John McLaughlin เทพแห่งกีตาร์แจ๊ซ
หากจะแบ่งแยกดนตรีของ จอห์น แม็กลอฟลิน แล้ว มันก็พูดได้ว่ายังกับการจับปูใส่กระด้ง เพราะตัวแม็กลอฟลินเองก็เป็นคนที่ไม่ค่อยนิยมจะนิยามคำว่าดนตรีอยู่แล้วด้วย เพราะดนตรีคือการเรียนรู้ ระยะเวลาเกินกว่า 40 ปีของการประพันธ์เพลงและแนวการเล่นกีตาร์ที่ค่อนข้างจะฉูดฉาดมีสีสัน ช่วยทำให้คนฟังเพลงอย่างพวกเราได้สดับฟังทั้งบลูส์, แจ๊ซ, ร็อค, แจ๊ซร็อค, ฟิวชัน หรอแม้แต่ดนตรีอินเดีย และคลาสสิก ดนตรีของเขานั้นเราอาจจะให้นิยามอะไรไม่ได้ แต่ก็เหมือนเทพเมอคิวรี มันเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่ของโลก

มีภาษิตของฝรั่งมังค่าเกี่ยวกับการทำธุรกิจอยู่ภาษิตหนึ่ง เขาว่า การทำธุรกิจนั้นต้องรู้จักสร้างบริษัท แต่สิ่งสำคัญมากกว่านั้นสำหรับนักธุรกิจก็คือการรู้จักแยกตัว ในวันที่เศรษฐกิจถดถอยแบบนี้ ภาษิตอาจจะถูกเปลี่ยนความหมายไปได้ง่ายๆ แต่ความหมายดั้งเดิมของมันนั้น หมายถึงว่าใครก็ตามที่รู้จักพลิกแพลง รู้จักการเล่นแร่แปรธาตุและปรับเปลี่ยน คนคนนั้นจะประสบความสำเร็จ อุปมานี้ก็เหมือนกับแม็กลอฟลินเองและดนตรีของเขา เขามีรากฐานที่แข็งแกร่งในแง่การเข้าถึงความง่ายงามของดนตรีอย่างลึกซึ้ง เขาได้ทลายกำแพงแห่งทฤษฎีและปฏิบัติของกีตาร์มาสร้างสรรค์งานศิลปะชิ้นเยี่ยม เขาคือนักสร้างสรรค์ตัวจริง
แม็กลอฟลินทิ้งอดีตอันยิ่งใหญ่ที่ได้เข้าร่วมวงกับศิลปินระดับแม่เหล็กอย่าง แกรห์ม บอนด์ , จิงเจอร์ เบเคอร์ และ แจ็ก บรูซ เขาเดินเตาะแตะก้าวแรกของตัวเองด้วยการเข้าร่วมเป็นนักดนตรีนำกับโทนี วิลเลียมส์และไมล์ส เดวิส ส่วนมหาวิษณุ ออร์เคสตรา วงที่ยากจะหาที่เปรียบได้ของเขานั้น ก็ได้สร้างก้าวที่สองต่อมาด้วยการให้กำเนิดวงอินโดแจ๊ซอย่าง ศักติ และวงอะคูสติกนอกรอบ ที่เล่นกับ ปาโก ดิ ลูเชียและอัล ดิ มิโอรา ส่วนอีกปีกหนึ่งเขาก็ยังคงสยายออกกว้างเพื่อการทดลองเสียงกีตาร์ซินธ์ของเขา พร้อมด้วยการประพันธ์เพลงกีตาร์คอนแชร์โต ในไม่กี่ปีมานี้ เขาร่วมกับซาเกีย ฮัสซัน ได้ช่วยกันปรับปรุงบทเพลงในยุคก้าวที่สอง นั่นคือที่มาของอัลบัม Remember Shakti
