Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2565
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
9 ธันวาคม 2565
 
All Blogs
 

SPITI (ปี 3) Demul, Lidang และเดินเท้าเข้า Pin Valley

 

 

จาก Demul สามารถเดินเชื่อมไปยัง Komic ได้ไม่ยาก  
หรืออาจเดินลงไปทางเดิมเพื่อย้อนกลับไปขึ้นเนินเขาอีกฝั่งขึ้นไป Dhankar
เราไม่อยากเดินลงไปที่เก่าซึ่งดูชันเกินกว่าจะเดินลงอย่างปลอดภัยและไม่ต้องการ
ไป Komic อีกรอบด้วย สุดท้ายเปม่าก็นึกขึ้นได้ว่ามีหมู่บ้านเเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ด้านล่าง
ชื่อว่า Lidang ซึ่งตั้งอยู่ติดกับถนนและมีรถโดยสารวิ่งผ่านและไกลจากที่นี่ 18 กม. 



บ้านพักของเปม่า ก็เป็นไปตามมาตรฐานโฮมสเตย์ทั่วไปในสปิติ ที่จะมีเลี้ยงชาและของ
กินเล็กน้อยจัดหามาให้หากนักเดินทางมาถึงที่พักไวตั้งแต่หัววัน อาหารมื้อเย็นและเช้า
คือมื้อหลักและจัดเตรียมเสบียงสำหรับเอาไว้พกติดไปกินระหว่างทาง 
 

ระบบการจัดการโฮมสเตย์ของหมู่บ้านบางแห่งในสปิติอย่างเช่น Demul ที่ไม่ได้เป็นจุด
แวะพักยอดนิยมหรือเป็นเมืองใหญ่จนถึงขนาดมีกิจการที่พักและโรงแรทมารองรับได้ ก็มัก
จะมีข้อตกลงกันว่าจะไม่ผูกขาดรายได้โฮมสเตย์แค่บ้านใดบ้านหนึ่ง สมมติวันนี้เป็นคิวของ
บ้านเปม่า  วันถัดไปก็จะเป็นเวรของบ้านหลังอื่นแทน คิดง่าย ๆ คือหากเราคิดจะค้างแรมต่อ
ก็ต้องย้ายไปพักยังบ้านหลังใหม่นั่นเอง 

 

หลังกินอาหารเช้า จ่ายค่าห้องและรับเสบียงพกพา ก็เตรียมออกเดินทางต่อทันที
เปม่าถามเรื่องหนึ่งที่คงแอบสงสัยเป็นการส่วนตัวก่อนแยกย้ายว่าเราเป็นคนจีนใช่มั้ย?


โน้วววววว !!!!



 



การฝัดข้าวแบบดั้งเดิม ที่อาศัยแรงลมพัดแยกเมล็ดและแกลบจากไม้สามง่ามที่งัดโยนขึ้นไปบนอากาศตามจังหวะ 


 

8 โมงเช้า เราลาจาก Demul เพียงเท่านี้ เพื่อต่อไปยังหมู่บ้าน Lidang  ตามเส้นทางถนนบ้าง
ผสมทางลัดที่เดินไล่ลงไปเรื่อย ๆ บ้าง
หลายครั้งก็เจอพวกสัตว์ประจำถิ่นอย่างฝูง Bharal ตามรายทางที่มา
โผล่ให้เห็นจนเลิกตื่นเต้นไปแล้ว รวมถึงซากกระดูกของมันที่ได้นอนทิ้งร่างอยู่บนผืนหญ้ากลางเขาตามลำพัง
สันนิษฐานว่ามันคงตายตามอายุขัย ไม่น่าเจอนักล่าอย่างพวกเสือดาวหิมะ --พวกนี้มักจะซุ่มอยู่แถว ๆ Kibber
(Kibber Sanctuary) ไม่ก็แถว  Pin Valley (เขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ)  
ส่วนบรรดาเหล่ารถรับจ้าง รถจิ๊ปนำ-
เที่ยว นาน ๆ ทีถึงจะเห็นวิ่งผ่านมา...นับว่าหายากกว่าตัว Bharal ซะอีก





ทุ่งเลี้ยงสัตว์ของหมู่บ้าน
 



Demul จากมุมสูงหลังจากออกเดินมาไกลระยะหนึ่ง มีที่ตั้งของโรงเรียนที่สร้างอยู่ห่างจากหมู่บ้านเล็กน้อย(ทางซ้ายมือ)





 เจดีย์ที่เจอระหว่างทางแยก

องค์ที่ดูใหม่(ฐานสีฟ้า)เพิ่งสร้างเมื่อปี 2013 เนื่องในวาระที่ *Ratna Vajra Rinpoche (สังฆราชนิกายสาเกียปะลำดับที่ 42)
ได้มาเยือนหมู่บ้าน Demul เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2013 -- (
นอกเรื่อง) ประมุขนิกายสาเกียปะมี 2องค์ โดยประทับอยู่ที่ อินเดีย
และสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังมีความพิเศษต่างจากนิกายอื่นคือสืบทอดตำแหน่งทางสายเลือดจากการแต่งงาน โดยผู้เป็น
ลูกจะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งสังฆราชเป็นลำดับถัดไป


ส่วนฐานสีขาวที่ตั้งปักธงมนตราไว้ เดิมน่าจะมีอยู่ก่อนแล้ว เป็นหมุดหมายกลางทางแยกไปยังจุดชมวิวสูงสุดของ Demul
ที่ชื่อว่า Balari (Balari Top) โดยจะต้องเลี้ยวขึ้นไปอีกทางหนึ่ง ตรงนี้จะไกลจากตัวหมู่บ้านพอสมควร บ้างก็จ้างรถนำเที่ยว
หรือไม่ก็เดินไป อย่างไรก็ดีจะมีอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับท่องเที่ยวชมอาณาบริเวณนี้ได้แบบไม่ต้องออกแรงเดินเองด้วยการ
เช่าจามรีขี่โดยมีไกด์นำ (พวกโปรแกรม Yak Safari มักจะมีในหมู่บ้านตอนบนอย่างเช่น Langza, Komic และ Demul)  



 



⭗ จามรีให้เช่า  



จากหมู่บ้านที่ตั้งบนระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 4,320 เมตร อย่าง Demul สู่พื้นที่ด้านล่างที่ Lidang 
ที่ไม่รู้ว่าต่างกันมากแค่ไหนนะ คงต้องลองคะเนจากรูปถ่ายแทน งานนี้เส้นทางถนนเป็นอุปสรรคต่อการทำ
เวลาจ้ำเดินมาก--คดเคี้ยวเป็นงูเชียว อาศัยเดินตัดเส้นทางไปข้างล่างเรื่อย ๆ เพื่อลดเวลาในบางครั้งก็ทำ
ได้สำเร็จ แต่บางครั้งผิวสัมผัสของเนินดินไม่สามารถพยุงตัวไหวจริง ๆ ก็ต้องหาทางปีนกลับขึ้นมาเดินบน
เส้นถนนแทน เป็นแบบนี้สลับกันไป 






