหลวงพี่เองก็ไม่กล้าเข้าไปคุยด้วยเช่นกัน
ก็เลยบอกย้อนไปถึงช่วงที่ไปเที่ยวที่หุบเขาสปิติ (รัฐหิมาจัลประเทศ) เมื่อหลายปีก่อน เคยมีคนบอกว่าที่ลาดักก็ดูคล้าย ๆ กัน และหากเป็นไปได้ก็ควรหาโอกาสมาเห็นสักหน หลังรู้เหตุผล หลวงพี่จัมยังหันมาพึมพำกับหลวงพี่นีม่าเหมือนยังจะถอดรหัสกัน "นี่แสดงว่าชอบหิมาลัยสินะ" ใช่แล้ว เป็นข้อสรุปที่ดีมากเลย จิบชาพูดคุยกันยาวไปจนถึงบ่ายสามโมงเศษ สรุปคือไม่ได้วาดรูปจนจบ พระเริ่มเตือนว่าให้เตรียมตัวลงไปได้แล้ว คนขับรถจะเริ่มติดเครื่องคอยผู้โดยสารที่ บริเวณหน้าร้านชำก่อนล่วงหน้า แล้วไหนจะต้องคิดเผื่อเวลาลงจากเขาไปอีก แน่นอน ว่าเจ้าสิ่งกีดขวางทั้งหลายนั่น มันทำให้เราไม่สามารถวิ่งจู๊ดลงไปได้แบบทันใจนึก หลวงพี่ย้ำอีกรอบว่ารู้ทางลงแล้วใช่มั้ย คงกลัวจะไปอ้อมโลกตรงทางที่เป็นถนน เราบอกเลยว่าไม่มีปัญหา ยกเว้นตอนที่ต้องปีนบันไดนี่แหละที่กลัวพลาดเท่านั้น ⭗ พระจัมยังและพระนีม่า แห่งวัดมาโธ
แล้วรถโดยสารก็มาก่อนเวลาจริง ๆ เสียด้วย เราขึ้นรถไปยังที่เดิมเหมือนตอนขามา และเคลื่อนออกจากหน้าร้านขายของชำไปอย่างช้า ๆ ตอน 15.40 น. จนมาหยุดรอ ที่หน้าโรงเรียน พี่คนขับบอกว่าต้องมารอรับคุณครูช่วงโรงเรียนเลิกเวลาบ่ายสี่โมง เสียงจอแจของเด็ก ๆ ดังมาจากหลังรั้วโรงเรียน บางคนก็เริ่มเดินสะพายเป้ออกมา บางคนก็ยังวิ่งเล่นกันอยู่ ดูเหมือนว่าพวกเขาต่างก็เป็นเด็กในละแวกนี้ทั้งนั้น
เหล่าคุณครูที่หน้าคุ้นหลายคนจากเมื่อเช้าก็ออกมาจากโรงเรียนเพื่อขึ้นรถกลับเลห์ ตามเวลา และนั่งตามตำแหน่งเดิมเหมือนเมื่อเช้าเป๊ะ ๆ ราวกับว่าเป็นที่นั่งประจำ จะขาดก็แต่ในเที่ยวรถขากลับนี้ไม่มีใครออกเสียงท่องบทสวดเหมือนเมื่อเช้า
Create Date : 22 พฤศจิกายน 2564 |
Last Update : 10 ธันวาคม 2564 20:57:25 น. |
|
11 comments
|
Counter : 1290 Pageviews. |
|
|