Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2566
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
8 สิงหาคม 2566
 
All Blogs
 

SPITI (ปี 3) Tabo อชันตาแห่งหิมาลัย #1





ถัดจาก Dhankar เราจะเดินทางไปที่ Tabo กันต่อ


(ต่อจากเอนทรี่เก่า)  เนื่องจากไม่มีรถประจำทางพาลงไปยังด้านล่าง เช้านี้เราก็เลยต้องลงเขาจาก Dhankar
ด้วยเส้นทางลัดที่อยู่ตรงฝั่งวัดเก่า ใช้เวลาเพียงแค่ 45 นาที  พื้นที่ด้านล่างอาจจะหาทางออกไปหน้าถนน
ซะ
ยากหน่อย เพราะเป็นพื้นที่เพาะปลูกของชาวบ้าน ต้องเดินแบบระวังไม่ให้ดูเหมือนไปรุกล้ำจนเกินไป 
รวมถึงยังมี 
sea buckthorn หนามคม ๆ ที่ผุดขึ้นกั้นทางจนเป็นดง จามรีตัวใหญ่ต่างพากันเล็มหญ้าแถวเนิน 
เหนือฟากตรงข้ามที่เป็นทางเข้าไปยังหุบเขาพินอย่างเนิบนาบ จุดที่ยืนอยู่ตรง
นี้เป็นเขตหมู่บ้าน Schichling 



 ลงมาจาก Dhankar ก็เจอกับพื้นที่ด้านล่างที่มีสภาพเป็นท้องไร่ท้องนา ก่อนที่จะต้องหาทางลงไปยังถนนใหญ่
 



ระยะทางไป Tabo ที่อยู่ห่างเพียงแค่ 24 กิโลเมตร 

 


รถเที่ยวแรกจาก Kaza จะวิ่งผ่านมายังบริเวณนี้ไวสุดก็ราว ๆ 8.30 . เราลงมาถึงด้านล่างก่อนเวลา
ที่ว่าถึงสิบนาทีไม่เห็นจะมีวี่แววของรถโดยสารวิ่งมาถึงสักที  
ไอ้การยืนรออยู่เฉย ๆ ติดกับเนินเขาแถวนี้
อาจเป็นเป้านิ่งให้หินมันร่วง
ลงมาใส่หัวได้ทุกเมื่อ เดินไปข้างหน้าต่อดีกว่า ถ้าหากมีรถประจำทางวิ่งผ่าน
มาเดี๋ยวเขาก็ส่งสัญญาณเรียกด้วยการบีบแตรเอง


หลังแบกเป้ออกเดินไปได้ไม่เท่าไหร่ ก็มีรถยนต์คันหนึ่งวิ่งผ่านมายังทิศทางเดียวกับที่เราจะไป
ตัวรถแล่นไปไกลเพียงสองเมตรและหยุดเบรกกะทันหัน คนขับหมุน
กระจกลงเพื่อถามถึงจุดหมาย
ของเรา โดยพวกเขากำลังจะไปที่
Tabo เช่นกัน 
ในรถคันนั้นมีผู้หญิงชาวสปิติสองรายนั่งอยู่ที่เบาะ
ด้านหลัง ส่วนเบาะหน้ายังว่างอยู่  พี่คนขับเป็นคนท้องถิ่นได้ชักชวนให้ติดรถไปด้วยกันเพราะเขาจะ
พาแม่กับป้าไป
ไหว้พระที่วัดดังกล่าวพอดี

"วันนี้ไม่มีรถวิ่งมาจาก Kaza เหมือนมีปัญหาบางอย่างเมื่อวานนี้"

เจ้าของรถได้ช่วยเฉลยเรื่องที่เรากำลังสงสัย
ไม่ใช่พลาดเที่ยวรถเพราะใช้เวลาเดินลงเขาช้าเกินไปอย่างที่คิดไว้จริง ๆ ด้วย

การวิ่งรถในเขตพื้นที่นี้จะไม่มีรถบัสเที่ยวเสริม ในกรณีที่ออกวิ่งไปแล้วดันเกิดเหตุ
ตีกลับมายังสถานีขนส่งไม่ได้ต่างหาก นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง กับการเดิน
ทางด้วยรถโดยสารท้องถิ่นที่ต้องทำใจและเผื่อเวลาให้ไว้เยอะ ๆ


 


ภาพระหว่างทางที่ไม่ได้เก็บบันทึกภาพไว้  

เราแทบไม่เคยเห็นหน้าตาของถนนหนทางที่จะวิ่งผ่านไปยัง Tabo มาก่อน
หนแรกที่มาก็ไม่ได้ที่นั่งริมหน้าต่าง จะรับรู้ได้ก็แต่แรงสัมผัสของล้อรถที่ส่งผ่าน
ความขลุกขลักบนพื้นดิน นำพาให้ผู้โดยสารเอียงเอนตัวไปมาตามจังหวะรถวิ่งผ่าน
ผิวถนนลูกรัง


บ่อยครั้งบนเนินเขาที่ทำมุมลาดเอียงก็อาจมีก้อนหินเล็ก ๆ กลิ้งร่วงลงมาให้เห็นบ้าง
ในบางช่วงอาจเห็นพวกคนงานขึ้นไปนั่งกระเทาะก้อนหินบนเนินสูงที่ใกล้ถนน เพื่อกร่อน
ให้มันมีขนาดเล็กลง ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุไม่คาดฝัน ในขณะที่กำลังมองดูวิวข้างทางด้วย
ความระทึกอยู่นั้น มีหินอีกก้อนกำลังกลิ้ง
ลงมาให้เห็นต่อหน้า ถึงไม่ได้เป็นก้อนใหญ่มาก
จนเป็นอันตรายก็เถอะ


"ไม่ต้องห่วง นี่คือเรื่องปกติ" เจ้าของรถพูดปลอบให้เราไม่ต้องคิดมาก
"เพราะแบบนี้ไง แม่กับป้าถึงไม่อยากจะมานั่งที่เบาะหน้ากัน"

ผู้หญิงทั้งสองที่ว่าต่างพูดคุยกันในภาษาที่เราไม่เข้าใจกันไปตลอดเส้นทางที่น่าหวาดระแวง
นี่ถ้าไม่นับเรื่องหินที่มักจะกลิ้งร่วงลงมา ก็คงจะเป็นช่วงเข้าโค้ง การก่นด่าคันรถที่วิ่งเข้ามา
แฉลบแซง
ด้วยเสียงแตร ดูแล้วพี่ชายชาวสปิติผู้นี้ใช้กติกาเดินรถตำราเดียวกับคนอินเดียแน่ ๆ

 

