Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2563
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
3 กรกฏาคม 2563
 
All Blogs
 
Ladakh 2019 - แวะ Hemis Shukpachan เมื่อฉันยังไม่อยากกลับเลห์ (2)





พื้นที่เพาะปลูก ต้นไม้ หุบเขาและที่ตั้งของชุมชน


 
หลุดจากทุ่งนา เราลงจากรถกันที่หน้าบ้านหลังหนึ่งที่ดูใหญ่โต 
อาซังเลเดินออกไปเปิดรั้วและขับรถจอดข้างบ้าน คงถึงที่หมายแล้วสินะ
ฉันลงจากรถและช่วยหยิบข้าวของที่ซื้อมาจากในเมืองลงมาวางกองกับพื้น
พอเมื่อทุกอย่างเรียบร้อยดีแล้ว อาซังเลก็ชี้ให้ดูบ้านอีกหลังที่อยู่ฝั่งตรงข้าม
มันดูเก่าแก่แต่ก็ถือว่าเป็นบ้านหลังใหญ่ที่มีส่วนต่อเติมเพิ่มขยาย

บริเวณด้านหน้าทางเข้า ฝั่งหนึ่งปลูกข้าวและมีแปลงผักสวนครัว ส่วนอีกด้านมี
โครงสร้างของโรงเรือนหลังเล็ก ๆ "ฉันเกิดที่บ้านหลังนั้น อยู่มาตั้งแต่เด็ก"
แล้วลุงก็เดินนำลิ่วไปที่บ้านฝั่งตรงข้ามเพื่อพาฉันไปทำความรู้จักกับน้องสะใภ้
ที่ชื่ออังโม่ ผู้ทำหน้าที่ดูแลบ้าน ก่อนที่เขาจะขอแยกตัวกลับบ้าน  "เธอพักที่นี่
ละกัน อยากจะอยู่กี่วันก็ได้ตามใจเลย"






หน้าบ้านที่อาซังเล พามาส่งและฝากฉันอยู่กับอีกครอบครัวหนึ่ง 


ถึงในเวลานี้จะมีเพียงแค่พี่อังโม่ที่กำลังวุ่นอยู่กับงานครัว แต่ในความจริงบ้านนี้
ประกอบไปด้วยสมาชิกอื่นนอกเหนือจากนี้สามคน นั่นคือสามีและแม่ อีกทั้งยังมี
แม่ชีที่เป็นพี่สาวอีกหนึ่งที่กลับมาเยี่ยมบ้านบางครั้งบางครา แต่พูดไม่ทันขาดคำ
ฉันก็ได้ยินเสียงโต้ตอบคุยกันดังมาจากลานด้านล่างเป็นผุ้หญิงมีอายุและแม่ชีที่
ดูมีอายุราวสามสิบกว่า ๆ กำลังหอบหิ้วลังแอพริคอตมาส่งให้แม่เฒ่าที่ยุ่งอยู่กับ
การตากผลไม้ 




พื้นที่ทำครัว ห้องอาหาร ห้องรับแขก และอื่น ๆ ที่ทุกคนต่างต้องมารวมตัวกัน 
บ้านนี้ยังคงมีเตาแบบโบราณตั้งโชว์ให้เห็น (สำหรับอุ่นอาหารและทำหน้าที่ให้ความ
อบอุ่นภายในห้อง) ถึงปัจจุบันนี้พวกเขาจะใช้เตาแก็สสำหรับหุงต้มร่วมด้วยก็ตาม 




แม่ชี ผู้เป็นญาติของคนในบ้านกำลังเดินขึ้นมา หลังจากที่ยกลังใส่แอพริคอตมาวางให้
อาบีเล ที่กำลังสาละวนอยู่กับการตากผลไม้และ
ที่ลานกลางบ้าน 


