"แจ๊ส....ฉัน"
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2553
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
16 สิงหาคม 2553
 
All Blogs
 
“CHAOGRAPHY” แจ๊สสำเนียงใหม่ในร่องหนามเตย




หากยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้เราเคยเสนอบทความเกี่ยวกับดนตรีแจ๊สประกอบภาพยนตร์ไปบ้างแล้ว ซึ่งแต่ละเรื่องล้วนแล้วแต่เป็นอัญมณีของภาพยนตร์เกี่ยวกับแจ๊สทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น Bird (ชีวประวัติบางส่วนของชาร์ลี พาร์เกอร์), Round Midnight (นำแสดงโดย เด็กซ์เตอร์ กอร์ดอน เพลงประกอบฝีมือเฮอร์บี แฮนค็อก), De-Lovely (เรื่องราวชีวิตของโคล พอร์เตอร์ นักแต่งเพลงนามกระเดื่องที่หลายคนยังไม่รู้จักเขาดีนัก) เป็นอาทิ น่าเสียดายที่ไม่ได้เขียนบทความในหัวข้อนี้อย่างต่อเนื่องนัก เพราะว่าหนังแบบนี้ค่อนข้างที่จะหาดูยากอยู่สักหน่อยในบ้านเรา



อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ เราได้อ่านบทความชิ้นหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงการภาพยนตร์ที่น่าสนใจสำหรับคอเพลงแจ๊สเป็นอย่างยิ่ง คุณคิดว่ามันจะเป็นอย่างไรเมื่อเราได้ดูหนังที่นักดนตรีมาสวมบทบาทเสียเอง? และนักดนตรีแต่ละคนล้วนแล้วแต่เป็นโปรฯ ที่คอแจ๊สอย่างเรารู้จักกันเป็นอย่างดี แถมด้วยนักดนตรีดาวรุ่งไฟแรงมาร่วมงานอีกด้วย คงจะเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่ไม่ได้พบเห็นกันบ่อยๆ นัก มิพักต้องพูดถึงวัฒนธรรมฮอลลีวู้ดที่ไม่ได้มีเป้าประสงค์จะทำหนังเพื่อตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มเล็กๆ อยู่แล้ว

Chaography เป็นชื่อของภาพยนตร์ที่เรากำลังจะพูดถึงในฉบับนี้ ดั๊ก ชาง นักทำภาพยนตร์หนุ่มคือ เจ้าของโปรเจ็กต์ฝันให้ไกลไปให้ถึงชิ้นนี้ ดั๊กเป็นแฟนเพลงแจ๊สหัวหอกที่อยากจะเปิดกล้องหนังในช่วงกลางปี 2010 เนื้อหาจะเป็นเรื่องแต่งขึ้นใหม่ทั้งหมด โดยอิงเรื่องรางคร่าวๆ จากนักดนตรีในตำนานแจ๊ส 5 คน เพลงที่ใช้จะเป็นเพลงต้นฉบับดั้งเดิมทั้งสิ้น โดยการบรรเลงสดขึ้นมาใหม่อีกครั้งแบบไม่ลิปซิงก์

ส่วนที่ดึงดูดความสนใจมากที่สุดก็คือ ส่วนของการอิมโพรไวส์ ที่ดั๊ก ชางและด็อกเตอร์ รอน ทิคอฟสกี ผู้อำนวยการสร้างนำมาเป็นส่วนผสมหลัก ซึ่งการอิมโพรไวส์คือหัวใจของดนตรีแจ๊สที่ดี แฟนเพลงทุกคนย่อมรู้ดีในข้อเท็จจริงอันนี้ นักแสดงจะอิมโพรไวส์สดในการถ่ายทำ ดั๊กมักจะพูดถึงประโยคที่เหล่านักดนตรี (นักแสดงของเขา) คุยตอนทำงานด้วยกัน

โปรเจ็กต์มีความน่าสนใจอยู่อีกอย่าง คือการที่พวกเขาได้พัฒนาโมเดลของการหาทุนทำหนังขึ้นมาอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งคล้ายๆ กับ ArtistShare* ซึ่งในกรณีอย่างนี้ทำให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจ มีโอกาสร่วมด้วยช่วยกันระดมทุนบริจาคเงินสมทบมากขึ้น โดยไม่ต้องตะลอนๆ ไปคุยกับนายทุนสตูดิโอ ซึ่งหากบริจาคได้ครบตามจำนวนที่กำหนดต่อคน ก็จะได้รับได้สิทธิเป็นผู้อำนวยการสร้างคนหนึ่งของทีมงานเลยทีเดียว และอาจจะได้เป็นหนึ่งในตัวประกอบของบางฉากอีกด้วย

