"แจ๊ส....ฉัน"
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2548
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
28 ธันวาคม 2548
 
All Blogs
 
Tomasz Stanko หัวหอกแจ๊สสมัยใหม่แห่งโปแลนด์

เมื่อใดก็ตามที่บอกว่าเป็น “แจ๊ส” เราก็จะพาลมองเห็นแต่เคนนี จีเอย เดวิด แซนบอร์นเอย แช็กกาแท็กเอย แล้วก็อีกสารพัดเอย แต่ในเมื่อโลกนี้ยังมีอะไรให้น่าพิสมัยอีกตั้งเยอะ เวลาในชีวิตเราหรือก็มีแสนจะน้อยนิด ใยจึงไม่ลองเสพสิ่งแปลกใหม่ดูบ้างพอเป็นกระษัยเล่า

ว่าแล้วก็อย่ารอช้า เอาละ... คนนี้แหละ โทมัส สแตนโก ผลงานของเขาเข้าตาชาวอเมริกันพอสมควร ถึงขั้นได้เข้าชิงรางวัลแกรมมีสาขาดนตรีแจ๊สเลยทีเดียว อีกอย่างหนึ่ง อิทธิพลจากไมล์ส เดวิส น่าจะทำให้แฟนๆ เพลงด้รับอานิสงส์ในแง่ของการซึมซับรายละเอียดงานของโทมัสได้สบายขึ้นเยอะเลยทีเดียว แฟนๆ เพลงกีตาร์แจ๊สก็อย่าเพิ่งน้อยใจไป อย่างไรเสีย เราคงจะต้องจัดให้สลับสับเปลี่ยนอยู่เรื่อยไปตามประสาชาวเราที่อยู่ในประเทศประชาธิปไตย

คนนี้แหละ โทมัส สแตนโก



ใช่...นักทรัมเป็ตฝีปากและฝีมือเยี่ยมคนนี้แหละ โทมัส สแตนโกที่ได้รู้จักกันไปบ้างแล้ว เขาเป็นทั้งนักทรัมเป็ตและนักประพันธ์เพลง อายุไม่น้อย...63 ปี เกิดใน Rzeszow, Poland อีกทั้งยังเป็นนักดนตรีหัวแถวในวงการแจ๊สสมัยใหม่ของโปแลนด์และของฝั่งยุโรปด้วย (ถ้านับนิ้วนักดนตรีโปแลนด์ที่รู้จักในตอนนี้ อาจจะใช้แค่ครึ่งมือก็เป็นได้ แต่ที่แน่ๆ อันนา มาเรีย โจเป็ก ก็เป็นนักร้องอีกคนหนึ่งที่มีฝีมือและกำลังมีผลงานออกสู่ตลาดสากล) ดูเหมือนว่าโทมัสจะมีควรามสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับสุภาพบุรุษนักดนตรีแจ๊สอีกนายหนึ่งที่เป็นศูนย์กลางคนโปลิชแจ๊สในช่วงปลายยุค 50 และต้นยุค 60นั่นคือคริสต็อฟ โคเมดา แม้ว่าผลงานในยุคแรกๆ ของเขาจะได้นิยามว่าเป็น “ฟรีแจ๊ส” หรือ “อะวองต์การ์ด” แต่มักจะมีท่วงทำนองที่อ่อนหวานซ่อนเร้นอยู่ในงานประพันธ์ของโทมัสเสมอ

นอกจากนี้ โทมัสยังคงความเป็นโปแลนด์ทุกกระเบียด และยังไม่ปิดบังอีกว่าเขาเป็นแฟนเพลงตัวกลั่นของคริสต็อฟ ผลงานผ่านเวลา 40 ปี สิ่งที่โทมัสยึดมั่นในแนวทางของเขา.... ความเข้มข้นในทุกตัวโน้ตและสัญลักษณ์แห่งเสียงทรัมเป็ตของเขา ที่ถึงแม้ว่าเริ่มต้นจากไมล์ส เดวิสและเช็ต เบเคอร์ แต่ก็แตกต่างด้วยแนวทางของเขา ถ้าไม่ใช่แบบฉบับของโปลิช ก็เป็นยุโรปเหนือ ดนตรีของเขาเป็นได้ทั้งความรื่นรมย์และขมขื่น ซึ่งเป็นประโยชน์จากการแนวทางหลักของดนตรีโฟล์กของโปแลนด์ เติมแต้มด้วยอิทธิพลทางดนตรีสมัยใหม่ที่ได้รับมาจากอเมริกาและยุโรป นั่นเป็นความอ่อนไหวที่นำเข้าสู่อัลบัมดีๆ อย่าง Soul Of Things (ECM 2002)