เมื่อแม่ชีก็เดินขึ้นมาถึงบนบ้าน เธอยิ้มทักและหันกลับไปคุยกับพี่อังโม่ พลาง
หยิบเอาแป้งมานวด ๆๆๆ เพื่อเตรียมทำจาปาตีสำหรับมื้อกลางวัน พี่อังโม่เรียก
แม่ชีสาวคนนี้ว่า อาเช่ (พี่สาว) ฉันก็เลยต้องเนียนเรียกตามไปด้วยเพราะจำชื่อ
ไม่ได้น่ะ ...ถึงชื่อของคนแถวนี้มักตั้งกันแบบซ้ำไปมาแต่ในสารบบความจำของ
ตัวเอง   ยังไง ๆ มันก็ไม่ค่อยคุ้นกับอิทธิพลทางภาษาที่ได้รับมาจากทิเบตดีนัก
ก็เลยต้องอาศัยใช้ศัพท์เครือญาติเรียกแทนไปตามระเบียบ...
ขออภัยในความขี้ลืม





คอกเลี้ยงวัวข้างบ้าน โดยมากก็เลี้ยงไว้รีดนม ไถนา แล้วก็เป็นตัวผลิตเชื้อเพลิงจากอึ
ตากแห้งของมัน ส่วนอีกหน้าที่พิเศษของพวกมันก็คือช่วยกิน (กำจัด) เศษอาหารเหลือ 
ของคนอีกทาง





พื้นที่ซักตาก วางผ้าผึ่งกันบนพุ่ม sea buckthorn กันง่าย ๆ แบบนี้ไปเลย   
นี่เป็นชุดของผู้หญิงลาดักที่สวมทับเอาไว้ด้านนอกค่ะ (มีรูปในเอนทรี่ก่อนหน้า)

 

บริเวณที่ตั้งของบ้าน...ขอเรียกว่าอยู่ท้ายทุ่งละกัน มันอยู่ในตำแหน่งท้ายสุด
คือถ้าหลุดไปจากนี้ก็คือทางที่รถวิ่งผ่านมาแล้วนั่นเอง ส่วนใจกลางชุมชนและ
จุดขึ้นรถโดยสาร ตั้งอยู่ห่างไกลไปจากบ้านหลังนี้เป็นกิโล 

หลังกินข้าวมื้อกลางวันร่วมกับพี่อังโม่และแม่ชี พวกเขาก็จะแยกย้ายไปทำงาน
ฉันเลยถือโอกาสใช้เวลาครึ่งวันที่เหลือออกเดินไปรอบ ๆ หมู่บ้าน กลางหุบเขา
ทะเลทรายที่แวดล้อมไปด้วยฉากของความแห้งแล้งรายรอบ...





ออกจากบ้านก็เดินไปเรื่อย ๆ ตามเส้นถนนหลัก 



แถวนี้ก็มี แอปเปิ้ล แอพริคอต ปลูกกันประปรายตามบ้าน ได้ยินมาว่าถ้าอยากไปแหล่ง
ปลูกผลไม้เมืองหนาวที่ขึ้นชื่อก็ต้องไปที่หมู่บ้าน Saspol




ต้นจูนิเปอร์ (Shukpa) เป็นต้นที่ใหญ่มาก ๆ น่าจะอายุเยอะแล้วด้วย  ใบของจูนิเปอร์ จะถูก
นำมาตากแห้งเพื่อใช้เผาเป็นเครื่องกำยานสำหรับบูชา หากไปตามวัดจะได้กลิ่นคลุ้งมาก ๆ





มีโรงเรียนเล็ก ๆ หนึ่งแห่ง แต่วันนี้ไม่เห็นมีนักเรียนนะ




แอบมองวัวที่ลานบ้านคนอื่น
  



ตอนเดินมาถึงหน้าบ้านหลังนี้ ก็แอบสะดุดโครงสร้างระเบียงไม้ตรงหน้าต่างโดยบังเอิญ
ไม่เคยเห็นบ้านไหนทำยื่นออกมาอยู่ด้านนอก เลยต้องเก็บภาพเอาไว้ซักหน่อย ถ่ายมา
2 มุมเลยค่ะ 



