Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2564
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
22 พฤศจิกายน 2564
 
All Blogs
 

Ladakh 2019 - Matho Monastery



"ที่ลาดัก ก็มีเพียงแค่นี้แหละ ภูเขาทะเลทราย แสงแดดที่แผดแรง แล้วก็ฝุ่น”

คุณลุงชาวลาดัก ผู้มายืนรอรถรอบเช้าบริเวณท่ารถได้คุยกับเรา เหมือนอยากสะท้อน
มุมมองของเขาที่เห็นว่าองค์ประกอบส่วนใหญ่ของพื้นที่ราบสูงกึ่งทะเลทรายที่เห็นมา
ตั้งแต่เกิดก็มีตามอย่างที่เห็นมาโดยตลอด ลุงคงไม่เข้าใจว่านักท่องเที่ยวอย่างเราจะ
เดินทางมาจากที่ไกลแสนไกลจะมาดูอะไรที่นี่กัน

เที่ยวโดยสารรถบัสเล็กในเช้าวันนั้นมาช้ากว่าปกติเล็กน้อย ชาวเมืองหลายคนที่มา
รอรถ ต่างอาศัยฟังจากเสียงประกาศที่ดังมาจากจุดไหนสักแห่งเป็นภาษาถิ่นที่เรา
ฟังไม่ออก ในขณะที่ชาวต่างถิ่นอย่างเราจะรู้เพียงแค่เวลาเที่ยวโดยสารตามตาราง
ที่จดไว้ คนขับมักจะมาเทียบท่าก่อน 15 นาที

การที่จะรู้ว่าคันไหนวิ่งไปที่ใดนั้นก็ดูจากป้ายหน้ารถที่ติดบอก
ไม่ก็คงต้องเดินไปถาม หากเด็กรถเผลอลืมหยิบเอาป้ายมาวาง

 

Matho คือสถานที่ลึกลับสำหรับเรา ไม่ว่าจะมารอที่ท่ารถกี่ครั้ง ๆ ก็ไม่เคยทันเห็น
หรือพลาดเที่ยวรถดังกล่าวเสมอ งดวิ่งบ้าง ออกไปแล้วบ้าง ฯลฯ แต่ไม่ใช่กับหนนี้!
หลังจากได้ขึ้นมาจับจองที่นั่งได้ ไม่นานนักรถก็เคลื่อนตัวออกไปจากท่ารถขนส่ง
ไปยังทางทิศใต้ จอดรับผู้โดยสารเพิ่มจากจุดรอรถระหว่างทาง จำนวนคนบางส่วน
จะเริ่มลดลงไปเมื่อถึงหน้าโรงเรียนแห่งหนึ่งไม่ไกลไปจากตัวเมืองเลห์

พวกที่ลงจากรถในระยะทางสั้น ๆ (ค่าโดยสารจะตกอยู่ที่ 10 รูปี) ก็จะหยิบเงินส่ง
ให้คนขับโดยตรง หากไกลกว่านี้กระเป๋ารถเมล์ก็จะเริ่มทำหน้าที่เดินเก็บเงินตาม
ที่นั่งโดยคิดเงินตามความใกล้ไกลที่ต่างกัน --
ค่ารถไปมาโธ : 40 รูปี 


ความจอแจและจำนวนคนที่อัดแน่นเป็นปลากระป๋องบนรถ อาจทำให้วุ่นวายในช่วงแรก
พอทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง สามารถวิ่งยาว ๆ ได้โดยไม่ต้องแวะจอดบ่อย พี่คนขับก็
จะ
เริ่มเปิดเพลงเพื่อสร้างบรรยากาศผ่อนคลาย ซึ่งรูปแบบดังกล่าวก็มักจะเป็นเหมือน
กันแทบทุกสายจนคาดเดาได้เสมอ  
แต่สำหรับเที่ยวรถไปมาโธคือเป็นข้อยกเว้น


ก่อนที่รถจะแวะเลี้ยวเข้าปั๊มเพื่อเติมน้ำมัน เราได้ยินเสียงของผู้หญิงรายหนึ่งเริ่มต้นท่อง
อะไรบางอย่าง มันเหมือนบทอาขยาน ไม่ก็บทสวดมนต์ เมื่อมีเสียงที่สองและสาม ท่อง
รับ
ช่วงต่อ ผู้คนที่อยู่บนรถเกือบทั้งหมดก็เริ่มออกเสียงตามยังกับนัดกันไว้  

 

ผู้โดยสารบนที่นั่งยาวไปลงจนถึงปลายทางรถส่วนมากเป็นผู้หญิง เมื่อรถเริ่มเลี้ยวลัดเข้าสู่
หมู่บ้านปลายทาง ก็จะหยุดจอดลงตรงที่หน้าโรงเรียน ตรงนี้เองที่หลายคนต่างทะยอยลง
จากรถจนเกือบหมด พวกเขาต่างหายเข้าไปยังหลังรั้วโรงเรียน คงเป็นครูประจำโรงเรียน
ที่นั่งรถมาทำงาน
...




