Ladakh 2019 - สถานีต่อไป Likir
ต่อจากเอนทรี่เดิม : แวะ Hemis Shukpachan เมื่อฉันยังไม่อยากกลับเลห์ (2)

เส้นทางการเดินรถที่วิ่งไปยัง Likir จาก Hemis Shukpachan
"โนโม่ อยากพักอยู่ที่นี่มากกว่าคืนนึงแต่ก็ติดเรื่องเที่ยวรถโดยสารกลับเลห์ที่มีแค่รอบพรุ่งนี้ใช่มั้ย"
คำถามจากครอบครัวพี่อังโม่นี้ ทำให้ฉันแอบคิดนะ ถ้าเกิดว่าในวันรุ่งขึ้นไม่มีรถวิ่งออกไปจากหมู่บ้านนี้จะทำ ยังไง จากคำบอกของกลุ่มคนที่ร้านค้าข้างวัดที่ว่ามีรถวิ่งไปเลห์แค่ วัน-เว้น-วัน และโชคยังดีที่วันถัดไปตรง กับกำหนดการพอดี คำตอบบ้าบอที่นึกขึ้นได้หนะเหรอ ถ้าเกิดพรุ่งนี้ไม่มีรถ...ก็คงหาทางเทรกไป Likir
คนที่บ้านนั้นยืนยันว่ารถประจำทางวิ่งผ่าน Likir อ่ะมีอยู่ และย้ำบอกว่าอย่าคิดเดินเท้าไปเลยมันไกล ฉันรู้ ว่าเรื่องการเดินทางไกลข้ามเขาข้ามหมู่บ้านในระยะทางไกลและสูงชันของชาวลาดักไม่ใช่สิ่งประหลาด เอาน่า! เรามาคนเดียวและไม่ใช่คนพื้นที่แถมยังไม่รู้ทิศทางแบบเขาก็ไม่ต้องคิดจะห้าวก็ได้ ในเช้าวันถัดมา ฉันนั่งรถออกจากหมู่บ้านประมาณ 8 โมงเช้า มีคนช่วยกำชับคนขับให้ก่อนออกรถ ถ้าไปถึง จุดลงรถที่ Likir ก็อย่าลืมหันมาบอกด้วย เพราะรถคันนี้วิ่งไปไม่ถึงที่หมายนั้นโดยตรง

กระสอบบรรจุข้าวและอื่น ๆ ที่มาวางกองรวมกันบริเวณที่ว่างตรงด้านหน้าของรถ
หน้าที่หลักของคนนั่งเบาะตำแหน่งด้านหน้า
แนะนำว่าที่นั่งที่ปลอดภัยก็คืออยู่ใกล้ ๆ กับคนขับรถค่ะ ไว้กดดันไม่ให้ลืมบอกเราว่าถึงที่หมายเมื่อไหร่ไป- ในตัว อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องบอกคือโซนด้านหน้านี้มีพื้นที่กว้างสำหรับวางของเยอะ...เมื่อถึงจุดจอดตรงหมู่บ้าน ก็มักเจอการรับฝากข้าวของส่งไปยังตัวเมือง ไม่ก็จุดรับฝากของปลายทาง ณ ที่หนึ่งของการนัดหมาย มาสุม กองอยู่ตรงโซนหน้านี้เป็นประจำ ตามมารยาทแล้วก็ต้องช่วยเขาเคลียร์พื้นที่และคอยดูแลให้ด้วย
 เส้นถนนที่วิ่งเลาะเลียบไปตามไหล่เขาบางครั้งก็มีปัญหา...ต้องอาศัยรถแบ็คโฮมาเคลียร์ให้
เมื่อผ่านมาถึงหมู่บ้านหนึ่ง เดาว่าน่าจะเป็น Yangthang มีผู้หญิงต่างชาติมายืนรอขึ้นรถพร้อมกับคนพื้นที่ แอบคิดว่าพวกเขาน่าจะมีแนวโน้มไปลงยัง Likir เหมือนกันแน่ ที่นั่นค่อนข้างเป็นหนึ่งในจุดหมายของ นักท่องเที่ยวอยู่แล้ว แต่ก็ผิดคาด...พอมาถึงทางแยกที่ต้องลงรถ ไหงกลับมีแค่ฉันคนเดียวที่ต้องลงตรงนั้น คนขับรถบอกให้เดินต่อไปเองบนทางเนินอีกราวสองกิโลเมตร
หลังรถวิ่งหายลับตาไปแล้ว รู้สึกวังเวงเป็นบ้า