ภาพอีกด้านหนึ่ง  คงเก่าแก่มาก ๆ เคยมีคนอธิบายเรื่องโครงสร้างของบ้านเรือนแบบดั้งเดิม
ให้ฟังว่าโครงสร้างบริเวณฐานด้านล่างจะทำหนาและมีการลาดเอนของผนังด้านนอกเป็นรูป
แบบนี้  /|    แต่สำหรับบ้านเรือนแบบใหม่ที่แม้จะสร้างให้ดูคล้ายกับของเก่า ก็มักจะก่อ
ผนังเรียบเสมอกันแบบนี้ ||   (ใช้คำถูกมั้ยเนี่ย 555)  มันก็เลยดูเปราะบางกว่าและไม่ทน
ทรหดเท่าของเดิม 




ไม่แน่ใจว่าเป็นบ้านหลังเดียวกับในหนังสือเล่มนี้มั้ยนะ (Ancient Futures) เราไม่ได้พกไป
ตอนเดินทางเลยถ่ายมาแบบไม่ทันมองหามุมที่น่าจะนำมาเทียบกันได้ แล้วก็อีกอย่างหนึ่ง
ภาพจากหนังสือเล่มนี้มันก็หลายสิบปีแล้วด้วย หากใช่มันก็คงผ่านการบูรณะไปเรียบร้อย  





สถูปเก่าที่ริมนา ... ข้าวที่ปลูกอยู่น่าจะเป็นข้าวบาร์เลย์



มี Dzo (โซ) เดินอยู่กลางทุ่งตัวนึง  



มุมจากบนวัด (จุดชมวิวที่สร้างขึ้นใหม่ สามารถมองเห็นมุมสูงได้รอบทิศ)
ภาพนี้หันหน้าไปทางทิศใต้ค่ะ  ส่วนบ้านที่มาพักวันนี้ก็สุดปลายนาตรงโน้นนนน




หากมองลงมาจากมุมสูง พื้นที่ราบด้านล่างกลับมีสภาพแวดล้อมของต้นไม้
ผืนนาและไร่สวน หลายคนก็คงสงสัยแหละว่าเห็นดูแล้ง
ขนาดนี้แล้วพวกเขาอยู่
กันยังไง คงเป็นเรื่องดีที่ได้มาเที่ยวตอนฤดูร้อน...ก็เลยหา
คำตอบได้ไม่ยาก 
  
จากบ้านที่ไปพัก บริเวณข้างบ้านมีท่อส่งน้ำที่ไหลอยู่ตลอดเวลา ก่อนที่จะออก
มาโต๋เต๋ ยังทันได้เห็นพี่อังโม่เดินหอบถังใส่น้ำมารองเอาไว้เพื่อใช้
ซึ่งน่าจะเป็น
น้ำที่ไหลงมาจากหิมะและธารน้ำแข็งบนเขา (Khang-Ri)
ที่ละลายในฤดูร้อน
คำว่าน้ำในภาษาลาดัก ก็คือ
Chu (ชุ) การลำเลียงน้ำเข้าสู่ผืนนาก็จะใช้วิธีขุด
ร่องเป็นทางยาวเพื่อชักน้ำเข้ามาในเขตพื้นที่เพาะปลูกของตน

วิธีการใช้น้ำที่มีอย่างจำกัดในรูปแบบนี้ จะต้องมีกติกามารยาทต่อกันเพื่อแบ่ง
ปันอย่างทั่วถึง...ส่วนของเรื่องของอาหารการกินในพื้นที่ชนบทแบบนี้ มักเก็บ
กินจากสิ่งที่ปลูกไว้เองแทบทั้งนั้นค่ะ  (นม โยเกิร์ต เนย ชีส ก็รีดเอาจากวัวที่
เลี้ยงไว้) แทบไม่ต้องซื้อหาอะไรมาก 


ส่วนพื้นที่ในตัวเมืองเลห์ โดยมากก็มีระบบน้ำประปาใช้ เปิดน้ำจากก็อกได้แบบ
ง่ายดาย แต่ถึงอย่างนั้นก็มักเจอมีคำเตือนหรือการขอความร่วมมือในการใช้น้ำ
อย่างประหยัดเสมอ ๆ เพราะเป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างจำกัด 





บริเวณธารน้ำไหล 



ช่องส่งน้ำและร่องน้ำ 



มีการนำหินและเสื้อผ้าเก่ามาปิดกั้นทางน้ำ เพื่อชักน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูกของตัวเอง
เมื่อได้น้ำไปใช้ตามที่ต้องการแล้ว ก็จะต้องมาเปิดช่องทางให้คนอื่นได้ใช้ต่อ  




