จงทำสิ่งที่คุณทำได้...ด้วยสิ่งที่คุณมี...ณ จุดที่คุณยืนอยู่ - ธีโอดอร์ รูสเวลท์
Uploaded with ImageShack.us
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2549
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
3 ธันวาคม 2549
 
All Blogs
 

ห่างไกล ไม่ห่างกัน (10)

สวัสดีทุกท่านที่เข้ามาอ่าน


ผมนำบันทึกที่เขียนถึงลูกเมื่อก่อนหน้านี้มาขัดเกลาตัดต่อเพิ่มเติม
ขยับปรับแต่งเรียบเรียงเรียบร้อยแล้วมาให้อ่านกันเล่น

แต่สิ่งที่ยังคงอยู่เหมือนเดิมก็คือเรื่องราวความจริงและความรัก
ของพ่อที่อยู่ไกลบ้านคนหนึ่ง


ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดก็คงได้เห็นหนังสือชื่อ "ห่างไกล ไม่ห่างกัน"
ในไม่ช้าไม่นานนี้



ด้วยมิตรภาพ


---------------------------------------

(10)



พเยีย ลูกรัก


เรื่องราวต่างๆที่พ่อเขียนบันทึกถึงลูกนี้ จุดประสงค์ก็เพื่อต้องการให้ลูกได้อ่านและรับรู้. ส่วนลูกจะอ่านหรือไม่ก็ไม่เป็นไร เพราะลูกยังมีหน้าที่อื่นๆต้องทำอีกมากมาย

การเขียนบันทึกในอินเตอร์เน็ตนอกจากจะได้ฝากความรักความคิดถึงถึงลูกแล้ว พ่อยังได้เขียนเล่าเรื่องราวต่างๆที่พ่ออยากเล่าให้ลูกฟัง ซึ่งถ้าพ่อเล่าปากเปล่าลูกอาจจะไม่ทนนั่งฟังก็ได้ และผลพลอยได้ที่ตามมาคือทำให้พ่อได้รู้จักกับคนอื่นๆอีก การได้เขียนหนังสือด้วยการใช้คีย์บอร์ดทำให้พ่อใช้คอมพิวเตอร์ชำนาญขึ้นและได้ซ้อมความคิดพร้อมที่จะทำงานได้อยู่เสมอ การเขียนบันทึกในอินเตอร์เน็ตของพ่อไม่มีอะไรเสียหาย มีแต่ได้กับได้เท่านั้น

บ้านพักหลังนี้จึงถือว่าเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศการทำงานและการดำเนินชีวิตในแต่ละวันของพ่อ คำว่าบรรยากาศในที่นี้พ่อหมายถึงสิ่งที่อยู่รอบๆตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นสภาพภูมิอากาศ บ้านเรือนที่อยู่อาศัย สิ่งของเครื่องใช้ เครื่องประดับตกแต่งห้อง ไปจนถึงผู้คนรอบข้าง ฯลฯ

ตอนแรกพ่อเองก็ไม่ได้ตั้งใจว่าจะติดรูปภาพอะไรในห้องมากมายนัก แต่เมื่อค่อยๆแขวนกรอบรูปติดฝาผนังเพิ่มขึ้นทีละรูปสองรูป ความรู้สึกของพ่อก็แตกต่างจากเมื่อนั่งอยู่ในห้องที่มีฝาผนังว่างเปล่า

ตอนที่พ่อย้ายมาจากบ้านเช่าหลังเล็กๆริมแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานีนั้น ข้าวของส่วนหนึ่งก็คือหนังสือที่ทยอยขนมาทีละเล็กละน้อยและอีกส่วนหนึ่งคือกรอบรูปที่ใส่รูปนักเขียน หนังสือนั้นถือว่าเป็นอาหารทางสมอง ส่วนกรอบรูปใส่รูปนักเขียนนั้นถือว่าเป็นของเล่นทางใจชนิดหนึ่ง

