Ladakh 2019 - Day of Ashura (วันอาชูรอ)
จากเอนทรี่ย์อื่น ๆ ก่อนหน้านี้... มีใครพอจะสังเกตภาพถ่ายจากบรรดางานต่าง ๆ ก่อนหน้านี้กันบ้างมั้ยคะ อย่างเช่นในงานอัลตร้ามาราธอน หรือเทศกาลลาดัก ก็ล้วนแต่เป็นช่วงเวลา ที่อยู่ไล่เลี่ยกัน ทั้งนี้เรื่องการตระเตรียมงานก็จำเป็นต้องมีป้ายประกาศหรือ สัญลักษณ์บางอย่างติดบอกให้ได้รู้กันล่วงหน้าอยู่แล้ว
ผืนผ้าสีดำที่เขียนถึงเรื่องราว คำพูด หรือคติธรรม ที่เกี่ยวกับผู้นำทางศาสนา ถูกผูกโยงเชื่่อมระหว่างพื้นที่สองฟากของถนนคนเดินก็ชวนให้สะดุดตานิด ๆ ถึงไม่รู้ว่าทางฝั่งของมุสลิมในเลห์กำลังเริ่มต้นเทศกาลอะไรอยู่ก็ตาม สีของ ผืนผ้าเหล่านี้เมื่อมองดูแล้ว ช่างคล้ายกับตัวแทนของความศร้าโศกซะจริง
ขณะที่ปฎิทินงานเทศกาลในเลห์และพื้นที่อื่น ๆ จากคู่มือฯ ที่ได้รับมาจาก ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวของรัฐก็มีระบุเแค่ Monastic Festival ที่มีตลอดปี โดยกำหนดตามปฏิทินทิเบต, สัปดาห์จัดงานเทศกาลลาดัก, รวมถึงเทศกาล เฉลิมฉลองปีใหม่ที่เรียกว่า Losar นอกเหนือไปจากงานประจำปีและที่ได้รับ การโปรโมตจากหน่วยงานการท่องเที่ยวของเลห์ ก็ต้องติดตามจากแหล่ง ข่าวอื่น ๆ ประกอบเสริมด้วย

