เมื่อต้องออกไปซื้อหา ของกิน ของใช้ ในรัสเซีย (2013)
One Kilogram?
ฉันย้อนถามมาตราวัดตวงน้ำหนักแอปเปิ้ล ที่ยายเจ้าของร้าน กำลังกอบโกยใส่ลงในถุงขนาดกลาง และยกขึ้นตาชั่งดิจิตัล หลังจากตกลงกันที่ หนึ่งกิโลกรัม
"ดา!" ยายบอกว่า ใช่ .... วัน กิโลกรัม อย่างที่เอ็งจะเอาไง ค่าตัวเลขขึ้นที่เลขสอง ฉันเลยพูดบอกว่าไม่ใช่สอง แต่เป็นหนึ่งพร้อมยกมือบอกเลขให้ชัดเจนมากขึ้น
เมื่อหญิงชราเข้าใจดังนั้น จึงหยิบส่วนเกินออกจนได้น้ำหนักตามที่ตกลง และบอกว่า อย่างนี้มันไม่ใช่ หนึ่งกิโลกรัม มันต้องเรียกว่า อะดิน ยายยกมือขึ้นมาใบ้เลขให้ดู หนึ่ง คือ อะดิน / สอง คือ ดวา
ออ...เข้าใจละ ยายฟัง one เป็น dva (два) นี่เอง
ตั้งแต่เดินทางข้ามผ่านพรมแดนมาจนมาถึงเมืองแรกในรัสเซีย ฉันก็ทำใจ เรื่องภาษาแล้วล่ะ ว่าคงไม่จำเป็นต้องงัดเอาคำศัพท์ภาษาอังกฤษมาใช้ กระทั่งเรื่องนับเลขที่ลืมเผลอคิดไปเอง ว่าใคร ๆ ก็น่าจะพอรู้บ้าง ยังเกิความ คลาดเคลื่อนได้เลย
ยิ่งเวลาเข้าร้านสะดวกซื้อที่เรียกว่า ปราดุ๊กตึ่ย продукты (Product) หากมองหาสินค้าเจอก็คงชี้บอกคนขายให้ช่วยหยิบ แล้วคิดเงินก็คงจบเนอะ ศัพท์บางคำอาจทับศัพท์ได้ผล แต่หลายครั้งก็ไม่ได้ผล ... เผลอ ๆ คนขาย อาจถามเรากลับมาเป็นภาษารัสเซียเข้าก็ยิ่งพาให้ อิน-มึน-งง หนักกว่าเก่าอีก
ถึงฟังแบบนี้แล้ว ดูเหมือนว่าช่างยุ่งยากเสียเหลือเกิน แต่เรื่องดี ๆ เขาก็มีนะคะ เพราะข้าวของทุกอย่างในร้านมักจะมีราคาติดบอกเอาไว้เป็นมาตรฐานอยู่แล้ว ดังนั้นก็เลยค่อนข้างสบายใจเวลาไปซื้อของ และยังไม่เคยโดนโกงเงินทอนสักหน
อีกเรื่องละกัน มีอยู่วันหนึ่ง....
ฉันเดินตรงไปยังร้าน ปราดุ๊กตึ่ย อีกครั้ง เพราะต้องการถามหาของบางอย่าง ที่ต้องเจาะจงซื้อ เพราะรองเท้าที่ใส่มามันคงทนความหนาวไม่ไหว กาวเชื่อมพื้นคงเริ่มเสื่อมสภาพ ทำให้มีการเผยอแยกส่วนออกมาเล็กน้อย
คำว่า 'กาว' ในภาษารัสเซีย คืออะไร... เขามีชื่อเจาะจงหรือศัพท์เฉพาะแบบเราไหม?
อย่างที่เมืองไทย บางคำเรียก...
ผงซักฟอก บางครั้งเรายังถามหา แฟ้บ หรือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ก็ยังใช้แทนว่า มาม่า ส่วนกาวที่อยากได้ ฉันก็เพิ่งจะมารู้ภายหลังว่ามันคือ กาวซุเปอร์กลู ซึ่งก่อนหน้านี้ไปเรียกจนติดปากว่า กาวช้าง มาซะตั้งนาน แล้วคนรัสเซียเขาจะเรียกว่าอะไรหนอ? ไกด์บุคก็ไม่ได้เตรียมคำศัพท์จำพวกนี้เอาไว้ท้ายเล่มซะด้วย...