อัลบัมชุดนี้แสดงถึงความขุ่นข้นทางความคิดของโทมัสที่เป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์และบรรเลงผลงานออกมาได้อย่างโดดเด่นเท่าที่ศิลปินเดี่ยวคนหนึ่งจะทำออกมาได้ สิ่งที่โทมัสจะเดินทางลงรากลึกต่อไป คงไม่มีใครบอกได้แม้กระทั่งตัวเขาเอง แต่แน่นอนว่ามันน่าจะเป็นที่จดจำอย่างไม่ยากเย็น

Essential Works of Tomasz Stanko



Krystof Komeda / Astigmatic (Power Bros. 1965)

คริสต็อฟ โคเมดาเป็นนักดนตรีที่ฝึกปรือฝีมือด้วยตัวเองทั้งเปียโนและการประพันธ์เพลง เขาไม่ใช่นักเปียโนที่มีฝีมือโดดเด่นในการบรรเลงเดี่ยว หากแต่งานเปียโนของเขานั้นก็ลื่นไหลและคลอไปกับเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นอย่างกลมกลืน ส่วนงานประพันธ์ของเขามีจุดแข็งในด้านโครงสร้าง ร้อยรัดไปด้วยกันกับท่วงทำนองเรียบง่ายแต่งดงาม หรือภาคจังหวะย่อยๆ ที่มีผลต่อมหภาคที่ได้ผลสำเร็จอย่างน่าทึ่ง งานดนตรีของคริสต็อฟมีผลต่อการจินตนาการ ก็เลยไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นงานของเขาเป็นงานดนตรีประกอบภาพยนตร์เสียมาก ผลงาน Astigmatic เป็นผลงานที่น่าพึงพอใจและเป็นเหมือนหลักหมุดทางดนตรีที่ไม่มีใครเสมอเหมือน เสียงทรัมเป็ตของโทมัสในอัลบัมชุดนี้น่าจดจำในแง่ของการเอื้อนที่นุ่มนวลและการเป่าที่ดูเหมือนเขากำลัง “เปล่งเสียงพูด” อย่างอิสระเหนือพื้นผิวที่พลิ้วไหว



Krystof Komeda / Night-time, Daytime Requiem (Power Bros. 1967)

ผลงานชุด Night-time, Daytime Requiem เป็นผลงานที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อเป็นการไว้อาลัยแด่การจากไปของดาวแซ็กโซโฟนอย่างจอห์น โคลเทรน ทั้งที่จริงๆ แล้วมันไม่ได้มีอะไรเหมือนกับจอห์น โคลเทรนเลย ยกเว้นเพียงแค่ช่วงเดี่ยวแซ็กโซโฟน และมันก็ไม่ได้เป็นงานที่แสดงความเคารพต่อจอห์นอีกต่างหาก ตลอดเวลากว่า 27 นาทีของบทเพลง คริสต็อฟพาเราผ่านไปสู่ท่อนเพลงที่เชื่อมต่อร้อยเรียงและเปลี่ยนแปลงในตัวโครงสร้างที่อุดมไปด้วยความโศกสลดและเจ็บปวดรวดร้าวแห่งความสูญเสีย แต่ถึงแม้ว่าจะคร่ำครวญในความไม่เที่ยงในสังขาร แต่ก็มีลีลาของการขอบคุณแฝงอยู่ในทีที่โลกนี้เคยมีจอห์น โคลเทรน โทมัสเดี่ยวทรัมเป็ตโดยเริ่มจากความอ่อนหวานนุ่มนวล จนจบลงด้วยความหม่นมัวและเกรี้ยวกราด Ballad For Bernt ความอลังการแห่งงานบัลลาดนอกรีตถูกอุทิศให้แก่นักเทนเนอร์แซ็กโซโฟน เบิร์นต โรเซ็นเกร็น ที่เคยเล่นอยู่กับคริสต็อฟมาก่อนโทมัส



Tomasz Stanko / Music For K (Power Bros. 1970)