เมื่อเราผ่านมาถึงพื้นที่ตั้งของหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีหลักกิโลเมตรแจ้งบอกระยะทางว่า Tabo อยู่
ห่างจากที่นี่อีกแค่สิบกิโลเมตร พบว่าแถบนี้เริ่มมีแมกไม้ขึ้นริมทางเยอะขึ้น มีเด็กและผู้หญิง

ชาวเมืองมายืนโบกรถขอติดไปด้วย หลังจากที่รับขึ้นรถก็เลยสืบความได้ว่าเที่ยวรถของเมื่อวานนี้
มันไปติดแหงกอยู่ที่
Spello เส้นถนนถูกบล็อคเพราะเกิดปัญหาดินถล่ม ชาวบ้านบางส่วนที่ออก
มาคอยรอรถกันแบบเก้อ ๆ ในรอบเช้า  หลังทราบข่าวแล้วก็ต้อง
พยายามมองหารถสักคันที่จะขับ
ผ่านมาเพื่อที่จะขอติดไปยังทางผ่านเดียวกัน





⭗ ถนนที่ลาดยางจนเรียบ ช่วงก่อนถึงหมู่บ้านไม่ไกล สภาพแวดล้อมช่วงนี้มีต้นไม้ให้เห็นเยอะขึ้น




⭗ สะพานข้ามแม่น้ำที่เชื่อมกับถนน เส้นทางน้ำสายเล็ก ๆ ที่มาจากซอกเขาทางทิศเหนือตรงนี้ ในแผนที่ระบุในชื่อ
"Tabo Tokpo" ซึ่งจะไหลผ่านจากจุดนี้ไปรวมกับแม่น้ำสปิติในลำดับถัดไป 




ใบไม้ที่เริ่มเปลี่ยนสีช่วงปลายเดือนกันยายน 



⭗ กองหินมณีและซุ้มกิ่งไม้ที่มีฐานเป็นเขาสัตว์กองสุม ตรงบริเวณปากทางหน้าหมู่บ้าน


จากถนนลูกรังก็เริ่มมีการปรับพื้นผิวดีขึ้นเมื่อใกล้ถึงจุดหมาย ภาพของหมู่บ้านที่เราเว้นจากการมาเยือนนาน
เกินห้าปี มีอาคารหลังใหม่ ๆ ที่สร้างไว้เป็นเกสเฮาท์ผุดขึ้นมาอย่างมากมาย  
พี่คนขับไม่ได้จอดให้ลงตรง
จุดรอรถโดยสารหน้าร้านขายของชำ แต่ขับเลี้ยวขวาเข้าโค้ง
เพื่อตรงเข้าไปยังที่ตั้งของลานวัด แต่ก่อนที่
พวกเราจะไปถึงหน้าซุ้มทางเข้าหมู่บ้าน ก็พบกลุ่ม
นักท่องเที่ยวและชาวเมืองที่ออกมายืนรอรถโดยสารกัน
หนึ่งในนั้นมีหญิงสาวหน้าจีนที่สะพายเป้ 
Ospey ขนาบข้างด้วยกระเป๋าลากขนาดตู้เย็นเล็ก

แหม ๆๆๆ ไหงว่าอยู่นานสักสามวันไงเจ้?
เราคิดบ่นในใจ ก่อนที่จะยกมือส่งสัญญาณทักไปให้หยางได้เห็น 

ผ่านจากจุดนั้นไป เมื่อรถเลี้ยวเข้าหมู่บ้านก็ได้มาเห็นหนุ่มโปรตุเกสหน้าคุ้นเดินหอบสัมภาระ
เพื่อออกมารอรถยังจุดเดียวกัน ก่อนที่เขาจะสวนผ่านรถไป เราขอให้พี่คนขับช่วยบอกข่าวให้
ตานี่รู้หน่อยว่าวันนี้ไม่มีเที่ยวรถวิ่งผ่านมา (จะได้ช่วยไปบอกหยางด้วย) หลังจากที่ได้แจ้งไป
หนุ่มโปรตุเกสบอกว่ารู้มาก่อนแล้ว แต่จะใช้วิธีเดินทางต่อด้วยการโบกรถไปเรื่อย ๆ แทน



 

 

Tabo – ปี 2019



⭗ ลานหน้าวัด ที่ดูคึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวและร้านค้า ที่พักของเราคืออาคารเรือนกระจกด้านหน้า 
บนเนินเขาที่เป็นฉากหลัง มีพื้นที่ของถ้ำเล็ก ๆ สำหรับให้พระขึ้นไปนั่งภาวนามาตั้งแต่ยุคโบราณ




เจดีย์องค์ขาวลายทองตั้งเด่นอยู่ตรงลานกลางแจ้ง ที่ยังคงสวยเช่นเดิม


 

ในที่สุดก็ได้กลับมาอีกครั้ง พวกเราแยกย้ายกันที่ลานจอดรถหน้าวัด บรรยากาศตอนนี้คึกคักผิดกับ
ช่วง
ปลายเดือนตุลาคมครั้งนั้นมากทีเดียว มีร้านขายโปสการ์ด ของที่ระลึกเปิดอยู่ใกล้ ๆ กับวัด ผู้คนที่
แวะเวียนมาเยือนก็มีทั้งนักท่องเที่ยวและผู้คนท้องถิ่น พื้นที่หน้าลานถูกปู
ด้วยอิฐจนเนียนกริ๊บ


Tabo ตั้งอยู่บนความสูง 3,280 เหนือระดับน้ำทะเล ต่ำกว่า Kaza จึงมีอากาศอุ่นขึ้น เราเข้าพัก
ที่เกสเฮาส์ของวัดตามเดิม ส่วนอาหารการกินก็ฝากท้องกับครัวที่เปิดอยู่
ตรงพื้นที่ด้านล่างที่เปิดเป็น
ร้านอาหารขนาดเล็กสำหรับหารายได้บำรุงวัด 

หลังเกิดเหตุฮาร์ดดิสก์เสีย บรรดาภาพเก่าบางส่วนที่เคยถ่ายไว้เมื่อห้าปีก่อนต่างหายไปแทบหมด
นี่ถ้าไม่ฝากลงบล็อกไว้
ก็คงจำแทบไม่ได้ว่ามีจุดไหนบ้างที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้คนเก่า ๆ ที่คุ้นหน้า
คงหนีไม่พ้นหลวงพี่ทินเล่ 
ผู้จัดการเกสเฮาส์ หนนี้แกไม่มาดูแลเรื่องการลงทะเบียนเข้าพักหรือถือ
กุญแจห้องแล้ว หน้าที่
ดังกล่าวถูกมอบหมายให้เด็กหนุ่มตัวเล็กต่างถิ่นที่เข้ามาทำงานรับจ้างใน
ช่วงฤดูท่องเที่ยวจัดการให้