ระหว่างที่กวาดสายตาควานหาไปทั่วบริเวณ ก็พบว่าการจัดวางข้าวของร้านที่ว่า ไม่ได้ทำการเรียงเป็นระบบในมาตรฐานเดียวกัน เพราะไม่ได้เป็นแฟรนไชส์ หรือ สาขาย่อยของกลุ่มธุรกิจใด แม้ว่าแต่ละร้านจะมีการขึ้นป้ายว่า продукты 24 ซึ่งเปิดทำการ 24 ชั่วโมง เหมือนกันทั้งนั้น
เมื่อถึงคราวจนมุม เพราะอ่านฉลากผลิตภัณฑ์ทุกประเภทแทบไม่ออก ก็คงต้องเดินไปถามคนขายที่ยืนอยู่ด้านหลังเครื่องคิดเงิน หลังจากที่เธอ ให้สิทธิเสรีภาพในการเลือกส่องข้าวของชิ้นโน้นชิ้นนี้อย่างเงียบ ๆ มาพักใหญ่
ฉันถามหา glue และชี้ไปยังขอบรองเท้าข้างหนึ่งที่มันเผยอปากส่งยิ้มให้... หากหากาวที่ว่ามาซ่อมไม่ได้ ถัดจากนี้ไปฉันคงต้องเดินคีบแตะเที่ยวมอสโก คนขายพอจะเข้าใจได้ไม่ยาก เธอจึงหยิบซุปเปอร์กลูยื่นส่งให้หนึ่งหลอดเล็ก ก่อนคิดเงิน ฉันอยากได้น้ำดื่มอีกสักขวด พวกน้ำดื่มมักวางเรียงรายอยู่ด้านหลัง จุดชำระเงินและจำเป็นต้องเลือกมาสักยี่ห้อ
ฉันบอกว่าจะเอาขวดน้ำที่เขียนว่า ไบคาล ตามชื่อแหล่งผลิตในพื้นที่นี้ ที่เขาเคลมไว้ว่าเป็น น้ำที่มาจากทะเลสาบไบคาล และเนื่องจากมันมีสีฉลาก ที่ติดต่างกัน ก็เลยบอกเพิ่มเติมไปด้วยว่า 'ไม่เอาแบบอัดแก้ส ' ...
ถ้าจำไม่ผิดเธอหยิบแบบที่เป็นฉลากสีฟ้าให้ แต่ฉันเกิดเปลี่ยนใจกระทันหัน อยากได้อีกยี่ห้อที่ขวดใหญ่กว่าแทนเลยขอเปลี่ยน และชี้ไปว่าจะเอาขวดโน้นนน คนขายหันไปไล่คลำตามที่ชี้ และพูดอะไรบางอย่างก่อนที่จะหยิบนำมาคิดเงิน
หลังจากได้สิ่งที่ต้องการ ฉันก็เดินออกมาหามุมนั่งเพื่อซ่อมบีบกาวซ่อมรองเท้า แบบแก้ขัดชั่วคราว ไม่ถึงเสี้ยวนาทีเนื้อกาวก็ประสานเชื่อมรอยเปิดได้อย่างไว จะว่าไป...การเข้าไปซื้อของตามร้านท้องถิ่นครั้งนี้ ดูแทบไม่มีปัญหาอะไรมากนัก และบางทีเราเองก็อาจเคร่งเครียดหรือหวาดกลัวกับพรมแดนทางภาษามากไปเอง
ฉันหยิบขวดน้ำดื่มมาบิดเปิด มีเสียงบางอย่างดังเล็ดลอดผ่านมา ตามแรงอัดอากาศที่อยู่ภายในขวด ซู่ !!!!!!!!!!!!!!!!!
พลาดอีกละ ใครผิดเนี่ย?
.....