อัลบัมชุดแรกในนามของโทมัส ฐานะของผู้นำวง ซึ่งดูชื่อชุดก็พอจะเลาๆ แล้วว่าเป็นงานอุทิศให้กับคริสต็อฟ แต่ไม่ได้ใช้เพลงของคริสต็อฟซะทีเดียว ผลงานดนตรีอิสระภายใต้กรอบการทำงานประพันธ์ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยความข้นคลั่กที่ไม่อาจจะฟังให้เข้าถึงได้โดยง่าย เอาละสิ.... สงสัยต้องฝ่าด่านอรหันต์กันหลายทวารก่อนจะมาสัมผัสงานชุดนี้ได้ 555 เราสามารถจะสัมผัสถึงความเชื่อมโยงทางดนตรีที่โทมัสมีไปถึงคริสต็อฟผ่านกระบวนการสร้างสรรค์และความคิดของเขา ถึงแม้ว่าดนตรีมันอาจจะเข้มข้นมากขึ้นอีกระดับ Czatownik เริ่มแผดเผาเราเรื่อยไปจนถึง Cry เพราะเสียงกระหน่ำของเครื่องเป่าที่คร่ำครวญกลายมาเป็นแก่นหลักของงาน ชิ้นงาน Music For K โคลงสดุดีความยาว 16 นาทีแด่คริสต็อฟ ส่งสะท้อนดนตรีไม่มีที่ติด้วยพลังที่เปิดเผยอย่างเก่งกล้าท้าทาย



Tomasz Stanko / Balladyna (ECM 1976)

ผลงานชุดแรกของโทมัสภายใต้สังกัดสัญชาติเยอรมันอย่างอีซีเอ็ม First Song ถูกกำหนดออกมาให้บางเบา พลิ้วไหวอย่างไม่รู้จักหยุดหย่อน ถึงแม้ว่างานชุดนี้จะเป็นงานดนตรีอิสระที่ไม่มีแก่นหลัก แต่ว่าก็ถูกร้อยรัดไปด้วยโครงสร้างที่สามารถฟังสัมผัสได้ ซึ่งทำให้โทมัสและซัสคาลสกี ถ่ายทอดอิสระทางดนตรีที่ไม่จบสิ้นโดยมิพักต้องอาศัยตัวโน้ตที่มากมาย First Song จะยังเป็นงานเพลงที่บ่งบอกให้เรารู้ว่าโทมัสทำมันออกมาได้อย่างไรโดยยังอ้างถึงอิสระ Balladyna เริ่มต้นเหมือนท่วงทำนองแห่งดนตรีโฟล์กและแตกแขนงออกไปสู่การค้นหาอิสรภาพแห่งเสียงและท่วงทำนองที่บริสุทธิ์



Tomasz Stanko / Bluish (Power Bros. 1991)

ในช่วงทศวรรษที่ 80 โทมัสได้เล่นร่วมวงกับนักดนตรีหลากหลาย อาทิ ซีซิล เทย์เลอร์ และบันทึกเสียงให้กับค่ายโปโลเนียและค่ายอื่นๆ ด้วย แต่นี่ก็เป็นภาพรวมๆ ของเขาก่อนที่จะมาออกอัลบัมสำคัญถัดไป ภาคดนตรีทั่วไปในอัลบัมชุดนี้อาจจะฟังไม่อลังการเพราะเป็นเพียงวงสามชิ้น แต่โทมัสยังคงแสดงออกทางความคิดอย่างเต็มที่ Daada มีความเรียบง่ายที่เราสามารถจะเดาทางได้ จนกระทั่งมันพลิ้วไหวออกไป Bluish เกือบจะเป็นสวิงในช่วงที่โทมัสเล่นอยู่ แต่ในทันใดก็ถูกหักเหด้วยไลน์โซโลของมือกลอง ก่อนที่จะดึงกลับมาอีกครั้งด้วยทรัมเป็ต Third Heavy Ballad บอกลางแห่งการดำดิ่งลงลึก ความสลดเศร้าแรงกล้าที่ต่อมาถูกปลดปล่อยด้วย Leosia



Tomasz Stanko / Bosonossa And Other Ballads (GOWI 1993)