เส้นทางรถวิ่งที่คดเคี้ยว และต่างรอยเท้าย่ำบนเนินดินของสัตว์ประจำถิ่น




⭗ ภูเขาทะเลทราย เส้นถนน แม่น้ำสปิติ และที่ตั้งของหมู่บ้าน Lidang ซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำกว่า Demul มากพอสมควร


พักยกรอบที่หนึ่ง

พอเริ่มหาทางลงมาถึงจุดหนึ่ง จนพอมองเห็น Lidang แค่เอื้อม เราไปหยุดพักกลางทางบริเวณเนิน
แห่งหนึ่งที่มีน้ำตกสายเล็ก ๆ ไหลผ่าน ที่ตรงนั้นจะมีกลุ่มพุ่มไม้ขึ้นสูงอยู่รายรอบแหล่งน้ำที่ไหลจาก
ที่สูงผ่านลงมาที่ซอกเขา  จากที่เดินท้าลมและแสงแดดอยู่นานเป็นชั่วโมง ก็รู้สึกเหมือนเจอโอเอซิส
กลางทางสักที  โขดหินและร่มเงาจากต้นไม้แม้จะไม่ได้ขึ้นสุมจนสูงใหญ่นักแต่ก็พอบังแดดได้ดีมาก
คงไม่มีที่ไหนเหมาะต่อการแวะพักและกินมื้อกลางวันเท่าตรงนั้นอีกแล้ว 

โรตีสามแผ่นที่เจ้าเปม่าให้มาถูกทาเนยถั่วลิสงและซอสพริกที่เทผสม เป็นสูตรอาหารไม่ค่อยจะเข้ากัน
ดีเท่าไหร่นัก  คงอยากประหยัดเนยถั่วมากกว่า รึไม่ก็อาจอร่อยสำหรับคนที่นี่ แต่ก็จัดการกินให้หมด ๆ 
ไว้ใช้เป็นพลังงานสำหรับออกแรงเดินลงจากเขาไปให้ถึงหมู่บ้านเป้าหมายรวดเดียวเลย



หลังใช้เวลาพักจนพอใจแล้ว ก็ต้องมาเริ่มออกแรงเดินและหาเส้นทางลงกันอีกครั้ง รอยทางบางแห่ง
ที่เจ้าของรอยเท้าเดินย่ำไว้ก่อนหน้าอาจอันตรายเกินไป  หากเมื่อลองก้าวตามแล้วพบว่าหน้าดินร่วง
กร่อน หากจำไม่ผิดน่าจะลองอยู่สองทางแล้วไม่เป็นผลสำเร็จเท่าไหร่นัก จนได้มาเจอกับทางใหม่ที่
เกือบพาลื่นไกลไปจนสุดทางในระยะสามเมตรสุดท้าย 



เมื่อต้องฝากชีวิตไว้กับหินก้อนใหญ่และการไถลลงเนินครั้งสุดท้ายของข้าพเจ้า
ความลาดชันของเนินเขาแถวนี้ มันจะพอ ๆ กับสไลเดอร์ ผิดกันที่พื้นสัมผัสเป็นกรวดหินและดินแดง

กางเกงขายาวสีดำที่เพิ่งซักมาเมื่อวาน เริ่มเขรอะเลอะไปด้วยฝุ่นเจนดูหมือนไม่เคยผ่านการซักมาก่อน
เมื่อต้องเคลื่อนที่ไปข้างหน้า จนเราไม่สามารถตั้งตัวทำมุมเดินได้ดีนัก หินใหญ่บางก้อนเป็นที่พึ่งพาได้
บางก้อนเหยียบยึดไปก็พาซวย เมื่อมันหลุดร่วงก็พลาดไถลตัวลงมาไกลเอาเรื่อง แต่ก็ไม่ถึงกับลงไป
ไกลจนถึงพื้นล่าง จังหวะการเบรกนี่ได้มาจากการเหยียบหินใหญ่(อีกแล้ว) ที่ขวางทางไว้พอดี ได้ทั้ง
แผลและคราบฝุ่นแถมมาจนมอมแมม ไอ้ที่ลงแรงเอาไปซักเมื่อวานนี้คือสูญเปล่าชัด ๆ

ส่วนตำแหน่งที่ลงมาถึง ณ ตอนนี้คือจุดพักน้ำบนเนินเขาด้านหลังหมู่บ้านฯ ที่อยู่ถัดจากเนิ ดังกล่าว
ลงไปอีกไม่กี่เมตรนี้จะไม่เป็นทางลาดชันเท่าที่ผ่านมา และสามารถเดินเหินไปได้แบบปกติซะที





⭗ จุดพักน้ำเหนือหมู่บ้าน Lidang



⭗ ปล่อยน้ำลงสู่ท้องร่อง ที่เชื่อมต่อไปยังพื้นที่เพาะปลูกของหมู่บ้าน 
 



⭗ บ้านหลังแรกที่ได้เจอ 




⭗ พื้นที่เพาะปลูกหลังหมู่บ้าน และทางเดินที่เราพยายามหาทางออกไปยังหน้าถนน แต่ไม่สำเร็จเพราะแนวกำแพงและรั้วกั้น




12.30 น. |  พักยกรอบที่สอง

ทีแรกเมื่อมาถึง Lidang แล้วก็ไม่ได้คิดจะแวะพักนะ อยากมุ่งหน้าเดินต่อเพื่อทะลุหาทางออกไปยังหน้าถนน
เชื่อมต่อไปยัง Pin Valley ที่เป็นเป้าหมาย  แต่ก็ดันมีอุปสรรคนิดหน่อยตรงแนวกำแพงตรงแปลงผักของบ้าน
หลังหนึ่งที่ตั้งอยู่ท้ายสุดที่พาทะลุออกไปด้านนอกไม่ได้  เห็นยายคนนึงแกกำลังนำอะไรบางอย่างที่เป็นเศษ
ขุยขาว ๆ มาผึ่งแผ่บนฟูกและโดยมีผ้าผืนขาวรองไว้มาตากรับแดด กว่าเราจะเดินผ่านไปถึงตรงนั้นแกก็ผลุบ
หายเข้าไปในบ้านซะแล้ว สิ่งที่ยายตากมีกลิ่นคล้ายนมผสมโยเกิร์ตที่โชยแตะจมูกแรงมาก มองจากระยะไกล
ก็นึกว่าเป็นขุยมะพร้าว มาคิดดูอีกที...มันอาจเป็นชีสพื้นเมืองอย่าง Churpi มากกว่า   