ชื่อของหนังเรื่องนี้คือ Chaography : Variations on the Theme of Freedom ธีมของหนังถักทอร้อยเรียงห้าเรื่องราวให้เป็นหนึ่งเดียว ตัวละครหลักแต่ละตัวเล่นโดยนักดนตรีร่วมสมัย เอริก รีด (เปียโน) และสเตซี ดิลลาร์ด (แซ็กโซโฟน) ได้รับคัดเลือกเป็นนักแสดงของทีมแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แล้วก็จะมีนักแซ็กโซโฟน, นักทรัมเป็ต และนักเบสอีกอย่างละคนมาสมทบในบทอื่นๆ ซึ่งก็หมายถึงว่า พวกเขาทั้งห้าคนจะสวมบทบาทนักดนตรีระดับตำนานห้าคน ที่เป็นที่มาของคาแร็กเตอร์ในหนัง ห้าคนที่ว่านี้ก็คือ เธลอเนียส มังก์, ชาร์ลส มิงกัส, ไมล์ส เดวิส, ออร์เน็ต โคลแมน และจอห์น โคลเทรน แค่ได้ยินชื่อของห้าคนนี้ ก็คงอยากจะดูหนังกันแล้วล่ะสิ! ณ ตอนนี้เอริกและสเตซี จะสวมบทเธลอเนียสและจอห์นตามลำดับ

ต้นกำเนิดของหนังเรื่องนี้มาจากเรื่องราวๆ เล็กๆ น้อยๆ ที่ดั๊กฟังมาจากพ่อ ผู้ซึ่งเป็นบาร์เทนเดอร์ในเดอะ แจ๊ส แกลเลอรี ไนต์คลับที่นิวยอร์ก ตั้งแต่ปี 1959-1963 ได้กระทบไหล่คนดังในนั้นมาก็หลายครั้งหลายหน ไม่ว่าจะเป็นนักดนตรีที่มาเล่น หรือลูกค้าก็ตาม

คอนเซ็ปต์ก่อร่าง

“เนื้อหาทั้งหมดเป็นเรื่องแต่งขึ้น” ดั๊ก ชางเล่า “เราจะไม่ได้เซ็ตฉากในปี 1959 นะครับ เพราะผมอยากจะให้มันเป็นงานร่วมสมัย อยากให้ความรู้สึกที่เหมือนกับว่ามันเป็นสถานที่สมมติ ที่มีกิจกรรมแจ๊สเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เรื่องราวจะเกิดขึ้นในนิวยอร์กนี่ละครับ อ้างอิงจากเรื่องราวที่พ่อผมเฝ้าสังเกตมา แล้วก็เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับพ่อ หรือแม่ผมที่ตอนนั้นคบหาอยู่กับพ่อ

“มีเรื่องเล่าของแจ๊สในตำนานคนหนึ่งนะครับ ตอนนั้นเป็นช่วงวันสิ้นปี พ่อทำงานในคืนนั้น เขาก็พาแม่มาฉลองด้วยกัน แล้วนักดนตรีตำนานคนนี้ก็แบบว่า… วิ่งไล่ขอหอมแก้มแม่รับขวัญปีใหม่ทั้งคืน แม่ผมเพิ่งมาจากเมืองจีนได้แค่ปีครึ่งเท่านั้นเอง เธอก็เลยไม่คุ้นกับอะไรแบบนี้ แล้วก็ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่ผมไม่เคยได้ยินจากที่ไหนมาก่อนเลย ซึ่งมันเป็นการจุดประกายในการสร้างสรรค์คาแร็กเตอร์ตัวละครได้เป็นอย่างดีครับ”