⭗ รอบนี้เลือกพักที่ห้องใหญ่สุดให้สมฐานะ (และมีเตียงนอนเยอะสุดด้วย) 555
 


เรื่องราวของ Tabo ปี 2014 มันก็คือการหลงเข้ามาจริง ๆ นะ ไม่ใช่เขียนว่าหลงเพื่อสร้างคอนเทนต์ 
เราแทบไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับที่นี่เลย ด้วยบรรยากาศบางอย่าง สภาพแวดล้อมที่น่ารัก ทำให้รู้สึกชอบหมู่บ้านนี้
มากอย่างบอกไม่ถูก พอนำเอา
เรื่องการเดินทางมาลงเขียนในบล็อกก็ต้องไปค้นประวัติเพิ่มเติม ถึงรู้ว่าพลาด
การสำรวจไปพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ไปอย่างน่าเจ็บใจ--
มาแล้วก็เหมือนมาไม่ถึง 


ตั้งใจจะกลับมาปรับภาพจำเสียใหม่กับหมู่บ้าน Tabo ในอย่างที่ควรเป็นซะที  วางแผนไปสำรวจโบราณสถาน
บริเวณเป็นวัดเก่าให้ครบ จากที่
ครั้งก่อนมีเวลาไม่นานก็ต้องรีบร้อนออกไปรอรถเพื่อเดินทางต่อ จุดที่เคยเข้า
ชมมีเพียงแค่สองแห่งคือ Golden Temple กับ Maitreya temple 




⭗ ประตูทางเข้าวัดโบราณ จากมุมด้านใน




⭗ Large ‘Brom-ston Temple อาคารหลังใหญ่สุด จุดที่มีธงมนตรผูกโยง ในช่วงเวลาทำการจะมีกลุ่มคนมานั่ง
ที่เฝ้าจุดรับฝากกระเป๋า ส่วนโครงสร้างไม้ที่หน้าลานกำลังจัดที่เตรียมทำใหม่เพื่อปูพื้นแทนของเดิมที่รื้อออกไป




ในฤดูท่องเที่ยวแบบนี้ ที่วัดเก่าจึงมีเจ้าหน้าที่มาคอยมาเฝ้าดูแลวัดโบราณมากกว่าหนึ่งราย 
จุดรับฝากของอยู่ตรงบริเวณหน้า
Large ‘Brom-ston Temple อาคารหลังนี้ดูใหญ่โตสุด
ท่ามกลางเหล่าวิหาร เจดีย์ ทรงโบราณ ที่พอกฉาบพื้นผนังด้านนอกด้วยเนื้อดิน
หนาเตอะ

จุดแรกของการเยี่ยมชม เป็นอาคารที่ตั้งอยู่ติดกัน ซึ่งเป็นที่ตั้งของ gTug Lha Khang ;
Temple of Lightened Gods หรือ Main Temple ชายชาวสปิติรายหนึ่งมานั่งประจำโต๊ะ
อยู่ด้านในอาคารส่วนหน้าที่ใช้เป็นทางเข้าชั้นแรกจะทำหน้าที่ตรวจเพื่อป้องกันไม่ให้มีการ
นำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกเข้าไปด้านใน แน่นอนว่าไม่มีการอนุญาตให้
บันทึกภาพ


gTug Lha Khang เป็นวัดที่ถูกสร้างขึ้นมาช่วงยุคแรกเริ่ม ในปี 996  นับตั้งแต่มีการแลก
เปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างอินเดียและทิเบต 
โดยมี Tabo เป็นศูนย์กลางของการแปลคัมภีร์
ทางพุทธฯ ภาษาสันสฤตเป็นทิเบต  *ในขณะที่หลังอื่น ๆ ได้ถูกสร้างเพิ่มขึ้นต่อจากนั้น
โดยแบ่งออกเป็นสี่ช่วงคือ


+++ช่วง 1 : ค.ศ. 996 

  • Main Temple (gTug Lha Khang) หรือ Temple of Lightened Gods  
  •  

+++ช่วง 2 : ค.ศ. 1042–1100 

  • Maitreya's Temple (Byams pa’l Lha khang)
  •  ‘Brom-ston Temple (Brom ston Lha khang)
  • Mandala Temple (dKyil khang)   
     
+++ช่วง 3 : ค.ศ. 1450–1550
  • Golden Temple (gSer Lha khang)
     
+++ช่วง 4 : ค.ศ. 1600–1900
  • Large ‘Brom-ston Temple (Brom ston Lha khang chen po)
  • New Entry Hall (Go khang) หรือ Temple of the Master (rJe-blama Lha-khang)
  • Protector's Chapel (mGon khang)
  • White Temple (‘byung Lha khang) หรือ Nuns' Temple

*อ้างอิงจาก : https://www.tabomonastery.org/seite/477957/evolution-of-the-temple-site.html



เทียบขนาดความสูงกับวัดเก่า (จขบ. สูง 157 ซม.) ยืนอยู่ระหว่างอาคารส่วนข้างของ Main Temple และพื้นที่ด้านหน้า
Maiterya Temple 



⭗ เจดีย์และมุมวางม้านั่งที่มุมส่วนท้ายของวัด 



⭗ กองไม้ที่เคยใช้ปูพื้นเดินถูกรื้อมาวางสุมบริเวณที่ติดกับตัวอาคารที่เป็นส่วนหนึ่งของเกสเฮาส์ที่เราพัก




แนวกำแพงวัดเก่า กองหิน และอิฐ ที่เตรียมนำมาบูรณะพื้น




 มุมมองจากด้านนอกกำแพงหลังวัดเก่าและต้นแอปเปิ้ลที่ปลูกอยู่รายรอบ

 

จิตรกรรมฝาผนังปูนเปียก(fresco), ศิลปะสไตล์อินโด-ทิเบต, อดีตกาลอันเก่าแก่


Tabo เป็นวัดพุทธวัชรยานนิกายเกลุก  ในหุบเขาสปิติมีวัดเกลุกปะอยู่เพียงสามแห่ง
นั่นคือ
Kee / Dhankar / Tabo โดยมากแล้วบรรดาวัดสไตล์ทิเบต จะนิยมสร้างไว้บน
เนินเขา
มีเพียงไม่กี่แห่งที่สร้างไว้ที่บนที่ราบเช่นนี้



