ปัญจกะ
ประโยชน์เกิดแต่การถือโภคทรัพย์ ๕ อย่าง
แสวงหาโภคทรัพย์ได้โดยทางที่ชอบแล้ว
- ๑. เลี้ยงตัว มารดา บิดา บุตร ภรรยา บ่าวไพร่ ให้เป็นสุข.
- ๒. เลี้ยงเพื่อนฝูงให้เป็นสุข.
- ๓. บำบัดอันตรายที่เกิดแต่เหตุต่าง ๆ.
- ๔. ทำพลี ๕ อย่าง คือ
- ก. ญาติพลี สังเคราะห์ญาติ.
- ข. อติถิพลี ต้องรับแขก.
- ค. ปุพพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย.
- ฆ. ราชพลี ถวายเป็นหลวง มีภาษีอากรเป็นต้น.
- ง. เทวตาพลี ทำบุญอุทิศให้เทวดา.
- ๕. บริจาคทานในสมณะพราหมณ์ผู้ประพฤติชอบ.
-
-
- องฺ. ปญฺจก. ๒๒/๔๘.
ศีล ๕
- ๑. ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป.
- ๒. อทินนาทานา เวรมณี เว้นจากถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ด้วยอาการแห่งขโมย.
- ๓. กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี เว้นจากประพฤติผิดในกาม.
- ๔. มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากพูดเท็จ.
- ๕. สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี เว้นจากดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท.
ศีล ๕ ประการนี้ คฤหัสถ์ควรรักษาเป็นนิตย์.
-
-
- องฺ. ปญฺจก. ๒๒/๒๒๖.
มิจฉาวณิชชา คือการค้าขายไม่ชอบธรรม ๕ อย่าง
- ๑. ค้าขายเครื่องประหาร.
- ๒. ค้าขายมนุษย์.
- ๓. ค้าขายสัตว์เป็นสำหรับฆ่าเพื่อเป็นอาหาร.
- ๔. ค้าขายน้ำเมา.
- ๕. ค้าขายยาพิษ.
การค้าขาย ๕ อย่างนี้ เป็นข้อห้ามอุบาสกไม่ให้ประกอบ.
-
-
- องฺ. ปญฺจก. ๒๒/๒๓๒.
สมบัติของอุบาสก ๕ ประการ
- ๑. ประกอบด้วยศรัทธา.
- ๒. มีศีลบริสุทธิ์.
- ๓. ไม่ถือมงคลตื่นข่าว คือเชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล.
- ๔. ไม่แสวงหาเขตบุญนอกพุทธศาสนา.
- ๕. บำเพ็ญบุญแต่ในพุทธศาสนา.
อุบาสกพึงตั้งอยู่ในสมบัติ ๕ ประการ และเว้นจากวิบัติ ๕ ประการ ซึ่งวิปริตจากสมบัตินั้น.
-
-
- องฺ. ปญฺจก. ๒๒/๒๓๐.