รูปภาพที่พ่อชอบและเคยสะสมไว้ เป็นรูปที่พ่อถ่ายไว้บ้าง เป็นรูปเขียนที่เพื่อนฝูงคนเขียนรูปให้มา และอีกส่วนหนึ่งพ่อตัดรูปสวยๆมาจากหนังสือหรือปฏิทิน ไม่จำเป็นจะต้องเป็นต้นฉบับจริงจากศิลปินเสมอไป

นอกเหนือจากภาพถ่ายภาพเขียนสวยๆแล้ว พ่อยังมีภาพของบุคคลซึ่งเป็นนักเขียนและกวีทั้งไทยและต่างประเทศใส่กรอบไว้ประดับฝาผนังห้องหลายคนแล้ว พ่อจะเล่าให้ฟังว่ามีรูปใครบ้าง

พ่อมีรูปของ John Steinbeck, F. Scott Fitzgerald, Ralp Waldo Emerson, Edgar Allan Poe, Mark Twain, Walt Whitman รูปนักเขียนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นรูปเล็กๆที่ได้มาจากหนังสือเก่า

รูปของ William Faulkner ที่พ่อตัดเก็บจากนิตยสาร “โลกหนังสือ” มาหลายปีแล้ว เป็นรูปที่ใส่หมวกแล้วคาบไป๊ป์ ข้างล่างมีประโยคคำพูดของเขาที่ว่า “ไม่มีอะไรจะทำร้ายงานของนักเขียนคนใดได้ ถ้าหากเขาเป็นนักเขียนชั้นหนึ่ง แต่ถ้าเขาไม่ใช่ก็ไม่มีอะไรจะไปช่วยเขาได้”

รูปนักเขียนที่อยู่ในแสตมป์ 100 ปีนักเขียนไทย 4 ท่าน คือ ดอกไม้สด, ไม้ เมืองเดิม, ศรีบูรพา, หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง พ่อนำมาใส่กรอบเล็กๆแขวนประดับห้องสวยงามดี รูปชาติ กอบจิตติ นั่งดื่มนมที่โต๊ะนักเรียน รูปนี้เป็นปกนิตยสาร a day

รูป สมพงษ์ ทวี’ ในชุดสูทสีชมพู (pink man) ในมือถือดอกกุหลาบมีสาวสวยหอมแก้มอย่างหวานชื่น ฉากหลังเป็นหอไอเฟล ในกรุงปารีส และมีรูปขาวดำ อิ๋ง (คนเขียนเรื่อง “ข้างหลังโปสการ์ด”) น้ำตาไหลอาบแก้มถึงลำคอ ทั้งสองรูปนี้เป็นฝีมือของ มานิต ศรีวานิชภูมิ

รูป ปราบดา หยุ่น กำลังยืนมาดเท่มองปืนที่วางอยู่ที่พื้นแล้วมีตัวหนังสือเขียนว่า “คนเราต้องการบางอย่างในการมีชีวิตอยู่ และบางอย่างที่ว่านั้น ส่วนมากก็คือความรัก”

รูปนู้ดนักเขียนผู้หญิงยุคใหม่ชื่อ คำ ผกา พ่อเคยอ่านงานเขียนของเธอมาพอสมควร พ่อตัดมาจากหนังสือ GM เห็นว่า “แสง-เงา” สวยดีก็เลยตัดมาใส่กรอบไว้

ในบรรดารูปนักเขียนทั้งหมดที่พ่อมี รูปที่มีค่าทางความรู้สึกที่สุดสำหรับพ่อก็คือรูปของสุวรรณี สุคนธา เพราะเป็นรูปนักเขียนคนแรกที่พ่อใส่กรอบติดบ้านไว้นานราว 20 ปีแล้ว และเป็นบุคคลที่พ่อรักและนับถือตั้งแต่ตอนที่เธอยังมีชีวิตอยู่ รูป สุวรรณี สุคนธา ที่ใส่กรอบไว้นี้เป็นรูปประกอบบทสัมภาษณ์ครั้งสุดท้ายของเธอตีพิมพ์ในนิตยสาร “หนุ่มสาว” ในสมัยที่ คุณปกรณ์ พงศ์วราภา เป็นบรรณาธิการ ขณะที่นิตยสารเล่มที่มีบทสัมภาษณ์เธอกำลังวางแผง เธอได้เสียชีวิตแล้ว