ส่วนแหล่งน้ำธรรมชาติที่ผุดขึ้นจากใต้ดินจะถูกนำมาใช้เพื่อการบริโภค ตาม
ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า Chu-mik (Mik แปลว่า ดวงตา) ก็ฟังดูบังเอิญมากที่
ถอดออกมาเป็นภาษาไทยจะตรงกับคำว่า “ตาน้ำ” เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น
ในเรื่องของการตั้งถิ่นฐานจึงขึ้นอยู่กับแหล่งน้ำเป็นสำคัญ พูดง่าย ๆ ก็คือ
*หากไม่มีแหล่งน้ำ ก็ย่อมไม่มีหมู่บ้าน   




จากที่ตั้งของวัด เราเดินข้ามมายังอีกฟากหนึ่งที่ดูจะเริ่มไปห่างไปจากหมู่บ้านเล็กน้อย




มีป้ายปักอยู่สองป้าย ตัวแรกเป็นแผนที่และระบุตำแหน่งของสัตว์ประจำถิ่นว่าอาศัยใน
บริเวณไหนแถวนี้เป็นเขตพื้นที่อนุรักษ์ค่ะ และอยู่ภายใต้การดูแลขององค์กรที่ชื่อว่า
Snow Leopard Conservancy (SLC-IT) อยากทราบข้อมูลก็ไปที่เว็บเขาละกัน :
https://snowleopardindia.org

รอบนี้เราไม่ได้ไปเดินส่องสัตว์ไกลถึงบนเขานะคะ ให้ลุยเดี่ยวแบบไม่รู้ทิศทางนี่ไม่เอาอ่ะ 
ส่วนอีกป้ายหนึ่งเป็นกฏข้อห้ามต่าง ๆ ที่แจ้งเตือนว่าสิ่งไหนควรทำและไม่ควรทำบ้าง




สุดทางแค่นี้พอไกลกว่านี้ไม่น่ารอด มีแต่ภูเขาทะเลทรายแล้วก็ความเวิ้งว้าง 
 

มองทางไปไกลสุดถนนแล้วก็บอกกับตัวเอง พอเถอะ...ใกล้ถึงเวลาเย็นแล้ว! 
ก่อนจะทอดน่องเดินกลับ ดันไปเห็นภาพบางอย่างเข้าบนเนินทรายไกล ๆ
มันเป็นตัวอะไรบางอย่างที่ยืนอยู่อย่างโดดเดี่ยว แล้วก็จ้องมองลงมาด้านล่าง 
นั่นมัน Blue sheep, Ibex รึ Urial ก็ไม่รู้ ....แต่ไม่น่าใช่เสือดาวแน่นอน  

ฉันนึกเดาส่งไปต่าง ๆ นานา จากขนาดตัวและรูปทรง เลยลองเสี่ยงย้อนกลับ
ไปดูซักหน่อย เอาแบบค่อย ๆ ซุ่ม เดินก้าวเบา ๆ เพื่อไม่ให้มันตกใจ





ตัวประหลาดที่ยืนอยู่บนเนินดิน ใกล้ ๆ กับหินก้อนใหญ่สีน้ำตาลเข้ม 

มันแอบมีขยับหนีเล็กน้อยแต่ไม่ได้หายลับไป ฉันได้ยินเสียงกระดิ่งดังแว่วมา
แล้วอยู่ ๆ ก็ส่งเสียงร้องที่ดูเหมือนจะเป็นการหัวเราะเยาะและเฉลยตัวให้รู้ว่า
เอ็งไม่ต้องทำเป็นซุ่มแอบดูข้าแล้วมนุษย์ ~ โถ ที่แท้ก็ ลา นี่เอง!  แบบนี้ต้อง
โทษแสงแดดที่ทำให้ตาพร่าสิเนอะ 