พอใกล้ถึงปลายทางคนขับก็บอกให้รู้ว่าอาคารสีขาวที่ตั้งเด่นไกล ๆ นั่นคือ Likir Monastery
 รถหักเลี้ยวมาอีกทางเพื่อวิ่งออกถนนใหญ่ โดยหยุดจอดให้ลงตรงนี้

เดินตรงไปตามป้ายเลย เส้นทางก็ไม่ซับซ้อนอะไร
ระหว่างทางที่เดินขึ้นเนินไปเรื่อย ๆ บริเวณตำแหน่งซ้ายมือ คือที่ตั้งของชุมชน Likir ซึ่งก็มีบ้านเรือน โรงเรียน ป้ายบอกทางไปร้านอาหาร เกสเฮาส์ติดอยู่ด้วยแต่มันก็ไกลห่างจากจุดหมายมากอยู่ดี น่าจะไกลเกิน 2 กิโลฯ พอเห็นที่ตั้งอารามสงฆ์กับทางถนนที่พาเลี้ยวอ้อมโลกด้านล่างโน่น -- Oh ju! หาทางลัดเดินไปดีกว่าค่ะ แอบได้ยินเสียงพึมพำ ๆ มาจากฝั่งคนอ่าน เฮ้ย...จขบ. มันรู้ได้ไงว่าทางลัดอยู่ไหน 

มีคนมาเขียนแผนที่ไว้บนหิน โอ๊ะ...เดินไปอีกห้าสิบเมตรเอง

พอข้ามมายังฝั่งที่ว่าในระยะห้าสิบเมตรก็พบทางลัด...และลายแทงบนหินบอกว่าต้องเดินต่อไปอีกหนึ่งกิโลเมตร จ้าาาา

แล้วมันก็ไม่ใช่ทางราบ แต่เป็นทางลัดที่พาขึ้นเขาลงห้วยชัด ๆ

แถวนี้มีทางน้ำไหล มีต้นไม้ ดูสดชื่นดีเห็นแล้วก็รู้สึกหายเหนื่อยขึ้นมาบ้าง

ปีนขึ้นมาถึงเนินด้านบนแล้ว ขอถ่ายภาพย้อนเส้นทางที่เดินไกลมาจากฟากโน้นสักหน่อย มองไม่เห็นจุดลงรถหรอกค่ะ โค้งนั้น โดนเนินเขาบังอยู่
ตอนแรกไปเจอเกสเฮาส์เล็ก ๆ ชื่อ Old Likkir ตามลายแทงที่พามา มันอยู่กลางทุ่งบรรยากาศดีเลยแหละ ดูฮิปใช้ได้ ด้านในมีบอร์ดประชาสัมพันธ์ขนาดเล็กติดบอกราคาที่พักและบริการอื่น ๆ อย่างเช่นการจัดนำ เส้นทางเดินทางไกล พาเทรกข้ามเขาเชื่อมไปยังหมู่บ้านหรือพื้นที่อื่นซะด้วย แต่เหมือนจะไม่มีคนอยู่ดูแล ส่งเสียงเรียกแล้วไม่มีสัญญาณตอบรับ ได้ยินแค่เสียงเพลงตะวันตกแว่วมาจากลานชั้นสอง คงเป็นเพลงของ นักท่องเที่ยวที่มาพัก...ก็เลยออกจากที่นั่นไปยังทิศทางใหม่แทน ผ่านท้องทุ่งข้าวบาร์เลย์ที่กำลังรอเก็บ เกี่ยวผลผลิตในเวลานี้ และจุดตั้งสถูปเก่า ๆ สีขาวขนาดเล็กและใหญ่คละปนกันไป
เส้นทางไปยังหน้าวัดที่ดูไกลห่าง คงมีบ้านคนอาศัยอยู่เพราะมีถนนเชื่อมถึง หวังว่าแถวนั้นจะมีที่พักเงียบ ๆ ให้ได้ค้างแรมหรือหากไม่มีค่อยย้อนกลับมาที่เก่าก็ยังไหว เมื่อเดินไปจนเกือบถึงหัวโค้ง ก็เจอพระรูปหนึ่ง ขับมอเตอร์ไซค์ลัดทุ่งสวนทางมาพอดี เลยต้องรีบโบกถามถึงเกสเฮาส์ที่อยู่ฟากโน้นว่าพอจะมีมั้ย เผื่อจะได้ ไม่ต้องย่ำเท้าต่อให้เสียเที่ยว หลวงพี่บอกว่า...เดินไปอีกหน่อยแถววัดมีให้เลือกเยอะแยะ