แม็กลอฟลินได้สร้างสรรค์งานที่น่าจดจำขึ้นมาอีกอัลบัมหนึ่งภายใต้สังกัดเวิร์ฟ โดยให้ชื่อว่า Thieves and Poets ขณะที่มันแทบไม่มีกลิ่นอายของแจ๊ซที่แท้จริง การอิมโพไวส์ก็มีให้เห็นอย่างบางเบา เหมือนลมพัดผ่านคฤหาสน์แห่งดนตรีหลังใหม่ที่แม็กลอฟลินกำลังสร้างขึ้นมา เขาได้บันทึกเสียงอัลบัมใหม่นี้ด้วยอะคูสติกกีตาร์ตัวเดียวกับวงซิมโฟนี ออร์เคสตรา มันออกจะกว้างไปหน่อยแต่ใจความอยู่ที่ความเงียบสงบ และยังมีชิ้นงานที่เขาเล่นร่วมกับ Aighetta Guitar Quartet ผู้ได้รับอิทธิพลจากเขา สำหรับงานนี้ แม็กลอฟลินอุทิศให้กับนักเปียโนสี่คนและเพื่อนที่เป็นแรงบันดาลใจทั้งในด้านการงานและชีวิตส่วนตัว นักดนตรีผู้มีเกียรติเหล่านั้นคือ บิล เอแวนส์, เฮอร์บี แฮนค็อก, ชิก คอเรียและกอนซาโล รูบัลคาบา
สำหรับแฟนเพลงของแม็กลอฟลิน ก็ยังคงให้การสนับสนุนเหมือนเคย ไม่ว่าจะเป็นงานส่วนตัวของเขา หรืองานที่เขาไปเล่นให้กับเพื่อนมือเบสสายฟิวชันอย่าง มิรอสลาฟ วิตูส์ ร่วมกับ แจ็ก ดิจอห์นเน็ตและชิค คอเรีย นอกจากนั้นยังมีผลงานสมัยที่เขายังเป็นลูกหม้อของไมล์ส เดวิสนำมาออกวางจำหน่ายซ้ำ อย่าง Tribute To Jack Johnson ซึ่งได้บรรจุเอาเทคหลุดๆ ไว้มากมายหลายเพลงด้วยกัน ตามมาด้วยงานรีมาสเตอร์พร้อมเพลงพิเศษที่เขาเล่นกับเพื่อนรัก คาร์ลอส ซานตานาในอัลบัม Love Devotion and Surrender และถ้านี่ยังน้อยไปนะ เขาก็จะยังมีผลงานร่วมกับสหายเก่าซานตานาออกมาอีกเหมือนกัน ถึงแม้ว่าจะยังไม่รู้เวลาที่แน่นอนก็ตาม
ดูเหมือนแม็กลอฟลินก็จะดังไม่ใช่เล่น ขนาดผู้กำกับเงินล้านอย่างสตีเฟน สปีลเบิร์กยังไปชื่นชมเขาและไปร่วมชมคอนเสิร์ต Remember Shakti ทำให้เรานึกไปถึงงานเพลงประกอบภาพยนตร์ที่แม็กลอฟลินทำให้หนังสัญชาติยุโรปเรื่อง Molom เมื่อสองสามปีก่อน

ครับ ตอนเล่นคอนเสิร์ตที่แวนคูเวอร์ ผมรู้สึกสนุกดีครับ แถมตอนนั้นก็มีคนทำหนังหลายๆ คนเลยที่เข้ามาพบผมหลังเวที บอกว่าอยากจะให้วงศักติไปทำไปทำเพลงให้กับหนังเรื่องใหม่ของพวกเขา ผมรู้สึกภูมิใจและยินดีมากครับที่พวกเขาไว้วางใจผมขนาดนี้ ก็มีหนังเรื่องอื่นที่คุยๆ กันอยู่เหมือนกันครับที่จะให้ทำงานให้ แต่ก็ยังไม่ได้ตกลงเป็นเรื่องเป็นราวอะไร