Main Temple คืออาคารที่เก่าแก่ที่สุด เราอยากใช้เวลาอยู่ด้านในวิหารนานเท่าที่จะทำได้
แต่ด้วยตัวอาคารมันก็เล็กเกินกว่าจะใช้
อ้างในการจำภาพเหล่านั้นให้ติดตา เลยขออนุญาตผู้เฝ้าฯ
ว่าสามารถนำปากกากับสมุด
เล่มเล็กเข้าไปเก็บภาพบางส่วนด้วยการวาดได้มั้ย จะนั่งตรงจุดที่มอง
เห็นตรงเบาะที่ปูยาว
ด้านในนั่นให้อยู่ในสายตาและเขาตอบตกลง แต่ก่อนจะเข้าไปเขาส่งไฟฉาย
มาให้เผื่อว่าต้อง
ใช้ในช่วงที่เข้าไปยังจุดด้านในสุดหลังองค์พระฯ เราบอกไม่เป็นไรคงไม่ได้นั่งขีด
เขียนร่างภาพได้
ละเอียดอะไรนัก จากนั้นแกก็พาเดินเข้าไปดูพื้นที่ด้านในโดยคร่าวตามหน้าที่และ
ปล่อยให้เรา
ได้ใช้เวลานั่งเขียนบันทึกตามลำพังที่โต๊ะไม้



+++ รายละเอียดของ Main Temple ที่ขีด ๆ เขียน ๆ ในสมุด +++

(1) เป็นตำแหน่งทางเข้าสถานที่ องค์พระที่ตั้งอยู่ตำแหน่งกลาง
มุมท้ายที่มีพระพุทธรูปนั่งสมาธิด้านในสุด 
และรายชื่อ Vajradhatu Mandala ทั้ง 16 ฝั่งทิศใต้

(2)  รายชื่อ Vajradhatu Mandala ทั้ง 16 ฝั่งทิศเหนือ 


(3) รูปทรงเสาไม้, ผืนผ้าที่แขวนประดับ, แผ่นไม้ที่วางขัดฝ้าเพดาน

(4) รูปทรงต้นไม้ที่วาดบนผนัง (คัดมาจากอาคารหลังอื่น)

 

     
 
    

(คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดปกติ)



รายละเอียดเพิ่มเติม :

++ แผนผังจาก เว็บไซต์ของ Tabo Monastery
สำหรับเทียบตำแหน่งต่าง ๆ ที่จะใช้อ้างอิงในการบรรยาย ในลำดับถัดไปจากนี้

https://daten.verwaltungsportal.de/dateien//mypage/4/9/4/8/2/5/lageplan.PNG?v=1599038219

++ รายนามของและตำแหน่งการจัดวาง Vajradhatu Mandala ทั้ง 32 
https://www.evaleestudio.com/wp-content/uploads/2016/06/tabo_vajradhatumandaladeitynames-copy.jpg


ที่ตั้งของวิหารตั้งอยู่ในตัววัด (1) The Temple of Enlightened Gods หรือ Main Temple
จะต้องเข้าผ่านอาคาร (2) Temple of the Master ที่ตรงนี้เป็นที่ประจำการของผู้ดูแลและมี
โต๊ะนั่งประจำอยู่ 


(3) ก็อนคัง หรือ Protector’s Chapel  ตั้งอยู่ทิศตรงข้ามกับประตูทางเข้า เป็นห้องที่ปิดทึบ
เมื่อมองผ่านช่องที่เจาะไว้ ก็ทำให้พอมองเห็นแสงเทียน
และเขม่าดำผ่านเล็ดลอดมาจากด้านใน
ได้บ้าง ปกติแล้วห้องนี้จะค่อนข้างลึกลับ
ผู้ดูแลไม่ได้แนะนำอะไรเพิ่มเติม ก็เลยปล่อยผ่านไป
เนื่องจากบางวัดก็ไม่ได้
เปิดให้คนภายนอกเข้าไปเยี่ยมชมในพื้นที่ดังกล่าว

 

เมื่อหันเลี้ยวไปทางซ้าย (ทิศตะวันตก) ทางเดินที่เป็นรอยต่อไปสู่พื้นที่วิหาร
จุดเชื่อมตรงนั้นถูกสร้างพื้นที่ส่วนขยายด้านข้างสองฝั่งสำหรับวาง
รูปปั้นของธรรมบาล

พอพ้นมาถึงบริเวณทางเข้าวิหาร ก็จะเห็นแสงสว่างจากธรรมชาติที่เล็ดลอดผ่านช่องหลังคา
ด้านบน ร่วมกับหลอดไฟดวงเล็ก ๆ ที่วางไว้ในบางจุดเพื่อเปิด
ขับให้เหล่าปฏิมากรรมดูมี
ความเด่นชัดขึ้น


ธรรมาสน์ของทะไลลามะลำดับที่ 14 ถูกตั้งขึ้นเบื้องหน้าแท่นวางองค์พระฯ
ทั้งนี้ท่านทะไลลามะ ได้เคยมานั่งประกอบพิธีถึงสามวาระด้วยกัน คือในงานพิธี
Kalachakara ปี 1983 และ 1996 รวมถึง Vajra Dhatu เมื่อปี 2004


[วีดิโอ] งาน Vajra Dhatu 2004 ที่จัดขึ้นในบริเวณวิหาร 
https://www.tabomonastery.org/seite/478094/videos.html
 

ด้านหลังธรรมาสน์ขององค์ทะไลลามะเป็นแท่นประดิษฐานพระไวโรจนพุทธเจ้า
(Vairocana statue) ทั้งสี่มุมนั่งบนฐานทรงดอกบัวเดียวกัน โดยจัดวางให้หันหน้า
ไปยังทิศทั้งสี่ มีเสาและคานไม้ที่แกะลวดลายตั้งทำมุมระหว่างองค์พระเอาไว้และ
บนแท่นบูชานี้ก็ยังมีรูปปั้นของพระขนาดเล็กตั้งวางไว้ทั้งซ้าย-ขวา

จุดเด่นของวัดหลักแห่งนี้นอกเหนือไปจากภาพจิตรกรรมโบราณแล้วก็คือ
เหล่างานปฏิมากรรมนูนลอยที่เรียกว่า Vajradhatu Mandala จำนวน 32 องค์
รูปสลักเหล่านี้ออกแบบให้อยู่รายล้อมรอบองค์พระวิโรจนพุทธะที่ตั้งเด่นอยู่ตรง
ใจกลาง แบ่งออกเป็นสองฝั่งนับจากมุมผนังตรงตรงทางเข้าและไล่ไปตามแนว
ยาวของอาคารจนครบฝั่งละ 16


ตำแหน่งท้ายสุด เป็นรูปสลักที่ดูคล้ายอสูรกายสีแดงหน้าดุดัน ที่น่าจะเป็น
ธรรมบาลผู้คุมครองนั่งอยู่ด้านหลังเสาก็คือ Vajra Sphota ฝั่งทิศเหนือ
และ Vajra Pasha ฝั่งทิศใต้