ซุ้มตรงทางเข้าวัด ส่วนอาคารทางซ้ายมือเป็นที่ตั้งของสถาบันสงฆ์

กงล้ออธิษฐานบริเวณทางเข้าหน้าวัด แถวนี้มีร้านขายอาหารนะคะ
ฉันมาถึงลานจอดรถหน้าวัด พร้อม ๆ รถยนต์คันหนึ่งที่ตรงเข้ามาจอดเทียบ เห็นพวกเขากำลังเตรียมขนข้าว- ของ เครื่องใช้ในครัวเรือน อย่างกระติกน้ำร้อน หม้อนึ่ง แล้วก็เคียวเกี่ยวข้าวอีกสองสามเล่มลงจากรถเพื่อนำไป ไว้บนวัด ดูทรงแล้วไม่น่าใช่นักท่องเที่ยวหรือคนต่างถิ่นนะ ...ไม่รู้คิดยังไงแต่ฉันอยากลองถามพวกเขาดูเรื่อง ที่พัก พี่คนขับเลยหันไปคุยกับป้าแล้วบอกให้รอตรงนี้ครู่หนึ่ง เดี๋ยวให้ป้าพาไปที่บ้านเพราะแกเปิดบ้านให้ นักท่องเที่ยวมาพักอยู่พอดี

กะโหลกแพะและมัดกิ่งไม้ที่นำมาผูกเป็นกรอบล้อม ถูกวางไว้ตรงเนินดินที่ก่อไว้ตรงข้างบ้าน
ที่พักใน Likir หนนี้อยู่ไม่ไกลไปจากวัดและหน้าถนนใหญ่เท่าไหร่ สามารถเดินทะลุถึงกันได้สบาย ๆ สำหรับ โฮมสเตย์ที่ป้าทำอยู่นั้นมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจที่เป็นกิจลักษณะค่ะ วันนี้ก็เลยได้ทำตัวเหมือนนักท่องเที่ยว กะเขามั่ง โอเค...ได้ที่พักแล้ว (เลิกบ่นซะที) เดี๋ยวพาขึ้นไปเที่ยวชมวัดพอกรุบกริบและสภาพแวดล้อมของ พื้นที่รอบ ๆ หมู่บ้านนี้ต่อเลยนะคะ
ก็ตามอย่างที่เห็น Likir มีหมู่บ้านตั้งอยู่อีกฝั่งหนึ่งหากผ่านเข้ามาจากทางถนนใหญ่ก็จะผ่านจุดที่ตั้งชุมชน ส่วนฟากที่ตั้งของวัดก็เป็นพื้นที่เพาะปลูกเสียส่วนใหญ่ หมู่บ้านนี้อยู่ไกลจากเลห์ประมาณ 58 กิโลเมตร หลายคนมักแวะมาเที่ยววัดกัน อารามสงฆ์แห่งนี้ก่อตั้งมาในช่วงศตวรรษที่ 11 ด้วยความที่ไม่ได้ถูกทิ้งร้าง จึงไม่ได้ดูทรุดโทรมมากเสียเท่าไหร่ เคยสังเกตอยู่ว่า วัดแถวนี้เขาพยายามบูรณะให้คงสภาพเดิมมาก ๆ นะ ก็เลยตรึงความรู้สึกเก่าแก่โบราณเอาไว้ได้แบบไม่ต้องพยายาม ยกเว้นพระพุทธรูปสีทององค์ใหญ่ข้างวัด ที่เพิ่งสร้างขึ้นภายหลังเมื่อปี ค.ศ. 1999
เมื่อเดินเข้าไปยังพื้นที่ด้านในก็จะมีแนวลูกศรชี้บอกทางไปจนถึงจุดสิ้นสุด ไม่รู้ว่าวันนี้มาผิดเวลาหรือบริเวณ ชั้นสองปิดทำการประตูบนนั้นล็อคไว้ เจอแค่พระที่นั่งเฝ้าจอภาพวงจรปิด เห็นนักท่องเที่ยวคนอื่น ๆ ที่เดินนำ มาก่อนหน้าต้องเดินย้อนกลับลงมาเหมือนกัน ก็เลยไม่ได้เข้าไปเยี่ยมชมจนครบหมด

