"แจ๊ส....ฉัน"
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2551
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
22 พฤษภาคม 2551
 
All Blogs
 
ตะลุย 50 อัลบัมเพลงแจ๊สตามอำเภอใจ

ผ่านปีใหม่ไปจนค่อนปีแล้ว จะจั่วหัวว่าประจำปี 2550 ก็แลดูประหลาดไปหน่อย เหมือนล้าสมัยโดยไม่ตั้งใจ ก็เลยอยากจะขอพาคุณผู้อ่านพักจากมินิซีรีส์ (อย่างยาว) มือกีตาร์มาสู่มินิวิจารณ์ห้าสิบอัลบัมแบบรวดเดียวจบ อย่าอารัมภบทให้มากความ เริ่มต้นกันเลยดีกว่าไหม???

50. Kendra Shank – A Spirit Free : Abbey Lincoln Songbook (Challenge)
เคนดรา แชงก์สื่อสารบทเพลงของแอ็บบี ลินคอล์นออกมาได้อย่างครอบคลุม เสียงร้องของเธอส่งต่อเรื่องราวจากบทเพลงได้อย่างอบอุ่น สง่างาม และที่สำคัญคือ “ทรงพลัง”



49. Robin Eubanks & EB3 – Live Vol. 1 (Kindred Rhythm)
นักทรอมโบนโรบิน ยูแบงก์ส กับวงดนตรีสามชิ้นวงล่าสุดของเขา ได้สร้างสรรค์ภาพจินตนาการในขณะฟังอัลบัมนี้ว่าจะต้องมีนักดนตรีไม่น้อยกว่าสี่คนแน่นอน จนบางครั้งก็รู้สึกเหมือนกับว่า “เฮ้ย ซาวด์มันเยอะจริงจริ๊ง”



48. Phil Kelly & The SW Santa Ana Winds – My Museum (Origin)
เหมือนกับชื่อทางอุตุนิยมวิทยาที่พวกเขาใช้เป็นชื่อวง กลุ่มดนตรีกลุ่มนี้ก็ตามติดเป็นเงาให้กับวงบิ๊กแบนด์ของฟิล เคลลี นักดนตรีผู้มีรากฐานอยู่ซีแอตเติล มาสู่ลอส แอนเจลิส ซาวด์ของพวกเขาออกมารุ่มรวย ร่าเริง อบอุ่น ไม่ผิดไปจากบรรยากาศของเมืองแอลเอเลยจริงๆ



47. Four80East – Enroute (Native Language)
สงสัยจะไม่มีใครบอก โฟร์เอตตีอีสต์ ว่ามันหมดยุคดนตรีชิลในอเมริกาแล้ว แต่ขอบคุณคุณพระคุณเจ้าที่ไม่มีใครบอก เพราะอัลบัมแรกที่พวกเขาออกมาในรอบสี่ปีนี้ ถือว่าเป็นงานเพลงบรรเลงที่เข้าขั้น State-of-the-Art อย่างสิ้นเชิง ดนตรีที่ปราดเปรื่อง สมัยใหม่ และก็มากไปด้วยสิ่งที่จะทำให้แฟนเพลงประทับใจจริงๆ



46. Double Image – Live in Concert (Double image)
ฝีมือการอิมโพรไวส์ที่ช่ำชองถึงการสื่อออกมาของอารมณ์อันอ่อนไหว ประกอบกับความหลากหลายอันสร้างสรรค์ในการเล่นเพอร์คัสชันของเดวิด ซามูเอลส์กับเดฟ ฟรีดแมนนั้น น่ารื่นรมย์ที่จะเสพฟัง ถ้าคุณต้องการงานแสดงสดสักชิ้นที่จะเก็บไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานฟังล่ะก็ อัลบัมนี้คือคำตอบ

45. Anat Cohen – Noir (Anzic)
จากอัลบัม Poetica ทุกสิ่งทุกอย่างในอัลบัม Noir ดีเริดกว่าทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพการบันทึกเสียง, คุณภาพของนักดนตรีแบ็กอัพ และที่สำคัญที่สุด ฝีมือการนำวง การเรียบเรียงดนตรี การอำนวยวงที่เหนือชั้นของอะนัท โคห์น ส่วนที่ไม่น่าลืมไปได้คงจะเป็น โอเด็ด เลฟ อารี โค-โปรดิวเซอร์คนนี้อีกคน

