SPITI (ปี 3) เทรกย้อนทิศไป Demul
“ที่ Demul อาจหาที่พักลำบากหน่อย ช่วงนี้ชาวบ้านเขากำลังวุ่น ๆ กับงานในที่ นา กันหมด ” ก่อนแยกย้ายเดินกันไปคนละทาง นายโปรตุเกสเตือนให้รู้ถึงสถานการณ์ของหมู่บ้านที่หมาย ของเราที่กำลังจะเดินทางไปเยือนในฐานะของคนที่เคยแวะพักมาก่อน “ส่วนของผมอ่ะ ไม่ยากเท่าไหร่ เพราะได้คอนแทคจาก kaza ล่วงหน้าไว้ก่อนแล้ว”
จาก Lalung ไปถึง Demul ผ่านการเดินทางเข้าถึงนั้น จำเป็นจะต้องเดินลงเนินเขา ไปสู่พื้นล่างให้ได้เสียก่อน โดยไม่จำเป็นว่าจะเดินไปตามทาง หรือลัดไถลลงเนินไปเรื่อย จากนั้นก็เดินข้ามแม่น้ำ Lingti ด้วยสะพานไปอีกฝั่ง กระทั่งเจอกับสะพานไม้ผุพังที่วาง พาดทางน้ำไหล แล้วเดินขึ้นเนินเขาไปเรื่อย ๆ กระทั่งเจอกับที่ตั้งของหมู่บ้านด้านบน
ถึงเราจะออกมาจากที่พักในช่วงสายของวัน ไล่หลังรถเมล์ที่บึ่งออกจากหมู่บ้าน Lalung ไปตั้งแต่ไก่โห่ การเดินทางที่ไม่ต้องรีบแข่งทำเวลากับใครก็พาเราลงมาถึงยังด้านล่าง ตอน 10 โมงเช้า เลยผ่านสะพานข้ามแม่น้ำสะพานแรกที่เป็นพื้นไม้ไปเพราะดูชำรุดเกิน กว่าจะใช้งานได้ ถัดจากสะพานใหม่ที่มีโครงสร้างเป็นเหล็ก มีหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ห่างไปจากตรงนั้นไม่ไกล ⭗ สะพานข้ามแม่น้ำ Lingti ทั้งสองจุด ⭗ หมู่บ้าน Rama ที่ตั้งอยู่ถัดไปไม่ไกลจากสะพานใหม่
หมู่บ้าน Rama ที่ว่าไม่ใช่จุดหมายปลายทาง แต่เพราะอยากเข้าไปสำรวจพื้นที่อื่น ๆ ที่ไม่ใช่จุด ท่องเที่ยวบ้างและที่สำคัญก็คืออยากพักเหนื่อยก่อนออกแรงเดินขึ้นเขาที่มีคนเตือนไว้ว่ามันชันมาก ด้วยแหละ หมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งนี้อยู่กลางทางระหว่าง Demul และ Lalung แต่ด้วยตำแหน่งของสะพาน ที่เลยพ้นห่างจากนี้ไปหลายเมตร บางทีนักเดินทางก็อาจผ่านเลยจากไปโดยที่ไม่แวะด้วยซ้ำ
มีผู้คนอยู่เพียงไม่กี่รายในช่วงเวลานี้ สาวชาวบ้านรายหนึ่งเดินจูงเด็กผ่านมาและไม่ได้ทักทายอะไรเรากลับ หลังจากที่พยายามโบกมือส่งให้อย่างเก้ ๆ กัง ๆ ให้เห็นจากระยะไกลก่อนเดินเข้าหมู่บ้าน แต่แล้วเธอก็ออก มาจากที่พักอีกครั้งตามเสียงทักทาย ในครั้งนี้เดินมาพร้อมกับญาติอีกคน เมื่อไม่รู้จะเริ่มคุยอะไรกันดีเราเลย หยิบเอาแผนที่มากางเพื่อถามถึงชื่อตำแหน่งที่กำลังยืนอยู่ “ที่นี่คือ หมู่บ้าน Rama” สาวชาวบ้านอีกรายที่สื่อด้วยภาษาอังกฤษคล่องแคล่ว ช่วยลงพิกัดให้รู้และคาดเดาถึงที่หมายถัดไป“เธอจะเดินไปที่ Lalung ใช่มั้ย?”
