ร้านพม่า

ร้านขายของคูหาเล็ก ๆ ของชาวพม่าที่มีแผงขายผัก อาหารแห้ง เครื่องปรุง และข้าวของจิปาถะที่มีฉลากเป็นภาษาของตัวเอง วางปนคละไปกับสินค้าที่หาซื้อได้ตามร้านทั่วไปในไทยเพียงไม่กี่อย่าง ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของร้านเหล่านี้ก็คือลูกค้าชาวพม่าที่ย้ายมาทำงานในเมืองไทย ที่หน้าร้านนี้มีผักแปลก ๆ หลายชนิด ที่ตามแผงผักตามตลาดปกติมักไม่ค่อยได้เห็น บางชนิดเป็นวัตถุดิบตรงกับเมนูในอาหารอินเดีย แต่ขายถูกกว่าในห้าง และมีเมล็ดถั่วอย่าง เลนทิลแดง/ถั่วลูกไก่กระเทาะเปลือก/ถั่วตาดำ ฯลฯ เดาว่าเพราะพรมแดนของสองประเทศนี้อยู่ติดกัน พม่ากับอินเดียจึงมีของกินของใช้บางอย่างที่ไม่ต่างกันนัก ดีเลย จะได้ไม่ต้องไปไกลถึงพาหุรัดหรือสั่งซื้อออนไลน์
เราแวะมาซื้อน้ำมันมะพร้าวขวดน้ำเงิน ที่เมื่อก่อนนี้เคยใช้มาตลอด แต่ต่างที่หนนี้มีเวอร์ชั่นฉลากพม่า(พร้อมแนบหวีสับเป็นของแถม) ไม่ได้จะบอกว่ายี่ห้อนี้ดีที่สุดหรอก พอเห็นว่ามีขายก็แค่อยากวนกลับมาใช้เฉย ๆ การที่ไม่ได้คุ้นเคยกับชาวเมียนมาร์มากนัก เมื่อเดินเข้าร้านขายของของเขา ก็เลยเป็นเหมือนคนแปลกหน้าต่างวัฒนธรรมที่ต้องดีลเรื่องภาษาในการสื่อสารเยอะขึ้น แต่ในวันนี้เหมือนจะโชคดีหน่อย ตรงที่คนเฝ้าร้านพูดและนับเลขเป็นภาษาไทย คล่องกว่าคนดูแลอีกรายที่ได้เจอเมื่อหนก่อน
จุดนั่งของคนขายของก็อยู่ที่พื้น ท่ามกลางกระจาดใส่หมากฝานตากแห้ง คละปนไปกับจุดวางกับข้าวที่ตักแบ่งใส่ถุงเอาไว้แล้ว และตาชั่งกิโลแบบเข็ม ด้านหน้าของเขาหากหันทิศทางออกไปยังถนนด้านนอก คือราวเหล็กทรงเตี้ยที่แขวนสินค้าจำพวกยาเส้น ที่เป็นส่วนประกอบใส่หมากพลู ทุกอย่างถูกนำมาใส่ตะขอห้อยเรียงรายกันจนเหมือนเป็นม่านบังตาคนด้านนอก หนึ่งในนั้นมีแค่สิ่งเดียวที่ดูคุ้นตาเราที่สุดก็คือกระวานเขียว Green Cardamom หรือกระวานเขียว ไม่ค่อยถูกใส่ลงไปในอาหารไทยสักเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับกระวานขาว และกระวานดำ ผิดกับเมนูของทางฝั่งครัวมุสลิม ครัวอินเดีย หรือพูดง่าย ๆ ว่า มีให้เห็นอาหารแขกเยอะแยะ แม้กระทั่งในขนมหวาน ที่ใช้เจ้าตัวนี้เป็นเครื่องเทศแต่งกลิ่นอยู่บ่อย ๆ บางคนก็เรียกว่า ลูกเฮ้น / กระวานเทศ เรียกตามคนอินเดียเป็นภาษาฮินดีก็คือ Elaichi แต่ในภาษาพม่านี่ไม่รู้สิ เขาเรียกว่าอะไร ตามตลาดทั่วไปแทบไม่มีขาย หรือหาไม่ได้เลยล่ะ แต่พอได้มาเจอที่ร้านนี้ก็ดีใจมากเหมือนได้เจอของหายาก ไม่รู้ว่าคนพม่าเอาไปใส่ในอาหารเมนูไหนกันบ้าง