44. Hiromi Uehara’s Sonic Boom – Time Control (Telarc)
ฮิโรมิเคยบอกว่าอาหมัด จาห์มาล, คิง คริมสันและดรีม เธียเตอร์คือแรงบันดาลใจและอิทธิพลในการเล่นดนตรีของเธอ ก็ดูเหมือนว่าเธอจะพูดไม่ผิดจริงๆ เทคนิกการเล่นที่อุดมไปด้วยปรีดารมณ์อย่างเต็มเปี่ยม ท่วงทำนองประโลมเล้าอย่างร่าเริง เดินทางไปพร้อมๆ กันกับเสียงกีตาร์ฟิวชันจากสรวงสวรรค์ที่เล่นโดย เดวิด “ฟิวซ์” ฟิอุกซินสกี

43. Kenny Davern/Ken Peplowski – Dialogues (Arbors)
นี่สิถึงจะเรียกว่า “แจ๊ส” นักดนตรีที่มีสัญชาตญาณในการประดิษฐ์คิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ มาร่วมงานกันโดยใช้บทสนทนาภาษาสวิงเป็นตัวสื่อสาร

42. The Nels Cline Singers – Draw Breath (Crytogramophone)
การทำงานของเขาให้กับวงวิลโค ในชุด Sky Blue Sky นั้น เนี้ยบจนถือเป็นการยกระดับให้กับประวัติการทำงานของเขาเลยก็ว่าได้ แต่ขณะเดียวกัน วงดนตรีที่ไร้เสียงร้องของเนลส์วงนี้ ก็เดินตามแนวทางฟิวชัน, โพสต์บ็อป และโพสต์พังก์ ได้อย่างน่าชื่นชมเป็นผลลัพธ์

41. Mike Moreno – Between The Lines (World Culture)
หลังยุคเคิร์ต โรเซนวิงเคลและเบน มอนเดอร์ (มือกีตาร์แจ๊สรุ่นใหม่) แล้ว ไมก์ โมเรโนดูเหมือนจะเป็นปรากฏการณ์ล่าสุด หน้าใหม่ใสกิ๊กที่สุด รูปงามระหงที่สุดและไม่มีอัตตามากที่สุดในแจ๊สพิภพตอนนี้เลยก็ว่าได้

40. Abbey Lincoln – Abbey Sings Abbey (Verve)
ถึงแม้เสียงของแอ็บบีจะเป็นเหมือนชิ้นดนตรีที่เปราะบางที่สุดในสมัยนี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเสียงนั้นลุ่มลึก มีวิญญาณ และตื่นตัวอยู่เสมอ ไม่ว่าใครก็ตามที่มองหาสิ่งตอกย้ำว่าเธอยังคงสถานะอันดับต้นของนักปราชญืแห่งกวีเพลงแจ๊สอยู่ล่ะก็ งานชุดนี้จะบอกได้ด้วยตัวของมันเองเป็นอย่างดี

39. Carla Bley – The Lost Chords Find Paolo Fresu (Watt/ECM)
จากการร่วมงานกันครั้งแรกด้วยประสบการณ์ระบดับเทพของทั้งสองคน คาร์ลาเป็นนักเปียโนมีชื่อที่เล่นเข้าขั้นเก๋า ดุดัน ส่วนเปาโล เฟรซู สื่อสารตัวโน้ตผ่านทรัมเป็ตในอารมณ์แบบโรแมนติก ไม่ใช่แค่นั้น อัลบัมชุดนี้ยังถือเป็นอัลบัมที่ดีที่สุดในรอบหลายๆ ปีของนักดนตรีทั้งสองอีกด้วย

38. Jeremy Pelt & Wired – Shock Value:Live at Smoke (Maxjazz)
การจับเอาดนตรีในช่วงยุคอิเล็กทริกของไมล์ส เดวิสมาทำใหม่ ถือเป็นสิ่งที่หัวหน้าวงรุ่นใหม่ๆ มักจะนิยมกันเป็นกระแส แต่จะว่าไปในปี 2550 ก็ไม่มีใครที่จะสามารถทำออกมาได้ยั่วยวนและเศร้าโศกได้ดีไปกว่านักดนตรีหนุ่มมีดีที่ไม่โอ้อวดอย่างเจเรมีกับวงดนตรีไฟแรงแห่งนิวยอร์ก