ดั๊กเล่าต่อว่า “นักดนตรีทั้งห้าคนที่ผมเอามานำเสนอนี้ ก็คือคนที่พ่อผมได้ดูอยู่เป็นประจำที่คลับครับ ทั้งในฐานะนักดนตรีและลูกค้า เขาเจอจอห์น โคลเทรนบ่อย เจอเธลอเนียสบ่อย เจอออร์เน็ตก็บ่อย ส่วนชาร์ลส มิงกัสถึงจะไม่ค่อยได้เล่นที่นั่น แต่ก็เล่นประจำทั่วไปในเมือง แล้วเป็นลูกค้าที่แวะมาที่คลับ ส่วนไมล์สเล่นประจำอยู่ในคลับย่านอัพทาวน์ แต่ก็แวะมาเดอะ แจ๊ส แกลเลอรีค่อนข้างบ่อย ผมได้จุดเริ่มต้นความคิดจากดนตรีของพวกเขาเหล่านี้ ผมใช้คาแร็กเตอร์ของทั้งห้าคนในการวิเคราะห์รูปแบบทางดนตรีที่แตกต่างกันของพวกเขาไปสู่แนวคิดแห่งอิสรภาพ แล้วก็มาได้บทสรุปถึงอิสรภาพของแต่ละคนว่า พวกเขาให้นิยามของคำว่า “อิสรภาพ” ในวิถีที่ต่างกันไป โดยนำเสนอความคิดผ่านทางดนตรีของแต่ละคน ซึ่งมักจะพ่วงเอาสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์กับอิสรภาพเอาไว้ด้วย อย่างเช่นว่า อิสรภาพกับความรัก, อิสรภาพกับการบงการ, อิสรภาพกับสังคม, อิสรภาพกับการลงทัณฑ์ หรืออิสรภาพกับชะตากรรมในทุกๆ ตัวอย่างที่ว่ามา ล้วนเป็นความสัมพันธ์แตกต่างที่มีอิสรภาพเข้ามาเป็นส่วนผสมอยู่ในชีวิตประจำวัน นั่นคือสิ่งที่เพิ่มความเป็นดรามาให้กับตัวหนัง

“สิ่งที่พ่อแม่ผมพูดถึงยุคนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องราวในแง่บวก แล้วก็น่าตื่นเต้นทั้งนั้น มีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ผมอยากจะสร้างความรู้สึกที่เป็นสัญชาตญาณของความเป็นยุคนั้นขึ้นมา ร้อยเรียงร่วมเส้นด้ายเดียวกันกับการดึงเอานักดนตรีร่วมสมัยมาร่วมงาน เพื่อให้ได้รับความรู้สึกกระชุ่มกระชวยในแบบเดียวกัน”

ในแง่ของเนื้อหาภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับแจ๊ส อาทิ Round Midnight (1986) หรือหนังชีวประวัติอย่าง Bird (1988 สตูดิโอวอร์เนอร์ บราเธอร์ส กำกับฯ โดย คลินต์ อีสต์วู้ด) ที่ได้รับคำวิจารณ์ต่างๆ นานาทั้งบวกและลบปะปนกันไป แต่ก็ถือว่าเป็นหนังที่ประสบความสำเร็จเรื่องหนึ่ง แฟนๆ ส่วนมากชอบ Round Midnight มากกว่าด้วยเหตุผลของเนื้อหาที่สะเทือนอารมณ์ และดนตรีประกอบโดดเด่น ไม่แพ้กับฝีมือการแสดงของเด็กซ์เตอร์ กอร์ดอน นักแซ็กโซโฟนฝีมือฉกาจ ที่พิสูจน์ด้วยการได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาดารานำชาย ส่วนเฮอร์บี แฮนค็อก เจ้าของเพลงประกอบก็ได้รางวัลดนตรีประกอบยอดเยี่ยมจากเวทีเดียวกัน แต่กับ Bird ก็มีเพื่อนฝูง คนที่รู้จักชาร์ลี พาร์เกอร์ต่างก็ออกโรงให้ความเห็นว่า หนังทำออกมามีแนวคิดติดลบกับชาร์ลีเกินไปสักหน่อย อีกทั้งเนื้อหาสไตล์ฮอลลีวู้ดบิดเบือนข้อมูลไปจากชีวิตจริงๆ ของชาร์ลีอยู่เหมือนกัน

