เกาะขอบเวที ดูรามายณะ
ป้ายโปรโมทงานเทศกาลอินเดีย กับคำโปรยที่เรามักจะคุ้นเคย " Incredible India "
หากพูดถึง "รามายณะ" แล้วก็คงจะนึกถึงเรื่องตำนานที่ยิ่งใหญ่ของแดนอินเดีย ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเรื่องที่เล่าสืบทอดต่อ ๆ กันมาในพื้นที่ชมพูทวีปกว่า 2,400 ปี โดยผู้ที่รจนาเรื่องราวนี้ก็คือฤาษีวาลมิกิ ทั้งนี้รามายณะได้ถูกนำมาประพันธ์ไว้ เป็นบทร้อยกรองประเภทฉันท์ ซึ่งภาษาสันสฤตเรียกว่า โศลก เป็นจำนวน 24,000 โศลกด้วยกัน และแบ่งออกเป็น 7 ภาค
ซึ่งเราคนไทยอาจจะมักจะคุ้นเคยกับ รามเกียรติ์ กันดี (ซึ่งดัดแปลงเนื้อหามา จากมหากาพย์รามายณะ) และหากไม่ใช่เรื่องที่ผ่านตาจากตำราหนังสือเรียน ก็ อาจจะเคยเห็นในรูปแบบการแสดงผ่านทางนาฏศิลป์โขนกันมาบ้างล่ะ แต่ทั้งนี้ มันก็ได้ถูกเกลาเรื่อง ให้กลืนเข้ากับวัฒนธรรมของไทยไปมากจนฉันนึกภาพตัว ละครอย่าง พระราม พระลักษมณ์ นางสีดา หนุมาน ทศกัณฐ์ นางมณโฑ ฯลฯ ในแบบดั้งเดิมแทบจะไม่ออก และบ่อยครั้งที่มีหนังอินเดียว่าด้วยเรื่องรามเกียรติ์ มาฉายทีไร ทำไมหนอเราถึงรู้สึกว่าตัวละครต่าง ๆ ดูไม่เห็นเหมือนกับในโขนหรือ เรื่องจากตำราไทยสักนิด
แผ่นพับที่ได้รับแจกในงานหลังลงทะเบียน โดยจะมีตารางการจัดงานในวันต่าง ๆ แจ้งไว้
วันนี้เรามีโอกาสได้ไปชมการแสดงรามายณะในรูปแบบนาฎศิลป์อินเดียที่เรียกว่า "ภารตนาฏยัม" ที่เป็นเหมือนกับการได้ไปเห็นการเล่าเรื่องผ่านต้นฉบับดั้งเดิมก็ว่าได้ จากงานเทศกาลอินเดีย ซึ่งจัดโดยสถานเอกอัครราชทูตอินเดีย ประจำประ- เทศไทยและกระทรวงวัฒนธรรมของอินเดีย ที่ศาลาเฉลิมกรุง เมื่อ 25 มีนาคม (2014) ที่ผ่านมา ซึ่งครั้งนี้ก็ได้จัดแสดงเพียงรอบเดียวในกรุงเทพฯ เสียด้วย
เราไปถึงก่อนเวลาเริ่มแสดงนานพอสมควร เพราะอยากได้ที่นั่งแถวด้านหน้า ด้วย จะได้ถ่ายภาพง่าย ๆ ซึ่งก็เป็นไปตามนั้นเราได้แถว B ตำแหน่งใกล้เวทีพอดี เยื้อง กับกลุ่มนักดนตรีด้วย (แต่น่าเสียดายที่มุมนั้นจะมีภาพปลั๊กไฟติดมาด้วยตลอด) ส่วนผู้ที่มาเข้าชมงานต่างก็มีทั้งชาวอินเดีย ชาวไทย และชาวต่างชาติบางส่วน หากมองโดยคร่าวแล้ว เรื่องของที่นั่งในงานก็คงเรียกได้ว่าเกือบเต็มโรง
โดยก่อนจะเริ่มการแสดงอย่างเป็นทางการนั้น จะมีการยืนทำความเคารพในเพลง สรรเสริญพระบารมีตามธรรมเนียม(เหมือนกับตามโรงหนังทั่วไปนี่แหละ) ทุก ๆ คนต่างก็พากันยืนตรงและนั่งลงเมื่อเพลงจบ แต่แล้วจู่ ๆ ก็มีเสียงเพลงที่ร้องสด ดังขึ้นผ่านไมค์โดยไม่มีดนตรีประกอบ เราได้เห็นชาวอินเดียต่างพารีบลุกขึ้นยืน โดยไว เลยทำให้ต้องรีบลุกตามเขาด้วย ซึ่งเรามารู้ภายหลังว่านั่นคือเพลงชาติ อินเดียที่ชื่อว่า Jaya Gana Mana