37. Exploding Star Orchestra – We Are All From Somewhere Else (Thrill Jockey)
ร็อบ แมนเซอเร็ก นักประพันธ์เพลง นักคอร์เน็ตและผู้นำวง ได้ควบคุมวงดนตรีแจ๊สอลังการหัวก้าวหน้า และดึงเอาความสามารถที่มีอย่างไม่สิ้นสุดออกมาใช้ได้อย่างบรรลุผลอย่างสวยงาม

36. David Torn – Prezens (ECM)
กลับมาสู่อ้อมอกของค่ายอีซีเอ็มอีกครั้งหนึ่งกับมือกีตาร์ผู้ทำลายความเชื่อของปวงชน (ด้วยความช่วยเหลือแบบมืออาชีพของนักออร์แกน เคร็ก แท็บบอร์น) ได้ผสมผสานเอาความแกร่งในความเป็นนักดนตรีกับความระห่ำแบบอิเล็กโทรนิก ที่จะทำให้นักดนตรีสายอินดัสเทรียลอย่างเทรนต์ เรซเนอร์ (Nine Inch Nails) และเอเพ็กซ์ ทวินส์มีอะไรต้องขบเสียแล้ว

35. The Bad Plus – Prog (Heads Up)
ด้วยความไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมและความกดดันจากค่ายเมเจอร์ บวกกับความขัดแย้งที่อยู่เบื้องหลังพวกเขา เดอะ แบด พลัสก็ปล่อยอัลบัมที่สุดจะปราดเปรื่องด้วยการออกแบบปกแบบดั้งเดิม การจำแนกประเภทให้กับเดอะ แบด พลัสนี่เป็นเรื่องยากมาก แต่ด้วยความภูมิฐานของทางวงกับแฟนเพลงส่วนมากที่เป็นเด็กหนุ่มวัยรุ่น Prog ก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งทีเดียว

34. Floratone – Floratone (Blue Note)
ด้วยบรรยากาศที่ล่องลอย สุญญากาศในแบบของบิล ฟริเซล และเพื่อนๆ ของเขาที่มาร่วมวงฟลอราโทน อย่าง แม็ต แชมเบอร์เลน (กลอง), ทักเกอร์ มาร์ติน (โปรดิวเซอร์) และลี ทาวน์เชนด์ มือกีตาร์ที่มาช่วยออกแบบเสียงแบ็กกราวด์ที่ออกมาแล้วจะเป็นอะไรไม่ได้เลย นอกจาก “ฟลอราโทน”

33. Eddie Daniels – Homecoming:Live at the Iridium (IPO)
การเล่นที่หยาดเยิ้ม หยดย้อยของเอ็ดดี ซึ่งให้เสียงคลาริเน็ตที่หมดจดมากไปกว่าที่จะได้ยินจากที่ใด เรียกเอาความงดงามตะการตาที่สูญหายไปกลับคืนมา

32. Carol Slone – Dearest Duke (Arbors)
จะมีอะไรให้พูถึงกันอีกสำหรับแครอล สโลน นักร้องเสียงระฆังทองคนนี้? “ไม่มี” คือคำตอบ ยกเว้นแต่ความสามารถในการให้รูปทรงของบทเพลงมืดมนอนธกาล ที่มีเปียโนเล่นสนับสนุน กับเครื่องเป่าไม้และทองเหลืองซึ่งเพิ่มคุณค่าของผลงานได้อย่างไม่ยากเย็น

31. Robert Glasper – In My Element (Blue Note)
ความรื่นเริงถูกทำให้พลิ้วหวาน แต่เสียงร้องในแบบฉบับฮิปฮอป เจเนอเรชันยังคงอยู่ ด้วยการร่วมงานกันกับวิเชนเต อาร์เชอร์ (เบส) และเดเมียน เร็ด (กลอง) วงดนตรีสามชิ้นของโรเบิร์ตก็ยังเดินหน้ากลบดินฝังอาร์แอนด์บีแบบเก่าๆ ภายในกรอบของเปียโนแจ๊สหัวดื้อไม่โอลด์ สคูลนี่แหละ