⭗ พื้นที่หัวมุมตลาดที่วันนี้มีการตั้งเวทีชั่วคราวไว้ ในเช้านั้นเราเพิ่งกลับมาถึงเลห์ และยังไม่รู้ว่ากำลังมีงานอะไรกัน แต่เราก็เก็บภาพนี้เอาไว้ก่อนเดินกลับที่พัก
Muharram เป็นชื่อของเดือนแรกในปฎิทินอิสลาม
ช่วงเดือนมุฮัรรอม (Muharram) จะถูกกำหนดขึ้นตามการคำนวนของปฏิทิน จันทรคติ วันสำคัญของเดือนนี้คือวันที่ 10 ที่เรียกว่าวันอาชูรอ เมื่อเปิดดูจาก แหล่งข้อมูลต่าง ๆ ก็พบว่ามีการอธิบายถึงวันดังกล่าวจากสองมุมมองทั้งแนว ทางปฏิบัติของซุนนีและชีอะห์
เราขอหยิบยกจากทัศนะที่มาจากชีอะห์ ที่มีโศกนาฎกรรมในกัรบาลาเข้ามา เกี่ยวข้องซึ่งเชื่อมโยงกับอิหม่ามฮุเซนผู้เป็นวีรชนของพวกเขา และได้กลาย เป็นที่มาของพิธีมุหะหร่ำภายหลัง เพื่อใช้ประกอบการอธิบายในเอนทรี่ย์นี้
อนึ่ง มุฮัรรอม เป็นคำภาษาอาหรับที่ผันมาจากคำว่า “ฮะรอม” แปลว่า ต้องห้าม ซึ่งก็หมายถึงเดือนต้องห้ามสำหรับการสู้รบ ทำสงคราม (โดยมีกำหนดไว้ทั้งสิ้น 4 เดือน นอกเหนือไปจาก มุฮัรรอม ก็คือ รอญับ, ซุล-เกาะดะฮ์ และ ซุล-ฮิจญะฮ์)
โศกนาฎกรรมกัรบารา
ที่มาของพิธีรำลึกถึงวีรชน ‘อิหม่ามฮุเซน’ ผู้มีศักดิ์เป็นหลานตาของนบีมุฮัมมัด (ศาสดามุฮัมมัด) ได้บอกเล่าถึงความกล้าหาญของท่านและผู้ติดตาม ที่ไม่ยินยอม หรือเพิกเฉยต่อสิ่งไม่เป็นธรรม ในช่วงสมัยที่ ยะซีด บุตรของมุอาวียะฮ์ ได้ขึ้นครอง ตำแหน่งคอลิฟะฮ์ต่อจากบิดาของเขาซึ่งได้ทำการเปลี่ยนการปกครองรัฐอิสลามมา เป็นรูปแบบราชอาณาจักรแทน
*** คอลิฟะห์ คือตำแหน่งที่สืบทอดต่อจากท่านศาสดามุฮัมมัด โดยทำหน้าที่ปกครองทั้งอาณาจักรและศาสนจักร
ยะซีด ต้องการให้บรรดาลูกหลานของศาสดาฯ มาให้สัตยาบันแก่เขาเพื่อรับรอง อำนาจ แต่อิหม่ามฮุเซนไม่เห็นชอบและปฎิเสธที่จะทำตามเพราะยะซีดไม่ได้เป็น ผู้ประพฤติดีนัก และเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น ท่านจึงได้เดินทางออก จากนครมะดีนะฮ์ (Madinah) พร้อมเหล่าลูกหลานและผู้ติดตามจำนวนหนึ่งในช่วง เดือนรอญับ ฮ.ศ. 60 แสดงถึงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนว่าไม่ยอมรับและตกอยู่ใต้ การปกครองของยะซีด แม้พวกเขาจะรู้ว่าการตัดสินใจทำเช่นนี้อาจส่งผลร้ายถึง ชีวิตภายหลังก็ตาม แทนที่จะจบเรื่องนี้ไปแบบไม่ต้องเสียเลือดเนื้อหรือการปะทะใด ๆ ยะซีดกลับส่งทหารไปบีบล้อมกองคาราวานของอิหม่ามฮุเซน จนต้องเปลี่ยนเส้น ทางและจุดหมาย เมื่อไปถึงแผ่นดินกัรบาลา (Karbalah ตั้งอยู่ในประเทศอิรัก) ต้นเดือน มุฮัรรอม ฮ.ศ. 61 (1) ฝ่ายทหารของยะซีดใช้วิธีกดดันและโจมตีด้วยรูปแบบต่าง ๆ เพื่อบีบบังคับให้ยินยอม แม้กระทั่งไปปิดกั้นเส้นทางลำเลียงน้ำสำหรับดื่มกินสร้าง ความยากลำบากแก่บรรดาผู้หญิงและเด็ก ที่ไม่ได้ออกไปเผชิญหน้าออกรบเช่นกัน
