ปัญจกะ คือ หมวด ๕
- อนันตริยกรรม ๕
- ๑. มาตุฆาต ฆ่ามารดา.
- ๒. ปิตุฆาต ฆ่าบิดา.
- ๓. อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์.
- ๔. โลหิตุปบาท ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้นไป.
- ๕. สังฆเภท ยังสงฆ์ให้แตกจากกัน.
กรรม ๕ อย่างนี้ เป็นบาปอันหนักที่สุด ห้ามสวรรค์ ห้ามนิพพาน ตั้งอยู่ในฐานปาราชิกของผู้ถือพระพุทธศาสนา ห้ามไม่ให้ทำเป็นเด็ดขาด.
-
-
- องฺ. ปฺจก. ๒๒/๑๖๕.
- อภิณหปัจจเวกขณ์ ๕
- ๑. ควรพิจารณาทุกวัน ๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้.
- ๒. ควรพิจารณาทุกวัน ๆ ว่า เรามีความเจ็บเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไปได้.
- ๓. ควรพิจารณาทุกวัน ๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้.
- ๔. ควรพิจารณาทุกวัน ๆ ว่า เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น.
- ๕. ควรพิจารณาทุกวัน ๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตัว เราทำดีจักได้ดี ทำชั่วจักได้ชั่ว.
-
-
- องฺ. ปฺจก. ๒๒/๘๑.
- เวสารัชชกรณธรรม คือ ธรรมทำความกล้าหาญ ๕ อย่าง
- ๑. สัทธา เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ.
- ๒. สีล รักษากายวาจาให้เรียบร้อย.
- ๓. พาหุสัจจะ ความเป็นผู้ศึกษามาก.
- ๔. วิริยารัมภะ ปรารภความเพียร.
- ๕. ปัญญา รอบรู้สิ่งที่ควรรู้.
-
-
- องฺ. ปฺจก. ๒๒/๑๔๔.
- องค์แห่งภิกษุใหม่ ๕ อย่าง
- ๑. สำรวมในพระปาติโมกข์ เว้นข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม ทำตามข้อที่ทรงอนุญาต.
- ๒. สำรวมอินทรีย์ คือ ระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ความยินดียินร้ายครอบงำได้ ในเวลาที่เห็นรูปด้วยนัยน์ตาเป็นต้น.
- ๓. ความเป็นคนไม่เอิกเกริกเฮฮา.
- ๔. อยู่ในเสนาสนะอันสงัด.
- ๕. มีความเห็นชอบ.
ภิกษุใหม่ควรตั้งอยู่ในธรรม ๕ อย่างนี้.
-
-
- องฺ. ปฺจก. ๒๒/๑๕๕.
- องค์แห่งธรรมกถึก คือ นักเทศก์ ๕ อย่าง
- ๑. แสดงธรรมไปโดยลำดับ ไม่ตัดลัดให้ขาดความ.
- ๒. อ้างเหตุผลแนะนำให้ผู้ฟังเข้าใจ.
- ๓. ตั้งจิตเมตตาปรารถนาให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง.
- ๔. ไม่แสดงธรรมเพราะเห็นแก่ลาภ.
- ๕. ไม่แสดงธรรมกระทบตนและผู้อื่น คือว่า ไม่ยกตนเสียดสีผู้อื่น.
ภิกษุผู้เป็นธรรมกถึก พึงตั้งองค์ ๕ อย่างนี้ไว้ในตน.
-
-
- องฺ. ปฺจก. ๒๒/๒๐๖.
- ธัมมัสสวนานิสงส์ คือ อานิสงส์แห่งการฟังธรรม ๕ อย่าง
- ๑. ผู้ฟังธรรมย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง.
- ๒. สิ่งใดได้เคยฟังแล้ว แต่ไม่เข้าใจชัด ย่อมเข้าใจสิ่งนั้นชัด.
- ๓. บรรเทาความสงสัยเสียได้.
- ๔. ทำความเห็นให้ถูกต้องได้.
- ๕. จิตของผู้ฟังย่อมผ่องใส.
-
-
- องฺ. ปฺจก. ๒๒/๒๗๖.
- พละ คือธรรมเป็นกำลัง ๕ อย่าง
- ๑. สัทธา ความเชื่อ.
- ๒. วิริยะ ความเพียร.
- ๓. สติ ความระลึกได้.
- ๔. สมาธิ ความตั้งใจมั่น.
- ๕. ปัญญา ความรอบรู้.
อินทรีย์ ๕ ก็เรียก เพราะเป็นใหญ่ในกิจของตน.
-
-
- องฺ. ปฺจก. ๒๒/๑๑.
- นิวรณ์ ๕
ธรรมอันกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี เรียกนิวรณ์ มี ๕ อย่าง
- ๑. พอใจรักใคร่ในอารมณ์ที่ชอบใจมีรูปเป็นต้น เรียกกามฉันท์.
- ๒. ปองร้ายผู้อื่น เรียกพยาบาท.
- ๓. ความที่จิตหดหู่และเคลิบเคลิ้ม เรียกถีนมิทธะ.
- ๔. ฟุ้งซ่านและรำคาญ เรียกอุทธัจจกุกกุจจะ.
- ๕. ลังเลไม่ตกลงได้ เรียกวิจิกิจฉา.
-
-
- องฺ. ปฺจก. ๒๒/๗๒.
- ขันธ์ ๕
กายกับใจนี้ แบ่งออกเป็น ๕ กอง เรียกว่าขันธ์ ๕
๑. รูป ๒. เวทนา ๓. สัญญา ๔. สังขาร ๕. วิญญาณ.
ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ประชุมกันเป็นกายนี้ เรียกว่ารูป.
ความรู้สึกอารมณ์ว่า เป็นสุข คือ สบายกายสบายใจ หรือเป็นทุกข์ คือไม่สบายกายไม่สบายใจ หรือเฉย ๆ คือไม่ทุกข์ไม่สุข เรียกว่าเวทนา.
ความจำได้หมายรู้ คือ จำรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อารมณ์ที่เกิดกับใจได้ เรียกว่าสัญญา.
เจตสิกธรรม คือ อารมณ์ที่เกิดกับใจ (๑) เป็นส่วนดี เรียกกุศล เป็นส่วนชั่ว เรียกอกุศล เป็นส่วนกลาง ๆ ไม่ดีไม่ชั่ว เรียกอัพยากฤต เรียกว่าสังขาร.
ความรู้อารมณ์ในเวลาเมื่อรูปมากระทบตาเป็นต้น เรียกว่าวิญญาณ.
ขันธ์ ๕ นี้ ย่นเรียกว่า นาม รูป. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รวมเข้าเป็นนาม รูปคงเป็นรูป.
อภิ. วิภงฺค. ๓๕/๑.
๑. ความคิด หรือเรื่องราวที่เรียกว่าธรรมะหรือธรรมารมณ์ เรียกว่า สังขาร.