ส่วนที่ลึกถัดไปผนังห้องตีกรอบแคบลงและไม่มีแสงส่องถึง เป็นที่ประดิษฐาน
พระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ตั้งอยู่ข้างในนั้น เมื่อเดินวนอ้อมไปยังด้านหลังจำเป็นจะ
ต้องพึ่งอาศัยไฟฉายส่องดูรายละเอียดภาพวาดที่แสดงถึงพระพุทธเจ้าพันองค์


ที่จริงแล้วก็ไม่ได้นั่งอยู่ด้านในทั้งวันจนสามารถจดจำรายละเอียดให้ครบได้นะ
ความรู้ที่มีอยู่น้อยนิด ก็เอาเพียงแค่จุดเด่นบางส่วนที่ตัวเองสนใจเท่านั้น ซึ่งก็
ต้องพึ่งพาอาศัยข้อมูลจากช่องทางอื่นลงประกอบด้วย เราใช้เวลาที่มีอยู่เต็มที่
สองวันไปกับพื้นที่ด้านในวัดโบราณ ห้องสมุด (ตั้งอยู่ในเกสเฮาส์) และตระเวน
ถ่ายรูปรอบ ๆ หมู่บ้าน

 

เกือบลืม! นอกเหนือไปจากโบราณสถานที่เป็นวัดเก่าแก่แล้ว ที่เกสเฮาส์ของวัดได้แบ่งพื้นที่
จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ด้วยนะ หากอิงจากประกาศที่แปะไว้หน้าห้องจะเปิดให้บริการในช่วงฤดู
ร้อนจนถึงปลายเดือนกันยายน และมีค่าธรรมเนียมเข้าชมแค่ไม่กี่รูปี ตัวห้องจะปิดล็อคไว้
หาก
ต้องการเข้าไปชม ก็ต้องติดต่อ(พระ)เจ้าหน้าที่เสียก่อน นี่ก็แอบดีใจ คิดว่ารอบนี้ได้เข้าไปดู
แน่นอนเพราะยังอยู่ในช่วงเวลาตามกำหนด พอเดินไปสอบถามกับหลวงพี่ผู้ดูแลฯ ก็ได้ความ
ว่าพระที่รับผิดชอบงานพิพิธภัณฑ์นั้นไม่อยู่... 
"อาตมาไม่ได้เป็นผู้ถือกุญแจห้องนี้"  



    

(คลิกเพื่อดูขนาดภาพปกติ)

⭗ ภาพถ่ายบางส่วนที่นำไปใช้โปรโมตการท่องเที่ยว Tabo Monastery ด้วยรูปสลักลอยนูน
ด้านในวิหารวัดเก่าแก่ หน้าร้านขายเครื่องเขียนในรัฐหิมาจัลประเทศ (ปี 2015) และภาพหน้าปก
หนังสือ TABO : a Lamp for the Kingdom ที่ห้องสมุดของ Bön monastery เมืองSolan
(ปี 2015)  

 


 

ภาพจำเมื่อครั้งก่อน (ที่ไม่ได้ย้อนไปนานเท่าไหร่)

มาพักสายตาเดินทอดน่องรอบ ๆ หมู่บ้านกันบ้าง หลังเยี่ยมชมวัดเก่าหลังอื่นได้จนเกือบครบ 
(วัดแต่ละหลังนั้นถูกปิดและต้องรอให้เจ้าหน้าที่มาไขประตูให้) ก็ตั้งใจเดินตามหาคนรู้จักด้วย  
ไม่รู้ว่ายังประจำอยู่ที่นี่มั้ย ถึงจะมี
หลายคนบอกว่าในบางครั้งพระอาจมีการย้ายไปประจำที่อื่น

ข้างกำแพงวัดด้านทิศใต้ เป็นที่ตั้งของวัดปัจจุบันรวมไปถึงอาคารและชั้นเรียนของเหล่าเณร
ที่เสียงท่องสวดมนต์แจ้ว ๆ เมื่อครู่เริ่มเงียบลงในช่วงพักเที่ยง เราเดิน
ผ่านอาคารเหล่านั้นไป
ตามลำพัง แต่ก็เริ่มรู้สึกเหมือนมีคนกำลังเดินตามอยู่ไม่ไกล   
เณรน้อยทั้งสองรูปกำลังแอบคุย
กระซิบถึงเรื่องผู้มาเยือน พอหันไปเห็นเข้าก็ถือ
โอกาสถาม “รู้จักคนที่ยืนในภาพนี้มั้ย?”

เราหยิบอัลบั้มรูปที่ติดกระเป๋ามาเปิดไปยังภาพของพระรูปหนึ่งที่ยืนตรงหน้า Golden temple
เมื่อห้าปีก่อนโน่น เมื่อเณรหยิบไปดูและขมวดคิ้วใช้ความคิดอยู่ไม่ถึงสามวิ ก็ระบุได้ทันที

"โซนัม จี
!" 
 

แม้ไม่ได้สื่อสารอะไรได้มากกว่านี้เท่าไหร่ พอทราบแค่ว่ายังอยู่ที่วัดนี้ เราก็สบายใจ
ไปหนึ่งด่าน หลังจากขอแยกตัวไปเดินสำรวจพื้นที่ต่อ ไม่ทันจะเดินพ้นอาคารไปก็มี
เสียงเรียกจากพระรูปหนึ่งที่เป็นอาจารย์ของสองเณรเบรกไว้

"เธอต้องการให้ช่วยอะไรหรือปล่าว?"

พวกเณรคงเดินไปแจ้งอาจารย์ให้รู้ถัดจากนั้น

"สองคนนี้เขาว่าเธอกำลังตามหาเพื่อน"

หลังจากพระอุกเยน ได้ทราบถึงผู้ที่เรากำลังตามหาอยู่นั้นก็บอกได้แค่ว่าพระโซนัม
เดินทางไปทำกิจธุระในเมืองธรรมศาลาเมื่อหลายวันก่อนและกำลังมาที่วัด ซึ่งก็น่า
จะถึงในวันพรุ่งนี้พระยื่นรูปที่เราวานฝากเอาไปให้กลับคืนมา

"ไหน ๆ ก็ได้กลับมาที่นี่แล้ว เธอควรส่งให้เองจะดีกว่า"
 

หลวงพี่อุกเยนอาสาจะแจ้งข่าวให้หากมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากกำหนดเดิม
 