พ่อได้รูปนี้มาเมื่อตอนพ่อทำงานอยู่ที่นิตยสาร “หนุ่มสาว” เป็นภาพขาวดำขนาด 8 คูณ 10 นิ้ว เมื่อใช้งานแล้วพ่อถือโอกาสขอกลับบ้านแล้วนำมาใส่กรอบธรรมดาๆไม่มีราคาค่างวดอะไร

ที่พ่อจำได้แม่นยำว่าบทสัมภาษณ์บทนี้เป็นบทสัมภาษณ์สุดท้ายของ สุวรรณี สุคนธา เพราะตอนนั้น สุวรรณี สุคนธา เพิ่งถูกทำร้ายจนเสียชีวิต และเป็นข่าวครึกโครมพอสมควร เหตุการณ์เกิดขึ้นต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2527
พ่อซื้อหนังสือของ สุวรรณี สุคนธา ครั้งแรกคือรวมเรื่องสั้น “บางทีพรุ่งนี้จะเปลี่ยนใจ” และ “คืนหนาวที่เหลือแต่ดาวเป็นเพื่อน” นั่นเป็นพ็อคเก็ตบุ๊คเล่มบางๆที่พ่อซื้อตั้งแต่ยังเรียนหนังสืออยู่ต่างจังหวัด ที่ซื้อก็เพราะชื่อเล่มแสนจะโรแมนติคนั่นเอง จากนั้นพ่อก็ได้อ่านงานของเธอมากขึ้น

พ่อทราบมาว่าเจ้านายของพ่อขณะนั้นคือ คุณปกรณ์ พงศ์วราภา เคยทำหน้าที่พิสูจน์อักษรอยู่กับเธอที่นิตยสาร “ลลนา” มาก่อน เพราะฉะนั้นเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับ สุวรรณี สุคนธา จึงผ่านการรับรู้มาหลายทาง และจำนวนไม่น้อยมาจากเรื่องที่เธอเขียน

พ่อส่งเรื่องสั้นไปและได้ตีพิมพ์ที่นิตยสาร “ลลนา” ทำให้มีโอกาสได้ไปเที่ยวที่สำนักงาน พ่อได้พบปะได้เขียนจดหมายได้พูดคุย และนั่นเองที่ทำให้พ่อได้มีโอกาสรู้จักกับ “น้าแพ็ท” ไปพร้อมๆกันด้วย ใครๆก็รู้ว่าน้าแพ็ทนั้นเป็นนักเขียนภาพประกอบประจำตัว สุวรรณี สุคนธา และยังเป็นผู้จัดหน้าให้กับนิตยสาร “ลลนา” พ่อจำได้ไม่มีวันลืมว่าในวันแต่งงานของพ่อกับแม่ พ่อไม่มีญาติผู้ใหญ่ในเมืองหลวง น้าแพ็ทได้ให้เกียรติรับเป็นญาติผู้ใหญ่ขึ้นไปกล่าวอวยพรให้

ในช่วงหนึ่งที่พ่อเคยหารายได้พิเศษจากการขายหนังสือด้วยรถเข็นแถวป้ายรถเมล์ โดยให้น้องสาวนั่งขาย พ่อตั้งชื่อรถเข็นหนังสือเล็กๆของพ่อว่า “อาศรมหนังสือ” พ่อยังจำได้ว่าเธอช่วยลงโฆษณารถเข็นขายหนังสือให้ในนิตยสารลลนา ไม่เพียงเท่านั้น เวลาที่พ่อได้ไปทำนิตยสารที่เริ่มต้นใหม่เธอก็เมตตาด้วยการช่วยลงโฆษณาให้ฟรีๆ

วันหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 มีเพื่อนๆนักเขียนและกวีอย่างพิบูลศักดิ์ ละครพล เตือนจิต นวตรังค์ และใครต่อใครอีกหลายคนไปเที่ยวที่บ้านเกิดของพ่อ เย็นวันนั้นเราออกมาเดินเล่นที่ตลาดหาซื้อเครื่องดื่มประเภทมีแอลกอฮอล์เพื่อกลับมานั่งดื่มกินที่บ้าน

พ่อจำไม่ได้ว่าใครเป็นคนทำขวดเหล้าแตก ซึ่งเป็นขณะเดียวกันกับที่พ่อเหลือบไปเห็นข่าวพาดหัวตัวไม้ในหน้าหนังสือพิมพ์ว่า ฆาตกรรมนักเขียนชื่อดังสุวรรณี สุคนธา พวกเราตกใจกับข่าวที่เห็นเพราะเป็นเรื่องที่ไม่ได้คาดฝันมาก่อน

ในที่สุดพ่อก็ได้ไปร่วมงานเผาศพของเธอที่วัดโสมนัสวิหาร นางเลิ้ง ท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของญาติๆเพื่อนๆพี่ๆน้องๆในแวดวงน้ำหมึกที่ สุวรรณี สุคนธา มาเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

ถึงแม้เธอจะจากโลกนี้ไปนานแล้ว แต่ทว่าเธอไม่เคยจากไปจากหัวใจพ่อเลย ขณะที่พ่อนั่งอยู่ที่โต๊ะเขียนหนังสืออยู่นี้ เพียงพ่อแหงนหน้าขึ้นไปก็พบรอยยิ้มอ่อนโยนและเห็นสายตาของเธอที่ทอดมองลงมาอย่างมีเมตตา พ่อก็รู้สึกอบอุ่นอยู่ในใจ

ตอนนี้พ่อรู้สึกสนุกกับการเก็บรูปนักเขียนมาใส่กรอบ การเลือกรูปนักเขียนมาใส่กรอบของพ่อก็ไม่มีหลักเกณฑ์อะไรหรอก และก็ไม่ได้ถึงกับจะเสาะหามาสะสมจริงจังอะไร ถือว่าเป็น “ของเล่นทางใจ” อย่างหนึ่ง เบื่อก็หยุด อยากก็เก็บ พ่อว่าก็คงไม่แตกต่างจากหลายๆสิ่งๆหลายอย่างในชีวิตที่ผ่านมา เมื่อตอนชอบก็เก็บสะสม พอถึงจุดหนึ่งก็หยุดแล้วก็ผ่านไป มีหนังสือนี่แหละที่พ่อยังไม่รู้สึกเบื่อที่จะซื้อและเบื่อที่จะเก็บสะสมเสียที

พ่อได้กลายมาเป็นชาวบ้านคนหนึ่งในหมู่บ้านแห่งนี้ พ่อรู้สึกแตกต่างออกไปที่มาอยู่ในที่ๆไม่มีใครรู้จักมาก่อน พ่อชอบตรงที่ไปตลาดก็ไม่ไกล ไปไปรษณีย์ก็ใกล้ ไปไหนมาไหนในเมืองนี้ด้วยการถีบจักรยานได้ อีกเหตุผลหนึ่งที่พ่อเลือกมาพักอยู่บ้านหลังนี้ก็เพราะอยู่ไม่ไกลจากบ้านแม่ของพ่อคือย่าของลูกนั่นเอง ท่านชราภาพและกำลังป่วยอยู่ พ่อนั่งรถประเดี๋ยวเดียวก็ถึง