"ถึงมาโธแล้วจะไปลงที่ไหนครับ"


พี่คนขับ หันมาถามถึงที่หมายของเรา เพราะใกล้จะสุดทางแล้ว เหลือคนบนรถเพียงสามราย
และพวกเขาต่างก็คุ้นหน้ากันดี จะมีหน้าไม่คุ้นที่หลงมาหนึ่งรายเท่านั้น....โอเค นี่คือมุขเดิม ๆ
ในลาดักของเรา ที่หากนึกถึงจุดลงรถไม่ออกก็จะบอกให้เขาลงจอดหน้าวัด

"ลงแถวทางขึ้นกอมปาก็ได้ค่ะ"

 

 



⭗ เนินเขา ที่ตั้งของ Matho Monastery เมื่อมองขึ้นมาจากจุดลงรถ

ถนนที่ตัดผ่านเข้าหมู่บ้าน เช้านั้นพบเจอประชากรอยู่แค่ไม่กี่ราย 

 


ระยะทางจาก Leh – Matho ไกลห่างกันเพียง 26 กม.
แต่ด้วยตำแหน่งที่ตั้งของตัวหมู่บ้าน อยู่ห่างจากหน้าถนนเส้นหลักเช่นที่อื่น
จึงดูไม่โดดเด่นนักและมีนักท่องเที่ยวค่อนข้างน้อย สิ่งหนึ่งที่เราลืมไปเสียสนิท
ก็คือแถวนี้ไม่มีร้านอาหารเสียด้วย คนขับรถจอดให้เราลงบริเวณหน้าร้านขายของ
ที่เป็นเพิงเล็ก ๆ แบ่งเป็น 4 ห้อง มีขนมกรุบกรอบ นม น้ำผลไม้ขายเท่านั้น


"บ่าย กลับมาที่นี่" คนขับบอกเวลาที่รถจะตีกลับเลห์ให้รู้
แล้วจากนั้นเขาก็กลับรถ
หายไปหาที่หลบยังร่มเงาไม้สักที่ในบริเวณนี้

 

เรามองหาที่ตั้งของหมู่บ้านที่ต้องเดินลึกเข้าไปยังด้านใน แต่ก็เห็นจุดเลี้ยวที่เป็นเนินขึ้นวัด
เสียก่อน มันเป็นถนนที่ปูลาดอย่างดีเพื่อให้รถสามารถวิ่งขึ้นไปด้านบนได้ เดินไปเกือบครึ่ง
ทางก็เจอคนต่างชาติรายหนึ่งกำลังนั่งผูกเชือกรองเท้าตรงไหล่ทาง น่าจะมาถึงก่อนเราตั้ง
แต่เช้า หากเขา
ไม่มากับรถรับจ้างก็คงหาที่พักตามบ้านแน่ ๆ เพราะเที่ยวรถที่วิ่งมาจากเลห์
ก็มีแค่คันเดียวเอง  




⭗ เส้นทางขึ้นไปยังวัด ตรงฝั่งถนนราดยาง


⭗ ที่ตั้งตัวอาคารและดงต้นป็อปล่าร์ที่ปกคลุมพื้นที่ด้านบน



 ด้านหน้าทางอุโบสถ 
 



กว่าจะขึ้นมาถึงตำแหน่งวัดด้านบน ยกดูนาฬิกาขึ้นมาดูก็ปาไปสิบโมงกว่า
ทำไมยังได้ยินเสียงพระกำลังทำวัตรด้านในอุโบสถกันอยู่นะ? ก่อนชะเง้อหน้าไปหา
ต้นทางของเสียงในห้องพิธีนั้น ก็มีพระรูปหนึ่งเรียกเก็บค่าเข้าสถานที่ (50 รูปี) เลย
ถาม
หลวงพี่ว่าถ่ายรูปได้มั้ย ตามกติกามารยาทหากวัดบางแห่งอาจไม่ให้ถ่ายรูป 
หรือหากอนุญาตก็มักจะขอความร่วมมือไม่ให้ใช้แฟลช


เมื่อเดินเข้าไปยังห้องทำวัตรเช้าของพระ ผู้ดูแลก็ผายมือไปยังจุดนั่งที่เป็นเบาะรองนั่ง
สำหรับผู้มาเยือนและวางน้ำดื่มให้หนึ่งขวดเล็ก ที่นั่งของพระถูกแบ่งเป็นสองฝั่งชิดผนัง
ซ้ายขวา ไม่ได้วางเป็นจัดวางหลายแถวเหมือนกับที่อื่น ๆ ที่เคยไปเห็น

 

ฉากหลังที่ตั้งของพระประธาน เป็นเหมือนรูปต้นไม้ที่แตกแขนงแผ่ร่มใบ มีรูปปั้นเล็ก
จำนวนหนึ่ง
(ไม่แน่ใจว่าเป็นพระโพธิสัตว์หรือพระพุทธรูป) ที่นั่งบนฐานดอกบัวติดอยู่
ตามกิ่งก้านคล้ายกับการออกดอกผล

ตามตำแหน่งที่นั่งของพระ บนโต๊ะจะมีเล่มบทสวดที่ทำเป็นรูปแบบโบราณวางไว้
อุปกรณ์ที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ประกอบการสวดมนต์ก็คือ ระฆังและวัชระ ส่วนเครื่อง
ดนตรีอย่าง ฉาบ กลอง แตร จะถูกใช้บรรเลงในช่วงที่กำหนดไว้ในบทสวด  
จากที่
ได้เห็นและจดจำได้ในช่วงที่เราเข้าไปอยู่ด้านใน ก็มีทั้งช่วงที่สวดโดยการท่อง

ถัดมาก็เริ่มใช้ระฆังและวัชระ ประกอบ ถัดมาก็ยกเครื่องดนตรีมาบรรเลงครู่หนึ่ง
กระทั่งสวดพร้อมกับทำสัญลักษณ์มือที่เรียกว่า มุทรา (Mudra)

 

ถึงจะเคยเห็นภาพการทำวัตรเช้าของพระนิกายวัชรยานมาก่อน  ก็เป็นเพียงการ
ส่งเสียงท่อง ไม่ได้เห็นเต็มรูปแบบขนาดนี้
มุมที่นั่งของเราค่อนข้างมืด ขยับเขยื้อน
ยาก ทำให้เก็บภาพลำบากนิด ๆ บวกกับรู้สึกเกรงใจเบา ๆ ด้วย 


นั่งอยู่คนเดียวได้ไม่นาน ก็มีชาวต่างชาติรายหนึ่งมานั่งอยู่ที่เบาะถัดไป เขาเข้ามา
พร้อมกับพระหนึ่งรูปที่ทำหน้าที่เป็นไกด์ให้ พระมานั่งที่ตำแหน่งท้ายต่อจากรูปอื่น
ที่ทำพื้นที่เว้นว่างไว้ เยื้องมุมใกล้เบาะของเรา