แล้วตอนที่ผมเล่นที่ฮุสตัน ก็มีนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งเข้ามาหาผม แล้วถามว่า เพลงของคุณเยี่ยมมากเลยครับ คุณทำเพลงประกอบหนังรึเปล่า? ผมกำลังทำหนังเกี่ยวกับอนุภาคย่อยของปรมาณูอยู่ (หัวเราะ) ก็ดีครับ ผมก็อยากจะทำ ผมว่ามันเป็นสิ่งอัศจรรย์ แล้วก็จับใจผมจริงๆ
แม็กลอฟลินเล่าเรื่องขำๆ ระหว่างทัวร์คอนเสิร์ตให้ฟัง แต่วงศักติทำให้ผมรู้สึกยอดเยี่ยมมากๆ เลยนะ มันแทบจะล้นออกมาเลย เหมือนกับว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของผม แต่ตอนนี้มันก็ไม่ได้มีอยู่อีกแล้ว ผมไม่มีวันรับเสียงปรบมือขนาดนั้นจากคนดูแน่เลย
แม็กลอฟลินยังคงพยายามจะไปฟังเพลงของมหาวิษณุ ออร์เคสตราที่มีวงรุ่นน้องๆ นำมาเล่นที่นิวยอร์ก แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ไปสักที คงไม่ต้องบอกว่าภาคภูมิใจขนาดไหนที่เพลงของเขา ซึ่งเขียนมานานหลายปียังคงได้รับความสนใจจากวงอย่าง มหาวิษณุ โปรเจ็กต์, โดฟส์ ออฟ ไฟร์, อิงก์แลนด์ส ไวลด์ สตริง ควอเต็ต, โกรนิงเก็น กีตาร์ ดูโอ, มือเบส ลูคัส พิกฟอร์ด และแกรี ฮัสบัน ที่กำลังทำงานทริบิวต์ให้มหาวิษณุ ออร์เคสตราอยู่
แกรีเขาน่ารักดีครับ งานของคนเหล่านั้นเป็นเหมือนคำยกย่องให้กับผมทีเดียว ถ้าผมยังอายุน้อยกว่านี้ ผมคงพูดอะไรเยอะครับ แต่นี่ผมหกสิบกว่าแล้วนะ ผมภูมิใจครับ มันก็แปลกดีเพราะตอนนี้ในอเมริกาเนี่ย มีสารพัดรูปแบบของดนตรีฟิวชันกลายพันธุ์แล้ว แต่ผมในฐานะที่อยู่ในยุคเริ่มต้นของดนตรีฟิวชันเลย การที่ได้เห็นมันกำลังหายไปนี่มันก็เป็นการท้าทายดีนะ อะไรแบบนี้นี่มีแต่ในอเมริกาเท่านั้นล่ะครับ คุณจะไม่ได้เห็นการแปรธาตุในดนตรีฟิวชันของยุโรปหรอก สิ่งที่ผมต้องการจะบอกจริงๆ อย่างตรงๆ ก็คืออยากจะให้พวกเขาเป็นตัวของตัวเอง ผมเคยฟังมหาวิษณุ โปรเจ็กต์เล่นแล้วล่ะ ยอมรับว่าพวกเขาเล่นกันเก่งมาก แต่ก็อีกนั่นแหละครับ
ผมอยากรู้ว่าตัวตนจริงๆ ของพวกเขาคืออะไรกันแน่

เอาล่ะ เราเดินหน้าคุยเรื่องอัลบัมใหม่ของเขากันดีกว่า
เมื่อเห็นปกอัลบัมใหม่ของแม็กลอฟลินแล้ว นั่นหมาของเขาหรือเปล่าเนี่ย? แล้วมันชอบฟิวชันไม่เนี่ย?