เดินผ่านหลังบ้านยายไปแบบเงียบเชียบและเชื่อว่าคงไม่มีใครทันเห็น เพื่อหวังจะข้ามกำแพงหินลัดผ่านไปยัง
หน้า
หมู่บ้าน แต่เมื่อหาทางออกไปไม่ก็ต้องเดินวกกลับมายังบ้านยายอีกรอบ มันเป็นจังหวะที่ยายโผล่ออกมา
พอดี ด้วยทำเลบ้านที่อยู่ติดตีนเขา ในชีวิตปกติคงไม่ค่อยเจอใครมาป้วนเปี้ยนตรงนี้บ่อยนัก พอส่งเสียง
ทักไป
แบบกะทันหัน แกก็ผวาและตกใจจนร้องลั่น

 

กว่ายายจะตั้งสติได้ ก็ระรัวพูดไม่ได้ศัพท์และเอามือจับอกตัวเองบอกเป็นภาษากายว่า หัวใจจะวาย!
เราชี้ไปตรงเนินเขาพร้อมกับพรีเซนต์ความมอมแมมของเสื้อผ้าและเนื้อตัว เพื่อบอกที่มาของการมาถึง
หลังทำความเข้าใจกันได้  ยายจึงชวนเข้าไปกินน้ำชาในบ้านก่อน คั่นเวลารอรถจาก Kaza ที่จะวิ่งผ่าน
มาในรอบห้าโมงเย็น



แวะมานั่งพักในบ้านคุณยาย เทนซิน ดอลม่า
 


ถึงจะไม่อยากรบกวนเวลายายนานหลายชั่วโมงขนาดนั้น จากน้ำชาถ้วยแรกที่ยายรินส่งก็เริ่มตาม
มาด้วยโมโม่กับทิงโม่อย่างละชิ้นที่แกทำค้างไว้ในซึ้ง เรารับมาด้วยความเกรงใจ สักพักยายก็ชวนกิน
มื้อเที่ยงอีก โดยทำมือทำไม้ใบ้ท่าทางกินข้าว และหันไปหุงข้าวฝานมะเขือเทศ หอมใหญ่ มันฝรั่งและ
ผงขมิ้นหย่อนลงในหม้ออัดแรงดัน 
ไว้เป็นมื้อเที่ยงที่จะกินด้วยกันแม้ว่าจะทำท่าทางบอกว่ากินอาหารที่
พกมาจนเกลี้ยงและอิ่มมากแล้วก็ตาม ไม่รู้ว่ายายอาศัยอยู่กับครอบครัวหรือใช้ชีวิตตามลำพัง แต่แกคง
ไม่
เหงามากนักหรอกจากคำบอกเล่าที่ว่าผู้คนที่หมู่บ้านล้วนเป็นญาติกันหมด 



 

จบมื้อมารยาทเพื่อกินข้าวกลางวัน(พร้อมยาย) รอบสอง ที่อิ่มจนท้องจะแตกและต้องหาวิธีห้ามยายไม่ให้
หาขนมมาแล้วอีก ก็ต้องขอตัวออกมาเดินสำรวจพื้นที่ช่วงนึงโดยฝากกระเป๋าไว้ที่บ้านนั้น  เดินตัวเปล่าออก
มาพร้อมกระบอกน้ำเพื่อนำไปเติมตรงจุดปล่อยน้ำด้านนอก ส่วนยายก็ออกมาไล่วัวที่บุกรุกมากินผักในสวน
หลังวัวเผ่นไปแล้วแกก็ตรงไปยังแปลงผักที่ปลูกเป็นเถาเลื้อย ควานหามีผลทรงกลมแอบซ่อนอยู่ใต้ใบเป็น
สีน้ำตาลอ่อน ดูเหมือนจะป็นฟักทองไม่ก็พวกน้ำเต้าซึ่งนับได้ว่ามีถึง 4 ลูก 

นึกแล้วก็แอบเสียดายตรงที่ไม่ได้เก็บภาพความทรงจำในช่วงขณะนั้นไว้นะ 
มันเป็นสีหน้าแห่งภูมิใจในความเป็นมือปลูกของยายบนผืนดินที่ขึ้นชื่อว่าเป็น
cold desert mountain แบบนี้  



ออกมาเดินดูรอบ ๆ หน้าหมู่บ้าน ก็เจอผู้หญิงคนหนึ่งกำลังสาละวนอยู่กับการนำหินไปอุดตามร่องที่ขุด
ให้น้ำไหลเพื่อเปลี่ยนทิศทางการผันน้ำ ที่หน้าหมู่บ้านมีทั้งพื้นที่ปลูกข้าวและสวนปลูกแอปเปิ้ล  เราตรง
ไปถามเธอเรื่องเที่ยวรถ และเธอก็ถามถึงกระเป๋าเดินทาง ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจกับข้อสงสัยนี้เท่าไหร่หรอก
เป็นนักท่องเที่ยวประสาอะไรกันมีแค่ถุงผ้ากับกระบอกน้ำติดตัว  

 

“กระเป๋าฝากไว้ที่บ้าน คุณยายเท็นซิน ดอลม่า” เราชี้ไปทางท้ายหมู่บ้าน เผื่อว่าจะรู้จักกัน
แต่เธอกลับยิ้มและส่ายหัว บอกว่าไม่เข้าท่าเลย ไม่ควรไว้ใจใครง่าย ๆ ขนาดนี้ เฮ้ย...เอาน่า
ของสำคัญ ๆ มันก็ไม่ได้อยู่ที่เป้ใบนั้นสักหน่อย   อย่างไรก็ดี เยชี่ ดอลม่า สาวชาวบ้านรายนี้
บอกว่าถ้าจะไปแล้วยังเห็นเธออยู่แถวนี้ก็เรียกหาได้ทุกเมื่อเธอจะพาส่งข้ามถนนไปที่จุดรอ
รถประจำหมู่บ้านเอง ช่วงเวลาบ่ายสองโมงเรากลับไปลาคุณยายและขอตัวออกเดินทางต่อ
แม้แกจะคะยั้นคะยอให้อยู่ยาวจนถึงรถมาก็ตาม



 