เอาหล่ะ....หลังจากโม้ มาเยอะแล้ว เราจะพามาดูร้านขายของที่เห็นโดยทั่วไป ในรัสเซียกันต่อดีกว่าอาจไม่ใช่ห้างสรรพสินค้า หรือกระทั่งซุปเปอร์มาร์เก็ต ที่มีขนาดใหญ่ แต่ในเอนทรี่นี้ จะหมายถึงพื้นที่การค้าแบบธรรมดาสามัญโดย ทั่วไปค่ะ นี่คือ ซุ้มขายของที่เรียกว่า Kiosk แต่ป้ายชื่อที่เขียนบอกตามซุ้มจะเป็นอะไรนั้น ก็สุดแล้วแต่ที่จะเห็น ^^
'คีออสก์' มักจะตั้งอยู่ตามรายทาง ริมถนน ย่านชุมชน ทั่วไป จากในภาพ ที่นี่อยู่ตรงข้ามกับสถานีรถไฟ จะขายพวกของกิน เครื่องใช้ สารพัดสิ่ง เล็ก ๆ น้อย ๆ และไม่มีธีมที่ชัดเจน ตามแต่ที่คนขายอยากจะนำมา จัดเรียงจัดวางไปตามชั้น หรือห้อยแขวน โดยเราสามารถมองหาสินค้าผ่านกระจก ใส ๆ ส่วนกระดาษสีแปร๋นชิ้นเล็ก ๆ ที่แปะไว้ก็คือป้ายราคา... ซึ่งร้านพวกนี้จะมี ช่องด้านหน้าให้ชะโงกติดต่อคนขายที่อยู่ด้านใน อยากได้อะไรก็ชี้บอกเอา ส่วนเวลาคิดราคารวมหรือจำนวนที่ต้องเตรียมจ่าย คนขายก็มักจะเคาะเครื่องคิดเลขแสดงบอกให้เราเข้าใจได้อยู่แล้ว...
มาส่องดูใกล้ ๆ สิว่า มีอะไรขายบ้าง ซุ้มนี้มี Fast food ขายด้วย แต่เป็นแบบ แช่แข็งแล้วนำมาอุ่นเข้าไมโครเวฟอีกที มีหมายเลขติดบอกให้เลือกที่ด้านหน้า
ถัดจากตรงนี้ ซุ้มด้านข้างเป็นร้านขายวีซีดี และถัดไปก็เป็นของที่ระลึก จิปาถะ ฯ ส่วนแผงร้านที่ตั้งอยู่ท้ายๆแถว จะมีโทรศัพท์มือถือมือสองขาย
ซุ้มขายของขนาดเล็ก มองแล้วก็บอกถูกไหมว่าเขาขายอะไรบ้างเนี่ย ???
ถัดมา ใหญ่กว่า Kiosk ก็คือ.... продукты ปลาดุก เอ๊ย ปราดุ๊กตึ่ย สิเนอะ
ส่วนมากก็มักจะเห็นการเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง และตั้งอยู่ในตึกอาคาร หรืออาจเป็นร้านค้าตั้งแยกออกมา มีของกิน ของใช้ ให้เลือกซื้อหาค่อนข้างเยอะ ร้านขายของพวกนี้จะขึ้นป้ายชื่อว่า продукты 24 เหมือนกันทั้งหมด
ส่วนข้างในจะมีอะไรนั้น ก็ตามแต่ที่ร้านจะนำมาวางขายค่ะ
นี่คือกาว ที่ซื้อไว้ซ่อมรองเท้าตามที่เล่ามาตอนต้น หลังจากที่เปิดใช้ไปหนเดียว มันก็ได้ทำการปิดล็อคตัวเองไปเรียบร้อย...คุณภาพช่างดีเยี่ยมจริง ๆ
จากร้านค้าปลีกย่อย ก็มาดูหน้าตาของ ตลาด หรือที่เรียกว่า Рынок ( Ri nak ; รีนัก) กันบ้าง

เคยเดินผ่านย่านหนึ่งก็มีการค้าขายเสื้อผ้า เหมือนตลาดนัดบ้านเราเลย หลังจากเดินสำรวจแล้ว ก็คิดว่าที่ตรงนี้คงเป็นตลาดสำหรับสินค้าประเภท ข้าวของเครื่องใช้และเครื่องนุ่งห่ม เสียมากกว่า