หากแต่ก็เป็นที่รู้ๆ กันอยู่แล้วว่า ฮอลลีวู้ดนั้นถนัดในเรื่องการใช้อิสระลิขสิทธิ์ทางปัญญาในการผูกขาดเนื้อหา จริงๆ มันก็เป็นความท้าทายอย่างมากในการทำหนังเกี่ยวกับใครสักคน ที่เพิ่งจะลาโลกนี้ไปเพียงไม่นาน เพื่อนๆ ของชาร์ลีเองก็ไม่ถูกใจกับภาพที่ออกมาในหนังเรื่อง Bird ถึงแม้ว่าผู้กำกับฯ (คลินต์ อีสต์วู้ด) จะเป็นแฟนแจ๊สตัวเอ้ก็ตาม เพื่อนร่วมงานของริชาร์ด นิกสันต่างก็ไม่เห็นด้วยกับการนำเสนอภาพของประธานาธิบดีท่านนี้ในหนัง Nixon (1995) ของโอลิเวอร์ สโตน แต่ตรงกันข้าม Amadeus (1984) เรื่องราวชีวิตของวูล์ฟกัง อมาดิอุส โมสาร์ต คีตกวีเลื่องชื่อ กลับโกยรางวัลออสการ์ไปได้แบบหอบกลับบ้านเกือบไม่ไหว คนที่รู้จักโมสาร์ตคงไม่มีใครมีชีวิตอยู่ถึงตอนนั้น นอกจากประวัติศาสตร์ที่บันทึกขึ้นมาล้วนๆ ก็ไม่มีคนที่รู้จักเขาอย่างแท้จริง ทำให้ไม่มีข้อคิดเห็นต่างๆ นานาอย่างที่เกิดขึ้นกับ Bird หรือ Nixon ถึงแม้ว่าบทจะเขียนให้เขาทำตัวเหมือนพวกตัวตลกในหลายๆ ฉากก็ตาม มาถึงตรงนี้ ทำให้เกิดข้อกังขาว่า จะเกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้หรือไม่กับโปรเจ็กต์ภาพยนตร์ชีวิตของไมล์ส เดวิส ที่อยู่ในช่วงเตรียมงานมาร่วมๆ สิบปีแล้ว และตามข่าวในตอนนี้ โปรเจ็กต์ได้ตกถึงมือสตูดิโอ ที่น่าจะยกบทนำให้กับดอน ชีเดิลเป็นที่เรียบร้อย มีเนื้อหาหลายตอนในบทที่จะเบี่ยงเบนความสนใจไปจากไมล์ส ซึ่งควรจะเป็นจุดสนใจที่แท้จริงของเรื่อง อันนี้ต้องมาติดตามดูกันต่อไป

แต่ที่แน่ๆ เรื่องดรามาน้ำเน่าไม่มีแน่ๆ ใน Chaography

“โปรเจ็กต์นี้ค่อนข้างจะเร้าใจมากๆ ครับ ผมคิดว่า มันจะเป็นจุดกำเนิดที่อาจจะตามมาด้วยซีรีส์อันทรงคุณค่าของดนตรีแจ๊ส ที่เจาะสำรวจนักดนตรี พวกเขาอยู่กันอย่างไร ดิ้นรนต่อสู้เพื่อสร้างงานศิลปะออกมาอย่างไร” ด็อกเตอร์รอน ทิคอฟสกี ทำงานประจำเป็นนักวิจัยข้อมูลเกี่ยวกับสมองในแผนกเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ณ มหาวิทยาลัยการแพทย์โคลัมเบีย ในนิวยอร์กซิตี เขายังเป็นนักแซ็กโซโฟนสมัครเล่น และเป็นสมาชิกของคณะกรรมการสถาบันดนตรีแจ๊สแห่งอเมริกา “ทั้งผมและคนอื่นๆ ต่างก็รู้สึกว่า ผลงานหนังเกี่ยวแจ๊สที่ออกมาช่วงหลังๆ มีการเติมแต่ง และเป็นชีวประวัติที่เชื่อถือไม่ได้ทั้งหมด”

นักดนตรีเป็นนักแสดง

รอนยังให้ความเห็นเพิ่มเติมต่ออีกว่า “การตัดสินใจในการเลือกนักดนตรีมาเป็นนักแสดงของพวกเรานั้น จะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตัวละครได้อย่างแนบเนียน ถึงแม้ว่าเรื่องราวทั้งหมดจะเป็นเรื่องแต่งขึ้นก็ตาม ผมคิดว่า ถ้าหนังได้ออกสู่สาธารณะ การเปิดตัวของมันจะสร้างสีสันที่แตกต่างไปให้กับนักดนตรีแจ๊ส โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักดนตรีแจ๊สร่วมสมัย ไม่ใช่แค่พวกตัวละครโปกฮาที่ถูกสร้างขึ้นมาราวกับตัวการ์ตูนอย่างนั้น หากแต่เป็นตัวตนที่จับต้องได้ พวกเขาใช้ดนตรีนำทางเพื่อค้นหาอิสรภาพ แจ๊สคือความเป็นอิสระที่จะแสดงออกถึงตัวตนของคุณ แต่การแสดงออกนั้นจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม กับกลุ่มคนที่คุณเล่นด้วย มันจะสร้างชุมชน วงดนตรีแต่ละวงคือชุมชนหนึ่งชุมชน นักดนตรีแต่ละคนก็จะมีความผูกพันต่อคนอีกคนหนึ่ง”

มาถึงชื่อหนัง “Chaography” เป็นคำที่ดั๊ก ชางคิดขึ้นมาเอง เพื่อที่จะสื่อสารถึงสิ่งที่หนังจะจับภาพเอาไว้ “มันก็คือคำที่มาจากอีกสองคำ คือคำว่าว่า “chaos” มาต่อด้วยคำว่า “graphy” ซึ่งคร่าวๆ แล้วก็หมายถึงว่า “ภาพร่างแห่งความยุ่งเหยิง” ผมว่ามันเป็นอุปมาที่ลงตัวทีเดียวสำหรับความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในวงการแจ๊ส ซึ่งมีคนมากมายที่ยังอยู่บนเส้นอันก้ำกึ่งระหว่างแจ๊สหรืออย่างอื่น”