สำหรับชีวิตประจำวันในบ้านพักแห่งนี้ พ่อได้พบว่าบรรยากาศของที่นี่เอื้อในการทำงานเขียนหนังสือของพ่อพอสมควร กองหนังสือที่คัดเลือกสรรมาอ่านยามว่าง รูปนักเขียนหรือรูปภาพต่างๆสร้างความรู้สึกให้ไปในทางนั้น ถ้อยคำบางวลีก็ให้กำลังใจในการดำเนินชีวิต การอยู่ห่างไกลกับลูกและแม่ของลูกทำให้เห็นคุณค่าของความรักและความคิดถึงที่มีต่อกัน

การอยู่ตัวคนเดียวอย่างนี้กลับสร้างความรู้สึกบางอย่างในใจของพ่อ พ่อรู้สึกว่าแต่ละวันจะต้องใช้เวลาที่ผ่านไปอย่างมีประโยชน์สำหรับตัวเองให้มากที่สุด งานไหนที่เขียนได้ก็ลงมือ หากวันใดที่ไม่สามารถเขียนอะไรออกมาได้ก็จะอ่านหนังสือ หรือไม่ก็คิดโครงร่างเรื่องนั้นเอาไว้ในหัว พ่อพบว่าบรรยากาศรอบๆตัวนั้นมีส่วนอย่างยิ่งที่ทำให้พ่อเกิดความรู้สึกอยากทำงานยิ่งขึ้น

บรรยากาศการทำงานของแต่ละคนอาจจะแตกต่างกันไป บางคนชอบที่เงียบสงบ บางคนชอบความคึกคักพลุกพล่าน ทุกคนมีความรู้สึกต่อสิ่งต่างๆไม่เหมือนกัน ซึ่งงานของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป

นอกจากเรื่องบรรยากาศแล้ว พ่อเพิ่งได้อ่านพบจากหนังสือเล่มหนึ่งว่าความอิสระในงานที่ทำมีความสำคัญไม่น้อยกว่าเรื่องของบรรยากาศเลย พ่อต้องขอโทษที่ลืมจดชื่อผู้เขียนมาด้วย เขาบอกไว้ว่า

“ความรู้สึกอิสระในงานที่ทำ มีเสรีภาพในการคิดว่าจะทำอย่างไร ใช้ดุลยพินิจของตนเองว่าจะทำงานอย่างไร จัดรูปแบบในการทำงานอย่างไร สามารถที่จะตัดสินใจด้วยตนเองที่จะทำอย่างไรนั้นให้บรรลุผลสำเร็จ ไม่ใช่การทำงานที่อยู่ภายใต้คำสั่งหรือความกดดันจากหัวหน้าอยู่ตลอดเวลา เต๋าเคยกล่าวไว้ว่า ‘การปกครองที่ดีก็คือการไม่ปกครอง การควบคุมที่ดีคือการไม่ควบคุม’
ความอิสระในการคิด ในการตัดสินใจในการทำงานจะทำให้ภาคภูมิใจในตนเอง ทำให้มีความสุขในการทำงาน แล้วก็จะทำงานนั้นด้วยใจรัก ทำงานด้วยความประณีตและความละเมียดละไมในการทำงาน”


ช่วงที่ผ่านมาพ่อได้พบว่าพ่อชอบ “การอยู่เพียงลำพัง” ไม่น้อยทีเดียว แต่อาจจะยังไม่ถึงกับที่ เฮนรี เดวิด ธอโร พูดไว้ว่า “ข้านิยมอยู่ตามลำพัง...ข้าไม่เคยพบพานเพื่อนที่ดีกว่าอยู่ตามลำพังมาก่อน” เพราะพ่อยังติดต่อพบปะผู้คนอยู่ แต่อาจจะน้อยลงกว่าแต่ก่อนมาก ปัจจุบันส่วนใหญ่ที่พ่อติดต่อก็คือทางโทรศัพท์และทางอินเตอร์เน็ตเท่านั้น