14.00 น. | การเดินเท้าเข้าสู่ Pin Valley ของข้าพเจ้า

เยชี่ก็ยังคงสาละวนอยู่กับงานในนาบริเวณหน้าหมู่บ้านเช่นเดิม หลังเห็นเราเดินมาพร้อมกับสัมภาระ
ก็เข้ามาหาและนำทาง แต่สายตาเธอก็ยังสอดส่องมองดูการไหลของน้ำในร่องและยกหินมาปิดร่อง... 
“ผู้หญิงสปิติเนี่ยทำงานหนักยังกะกรรมกร” เธอบ่นลอย ๆ ช่วงขณะที่พยายามผันน้ำเข้าไปยังทิศทาง
ที่ต้องการ นอกจากแปลงนาแล้วพื้นที่ส่วนด้านหน้ามีต้นแอปเปิ้ลที่ปลูกเป็นจำนวนหนึ่งอีกซะด้วย
ตอนนั้นยังไม่ผลิดอกออกผลให้ลองชิม ดูต้นมันยังเล็กอยู่ อาจเป็นโปรเจคทดลองปลูกที่เพิ่งทำ 
แถมเยชี่ยังบอกอีกด้วยว่าเป็นสวนแอปเปิ้ลที่ปลูกกันแบบออแกนิก  

พวกเราปีนข้ามกำแพงหินและเดินข้ามถนนไปอีกฝั่ง ซึ่งมีที่ตั้งของอาคารชั้นเดียวที่มี 3-4 คูหา
จำไม่ได้ว่าสร้างเพื่อใช้งานสำหรับอะไร รู้แค่ว่าจะต้องมาปักหลักรอรถตรงนี้แหละ เรายืนคุยกัน
สักพักก่อนบอกลาและออกเดินเท้าไปยังทิศทางที่ตั้งของสะพาน Attargo จุดที่จะพาเชื่อมต่อ
ไปยังหุบเขาพิน แม้เยชี่จะแย้งว่าอาจต้องเดินนานถึงครึ่งชั่วโมงแถมแดดก็ยังเปรี้ยงอยู่ …





หมู่บ้าน Lidang มุมจากหน้าถนน และสวนแอปเปิ้ลหลังแนวกำแพง   ส่วนเนินเขาที่อยู่หลังหมู่บ้านฉากของที่นี่
เห็นแล้วก็เดาเอาเองนะว่า ไปพลาดไถลลงมาจากเนินไหนเข้า 555   ส่วนจำนวนประชากรของ Lidang ที่เห็นอยู่
ณ ขณะนั้นก็มีไม่กี่ราย พวกเขาอาจออกไปทำงานที่อื่นกัน... จากที่ถามเยชิ เธอบอกว่ามีกันอยู่ราว ๆ 120 คน





พื้นที่เพาะปลูกอีกฝั่งหนึ่ง ใกล้ๆ กับริมแม่น้ำ 

 

อย่างไรก็ตาม คำคาดการของเยชี่ก็ผิดพลาดเพราะเวลาที่เราใช้ก้าวเดินออกจาก Lidang
ไปยังสะพาน Attargo ได้นั้นก็แค่สิบนาทีเอง! เคล็ดลับความไวก็ไม่มีอะไรมากหรอก ระหว่างออก
เดินไปสักพักหนึ่ง มีรถปิ๊กอัพที่ขนโต๊ะไม้มาเต็มกระบะวิ่งผ่านมาและหยุดจอดรับ พวกเขากำลังจะ
ผ่านไปหมู่บ้าน Chango พอดี 


พี่คนขับรถเป็นชาว Kinnaur มีบ้านอยู่แถว Murang ส่วนชายอีกคนที่นั่งมาด้วย ดูไม่ใช่คนแถวนี้
จากการไว้หนวดเคราและโพกหัวแบบชาวซิกข์(ซึ่งก็ใช่) เขามาจาก Pathankot รัฐปัญจาบ ไม่รู้
ว่าสองคนนี้มาร่วมทางกันได้ยังไง เรามีเวลาอยู่บนรถคันนั้นแค่ไม่กี่นาที การซักถามก็ไม่ได้เจาะ
ลึกอะไรมากมายนัก นอกเสียจากได้ บาดัม (อัลมอนด์) เป็นเสบียงพกติดกระเป๋าสองกำมือ ซึ่งก็
กินลำบากไปหน่อยตรงที่มันดันไม่ใช่อัลมอนด์กระเทาะเปลือกนะสิ 

 


“ไว้เจอกันใหม่ที่ฝั่ง Kinnaur!”

เมื่อถึงสะพาน Attargo และต้องลงจากรถแล้ว พวกเราบอกลากันอย่างห้วน ๆ แม้จะฟังดูไม่น่า
เป็นไปได้ แต่รูทการเดินทางหนนี้จะมีแผนนั่งรถผ่านฟากฝั่งที่ว่าอยู่แล้ว ถ้าหากความบังเอิญนั้น
มีจริง ก็คงได้เจอกันอีก



 




⭗ กลางสะพาน Attargo ที่พาข้ามแม่น้ำสปิติ และพาโยงเข้าสู่หุบเขาพินซึ่งตั้งอยู่อีกฟากฝั่ง 




⭗ ประตูทางเข้า Pin Valley ตรงไปเรื่อย ๆ แล้วเลี้ยวค่อยเลี้ยวขวา




⭗ ทางเดินฝั่งนี้ในรอบบ่ายจะร่มเพราะมีภูเขาบังไว้ ทำให้เดินได้สบายเลย 




⭗ สิ่งก่อสร้างฝั่งตรงข้ามคือ Lingti Valley เป็นอีกจุดที่มีนักท่องเที่ยวแวะไปถ่ายรูปน้ำตกที่อยู่ตรงซอกเขาด้านใน
และในฤดูหนาว Lingti waterfall จะเป็นเปลี่ยนเป็นน้ำแข็ง ถือเป็นอีกจุดแวะพักที่มักจะมีคนมาจอดรถเพื่อถ่ายรูปกัน



 กลุ่มคนงานที่กำลังราดยางมะตอยบนพื้นถนน สภาพพื้นที่แถบนี้ยังมีอีกมากเลยที่ไม่ได้ทำทาง



เราเดินข้ามสะพานที่ทำไว้สำหรับพาดข้ามแม่น้ำสปิติ มุ่งตรงไปยังทางเดินเลียบภูเขาที่ตั้งสูง
บดบังแสงอาทิตย์จากฝั่งตะวันตกได้อย่างมิดชิด เลี้ยวซ้ายตรงไปเรื่อย ๆ ตามเส้นถนนที่มีบาง
ส่วนทำไว้อย่างเรียบกริบ และบางส่วนที่กำลังลาดยางปูทางกันแบบร้อน ๆ