เมื่อบอกถึงจุดหมาย ซึ่งเป็นทิศทางตรงกันข้ามกับที่ผู้คนเขาเลือกใช้กันว่าจะไปที่ Demul พันดอล ที่ทำหน้าที่เป็นล่ามจำเป็นให้ก็ถามถึงเรื่องน้ำที่มีอยู่ในกระบอกของเรา อาสาเอา ไปเติมเพิ่มให้ หลังจากส่งกระบอกน้ำให้เธอก็เข้าไปยังบ้านอีกหลังที่อยู่ตรงข้ามกัน ตะโกน คุยกับเจ้าบ้านที่นั่งด้านใน คาดว่าคงเป็นญาติกัน ก่อนยื่นส่งกระบอกน้ำที่เติมน้ำอุ่นจนเต็ม พร้อมบอกว่า อาม่าชวนให้ไปนั่งดื่มชาด้วยกันด้านใน
⭗ อาม่า ผู้ดูแลบ้านหลังนี้กำลังหันไปเตรียมชามาต้มเลี้ยงต้อนรับ เราเข้ามานั่งอยู่ในบ้านของอาม่า หญิงสูงวัยที่กำลังหุงนึ่งบางสิ่งทิ้งไว้ในซึ้ง และหันมาต้มชาให้กับ คนแปลกหน้า พลางพูดซักถามกับพันดอลและน้องผู้หญิงอีกคนที่เข้ามานั่งเป็นเพื่อน เมื่อพูดถึง ชา ที่ได้ดื่มในหุบเขาสปิติ โดยทั่วไปมักจะทำรูปแบบ Chai ของอินเดียที่เป็นชานมต้ม แต่ก็แทบไม่ค่อย ได้กลิ่นเครื่องเทศเสียเท่าไหร่ วัตถุดิบที่ใส่ก็เป็นไปตามภูมิภาคของเขานั่นแหละ เจอมากสุดก็ชานมใส่ขิง (Adrak Chai) แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นแค่ชาใส่นมแบบธรรมดา ๆ แต่ถ้าอยากจะลองดื่มชาแบบพื้นเพเดิมล่ะก็ คงเป็นชาเนย (Butter tea) หรือที่เรียก Solja โซลจา ในภาษาถิ่นและมีความหมายตรงตัวว่าชารสเค็ม
ระหว่างนั่งพัก อาม่าถามไถ่ใว่าจะเดินไปไกลถึงไหน บ้านอยู่ไหน แล้วมายังไง โน่นนี่ ถึงจะมีติดขัด อยู่บ้างในเรื่องการสื่อสาร แต่ดูเหมือนแกก็อยากจะคุยด้วยนาน ๆ เลยล่ะ ช่วงนั้นจะมีเจ้าเด็กทะโมน อยู่สองสามราย ที่มาแอบฟังเราคุยกันตรงหน้าประตู พวกเขาชะเง้อมองคนแปลกหน้าที่อยู่ ๆ ก็กลาย มาเป็นแขกมาเยือนบ้านคุณยายแบบปุบปั่บ ด้วยความเอ็ดตะโรและแบบเด็ก ๆ ที่แอบมาป่วน ยายก็ ปวดหัว จึงหันไปดุและบอกให้พันดอลปิดประตูบ้านซะเดี๋ยวนั้น
หลังดื่มชากินขนม และพูดคุยกันไประยะนึงก็ต้องออกเดินทางต่อ อาม่าให้ Tingmo (แบบเดียวกับหมั่นโถวแต่คนที่นี่เรียกมันว่า ทิงโม่) แถมมาอีกสามชิ้น พร้อมราดซอสพริก ให้เสร็จสรรพ ถึงจะยืนยันว่ามีของกินที่ได้มาจากที่พักเก่าอยู่แล้ว แกกำชับว่าพกไว้เผื่อ เป็นเสบียงระหว่างเดินทางเยอะ ๆ ก็เลยเข้าไปกอดแกเพื่อบอกขอบคุณ
พันดอลให้ที่อยู่และเบอร์ติดต่อไว้ เธอบอกว่าถ้ามือถือใช้สัญญาณอินเตอร์เน็ตได้เมื่อไหร่ ก็ทักมาหาทาง whatsapp ได้เลย โอ้โห…เดี๋ยวนี้สัญญาณ 4Gของซิมมือถืออินเดียมา ไกลถึงหุบเขาสปิติแล้วโว้ยยย
จากหมู่บ้าน Rama ย้อนกลับมายังสะพานข้ามแม่น้ำเพื่อเริ่มต้นเดินทางแข่งกับเวลา อย่างเต็มรูปแบบ คนพื้นที่บอกว่าปกติจะใช้เวลาเทรกราว ๆ 2 ชั่วโมง คำนวนการเดินระดับ หอยทากแล้วก็น่าจะคูณสองเผื่อไว้ก่อนเลยละกัน ก่อนที่จะเลี้ยวข้ามสะพานก็เจอนักท่อง เที่ยวสองรายกำลังนั่งพักพิงกับแท่นปูนเพื่อหลบแดดและพักเหนื่อย หลังเข้าไปทักก็พบว่า พวกเขาจะเทรกไปที่ Lalung (เหมือนทุกคนจะใช้เส้นทางเดียวกับนายโปรตุเกสหมดเลย!)