การต่อสู้เพื่อขัดขืนต่ออำนาจไม่ชอบธรรมยื้อมาจนถึงวันที่ 10 ของเดือนมุฮัรรอม ซึ่งตรงกับวันที่เรียกว่า อาชูรอ อิหม่ามฮุเซนและผู้ติดตามเกือบทั้งหมดต่างจบ ชีวิตลงจากการสู้รบบนแผ่นดินกัรบาลา โดยการเสียชีวิตในลักษณะนี้ถูกเรียกว่า “ชะฮีด” (Shyhid) เทียบเคียงกับคำว่า มรณสักขี คือการสละชีวิตยอมถูกทรมาน และสังหารเพื่อปกป้องความเชื่อและต่อต้านความอยุติธรรม
*** ส่วนลูกหลานและคนอื่นที่ยังมีชีวิตรอดจากเหตุการณ์นี้ก็ถูกจับไปเป็นเชลย อย่างเช่น ซัยนับ(ผู้เป็นน้องสาว), ซัยนุลอาบิดีน (บุตรชายอิหม่ามฮุเซน) เป็นต้น
เมื่อถึงเดือนมุฮัมรรอมของทุกปี ระหว่างนี้ชาวชีอะห์จึงได้หลีกเลี่ยงงานรื่นเริง ทั้งหมด แต่จะร่วมการพบปะกันเพื่อรำลึกเรื่องราวของโศกนาฎกรรมที่เคยเกิด ขึ้นในเมืองกัรบาลา ด้วยการเล่าถึงวีรกรรมอันกล้าหาญของอิหม่ามฮุเซนและ ผู้สละชีพทั้ง 72 ท่าน ดังเช่นกับที่เคยได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาทุก ๆ ปี และเมื่อ ถึงกำหนดการวันอาชูรอ พวกเขาก็จะออกมาเดินขบวนแห่
....
หลังจากทราบที่มาที่ไปโดยคร่าวแล้ว เราก็จะมาพูดถึงพิธีรำลึกที่ได้มาร่วมชม ครั้งนี้ที่เลห์ – นึกไม่ถึงใช่มั้ยล่ะ นอกเหนือจากที่นี่แล้วก็ยังมีอีกหลายภูมิภาค บนโลกที่ชาวชีอะห์จัดงานนี้ขึ้นเช่นกัน ส่วนในประเทศไทยก็มีในชื่อของ พิธี แห่เจ้าเซ็น (2) ย้อนกลับไปถึงบรรยากาศช่วงแรก ๆ กับการตระเตรียมงานก่อนถึงวันอาชูรอ ก่อนหน้า ก็ได้เห็นผืนผ้าสีดำที่ติดแขวนไปทั่วใจกลางตลาดที่ตรงนั้นมีมัสยิด ตั้งอยู่สองแห่งคือ Jama Masjid ตำแหน่งใกล้ตรอกที่จะเดินทะลุไปยังเมือง- เก่าและมัสยิดอีกแห่งที่ตั้งตรงฝั่งไปรษณีย์
ตรงบริเวณหัวมุมตลาดในเช้าวันนี้ มุมเดียวกับที่เคยจัดงานเทศกาลลาดัก มาราธอน หนนี้ได้มีการตั้งเวทีชั่วคราวเอาไว้ ส่วนที่หน้ามัสยิดซึ่งตั้งอยู่ฟาก ฝั่งเดียวกับที่ทำการไปรษณีย์ ก็มีการวางจัดโต๊ะ สำหรับแจกน้ำดื่ม ชา กาแฟ และอาหาร ให้กับผู้คนทั่วไป ร้านรวงต่าง ๆ ในตลาดยังคงเปิดทำการตามปกติ
(ความเดิมตอนก่อน เราออกไปนอกเมืองและเพิ่งมาถึงเลห์ตอนเช้า) พอกลับมาถึงที่พัก ก็ใช้เวลาครู่ใหญ่ไปกับการเชื่่อมต่อสัญญาณอินเตอร์เน็ต พูดคุยกับทางบ้าน ชาร์จแบตเตอรี่กล้องถ่ายรูป ที่มันเหลือพลังชีวิตอยู่แค่ขีดนึง รื้อเสื้อผ้าที่จะนำไปส่งซัก และส่องรูปไปเรื่อยเปื่อย ...ตั้งใจว่าจะออกไปดูลาด- เลาในช่วงบ่าย
ระหว่างนั้นไปเห็นคนรู้จักในเลห์รายนึงโพสต์ลง story รัว ๆ คาดว่าเป็นคลิปที่ถ่ายปัจจุบันทันด่วน ภาพวีดิโอสั้นที่มียาวเพียงไม่กี่วินาที ถูกถ่ายจากมุมสูงของบนของอาคารหลังหนึ่งที่อยู่ติดกับถนน พิกัดตรงนั้นน่า จะไม่ไกลกว่าหน้าตลาด...มีเสียงอึกทึกและผู้คนมากมายที่เบียดเสียดบังกัน ทำให้จับประเด็นไม่ถูกว่ากำลังมีอะไรเกิดขึ้นข้างนอก ถึงจะอยากรอให้แบตฯ กล้องชาร์จจนเต็มเสียก่อนก็เถอะนะ...แต่ถ้าไม่ไปตอนนี้คงจะไม่ทันเวลาแน่ เก็บภาพได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น
(คำเตือน) ถัดจากนี้ไปอาจมีภาพที่ไม่เหมาะกับคนกลัวเลือดนะคะ