เราถามถึงถุงใส่กระวานเขียวนั่นจากลุงที่เฝ้าร้าน เพราะคำถามที่ฟังแล้วอาจไม่เข้าใจเต็มร้อย แกก็สุ่มแตะที่ถุงด้านข้างก่อนที่จะปัดไปยังตัวที่ถูกต้อง พร้อมหน้าที่ดูสงสัยนิดหน่อยว่าสิ่งนี้คือกระวานแน่เหรอ? ยิ่งพอรู้ว่าจะเราจะเอาไปใส่แกง เขาให้เราไปดูที่จุดแขวนเครื่องเทศ ตรงมุมเสาใกล้กับจุดวางน้ำมันมะพร้าวที่เพิ่งซื้อไปเมื่อกี้แทน จะได้ไม่ซื้อของกลับไปแบบผิดฝาผิดตัว
"ลองหาดูสิ พวกกระวานจะแขวนอยู่แถวนั้น"
บรรดาเครื่องเทศทำพะโล้ เครื่องตุ๋นแบ่งขาย กลุ่มอาหารแห้ง เครื่องปรุงรส จะไปสุมรวมอยู่ที่ตรงนั้นหมด ยกเว้นถุงกระวานเขียวที่กระโดดไปอยู่รวมกับหมากและยาสูบ
พร้อมย้ำแล้วย้ำอีกว่าสิ่งที่เราถามถึงมันไม่ใช่ของกิน และไม่มีใครเขากินกัน "ถ้าตัวนี้เอาไปกินกับหมะ อ่ะใช่ กินหมะเป็นหรอ"
เรานึกไม่ออกลุงพูดถึงอะไร final sound สักตัวน่าจะหายไป ที่มุมหน้าร้าน มีลุกค้าอีกรายเข้ามาส่งภาษาซื้อขายอะไรบางอย่าง หลังได้ของก็ยืนปักหลักตรงจุดวางโต๊ะห่อหมากพลู ที่เต็มไปด้วกระป๋องและขวดรียูสใส่เครื่องปรุง และผงบางอย่าง มีคราบจาง ๆ ของปูนขาวเลอะเปื้อนชั้นวางนั่น แกเคี้ยวหมากหงับ ๆ อยู่ในปาก ลุงคนเฝ้าร้านชี้ไปที่เขา เพื่อบอกถึงกระเปาะเมล็ดเปลือกสีเขียวสีซีดห่อนั้น มันเอาไว้ใส่กินกับอะไรกันแน่
เราเดินออกจากร้านมองสำรวจพืชผักหน้าประหลาด ที่นำมาวางใส่ตะกร้าอีกครั้ง มีผลประหลาดที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เรียกว่าลูกมะตาด(แอปเปิ้ลมอญ)วางขายซะด้วย ก่อนปลีกตัวกลับก็ไม่ลืมถามราคาเครื่องเทศนั่นบนราวแขวนอีกรอบ เหมือนคนไม่มูฟออน ซึ่งถุงนี้ลุงขาย 50 บาท
กลับมาค้นในกูเกิ้ล หาคำเรียกใหม่ ဖာလာစေ့ (phalà-se) แทนที่กระวานเขียว ในเมื่อการเรียกชื่อเป็นภาษาไทยทำให้เขาเข้าใจผิดและคิดว่าเราจำหน้าตา วัตถุดิบสำหรับกินเป็นอาหารได้ไม่ถูกต้อง จากสิ่งที่เขาไม่รู้จักมาก่อน ก็ไม่ใช่เรื่องความเลวร้ายอะไรนัก คนพม่าอาจไม่รู้ว่ามันใส่ในแกงสัญชาติอื่น เหมือนกับที่เราเพิ่งรู้ว่ายอดกระเจี๊ยบเอาไปผัดทำเป็นกับข้าวได้ในเมนูของเขา หนหน้าถ้ากลับไปซื้อเครื่องเทศนั่นและดันไปเจอลุงคนขายรายเดิมก็คงตลกดี แกน่าจะคิดไปไกล คนโยเดียรายนี้ไปหัดกินหมากพม่าเป็นที่เรียบร้อยสินะ ถึงได้มาซื้อของไปเติม
Create Date : 21 มิถุนายน 2568 |
|
4 comments |
Last Update : 21 มิถุนายน 2568 23:15:27 น. |
Counter : 283 Pageviews. |
|
 |
|
เดียววันหน้าจะลองหามาทาน กินดูมั่ง
ว่าแต่ทานสดๆได้หรือเปล่าหรือต้องปรุงก่อน