บริเวณกลางลานวัดด้านในมีที่ตั้งของธงผืนยาวปักอยู่

ประตูทางเข้าวิหาร

โต๊ะสำหรับทำวัตรสวดมนต์ ตอนนี้เลยเวลาแล้วเลยไม่ได้เห็นช่วงประกอบพิธี มีแค่เสื้อคลุมที่จัดเรียงวางไว้พับไว้อย่างเป็น ระเบียบส่วนหมวกที่เห็นแขวนตรงเสาข้าง ๆ กลองสีเขียวคงไม่ต้องเดาให้ยากเนอะว่าเป็นอารามสงฆ์นิกายไหน คำตอบคือ Gelug หรือ เกลุกปะ "นิกายหมวกเหลือง" นั่นเอง

ภาพจำลองของทะไลลามะองค์ปัจจุบันตั้งอยู่บนธรรมาสน์ตรงเบื้องหน้า

ขึ้นมาที่ด้านบนแล้วก็ต้องกลับเพราะห้องถูกปิดกุญแจไว้

ภาพถ่ายเก่า ไม่รู้ว่าบันทึกในปีไหน

ดอกไม้ที่ปลูกไว้เป็นสีสันในฤดูร้อนตรงระเบียงด้านนอก

พื้นที่ด้านหลังที่เป็นท้องนา -- รูปนี้ถ้ามองดี ๆ จะเห็นคนยืนเกี่ยวข้าวที่นาแปลงหนึ่ง

น่าจะเป็นข้าวบาร์เลย์

เจอเจ้าถิ่นตัวนึง
เรื่องของอาหารการกิน สำหรับนักท่องเที่ยวที่แวะมาเที่ยว Likir Monastery บริเวณทางเข้าด้านหน้าจะเจอกับ ร้านขายอาหารอยู่สองแห่งและร้านขายของทั่วไปหนึ่งร้าน ลูกค้าประจำของร้านที่ว่ามักเป็นเณรและเด็กพอถึง ช่วงพักเบรกก็ออกมาซื้อขนม มีโรงเรียนวัดตั้งอยู่ถัดไปบริเวณด้านหลังร้านขายของ เห็นมีป้ายติดไว้หน้าประตู ของโรงเรียนว่ายินดีต้อนรับผู้มาเยือน ถ้าเข้าไปเยี่ยมชมช่วงบ่ายก็จะการจัดน้ำชาดำมาให้ดื่ม (*เป็นคนละส่วนกับ สถาบันฯ บริเวณทางเข้าวัดนะ)
สำหรับสาย Eco ที่พกกระบอกน้ำมาเอง ก็ให้เดินไปที่ลานหน้าวัดเลยค่ะ มีจุดกรอกน้ำดื่มรองรับไว้

คอกเลี้ยงสัตว์แถวหน้าลานวัด

พื้นที่สีเขียวกลางหุบเขาและลำธารเล็ก ๆ ด้านล่าง

อีกมุมหนึ่งของ Likir Monastery ซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขาขนาดเล็ก