⭗ กลุ่มคนที่มาร่วมขบวนในพิธีฯ กำลังเคลื่อนย้ายตัวไปยังจุดถัดไป

⭗ รถพยาบาลมาจอดเตรียมพร้อม

⭗ ผู้คนจากท้ายขบวน และเจ้าหน้าที่ผู้มาดูแลความเรียบร้อย

⭗ พื้นที่ฝั่ง Leh main market ที่วันนี้ถูกใช้สำหรับงานรำลึกอาชูรอ

⭗ ภาพการขับร้องและแสดงท่าทางตีอกชกตัว

⭗ ประมาณเที่ยงวันพวกเขาก็ได้ทำการหยุดพักการเดินขบวนฯ มีรอยเลือดและเศษสำลีจากการปฐมพยาบาลหล่นร่วงอยู่ตามพื้น

⭗ ผู้ร่วมงานฯ ชุดดำ เดินถือสำลีเข้ามาซับเลือดให้

⭗ รถเข็นที่ทำไว้สำหรับเคลื่อนย้ายลำโพง แต่ละคณะก็จะมีเครื่องขยายเสียงประจำกลุ่ม
เมื่อเดินถึงหน้าปากทางก็พบว่ามีผู้คนมากมายออกมายืนมุงดูกันล่วงหน้าแล้ว ทั้งเหล่าศาสนิกชนผู้มาร่วมงาน บุคคลทั่วไป นักท่องเที่ยวที่ดูตั้งใจมาเก็บภาพ และนักท่องเที่ยวที่เพิ่งรู้เรื่องอย่างข้าพเจ้า
พวกเขาต่างตะโกนร้องรับต่อเสียงต้นทางที่ดังมาจากรถเข็นลำโพง ที่อยู่หน้าขบวนกันอย่างหึกเฮิม กลุ่มคนที่รายล้อมรอบนอกโดยมากแต่งตัวด้วยชุดโทนสีดำ พวกเขาจะนำมือมาวางที่อกสลับซ้ายขวา ไปตามจังหวะเสียงร้องโดยท่าทางการตีอกนี้เรียกว่ามะตั่ม (Matam) ขณะเดียวกันตรงกลางวงด้านในของขบวน ก็เป็นกลุ่มผู้ชายอีกจำนวนหนึ่งสวมผ้าฝ้ายสีขาวคลุมตัว (การสวมชุดสีขาวแสดงถึงการไว้อาลัย) ดูเด่น และต่างไปจากคนอื่นในพิธีฯ เพราะรอยเลือดที่ไหล เปื้อนที่ผ้าขาวและบนร่างกาย จากของมีคมอย่างเช่นใบมีดโกนและโซ่ที่บาดผ่านเสื้อผ้าและผิวหนัง จากการเหวี่ยงตีอุปกรณ์ดังกล่าวลงที่ร่างของตนเองและศีรษะ หลังจากเสียงร้องนำของเริ่มแผ่วและช้าลง กลุ่มพวกเขาก็เคลื่อนย้ายไปประจำยังจุดถัดไปเรื่อย ๆ และมีขบวนใหม่เข้ามาแทนที่ ซึ่งก็ดำเนินพิธีการในรูปแบบเดียวกัน เราเดินตามขบวนดังกล่าวเข้า ไปยังพื้นที่ลานใจกลางตลาด ในตอนนั้นน่าจะเป็นเวลาใกล้เที่ยงวันแล้วบรรดาร้านค้า, ร้านอาหาร ต่างก็ปิดให้บริการชั่วคราวส่วนตรงดาดฟ้าและระเบียงชั้นบน อาจมีนักท่องเที่ยวบางส่วนคอยร่วม สังเกตการณ์ไกล ๆ อยู่บนนั้น เมื่อกลุ่มขบวนได้เคลื่อนตัวเรื่อยจนมาถึงหน้า Jama Masjid ที่ในขณะนี้มีผืนผ้ามาประดับเป็นฉากหลัง พื้นที่หน้าลานมีการนำโพเดียมมาวางไว้ ผู้นำทางศาสนาได้ขึ้นมายืนกล่าวบางอย่างให้ผู้คนที่มาหยุด พักกันตรงนี้ ความรู้สึกของเราในตอนนั้น ตื่นเต้นมาก! ก็ใครจะไปคิดว่าจะได้ทันกลับมาเห็นพิธี ดังกล่าวแบบไม่ได้ตั้งใจ
สำหรับการนำเสนอภาพเหตุการณ์ และวีดิโอที่เราบันทึกเอาไว้ในครั้งนี้ คงไม่ได้มาเน้นแต่การตีอกชกตัวมากนัก แต่พยายามเก็บองค์ประกอบอื่น ๆ เอาไว้เท่าที่จะทำได้นะคะ