สักพักหนึ่งหลวงพี่ที่ดูแลเรื่องการเสิร์ฟชาก็นำถ้วยมาวางให้ และรินน้ำชาเผื่อ
นักท่องเที่ยวสองถ้วย   
เอ๊ะ ...หรืออาจเป็นกุศโลบายหลอกให้เราวางกล้องก็ไม่รู้สิ :)




⭗ ที่โต๊ะหัวมุมห้องฝั่งขวา น่าจะเป็นตำแหน่งของพระที่มีลำดับชั้นอาวุโส 


ที่นั่งมุมซ้าย จะมีจุดวางเบาะรองนั่งสำหรับผู้มาเยือน  

⭗ ระฆังและวัชระ  ที่ใช้สำหรับเป็นสัญลักษณ์ระหว่างการสวดมนต์

ระฆัง หมายถึงปัญญา เวลาสั่นระฆังคือการปลุกปัญญาให้ตื่น  วัชระ (ดอร์เจ) คือสายฟ้า 
เป็นสัญลักษณ์ของความกรุณา เปรียบแทนพระพุทธเจ้า  ทั้งความกรุณาและปัญญา สองสิ่งนี้
ไม่สามารถแยกกันได้ แนวทางของ วัชรยาน เน้นในเรื่องความกรุณาเป็นอันดับแรกก่อนปัญญา
คือมีปณิธานแบบโพธิสัตว์





รูปเล่มของคัมภีร์แบบดั้งเดิม ที่เป็นแผ่นกระดาษแนวยาว จัดเรียงหน้าโดยการวางซ้อนกันเป็นชั้น ๆ
ใช้ผ้ามัดห่อคลุมเวลาจัดเก็บ อักขระที่พิมพ์บทสวดเป็นภาษาทิเบต สร้อยประคำด้านบนที่วางด้านบน
น่าจะใช้สำหรับสวดภาวนา คงเป็นของประจำตัวของพระที่นั่งโต๊ะนี้ที่วางเอาไว้  ส่วนเปลือกหอยสังข์
ที่วางไว้น่าจะถูกนำมาใช้เป่าระหว่างพิธี (เราไม่ทันได้มองเห็นจนครบทุกขั้นตอน)





กระติกน้ำร้อนใส่ชา ระหว่างการสวดมนต์ก็จะมีช่วงพักจิบชาด้วยนะ มีทั้งชาร้อนแบบอินเดีย(chai) และชาเนย
ภาชนะโลหะที่วางด้านข้าง คือที่เผากำยานชุกปะ (ใบจูนิเปอร์แห้ง) เป็นกลิ่นที่เข้าวัดทีไรก็จะลอยแตะจมูกทุกครั้ง



ตำแหน่งวางโต๊ะของพระผู้ใหญ่ ที่มีลักษณะต่างไปจากพระรูปอื่นรวมถึงอุปกรณ์ที่วางอยู่ด้วย




[วีดิโอ]  ช่วงเวลา 0.00-0.22 น. เป็นตอนที่อยู่บนรถ โดยอัดไว้แค่เสียง 
ส่วนที่เหลือจากนี้จะเป็นการทำวัตรของพระตามที่เขียนบรรยายไว้ข้างต้น

ภาพด้านในจะไม่ค่อยมีแสง ลำดับช่วงท้ายที่ดูชัดเพราะเพิ่งมีคนไปเปิดไฟ

 

จบเรื่องการนั่งฟังพระสวดโดยแบบไม่ได้ตั้งใจแล้ว  พระก็พากันออกจากอุโบสถ
หลวงพี่ที่เป็นไกด์ให้ชาวต่างชาติก็นำผ้าคาตัก
ที่เตรียมมาให้เขา นำมาวางพาดตรง
แนวไม้ที่เป็นเหมือนรั้วกั้นเขตองค์พระประธานใกล้ ๆ กับตำแหน่งที่นั่งของพระผู้ใหญ่

 

จากนั้นก็พาไปยังพื้นที่ส่วนอื่นของวัด หลวงพี่ที่ทำหน้าที่ดูแลอุโบสถเดินมาตรวจตรา
ความเรียบร้อยก่อนที่จะปิดประตู พระบอกให้เราเดินตามชาวต่างชาติคนนั้นไปที่ทาง
ขึ้น
บันไดเพราะจะได้ไขกุญแจเปิดพิพิธภัณฑ์กับห้องอื่น ๆ ให้ดูทีเดียวเลย





⭗ ช่องไม้ที่ใช้สำหรับเก็บคัมภีร์และตำรา




ส่วนห้องนี้เรียกว่า Lhakhang ภาษาอังกฤษแปลว่า God's House มีทั้งรูปปั้นของ Sakya Pandita รวมถึงลามะที่สำคัญ
ในนิกายสาเกียปะ  ฉาบและแตรที่วางอยู่ด้านหน้าชั้นวางองค์พระ ก็คือหนึ่งในอุปกรณ์ใช้ประกอบการสวดมนต์ ความจริงแล้ว
ในห้องนี้เก็บภาพทังกะเก่าแก่ที่นำมาจากทิเบตตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษ 15 (เก่าพอ ๆ กับช่วงก่อตั้งวัดมาโธ) หาก จขบ. ฉุกคิด
ได้ในตอนนั้นก็คงจะถอยหลัง ปรับมุมมอง ออกมาอีกนิด ก็จะได้เห็นจุดวางภาพทังกะผืนใหญ่ และส่วนที่แขวนห้อยอยู่เหนือ
ศีรษะอีกหลายผืนที่ดูเก่าแก่มากจริง ๆ  


 