"กุฎิอาตมาก็อยู่นั่น ตามหาได้ไม่ยาก" พระชี้ผ่านไปยังแนวกำแพงที่ล้อมรอบอาคาร
ขนาดเล็กเอาไว้ ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างเจดีย์องค์ขาว
และ Millennium Guesthouse


อ๋อ ที่ตรงนั้นก็ด้านหน้าที่พักเรานั่นเอง
ต้นแอปเปิ้ลที่อยู่ด้านในกำแพงนั่นกำลังออกลูกงามเลย

 

 

อชันตาแห่งหิมาลัย

มีจำนวนโพรงถ้ำเล็ก ๆ ที่ด้านบนเชิงเขาเหนือหมู่บ้าน ใช้เป็นพื้นที่นั่งสมาธิของพระ
ที่ตรงนั้นจะมีลานหินที่ก่อขึ้นและเทปูนทำเป็นอัฒจันทร์ติดกับโครงสร้างอาคารทรงกล่อง
ยื่นพ้นออกมาจากเนินเขา ด้านบนสุดของลานอัฒจันทร์หิน ก่อรูปเป็นบันไดเล็กติดส่วนของ
ดาดฟ้า
ทำให้นักท่องเที่ยวหลายคนที่เดินขึ้นมาถึงจุดนี้มักจะขึ้นไปเดินป้วนเปี้ยนข้างบนนั้น
เพื่อ
มุมถ่ายรูปสุดคูล ไม่ก็ลัดเดินมาจากอีกฝั่ง
ทั้งที่มีป้ายติดหราเอาไว้ 'กรุณาอย่าเดินบนนี้'

เราคิดว่ามันอาจสุ่มเสี่ยงในด้านการพังทลายของสิ่งปลูกสร้าง ก็เลยช่วยบอกเตือนให้
คนที่เผลอเดินขี้นไปให้ได้รู้ ส่วนมากแล้วก็จะ
เปลี่ยนเส้นทางเดินลัดไปยังอีกทางแทน
จะเว้นก็แต่บางรายที่เกินจะห้ามปราม 

"โทษนะ มีติดป้ายเตือนไว้ไม่ให้ขึ้นไปบนนั้น"



ป้ายแจ้งเตือนไม่ให้ผู้มาเยือนขึ้นมาเดินบนดาดฟ้า
 

สองนักท่องเที่ยว ที่ขึ้นไปเดินหามุมถ่ายรูปด้านบน (เบลอหน้าและคาดตาให้แล้ว)


ที่จริงก็ไม่ใช่หน้าที่ แค่ตอนนั้นเรายังนั่งแกร่ว ๆ อยู่ที่ลานอัฒจันทร์หินรอถ่ายภาพวิวช่วงก่อนอาทิตย์จะตกดิน
ชายหนุ่มสองรายกำลัง
เดินป้วนเปี้ยนหามุมภาพสุดเจ๋ง ได้หันไปมองป้ายที่วางหลบมุมอยู่นั่นแล้วทำทียักไหล่

"ไม่มีปัญหาหรอกน่า"

 

 


ความลับที่หลบซ่อนอยู่ด้านในอาคาร

หนึ่งวันถัดจากนั้น เมื่อได้เดินกลับขึ้นมายังเนินเขาบริเวณนี้อีกครั้งก่อนบ่ายสี่  มีชายคนหนึ่งสวมชุดวอร์ม
รองเท้าผ้าใบ เหมือนว่า
เตรียมตัวไปเล่นกีฬา ใส่หมวกปีกกันแดด นั่งอยู่อย่างเงียบ ๆ นานมาก เขามีกระติก
น้ำร้อนใบใหญ่วางไว้ข้างตัว เดาว่าน่าจะเป็นนักท่องเที่ยวขึ้นใช้เวลา
นั่งชมทิวทัศน์ของหมู่บ้านในมุมสูง

เราเดินขึ้นไปถึงยังด้านบนและผ่านพี่นักท่องเที่ยวรายนั้น ก็หันไปทักทายตามมารยาท ก่อนเลี้ยวไปชะโงก
ดูทางเข้าอาคารลึกลับนั่น ด้านในก็ไม่มีอะไรเลยนี่นา ถ้าไม่นับเสาไม้และธงมนตรา


"อยากเข้าไปดูด้านในมั้ย เดี๋ยวไขกุญแจให้"

 

ชายที่เราทึกทักไปเองว่าเป็นนักท่องเที่ยว ที่แท้ก็เป็นคนดูแลสถานที่นั่นเอง
 

มีห้องที่อยู่ลึกไปจากนี้อีกเหรอเนี่ย? หลังจากเพ่งมองดี ๆ แล้วก็จะเจอกับประตูไม้ที่ปิดทางเข้า
ข้างในสองห้อง ทำให้เพิ่งรู้ว่าอาคารลึกลับบนหน้าผานี้เรียกว่า
 Cave Shrine ถูกสร้างขึ้นใน
ช่วง
ศตวรรษที่ 15 มีภาพวาดบนฝนังปูนฯ เช่นเดียวกับวัดด้านล่าง มีองค์พระตั้งไว้ที่ห้องหนึ่ง 
ไม่สามารถเก็บภาพได้เช่นเคย เว้นแต่ตัวอาคารด้านนอก



⭗ ด้านในที่ดูว่างเปล่า แต่มีห้องลับที่ล็อคกุญแจไว้



พื้นที่รอบนอกส่วนนี้สามารถถ่ายรูปได้  
 

⭗ ผู้ดูแล Cave Shrine อาคารด้านบนเนินเขา



"เมื่อวานนี้มีนักท่องเที่ยวหลายคนขึ้นเดินบนดาดฟ้าเยอะเลย"

ดูเหมือนคนขี้ฟ้องเนาะ แต่ก็อยากบอกแหละ
บางคนก็ไม่เห็นป้าย บางคนก็ทำเป็นไม่สนใจ


ผู้ดูแลยิ้ม ๆ และพยักหน้าตอบรับ เหมือนเข้าใจว่าเรื่องแบบนี้ห้ามกันยาก
ยิ่งหลังจากพ้นช่วงสี่โมงเย็นไปแล้ว ตัวเขาก็ไม่ได้มานั่งเฝ้าพื้นที่ตรงนี้ต่อ



ไม่รู้ว่านอกเหนือไปจากตรงนี้ตรงถ้ำอื่น ๆ จะภาพวาดยุคเก่าแก่บนฝนังแบบนี้หลบซ่อนอีกมั้ย
เราพยายามเดินสำรวจโพรงถ้ำทางบนเนินเขาด้านทิศตะวันตกเท่าที่จะไปได้ เส้นทางที่ไม่ได้ทำไว้
สำหรับให้คนนอกเข้าถึงง่าย ๆ ก็จะเดินยากแบบนี้ อยากรู้มากว่าโพรงด้านบนที่อยู่สูง ๆ บรรดาพระ
ที่ขึ้นมานั่งสมาธิจะใช้สกิลในการปีนขึ้นไปยังไงกันนะ? นี่คือข้อสงสัยที่ผุดคิดขึ้นในใจมาจากคน
ที่มีพื้นเพถิ่นฐานที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลแค่ไม่กี่เมตร 