กว่าฉันจะเดินกลับที่พักก็เย็นมากแล้ว เลยได้เห็นคนเลี้ยงวัวที่กำลังจูงวัวกลับบ้านผ่านมาพอดี
ชาวบ้านมักจะต้อนฝูงสัตว์ไปกินหญ้าบนเนินเขาที่อยู่ไกลจากตัวหมู่บ้าน ซึ่งบริเวณดังกล่าวเรียก
ว่า พู (Phu) ถือเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ค่ะ   


 
ถึงจะเป็นเวลาเย็นแต่มันก็ยังไม่มืดค่ำซะหน่อย ทีแรกฉันก็ขึ้นไปนั่งเล่นในห้อง
ครัวดูพี่อังโม่หุงข้าวจากหม้ออัดแรงดัน แล้วก็เตรียมหั่นผักที่เก็บมาจากในสวน
เตรียมทำมื้อเย็น ด้วยพื้นที่จำกัดและเรื่องทำอาหารที่มื้อนั้น จะมีแค่เพียงเมนู
เดียวนั่นคือ เท็นทุก
(Then thuk) เลยไม่มีอะไรให้ฉันได้ช่วยอะไรมากนัก

" ไปพักที่ห้องเธอก่อนก็ได้ เดี๋ยวค่ำ ๆ จะเรียกมานั่งกินข้าว"

พี่อังโม่ คงเห็นว่าฉันอาจดูนั่งเงียบ ๆ เลยชี้ไปยังห้องที่ยกให้เป็นที่นอนค้างแรม
ในคืนนี้ ฉันได้แต่ย้ายเป้ไปวางไว้ที่นั่นแล้วก็ขอตัวลงมาด้านล่างแทน ยังเห็น
อาบีเลนั่งง่วนกับแอพริคอตอยู่อย่างไม่วางมือเลยอยากเข้าไปช่วยมั่ง





ผลแอพริคอต ที่วางกองไว้ตรงนี้จะถูกนำมาแกะแยกเนื้อและเม็ด



อาบีเล (คุณยาย) แรก ๆ สื่อสารยากหน่อย แต่ก็ยอมให้ฉันร่วมวงนั่งแอพริคอต
ไปด้วย ผลไม้ชนิดนี้รวมถึงพืชเมืองหนาวอื่น ๆ ถูกนำมาทดลองปลูกโดยรัฐบาล
อินเดียหลังจากที่เข้ามาดูแลพื้นที่ของลาดัก 

เราทำการฉีกเนื้อเพื่อแยกเอาเม็ดออกมา และจะรวบรวมไปตากแห้งภายหลัง  
ส่วนของเม็ดอาจนำเอาไปทำน้ำมัน ไม่ก็กระเทาะเอาส่วนที่เป็นแกนกลางด้าน
ในมาเป็นของกินได้อีก

ฉันรู้ความลับของมันมาก่อนว่ายังมีส่วนที่กินได้จากเม็ดด้านใน   แต่น่าเสียดาย
ที่ทุก ๆ ครั้ง เมื่อฉันซื้อผลแอพริคอตแบบสด ๆ มาแล้วเก็บส่วนของเม็ดเอาไว้
เพื่อหวังทุบกินเล่นแทนถั่วภายหลัง ไม่รู้ว่าทำไมตรงแกนด้านในที่ว่ามันถึงขมปี๋
ไปซะทุกรอบ  
(เฮ้อ  ไม่อร่อยเหมือนกับที่ไปซื้อมากินซักนิด ... หากใครทราบความลับนี้
วานช่วยบอกทีเต๊อะ)





ลองของกินเล่นก่อนมื้อเย็นที่ดูไม่น่าจะเข้ากัน 

"สะตุ๊ ๆๆๆ"  

อาบีเล พูดอะไรมาก็ไม่รู้ประมาณว่า สะตุก สะตุ๊ เนี่ยแหละ...แล้วก็ชี้ไปยังด้าน
หลังของฉัน ก็หันไปควานหยิบมาให้จนถูกได้ซะที มันคือโหลพลาสติกที่ใส่
ผงซัมป้า เอาไว้ หนนี้ไม่รู้ว่าทำไมยายถึงเรียกว่า สะตุ๊ ... แหมนี่ถ้าเรียก'งัมเฟ'
คงหาเจอไปนานแล้ว เอ่อ....แล้วนี่ยายจะเอาชาด้วยมั้ยเนี่ย?