ข้ามฟากไปที่ฝั่งตรงข้าม แรก ๆ ก็ยังดูไม่มีอะไรมาก มีแนวต้นไม้ที่กำลังจะเปลี่ยนสีและเสียง น้ำจากทางน้ำไหลให้พอรู้สึกผ่อนคลายได้บ้าง ลึกเข้าไปมากกว่านี้มีร่องรอยการวางสายไฟ ขึ้นเสา น่าจะเป็นเรื่องของการวางระบบไฟฟ้าอะไรประมาณนี้
⭗ สะพานไม้พัง ๆ ที่เป็นเหมือนกับเป็นด่านแรกในการเทรกขึ้นที่สูง ⭗ เมื่อขึ้นมาได้ระยะหนึ่ง จะเห็นรอยทางเดินที่ภูเขาฝั่งตรงข้ามปรากฏอยู่คงน่าจะเชื่อมไปยังหมู่บ้านสักแห่ง
สะพานพัง ๆ ที่พาดข้ามทางน้ำไหล ด่านแรกที่ต้องเจอก่อนเดินขึ้นเนินเขาที่สูงชัน รอยเท้านักเดินทางที่จิกเท้าลงพื้นเดินขาลงจนดูเป็นร่องบนดิน เป็นเหมือนกับช่วย ทำเส้นประพอเป็นแนวทางให้เดินย้อนรอยได้ไม่ยาก จากความรู้สึกส่วนตัวแล้ว ระดับ ความชันของเส้นทางนี้การเดินลงน่าจะลำบากมากว่า มันสามารถพลัดลื่นได้ง่าย ๆ ต่างไปจากการเดินขึ้นที่ยังสามารถใช้มือช่วยปีนป่ายได้บ้าง
ได้หยุดแวะพักดื่มน้ำ กินอาหาร ตรงกลางทาง ใกล้ ๆ กับช่วงรอยต่อของร่องเขาที่ต้อง เดินเชื่อมโยงไปอีกฝั่งนึง บริเวณนั้นพอมีโขดหินและพุ่มไม้ให้นั่งพักพอดี เสบียงตอนนั้น มีทั้งอาหารจากทั้งบ้านพักและบ้านอาม่า ซึ่งก็เยอะจนเหมือนกับว่าถ้าหากเย็นนี้ยังไปไม่ ถึงหมู่บ้าน ยังไงก็ไม่อดตายแน่นอน หลังจากใช้แรงออกเดินนานเป็นชั่วโมงและยังไม่ เจอกับมนุษย์รายใดสวนผ่านมาระหว่างนั้น (เว้นแต่พนักงานเดินสายไฟ สองสามรายตรง พื้นที่ด้านล่าง) เราจึงไม่สามารถนั่งเอกเขนกพักผ่อนให้นานตามที่คิดได้ เพราะไม่รู้ว่า ปลายทางยังอยู่อีกไกลแค่ไหนน่ะสิ
เจ้าของเสียงฝีเท้าที่ดังมาจากเนินเขาด้านหลังปรากฏตัว
ขณะที่พักเดินและแอบอู้มาถ่ายรูปดอกไม้กลางทาง ก็มีเสียงเดินซวบซาบจากเนินบน ดังใกล้เข้ามา ตามภูเขาสูงก็มักจะมีสัตว์ประจำถิ่น และตัวที่โผล่มาให้เห็นครั้งนี้น่าจะเป็นBharal (Himalayan Blue Sheep ) ทีแรกก็เห็นตัวเดียวก่อน แต่สักพักก็พากันมาวิ่งเล่น กันเยอะเลย ไม่รู้ว่าเห็นคนจนชินหรือเพราะเราเดินมาผิดเวลาและทิศทาง เลยได้จังหวะ เจอกันโดยบังเอิญ
⭗ ดอกไม้ป่าสีม่วงที่มาขึ้นอยู่บนพื้นที่เขาสูง ⭗ ตัว Bharal ดารารับเชิญที่โผล่มาแบบไม่ได้นัดหมาย ⭗ สายเชือกเส้นยาวที่ประดับไปด้วยธงมนตรสีซีดจางที่โยงพาดอยู่ด้านบน ⭗ หน้าตาของหมู่บ้าน Demul ที่ได้เห็นเป็นครั้งแรก VIDEO [VDO] : อันนี้ลองเอาภาพกับวิดีโอสั้นตอนเทรกมารวม ๆ กันไว้นะ
มีสัญญาณแจ้งบอกให้รู้กลาย ๆ ก่อนถึงที่ตั้งของหมู่บ้าน เราเห็นธงมนตราที่ผูกพาดโยงอยู่ด้านบน สิ่งก่อสร้างขนาดเล็กคล้ายเจดีย์ประจำหมู่บ้าน มีเสียงเหมือนมีคนหมุนกงล้ออธิษฐานขนาดใหญ่ดังมาแต่ไกล เสียงคนร้องเพลงพึมพำ ๆ ฟังไม่ได้ศัพท์…พอได้ยินแล้วก็เริ่มชัดเจนว่าที่ด้านบนนั้นมีการตั้งถิ่นฐานของผู้คนแน่นอน
เมื่อขึ้นไปถึงข้างบน ก็พบว่าเจ้าของเสียงร้องนั้นมีมากกว่าหนึ่งบ้าน เป็นการร้องเพลง ระหว่างนวดข้าวด้วยกรรมวิธีดั้งเดิมด้วยแรงงานสัตว์ บนพื้นที่สูงข้าวที่ปลูกจะเป็นบาร์เลย์ ม้าและลา จะผูกล่ามให้เรียงเป็นแนวหน้ากระดาน ย่ำวนไปรอบ ๆ เป็นวงกลมและวนไปเรื่อย ผู้ควบคุมจะเดินตามและส่งเสียงร้องเพลงและบางครั้งก็ใช้ไม้ฟาดก้นม้าที่แอบอู้ หรือก้าว เท้าไม่ทันเพื่อนดังเพี๊ยะ ๆ