30. Bill McHenry – Roses (Sunnyside)
ในการร่วมงานกันครั้งที่สองของนักแซ็กโซโฟนม้ามืด, มือกลองนามกระเดื่อง พอล โมเชียน ได้ปรับปรุงรูปร่างวงดนตรีของบิล แม็กเฮนรีให้กลายมาเป็นวงดนตรีสามชิ้นที่ยอดเยี่ยมของตัวเอง พร้อมด้วยเรด แอนเดอร์สัน ที่ให้นวลเสียงต่ำเคียงคู่กันไปด้วย

29. Jason Lindner Big Band – Live at Jazz Gallery (Anzic)
เจสันฝืนกฎของดนตรีบิ๊กแบนด์ด้วยการเล่นแบบเน้นผู้เล่น ไม่ได้เน้นที่การเรียบเรียงดนตรี ก็เป็นอะไรที่น่าเสียดาย เพราะว่าเป็นการสูญค่าของตัวบทเพลงไปอย่างน่าเสียดาย ด้วยว่ามันเป็นอะเรนจ์เมนต์เต็มวงสองเท่าของที่เราได้ยินจากแผ่นซีดีแผ่นนี้เสียอีก

28. The Stryker/Slagle Band – Latest Outlook (Zoho)
ถ้าอ่านแต่ชื่ออัลบัมอาจจะคิดไปอีกอย่าง แต่อัลบัมนี้อุดมไปด้วยเสน่ห์ในตัวของมันเอง และความมีชีวิตชีวาแบบที่ได้รับอิทธิพลมาจากชาร์ลี พาร์เกอร์และชาร์ลส มิงกัส, เพื่อนเก่าอย่างนักเปียโนยุคหลัง จอห์น ฮิกส์และเพื่อนร่วมวงเก่าๆ ที่กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง

27. Chris Potter – Song For Anyone (Sunnyside)
นอกจากวงของชาร์ลี ฮาเดนแล้ว บางคนอาจจะได้ยินเสียงสะท้อนของวงห้าชิ้นแบบไมเคิล เบร็กเกอร์ หรือออร์เคสตราแบบมาเรีย ชไนเดอร์ หากแต่กับวงเอนเซมเบิลของคริส พ็อตเตอร์เองแล้ว เขามีนวลเสียงที่เป็นของตัวเองโดยไม่มีเสียงสะท้อนของใครอื่นใด

26. Pat Metheny/Brad Mehldau – Quartet (Nonesuch)
ในการร่วมงานแบบดูโอครั้งแรกที่ผ่านมา นักดนตรีที่เป็นสัญลักษณ์ของดนตรีแจ๊สทั้งสองคนต่างก็ได้ตั้งเสาของตัวเองให้กลายมาเป็นจิม ฮอลและบิล เอแวนส์ในยุคนี้ได้อย่างไม่มีข้อกังขา ส่วนในวงเต็มรูปแบบวงนี้ พวกเขาได้ลงเสาของวงดนตรีโพสต์บ็อปในอุดมคติ

โอ้ย ยาวเหลือเกิน เอาไว้ต่ออันใหม่แล้วกัน


Create Date : 22 พฤษภาคม 2551
Last Update : 22 พฤษภาคม 2551 16:50:03 น. 2 comments
Counter : 1100 Pageviews.

 
แวะมาเยี่ยมค่ะ ชอบแจ๊ซเหมือนกันค่ะ ขอแอ๊ดละกันนะคะ จะแวะมาเยี่ยมใหม่ค่ะ


โดย: GottaBeMary วันที่: 22 พฤษภาคม 2551 เวลา:20:35:22 น.  

 
โห้ย ยาวจริงๆ เด้อ

แปะชื่อไว้ก่อน ค่อยมาเก็บทีหลัง 555


โดย: udomdog วันที่: 27 กรกฎาคม 2551 เวลา:18:05:16 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

nunaggie
Location :
City of Angels, Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




คุยเฉพาะเรื่องเพลง :D

"I still find each day too short for all the thoughts I want to think, all the walks I want to take, all the books I want to read, and all the friends I want to see." John Burroughs

Follow my twitter @nunaggie :)

"มีเรื่องราวอีกมากมายให้ชีวิตต้องเดินทางไปค้นหา เราคงไม่ค้นพบทุกอย่างได้ เพียงแค่ชั่วชีวิตเดียว"
Creative Commons License
© Supada Luangsirimongkol 2015.
qrcode
Friends' blogs
[Add nunaggie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.