ครับใช่ นั่นหมาของผมเองแหละ เจ้าสคิป แต่มันไม่ชอบฟิวชันหรอก (หัวเราะ) มันชอบนั่งบนเก้าอี้แล้วก็คุดคู้อยู่บนนั้นตลอดเวลาเลย แต่มันก็เป็นหมาร่าเริงนะ
แล้วสิ่งที่อยู่บนปกอัลบัมของเขาก็คือกีตาร์ตัวหนึ่งมีนามว่า Our Lady ซึ่ง เอบี เว็กเตอร์ ประกอบขึ้นมาให้เขาเมื่อสิบปีที่แล้ว แล้วแฟนเพลงก็ตั้งหน้าตั้งตารอคอยที่จะฟังแม็กลอฟลินเล่นกีตาร์ตัวนี้บันทึกเสียง
ครับ เสียงมันสุดยอดจริงๆ แม็กลอฟลินบอกไว้เท่านั้น
งานในอัลบัม Thieves and Poets ได้นำเสนองานกีตาร์กับวงออร์เคสตรา (I Pommeriggi di Milano) ในสามองก์ด้วยกัน คือ The Old World, The New World และการรวมกันของโลกแห่งเสียงดนตรี แม็กลอฟลินได้จับรวมความคิดเหล่านี้ไว้ได้อย่างสวยงาม โดยเฉพาะองก์ที่สาม นอกจากมันจะบอกว่าเขาเป็นอิทธิพลทางดนตรีของใครแล้ว มันยังบอกถึงอิทธิพลทางดนตรีที่เขาได้รับมาอีกด้วย บางคนบอกว่าเมื่อฟังอัลบัม Belo Horizonte กับ Shakti และผลงานดนตรีอื่นๆ ของแม็กลอฟลินแล้ว ทำให้นึกถึง West Side Story

เหรอครับ? ผมก็ไม่ได้ตั้งใจนะ ไม่ได้ตั้งใจแน่นอน เลนนี เบิร์นสตีนเป็นนักประพันธ์ที่ยอดเยี่ยม แต่ก็มีงานท่อนหนึ่งที่ผมฟังแล้วผมก็บอกตัวเองว่า เอ๊ะ ทำไมมันคล้ายของเลนนีนะ? ผมไม่ได้อยากให้ออกมาเหมือนของเลนนีนะ แต่มันก็ออกมาเป็นแบบนี้เอง
.
งานชุดนี้ผมมีนักโซโลเก่งๆ มาเล่นให้เยอะ ผมก็รู้จักกับพวกเขามานานแล้วล่ะครับ น่าดีใจที่ผมก็เป็นคนที่พวกเขาชื่นชอบเหมือนกัน ผมยังจำได้เลยตอน 7-8 ปีก่อน ผมไปดูวิกตอเรีย มัลโลวา (นักไวโอลิน) เล่นคอนเสิร์ต เธอเล่นเก่งมาก
นอกจากนี้ยังมีเพลงสแตนดาร์ดที่แม็กลอฟลินเล่นร่วมกับเอเก็ตตา กีตาร์ ควอเต็ต ซึ่งเขาเคยร่วมทำงานกันมาแล้วในอัลบัม Time Remembered : John McLaughlin Plays Bill Evans เมื่อสิบปีก่อน ผมชอบ My Foolish Heart แล้วก็ชอบเวอร์ชันล่าสุดในอัลบัมนี้ด้วยนะ ผมใช้รีเวิร์บน้อยลงด้วย อาจะจะเป็นเพราะว่าผมแก่แล้วก็เป็นได้ ผมก็เลยอยากจะใช้มันน้อยๆ หน่อย
เมื่อเร็วๆ นี้ยังมีข่าวลือเกี่ยวกับแม็กลอฟลินที่แพร่สะพัดทางอินเตอร์เน็ต บอกว่าเขาจะทำงานอัลบัมชุดหน้าแบบใต้ดิน แล้วยังบอกอีกว่าเขาเชื่อว่าอัลบัมชุดหน้าจะทำให้ผู้คน เหวอ รับประทานไปเลย ซึ่งแม็กลอฟลินก็ยอมรับว่าเป็นความจริง แถมยังคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้มา 3-4 ปีแล้วด้วย อัลบัมนี้แหละที่บรรดานักวิจารณ์จะสับผมเละ พวกเขามีสิทธิจะทำแหละนะ ผมเต็มใจ ผมไม่ซีเรียสเรื่องโดนด่าหรอกครับ แต่ผมซีเรียสเรื่องที่ผมอยากจะหลุดออกจากกรอบมากกว่า