บนเส้นทางรอบนอกของฝั่งทางเข้าหุบเขาพินที่ยังเป็นเส้นทางขนานกับถนนเส้นหลักที่อยู่
ฟากตรงข้ามของฝั่งแม่น้ำที่ดูเหยียดยาวสุดตาตรงนี้ ไม่รู้ว่าจะพาเราไปได้ไกลแค่ไหนกัน
กลุ่มหญิงชาวสปิติสี่รายที่กำลังนั่งพูดคุยเล่นกันตรงริมทางพร้อมกับถักโครเชต์ไปด้วยนั้น
หันมา
ส่งยิ้มและทักทายผู้มาเยือนหน้าใหม่ที่กำลังเดินผ่านมา   

 

เมื่อถามว่ากำลังจะไปที่ไหน
พอตอบกลับว่า Mud พวกเธอถึงกับร้อง โว้ววว
ระยะทางคงไกลมั้งถึงแสดงท่าทีตกใจขนาดนั้น







ที่มาของแผนที่ Link : https://hplahaulspiti.nic.in/map-of-district/   


 

เรารู้แค่ว่า Mud เป็นหมู่บ้านสุดท้ายที่ตั้งอยู่ในหุบเขาแห่งนี้
จากแผนที่ที่พกมาก็ไม่ได้บอกสเกลพื้นที่ให้ได้เผื่อใจไว้ซะด้วยสิ


หลังผ่านเลยไปจากกลุ่มชาวบ้านตรงนั้นแล้ว เดินไปพักใหญ่ถึงจะเจอหลักกิโลฯ
ตั้งบอกระยะทางไปถึงหมู่บ้านแรกอย่าง Guling ที่ห่างไกลจากนี้ 15 กิโลเมตร!


เดินชิลมาจนถึงจุดเลี้ยวเข้าประตูสู่หุบเขาอย่างเป็นทางการจากซุ้มที่ปักธงมนตราที่ห้อยโยง
เป็นสัญญาณที่บอกถึงการเดินทางที่เพิ่งเริ่มต้น เป็นทิศทางมุ่งหน้าสู่ทิศตะวันตกที่ยาวเข้าไป
ไกลโพ้นในหุบเขา แสงอาทิตย์ช่วงบ่ายแก่จากที่เคยถูกภูเขาบดบังก็กลายเป็นต้องหันหน้าสู้
แดดที่แผดส่องมาอย่างจัง

 

เส้นทางรอบข้างเป็นหุบเขา เรากำลังเดินอยู่ท่ามกลางหุบเขาจริง ๆ แล้ว ด้านซ้ายของเรา
คือแม่น้ำพินที่ไหลสวนทางออกไปสู่พื้นที่ด้านนอก โดยจะไปบรรจบรวมกับแม่น้ำสปิติ
เส้นถนนช่วงนี้เริ่มเป็นทางลูกรังเยอะขึ้น  ในบางครั้งก็จะมีกลุ่มมอเตอร์ไซค์ท่องเที่ยววิ่งไล่
ตามหลังและแซงหน้าไปสองสามกลุ่ม หรือบางทีก็มีรถยนต์รับจ้างที่แน่นไปด้วยคนท้องถิ่น
ผ่านมา โชคไม่ดีเลยในครั้งนี้ไม่ได้ใครสามารถจอดรับได้เหมือนในครั้งก่อน ๆ

นับจากบ่ายสองโมงครึ่งจนกระทั่งก่อนเวลาห้าโมงเย็น ภาพของหมู่บ้านแรกก็โผล่มาให้เห็น
จากที่ไกลเบื้องหน้า มีอยู่แค่ไม่กี่หลังคาเรือนบนฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำ โดยมีสะพานพาดข้าม
แต่ไม่แน่ใจแล้วว่าจะดั้นด้นไปถึงก่อนหมดแสงของวันมั้ยนะ? 

นึกถึงคำแนะนำของพี่จอร์จ ที่เคยคุยกันในเกสเฮาส์ถึงหมู่บ้านในหุบเขาพินที่นักท่องเที่ยว
ควรแวะอย่าง Kungri, Sangam และ
Mud  ตอนนั้นก็จ้องมองกลุ่มหมู่บ้านที่ว่าและอื่น ๆ ผ่าน
บนหน้าแผนที่ก็เข้าใจไปเอาว่ามันไม่ไกลกันมากหรอก เดินเทรกเชื่อมต่อกันได้สบาย ๆ พอเอา
เข้าจริงไม่นึกเลยว่าอาณาเขตของหุบเขาพินจะมีพื้นที่ใหญ่โตมโหฬาร แถมมีหมู่บ้านตั้งห่างไกล
กันอย่างกระจัดกระจายเกินกว่าจะรวบรัดได้ถ้าเลือกที่จะเดิน

หลังจากที่เราบอกว่าจะเดินเข้า Pin Valley คุณยายเทนซิน ดอลมา และเยชิ แห่งหมู่บ้าน Lidang
คงอยากเบรกไว้ตอนที่รู้จุดหมายของเรา แต่ไม่รู้จะเตือนยังไงแน่ ๆ ... ส่วนกลุ่มคนที่นั่งถักโครเชต์
ตรงปากทางนั่นคงพนันกันแล้วมั้ง ว่าจะมันจะเกินไปไกลได้ถึงไหนกัน 555 


ถึงเริ่มจะท้อจากการเดินเท้าเข้าสู่ Pin Valley แต่ก็หันกลับไม่ได้อยู่ดี  ไม่นานนักแผนสอง
ก็วิ่งไล่หลังตามมา นั่นคือรถประจำทางจาก Kaza นั่นเอง ยกมือสองข้างกล่าวยอมแพ้ เอ้ยโบกรถให้
จอดรับด้วยยังไงล่ะ ลุงคนขับเบรกเอี๊ยดแถมยังมีกระเป๋ารถฯ หน้าคุ้นที่นั่งด้านหน้ากับพนักงานอีกราย
ต่างเพ่งสายตามาตรงเรา พวกเขาหัวเราะลั่นและเรียก "อารัก!" 

