Chiya-Cha-Chai : เรื่องของชาที่ข้าพเจ้าพบเจอ
กล่าวกันว่าวัฒนธรรมการดื่มชา มีต้นกำเนิดเริ่มแรกมาจาก ประเทศจีน ซึ่งในภาษาจีนนั้นก็เรียกเครื่องดื่มชนิดนี้ว่า 'ชา' เช่นเดียวกับที่เรายืมคำของเขามาเรียกอีกที แต่ด้วยความที่บ้านของเราไม่มีใครดื่มชากันเลย เราจึงไม่ค่อยคุ้นเคยมันมากเท่าไหร่นัก

และเท่าที่จำได้เราจะชินกับการดื่มชาที่ต้มใส่กาใบโต (โดยเฉพาะร้านอาหารของคนจีน) ที่จะมีวางไว้บนโต๊ะเสมอ น่าจะเป็นใบชายี่ห้อเดียวกับที่เอาไว้ไหว้เจ้า พอจะนึกออกไหม? เพื่อให้ลูกค้าหยิบรินดื่มกันแทนน้ำเปล่า รสชาติจะฝาด ๆ เพราะไม่ได้ผสมอะไรทั้งนั้น มันจะมีกลิ่นหอมของแบบชาเบาบาง ซึ่งก็เอาไว้ดื่มแก้เลี่ยนได้ดีเลยล่ะ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เราติดใจกับรสชาติของมัน จนถึงกับอยากเอาติดกลับไปต้มดื่มเองเวลาอยู่บ้านเท่าไหร่ ก็เพราะโดยส่วนตัวแล้วเราชอบดื่มกาแฟมากกว่าชา แม้แต่การที่จะสั่งเครื่องดื่มเย็น ๆ มาจิบแก้ร้อน 'ชาเย็น' ก็ยังคือตัวเลือกสุดท้ายในความคิดเลยจริง ๆ ให้ดิ้นตาย
กาใส่น้ำร้อนบนรถไฟจีน เราพบว่าด้านในตัวกาที่ว่างเปล่านั้น ยังมีร่องรอยของเศษใบชาหลงเหลือไว้ให้เห็น
เมื่อเราเริ่มออกเดินทาง ก็พบว่าในพื้นที่บางแห่งเขานิยมดื่ม 'ชา' กันจนซะแทบเรียกได้ว่า ดื่มกันจนเป็นวัฒนธรรม ความสนใจของเราเลยไม่ได้อยู่ที่รสชาติของ ชา ตามแบบฉบับนักดื่มตัวยง หากเพื่อนคนใดหลงเข้ามาเพื่อหาข้อมูลแบบเจาะลึกก็ต้องขออภัยล่วงหน้าจ้า เพราะมันจะเป็นเรื่องของชา ที่เคยลองจิบมาจากที่ต่าง ๆ เท่านั้นนะคะ
>> ชิยา (चिया)
ถ้าไม่นับ ชาแบบแขก ๆ ที่พาหุรัด เนปาล ก็คงจะเป็นที่แรกที่ได้ลองดื่มชานมกลิ่นเครื่องเทศ อันประกอบไปด้วย รสหวาน ฝาด มัน และซู่ซ่า ในแก้วเดียว หลักการต้มชาก็ต่างไปจากชาจีนร้านอาแปะ ที่ใส่ใบชาอบแห้งต้มใส่น้ำเปล่า ๆ นะ แต่มันจะเป็นผงชา ที่เทใส่หม้อต้มผสมน้ำและนม (อัตราส่วน : N/A) เทน้ำตาล ตามความหนักมือของแต่ละคน และใส่ผงเครื่องเทศที่เรียกว่า 'มาซาล่า' ลงไป เมื่อพอร้อนได้ที่ ก็เอากระชอนมากรองเพื่อรองลงแก้ว บางร้านอาจใส่ขิงทุบลงไปแทนมาซาล่า ถ้าให้เลือกได้เราชอบชานมใส่ขิง มากกว่ามาซาล่า และนี่คือการชงชาแบบพื้นที่ราบค่ะ

ไม่มีรูปชาหรอก เพราะหน้าตาไม่ต่างจากชานมร้อนทั่วไปไง ก็เลยถ่ายรูปเมนูอาหารมาแทน อันนี้เป็นราคาในเมืองนะคะ แต่ถ้าอยู่บนเขาสูง ก็จะแพงขึ้นเรื่อยๆ ตามค่าขนส่ง ที่ต้องอาศัยแรงงาน คนและสัตว์ อย่างเช่น ลา, จามรี เป็นต้น ซึ่งจะสวนทางกับราคาที่พัก เมื่อตั้งบนที่สูงก็จะถูกลง ... เจ๊า ๆ กันไป