ด้านบนนั้น มีทั้งห้องเก็บคัมภีร์และภาพทังกะเก่าแก่ รูปปั้นพระลามะองค์สำคัญของนิกายสาเกียปะ
และส่วนพิพิธภัณฑ์ที่เป็นไฮไลท์เด็ดก็ห้ามถ่ายรูป มีหลายสิ่งที่เก็บรวบรวมไว้ ข้าวของเก่าแก่ เครื่องประดับ
หอก ดาบ  ฯลฯ  เสื้อผ้า
-หน้ากากสำหรับระบำในงานประจำปี   วิกผมสำหรับคนทรงสองอัน รวมถึงภาพถ่าย
ขาวดำของพระที่กำลังเตรียมตัวเข้าทรง 
และอีกหลายอย่างที่เป็นของสำคัญ  

 

ได้ใช้เวลาส่วนนี้ไปได้ไม่มากนัก พวกเขาก็พากันออกเดินทางไปที่อื่นกันต่อ
ส่วนเราก็คงหาเรื่องตระเวนเที่ยวแถว ๆ นี้จนกว่าจะถึงเวลาเดินรถรอบขากลับ


 


เหลียวซ้ายแลขวามองไปรอบ ๆ  ตำแหน่งวัดเหนือหมู่บ้าน Matho ช่างดูเวิ้งว้าง
ชื่อขอมาโธมาจากสองคำในภาษาทิเบตคือ Mang + Tro = Many Happiness
อีกทั้งเป็นที่ตั้งของ วัดนิกายสาเกียปะ ที่มีเพียงแห่งเดียวในลาดัก

** ว่าแต่ มีใครคุ้นชื่อของ 
Sakya มั้ย เราเคยถอดคำเขียนชื่อนิกายนี้ตรง ๆ ว่า “ศากยะ”
หากคุ้นกับเอนทรี่ย์เก่าก่อนเมื่อนานมาแล้ว ด้วยความที่ตอนนั้นไม่
เข้าใจถึงบริบทการใช้
คำเฉพาะเจาะจง  ก็หวังว่ารอบนี้คงจะเขียนได้อย่างถูกต้องเสียทีนะ

 

ถึงแม้ว่ว่าเมื่อสองสามวันก่อนจะได้ยินเรื่องของงานใหญ่ที่จัดขึ้นในมาโธจากการพูดคุย
กับคนที่ท่ารถอย่างผิวเผิน มาทราบว่ามีคุรุคนสำคัญมาเยือนเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้เสียดายอะไร
เพราะไม่ใช่กำหนดการของงานเทศกาล 
Matho Nagrang ที่จะมีขึ้นในฤดูหนาว (ปี 2019
จัดในวันที่ 18-19 ก.พ.)  ถึงแม้ว่างาน Nagrang นั้นจะมีการแสดงระบำหน้ากาก (หรือ ชัม) 
เช่นเดียวกับวัดอื่นแต่สิ่งที่ผู้คนในหมู่บ้านเฝ้ารอหลังจากนั้นก็คือการทำนายทายทักในช่วง
พิธีเข้าทรงโดยมากก็จะเป็นเรื่องของดินฟ้าอากาศที่อิงกับวิถีชีวิตการเกษตรของหมู่บ้านนี้  

ผู้ทำหน้าที่นี้ เป็นพระที่
ได้รับการคัดเลือกสองรูป โดยทำหน้าที่สลับเปลี่ยนกันทุกสามปี
ช่วงระหว่างปีดังกล่าว พระสองรูปต้องเก็บตัวทำสมาธิภาวนาชำระใจกายให้บริสุทธิ์  เหตุที่
มีจำนวนพระที่ทำพิธีเข้าทรงสองรูป ก็คือ
เชื่อกันว่าเทพยดาผู้พิทักษ์หมู่บ้านมาโธนั้นมีสองตน 
ระหว่างพิธีดังกล่าวจะทำบนดาดฟ้าสูงของวัดและที่สำคัญก็คือจะไม่อนุญาตให้เก็บภาพเด็ดขาด  






ลานวัดในช่วงเที่ยงวัน ขณะนั้นมีพระรูปหนึ่งขึ้นมายืนอยู่ตรงจุดเคาะสัญญาณแจ้งบอกเวลา



⭗  ตรงหน้าฉากเทือกเขาด้านหน้าและเนินสีขาว ๆ เกาะกลุ่มเป็นกระจุกนั่นก็คือ Thiksay Monastery 
จากวิวมุมสูงของมาโธ สามารถมองเห็นได้ทั้ง Thiksay และ Stakna ได้เช่นกัน  (ที่ตั้งของ Stakna
จะอยู่อีกฟากนึง โดยต้องหันกล้องไปทางขวามือถัดจากมุมนี้) 


 


มองไปด้านหน้าผ่านความเว้งว้างของผืนทรายก็จะเห็นที่ตั้งของ Thiksay ได้สบาย ๆ
เลนส์ Fix มันก็เก็บกลับมาย้อนดูได้แค่นี้แหละ ถ้ามีกล้องส่องทางไกลพกมาด้วยคงจะดี   

ระหว่างสอดส่องมองหาร้านค้าประจำหมู่บ้าน  
หญิงสาวรายหนึ่งที่น่าจะเป็นคนของที่นี่
เดินผ่านมาบนวัด เราถามถึงร้านขายอาหารที่แถวนี้
เผื่อว่าจะมีหลบซ่อนอยู่บ้าง เธอบอก
ว่าไม่มีหรอกนะ  ได้ยินแล้วหน้ามืดตาลายคล้ายจะเป็นลม คงต้องโทษความไม่รอบคอบ
ของตัวเองจริง ๆ



 



⭗ มุมสีเขียวของหมู่บ้านมาโธ  และตัวบ้านเรือนที่ปลูกสร้างกันห่างลิบ



ทางที่ลัดลงเขา 



แนวรั้วกั้นเขต ที่ตอกกิ่งวิลโล่เป็นแนวยาวรวมถึงลวดหนามที่น่าจะไว้กันสัตว์เดินบุกขึ้นมา ไม่มีช่องเดินนะแต่มีบันไดพาดไว้