⭗ โพรงถ้ำบริเวณเนินเขาทางด้านทิศตะวันตก

มุมจากถ้ำเล็ก ๆ ที่แวะไปส่อง ข้างในเหมือนมีโพรงเจาะทะลุขึ้นไปข้างบนได้ด้วย แอบลองปีนขึ้นแล้วแต่ก็ล้มเลิก


 

เจ้หยาง (อีกครั้ง)

หลังจากหัวเสียกับนายสองคนนั่นเมื่อวานนี้ เราได้ใช้เวลาอยู่บนเขานานเท่าที่อยากจะทำ หลังดวงอาทิตย์
พ้นหายไปจากหุบเขา ที่ด้านบนนี้ก็เหลือ
ผู้คนไม่กี่ราย หญิงต่างชาติที่นั่งเล่นอยู่บนม้านั่งสีเขียวกำลังพูดคุย
อยู่
กับนักท่องเที่ยวชาวอินเดียสองคนนั่น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลของหมู่บ้าน Nako จุดหมายถัดไป 

ไม่ได้แอบฟังนะ แต่ได้ยินแว่ว ๆ ว่ามีแผนจะไปอยู่ที่นั่นถึงห้าวัน!!!


ทำทีเดินโฉบไปให้พอเห็นหน้าค่าตา ก่อนลงไปจากเนินเขา
หยางตะโกนเรียกให้เราต้องหันกลับ “ไทยแลนด์ เธอลืมของไว้บนรถเมื่อวานนี้”
เธอชูผ้าบัฟกันแดดที่ทำร่วงลงพื้น ขณะยกเป้เดินลงจากรถโดยสารที่จอดเลยทาง
ลัดขึ้น Dhankar ไปไกลโขแล้วนั่นเอง...ขอบคุณมากที่เจ้ยังเก็บไว้ให้ ได้รับของคืน
แล้วก็แยกเดินไปที่อื่นต่อ

 

พวกเราได้เจอกันอีกที บริเวณหน้าเจดีย์องค์ขาวที่มีม้านั่ง หยางตามมาถามว่าโกรธเธอ
หรือปล่าว ที่ทำให้พลาดเรื่องการลงรถจนต้องเดินไปไกลกว่าที่ควรจะเป็น 
หยางไม่ใช่
คนพื้นที่เธอจะไปรู้อะไร ไม่รู้ว่าทำไมจะต้องเคือง

"ฉันไม่เข้าใจว่า ทำไมนายคนนั้นไม่ยอมบอกจุด
ลงรถให้เธอรู้" 
หยางพูดถึงบุคคลต้นเหตุและแอบคิดว่าเราจะพาลโกรธเธอไปด้วย


หยางวางแผนจะเดินทางต่อในวันรุ่งขึ้น และคงอยากสะสางเรื่องค้างคาใจให้จบ
ก่อนจะชวนไปดูที่พักใหม่ที่อยู่ไม่ไกลไปจากนี้เท่าไหร่ ทั้งหลอกล่อว่าจะเอาขนม
มาแบ่งให้ 


"แล้วนายโปรตุเกสล่ะ?" จากเหตุการณ์ไม่มีรถโดยสารวิ่ง ทำให้เจ้หยางเปลี่ยนใจ
พักอยู่ที่หมู่บ้านนี้อีกวัน แต่ในขณะเดียวกันคนโปรตุเกสกลับเลือกที่จะไปต่อ

 

"เขาว่าจะพยายามโบกรถไปเรื่อย ๆ" หยางตอบ

 

"นึกว่าจะเดินไปซะอีก!" เรารู้ว่านายโปรตุเกสเป็นพวกบ้าเดินแค่ไหน
เขาเดินทางจาก Komic-Demul-Lalung และต่อด้วย Dhankar ด้วยตัวเอง

นับว่ายังดีที่ไม่เล่นย่ำเท้าไปทีละก้าว ๆ มาจนถึง Tabo และไปต่อที่ Nako
ตามที่มโนไว้

 

"ไม่มีทาง" หยางรับหน้าที่เป็นโฆษกฯ รีบแก้ต่างให้ทันที

"เขาบอกไม่มีเวลามากแล้ว ต้องรีบออกไปให้ทันเที่ยวบิน!"



 


 

[เพิ่มเติม]  

+++Tabo Old Monastery ไม่มีการเก็บค่าเข้าชมสถานที่ 
+++ ปี 1975 หลังเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เขต Kinnaur
โบราณสถานส่วนนี้ได้รับผลกระทบไปด้วย จึงต้องมีการบูรณะใหม่
+++พื้นที่ภายในของวัดอื่น ๆ จะเป็นในลักษณะห้องเดียว ไม่ซับซ้อนเท่ากับ Main Temple
รายละเอียดของงานวาดบนผนัง มีความแตกต่างกันไปตามยุคสมัย ภาพบางส่วนสามารถ
เข้าไปชมที่เว็บไซต์ : TaboMonastery.org
 ตรง Old Monastery site ได้นะคะ

+++ภาพถ่ายและคลิปทำสำหรับสารคดีที่เคยมีผู้ขออนุญาตเข้าไปใน Main Temple เมื่อปี 2013
https://www.evaleestudio.com/2013/11/02/tabo-monastery-vajradhatu-mandala-splendor/



+++The Himalayan Musician



https://www.youtube.com/watch?v=p08HTl9gbgw

เครื่องดนตรีท้องถิ่น ภาพบันทึกใน Tabo และผู้เล่าเรื่องชาวสปิติ
สารคดีสั้นผ่านการบันทึกบนช่องยูทูป : 
Vishal B   

เรื่องของเรื่องก็คือคุณ Chhering ผู้เล่นเครื่องดนตรี Kokpo นี่คล้ายกับผู้ดูแลวัดที่นั่งโต๊ะประจำการด้านใน 
Temple of the Master มาก!..คนเดียวกันมั้ยไม่รู้ หน้าทรงเดียวกันเลย (คลิปนี้เผยแพร่ในเดือน มี.ค. 2020)
แถมยังได้เห็นความคืบหน้าของลานพื้นไม้ตรงวัดเก่า ที่ดูเหมือนจะทำเสร็จเรียบร้อยแล้วอีกด้วย ^^  


 




 

Create Date : 08 สิงหาคม 2566
8 comments
Last Update : 27 ธันวาคม 2566 21:47:17 น.
Counter : 1165 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณSweet_pills, คุณอุ้มสี, คุณทุเรียนกวน ป่วนรัก

 

คุณฟ้าเขียนได้ละเอียด มีความจำเยี่ยม... ภาพกับคำบรรยาย
ดูเวิงว้างน่ากลัวถ้าไปคนเดียว

ไม่ได้เจอคุณฟ้าน่าจะตั้งแต่ ไปร่วมงานที่เมืองโบราณสมุทรปราการ.. เห็นคุณฟ้าอัพบล๊อกก็ดีใจคงเหมือนเพื่อน ๆ
ที่เคยเขียนบล๊อกในระยะนั้น ตอนนี้ยังเหนียวแน่นไม่กี่คนครับ
555

 

โดย: ไวน์กับสายน้ำ 9 สิงหาคม 2566 5:18:13 น.  