⭗ มีผู้คนมากมายที่มารวมกันอยู่ลานด้านหน้า Jama Masjid

⭗ จุดตั้งของ Jama Masjid ช่วงนั้นกำลังบูรณะอาคารกันอยู่เลยมีสแลนสีเขียวคลุมส่วนที่เคยเป็นโดมเอาไว้ พื้นที่บนเขาที่ตั้งเป็นฉากหลังคือพระราชวังเลห์ ส่วนเหนือถัดไปจากนั้นอีกเป็นวัดที่ชื่อว่า Namgyal Tsemo Gompa

⭗ ผู้นำทางศาสนาขึ้นกล่าวพูดที่โพเดียม ทางด้านซ้ายมือหากมองดี ๆ จะมีม้าสีขาวยืนอยู่หนึ่งตัว

⭗ เด็กชายที่มายืนประจำจุดแจกน้ำ คอยยื่นส่งแก้วเครื่องดื่มให้กับผู้คนที่ผ่านมาแถวนั้น
ช่วงที่ไปเก็บภาพใกล้กับลานประกาศชั่วคราว มีเด็กคนหนึ่งมายืนประจำจุดแจกน้ำกับคุณพ่อได้หยิบเอาน้ำ มาแจกให้เรา จำรสชาติไม่ได้แล้วว่าเป็นน้ำอะไร มีโรยต้นหอมหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ไว้ด้วย...ตอนไปอยู่ตรงนั้น รู้สึกประหม่าไม่น้อยเลย คืออยู่ท่ามกลางผู้คนที่มาร่วมพิธีทั้งนั้น (ทำให้รู้สึกเหมือนกับว่า ฉันมาโผล่ผิดที่ผิด ทางหรือปล่าวเนี่ย) หลังจากที่น้องยื่นน้ำมาให้ แม้จะเป็นหน้าที่หรือน้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็เถอะนะแต่ก็ช่วย ทำให้เราเริ่มคลายความกังวลมากทีเดียว ระหว่างที่เห็นผู้นำศาสนาขึ้นไปยืนกล่าวอะไรบางอย่าง ก็สังเกตเห็นด้านข้างโพเดียม มีม้าขาวหนึ่งตัวถูก จับใส่เครื่องตกแต่งประดับประดาบนตัว พร้อมกับนกพิราบทั้งสองบนหลัง (ไม่รู้ว่าใช้เป็นสัญลักษณ์อะไรนะ ยังหาคำตอบไม่ได้) หลังจากจบสิ้นคำกล่าวจากผู้นำฯ ไปแล้วม้าตัวนั้นก็ถูกจูงออกมาเพื่อร่วมขบวนแห่ต่อ

⭗ หลังเสร็จสิ้นการกล่าวคำเทศนา พวกเขาก็เริ่มกลับมาตั้งแถวเพื่อดำเนินพิธีการกันต่อ (ภาพนี้เป็นกลุ่มที่อยู่ต้นขบวน)

⭗ หัวขบวนแถวของอีกกลุ่มที่อยู่ถัดไป

⭗ ม้าสีขาวและนกพิราบ

⭗ เมื่อเสียงร้องนำจากหัวขบวนเริ่มขี้นพวกเขาก็ยกชูมือขึ้นพร้อมตีลงอกเพื่อขานรับตามจังหวะ