(อ้างอิงราคาในปี 2012 ; สกุลเงิน NPR)
แต่หากได้เดินไปในพื้นที่ภูเขาไม่ว่าจะเป็นเส้นทางไหน ก็จะพบ ชิยา อีกประเภทหนึ่งแทน โดยมากคนบนเขามักจะนำ เนยมาผสมกับชานม
ซึ่งบนที่นั้นกลิ่นชาก็จะเปลี่ยนไปจากเครื่องเทศ มาเป็นกลิ่นหอมของเนยแทนค่ะ ฟังดูแปลก ๆ เนอะ แต่พอถึงเวลาที่ต้องไปอยู่ในสภาพอากาศหนาวเย็นบนภูเขาแล้ว เจ้าชานมใส่เนยตำรับนี้ช่วยให้ความอบอุ่นได้มากเลย
*** แอบเสริมอีกนิด : อย่าคาดหวังที่จะได้เจอกับชาต้มแบบกรองอย่างที่เขียนไว้ในทุกแห่งนะ เพราะเนื่องจากขั้นตอนมันยุ่งยาก ร้านบางร้านเขาก็ต้องการความสะดวกและรวดเร็วกว่านี้ เพราะฉะนั้นเราก็อาจได้พบเจอกับรูปแบบของผงชาที่บรรจุถุงแช่นมร้อนใส่แก้วแทนค่ะ ***
>> ชัย (Чай)
พอเห็นชื่อ แล้วอาจร้อง อ๋อ... อินเดีย ไง ที่เรียกชาว่า ชัย แต่เห็นตัวอักษรซีริลลิก ที่ก็อปปาดไว้แนบข้างอย่างนี้ อ้าว รัสเซีย รึปล่าวนิ?
ฮ่า ๆ ใช่แล้วคนรัสเซียเรียกชาว่า ชัย ค่ะ และคนที่โน่นก็ดื่มกันได้ไม่แพ้ชาติใดในโลกนี้เช่นกัน ระหว่างที่อยู่บนรถไฟรัสเซีย เนื่องจากนั่งนานหลายวัน ก็มีบ้างที่ต้องตระเตรียม อาหาร เครื่องดื่ม มาจิบ มากิน แก้เซ็งกัน หนึ่งในนั้นก็คือชาผงชนิดซองที่ถูกนำมาบรรจุถุงพร้อมหย่อนลงน้ำร้อน

โดยจะเทน้ำร้อนหย่อนถุงชาพร้อมใส่น้ำตาลหวานเจี๊ยบ ดื่มกันแบบชาดำ ส่วนยี่ห้อที่เห็นพวกเขาพกมานั้น มันมีโลโก้เป็นรูปเจ้าหญิงใส่มงกุฏ ไม่แน่ใจว่าดังหรือปล่าว ลองเคาะหารูปผ่านกูเกิ้ล ก็ขึ้นชื่อว่า Princess Noori จะเป็นที่นิยมหรือเพราะหาซื้อง่ายยังไงเราไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดนะ และหนึ่งในของที่ระลึกยอดฮิตที่มีขายบนรถไฟก็คือแก้วใส่ชาหน้าตาแบบนี้ค่ะ เนื่องจากไม่มีตังค์ซื้อในตอนเดินทางหนนั้น เลยต้องยืมภาพจากวิกิพีเดียมาใช้
ส่วนการชงดื่มกันตามบ้านเขาก็จะมีหม้อต้มน้ำใบโตประเภทหนึ่ง ที่เรียกว่า самовар (ซาโมวาร์) ตรงกลางมีแกนใส่ถ่านเพื่อทำความร้อน แล้วก็มีก๊อกสำหรับรินน้ำร้อนใส่ถ้วย พื้นที่ด้านบนก็เอากาใส่ชาไปวางอังไฟได้อีก

หากนึกไม่ออกว่าของจริงจะเป็นยังไง ให้ไปดูหน้าตาและข้อมูลเพิ่มเติมกันที่ลิงค์แทนนะ
>> ชัย/จัย (चाय)
ทีนี้กลับมาที่อินเดีย จริง ๆ ละ เป็นข้อสงสัยกันว่าตกลงมันควรออกเสียงว่า "ชัย" หรือ "จัย" กันแน่ ...