 

@ไวน์และสายน้ำ : "ภาพกับคำบรรยาย
ดูเวิงว้างน่ากลัวถ้าไปคนเดียว"

เอ.. เนื้อความสื่อไปในทิศทางนั้นเหรอคะ?
หรือคุณไวน์ดูแค่ภาพแล้วคิดไปเอง

เสียใจมากจริง ๆ ค่ะ
ที่ไม่สามารถอธิบายสิ่งที่อยากเล่า
ให้ผู้อ่านเข้าใจตรงตามเจตนาได้

 

โดย: กาบริเอล 13 สิงหาคม 2566 18:58:40 น.  

 

น้ำมันมะกอกที่พี่ต๋าใช้ทำน้ำสลัด
เป็นขวดในภาพเลยค่ะน้องฟ้า
ขอบคุณน้องฟ้าที่แวะชมเมนูบ้านพี่ต๋านะคะ
และขอบคุณสำหรับบันทึกทริปท่องเที่ยว
ที่โอกาสจะสัมผัสในชีวิตจริงไม่ง่ายเลยค่ะ


 

โดย: Sweet_pills 15 สิงหาคม 2566 0:42:37 น.  

 

ตามน้องฟ้ามาอ่าน

 

โดย: อุ้มสี 16 สิงหาคม 2566 10:03:23 น.  

 

กลับมาย้อนอ่านตอนก่อนหน้านู้น(นนนนน)ถึงค่อยรู้เรื่องซะที


รอรถกลางทางก็ลำบากหน่อย ไม่รู้ข่าวสารว่ารถวิ่ง-ไม่วิ่งเลย
นี่ก็สงสัยอยู่ ถ้าไม่มีรถคนนั้นบังเอิญผ่านมา
คุณฟ้าอาจจะเดินไปเรือย ๆ จนถึง Kaza เลยมั้ง ^^"


พวกชื่อสถานที่ต่าง ๆ ถึงจะอ่านยาก แต่ก็พอเดาการออกเสียงได้บ้าง
แต่พอมาเจอชื่อแบบ "gTug Lha Khang" หรือ "dKyil khang"
อะไรแบบนี้เดาการออกเสียงไม่ถูกเลย
กด Google transtale แล้วก็ยังไม่รู้ว่าจะออกเสียงว่าอะไรดี
แต่วิหารที่นี่น่าจะมีความสำคัญมากเหมือนกัน
ขนาดที่ว่าทะไลลามะมาเยือนตั้งหลายครั้งแน่ะ


คุณหยางนี่ดูเป็นคนดีและก็เป็นคนขี้เกรงใจเนอะ
นอกจากตามมาเคลียร์ใจแล้วยังอุตส่าห์เก็บของไว้ให้อีก

 

โดย: ทุเรียนกวน ป่วนรัก 25 พฤศจิกายน 2566 22:44:31 น.  

 

(เก็บตกนิดนึง)

รูปและบันทึกเกี่ยวกับ Main Temple ที่คุณฟ้าจดมา
ขนาดสถานที่ไม่อำนวยกับการเขียนเท่าไหร่
แต่ก็จดรายละเอียดต่าง ๆ มาดีมากเลย

 

โดย: ทุเรียนกวน ป่วนรัก 25 พฤศจิกายน 2566 22:56:44 น.  

 

ป.ล. ข้างบนเขียนผิด ไม่ใช่เดินไป Kaza แต่เป็น Tabo แหะ ๆ ^^"

(ถ้าเป็น Kaza ป่านนี้คุณฟ้าเดินทะลุผ่านไปอียิปต์แล้ว )

 

โดย: ทุเรียนกวน ป่วนรัก 25 พฤศจิกายน 2566 23:08:07 น.  

 

@ทุเรียนกวนฯ :

แต่พอมาเจอชื่อแบบ "gTug Lha Khang"
หรือ "dKyil khang"อะไรแบบนี้เดาการออกเสียงไม่ถูกเลย

คร่าว ๆ ว่าใช้เทียบการออกที่ถอดมาจากอักษรทิเบตที่มันอาจจะ
มีเสียงเฉพาะไรงี้ ตัวเล็กที่เขียนกำกับไว่ด้านหน้าบางครั้งก็ไม่ได้
ออกเสียงจนครบหรอก

ที่ Main Temple เป็นเหมือนวิหารที่ใช้ประกอบพิธีแล้วก็เป็นจุด
เริ่มต้นที่สร้างวัด Tabo ขึ้นมาเป็นส่วนแรก เลยดูขลังเป็นพิเศษ

 

โดย: กาบริเอล (ไม่ได้ Log-in) IP: 1.46.150.115 7 ธันวาคม 2566 9:12:38 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


BlogGang Popular Award#20


 
กาบริเอล
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 58 คน [?]




ชอบต้นไม้, แมว, หนังสือ
ออกเดินทางท่องเที่ยวตามโอกาส
และเคยมีลูกค้างคาวในอุปการะหนึ่งตัว

การเขียนบล็อก
คืออีกพื้นที่บอกเล่าผ่านตัวอักษร
และตัวตนของเราก็อยู่ในสิ่งที่เขียนค่ะ

ขอบคุณ Bloggang
สำหรับพื้นที่แบ่งปันตรงนี้

....

เริ่มต้นลงบันทึกอย่างเป็นทางการ
ณ วันที่ 16 ม.ค. 2014

###ไม่ได้ใช้ Facebook แล้วนะคะ###

© ขอสงวนลิขสิทธิ์ ภาพถ่าย 
ห้ามนำไปใช้ ดัดแปลง แก้ไข 
โดยไม่แจ้งที่มา ก่อนได้รับอนุญาต


New Comments
Friends' blogs
[Add กาบริเอล's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.