แถมยังมีข่าวลือเพื่อมาอีกว่า เขาจะกลับมาร่วมงานกับคาร์ลอส ซานตานาอีกครั้ง
ยังหรอกครับ ยังไม่ใช่ชุดนี้แน่ จริงๆ ผมเขียนเพลงเผื่อเขาไว้ตามที่เขาต้องการแล้วล่ะ เมื่อปีที่แล้วเราก็ไปแจมกันที่สวิตเซอร์แลนด์ เดนนิส แชมเบอร์ก็มาด้วย คาร์ลอสเขาก็เชิญผมไปเล่นบนเวทีกับเขาผ่านทางหน้าหนังสือพิมพ์ เขาขอร้องให้นักข่าวเขียนว่า ได้โปรดเถอะ จอห์น มาเล่นกับผมนะ เขาน่ารักจริงๆ แต่ตารางงานผมมันดันไม่ลงตัว ก็เลยไปเล่นกับเขาไม่ได้

นอกจากอัลบัม Thieves and Poets แล้ว แม็กลอฟลินยังมีสองโปรเจ็กต์ที่ยังรอคอยวันลุล่วงอยู่ นั่นคือ โครงการออกแผ่นดีวีดีสอนกีตาร์ แม็กลอฟลินบอกว่า เหตุผลที่ทำก็ไม่มีอะไรนะครับ อย่างแรกนี่คือผมเองก็จบหลักสูตรกีตาร์ชั้นนำมาแล้วหลายที่ เล่นกีตาร์มาก็ชั่วชีวิต ผมรู้ว่านักเรียนกีตาร์ประสบปัญหาอะไรบ้าง แล้วจะแก้ยังไง ผมเคยเห็นคนอื่นๆ ที่ออกสื่อแบบนี้มา ผมว่ามันกะพร่องกะแพร่งยังไงไม่รู้นะ บางอันก็สอนผิด
.แต่ผมเห็นอันหนึ่งดี น่าจะเป็นของจอห์น สโกฟิลด์ ส่วนของคนอื่นที่ดีๆ ก็มีอย่างของเอริก จอห์นสันกับสก็อต เฮนเดอร์สัน หารทำงานของผมก็คือหาข้อแก้ไข โดยมากนักเรียนมักจะยังไม่รู้ว่าจะเล่นคนเดียวอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ หากมีนาย ก.ในไอดาโฮอยากจะเรียนอิมโพรไวส์ ของผมเนี่ยแหละที่จะช่วยเขาได้ แต่คนที่อยู่นิวยอร์กหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็น่าจะได้ประโยชน์จากมันเหมือนกันแหละ ซึ่งผมรู้ว่าไม่ค่อยมีครูสอนวิชาแบบนี้ แล้วดีวีดีชุดนี้ก็มีจะภาษาถึงหกภาษาด้วยกัน

ดีวีดีจะมีออกมาทั้งหมดสามแผ่นทีเดียว ออกราวเดือนมกราคม 2004 เรียกว่าสอนกันหมดไส้หมดพุง ตั้งแต่เริ่มต้น ก.ไก่ ข.ไข่ ไปจนถึงขั้นอภิมหาเซียน สองแช็ปเตอร์สุดท้ายมีชื่อว่า Tough Tunes ผมย้อนกลับไปวิเคราะห์การเล่นอิมโพรไวส์ของตัวเองในงานเพลงประกอบภาพยนตร์ แล้วผมก็อธิบาย แต่มีอยู่ตอนหนึ่ง คิดแล้วก็ตลกดีนะ พอผมนั่งสอนผ่านชั่วโมงอันแสนยาวนานกับคอร์ดต่อเนื่องหินๆ แล้วผมก็บอกว่า เฮ้ เพื่อน ถ้าใครเข้าใจ ผมจะจ้างเขาเลย แต่คุณเชื่อผมได้เลยว่า หลังจากคุณศึกษาดีวีดีนี้เรียบร้อย คุณจะเล่นได้ นอกจากนี้แล้ว แม็กลอฟลินยังจะมีงานอัลบัมการแสดงสด Montreux Jazz Festival ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เขาบอกว่า ว้าว เราไม่ได้มีอัลบัมแรกของมหาวิษณุ ออร์เคสตรา เพราะเราไม่ได้บันทึกเสียงกัน ออกมาก็เป็นชุดที่สองเลย มีอะไรที่ผมเล่นกับปาโก ดิ ลูเชีย เล่นกับชิค คอเรีย มีที่เล่นกับวง The One Truth Band ที่ซันชิปตีกลอง และที.เอ็ม. สตีเฟนส์เล่นเบส มันเป็นค่ำคืนที่พิเศษมากเลย