⭗ กลุ่มคนสวมชุดขาวที่อยู่ตรงกลางวงจะถืออุปกรณ์และของมีคมสำหรับการตีตัวเอง

⭗ บ้างก็ติดมีดโกนที่ติดไว้ปลายโซ่

⭗ หญิงชราชาวลาดักที่มายืนดูการดำเนินพิธีฯ

⭗ ตำรวจที่มาคอยดูแลในงาน

⭗ นอกเหนือไปจากนั้นยังมีตำรวจหญิงที่เข้ามาดูแลความเรียบร้อยอีกด้วย

⭗ อีกมุมหนึ่ง
⭗ คณะที่อยู่ท้าย ๆ พากันตีอกเป็นจังหวะเดียวกัน เมื่อเสียงจากหลาย ๆ คนถูกดำเนินไปพร้อมกันมันค่อนข้างดังพอสมควร พี่ชุดดำที่ยืนเด่นบนที่สูง ๆ นี่เห็นเขาเอาฝาขวดน้ำพลาสติกมาเจาะรูคล้ายกับฝักบัว ยืนบีบน้ำโปรยปรายดับร้อนให้คนที่ยืน รวมกันตรงนี้ เป็นช่วงที่แดดแรงมากใครอยู่กลางแจ้งนานเกินไปมีสิทธิ์เป็นลมได้ง่ายเลย (มีคนเป็นลมระหว่างนั้นจริง ๆ นะ)

⭗ พื้นที่หน้าทางขึ้นของศูนย์การค้า ถูกดัดแปลงเพื่อรองรับหน่วยพยาบาลที่มาประจำการชั่วคราว

⭗ ออกมายืนดูบรรยากาศจากที่พื้นที่รอบนอกบ้าง

⭗ มัสยิดอีกแห่งที่ตั้งอยู่ฝั่งเดียวกับที่ทำการไปรษณีย์ (เราไม่ทราบชื่อนะคะ) ฟากที่เรายืนอยู่กำลังมีงานก่อสร้าง เลยมีแนวเขตกั้นไว้ มีคนงานชาวอินเดียสองคนกำลังร่วมยืนดูขบวนพิธีด้านหลังแผ่นรั้วสังกะสี

⭗ กลุ่มเด็ก ๆ ที่พากันออกมาเดินด้านนอกขบวน เวลานั้นก็เริ่มใกล้จบพิธีแล้ว
นอกเหนือไปจากนี้จะยังมีหน่วยพยาบาลเคลื่อนที่ และอาสาสมัครที่จะมาคอยสังเกตการณ์อยู่ใกล้ ๆ ด้วย เพื่อคอยดูอาการ ทำแผล ห้ามเลือด หรือนำผู้ที่มีอาการบาดเจ็บสาหัสและเป็นลมออกไปรักษาอย่างว่องไว และอีกทีมหนึ่งที่จะไม่เอ่ยถึงก็ไม่ได้คือหน่วยรักษาความสะอาด เพราะพื้นที่จัดพิธีฯ จะใช้เส้นทางถนนคน- เดิน (เราไม่รู้ว่าเริ่มต้นจากจุดไหน) เคลื่อนที่มาเรื่อย ๆ จนถึงใจกลางตลาด เมื่อขบวนแห่กลุ่มแล้วกลุ่มเล่า เริ่มทยอยไล่เรียงมาจนถึงจุดสิ้นสุด คนกวาดขยะ ขัดถนนก็ลงมือจัดการเคลียร์พื้นที่ พร้อมกับฉีดน้ำล้าง รอยเลือดบนถนนและทางเดินต่อจากนั้น
ขบวนพิธีฯ จะเดินมาสิ้นสุดลงตรงบริเวณหน้าเวทีหัวมุมตลาด หลังจากนี้เราก็ไม่ได้เฝ้าติดตามต่อแล้ว พอจบงานทุกอย่างจัดการได้อย่างรวดเร็วมาก ในช่วงเวลาเย็นก็พบว่า ที่ใจกลางตลาดกลับสู่สภาวะปกติ เช่น มีร้านเปิด มีผู้คนมาเดินเที่ยว มองแทบไม่ออกเลยว่าเมื่อช่วงกลางวันมีงานจัดใหญ่โต -- สมมติวันนี้ เรากลับมาถึงเลห์ในช่วงเวลาเย็น ก็มีแนวโน้มที่จะไม่รู้เรื่องไปเลยนะเนี่ยว่าเกิดอะไรขึ้น
[วีดิโอที่บันทึกไว้]
แม้จะมีคำถามมากมายที่ผุดขึ้นมาในหัว ขณะที่อยู่ร่วมในพิธีฯ ดังกล่าว ด้วยความรู้สึกที่ไกลห่างจากการความเข้าใจผ่านการรูปแบบการสื่อสาร ที่ใช้ประกาศเล่าถึงตำนานวีรชนและวิธีร่วมรำลึกถึงความเจ็บปวดครั้งนั้น จากมุมมองของคนนอกอย่างเรา ถามว่ากลัวมั้ย? ลึก ๆ แล้วก็แอบมีอยู่บ้าง โดยเฉพาะตอนที่เลือดของใครบางคน กระเด็นมาถูกมือและเสื้อ เพราะเผลอลืมตัวไปยืนเก็บภาพในระยะใกล้