ส่วนภาพนี้เป็น "ตลาดสด" โดยถ่ายมาจากคนละเมืองกับตลาดข้างบนนะคะ นอกจากจะมี ผักผลไม้ ของสด ของแปรรูป มาวางขายตรงลานด้านนอกแล้ว ก็ยังมีพื้นที่ขายของภายในตัวอาคารด้วย ที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กันด้วย
เราชอบแวะมาซื้อผลไม้กลับไปกิน เพราะดูว่ามันคงสดกว่าในร้านสะดวกซื้อ และมีให้เลือกเยอะ ตอนซื้อก็แอบสื่อสารยากหน่อยยิ่งถ้าเจอคนขายเขาจะพูด เก่ง ๆ แบบ พ่อค้า แม่ค้า ที่ชอบนำเสนอโน่นนี่เพิ่มเติมเราก็จะฟังไม่ออก

แต่จุดค้าขายที่เราชอบเป็นพิเศษ และแวะเวียนมาเป็นลูกค้าประจำ... ก็คือบริเวณพื้นที่ที่ผู้สูงอายุนำเอาของมาวางขาย เห็นว่ามีปริมาณไม่เยอะเกินไป ซึ่งมันก็ดีต่อการซื้อมากินคนเดียวซะจริง (ซื้อแบบแบ่งขายเป็นกิโลฯ กินไม่หมดก็ เสียดาย)
พอช่วยกระจายรายได้ให้คุณตาคุณยายก็รู้สึกดีเหมือนกัน เขาขายไม่แพงด้วย และดูเหมือนผลผลิต พืชผัก ผลไม้ จากสวนในครัวเรือนเล็ก ๆ น้อย ๆ มากกว่า จะไปรับซื้อจากที่อื่น อย่างบางคนก็อาจมีโหลใส่น้ำผึ้งที่ดูเกราะกรังนิด ๆ, เบอร์รี่, ต้นกล้าของต้นไม้ประดับ หรือ ช่อดอกไม้ที่ตัดมาห่อขาย ฯลฯ
ซึ่งเราคิดว่ามันเป็นภาพการค้าที่น่ารักดี :)
และในภาพสุดท้ายนี้ไม่ได้เป็นย่านตลาด แต่ก็พื้นที่ค้าขายเล็ก ๆ เช่นกัน มีผู้สูงอายุ นำพืชผัก มาวางขายช่วงเวลาเย็น ที่ตรงนี้เป็นจุดทางเดินเท้า ซึ่งอยู่ใกล้กับอุโมงค์เดินลอดถนน เราบังเอิญไปเห็นตอนที่แวะผ่านมาพอดี ชอบการวางของที่ไม่ดูเกะกะทางสัญจรด้วย
อยากจะโม้ให้ฟังว่า ได้ไปอุดหนุนแอปเปิ้ลของ คุณยายเสื้อฟ้า มาหนึ่งถุง ถึงตอนนั้นจะเจรจากันไม่ค่อยเข้าใจ แต่ก็มีคนที่เดินมาเลือกซื้อของช่วยแปลให้ ยายขายให้ถุงละ 30 รูเบิ้ล พอหลังจากที่ซื้อ ก็แอบเห็นยายหยิบเงินนั้นมาบรรจง ไล่แตะพรมไปทั่วของที่ตัวเองเอามาวางขาย ...ช่างดูคุ้น ๆ ยังไงก็ไม่รู้สิ
มั่นใจเลยนะว่า ตัวเองคงเป็นลูกค้ารายแรกในวันนั้นแน่ !
และนี่ก็คือเรื่องราวในมุมเล็ก ๆ ที่แอบหยิบมาบอกเล่าเรื่องเฉพาะ สำหรับความเป็นอยู่ การดำรงชีพ เพียงเสี้ยวหนึ่งที่ได้มีโอกาสไปพบเจอ ในช่วงระหว่างที่เดินทางในรัสเซียเมื่อ ปี 2013 ค่ะ
Create Date : 01 เมษายน 2560 |
Last Update : 22 ธันวาคม 2560 15:54:55 น. |
|
13 comments
|
Counter : 2251 Pageviews. |
 |
|