หลังจากนั้น ท่านเอกอัครราชทูตฯ นายหรรษ วรรธน ศฤงคลา (Harsh Vardhan Shringla) ก็ขึ้นมากล่าวเปิดการแสดง และต่อมาไฟบนเวทีก็เริ่มหรี่ดับลงจนมืด
พื้นที่สำหรับนักดนตรีตรงมุมซ้ายของเวที จะทำการบรรเลงเพลงและร้องขับไปตลอดการแสดง
เราเริ่มมองเห็นแสงไฟผ่านจอแสดงข้างเวทีที่มีติดไว้สองฟาก ฉายแสดงคำแปล ตามเสียงเพลงที่เริ่มขึ้น โดยเพลงแรกนั้นจะใช้กล่าวสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้า (ตามคติของฮินดู) และถัดมาจึงเริ่มเล่าเรื่องตามคำร้องไปตามทำนองเพลงที่เป็น เอกลักษณ์เฉพาะ
ต่อจากนั้นภาพเงาของนักแสดงที่ยืนตั้งท่ารอกันอยู่บนเวที ก็ปรากฏรูปร่างชัดขึ้น บนฉากสีฟ้า พวกเขาพาเล่นร่ายรำกันตามเพลงและบทบาทของแต่ละคน โดยจำ ได้ว่าตัวละครหลัก ๆ ในฉากแรกนั้นจะมี หนุมาน ชมพูพาน (เพิ่งรู้ว่าในต้นฉบับ ชมพูพานเป็น หมี!) สุครีพ พระราม และ พระลักษมณ์ และแม้ว่าการแสดงนี้จะไม่มีบทพูดโดยตรง แต่พวกเขาจำเป็นต้องใช้ท่าทางและ ส่งสีหน้าในการบอกความรู้สึกให้สอดคล้องไปกับคนร้องพากย์เล่าเรื่องด้วย ส่วน บางช่วงที่ต้องเต้นก็จะเน้นการย่ำเท้าคล้ายกับเต้นแท็ป เพื่อกระแทกเสียงกระพรวน ตรงข้อเท้าให้เคาะดังเป็นจังหวะตามเพลงไปด้วย
เมื่อไฟบนเวทีเริ่มฉายสว่างขึ้นเรื่อย ๆ ร่างของนักแสดงที่ยืนตั้งท่าคอยอยู่ก็เริ่มปรากฏชัดขึ้น
คณะนักแสดงทั้งหมดนี้มาจาก "มูลนิธิกาลักเชตรา" เมืองเจนไน พวกเขาได้หยิบยกเนื้อเรื่องบางส่วนของรามายณะมาแสดงกันในตอน Mahakumbabishekam : ขึ้นครองราชย์
ยักษ์พิเภก ได้ทำความเคารพต่อพระรามและขอเข้าร่วมเป็นฝ่ายเดียวกัน  นักแสดงกำลังแสดงท่าทางเหมือนกับเทน้ำลงบนศีรษะของตัวละครที่เล่นในบทพิเภก คล้ายเป็นสัญลักษณ์การประกอบพิธีฯ เข้ารับพิเภกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายตน หนึ่งในฉากการสู้รบ ที่หนุมานได้ขึ้นไปยืนต่อตัวบนร่างของสุครีพ  ฉากคั่นรายการของเหล่านางฟ้าที่พากันออกมาพูดถึงการสู้รบของระหว่างฝ่ายความดีและความชั่ว
 ฤาษี (จำชื่อตัวละครไม่ได้) ได้ออกมาเปิดเผยให้พระรามทราบถึงผลของสงคราม ว่าจะจบลงอย่างไรเพื่อคลายความวิตกกังวล
 การสู้รบระหว่าง พระรามและทศกัณฑ์ เรื่องราวในตอนนี้เริ่มขึ้นจาก พิเภกผู้เป็นน้องชายของทศกัณฑ์ ได้ยอมศิโรราบ ต่อพระรามและเปลี่ยนข้างมาอยู่กับฝ่ายตรงข้ามแทน เพราะไม่สามารถหว่าน ล้อมทศกัณฑ์ให้เห็นผลร้ายของการลักพาตัวนางสีดาได้
ต่อมาพระรามพร้อมเหล่ากองทัพวานรก็ได้พากันสร้างสะพานข้ามมหาสมุทร และได้ต่อสู้กับทศกัณฑ์ ในวันแรกของการสู้รบพระลักษมณ์ได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่ก็ปลอดภัยเพราะได้รับการรักษาจากสมุนไพรวิเศษ และหลังจากที่สู้รบกัน อย่างดุเดือด ...ในที่สุดทศกัณฑ์ก็ถูกฆ่าตาย