พื้นที่ด้านล่าง มีอาคารหลังเล็กที่ก่อด้วยหิน (จำไม่ได้ว่าคืออะไร) ร่องน้ำ และกลุ่มต้นไม้ที่ดูร่มรื่นมาก



สะพานที่สร้างพาดทางน้ำไหลผ่าน อยู่ตำแหน่งหลังร้านขายของชำ



 ร่มเงาจากทางเนินทางขึ้นไปยังวัด



⭗ กลุ่มเจดีย์ขาว และวัวของชาวบ้านที่มายืนเล็มหญ้าใกล้กับทางน้ำไหล
บริเวณนี้มีป้ายติดห้ามไม่ให้คนเอารถมาล้างและนำผ้ามาซักกันตรงนี้ด้วย




ศาลาหน้าหมู่บ้าน มีกงล้อมนตราใหญ่อยู่ด้านใน



ที่ตั้งของวัดมาโธ เมื่อแหงนมองจากอีกฝั่ง (ใจนึงก็คิดว่าควรกลับขึ้นไปดีมั้ย) 



เดินลงจากที่ตั้งของวัดลัดไปยังอีกทางนึงที่เชื่อมต่อไปถึงร้านขายของชำด้านล่าง
ต้องมาฝากท้องกับ ขนม นมและน้ำผลไม้ ที่น่าจะเรียกว่าเป็นของว่างแทน จากนั้น
ก็ไปหามุมนั่งใต้ร่มไม้ จุดที่มีธารน้ำไหล ฟังเสียงพวกนกแม็กพายตัวเบ้ง ที่มันร้อง
จ๊อกแจ๊ก ๆ กระโดดข้ามโขดหินหยอกเล่นกันไปมา

แดดตอนเที่ยงวันมันจ้าซะเหลือเกิน แสงที่กระทบกับกลุ่มเจดีย์ขาวมองแล้วก็พร่าตา
ทีแรกคิดว่าจะใช้เวลาเดินสำรวจหมู่บ้าน แต่ระยะทางที่ลึกเข้าไปกว่านี้เกรงว่าจะสลบ
เหมือดเสียก่อน...เพิ่งเข้าใจคำว่ากองทัพต้องเดินด้วยท้องอย่างลึกซึ้งก็วันนี้

 

เวลาผ่านไปพักหนึ่งก็คิดได้ว่าบนวัดด้านบนมีมุมนั่งที่เหมาะกว่านี้นะ
ว่าแล้วก็ออกแรงเดินกลับไปบนเขา...ไม่ใช่สิเรียกว่าบนวัดดีกว่า จากทางขึ้นหลัง
ร้านขายของชำ
ที่ทำทางไว้นี่แหละ เร้าใจดี มันดูเหมือนทางวิบากตามด่านในค่าย
ลูกเสือ  มีทั้ง
แนวไม้ รั้วลวดหนาม บันไดไม้ และเนินหินสุดชัน 


กลับมาที่หน้าอุโบสถ เห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนหนึ่งที่เพิ่งเดินทางมาถึง
กำลังสาละวนเดินดูพื้นที่ลานโดยรอบ บางคนก็เข้าไปนั่งฟังพระทำพิธีสวดในอุโบสถ
อันนี้ไม่รู้จริง ๆ ว่าทำไมวันนี้ถึงมีสวดหลายช่วงจัง รวมไปถึงนักท่องเที่ยวชายสองราย
ที่ขึ้นไปดูห้องชั้นบน ที่อยู่สูงกว่าตำแหน่งที่เป็นพิพิธภัณฑ์และห้องจัดแสดงอื่นที่เรา
เข้าไปเมื่อเช้า มานึกได้ว่าจะเป็นพื้นที่หวงห้ามสำหรับสตรีแน่ ๆ พระที่ดูแลสถานที่เมื่อ
ช่วงเช้าจึงไม่เอ่ยให้รู้

 

การแสดงออกของคนและคนในวัด ช่างดูคล้ายกันเสียจริง
บ้างก็เดินสงบนิ่งไปมา หน้าตาอิ่มเอม หรือไม่ก็นั่งถือลูกประคำภาวนาในมุมเงียบ ๆ
เสียงกลองที่เคาะประกอบบทสวดยังคงทำหน้าที่ต่อไปในห้องประกอบพิธี ไม่อยากเข้า
ไปด้านในแล้ว  เราหามุม
ที่เหมาะกับตัวเองได้แล้วเป็นริมหน้าต่างที่มีพื้นที่ให้นั่งได้ ก็จัด
แจงงัดเอาสมุดบันทึกเล่มเล็กที่ใช้จดโน่นนี่คั่นเวลามา
กางออก ใช้เวลาที่มีอยู่จับปากกา
มาขีด ๆ เขียน ๆ รูปแก้เซ็งละกัน...เล็งตรงมุมระเบียงด้านหน้านั่นแหละ 



ประตูหน้าวิหารอีกฝั่งที่ปิดไว้
 



⭗ ริมหน้าต่างและแบ็กกราวด์หลังเป็นเทือกเขา หากชะโงกหน้าออกไปทางซ้ายก็จะเห็นที่ตั้งของ Stakna Monastery ได้



ลวดลายที่วาดประดับตามผนัง 
 



 มุมนั่งพักและวาดรูปคั่นเวลา หลังจากตัดสินใจกลับขึ้นมาบนวัดอีกรอบ

 