ดั๊ก เจ้าของโปรเจ็กต์พูดถึงตัวหนังไว้ว่า “หนังจะสำรวจหาความหมายของคำว่า “อิสรภาพ” โดยใช้แจ๊สเป็นกระจกแห่งทางเลือก ที่ผู้คนจะเลือกใช้เพื่อความสุขส่วนรวม การร้อยเรียงเรื่องเล่าจะดำเนินผ่านสองหนุ่มสาว แม็กซ์และเอวา คู่รักนักเรียนเชื้อสายจีนอเมริกัน ที่ก้าวเข้าสู่โลกของแจ๊สในฐานะผู้สังเกตการณ์ ทั้งสองมุ่งมั่นที่จะสร้างครอบครัวอยู่ด้วยกันที่อเมริกา เป็นตัวเชื่อมโยงไปสู่การเดินทางของเหล่านักดนตรีทั้งห้า

ตอนที่ดั๊กเริ่มเขียนโครงการ เขาค้นคว้าเกี่ยวกับบุคคลสำคัญของวงการแจ๊สในอดีตจากหนังสือประวัติศาสตร์เป็นตั้ง “แล้วผมก็รู้สึกว่าทำไมไม่เอาเรื่องเล่าของพ่อ, เรื่องที่รู้จากการพูดคุยกับคนอื่นๆ เรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ คล้ายๆ กับว่าผมเป็นนักดนตรีแจ๊สเสียเอง เอารายละเอียดเหล่านี้ออกมา แล้วเติมแต้มจินตนาการในส่วนที่ขาดหายไป ให้เข้าใจว่าภาพรวมของเรื่องราวมันเกี่ยวกับอะไร แล้วในที่สุด ผมก็ใช้เรื่องเหล่านั้นเป็นกรอบการทำงานสำหรับหนังเรื่องนี้ ซึ่งมันก็ไม่เชิงว่าจะเจาะจงเป็นชีวประวัติของใคร

“วิธีที่ผมใช้ตกผลึกมันออกมา ก็คือหนังจะต้องมีแจ๊สเป็นแม่แบบจำลองตัวอย่างของการที่เราทำหนัง, โปรดิวซ์หนัง รวมทั้งกำกับฯ ผมแบ่งเนื้อหาออกมาเป็นห้าเรื่อง ซึ่งจะเหลื่อมซ้อนและเชื่อมโยงกันอยู่ หากแต่พวกเขามีลีลา, เนื้อความ, อารมณ์ที่ต่างกันไป บทหนังเรื่องนี้จะทำหน้าที่เหมือนคอมโพสิชันของเพลงแจ๊ส ซึ่งจะเป็นโครงสร้างให้กับนักแสดงและทีมงานได้ใช้เป็นแกนในการทำงาน จากนั้นก็เสริมแต่งทางกลยุทธ์ที่คุณจะใช้อิมโพรไวส์ในแสดง คราวนี้คุณก็เอา Embraceable You มาเล่นให้เป็นอีกรสชาติหนึ่งที่ไม่ใช่แบบเดิมๆ สำหรับผมแล้ว นั่นคือแก่นและเป้าหมายของหนัง ถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว ผมว่าอ่านแต่บทก็คงจะได้ละมั้ง? ส่วนที่ผมเพิ่มเติมเข้าไปนี่ เหล่านักแสดงและตากล้อง แล้วก็ทีมงานทุกๆ คนต่างก็รอดูกันอยู่”

พูดให้เหมือนนักดนตรีแจ๊สสร้างสรรค์มืออาชีพ

“ในส่วนนี้ ผมว่ามันต้องขับเคลื่อนด้วยดนตรี มีส่วนเพิ่มเติมพิเศษอยู่เหมือนกัน เนื้อหาและอารมณ์ของแต่ละเรื่องจะเชื่อมโยงกับซาวด์ดนตรีอย่างสมบูรณ์แบบ” ดั๊กอธิบาย “นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งนะครับว่า ทำไมเราถึงมุ่งโฟกัสไปที่ช่วงดนตรีก่อน นั่งคิดกับพวกนักดนตรีว่า จะทำเพลงออกมาอารมณ์ไหน และพอเราไปถึงช่วงตัดต่อแล้ว เพลงเหล่านั้นก็เป็นบทเพลงบรรเลง ที่จะช่วยเราตัดสินใจว่า จะให้หนังจบอย่างไร”