ต้องขอบอกก่อนว่าตัวอักษรในภาษาไทยทั้ง ช. และ จ. ไม่ได้ออกเสียงครอบคลุมได้ทั้งหมดหรอก มันจะเปล่งว่า จ. แต่ดันมีเสียงลมกระแทกผ่านคล้ายกับ ช. ดังนั้นมันก็เลยจะคล้าย "ช." ผสม "จ." เลยล่ะสิ ก็แล้วแต่ว่าจะเขียนกันยังไงก็เอาที่สบายใจละกัน
:)

ดื่มกันจริงจังมากอ่ะ เอะอะ ก็ดื่มชา Chai Piyo ge !!!???
แล้วที่นิยมกันก็คือ ชานมร้อน ๆ ด้วยนะ เราไปอินเดียครั้งแรก ตอนฤดูร้อนยังคิดไม่ออกเลยว่าอากาศร้อนจะตาย ทำไมยังนั่งชิลจิบชากันได้แบบไม่สะท้านกับอุณหภูมิ! ขั้นตอนการชงชาแทบไม่ต่างไปจาก เนปาลีสไตล์ (ฉบับภาคพื้นราบ) เป็นชานมต้มกรองที่จัดผงเครื่องเทศนำเช่นกัน เลยขอพูดภาพรวมในเรื่องผงมาซาล่าด้วยสักนิด อย่าง Garam Masala สำเร็จรูปที่เราซื้อมาใส่ชา (จากไทยที่แหละ) ดูจากเครื่องเทศที่ระบุบอกก็มี พริกไทยดำ ยี่หร่า เมล็ดผักชี กานพลู ลูกจัน ดอกจัน ลูกกระวาน อบเชย สำหรับผงเครื่องเทศประเภท ที่นำมา ใส่ชา ใส่ของหวาน บางอย่าง กลิ่นมันจะไม่จัดหรือเผ็ดร้อนเท่ากับที่เอามาทำอาหารกันนะ แต่ถ้าคิดจะเอามา ผัดผัก ทำแกง คงต้องใช้สูตรอื่นที่ทำเฉพาะเจาะจงกว่านี้ค่ะ
>> และ ชา
ที่เขาเรียกกันว่า ชา นี่แหละ (ก็ยังอยู่กันที่อินเดีย) แต่เป็นภาคพื้นที่ต่างวัฒนธรรมบนแถบหิมาลัยที่ได้ไป ผู้คนชาว ลาดักห์, สปิติ หรือว่าจะเป็น ชาวทิเบต เองก็ตาม เขาก็เรียกว่าเครื่องดื่มประเภทนี้ว่า "ชา" เช่นกัน
เรายังไม่เคยไป ลาดักห์ แต่รู้มาจากการแลกเปลี่ยนเรื่องคุย กับคนที่ได้เจอตอนเดินทาง เลยมีหัวข้อให้ได้โม้ต่อเลยว่า คนไทยก็เรียก ชัย ว่า ชา เหมือนกัน ! ส่วนเพื่อนคนที่พูดถึงก็เคยมาไทยนะ พี่แกถึงกับเล่าให้ฟัง เขาเห็นว่าในเมืองไทยบ้านเรามีชาเย็นหลายสีวาไรตี้มาก ๆ สีส้ม, สีเขียว, สีน้ำตาล กระทั่ง สีชมพู
(เฮ้ย ๆ... อันหลังนั่นมัน นมเย็น รึปล่าว ?!)