"นั่นโยมทำอะไรอยู่นะ" พระที่ทำหน้าที่เก็บค่าเข้าชมสถานที่เดินมาเมียงมอง สิ่งที่กำลัง
ขีดร่างอยู่ในสมุด "อ่อ วาดรูป..." แล้วหลวงพี่ก็มองไปยังมุมที่น่าจะเป็นแบบ มันเป็นส่วน
ของ
ระเบียงที่มีรายละเอียดอันสวยงาม ผิดกับสิ่งที่ปรากฏในภาพสเก็ตช์ คงคิดเบา ๆ อยู่ในใจ
ว่านั่นเป็นภาพเดียวกับวัดมาโธแน่เรอะ   "เดี๋ยวจะอาตมาจะถ่ายรูปไว้นะ" ว่าแล้วพระก็หยิบ
มือถือออกมาเก็บรูปไว้ ... (รบกวนส่งบลูทูธมาด้วยค่ะ)

 


ช่วงเวลาบ่ายแบบนี้ คงไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวแวะมาเท่าไหร่แล้ว หลวงพี่เลยมีเวลาว่าง
มานั่งเสวนาด้วย ท่านชื่อนีม่า ทำหน้าที่เก็บค่าเข้าชมสถานที่ จากนั้นพระก็หายไปครู่หนึ่ง
และกลับมาพร้อมผลไม้อย่าง กล้วย แอปเปิ้ล อย่างละสองผล มีน้ำมะม่วงบรรจุกล่องแถม
มาให้อีกหนึ่ง สงสัยจะเก็บอาการหิวไม่อยู่ ไม่ก็รู้แหละแถวนี้ไม่มีอาหารขาย

 

พูดคุยซักถามได้พอประมาณ หลวงพี่นีม่าก็ตะโกนเรียกพระอีกรูปนึงที่เดินถือกระติกน้ำชา
ผ่านมาว่าแวะมาเติมชาทางนี้หน่อย แล้วจากนั้นก็มาร่วมนั่งคุยเพิ่มด้วยอีกหนึ่ง วงน้ำชา
ยามบ่ายวันนี้เป็นชาเนย ชอบมากดื่มยังไงตาก็ไม่ค้าง จิบแล้วปากมันแผล่บ

"ดูสิ เขาวาดรูปวัดเรา" หลวงพี่นีม่าเริ่มต้นชี้รูปให้ดู อาจเพื่อให้หลวงพี่จัมยังช่วยออก
ความเห็น 
แล้วพวกท่านก็คุยกันเป็นภาษาลาดักที่ฟังไม่ออก ซุบซิบ ๆๆ ก่อนจะตั้งคำถาม
สอบสวน ไม่สิ...
ไถ่ถามไปตามเรื่องราว 

ที่จริงแล้วเราเองก็มีคำถามเยอะเหมือนกันว่าเป็นพระต้องเรียนอะไรกันบ้าง 

แล้วพวกท่านมีสถานะเป็นน้องชายคนเล็กของครอบครัวเหมือนกันหมดมั้ย
ตามธรรมเนียม​​​ที่รู้ คือลูกชายคนโตจะได้สิทธิ์ถือครองที่ดินและมรดก ส่วน
ลูกชายคนเล็กจะต้องไปบวชเรียน

 

 

จากที่ถามมานอกเหนือจากที่พูดภาษาลาดักสื่อสารเป็นหลัก ก็ต้องเรียนภาษาทิเบต
(สำหรับบทสวดและคัมภีร์ทางศาสนา) ภาษาฮินดี และภาษาอังกฤษ นั่นจึงไม่แปลก
ที่ทำไมพระรุ่นใหม่ ๆ จะสามารถ
สื่อสารกับคนต่างถิ่นและคนต่างชาติได้โดยไม่ติดขัด

 

"วัดมาโธตอนนี้ ถูกสร้างใหม่"
แม้ของใหม่อาจใหญ่โตและดูดี พระนีม่าบอกว่าโดยส่วนตัวชอบแบบเดิมมากกว่า–
มิน่า
ตัวอาคารสถานที่ถึงได้ดูใหม่เอี่ยมจัง ขัดแย้งจากข้อมูลที่ว่าก่อตั้งในช่วงศตวรรษที่
15

โครงการต่อเติมเสริมขยายวัด ที่ทำภาพจำลองเอาไว้ 


 

"พวกเราเป็นสาเกียปะ ทั้งลาดักมีวัดนิกายนี้แแค่แห่งเดียว"

พอหลวงพี่นีม่ารู้ว่าเราจะไปหุบเขาสปิติต่อ 
ก็ไล่ชื่อวัดที่สังกัดนิกายต่าง ๆ ให้ฟัง
เลยรู้ว่าแถวนั้นมีวัดของสาเกียปะเยอะกว่าหนึ่งแห่ง หลวงพี่ถามว่า
เคยลงไปเที่ยว
แถวอินเดียใต้มั้ย  เราบอกว่าไม่เคยไป (จุดใต้สุดของอินเดียคือ กันยากุมารี ใน
รัฐ
ทมิฬนาฑู) แต่ว่าส่วนล่างสุดสำหรับเรากลับเป็น พุชการ์ ในรัฐราชสถาน เท่านั้น 

 

"แล้วทำไมถึงเลือกมาเที่ยวลาดัก"  
พระจัมยัง สงสัยไม่หายดูทรงก็รู้แล้วว่าเราไม่ใช่สายเที่ยววัด
แบบเฉพาะเจาะจง
หลังได้ยินความคิดเห็นว่าโดยปกติแล้วคนต่างชาติที่มาเที่ยวแนว ๆ นี้ 
เขาจะดูสงบ
เงียบ เคร่งขรึม แทบไม่พูดอะไร จนหลวงพี่เองก็ไม่กล้าเข้าไปคุยด้วยเช่นกัน


ก็เลยบอกย้อนไปถึงช่วงที่ไปเที่ยวที่หุบเขาสปิติ (รัฐหิมาจัลประเทศ) เมื่อหลายปีก่อน
เคยมีคนบอกว่าที่ลาดักก็ดูคล้าย ๆ กัน และหากเป็นไปได้ก็ควรหาโอกาสมาเห็นสักหน