⭗ หยดเลือดที่กระเด็นมาโดนตัวและเสื้อผ้า ในจังหวะที่เข้าไปเก็บภาพระยะใกล้
ถึงจะได้รวบรวมภาพมาเป็นจำนวนหนึ่งแล้ว แต่เคยมั้ยที่บางครั้งยังรู้สึกไม่พอไม่ว่าจะบรรยากาศ พาไปหรืออยากถ่ายรูปจนลืมตัวก็ไม่รู้ ช่วงจังหวะหนึ่งเราไปยืนเก็บภาพ ของขบวนที่อยู่ท้าย ๆ ชายชุดสีขาวที่มีพวงโซ่และของมีคมอยู่ในมือรายหนึ่ง เขามีเลือดที่นองเต็มตัวไปหมด พอเมื่อ เราหยิบยกมือถือขึ้นมาเพื่อบันทึกภาพดังกล่าว เจ้าเด็กชุดขาวที่ใส่เครื่องแบบยาวกรอมเข่า (ไม่รู้ ว่าน้อง ๆ มีหน้าที่อะไรในพิธีฯ เห็นใส่ชุดที่ว่าอยู่ไม่กี่ราย) มาสะกิดห้าม คงดูไม่สมควรที่จะเก็บ รูปตรงหน้านั้นเอาไว้และอาจดูเหมือนไม่ให้เกียรติเขาก็ได้ ถ้าหากภาพดังกล่าวถูกไปเผยแพร่ ออกไปด้วยความไม่เข้าใจที่ดีพอ
ประสบการณ์วันนี้มากมายหลายความรู้สึกเหมือนกันนะ แต่ได้ทำให้เราได้เรียนรู้มากขึ้นเช่นกันในอีกมิติสังคมหนึ่งที่เรียกว่า พหุวัฒนธรรม คือการรวมกันของผู้คนที่หลากหลาย ทั้งแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ความเชื่อ ภาษา การแต่งกาย ประเพณี ฯลฯ ที่เกิดขึ้น ณ พื้นที่แห่งนี้ ผ่านการยอมรับและ เข้าใจของพวกเขาก็เพื่อที่จะดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
…..
เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง อื่น ๆ
(1) ฮ.ศ. ย่อมาจาก ฮิจเราะห์ศักราช เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี ฮ.ศ. 61 เทียบเท่ากับ ค.ศ. 680 ปฎิทินของอิสลามจะมีอิงตามจันทรคติ หนึ่งปี มี 354 หรือ 355 วัน และเผื่อใครอยากลองคำนวนก็ลองไปค้นสูตรกันที่นี่ : การเปลี่ยนระหว่าง ฮ.ศ. กับ ค.ศ.
(2) พิธีแห่เจ้าเซ็น ในประเทศไทย เคยนำเสนอผ่านรายการไทยบันเทิง ทางช่อง Thai PBS : https://www.youtube.com/watch?v=kw6in5YiOYA
Create Date : 02 กรกฎาคม 2564 |
Last Update : 6 กรกฎาคม 2564 0:05:10 น. |
|
1 comments
|
Counter : 1600 Pageviews. |
 |
|
แวะเข้ามาปรับเกลาขยายความบางประโยค
พร้อมแก้คำผิดที่ตกสำรวจลืมตรวจทานตอนพิมพ์เสร็จ
(มีเพียบเลยอ่ะ) ก็คิดว่าคงไม่น่าจะมีอะไรต้องแก้ไขเพิ่ม
เติมแล้วละนะ ^^
ว่าแล้วก็โชว์ภาพน้ำที่ได้แจกมาดื่มวันนั้นด้วยละกัน
เผื่อมีคนสงสัยว่าน้ำโรยต้นหอมหน้าตาเป็นยังไง