รถประจำทางที่วิ่งผ่านหมู่บ้านในช่วงเย็น มีการทยอยส่งข้าวของที่ผูกติดไว้บนหลังคาให้กับชาวบ้านที่มารอ

บรรยากาศหลังพระอาทิตย์ตกผ่านวิวหน้าต่างที่พัก

ห้องรับแขกที่โฮมสเตย์ พวกตู้โชว์ของแต่ละบ้านก็สไตล์นี้ทั้งนั้นคือ มีหม้อ,ไห,ถ้วย,ชาม ให้ดู

พื้นที่ครัวด้านในอีกห้อง ป้าเรียกให้มากินมื้อค่ำที่นี่แทนเพราะห้องนี้มีโทรทัศน์ เราเลยนั่งกินข้าวไปพร้อม ๆ กับดูหนังอินเดีย
คืนนี้มีแค่ป้ากับฉันที่อยู่กันแค่สองคน เรานั่งกินข้าวมื้อเย็นพร้อมกัน ผักที่นำมาทำอาหารก็เก็บจากแปลง ปลูกข้างบ้านเด็ดกันสด ๆ ล้างน้ำแล้วก็เอามาปรุง พืชผักสวนครัวหลัก ๆ ก็มี มันฝรั่ง ถั่วลันเตา แครอท กะหล่ำดอก ปาลัก (คล้าย ๆ กับ Spinach) มะเขือเทศ ...ไม่แน่ว่าอาจมีเยอะกว่านี้
ฉันแอบเห็นมีใบไม้แห้งวางผึ่งไว้บนถาดด้วยทีแรกก็นึกว่าเป็นชา แต่ที่จริงแล้วคือ ใบปาลัก ป้าบอกว่าต้องเอามาตากแห้งเก็บไว้สำหรับกินช่วงฤดูหนาว เพราะในเวลานั้นเพาะปลูกอะไรไม่ได้ ซึ่งนั่นคือเรื่องปกติของคนที่นี่ พวกเขารู้จักวิธีการถนอมอาหารไว้เก็บกินนอกฤดูกาลมาตั้งไหนแต่ไร การออกไปจ่ายตลาดเพื่อซื้อหาอาหารคือวิถีไม่ค่อยปกตินัก (ฮา)
ฉันแอบสงสัยว่าแล้วกิจการบ้านพักในฤดูนั้นจะตั้งรับกับนักท่องเที่ยวกันยังไง? ป้าตอบแบบไม่ต้อง คิดอะไรให้ซับซ้อนยุ่งยาก "ก็ปิดสิ ...ช่วงหน้าหนาวไม่ค่อยมีคนมาพักค้างแรมกันอยู่แล้ว" ฟังแล้วรู้สึกดีใจจัง ที่ได้มาเที่ยวตอนฤดูร้อน อย่างน้อยเรื่องอาหารการกินมันก็ดูหาง่ายกว่าเป็นไหน ๆ
"อื่น ๆ"
* ระยะทางไกลจาก Leh มา Likir เราอิงตามตัวเลขที่ระบุบนแผนที่นะคะ
* ข้อมูลของที่พักกลางทุ่งที่หลงไปเจอลงเผื่อไว้เป็นแนวทาง สำหรับคนรักบรรยากาศกลางท้องนาละกัน Old Likkir guest house (Old Likkir Traditional Farmstay) ที่อยู่เพจ : Ladakh Trekking Oldlikkir Guest House ส่วนเว็บไซต์ที่เขียนบอกไว้บนหิน https://www.oldlikkir.com นั่นเปิดไม่ได้ * โฮมสเตย์ที่ได้เข้าพักวันนั้นคือ Chuma Homestay ก็สะดวกตรงที่มีรถประจำทางที่วิ่งไปเลห์รอบเช้าวิ่งผ่านหน้าบ้านพอดี
Create Date : 29 กรกฎาคม 2563 |
Last Update : 3 สิงหาคม 2563 14:01:25 น. |
|
12 comments
|
Counter : 1177 Pageviews. |
 |
|