คีตปฏิภาณ

ดั๊ก ชางเป็นคนคิดคอนเซ็ปต์นี้ “เท่าที่ผมทราบ ยังไม่มีใครทำแบบนี้” เขาทำงานในวงการวิทยุโทรทัศน์และภาพยนตร์อิสระมานานนม เขาผ่านงานทั้งอำนวยการสร้าง, กำกับฯ, ร่วมเขียนบทหนังเรื่อง Absent Father (2008) เรื่องราวเกี่ยวกับเด็กหญิงคนหนึ่งที่อ้างว่าตั้งครรภ์กับพระเจ้า และเธอจะสามารถพบเขาได้ยามที่เธอต้องการ Absent Father ฉายครั้งแรกในเทศกาลหนังดาห์กา ปี 2008 และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในเทศกาลหนัง ศาสนาวันนี้ ในเมืองเทรนโตและโรม ประเทศอิตาลี ดั๊กทำงานให้กับพีบีเอสสองรายการ คือ P.O.V. สารคดีชุดที่ได้รับเสียงสรรเสริญอย่างมาก และ City Arts, a Peabody รายการที่ได้รับรางวัลจากพีบีเอส ครีเอทีฟ อาร์ตส โชว์ ในนิวยอร์ก ครั้งหนึ่งเขาเคยดำรงตำแหน่งไดเร็กเตอร์ให้กับเคซีอีที สถานีวิทยุหัวหอกของพีบีเอสในลอส แองเจลิส นอกจากนั้นเขายังเขียนบท, กำกับฯ และอำนวยการสร้างให้กับสารคดีต่างๆ รวมไปถึงภาพยนตร์เรื่อง Latinos 08 (2008), The Jewish People : A Story of Survival (2008) และ Jerusalem : Center of the World (2009) ทั้งหมดออกอากาศในอเมริกาทางสถานีพีบีเอส



ดั๊กบอกว่า “ส่วนของการอิมโพรไวส์คือ ส่วนที่ระทึกใจผมที่สุดในโปรเจ็กต์นี้ ไม่รู้ว่าจะไปลงเอยตรงไหน ผมว่าทีมงานทุกคนก็คงคิดแบบเดียวกันแหละ มองลึกลงไปกว่านั้น ผมใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะก้าวมาถึงจุดนี้ได้ จุดที่รู้สึกว่ามั่นใจมากพอในความสามารถของตัวเอง และการฝึกฝนที่จะรู้หลบหลีกในการทำงาน ผมรู้สึกว่าสามารถจะคุมงานนี้ได้”

การถูกโดดเดี่ยว นั่นเป็นความคิดเห็นที่อาจจะมาจากนักดนตรีแจ๊สรุ่นใหม่ๆ ที่รู้สึกว่า ในที่สุดแล้วเขาก็มาถึงจุดที่จะมาร่วมนั่งโต๊ะเดียวกับมืออาชีพได้ หรือมาคุยโตเกี่ยวกับผลงานชิ้นต่อไปของตัวเองได้ นี่คือส่วนหนึ่งของการเป็นนักดนตรีแจ๊ส

“ด้วยพรสวรรค์อันยิ่งใหญ่ เพื่อนเราบางคนก็มีชื่ออยู่ทีมแล้ว ส่วนคนที่เหลือ ผมก็หวังว่าพวกเขาจะตอบตกลง” ดั๊กบอก “ผมว่านี่จะเป็นโปรเจ็กต์ที่น่าสนใจมาก สำหรับคนทำงาน คนดู แล้วก็คนฟังเพลงครับ”

ด็อกเตอร์รอนเล่าถึงโปรเจ็กต์นี้ว่า “หนังของเราจะเป็นอะไรที่สมจริง นักดนตรีก็เป็นนักดนตรีจริงๆ แล้วเขาก็จะทำงานให้กับหนังของเราเหมือนที่ทีมงานคนอื่นๆ ทำ ผมว่าอันนี้ไม่ธรรมดานะ ขนบของหนังที่แล้วๆ มาก็คือ คนทำก็ไปคัดดาราสักคนมาเล่นเป็นชาร์ลี พาร์เกอร์ คลินต์ก็ทำอย่างนี้ ซึ่งจะไม่ได้อรรถรสของนักดนตรีจริงๆ หรอกครับ ผมว่าพวกเขาก็แสดงได้ดีนะครับ ไม่ใช่ว่าอะไรๆ ก็ไม่ดี แต่ผมได้คุยเรื่องนี้กับเรด ร็อดนีย์ตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่ เขาก็อยู่ในกองถ่ายเรื่อง Bird ด้วย บ่นว่าเขาเซ็งมาก เพราะมันไม่ได้อารมณ์ศิลปินจริงๆ ครับ”