การรวมตัวครั้งแรกของวงสี่ชิ้นภายใต้สังกัดอีซีเอ็ม เพลง Sunia เริ่มต้นช้าๆ ด้วยสัญลักษณ์ของโทมัสที่พร้อมจะออกล่องลอยไปสู่ทุกแห่งหน แต่แล้วก็ถูกกระชากกระชั้นด้วยเสียงหวีดแหลมตบท้าย เบสและเปียโนถูกใช้เป็นตัวนำสู่ความคิดรวบยอดที่ต่อเนื่องเปรียบเสมือนยอดข้าวที่มีความยาวถึง 10 นาที Maladoror’s War Song เป็นทุกอย่างที่โทมัสเป็น และอาจจะเป็นทำนองเดียวที่สามารถจะอรรถาธิบายดนตรีที่เขาเคยเล่นมาตลอดชีวิต บทเพลงที่งดงาม Morning Heavy Song ถูกประพันธ์ออกมาเป็นอนุสรณ์แก่เพลง Leosia



Tomasz Stanko / Matka Johanna (ECM 1995)

อีกผลงานแอ็บสแตร็กต์ของโทมัส แต่ละเพลงเป็นภาพบรรเลงที่สร้างสรรค์ขึ้นมาจากภาพยนตร์ Matka Johanna from the Angels โดยแจร์ซี คาวาเลโรวิกซ์ เพื่อไปสู่บุคคลที่อัลบัมนี้ได้อุทิศให้ มีหลายเพลงที่ถูกรีอะเรนจ์จากผลงานเก่าของโทมัสอย่าง Maladoror’s War Song จาก Bosonossa ไปจนถึง Tales Of The Girls, 12 ที่นำไปสู่การเล่นที่น่าจดจำ แต่อัลบัมนี้คงจะไม่เหมาะนักหากจะเริ่มฟังเพื่อศึกษาผลงานของเขา แต่มันจะเป็นตัวช่วยเติมเต็มในภายหลังมากกว่า



Tomasz Stanko / Leosia (ECM 1996)

น่าจะเป็นอัลบัมที่เข้มข้นที่สุดในช่วงสิบปีหลังของโทมัสก็ว่าได้ ท่อนเชื่อมที่น่าทึ่งอันก่อให้เกิดยอดตระหง่านแห่งความอลังการในท่อนเปิดของเพลง Morning Heavy Song และเสียงโหยหวนที่ใกล้เข้ามาในเพลง Leosia ที่ถูกโอบล้อมไปด้วยเสียงจากวงดนตรีสี่ชิ้นเล่นจากต่างสัณฐานภายใต้ความเข้มข้นอันเงียบสงบเดียวกัน รอยสลักสีขาวและดำบนท้องถนนว่างเปล่าและระยางสายโทรศัพท์ที่เห็นในยามค่ำคืนฝนพรำบ่งบอกทุกอย่างในอารมณ์ร่วมของอัลบัม ที่มองฝ่าความมืดออกมาเห็นความหวังทอประกายอย่างแรงกล้า



Tomasz Stanko / Litania – The Music Of Krzysztof Komeda (ECM 1997)

ผลงานชุดนี้มีไลเนอร์โน้ตมากมายเพื่อรำลึกถึงคริสต็อฟ โคเมดาทั้งจากโทมัสเอง, โบโบ สเต็นสันแล้วก็คนอื่นๆ รวมทั้งแมนเฟร็ด เอ็กเกอร์ โปรดิวเซอร์และโรมัน โปลันสกี ผู้กำกับหนัง ซึ่งคริสต็อฟเขียนเพลงประกอบหนังให้หลายเรื่อง รวมไปถึง Rosemary’s Baby ด้วย โทมัสเขียนว่าเขาเตรียมตัวมากโดยการฟังเพลงชุดก่อนๆ แล้วก็เขียนถึงความจำเป็นที่บทเพลงเพลงหนึ่งจะสามารถทำให้เขามาร่วมงานและมีประสบการณ์ที่ดีกับคริสต็อฟได้ นี่เป็นอีกผลงานหนึ่งที่ดีเยี่ยมที่จะมาใช้เปรียบเทียบกับอัลบัมดั้งเดิมของคริสต็อฟที่ออกกับสังกัด Power Bros.