อาบีเล โบกไม้โบกมือทำท่าทางบอกว่างานนี้ไม่ต้องการชา ว่าแล้วแกก็เอาส่วน
เนื้อของผลไม้มาจุ่มลงในผงข้าวบาร์เลย์คั่วเพื่อสาธิตของกินเล่นระหว่างนั่ง
ทำงานให้ดู และชวนให้กินตาม...ซึ่งมันก็เข้ากันดีนะ 

เราแกะแอพริคอตกองนี้ได้ไม่ทันหมด อาเชเล ที่เป็นแม่ชีเดินลงมาเรียกให้ไป
รอกินมื้อเย็นบนบ้านได้แล้ว พร้อมกับช่วยเก็บของให้เข้าที่เพื่อเคลียร์ลานตาก
คงกลัวน้ำค้างลงช่วงกลางคืน  สามีของพี่อังโม่ ก็เพิ่งกลับมาถึงบ้านตอนเย็น
พวกเขาคงคุยกันถึงเรื่องแขกแปลกหน้าที่จะมาพักค้างอยู่ในบ้านคืนนี้แล้ว 


หลังมื้ออาหาร พวกเรายังคงนั่งขลุกกันอยู่ในครัวพักใหญ่ อาบีเลเปิดวิทยุฟัง
ข่าวครู่เดียว ส่วนฉันเปิดรูปถ่ายที่ในกล้องให้ครอบครัวนี้ดู พวกเขาก็อยากรู้
เหมือนกันว่าฉันไปไหนมาบ้างในลาดัก แต่พอเห็นก็แอบแปลกใจกันที่ว่าทำไม
มันถึงมีแต่รูปต้นไม้ รูปวัว รูปท้องนา เยอะแยะไปหมดล่ะเนี่ย  

ลำดับภาพไล่ย้อนลงมาจนถึงรูปหน้าหมู่บ้านสุดท้ายของ Hanu Gongma
ที่มีภาพของลุงกระเป๋ารถเมล์ยืนเป็นแบบตรงหน้าป้าย...แน่นอนว่า เมื่อได้เห็น
บุคคลในภาพดังกล่าวพวกเขาก็นึกออกและพูดถึงชื่อลุงขึ้นมาได้ทันที
  



 

"เพิ่มเติม"

* บทความสั้นและภาพล้อเลียนที่หยิบยกประโยคตอนท้ายมาเอ่ยถึงเรื่องน้ำ
https://web.facebook.com/reachladakh/photos/a.10150256511693595/10153661897013595/?type=3&theater

- เส้นทางเทรกที่ผ่านหมู่บ้าน Hemis Shukpachan คือ Sham valley trek
- มีเที่ยวรถวิ่งตรงมาจากเลห์ แต่ไม่ได้มีให้บริการทุกวัน 
- จุดขึ้นรถประจำทางในหมู่บ้านนี้ จะอยู่ใกล้ ๆ กับวัด (ถามร้านค้าแถวนั้นได้)
- รอบนี้ใช้ fix lens เพราะเลนส์ตัวหลักมันพัง...เลยถ่ายได้แค่ระยะเดียวค่ะ




 


Create Date : 03 กรกฎาคม 2563
Last Update : 26 กรกฎาคม 2563 22:24:08 น. 8 comments
Counter : 1202 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณtuk-tuk@korat, คุณTurtle Came to See Me, คุณอุ้มสี, คุณสองแผ่นดิน, คุณhaiku, คุณทุเรียนกวน ป่วนรัก, คุณkae+aoe


 
ปักมุดไว้ก่อนเย็นนี้งานเลิกจะเข้ามาอ่านครับผม


โดย: สมาชิกหมายเลข 4149951 วันที่: 10 กรกฎาคม 2563 เวลา:10:04:21 น.  

 
ชอบบรรยากาศแบบนี้
อิจฉาน้องฟ้าจุงเลย
ชอบๆๆๆๆๆ
โหวต


โดย: อุ้มสี วันที่: 10 กรกฎาคม 2563 เวลา:11:20:15 น.  