หลังรู้เหตุผล หลวงพี่จัมยังหันมาพึมพำกับหลวงพี่นีม่าเหมือนยังจะถอดรหัสกัน

"นี่แสดงว่าชอบหิมาลัยสินะ"  ใช่แล้ว เป็นข้อสรุปที่ดีมากเลย 

 

จิบชาพูดคุยกันยาวไปจนถึงบ่ายสามโมงเศษ สรุปคือไม่ได้วาดรูปจนจบ 
พระเริ่มเตือนว่าให้เตรียมตัวลงไปได้แล้ว  
คนขับรถจะเริ่มติดเครื่องคอยผู้โดยสารที่
บริเวณหน้าร้านชำก่อนล่วงหน้า แล้วไหนจะ
ต้องคิดเผื่อเวลาลงจากเขาไปอีก แน่นอน
ว่าเจ้าสิ่งกีดขวางทั้งหลายนั่น มันทำให้เราไม่
สามารถวิ่งจู๊ดลงไปได้แบบทันใจนึก

หลวงพี่ย้ำอีกรอบว่ารู้ทางลงแล้วใช่มั้ย คงกลัวจะไปอ้อมโลกตรงทางที่เป็นถนน
เราบอกเลยว่าไม่มีปัญหา ยกเว้นตอนที่ต้องปีนบันไดนี่แหละที่กลัวพลาดเท่านั้น

 

พระจัมยังและพระนีม่า แห่งวัดมาโธ



แล้วรถโดยสารก็มาก่อนเวลาจริง ๆ เสียด้วย เราขึ้นรถไปยังที่เดิมเหมือนตอนขามา
และเคลื่อนออกจากหน้าร้านขายของชำไปอย่างช้า ๆ ตอน 15.40 . จนมาหยุดรอ
ที่หน้าโรงเรียน พี่คนขับบอกว่าต้องมารอรับคุณครูช่วงโรงเรียนเลิกเวลาบ่ายสี่โมง
เสียงจอแจของเด็ก ๆ ดังมาจากหลังรั้วโรงเรียน บางคนก็เริ่มเดินสะพายเป้ออกมา
บางคนก็ยังวิ่งเล่นกันอยู่ ดูเหมือนว่าพวกเขาต่างก็เป็นเด็กในละแวกนี้ทั้งนั้น

เหล่าคุณครูที่หน้าคุ้นหลายคนจากเมื่อเช้าก็ออกมาจากโรงเรียนเพื่อขึ้นรถกลับเลห์
ตามเวลา และนั่งตามตำแหน่งเดิมเหมือนเมื่อเช้าเป๊ะ ๆ ราวกับว่าเป็นที่นั่งประจำ 
จะขาดก็แต่ในเที่ยวรถขากลับนี้ไม่มีใครออกเสียงท่องบทสวดเหมือนเมื่อเช้า

 




 

Create Date : 22 พฤศจิกายน 2564
11 comments
Last Update : 10 ธันวาคม 2564 20:57:25 น.
Counter : 1184 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณtuk-tuk@korat, คุณ**mp5**, คุณkatoy, คุณhaiku, คุณสองแผ่นดิน, คุณเจ้าหญิงไอดิน, คุณmultiple, คุณtoor36, คุณเจ้าการะเกด, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณnewyorknurse, คุณkae+aoe, คุณSertPhoto, คุณอุ้มสี, คุณทุเรียนกวน ป่วนรัก

 

ตามมาเที่ยววัดแม่โถ ค่ะ

 

โดย: tuk-tuk@korat 23 พฤศจิกายน 2564 13:13:28 น.  

 

แวะมาเยี่ยมและส่งกำลังใจครับ

 

โดย: **mp5** 23 พฤศจิกายน 2564 14:26:28 น.  

 

..นมัสเต..
..โอม..
ให้คนชอบหิมาลัย และเล่าเรื่องราวดีๆ

 

โดย: katoy 23 พฤศจิกายน 2564 14:34:50 น.  

 

อ.เต๊ะ พูดแล้วเหยียบไว้เลยน้า ตอนนี้เห็นเค้าลือกันว่า
ถ้ามาเม้นท์บล้อกน้องฟ้าได้ ก้ไม่ต้องกลัวบล้อกไหนๆอีกต่อไปแล้วใน บล้อกแก๊ง เย้ย 555

น้องฟ้าบอก เหรอ งั้นแน่จริงเอ็งก้เม้นท์มา ถ้าไม่ถึงหน้า A4
เอ็งต้องนั่งสวดมนต์ให้ครบ 10 จบ เย้ย 555

จริงๆ อ.เต๊ะ พยายามหาข้อมูล ก่อนจะมาเม้นท์ อย่างยากอะ
ว่าเค้ามาดูอะไรกันที่นี่ เค้าบอกว่า ต้องมาดูตอนมีงานพิธีประจำปี
ที่มีพระ 2 องค์ใส่หน้ากาก เหมือนจะเป็นร่างทรง
แล้วก้ทำนาย เกี่ยวกับ สภาพดินฟ้าอากาศ ว่าเกษตรกรรมปีนี้จะเป็นไงบ้าง

จะว่าไปก็ถ้าของไทย ก็ต้องพิธีแรกนาขวัญ ที่มีพระโคเสี่ยงทายว่า
จะกรึ๊บเหล้า หรือกินข้าวสวยละเนอะ555

ถ้าจะมาเพื่อดู งานสถาปัตย์ละก้ ตอบแบบไม่เอาหล่อ
ใจจริงส่วนลึก 555 คืออยากได้ งานพวกลวดลายไม้ประดับ
ประตูสีแดงนั่นก้อยากได้ detail ละเอียดยิบเลยเชียว อิอิ

น้องฟ้า บอก เอ็งนี่มันพวกโจรปล้นสุสานชัดๆ แต่ถ้าเอ็งอยากได้จริงๆ ข้าก็พอมีทาง เย้ย 555