Tomasz Stanko / From The Green Hill (ECM 1999)

ชุดนี้ไม่ได้ใช้นักดนตรีแบ็กอัพชุดเดิม (มีจอห์น เซอร์แมนเพิ่มในตำแหน่งบาริโทน แซ็กฯ และเบสคลาริเน็ต, ดิโน ซาลุสซีในตำแหน่งแบนโดเนียนและมิเชล มาคาร์สกีในตำแหน่งไวโอลิน) โทมัสก็ได้สร้างสรรค์ผลงานชิ้นโบว์แดงอีกชิ้นหนึ่ง อารมณ์ของเพลงเป็นแบบเข้มข้นอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งมีงานประพันธ์ของจอห์น เซอร์แมนด้วย Litania เพลงของคริสต็อฟที่หม่นเหงาราวหยาดน้ำตา Quintet’s Time มีช่วงที่ให้ความรู้สึกหลอกหลอนมากที่สุดเท่าที่โทมัสเคยประพันธ์ผลงานมาทีเดียว ขณะที่ …From The Green Hill สามารถที่จะถูกวางไว้เป็นเพลงประกอบหนังได้สบายๆ แทบจะไม่มีคำคุณศัพท์ใดที่จะมาขยายความอัลบัมนี้ได้อย่างเหมาะสม หากแต่เวลา 73 นาทีที่เครื่องเล่นหยุดเล่นนี่แหละ มันจะบอกคุณเอง



Tomasz Stanko / Soul Of Things (ECM 2002)

ขณะที่อัลบัมนี้ออกวางจำหน่าย โทมัสและเพื่อนร่วมวงสี่ชิ้นของเขาก็กำลังออกทัวร์เป็นเวลาต่อเนื่องหลายปี (จริงๆ แล้วก็ตั้งแต่พวกเขายังวัยรุ่นอยู่เลย) เขามักจะเล่นตามสถานที่เล็กๆ คลับย่อมๆ เป็นหลักคือจุดมุ่งหมายในการออกตระเวนแสดง ด้วยตัวดนตรีในอัลบัมชุดนี้เองหวนกลับสู่ความเป็นแทรดิชันด้วยบทเพลง 13 ชิ้นที่ไม่ปรากฏชื่อ และใช้ธีมบางบทของเพลงบางในอัลบัมก่อนหน้า รวมไปถึงโฟล์กธีมของโปแลนด์



Tomasz Stanko / Suspended Night (ECM 2004)

อัลบัมล่าสุดกับค่ายอีซีเอ็มที่ออกมาตั้งแต่ 2004 วางโครงสร้างในแบบเดียวกับ Soul Of Things และยังคงสนเวียนอยู่กับแทรดิชัน ดูหนักแน่นและจับต้องได้มากขึ้น 10 เพลงหลังต่อ Song For Sarah ล้วนแต่ไม่มีชื่อทั้งสิ้น เราจะรู้สึกได้ถึงความเข้มข้นที่ถูกทำให้กลมกล่อมผสมผสานกับความอิสระที่มีให้กับนักดนตรีทั้งสามคน ( ถึงแม้ว่าโทมัสจะเล่นน้อย แต่ควบคุมแนวทางได้อย่างสมบูรณ์แบบ (ผลงานที่ระบุชื่อ Trio เราจะไม่ได้ยินประกายก้องของโทมัสมากเท่าที่ใจปรารถนา พลังดนตรีที่ล้นเหลือนี่จะเป็นแรงเลือดใหม่ที่จะก้าวสู่บทต่อไปที่เรืองรองผ่องใส


Create Date : 28 ธันวาคม 2548
Last Update : 28 ธันวาคม 2548 15:00:48 น. 1 comments
Counter : 1941 Pageviews.

 
สาย JAZZ ไม่ค่อยได้ฟังวเลยครับ จะเป็นพวก มาสวาทกับ Rock นี่พอรู้จัก....มีโอกาส จะลองรับอรรถรส ด้วยความเต็มใจ


โดย: สาหร่าย (แร้ไฟ ) วันที่: 30 ธันวาคม 2548 เวลา:2:30:03 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

nunaggie
Location :
City of Angels, Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




คุยเฉพาะเรื่องเพลง :D

"I still find each day too short for all the thoughts I want to think, all the walks I want to take, all the books I want to read, and all the friends I want to see." John Burroughs

Follow my twitter @nunaggie :)

"มีเรื่องราวอีกมากมายให้ชีวิตต้องเดินทางไปค้นหา เราคงไม่ค้นพบทุกอย่างได้ เพียงแค่ชั่วชีวิตเดียว"
Creative Commons License
© Supada Luangsirimongkol 2015.
qrcode
Friends' blogs
[Add nunaggie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.