คนอื่นที่ยืนช่วยกิจกรรมนี้ พวกเขาจะถือไม้สามง่ามโกยบาร์เลย์ที่ตกกระจัดกระจายรอบ นอกเหวี่ยงโยนเข้าไปในรัศมีการย่ำ บรรดาเมล็ดข้าวที่ร่วงหลุดออกจากรวงก็จะทำการเก็บ แยกในภายหลัง ในช่วงเวลานี้ผู้คนในหมู่บ้านต่างวุ่นอยู่กับงานในนากันอย่างมาก ตรงตาม คำบอกเล่าที่ได้ยินก่อนมา
เรายืนมองดูการดำเนินงานของกลุ่มชาวนา ที่กำลังจัดการกับผลผลิตของพวกเขาที่ได้เพาะ ปลูกบนความสูงเหนือระดับน้ำทะเล ตามจังหวะชีวิตที่ถูกกำหนดผ่านฤดูกาล ในแต่ละปี ชาวสปิติจะมีช่วงเวลาในการทำงานเพื่อหารายได้เพียงแค่ 5 เดือนต่อหนึ่งปีเท่านั้น ส่วนช่วงที่เหลือและตลอดฤดูหนาวในพื้นที่แถบนี้ก็ขาวโพลนไปด้วยหิมะ จะเหลือแต่ กิจกรรมท้องถิ่นที่จัดเฉลิมฉลองกันเองภายใน เช่น งานแต่งงาน, งานเทศกาลโลซาร์ (Losar) เป็นต้น ถ้าหากมีเงินเก็บมากเพียงพอชาวสปิติบางครอบครัวก็เลือกที่จะออกไปข้างนอกกันเพื่อหนี อากาศหนาว ๆ และท่องเที่ยวพักผ่อนประจำปี เราถูกเตือนมาว่าอย่าได้ไปต่อราคาโฮมสเตย์ ของชาวบ้านเลยเพราะพวกเขามีเวลาหารายได้ต่อปีแค่ไม่กี่เดือน
⭗ วิธีการนวดข้าวแบบดั้งเดิม
⭗ คุณป้าที่ยืนอยู่ในบริเวณลานนวดข้าวเดินมารินชาจากกระติกใส่แก้วเพื่อส่งให้เราดื่ม
เดินวนหาที่พักแทบจะรอบหมู่บ้านแล้วก็ไม่เจอผู้คน มีแต่กลุ่มเด็กที่ชวนเล่นกระโดดจากแนว กำแพงบ้านร้างที่ผุพังหลังนึง ไม่มีใครรู้เรื่องโฮมสเตย์สักราย ได้แต่ชวนเราไปกระโดดเล่นด้วย กระทั่งต้องเผ่นหนีออกมา เดินอ้อมไปเจอกับบ้านหลังหนึ่งที่มีผู้หญิงวัยกลางคนนั่งหวีผมที่ยาว สยายหน้าบ้านกับเด็กน้อยที่ป้วนเปี้ยนอยู่ใกล้ ๆ พอถามถึงบ้านพักในหมู่บ้านนี้ เธอก็ทำบอกใบ้ ให้รอที่นี่และใช้ให้เด็กเดินไปตามใครสักคนก่อน
สักพักหนึ่ง ก็มีเด็กสาวที่ดูแลบ้านหลังถัดไปไม่ไกลจากนี้เดินมาและชักชวนให้เราตามเธอไป ที่บ้านซึ่งอยู่ไกลถัดจากตรงนี้ไม่มากนัก น้องเปม่า ผู้คอยดูแลบ้านหลังดังกล่าวพาเดินเข้าไปยัง ใต้ถุนที่มีแต่กองฟางสุมอยู่ด้านล่าง ปีนบันไดไม้ทะลุขึ้นไปยังตัวบ้านชั้นสอง ซึ่งใช้เป็นที่อยู่ อาศัยและมีห้องหับแยกเป็นสัดส่วน รวมถึงห้องน้ำแบบท้องถิ่นก็จะตั้งอยู่ที่ชั้นนี้เช่นกัน เปม่าเปิดห้องหนึ่งให้เราเข้าไปพัก เธอว่าเป็นห้องของพี่สาวเธอเอง และที่ผนังห้องมีรูปผู้หญิง รุ่นราวคราวเดียวกับเปม่าสวมชุดพื้นเมืองแขวนไว้รูปนึง น้องบอกว่าเป็นรูปพี่สาว
เปม่า แนะนำตำแหน่งอื่น ๆ ในบ้านให้รู้อย่างเช่น ห้องน้ำ และห้องรับแขกสำหรับมานั่งผิงไฟ และกินข้าวร่วมกัน ส่วนทางบันไดที่ทำพาดทะลุเพดานอีกชั้นจะเป็นดาดฟ้า มีกิ่งก้านของพืช ตระกูลถั่วและกองฟางสำหรับใช้อาหารสัตว์ มัดผุกไว้อย่างเป็นระเบียบแล้วมาวางซ้อนเรียง แต่ก็ไม่ถึงกับเต็มพื้นที่่ทั้งหมดเพราะยังไม่หมดฤดูเก็บเกี่ยว เธอว่าถ้าซักผ้าแล้วให้เอามาวาง ตากผึ่งลมที่นี่ได้เลย ⭗ แกะจากบ้านไหนก็ไม่รู้ แอบดอดอมาเล็มพืชผักที่ชาวบ้านปลูกไว้ในแปลง ⭗ มุมหน้าต่างในห้องพัก ⭗ พี่สาวของเปมาในชุดท้องถิ่น
⭗ ภาพจากบนดาดฟ้าของบ้าน ที่ตั้งของบ้านเปม่าก็อยู่ไม่ไกลจากลานนวดข้าว จุดเดียวกับที่เราไปยืนดูเมื่อครู่นี้นั่นเอง
