สัตตกะ คือ หมวด ๗
- อปริหานิยธรรม ๗ อย่าง
ธรรมไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม เป็นไปเพื่อความเจริญฝ่ายเดียว ชื่อว่า อปริหานิยธรรม มี ๗ อย่าง คือ :-
- ๑. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์.
- ๒. เมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกประชุม ก็พร้อมเพรียงกันเลิก และพร้อมเพรียงกันช่วยทำกิจที่สงฆ์จะต้องทำ.
- ๓. ไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่บัญญัติขึ้น ไม่ถอนสิ่งที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้แล้ว สาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบทตามที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้.
- ๔. ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่เป็นประธานในสงฆ์ เคารพนับถือภิกษุเหล่านั้น เชื่อฟังถ้อยคำของท่าน.
- ๕. ไม่ลุอำนาจแก่ความอยากที่เกิดขึ้น.
- ๖. ยินดีในเสนาสนะป่า.
- ๗. ตั้งใจอยู่ว่า เพื่อนภิกษุสามเณรซึ่งเป็นผู้มีศีล ซึ่งยังไม่มาสู่อาวาส ขอให้มา ที่มาแล้ว ขอให้อยู่เป็นสุข.
ธรรม ๗ อย่างนี้ ตั้งอยู่ในผู้ใด ผู้นั้นไม่มีความเสื่อมเลย มีแต่ความเจริญฝ่ายเดียว.
-
-
- องฺ. สตฺตก. ๒๓/๒๑.
- อริยทรัพย์ ๗
ทรัพย์ คือ คุณความดีที่มีในสันดานอย่างประเสริฐ เรียก อริยทรัพย์ มี ๗ อย่าง คือ :-
- ๑. สัทธา เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ.
- ๒. สีล รักษา กาย วาจา ให้เรียบร้อย.
- ๓. หิริ ความละอายต่อบาปทุจริต.
- ๔. โอตตัปปะ สะดุ้งกลัวต่อบาป.
- ๕. พาหุสัจจะ ความเป็นคนเคยได้ยินได้ฟังมามาก คือจำทรงธรรมและรู้ศิลปวิทยามาก.
- ๖. จาคะ สละให้ปันสิ่งของของตนแก่คนที่ควรให้ปัน.
- ๗. ปัญญา รอบรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์.
อริยทรัพย์ ๗ ประการนี้ ดีกว่าทรัพย์ภายนอก มีเงินทองเป็นต้น ควรแสวงหาไว้มีในสันดาน.
-
-
- องฺ. สตฺตก. ๒๓/๕.
- สัปปุริสธรรม ๗ อย่าง
ธรรมของสัตบุรุษ เรียกว่า สัปปุริสธรรม มี ๗ อย่าง คือ :-
- ๑. ธัมมัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเหตุ เช่นรู้จักว่า สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งสุข สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์.
- ๒. อัตถัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักผล เช่นรู้จักว่า สุขเป็นผลแห่งเหตุอันนี้ ทุกข์เป็นผลแห่งเหตุอันนี้.
- ๓. อัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักตนว่า เราว่าโดยชาติ ตระกูล ยศ ศักดิ์ สมบัติ บริวาร ความรู้ และคุณธรรมเพียงเท่านี้ ๆ แล้วประพฤติ ตนให้สมควรแก่ที่เป็นอยู่อย่างไร.
- ๔. มัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้ประมาณ ในการแสวงหาเครื่องเลี้ยงชีวิตแต่โดยทางที่ชอบ และรู้จักประมาณในการบริโภคแต่พอควร.
- ๕. กาลัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลาอันสมควรในอันประกอบกิจนั้น ๆ.
- ๖. ปริสัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประชุมชน และกิริยาที่จะต้องประพฤติต่อประชุมชนนั้น ๆ ว่า หมู่นี้เมื่อเข้าไปหา จะต้องทำกิริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ เป็นต้น.
- ๗. ปุคคลปโรปรัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักเลือกบุคคลว่า ผู้นี้เป็นคนดีควรคบ ผู้นี้เป็นคนไม่ดี ไม่ควรคบ เป็นต้น.
-
-
- องฺ. สตฺตก. ๒๓/๑๑๓.
- สัปปุริสธรรมอีก ๗ อย่าง
- ๑. สัตบุรุษประกอบด้วยธรรม ๗ ประการ คือ มีศรัทธา มีความละอายต่อบาป มีความกลัวต่อบาป เป็นคนได้ยินได้ฟังมาก เป็นคนมีความเพียร เป็นคนมีสติมั่นคง เป็นคนมีปัญญา.
- ๒. จะปรึกษาสิ่งใดกับใคร ๆ ก็ไม่ปรึกษาเพื่อจะเบียดเบียนตนและผู้อื่น.
- ๓. จะคิดสิ่งใดก็ไม่คิดเพื่อจะเบียดเบียนตนและผู้อื่น.
- ๔. จะพูดสิ่งใดก็ไม่พูดเพื่อจะเบียดเบียนตนและผู้อื่น.
- ๕. จะทำสิ่งใดก็ไม่ทำเพื่อจะเบียดเบียนตนและผู้อื่น.
- ๖. มีความเห็นชอบ มีเห็นว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วเป็นต้น.
- ๗. ให้ทานโดยเคารพ คือเอื้อเฟื้อแก่ของที่ตัวให้ และผู้รับทานนั้น ไม่ทำอาการดุจทิ้งเสีย.
-
-
- นัย. ม. อุป. ๑๔/๑๑๒.
- โพชฌงค์ ๗
- ๑. สติ ความระลึกได้.
- ๒. ธัมมวิจยะ ความสอดส่องธรรม.
- ๓. วิริยะ ความเพียร.
- ๔. ปีติ ความอิ่มใจ.
- ๕. ปัสสัทธิ ความสงบใจและอารมณ์.
- ๖. สมาธิ ความตั้งใจมั่น.
- ๗. อุเปกขา ความวางเฉย.
เรียกตามประเภทว่า สติสัมโพชฌงค์ไปโดยลำดับจนถึงอุเปกขาสัมโพชฌงค์.
-
-
- สํ. มหา. ๑๙/๙๓.