 
ตื่นเช้ามาอ่านจนจบ ...อ่านแล้วก็ให้คิดตามกับการได้พักกินนอนที่บ้าน...ของชาวท้องถิ่น เพราะที่คิดดู บ้านคนชาติเดียวกัน หากไม่รู้จักหรือสนิทกันจริงๆก็ยากที่จะได้เข้าไปเดินเล่น


โดย: สมาชิกหมายเลข 4149951 วันที่: 10 กรกฎาคม 2563 เวลา:17:08:54 น.  

 
แอพริคอตดูคล้าย ๆ พุทราจริง ๆ ด้วยแฮะ (เม้นต์เผื่อบล็อกที่แล้วด้วย)
แต่วิธีการกินน่าจะต่างกันมากเลย มีการจุ่มแป้งด้วย
(ถ้าเป็นบ้านเราคงเอาผลไม้ไปจิ้มเกลือ >.<)

ส่วนที่ยื่นออกมาจากตัวบ้าน ที่บอกว่ากรอบหน้าต่าง
จริง ๆ น่าจะเป็นระเบียงนะ (รูปในหนังสือเขียนว่า balconies)
แต่ระเบียงเค้าเป็นโครงไม้ยึดกับผนังโดยตรง เลยยื่นมากไม่ได้

อืมมมม ที่ลาดัก ถ้าไม่ถ่ายรูปต้นไม้ รูปวัว รูปท้องนา
แล้วจะถ่ายอะไรดีล่ะ นึกไม่ออกจริง ๆ แฮะ ^^"


โดย: ทุเรียนกวน ป่วนรัก วันที่: 12 กรกฎาคม 2563 เวลา:23:00:21 น.  

 
^
ขอบใจน้อ....เดี๋ยวค่อยกลับไปแก้เรื่อง'ระเบียง'
หาคำจำกัดความไม่ได้แฮะ นึกว่าตัวระเบียงต้อง
ยื่นตัวออกมาเยอะกว่านี้น่ะ


โดย: กาบริเอล วันที่: 13 กรกฎาคม 2563 เวลา:10:24:18 น.  

 
วันก่อนรีบเม้นต์แล้วรีบไปนอน เลยลืมเขียนอะไรไปอย่าง
ตอนแรกกะจะปล่อย ๆ ไป แต่คิดไปคิดมาควรกลับมาบอกดีกว่าเนอะ ^^"
"ต่าง ๆ นานา"


โดย: ทุเรียนกวน ป่วนรัก วันที่: 14 กรกฎาคม 2563 เวลา:22:08:43 น.  

 
ขอบคุณสำหรับภาษาที่ไปเพิ่มเติมให้นะคะ
ฮินดี มีการเรียกแบบแยกเพศด้วยนะคะ ดีจัง
เรียกปุ๊บรู้เลยว่าแมวตัวผู้หรือตัวเมีย


โดย: ฟ้าใสวันใหม่ วันที่: 16 กรกฎาคม 2563 เวลา:12:40:57 น.  

 
ขอบคุณที่นำมาเล่าให้ฟังนะคะ


โดย: kae+aoe วันที่: 17 กรกฎาคม 2563 เวลา:8:22:23 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

BlogGang Popular Award#20


 
กาบริเอล
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 58 คน [?]




ชอบต้นไม้, แมว, หนังสือ
ออกเดินทางท่องเที่ยวตามโอกาส

การเขียนบล็อก
คืออีกพื้นที่บอกเล่าผ่านตัวอักษร
และตัวตนของเราก็อยู่ในสิ่งที่เขียนค่ะ

ขอบคุณ Bloggang
สำหรับพื้นที่แบ่งปันตรงนี้

....

เริ่มต้นลงบันทึกอย่างเป็นทางการ
ณ วันที่ 16 ม.ค. 2014

###ไม่ได้ใช้ Facebook แล้วนะคะ###

© ขอสงวนลิขสิทธิ์ ภาพถ่าย 
ห้ามนำไปใช้ ดัดแปลง แก้ไข 
โดยไม่แจ้งที่มา ก่อนได้รับอนุญาต


New Comments
Friends' blogs
[Add กาบริเอล's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.