⭗ เครื่องเรือนในห้องครัว / ห้องรับแขก ที่มุมขวาของห้องนี้มีจุดซักล้าง รวมถึงใช้เป็นที่ล้างหน้าแปรงฟันของคนในบ้าน แปลกใจกับโปสเตอร์รูปสัตว์ทะเลชนิดต่าง ๆ ที่ติดไว้บนผนังบ้านนั่น (หมายเหตุ : หุบเขาสปิติไม่ใช่พื้นที่ติดทะเล แต่ใน ยุคก่อนหน้านั้น บริเวณนี้เคยเป็นทะเลมาก่อน) หลังได้รับชาร้อนมาดื่มและเปม่าขอตัวไปช่วยงานในนา ก่อนไปเราหยิบเอาอาหารที่เหลืออยู่ในเป้ออกมาให้ ไม่ใช่ส่งต่อหรอกนะ แต่ฝากเปม่าเอาไปให้วัวกินต่อที (ส่วนมากแล้วเศษอาหารเหลือ ๆ ของคนที่นี่ จะถูกนำ ไปให้พวกวัวที่เลี้ยงตามบ้านมาช่วยกำจัด ) แล้วจากนั้นเราก็ถือโอกาสชาร์จแบตเตอรี่กล้องและงีบหลับไปครึ่ง ชั่วโมง พักเอาแรงก่อนที่จะออกไปเที่ยวรอบหมู่บ้านที่หลัง รวมไปถึงหาจุดซักผ้า
ตอนเกริ่นถามเรื่องซักผ้ากับเปม่า ทีแรกน้องบอกว่าจะไปตักน้ำมาให้ซักบนบ้าน ในห้องรับแขกจะมีพื้นที่เล็ก ๆ ตรงพื้นมุมหนึ่ง ที่ทำแบ่งไว้ล้างจาน ล้างหน้าแปรงฟัน และซักล้างกันตรงนั้น ด้วยความเกรงใจและคิดว่าจะ เปลืองน้ำสำรองที่พวกเขาต้องแบกขนมาใส่ถังรองไว้ต่อหน แยกเป็นน้ำดื่มถังนึง น้ำใช้ถังนึง ก็เลยถามถึงจุด ที่มีน้ำไหลของหมู่บ้าน มันน่าจะมีสักที่ที่ผู้คนจะแบกถังไปรองน้ำที่ว่ามาใช้กัน เปม่าชี้ไปยังเนินด้านล่างถัดไป ไม่ไกลจากบ้านและลานนวดข้าวจะมีท่อส่งน้ำต่อตรงมาจากบนเขาที่ใช้ซักล้างได้ ว่าแล้วน้องก็หยิบกาละมัง ใบเล็กกับสบู่ซักผ้าและแปรงมาให้แทน ⭗ จุดปล่อยน้ำที่ต่อท่อเชื่อมแหล่งน้ำมาจากบนเขา จุดเดียวกับที่มาซักผ้าในช่วงบ่ายของวัน
เราหอบเอาเสื้อผ้าเดิมที่เพิ่งผลัดเปลี่ยนมาซักช่วงเวลาบ่ายแก่ของวัน ถึงการเทรกข้ามหมู่บ้านไปเรื่อย ๆ แบบนี้จะยากต่อการหาน้ำอาบ เสื้อผ้าที่พกสำรองมาก็มีแค่สองชุด ใส่นอนตัวนึงและใส่ตอนออกเดินทาง อย่างหลังสุดนี้จะค่อนข้างมอมแมมและเลอะสุด ๆ ระหว่างที่กำลังซักผ้าตรงจุดปล่อยน้ำตามลำพัง ก็เพิ่ง สังเกตเห็นถังไม้ใบหนึ่งที่วางรองน้ำตั้งไว้ตรงพื้นใกล้ ๆ และครู่หนึ่งก็มีลาสองตัวเดินมาจากด้านหลังหยุด ยืนมองคนต่างถิ่นกำลังนั่งซักผ้าและก้มลงดื่มน้ำจากถังไม้ ที่ตั้งห่างจากศอกเราเพียงแค่หนึ่งฟุตเท่านั้น ถ้าง้างแขนสูงอีกนิดก็จะชนหัวลาได้เลย…เป็นการแบ่งปันพื้นที่ใช้งานได้น่ารักจริง ๆ คนก็ซักผ้าไป ลาก็ กินน้ำดื่มจากถังไม้ของมันไป ... ใกล้ชิดธรรมชาติเกิ๊นนน
เสร็จสิ้นภาระกิจซักผ้า ก็หาเรื่องไปเดินเล่นตรงพื้นที่อื่นบ้าง ไม่รู้ว่าทำไมวันนี้อากาศเย็นเฉียบ เย็นเจี๊ยบแต่หัววัน เงยหน้ามองท้องฟ้าก็ไม่เปิดสักเท่าไหร่ เมฆครึ้มมาเลย ว่าแต่เมฆครึ้มแล้ว ยังไงล่ะ? หุบเขาสปิติเป็นพื้นที่เงาฝน ถ้าดูจากสถิติการเกิดฝนตกที่นาน ๆ ครั้งจะมีขึ้นแถวนี้ ตกเทซู่ให้เห็นลงมาก็คงถือเป็นเรื่องเหนือคาดสุด ๆ ไปเลย
ด้วยความที่มาถึง Demul ด้วยการเดิน เลยนึกไม่ออกว่าพวกที่นั่งรถขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นรถโดยสาร หรือรถรับจ้างจะเชื่อมเส้นทางขึ้นหมู่บ้านบนเขานี้กันยังไง พอมาเจอปากทางเข้าหมู่บ้านที่มีเส้น ถนนตัดผ่านก็เริ่มเห็นบรรดารถยนต์ที่จอดพักแถว ๆ นี้เยอะแยะ สอบถามเรื่องรถประจำทางจาก ชาวบ้าน ณ ขณะนั้นจะมีคิววิ่ง Kaza-Demul มาถึงหมู่บ้านแค่ จันทร์-อังคาร-พุธ รอบ 5 โมงเย็น เท่านั้น (และขากลับ Demul-Kazaจะเป็นเช้าของวันถัดไป ) โดยมีระยะทางไกลกันแค่ 32 กม.