ทั้งหุบเขาสปิติมีพนักงานประจำรถ HRTC ไม่กี่คนหรือไง? ถึงวนมาเจอตาลุงหนวดและกระเป๋ารถฯ 
คู่หูรายนี้อีก (เราเคยนั่งรถไปที่ Lalung พร้อมกับพวกเขา) ส่วนพนักงานหน้าใหม่ที่มาเก็บค่าโดยสาร
ดูจะงงว่าไปรู้จักได้ยังไง  ระหว่างนั้นลุงก็เม้าท์ใหญ่โตเรื่องนั่งล้อมวงจิบอารักในคืนนั้นเสียลั่นรถ... 
อ่ะนะ โลกมันช่างกลมเสียจริง 




⭗ สะพานที่เจอระหว่างทาง ไม่รู้ว่าใช้เป็นทางลัดเข้าไปยังที่ไหนได้ (มองไม่ออกแต่ดูลึกลับดี)




⭗ ที่ตั้งของหมู่บ้านแรกที่ปรากฏให้เห็น อยู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำพิน 
หลังจากเดินมาไกลนับจาก สะพาน Attargo เดาว่าน่าจะเป็น Guling  





ผ่านเลยจาก Guling เส้นถนนจะพาลัดเลี้ยวขึ้นไปยังพื้นที่ด้านบน ที่ตั้งของหมู่บ้านต่าง ๆ ในละแวก Pin Valley 

 



ค่าโดยสารไป Mud จากกลางทางตรงนี้ 70 รูปี ไม่แน่ใจเรื่องการคำนวณระยะทางกับอัตราค่าโดยสาร
แต่คงไกลน่าดู จากที่นี่ไปถึงหมู่บ้านสุดท้าย  ซึ่งพอผ่านเลยพ้น Guling แล้ว ตัวรถก็จะเริ่มหักเลี้ยววนขึ้นเขา
ไต่ระดับไปเรื่อย ๆ โดยผ่านหมู่บ้านเล็ก ๆ หลายแห่งสลับกับเส้นทางที่เวิ้งว้าง 

Kungri น่าจะเป็นจุดสังเกตแรกที่เรานึกได้ เพราะเป็นจุดที่มีนักท่องเที่ยวหญิงชาวอินเดียมารอรถ โดยมี
แม่ชีมายืนส่ง ที่นี่มีวัดพุทธวัชรยานขนาดใหญ่ นิกายญิงมาปะ (น่าจะเป็นวัดแห่งเดียวในหุบเขาสปิติที่ถือ
นิกายนี้) อีกทั้งยังเชื่อว่าเป็นวัดที่เก่าแก่อันดับสองรองจาก Tabo 



บนรถประจำทาง 



อ้อ ...นักท่องเที่ยวสาวรายนี้ไม่ได้ลงที่เดียวกับเราหรอกนะ เธอลงที่ Sangam ต่างหาก 
หมู่บ้านที่ว่านี้มีอาณาเขตกว้างใหญ่สุด โดยสังเกตได้จากพื้นที่ปลูกข้าวด้านหน้าที่มีขนาดพื้นที่
เยอะมาก  แถมยังเป็นหนึ่งในจุดหมายที่น่าแวะเที่ยวอีกด้วย (ตามคำแนะนำของพี่จอร์จอีกแหละ)
หากมองอย่างผิวเผินแล้วคงจะมีที่พักให้เลือกอย่างแน่นอน 

แต่ว่า ในตอนนี้เหมือนพลังงานในตัวเริ่มจะมอดดับแล้ว ขอนั่งรถไปลงปลายทางเลยละกัน
พูดถึงการเดินทางด้วนรถโดยสารรอบเย็นขนาดนี้ไม่น่าจะเหมาะกับการท่องเที่ยวเสียเท่าไหร่
ชมวิวรอบข้างไปได้พักนึงก็เริ่มหมดแล้วจนเกือบมืดแล้ว มองอะไรก็แทบไม่เห็น...แต่ถ้าเช่ารถ
มาเองหรือขับมอเตอร์ไซค์ แล้วแวะพักตามหมู่บ้านโน้นนี้คงน่าจะดีกว่านี้มาก ๆ เวลามองเห็นวิว
ทิวทัศน์จากฟากนี้ข้ามไปยังฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำ...หมู่บ้านแถบโน้นดูน่ารักชะมัด  

น่าจะเกือบทุ่มนึง กว่าที่รถจะวิ่งมาจนถึง Mud... รอบนี้ไม่ต้องเดินหาโฮมสเตย์ให้วุ่น
ลุงหนวดแกจอดเล่นประเคนหน้าที่พักแห่งหนึ่งให้เลย พร้อมตะโกนเรียกเราเพื่ออัญเชิญลง
เสียงลั่นกันสามคนพร้อมผายมือส่งเชิญ  "โฮมสเตย์!... โฮมสเตย์!...โฮมสเตย์!"  555
ที่พักของวันนี้ดูเหมือนจะชื่อ Tara Homestay นะถ้าจำไม่ผิด ลงจากรถแล้วก็วิ่งไปถามราคา
ที่พักเลย มืดค่ำแล้วไม่อยากเรื่องมากแถมหนาวอีกต่างหาก อยากได้เครื่องดื่มร้อน ๆ มาจิบ
อาบน้ำและเอนตัวหลับในห้องพักดี ๆ ชดเชยความยากลำบากที่ไม่รู้จะตะบี้ตะบันทำไปทำไมกัน
มีพี่ผู้หญิงที่เป็นคนดูแลพาไปดูห้อง และห้องน้ำที่แยกอยู่ด้านนอก แถมมีเครื่องทำน้ำอุ่นซะด้วย
ตอนแรกให้ราคามา 700 รูปี แต่เห็นว่ามาคนเดียวเลยหยวน ๆ ลดเหลือ 500 ก็ได้   

คนดูแลถามเราว่าเดินทางมาจากหมู่บ้านไหนก่อนหน้า
พอตอบว่า Lidang ก็ดีใจมาก เพราะเธอเองก็เป็นคนหมู่บ้านนั้น  


หลังจากได้ห้องฯ ก็ลงมาหาของกินจากที่พักเลย เวลาแบบนี้ไม่ค่อยมีร้านอาหารด้านนอกเปิดให้
บริการ (ทุ่มกว่า ๆ ถือว่าดึกแล้วเพราะไม่มีแสงสีอะไรมารบกวน) เมนูที่วางในห้องอาหาร มีให้เลือก
ไม่กี่อย่าง ส่วนมากก็จะเป็นอาหารอินเดียแบบเบสิค ไม่ก็พวกเมนูทิเบตที่เน้นเส้นบะหมี่ และท้าย
สุดคือแม็กกี้ (ยี่ห้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของอินเดีย)

ห้องตรงข้ามของเรามีสามีภรรยาชาวอินเดียคู่หนึ่งที่เป็นนักท่องเที่ยวมาเข้าพัก  แลดูมีอายุมาก
แล้วด้วยนะ  การท่องเที่ยวหลังเกษียณคงไม่ใช่สิ่งแปลกอะไร แต่แอบงงตรงที่ว่าทำไมถึงเลือก
มาในพื้นที่แบบนี้กัน...สุดยอดไปเลย!   ทั้งนี้พวกเขายังไม่ได้เข้ามาคุยกับเรา เพียงแค่เห็นกัน
อย่างผ่าน ๆ จากห้องอาหารและบังเอิญมาเจออีกทีที่หน้าห้องน้ำเท่านั้น 

