"แจ๊ส....ฉัน"
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2548
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
5 ธันวาคม 2548
 
All Blogs
 
Lyambiko สวิงแจ๊สเยอรมัน

Lyambiko / Out Of This Mood (Nagel-Heyer) ***



Lyambiko / Shades Of Delight (Nagel-Heyer) ****




ขออนุญาตแนะนำรวบยอดวงดนตรีสวิงแจ๊สจากเยอรมันวงนี้ครั้งเดียวสองชุดไปเลยก็แล้วกัน เนื่องจากเห็นว่าวงลิอัมบิโกได้รับการตอบรับจากแฟนเพลงแจ๊สชาวไทยเยอะพอสมควร ถึงแม้ว่าจะเป็นวงแคบก็ตาม แต่หน้าที่ของเราคือแนะนำสิ่งดีๆ ให้กับผู้อ่านอยู่แล้ว โดยไม่สนใจว่ามันจะต้องโด่งดังคับฟ้าปานไหน ฮ่าๆๆๆ

วงลิอัมบิโกประกอบไปด้วยสมาชิก 4 คน คือ Lyambiko นักร้องนำจุดเด่นของวง ลูกผสมเยอรมัน-อัฟริกัน Marque Lowenthal เปียโน Torsten Zwingenberger กลองและเครื่องเคาะ Robin Draganic เบส แนวการเล่นของพวกเขานั้นออกจะเป็นในทาง Mainstream (ซึ่งโดยส่วนมากของค่ายนาเกล-เฮเยอร์นี้ก็เป็นแจ๊สเมนสตรีมเช่นกัน เอาไว้ถ้ามีผู้อ่านสนใจมากๆ ผู้เขียนจะนำรายละเอียดของศิลปินในสังกัดนี้มานำเสนอต่อไป) สักหน่อย ฉะนั้นนักฟังท่านใดที่ชอบงานดนตรีสมัยใหม่หรืองานทดลอง ก็คงจะไม่ได้เจอะเจอในงานของลิอัมบิโกแน่นอน

งาน Out Of This Mood เป็นงานที่ออกมาเมื่อปี 2002 นี่เอง แนวทางเป็น Swing Jazz แบบจ๋าๆ เลย เพลงที่นำมาเล่นนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นเพลง Standard ทั้งสิ้น มีเพียง Parakeet Prowl เท่านั้นที่มาร์ก โลเวนธัลเป็นผู้ประพันธ์ ถึงแม้ว่าลิอัมบิโกจะไม่ได้แสดงคีตปฏิภาณในการร้อง ดังเช่นนักร้องแจ๊สมักจะกระทำกันในงานของตนเอง แต่เธอก็ได้ให้เสียงร้องที่ดูจะมีชีวิตชีวา ฉ่ำเหมือนลูกพีชสุก กลมกล่อม เธอทำได้ดีทีเดียวกับเพลงที่มีจังหวะจะโคนสนุกสนุกสนาน อย่าง If I Were A Bell (เพลงนี้ Miles Davis ก็เคยบรรเลงเอาไว้ในอัลบัม Relaxin’ แต่อัลบัมนี้หายากหน่อยนะในบ้านเรา นอกจากจะต้องไปสนับสนุน “ผี” เท่านั้น) ประกอบกับเสียงเครื่องเคาะของตอร์สเต็นในช่วงต้นเพลง ผู้เขียนแทบระงับใจไม่อยู่ Chega De Saudade ยิ่งตอกย้ำภาพลักษณ์ของวงลิอัมบิโกให้ชัดเจนเข้าไปอีก ต้องยอมรับเลยว่านักร้องสาวคนนี้มีความสามารถในการถ่ายทอดได้หลายภาษาดีแท้ ไม่ว่าจะภาษาอังกฤษ (สำเนียงแปร่งนิดหนึ่ง แต่ก็ไม่ถึงขั้นทำให้เพลงเสียหาย) หรือโปรตุเกสอย่างเพลงนี้

ต่อมาด้วย Afro Blue เพลงของ John Coltrane กลิ่นอายก็ออกไปทางอะโฟรอย่างที่ชื่อเพลงบอกอยู่แล้ว Parakeet Prowl แสดงให้เห็นฝีมือการพรมนิ้วของมาร์กได้เป็นอย่างดี ผู้เขียนคิดว่าเขาจะมีอนาคตยาวไกลทีเดียวในถนนสายแจ๊ส เพลงนี้หากฟังเผินๆ แล้ว อาจจะคิดว่าเป็นการเล่นโอเวอร์ดับ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย ฝีมือการเล่นของมาร์กล้วนๆ ไร้การโอเวอร์ดับ ส่วนคนอื่นๆ ก็ได้มาอิมโพรไวส์กันครบถ้วนในเพลงนี้ Work Song เพลงของ Cannonball Adderley ถึงคิวที่สาวลิอัมบิโกจะโชว์พลังเสียงกันบ้างล่ะ หากใครที่พอจะมีความรู้เรื่องการเก็บลมเพื่อปล่อยเสียงให้ยาวนานขนาดนั้น คงจะทราบว่าต้องออกกำลังและฝึกการร้องเพลงมาพอสมควร ฟังแล้วจะขาดใจตาย ส่วนเพลงไฮไลต์อื่นก็ยังมี Gone With The Wind ที่เป็นการดูเอ็ตกันระหว่างสาวลิอัมบิโกและโรบิน นักเบสของวง เปิดโอกาสให้เขาได้แสดงฝีมืออิมโพรไวส์ได้อย่างเต็มความสามารถ