ดูเหมือนว่ากิจกรรมนวดข้าวช่วงเวลาบ่ายสี่จะเริ่มสิ้นสุดลงแล้ว แต่ชาวบ้านยังคงทำงานตรงที่ ลานนวดข้ามเช่นเดิม หนนี้ใช้ไม้สามง่ามโกยซังข้าวโยนขึ้นกลางอากาศตามสัญญาณการผิว ปากที่ส่งจังหวะการยกไม้ขึ้นพร้อม ๆ กัน เศษฟางที่คัดแยกออกมาแล้วจะนำมาโกยใส่กระสอบ และยกแบกไปยังเนินหลังบ้าน จากที่เห็น บริเวณเนินข้างหลังบ้านแต่ละหลังจะการเจาะช่องเล็ก ๆ ไว้สำหรับเชื่อมต่อกับใต้ถุน พวกเขาจะโกยเศษฟางเหล่านั้นลงผ่านช่องดังกล่าว แล้วจึงค่อยไปจัดการมัดรวบเพื่อเก็บให้เป็น ระเบียบภายหลังอีกที
⭗ ซุ้มหน้าหมู่บ้าน Demul บริเวณหน้าถนน จะเห็นว่ามีพื้นที่สำหรับจอดรถด้วย ⭗ อาคารบ้านเรือน และที่ตั้งของ Gompa วัดเล็ก ๆ ประจำหมู่บ้านบนเนินสูง (หาเจอมั้ย)
⭗ ห่างออกมาจากซุ้มทางเข้าก็จะเห็นร่องรอยพื้นที่เพาะปลูกฝั่งนี้ ซึ่งได้เก็บเกี่ยวไปจนเกลี้ยงแล้ว จากความสูงของที่ตั้งของหมู่บ้าน เมื่อแรกเห็นผ่านสายตาจาก Lalung (อิงจากภาพสุดท้ายในเอนทรี่ย์ ก่อนหน้า) เราไม่เข้าใจว่าตำแหน่งสูงปรี๊ดขนาดนั้นผู้คนเขาก็ยังจะดั้นด้นพากันไปอยู่ได้อย่างไร แต่ก็มี ตำนานเรื่องเล่าของท้องถิ่นที่ย้อนความถึงที่มา เกิดจากการเดินตามหาจามรีที่หายไปของชาวบ้านรายหนึ่ง และพบว่ามันแอบมาเล็มหญ้าหาอาหารอยู่แถวนี้ จึงทำให้ได้เจอกับพื้นอันอุดมสมบูรณ์ที่สามารถเพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์บริเวณนี้โดยบังเอิญ เขาและครอบครัวจึงย้ายมาตั้งรกรากอยู่ที่นี่และในที่สุดก็ชักชวนคนอื่น ๆ มาสร้างหมู่บ้านร่วมกัน ชื่อของหมู่บ้าน Demul นั้นมาจากคำว่า Demo ที่แปลว่า จามรีตัวเมีย นั่นเอง สวัสดีโซเชียล!!!
รถรับจ้างคันหนึ่งแวะเวียนมาจอดลงที่หน้าหมู่บ้านในช่วงเวลาบ่ายสี่ สองสาวชาวอินเดียก้าวลง จากรถพร้อมกับผู้ชายที่มาด้วยกันอีกสองรายพร้อมอุปกรณํถ่ายทำ เธอเดินมาถามด้วยท่าทีที่ดู ตื่นเต้นกับนักท่องเที่ยวต่างแดนที่โผล่มาให้เห็น ณ ขณะนั้น “ไฮ้….!!!”