เพลงในหนังเรื่องนี้จะอัดสดทั้งหมดจากวงดนตรีมืออาชีพ และการอิมโพรไวส์ก็สดตรงนั้นเช่นเดียวกัน “นี่คือว่าธีการทำงานของกลุ่มเรา เสาะหาคนที่มีเคมีทางดนตรีเหมือนๆ กัน มารวมตัวกันเป็นกลุ่ม ทำงานด้วยกัน มีอะไรก็แบ่งปันกัน” รอนยังเชื่อว่า การทำงานของกลุ่มคนเหล่านี้จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับสังคม ในแง่ของสัมพันธภาพที่บุคคลพึงจะมีต่อกัน “คนเหล่านี้เป็นคนที่มีพรสวรรค์กันทั้งนั้น แต่ว่าพวกเขาก็ร่วมงานกันได้ แล้วก็เก็บงำอีโกส่วนตัวเอาไว้ข้างใน คุณก็รู้นะศิลปินแบบนี้ บางคนอีโกจัดมาก”

สเตซี ดิลลาร์ดเล่าถึงความตื่นเต้นที่เขาได้รับการติดต่อมาจากทีมงานให้เล่นใน Chaography แต่เรื่องการแสดงก็เป็นเรื่องที่ท้าทายอยู่ โดยเฉพาะที่มีท่อนอิมโพรไวส์ผสมโรงด้วย

“ผมชอบนะ ผมคงจะเล่นแบบสบายๆ หน่อย สำหรับคนที่ไม่มีประสบการณ์ด้านการแสดงอย่างผมเนี่ย และบทก็ยังคล้ายๆ ตัวเองอีกด้วย ก็เลยว่ามันไม่น่าจะยากมาก ไม่ได้คิดว่ามันยากนะครับ” สเตซีเจื้อยแจ้ว เขาเป็นคนมิชิแกนโดยกำเนิด แต่ตอนนี้มาอาศัยอยู่ที่นิวยอร์กเป็นการถาวร เอริก รีด, ไวเนิร์ด ฮาร์เปอร์, เลนนี ไวต์, คลาร์ก เทอร์รี และแทเรล สแตฟฟอร์ด คือศิลปินที่เขาชื่นชอบ

“คาแร็กเตอร์ของผมก็จะคล้ายๆ กับจอห์น โคลเทรน คราวนี้ผมก็มีอิสระที่จะเล่นเป็นคนคนนั้น คงไม่ออกมาเหมือนจอห์น โคลเทรนเป๊ะ แค่แบบแนวๆ นั้น ผมก็จะมีอิสระในการเล่นดนตรีมากขึ้น แต่ที่แน่ๆ ซาวด์แบบจอห์นก็ต้องมีบ้างอยู่แล้ว ผมมองว่ามันเป็นเรื่องราวร่วมสมัย ซึ่งทำให้ทำงานได้ราบรื่นขึ้น ผมมีเพลงพร้อมใช้ในหัวอยู่เยอะแยะ แต่ก็ไม่รู้ว่า ทางทีมงานจะเจาะจงให้ผมทำเพลงประกอบให้ด้วยหรือเปล่า แต่ผมก็มีคลังดนตรีขนาดย่อมของตัวเอง ที่พร้อมใช้ แล้วก็มีให้เลือกได้เหมาะเหม็งกับหนังได้อยู่”

ดั๊กเล่าถึงสเตซีว่า “ผมเจอสเตซีในนิวยอร์ก ส่วนเอริก รีด ผมเคยได้ยินผลงานเพลงของเขามาแล้ว ปรากฏว่าสเตซีกับเอริกเป็นเพื่อนร่วมวงที่เคยทำงานด้วยกันมาก่อน แล้วก็ค่อนข้างถูกคอกันเสียด้วย ก็เลยเข้าทางกับบทหนัง ทั้งสเตซีและเอริกช่วยแนะนำนักดนตรีคนอื่นๆ ให้ผมเพื่อคัดเลือกมาร่วมงานกัน สเตซีเชื่อมั่นว่าเราจะได้นักดนตรีมือเยี่ยมมาช่วยงาน”

ให้สาธารณชนมีส่วนร่วม

ดั๊กกับรอนพยายามรณรงค์หาทุนสร้างหนัง ด้วยการเข้าร่วมแข่งขันในเวที Ultimate Filmmaker ซึ่งผู้ชนะจะได้รางวัลเป็นเงินทุน น่าดีใจว่า Chaography สามารถเข้าไปถึงรอบสุดท้ายแล้ว