OK สำหรับค่ำคืนนี้ก็ไม่มีอะไรมากภายหลังได้ อาบน้ำสระผมแล้วก็หลับเป็นตายเลยจ้า





⭗ แสงแรกที่แตะยอดเขาทางด้านทิศตะวันตก และแม่น้ำพินที่ไหลผ่านเป็นเส้นยาว  


 

⭗ บ้านเรือนบางส่วนของ Mud 

 


⭗ ภายในหมู่บ้าน เช้า ๆ แบบนี้ยังไม่ค่อยเห็นใครออกมา กลุ่มขับมอเตอร์ไซด์เที่ยวต่างพากันออกไปตั้งนานแล้ว


 

สัตว์แรงงานประจำย่านนี้ และพลังงานไฟฟ้าจาก Solar cell ที่เหมือนจะติดตั้งไว้ใช้งานกันทุกหลัง

อีกเรื่องหนึ่ง ทุกบ้านเจาะท่อเล็ก ๆ ยื่นออกมาข้างนอก ถ้าอยู่ใกล้กับทางที่จะต้องผ่านละก็
จงหลีกเลี่ยงให้ไกลเลย เพราะมันเป็นท่อน้ำทิ้งที่ต่อมาจากจุดซักล้างบริเวณห้องครัวนั่นเอง






⭗ เริ่มมีคนออกมายืนรอรถแต่ไก่โห่เลย แต่เดี๋ยวเราก็ต้องรีบออกมาจองที่นั่งเช่นกัน (ขากลับให้นั่งฝั่งคนขับนะ)




⭗ ที่จอดรถประจำทางตั้งอยู่บริเวณท้ายหมู่บ้าน  ส่วนตรงเนินเขาบริเวณนี้มีลาออกมาเล็มหญ้ากันด้วย  




⭗ รถพ่วงกระบะ




⭗ ที่ตั้งของเจดีย์ ณ มุมหนึ่งของนาท้ายหมู่บ้าน (เห็นมีแบบนี้ทุกหมู่บ้านเลย) 




ออกเดินทางกันต่อกับรถคันเดิม  




⭗ สะพานไม้ข้ามฝั่ง ที่เก็บภาพทันระหว่างเดินทางออกมาจาก Mud ได้สักพัก



⭗ บ้านเรือนที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ 




⭗ หันกลับไปเก็บภาพย้อนอีกรอบ (ไม่รู้ว่าหมู่บ้านอะไร)




 Sangam เป็นหมู่บ้านที่ได้ชื่อว่ามีอาณาบริเวณกว้างใหญ่สุด 




⭗ แม่ชีสองรายที่เพิ่งเดินลงจากรถ ณ ที่แห่งหนึ่งในอาณาบริเวณหุบเขาพิน



ข้อมูลเพิ่มเติมของ Pin Valley

  • มีรถโดยสารจาก Kaza - Mud วิ่งรอบสี่โมงครึ่งทุกวัน
    และรอบกลับ Mud - Kaza ในเวลาเช้าของวันถัดไป 

     
  • แม่น้ำสายสำคัญ พิน (ชื่อเดียวกันกับหุบเขา)
     
  • มีหมู่บ้านตั้งใน Pin Valley มีทั้งหมด 17 แห่ง 
     
  • ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติในปี ค.ศ.1987
    และเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งเดียวของรัฐหิมาจัลประเทศ
    ที่มีสภาพพื้นที่เป็นภูเขาทะเลทราย 

     
  • ในฤดูร้อนจะมีการเพาะปลูกข้าวสาลี บาร์เลย์ พืชตระกูลถั่ว มันฝรั่ง ผักใบเขียว
    และปศุสัตว์ดังเช่นพื้นที่อื่น ๆ ในบริเวณหุบเขาสปิติ 

     
  • สำหรับผู้ที่จะเข้าไปส่องสัตว์ ดูนก และพืชพันธุ์ไม้ ในที่ตั้งของเขตอุทยานแห่งชาติ
    โดยจะเริ่มที่ Mikkim (เป็นรูทสำหรับช่วงฤดูร้อน) โดยถัดจากนี้จะมีเส้นทางเดินทาง
    เข้าไปด้านในอีก 10 กิโลเมตร 



Mud หมู่บ้านลำดับสุดท้ายปลายหุบเขาพิน ดูเหมือนจะมีที่พักคอยอำนวยความสะดวกค่อนข้างดี
เพราะเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของกลุ่มขับมอเตอร์ไซด์ จากที่เห็นการจอดเรียงรายของเหล่า
Royal Enfiled หลายคันบริเวณหน้าที่พัก นอกเหนือจากนี้ยังเป็นที่รองรับเหล่านักเดินทางที่เลือก
เทรกในเส้นทางเชื่อมต่อ Kullu Valley มายัง Mud ในชื่อ Pin Parvati Pass Trek ส่วน อีกเส้น
ทางยอดนิยมที่เริ่มจากเขต Kinnaur มาสุดทางที่ Mud ก็คือ Pin 
Bhaba Pass Trek 

การเข้ามาเยือนพื้นที่ด้านใน Pin Valley แบบผ่านตาในครั้งนี้ของเรา อาจเป็นแค่การมาถึงเพียงชั่ว
ขณะหนึ่งเท่านั้นแล้วก็ลาจากไปอย่างรวดเร็วในเช้าวันถัดไปเพราะเตรียมแผนมาไม่ดีด้วย  ช่วงขา
กลับที่ต้องนั่งรถยิงยาวแบบนี้เลยต้องขอชดเชยความรู้สึกที่เก็บเกี่ยวอะไร ๆ ในนั้นมาได้ไม่หมด
ด้วยการเก็บภาพวีดิโอบางส่วนเอาไว้ ให้พอเห็นอาณาบริเวณพื้นที่อีกส่วนหนึ่งของหุบเขาสปิติ
อย่างพิน ที่แอบหลบซ่อนอยู่ในอีกซอกมุม  รวมถึงการตั้งถิ่นที่อาศัยและการดำรงอยู่ของผู้คนที่
ล้วนมีความน่าสนใจไม่แพ้กัน 

 





⭗ ถ่ายวีดิโอบางส่วน ถ่ายช่วงนั่งรถรอบเช้าออกมาจาก Mud ก่อนดวงอาทิตย์จะขึ้นเสียอีก




มายืนดักรอรถโดยสารที่จะผ่านไปยัง Kaza ใกล้ ๆ กับสะพาน Attargo


แน่นอนว่า ไม่มีหนไหนที่ลุงหนวดสารถีประจำรถ HRTC จะไม่ผิดพลาด การเดินทางที่ไม่ราบรื่นนี่สิคือเรื่องปกติ 
ดูเหมือนว่าพวกเขาจะหลงลืมอะไหล่บางชิ้นในโรงเก็บรถที่หมู่บ้าน Mud จากที่วิ่งรถไปหยุดจอดไปหลายหนใน
ระหว่างทางจนผิดสังเกตและพยายามประคับประคองสถานการณ์ดังกล่าวมาจนถึงได้ไกลแค่ปากทาง