“ พวกเราเพิ่งมาถึงที่นี่กัน” แล้วเธอก็หันไปมองรอบ ๆ ด้วยความไม่แน่ใจสักเท่าไหร่
“เอิ่ม พอจะมีร้านอาหารแนะนำมั้ยอ่ะ” ฟังแล้วจะหลุดขำแต่ก็เกรงใจ นี่คือเรื่องตลกสุด ๆ ที่เราเอากลับไปเล่าให้ลุงกับป้าที่เกสเฮาส์ใน Kaza ฟังภายหลัง แล้วพวกเขาก็ยังขำกันไม่หายโดยคุณลุงนั้นให้ความเห็นว่า เดี๋ยวนี้เส้นทางมันเข้าถึงง่ายกว่าสมัยก่อน มีนักท่องเที่ยวมากมาย ที่อยากมาเห็นหุบเขาสปิติ ก็แห่กันมาแบบไม่ยอมเข้าใจความเป็นพื้นที่นี้ก็เยอะ บางคนไปลองสั่ง ซัมป้ามากิน แต่ก็ไม่ยอมถามไถ่ถึงวิธีการกินจากชาวบ้าน ยกตักเข้าปากแล้วฝืนกลืนจนติดคอ ไอ สำลักแค้ก ๆ จากนั้นก็เอาไปรีวิวบนเว็บไซต์ ซัมป้าเป็นอาหารที่อันตราย อย่าไปลองกินเชียว!
หรือถ้าเป็นความเห็นของนักสิ่งแวดล้อมต่างชาติคนหนึ่ง ที่สนับสนุนการท่องเที่ยวแนวMindful Travel แกก็พูดไปในทิศทางเดียวกันเลยนะ “Oh my, this kind of tourism is really a curse!”
คนกลุ่มนี้เพิ่งเดินทางมาจาก Komic ใช้การเชื่อมด้วยการนั่งรถทางถนนที่ตัดอย่างเรียบกริ๊บ มาโผล่ยังหมู่บ้าน Demul ได้อย่างอัศจรรย์ภายในไม่ถึงยี่สิบนาทีด้วยซ้ำ มันช่างต่างไปจาก พวกเดินเท้าที่ใช้เวลาเป็นวัน ๆ กว่าจะไปถึงยังจุดหมายปลายทางได้แต่ละทีเท้าแทบระบม คือเราไม่ได้ตั้งใจจะพูดถึงวิธีการเดินทางของใครแต่ละคนว่าผิดหรือถูกนะ แต่เนื่องเป้าหมาย และการทำใจกับข้อจำกัดของสถานที่แต่ละแห่ง ที่อาจมีสิ่งตอบสนองต่อนักท่องเที่ยวต่างกัน ในกรณีที่ไม่ได้เตรียมใจมาแต่แรก
“อืม...แถวนี้ไม่มีร้านอาหารหรอกนะ เท่าที่เห็น”
สิ่งเราตอบพวกเขาไป ถึงแม้ว่าสีหน้าของคนกลุ่มนั้นจะดูผิดหวังเล็ก ๆ แต่ว่า The show must go on มาแล้วอย่าเสียเที่ยว กลุ่มแบกอุปกรณ์เริ่มทำการเก็บรูปหมู่บ้าน สาว ๆ ยกมือถือขึ้นมาถ่าย vlog ไม่ก็ไลฟ์สด “เฮ้ หวัดดีทุกคน ตอนนี้พวกเราเพิ่งเดินทางจาก Komic มาถึงหมู่บ้าน Demul กันแล้วจ้าาา”
หลบลี้หนีกลุ่มผู้คนต่างถิ่นที่เพิ่งขึ้นมาถึง แล้วก็นั่งรถจากไปอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่นาทีหลัง เหยียบเท้าลงเดินในหมู่บ้านแห่งนี้ ไปเดินเล่นแถว ๆ ลานนวดข้าวที่แทบจะไม่มีใครเหลืออยู่แล้ว พื้นที่ที่ต่ำไปกว่าจุดที่ยืน มีหนุ่มสาวคู่หนึ่งกำลังร้องเพลงจีบกัน พวกเขาใช้เวลาว่างที่เหลือของ วันนี้หลังจากหมดงานในนามานั่งอ้อยอิ่งชมวิวอยู่บนหลังจามรีตัวหนึ่ง ดูเป็นพาหนะที่ต้วมเตี้ยม ทำหน้าที่พาคู่รักชมวิวไปรอบผืนนาที่รายล้อมไปด้วยวิวเทือกเขาสูง เพลงของฝั่งชายที่ร้องคลอ แทรกผ่านลมที่พัดมาแบบอื้ออึง ฝ่ายหญิงส่งเสียงหัวเราะจากการหยอกเย้า มันดูเป็นเรื่องส่วนตัว เกินกว่าจะยกกล้องขึ้นมาเก็บภาพบรรยากาศนั้นไว้ คงปล่อยให้เป็นช่วงเวลาพิเศษของหนุ่มสาว คู่นี้กับจามรีอีกหนึ่งตัวที่เป็นสักขีพยาน
อากาศขมุกขมัวและลมแรง ๆ ในช่วงเย็นของวันนี้ ดูน่ากลัวกว่าที่คิด ถึงจะพอเข้าใจว่ามันจะ ไม่ใช่ฝนห่าใหญ่แบบที่ตกในเมืองไทยก็ตาม กลัวผ้าที่ตากไว้บนดาดฟ้าจะปลิวว่อน พอขึ้น ไปถึงดาดฟ้าเสื้อผ้าก็หายไปหมดเกลี้ยง ชะโงกลงไปดูด้านล่างก็ไม่เจอ...ปีนบันไดลงมายัง ชั้นสองก็เจอน้องเปมาพอดี เธอบอกว่าเอาเสื้อที่ตากไว้ไปเก็บที่ห้องให้แล้ว