Miss Celie’s Blues เปียโนพลิ้วขึ้นสเกลบลูส์มาตั้งแต่อินโทรเข้าเพลง เพลงนี้เป็นงานที่หยิบมาจากเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง The Color Purple ลิอัมบิโกยังคงแสดงให้เราเห็นว่าแม้จะเป็นเพลงบลูส์ เธอก็สามารถถ่ายทอดอารมณ์ได้อย่างไม่หวั่นเกรง ถ้ายังไม่มั่นใจ เชิญฟัง I Ain’t Got Nothin’ But The Blues ของ Duke Ellington อีกสักเพลง แล้วจะเข้าถึง!

ส่วนงานชุดหลัง Shades Of Delight สีสันอาจจะแตกต่างจาก Out Of This Mood ไปบ้าง คือรสชาติของความเป็นสวิงแบบเมนสตรีมหายไปเยอะพอสมควร แต่สิ่งที่ได้กลับมา คือ ความนุ่มนวล ลุ่มลึก และความแปลกใหม่ที่พวกเขาภูมิใจนำเสนอ คนที่โปรดปรานอัลบัม Out Of This Mood อาจจะเสียมู้ดเอาง่ายๆ กับอัลบัมนี้ เสียงของลิอัมบิโกนั้น ดูเหมือนเหมือนว่าจะเรียบ นิ่งขึ้น เปิดมาเพลงแรก Moondance ของ Van Morrison ออกจากรสชาติแตกต่างไปจากเจ้าของดั้งเดิมไปเยอะ ถึงแม้ลิอัมบิโกจะออกตัวว่าไม่คุ้นกับแวน มอริสันนัก แต่ผู้เขียนคิดว่ามันก็เป็นการดีเหมือนกันที่เธอจะไม่ติดกลิ่นอายของแวน มอริสันมา ความหลากหลายของชิ้นดนตรีเริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้น เมื่อมีการนำเอา Fender Rhodes มาใช้ในเพลงนี้ด้วย เสียงของมันก็คล้ายๆ กับออร์แกนของคนตาบอดนั้นแล-เป็นการอธิบายอย่างง่าย หากจินตนาการเสียงของมันไม่ออก สาวลิอัมบิโกสำแดงจริตจะก้านทางเสียงของเธอออกมาอย่างเต็มที่ในเพลงนี้ ผู้เขียนคิดว่าเธอถ่ายทอดอารมณ์บลูส์ออกมาได้ดีกว่าแจ๊สเสียด้วยซ้ำ ยิ่งฟัง Black Coffee ยิ่งเป็นการตอกย้ำความคิดที่ว่ามา ตอนท้ายเพลงยังมีการโอเวอร์ดับเสียงของเธออย่างน้อย 3-4 แนวประสาน

Your Mind Is On Vacation (And Your Mouth Is Working Overtime) ชื่อเพลงเหลือรับดีแท้ เหมาะกับพวกชอบเม้าธ์เลยนะเนี่ย แล้วก็ Isn’t This A Lovely Day? ยังเป็นเพลงที่เอาใจคนรัก Out Of This Mood อยู่ ใช่ว่าจะทิ้งกันขาดไปเลยซะเมื่อไหร่ งานที่น่าจะเป็นไฮไลต์ที่สุดของอัลบัมนี้น่าจะอยู่ที่ Malaika และ Savannah Suite (ประกอบด้วย 3 องก์คือ Drums And Bass And Bananas, Ilangamo และ Afro Blues Revisited)