แล้วก็มาดูตอน น้องฟ้าsketch รูป ภาพเล็ก เกินมองไม่ออก
เลยไปสังเกตอย่างอื่น เดาว่าแถวนั้นคงไม่มีหวีขายแน่นอน อิอิ

นี่เอ็งใส่ร้ายข้าว่า ไม่เคยหวีผม ชิมิ ข้าหิวจนตาเหลือก
จะกินโซได้ทั้งตัว ยังจะให้มานั่งหวีผมอีก โชคดีพระใจดีให้ผลไม้มาแทะ
ต่อไป อ.เต๊ะว่า ถ้าจะไปที่ไม่มีพี่หมี ฟู๊ดแพนด้า แบบนี้ต้องพก อาหารพลังงานสูงๆ พวก ข้าวต้มมัด กาละแม เอ๊ย Energy Bar ติดตัวไปด้วย เดี๋ยวจะไปนั่งท้องร้อง จ๊อกๆให้พระท่านได้ยินอีก เย้ย 555

ส่วนเรื่องหิมาลัย นี่ มันมีมนต์ขลัง แบบพลังลึกลับดึงดูดจริงๆ
อยากไปเห็นกับตาซักครั้ง
ชาตินี้ไม่รู้จะมีวาสนาได้ไปกับเค้ามั้ย ตอนนี้ไม่ได้ออกจากบ้านมาเป็นปีแล้ว สมองเลยปั่นป่วน ถ้าเม้นท์ล่วงเกินไปบ้าง ต้องขออภัยด้วยจีะ อาจเพราะไม่ได้กินยาต่อเนื่อง เย้ย 555


 

โดย: multiple 24 พฤศจิกายน 2564 9:35:00 น.  

 

ทางดูน่ากลัวเหมือนกันนะ ไม่มีที่กั้นอะไรเลยด้วย

กระติกแบบในภาพนี้คลาสิกมาก ที่จีนหลายๆ ที่ก็ยังใช้แบบนี้กันนะ บนรถไฟก็ใช้ เก็บความร้อนได้ดีมากๆ จริงๆ ต้องมีฝาปิดด้านบนด้วย (หายแล้วมั้ง)

คลิปดูไม่ได้ครับ

 

โดย: คุณต่อ (toor36 ) 24 พฤศจิกายน 2564 21:38:02 น.  

 

^

รับทราบ
แก้ไขแล้ว

 

โดย: กาบริเอล 25 พฤศจิกายน 2564 10:22:35 น.  

 

มานั่งอ่านจ้า

 

โดย: อุ้มสี 25 พฤศจิกายน 2564 23:18:08 น.  

 

ตามมาด้วยคนค่ะ

 

โดย: kae+aoe 29 พฤศจิกายน 2564 6:17:59 น.  

 

สวัสดีค่ะ
เพิ่งได้เวลาเปิดคอม อิอิ
แม่โถ อ่านตามชื่อดอยแม่โถ ที่เชียงใหม่ค่ะ

 

โดย: tuk-tuk@korat 1 ธันวาคม 2564 13:11:23 น.  

 

รถมีเที่ยวเดียวอย่างนี้ สงสัยเค้าจัดไว้สำหรับการเดินทางของคนในโรงเรียนเป็นหลักแน่เลย ส่วนนักท่องเที่ยวน่าจะเป็นเรื่องรองลงมามั้ง ^^

พอไปถึงแล้วน่าจะคุ้มค่ากับการฝ่าด่านลูกเสือไปที่วัดแหละ นอกจากวัดสวยแล้วเจอพระทำกิจกรรมพอดี
หลวงพี่ที่นี่คงคุ้นเคยกับตารางเวลาตายตัวแบบนี้ ก็เลยกะเวลาคุยและเลี้ยงของว่าง (คำว่า "ว่าง" นี่น่าจะเป็น "อาการท้องว่าง" สำหรับบางคนด้วย :D) กับผู้มาเยือนพอดีเป๊ะเลย

คนที่สเก็ตช์รูปนั่นดูเด็กจัง เห็นแล้วนึกว่าเด็กมัธยม (ขอค่าชมด้วย )



ป.ล. "คือมีปฎิธานแบบโพธิสัตว์"
คำว่า "ปฎิธาน" แปลว่าอะไรนึกไม่ออกจริง ๆ ^^" (หรือจริง ๆ แล้วเป็นคำอื่น)

 

โดย: ทุเรียนกวน ป่วนรัก 10 ธันวาคม 2564 20:39:44 น.  

 

^
"ปฎิธาน" เหรอ
typo ฮะ ...

ที่จริงมันคืออออออ

"ปณิธาน" ตะหาก

thank you หลาย

 

โดย: กาบริเอล 10 ธันวาคม 2564 20:54:39 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


กาบริเอล
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 58 คน [?]




ชอบต้นไม้, แมว, หนังสือ
และออกเดินทางท่องเที่ยวบ้าง

ไม่ชอบพบปะผู้คนมากนัก
เป็นมนุษย์จำพวก introvert

การเขียนบล็อก
คืออีกพื้นที่บอกเล่าผ่านตัวอักษร
และตัวตนของเราก็อยู่ในสิ่งที่เขียนค่ะ

ขอบคุณ Bloggang
สำหรับพื้นที่แบ่งปันตรงนี้

....

เริ่มต้นลงบันทึกอย่างเป็นทางการ
ณ วันที่ 16 ม.ค. 2014


###ไม่สะดวกพูดคุยหลังไมค์นะคะ###

© ขอสงวนลิขสิทธิ์ ภาพถ่าย 
ห้ามนำไปใช้ ดัดแปลง แก้ไข 
โดยไม่แจ้งที่มา ก่อนได้รับอนุญาต


New Comments
Friends' blogs
[Add กาบริเอล's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.