ตกเย็นวันนี้ไม่ต้องไปไหนต่อ ก็มาปักหลักในห้องครัวนี่แหละ อุ่นดี หลังจากตกใจกับสภาพอากาศที่อยู่ ๆ ก็มีลมแรงโถมเข้าใส่ ก็ต้องมางงกับเสียงเปาะแปะ ๆ ด้านนอกอีก เฮ้ย...ฝนตกเหรอเนี่ย? เราถามเปม่าว่าปกติมีฝนแบบนี้บ่อยมั้ย น้องก็ตอบมาได้ แบบกวน ๆ นะ “เราแทบไม่เจอฝนกันเลย ก็มีวันที่พี่มานี่แหละ”
⭗ หยดฝนบนกระจกหน้าต่าง ที่ปรอยตกลงมาเพียงพักหนึ่ง ⭗ มันฝรั่งไซส์เล็กเปลือกสีม่วง ที่ปลูกกันในท้องถิ่น VIDEO [VDO] มาฟังเสียงฝนตกในสปิติกันดูมั้ย ... ช่วงท้าย ๆ จะเห็นการตักฟางข้าวลงไปเก็บที่ใต้ถุนของบ้านฝั่งตรงข้าม
แล้วเธอก็หันไปเตรียมอาหารของเย็นวันนี้ต่อ และปล่อยให้เรานั่งจิบชาและเขียนไดอะรี่อย่างเงียบ ๆ ดูเหมือนว่าหน้าที่เรื่องอาหารการกินจะตกเป็นของน้อง รวมถึงดูแลผู้ที่มาพักอาศัย หน้าบ้านเปม่า มีคอกสัตว์สำหรับเลี้ยงแกะ ไม่รู้ว่าแกะพวกนี้ปกติกินอะไร เห็นมันชอบไปเขมือบผักที่ปลูกไว้ที่แปลง หน้าบ้านทีไรก็จะโดนไล่ตะเพิด ส่วนผักบางชนิดก็แบ่งปลูกไว้ในโรงเรือน ตัวโรงเรือนดังกล่าวมีตรา โลโก้ของกลุ่ม Spiti Ecosphere วาดไว้ บ้านนี้น่าจะร่วมโครงการทำโฮมสเตย์กับองค์กรดังกล่าว ไม่ก็ร่วมโปรเจคทดลองปลูกช่วงผักไว้กินในช่วงฤดูหนาว
กว่ามื้อเย็นจะเสร็จก็ช่วงค่ำ (หมายถึงหลังหมดแสงของวันไปแล้ว) เหล่าผู้คนในบ้านที่หายไปอยู่ ที่นาก็กลับมานั่งรวมตัวกันกินมื้อเย็น บรรยากาศโฮมสเตย์แต่ละแห่งจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับคน บ้านนั้นเลย บ้านของเปม่าดูเหมือนไม่ค่อยพูดคุยกับนักท่องเที่ยวมากเท่าไหร่ คนที่อยากเปิดบ้าน พักรับนักท่องเที่ยวนักคงมีแต่ยัยเปม่าและพี่สาว...เรื่องอีกอย่างหนึ่งที่ต้องรู้ การได้เสียงเรอที่ดังลั่น ขึ้นระหว่างมื้ออาหารนั้น ถือว่าเป็นเรื่องปกติ หลังจากพวกเขากินข้าวเสร็จ ก็เดินไปล้างหน้าเช็ดตัว พอเป็นพิธีกันตรงมุมบ้านที่เป็นจุดซักล้าง หลายคนเหน็ดเหนื่อยจากงานของวันนี้ที่ต้องใช้แรงทั้ง วันบางคนก็อยู่บ้านอื่นแต่มาช่วยนวดข้าวและร่วมกินมื้อเย็นร่วมกัน ร่วมพูดคุยถึงเรื่องบางอย่างที่เรา ฟังไม่ค่อยออก นอกจากจะเห็นแม่ของเปม่าบ่น ๆ อะไรบางอย่างพึมพำ ก่อนที่สองสาวพี่น้องจะหัน มาเอามือป้องปากกระซิบกระซาบกันเบา ๆ ไม่นานนักทุกคนก็แยกย้ายหายตัวกันไปนอน บ้างก็ปัก หลักเอนตัวนอนบนเบาะในห้องนี้ ไม่มีชางหรืออารักรินแจก ไม่มีงานสังสรรค์ใด ๆ เกิดขึ้น ทุกสิ่ง ทุกอย่างล้วนดำเนินไปอย่างปกติ และนี่คือบรรยากาศโฮมสเตย์ที่ Demul ในค่ำคืนนี้ค่ะ ทุกคนนน
Create Date : 22 ตุลาคม 2565
Last Update : 4 ตุลาคม 2566 0:18:06 น.
10 comments
Counter : 1356 Pageviews.
หมู่บ้านdemul แทบไม่มีต้นไม้ ยังดีมีน้ำประปาภูเขา
จากภาพเห็นมีแผงโซล่าเซลล์ ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์หรือมีไฟฟ้าใช้ครับ