เพลง Malaika กับ Ilangomo (องก์ที่ 2 ของเพลง Savannah Suite) เป็นเพลงที่เธอได้รับแรงบันดาลใจมาจากคุณพ่อนักร้องชาวอัฟริกัน โดยที่ทั้งสองเพลงนี้เป็นเพลง Traditional ของอัฟริกัน ซึ่งเวอร์ชันนี้ได้รับการตีความผสมผสานความเป็นแจ๊สเข้าไปแล้ว เนื่องจากไม่เคยฟังเพลงต้นฉบับ ดังนั้น ความคิดเห็นของผู้เขียนต่อสองเพลงนี้จึงมุ่งไปที่ฉบับที่ตีความใหม่เท่านั้น สาวลิอัมบิโกปรับเสียงได้ 2 ระดับ จนผู้เขียนคิดว่ามีคนร้องสองคน แต่ฟังไปฟังมา เอ๊ะ นี่มันเสียงเธอคนเดียวนี่นา เลยทึ่งกับการร้องเพลงของเธอมากขึ้นไปอีก ส่วนภาคดนตรี มีเพียงเสียงเปียโนเคล้าคลอไปกับเสียงเครื่องเคาะบางๆ เท่านั้น เรียกว่าโชว์เสียงร้องล้วนๆ

ส่วน Savannah Suite ประกอบด้วย 3 องก์อย่างที่ว่ามา โดยองก์แรกเป็นฝีมือการแต่งของพวกเขาเอง แต่ยึดแนวทำนองของเพลง Afro Blue เป็นหลัก แนวการเดินสายเบสเป็นเเนวเดียวกับ Afro Blue เป็นการยืนพื้น แล้วมีการเพิ่มเติมเสียงเครื่องเคาะต่างๆ เข้าไป ตามด้วยเสียงเปียโน เมื่อเครื่องดนตรีทุกชิ้นบรรเลงฟาดฟันกันจนถึงจุดสูงสุด จึงได้มาเข้า Ilangamo กลิ่นอายอัฟริกัน โดยใช้เครื่องเคาะของตอร์สเต็นเป็นหลัก ต่อเนื่องด้วยเสียงของลิอัมบิโก ซึ่งในองก์นี้ไม่มีความเป็นแจ๊สแทรกซึมอยู่แม้แต่น้อย เรียกว่าตามใจท่านกันเลยทีเดียว แต่สิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือการอิมโพรไวส์ของนักร้องสาวที่เราจะไม่เคยฟังมาก่อน ก่อนที่จะจบด้วย Afro Blue Revisted อย่างแนบเนียนและต่อเนื่อง นับว่าการอะเรนจ์เพลงนี้เป็นไปด้วยความราบรื่น สอบผ่านแบบฉลุย

สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของวงดนตรีวงนี้ นอกจากจะอยู่ที่ลิอัมบิโก นักร้องนำของวงแล้ว เราคงจะมองข้ามมาร์กไปไม่ได้ ผู้เขียนกล้าการันตีได้เลยว่าไปอีกไกลแน่นอน เสียแต่ว่าต้นสังกัดยังเป็นบริษัทเล็กๆ ไม่อาจจะขยับขยายงานออกไปในวงกว้างได้มากเท่าที่ควร ส่วนโรบินกับตอร์สเต็นก็ใช่ว่าไม่มีฝีมือ เพียงแต่ว่ายังไม่ได้โอกาสที่จะแสดงออกอย่างเต็มที่เท่านั้น น่าสังเกตว่าลิอัมบิโกเริ่มที่จะมุ่งมั่นเข้าหาแนวทางของดนตรีที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น เพลงแต่ละเพลงยาวเหยียด ถึง 15 นาทีก็ยังมี นับว่าไม่เอาใจเชิงพาณิชย์อย่างสิ้นเชิง แถมการร้องเพลงของลิอัมบิโกก็ยังเรียกว่าตามใจท่านก็ว่าได้ เธอปล่อยอารมณ์เต็มที่กับงาน Shades Of Delight เราจึงได้เห็นหลากสไตล์มากกว่าในงาน Out Of This Mood ซึ่งก็ตรงตามแนวทางชื่อของอัลบัมพอดี ที่ว่า “หลากหลายเฉดแห่งปรีดารมณ์”



Create Date : 05 ธันวาคม 2548
Last Update : 5 ธันวาคม 2548 16:07:03 น. 1 comments
Counter : 2076 Pageviews.

 
พี่นุ่น ผมได้ฟังแผ่นชุด out of this mood ในรถพี่ cherokee แจ่มมากเลยครับ เมื่อวานนี้เลยได้สองแผ่นนี้มาจาก cd warehouse ที่ลดราคาอยู่ครับ อิอิ


โดย: udomdog IP: 203.153.169.153 วันที่: 16 ธันวาคม 2550 เวลา:9:11:49 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

nunaggie
Location :
City of Angels, Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




คุยเฉพาะเรื่องเพลง :D

"I still find each day too short for all the thoughts I want to think, all the walks I want to take, all the books I want to read, and all the friends I want to see." John Burroughs

Follow my twitter @nunaggie :)

"มีเรื่องราวอีกมากมายให้ชีวิตต้องเดินทางไปค้นหา เราคงไม่ค้นพบทุกอย่างได้ เพียงแค่ชั่วชีวิตเดียว"
Creative Commons License
© Supada Luangsirimongkol 2015.
qrcode
Friends' blogs
[Add nunaggie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.