พ่อลืมเล่าเรื่องหนึ่งให้ลูกฟังเมื่อเร็วๆนี้มีสำนักพิมพ์หนึ่งติดต่อให้พ่อเขียนสารคดีเกี่ยวกับเรื่องกราบพระ 9 วัดในกรุงเทพฯ แต่พ่อยังไม่ตกปากรับคำกับเขาในทันที เพราะพ่อเคยมีประสบการณ์ทำงานตามโจทย์แล้ว มันไม่ค่อยสนุกเหมือนกับเรื่องที่เราอยากเขียนเอง นอกเสียจากเรื่องมันมาตรงกับใจที่เราอยากเขียนพอดี

จะว่าไปแล้วการเขียนเรื่องกราบพระ 9 วัดนั้นก็ไม่มีอะไรเสียหายหรอก เพราะอย่างน้อยก็เป็นเรื่องที่ชักชวนคนเข้าวัด พ่อก็เป็นพุทธศาสนิกชนคนหนึ่ง ไม่ได้รังเกียจการไปกราบพระตามวัดต่างๆ แต่อยากให้ฉุกคิดนิดหนึ่งว่าเวลาที่เรากราบพระกันทุกวันนี้เรากราบพระกันเพื่ออะไร ?

ส่วนใหญ่แล้วเวลาเรากราบพระก็มักจะขอโน่นขอนี่มากกว่าที่จะกราบพระเพราะระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ว่า “อัตตาหิ อัตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน” ไม่ได้กราบพระเพื่อที่จะขออะไรจากพระ พ่อเกรงว่าหากวันหนึ่งวันใดเรามีความเชื่อแบบนี้กันมากขึ้นก็จะกลายเป็นว่า พระพุทธรูปองค์ใหญ่ๆจะปิดบังพระธรรมคำสั่งสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าเสียหมด

พ่ออยากบอกว่าคนที่คิดว่าตัวเองเป็นชาวพุทธนั้นควรจะต้องสนใจว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนอะไร ? พ่อนอนคิดอยู่คืนหนึ่งจึงโทรศัพท์ไปบอกว่าไม่รับงานนี้ดีกว่า เรื่องของความเชื่อความศรัทธานั้นเป็นเรื่องเฉพาะตนจริงๆ


รักและคิดถึง

พ่อ




 

Create Date : 03 ธันวาคม 2549
3 comments
Last Update : 3 ธันวาคม 2549 10:12:29 น.
Counter : 873 Pageviews.

 

แอบมาอ่านไดอารี่ของคุณพ่อค่ะ
...
ไม่ว่ากันนะคะ

 

โดย: montagio 3 ธันวาคม 2549 11:07:15 น.  

 

มาอ่าน

 

โดย: shadow-of-art 3 ธันวาคม 2549 14:12:39 น.  

 


ชื่นชมใน "อาชีพนักเขียน" ของคุณโดมมากๆเลยค่ะ

บุ๋มคิดว่า ความซื่อสัตย์ในอาชีพของตนเอง เป็นสิ่งที่ "ทุกอาชีพ" จะต้องมีค่ะ

 

โดย: Htervo 13 มิถุนายน 2550 21:30:46 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


พ่อพเยีย
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]







ด้วยความยินดี...
หากมีผู้ใดละเมิด
โดยนำภาพถ่าย,บทความ
หรือข้อเขียนต่างๆ
ใน Blog นี้ไปใช้
ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด
สามารถทำได้เลยทันที
โดยไม่ต้องขออนุญาต
เป็นลายลักษณ์อักษร

เว้นเสียแต่ว่า…
ถ้านำไปพิมพ์จำหน่าย
กรุณาจ่ายค่าลิขสิทธิ์ด้วย

อ่านเรื่องของ "ปะการัง" ที่นี่



โหลดเพลง คลิปวีดีโอ นิยาย การ์ตูน


www.buzzidea.tv
Friends' blogs
[Add พ่อพเยีย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.