ต่อมาเมื่อได้ตัวของนางสีดากลับคืน ก็เกิดเรื่องราวของความระแวงขึ้นว่าระหว่างที่ถูกจับตัวมาอยู่กับทศกัณฑ์นั้น นางได้ปันใจให้กับอสูรร้ายหรือไม่ดังนั้น นางสีดาจึงได้ประกาศพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง โดยการอธิษฐานและเดินลุยเข้ากองไฟต่อหน้าพระราม และเมื่อเรื่องทุกอย่างได้ถูกคลี่คลายและจบลงด้วยดี พวกเขาทั้งหลายก็ได้เดินทางกลับไปยังเมืองอโยธยากัน เพื่อขึ้นครองบัลลังก์ตามคำเชิญของพระภรตผู้เป็นน้องชาย หลังจากที่ออกไป รอนแรมในป่ากันนานถึง 14 ปี ตามท้องเรื่องอย่างที่ทราบกัน

ถัดมาพระรามก็กำลังนั่งรอการปรากฏตัวของ "สีดา"
สีดาออกมาปรากฏตัว ในขณะที่หนุมานได้ล้มตัวลงไปนอนกราบที่พื้น แต่ท่าทีของพระรามก็ยังคงนั่งนิ่งเฉยอยู่  เนื่องจากพระรามเกิดการเคลือบแคลงใจในตัวของสีดา ดังนั้นคนอื่น ๆ จึงพากันพูดโน้มน้าวให้ทั้งสองเข้าใจกัน แต่ถึงยังไงพระรามก็ยังไม่ยอมฟัง  พระลักษมณ์ กำลังพยายามเกลี้ยกล่อมพระราม 
สีดาจึงร้องขอให้พระลักษมณ์ช่วยเตรียมกองไฟให้กับตน เพื่อทำการเดินไฟพิสูจน์ความจริง  เมื่อสีดาได้ทำการเดินลุยไฟ 'เทวีลักษมี'ก็ได้ปรากฏกายซ้อนขึ้นเพื่อบอกถึงการอวตารลงมาของตน

และในที่สุดสีดาก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าตัวเองนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ ทุกอย่างจึงจบลงด้วยดี
พอทราบข่าวการกลับมายังอโยธยาของพระราม พระลักษมณ์ และนางสีดา แล้ว พระภรตจึงได้นำรองพระบาทของพระรามที่เคยมอบให้ ขึ้นมาทูนเอาไว้เหนือศีรษะ และเดินแห่ออกมาต้อนรับด้วยความดีใจ
พระรามก็ได้ขึ้นเถลิงราชย์ครองบัลลังก์โดยมีนางสีดาประทับอยู่เคียงข้าง
นักแสดง นักดนตรี ตลอดจน เอกอัครราชฑูต และคนอื่น ๆ มายืนถ่ายรูปพร้อมกันบนเวทีหลังจบการแสดง
นี่เป็นครั้งแรกของเรา สำหรับการชมรามายณะผ่านรากเหง้าเดิมในระบบความคิด ของชาวอินเดีย ที่พวกเขาจะมองดูเรื่องราวนี้เพื่อปลุกวิญญาณของผู้ฟังให้หวนคืน สู่สัจจะธรรม ดังนั้นเราจึงรู้สึกว่าเรื่องราวของรามเกียรติ์ที่คุ้นเคยมาตลอด กับมหา- กาพย์รามายณะ จะมีความต่างกันพอสมควร
การแสดงในวันนี้ค่อนข้างประทับใจและไม่เคยคิดเลยว่า "นาฏศิลป์ของอินเดีย" จะมีรูปแบบการเต้นและร่ายรำแบบนี้ด้วย นี่แสดงว่าที่ผ่านมานั้นเราเองก็รู้จักแต่ วัฒนธรรมอินเดียที่ส่งผ่านมาจากภาพยนตร์เพียงด้านเดียวล่ะสินะ
"เจี๊ยก......พระรามหล่อ"
Create Date : 27 มีนาคม 2557 |
Last Update : 27 ธันวาคม 2560 9:12:14 น. |
|
23 comments
|
Counter : 1339 Pageviews. |
 |
|
อยากดูๆ
อลังการณ์จังเลย ค่ะ