หน้าตาของ โป ชา (Tibetan tea / Butter tea)
เนื่องจากคนแถบนี้ก็จะแอบมีส่วนคล้ายกับทางทิเบต ทั้งรูปร่างหน้าตาและการรับอิทธิพลทางวัฒนธรรมหลายอย่าง ดังนั้นก็เลยได้ลองดื่มชาอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า Butter tea หรือ ชาแบบทิเบต (Tibetan tea) ซึ่งคนทิเบตเรียกกันว่า Po cha ทั้งนี้เรื่องของรสชาติเนี่ย มันแทบไม่มีความฝาดของชาเลยนะ (ถ้าจะให้เทียบกับชาเนยที่เคยดื่มบนเขาในเนปาล) รสชาติออกไปทาง เค็ม ๆ มัน ๆ เพราะนำเอาเนยมาเป็นส่วนประกอบหลัก และสีของชาที่ว่าจึงดูขาววอก และมีความเป็นมันลอยหน้าให้เห็นอย่างชัดเจน
อย่างตอนที่ไปอยู่ย่านชุมชนชาวทิเบต (ใน Bir ) ก็เช่นกัน แน่นอนว่ามีชาประเภทนี้ขาย ยิ่งช่วงนั้นอากาศหนาวมากแล้ว ต่อให้ไม่ชอบรสชาติยังไงก็เหอะ เรายังถึงกับต้องสั่งชาทิเบต มาดื่มแทนที่จะเลือกชัยแบบอินเดียตามที่คุ้นชิน ยัยเพื่อนสาวชาวอินเดียก็เข้าใจว่าเราคงอยากลองของแปลก เลยถึงกับพูดเตือนให้รู้ก่อนตัดสินใจสั่งว่า มันไม่อร่อยเลยนะ จำได้ว่าเราตอบเขาไปตรง ๆ แหละว่า
"ฉันหนาวจะตายอยู่แล้ว และตอนนี้ร่างกายต้องการไขมัน" เออ เข้าใจแล้วว่าเขากินชาเนยที่ว่ากันไปทำไม
 ภาพกระบอกไม้สำหรับตำชา(เนย) ใน Bön Monastery ฝั่งวัดของพระผู้หญิงบริเวณห้องครัว
ส่วนคำเรียกอีกอย่างหนึ่งของ ชาทิเบต นอกจากชื่อ "โป ชา" คนทางลาดักห์ จะเรียกมันว่า กรู กรู ชา (Gur gur cha) ซึ่งเป็นการเลียนเสียงจากการใช้เครื่องมือตำเนยทรงกระบอกไม้ค่ะ
แต่กรรมวิธีดั้งเดิมตอนทำแบบนี้เราเองไม่ได้เห็นกับตาตัวเองซะที เพราะจากที่พบเจอตามร้านต่าง ๆ ชาเนย พวกนี้ มักถูกต้มใส่กาน้ำร้อนพร้อมเตรียมเสิร์ฟเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
 ภาพจากหนังสือ - หญิงชาวพื้นเมือง ที่อาศัยอยู่ในเต๊นท์กระโจมที่พักในทิเบตกับเครื่องมือทำชาฯ
เลยได้แต่นำภาพจากหนังสือมาให้ดูแทนก็แล้วกัน ว่ากระบอกตำ จะสูงแค่ไหนเมื่อเทียบกับคน ส่วนปริมาณที่ทำในแต่ละหนคงเยอะพอควร
ใจจริงก็อยากรู้เช่นกันนะ ว่าเสียงของมัน จะดัง กรู ๆ จริงไหม?
....
ช่วงหลัง ๆ ก็มีนะ ที่เราต้มนมร้อนหย่อนถุงชาสำเร็จรูป (ที่หาซื้อได้ทั่วไป) ใส่น้ำตาลเติมรส หรือบางทีก็นึกครึ้มหยิบเอา ผงมาซาล่า มาโรยใส่ด้วยนิดหน่อย เพื่อเลียนแบบกลิ่นชาที่เคยดื่ม...มันก็ไม่ถึงกับเหมือนแต่ก็พอกล้อมแกล้มไปได้
ถึงเราจะไม่ได้ชื่นชอบชา และกลิ่นเครื่องเทศเป็นชีวิตจิตใจเสียขนาดนั้น แต่นั่นก็คงเป็นเพราะเราแอบคิดถึงช่วงเวลาเดินทางที่ผ่านมามากกว่า ซึ่งก็น่าเสียดายนะ ที่อากาศในเมืองไทย มันดันร้อนเกินกว่าที่เราจะคิดตักเนยผสมใส่ลงเพิ่มไปได้ ^^
ขอจบเรื่อง ชา ฉบับแฟนพันธุ์ทางไว้เพียงเท่านี้ละกันนะคะ
Create Date : 12 พฤษภาคม 2560 |
Last Update : 22 ธันวาคม 2560 16:10:03 น. |
|
18 comments
|
Counter : 2984 Pageviews. |
 |
|
ไปต่างประเทศชอบชาพม่า Royal Myanmar Tea ที่ซื้อๆกันนี่แหละ
แต่แถวๆอินเดียที่ชากลิ่นออกเครื่องเทศอะไม่ชอบ พวก Masala Tea งี้
กลิ่นชาเปลี่ยนไปตามเครื่องเทศแล้วเปลี่ยนไปตามนมด้วยป่าว บางที่หานมวัวไม่ได้อาจใช้นมลา นมจามรี :P
ชาใส่เครื่องเทศก็ว่าแปลกละ ชาใส่เนยนี่คงปุเลี่ยนพิลึก แต่ปกติเราใส่นมใส่คอฟฟี่เมทกัน จะใส่เนยก็คงไม่ต่างกันเท่าไหร่มั้ง.... ไม่สิ มันต้องรสชาติเหมือนซดน้ำมันพืชแน่ๆ -*-
แก้วใส่ชารัสเซียสวยง่ะ