กระเป๋ารถฯ จึงเดินมาแจ้งให้ทราบในท้ายที่สุด  "เก็บตั๋วไว้ดี ๆ นะ แล้วไปยืนรอรถคันใหม่กับพวกเขา" 





 




 

Create Date : 09 ธันวาคม 2565
6 comments
Last Update : 15 มกราคม 2567 0:36:06 น.
Counter : 915 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณhaiku, คุณทุเรียนกวน ป่วนรัก, คุณtoor36, คุณเริงฤดีนะ

 

อ่านเอนทรี่นี้แล้วหายคาใจจากเอนทรี่ก่อนเลยแฮะ
โฮมสเตย์ที่นี่คล้าย ๆ การผลัดเปลี่ยนเวรกัน (ไม่รู้เลือกได้มั้ย)
ก็ไม่ใช่ว่าชาวบ้านทุกคนอยู่ในอารมณ์ที่พร้อมรับแขกได้ทุกเวลา
พอถึงคิวของบ้านตัวเองเป็นโฮสต์นี่เอง ^^"

*รูปการฝัดข้าวแบบดั้งเดิมนั่น ถ้าไม่เขียนบรรยายไว้
นึกว่าเจได 2 คนถือดาบไลท์เซเบอร์สู้กันอยู่ มันเหมือนมากเลย 55



อ่านตอนที่เดินจาก Demul ไป Lidang แล้วทุลักทุเลไม่น้อยเลย
นี่ถ้าติดกล้องบนหัวถ่าย vlog ตอนไถลลงเนินน่าจะระทึกน่าดู
พอเดินนอกเส้นทางหน่อยสมาธิหลุดไม่ได้เลยเนอะ
ดีที่พอถึง Lidang เจอคนในหมู่บ้านใจดีเลยได้พักหน่อยก่อนเดินทางต่อ

ขำลุงหนวดคนขับรถ สงสัยเมื่อคืนจิบอารักเยอะไปนิด (อีกแล้ว) มั้ง
แหม ออกรถยังไง ดั๊นนนลืมอะไหล่รถซะได้ 55

 

โดย: ทุเรียนกวน ป่วนรัก 21 ธันวาคม 2565 15:31:35 น.  

 

บางทีเขาก็แยกไม่ออกเหมือนกันนะ คล้านกับที่เราแยกคนยุโรปไม่ออกกระมัง ตอนผมเคยอยู่จีนไม่มีใครเดาออกเลยว่าผมคนไทย

เจอทักว่าไม่เข้าท่าที่ฝากกระเป๋าเป็นผมใจเสียนะ

ทุลักทุเลจริงๆ ผมเดินทางแบบนี้คงไม่ไหวจริงๆ ครับ

 

โดย: คุณต่อ (toor36 ) 31 ธันวาคม 2565 18:40:59 น.  

 

สวัสดีปีกระต่ายร่าเริงครับ

 

โดย: สองแผ่นดิน 1 มกราคม 2566 22:18:21 น.  

 

สวัสดีปีใหม่ 2566 ขอให้คุณฟ้าประสบแต่สิ่งดี ๆ ตลอดปี


ป.ล. เจอโควิดท้ายซีซั่นคือกันเหรอ (เกือบรอดแล้วเนอะ ^^")
ถ้าหายแล้วก็ขอให้สุขภาพกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิมเน้อ

 

โดย: ทุเรียนกวน ป่วนรัก 2 มกราคม 2566 19:55:05 น.  

 

น่า​าชื่นชมวิถีชีวิตของผู้คนที่นี่มากเลยครับ อยากไปสักครั้งในชีวิตนะครับ

 

โดย: สมาชิกหมายเลข 5722835 4 มกราคม 2566 14:01:51 น.  

 

แก๊งเซเลอร์มูนเป็นพระอันดับไปละกัน
เกจินี่ฟิกเกอร์โกลด์เซนต์สีทองอร่ามจองที่บนหิ้งบูชาแล้ว

ที่เลือกปฏิทินปี 1995 มาเขียนบล๊อกนี่
ไม่ได้ดูปฏิทินร้อยปีหรือคำนงคำนวณอะไรร้อกกกก แหะ ๆ ^^"
แค่บังเอิญตอนปี 2021 ค้นเจอที่บ้านเลยคิดว่าจะเอามาทำอะไรดี
เห็นวันที่ตรงกับปี 2023 พอดีแถมเป็นปีกระต่ายด้วย ลงตัวเลย
เอาไปทับให้มันแบนปีนึง เอามาใช้ได้พอดี :P

ฉากดำนั่นเป็นผ้านะ ใช้คุ้มดี ราคาถูกกว่ากระดาษอีก ดูแลรักษาก็ง่าย
แถมแมวน่าจะชอบตะกุยเล่นมากกว่ากระดาษด้วย (เอ๊ะ มันดีตรงไหน :D)

ขนาด 4 เข็มยังไม่รอดอีกเหรอเนี่ย o_O
ทางนี้หลังฉีดแล้วป่วยหนักอะ ถึงฉีดเพิ่มก็ไม่รู้กี่โดสถึงจะพอ
เอาแค่ 2 เข็มพอละ มักน้อย ^^"

 

โดย: ทุเรียนกวน ป่วนรัก 31 มกราคม 2566 21:02:50 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


กาบริเอล
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 58 คน [?]




ชอบต้นไม้, แมว, หนังสือ
และออกเดินทางท่องเที่ยวบ้าง

ไม่ชอบพบปะผู้คนมากนัก
เป็นมนุษย์จำพวก introvert

การเขียนบล็อก
คืออีกพื้นที่บอกเล่าผ่านตัวอักษร
และตัวตนของเราก็อยู่ในสิ่งที่เขียนค่ะ

ขอบคุณ Bloggang
สำหรับพื้นที่แบ่งปันตรงนี้

....

เริ่มต้นลงบันทึกอย่างเป็นทางการ
ณ วันที่ 16 ม.ค. 2014


###ไม่สะดวกพูดคุยหลังไมค์นะคะ###

© ขอสงวนลิขสิทธิ์ ภาพถ่าย 
ห้ามนำไปใช้ ดัดแปลง แก้ไข 
โดยไม่แจ้งที่มา ก่อนได้รับอนุญาต


New Comments
Friends' blogs
[Add กาบริเอล's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.