ผมว่าอัลบัมนี้น่าจะเป็นบ็อกซ์เซ็ตสัก 20 แผ่น แหม
ก็ผมเล่นมาตั้งสามสิบปีแล้วนี่นา (หัวเราะ) ผมว่ามันก็เป็นราวกับผลไม้จากสรวงสวรรค์ให้กับแฟนเพลงของผม เหมือนที่เขาออกอัลบัม Tribute To Jack Johnson ของ ไมล์ส เดวิส มาเมื่อเร็วๆ นี้แหละ แล้วบทเพลงของไมล์สเนี่ยแหละที่กระพือไฟให้ผม แต่งานที่ออกมาใหม่นี่ผมยังไม่ได้ฟังนะ
เป็นที่รู้กันว่า แม็กลอฟลินยังมีงานคอลเล็กชันส่วนตัวที่ยังไม่ได้วางจำหน่าย เราว่าหน้าปกอัลบัมใหม่ของเขาต้องมีงานแซมเปิลบางชิ้นวางโชว์อยู่แน่นอน อืม
.ผมก็มีงานบางส่วนอย่างคอนเสิร์ตที่คลีฟแลนด์ ปี 1971 นะ มีงานของมหาวิษณุ ออร์เคสตรา 1 และ 2 แล้วก็ มหาวิษณุ ออร์เคสตรา 85-86 ผมยังมีวิดีโอของ แต่ก็ไม่รู้สินะ ไม่รู้ว่าผมมีสิทธิจะทำอะไรกับของพวกนี้รึเปล่า เพราะไม่รู้เหมือนกันว่าใครจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ผมก็ยังสัญญิงสัญญาอะไรไม่ได้ว่าจะเอาออกมาจำหน่ายได้เมื่อไหร่ แต่ผมก็คงจะทำนะครับถ้ามันมีงานที่ดีถึงขั้นที่จะทำออกมาจริงๆ
เราในฐานะคนฟังก็คงได้แต่ติดตามผลงานของเขาต่อไป และคิดว่านักดนตรีไฟแรงอย่างจอห์น แม็กลอฟลินคนนี้ คงไม่วันที่ไฟชีวิตจะมอดลงไปง่ายๆ
ถึงแม้ว่าลาร์รี คอร์แยลจะออกแผ่นแจ๊ซร็อคระดับพระกาฬมาแล้วกับแกรี เบอร์ตัน ในปี 1967 จอห์นก็ยังคงเป็นนักกีตาร์คนแรกที่เล่นสเกลซับซ้อน โน้ตยากๆ ที่สร้างความจจดจำไม่ลืมเลือนให้กับแฟนเพลงและวงการกีตาร์ฟิวชันในยุค 70 จากอัลบัม Biches Brew และ In A Silent Way แล้วพอมาออกอัลบัม Inner Mounting Flame ในนามวงมหาวิษณุ ออร์เคสตรา เขาก็กลับกลายเป็นบิดาแห่งดนตรีสายนี้ไปในทันที จากนิตยสาร Guitar Player เดือนมกราคม 1992

John MaLaughlin / Thieves and Poets 1. Thieves and Poets Part 1 (12.32) 2. Thieves and Poets Part 2 (8.15) 3. Thieves and Poets Part 3 (5.38) 4. My Foolish Heart (5.03) 5. The Dolphin (4.16) 6. Stella By Starlight (4.27) 7. My Romance (4.09)
Selected works 1969 Extrapolations (Polydor) 1970 My Goals Beyond (Rykodisc) 1971 Where Fortunes Smile (BGO) 1982 Passion, Grace and Fire (Columbia) 1991 Que Alegria (Verve) 1994 After The Rain (Verve) 1997 The Heart Of Things (Verve) 1998 The Heart Of Things : Live In Paris (Verve)
Create Date : 26 พฤศจิกายน 2548 |
|
2 comments |
Last Update : 26 พฤศจิกายน 2548 20:41:44 น. |
Counter : 1817 Pageviews. |
|
 |
|