รอนอธิบายเรื่องการหาทุนของเขา ซึ่งยังมีหลายวิธีที่จะระดมทุนจากสาธารณชนได้ “แรกเริ่ม ผมไปเจอ ArtistShare ของมาเรีย ชไนเดอร์กับจอห์น กอร์ดอน ผมว่ามันเป็นไอเดียที่ดีสำหรับศิลปิน เพราะว่าพวกเขาสามารถควบคุมคุณภาพงานได้เอง เพราะว่าอุตสาหกรรมเพลงก็รู้ๆ อยู่ว่าเป็นอย่างไร รวมทั้งยังมีสื่อไร้พรมแดนอย่างอินเตอร์เน็ต และความยากลำบากในการระดมทุน โดยเพราะโครงการที่ดูแล้วไม่น่าจะทำเงินให้นายทุนอย่างเป็นกอบเป็นกำ ผมว่ายอมรับเถอะ ถึงแม้จะเป็นงานระดับอัญมณีอย่างของจอห์น โคลเทรน, มาเรีย ชไนเดอร์ หรือจอฟ คีเซอร์ก็ยังโกยไม่ได้ขนาดนั้น”



มาเรียเองก็กลายเป็นเพชรน้ำงามดาวรุ่งพุ่งแรงของอาร์ทิสต์แชร์ไปเรียบร้อยแล้ว ด้วยการแสดงศักยภาพของศิลปินคุณภาพ โดยไม่ต้องอาศัยแรงหนุนของค่ายเพลง แถมยังได้รางวัลทางดนตรีหลากหลายสถาบัน รวมทั้งแกรมมีมาประดับบารมีอีกด้วย

“พอรู้วิธีการของอาร์ทิสต์แชร์แล้ว ผมก็คิดว่าอีกหนึ่งวิธีในการระดมทุนของเรา ต้องเปิดกว้างให้สาธารณชนได้มีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาให้เป็นต้นแบบอย่างอาร์ทิสต์แชร์” รอนเล่า “ยกตัวอย่างเช่น เราจะถ่ายฉากศิลปินเล่นในคลับ ถ้าคุณบริจาค xx ดอลลาร์ คุณก็จะได้เข้าไปดูการถ่ายทำ และเป็นตัวประกอบเดินไปเดินมาในหนัง หรือว่าถ้าเป็น xxx ดอลลาร์ คุณก็จะได้รับเครดิตเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการสร้าง ผมว่าสิ่งเหล่านี้อาจจะสร้างแรงจูงใจให้กับแฟนๆ ได้บ้าง ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะตั้งยอดเงินบริจาคไว้สูงแบบว่า 25,000 หรือ 100,000 เหรียญอะไรขนาดนั้น คือเราตั้งเอาไว้พอให้เป็นจุดสนใจสำหรับแฟนเพลงแจ๊สก็พอ

“สำหรับผมแล้ว มันก็เป็นเรื่องท้าทายที่จะหาเงินมาทำหนังได้สักเรื่อง เราจะทำทั้งดีวีดีและซีดีเพลงประกอบของหนังเรื่องนี้ออกมาขาย เรายังมีแผนที่จะบริจาคเงินรายได้บางส่วน ถ้ามีนะครับ ให้กับสถาบันดนตรีแจ๊ส ผมว่าโปรเจ็กต์มันจะช่วยเสริมชุมชนคนแจ๊สในภาพรวม แล้วทางสถาบันเองก็ทำหน้าที่ได้ดีมาตลอด ก็น่าจะได้เงินสนับสนุนบ้าง ทั้งตัวโปรเจ็กต์เองและทางสถาบันด้วย อาจจะเพราะคอนเซ็ปต์การทำงานเพื่อสะท้อนภาพของคนแจ๊สออกมา เหล่าศิลปินแจ๊สจึงเห็นว่าพวกเราตั้งใจจะถ่ายทอดชีวิตและผลงานของพวกเขาอย่างจริงใจ ซึ่งด้วยความร่วมมือที่น่าประทับใจของกลุ่มคนกลุ่มนี้ จะทำให้หนังแล้วเสร็จในที่สุด”

รอนต่อท้ายอีกว่า “ในอีกมุมหนึ่ง นี่คือสิ่งที่เป็นอเมริกา เป็นรากฐานของทั้งหลายทั้งปวง ความหลากหลายของกลุ่มคนที่เข้ามาร่วมงาน ทั้งนักดนตรี, แฟนเพลงที่เข้ามาฟัง แล้วก็ซึมซับมันไป เป็นปรากฏการณ์พิเศษในแบบฉบับอเมริกัน ทั้งที่ก็มีแฟนแจ๊สต่างแดนตั้งมากมาย แต่ผมว่ามันให้ความรู้สึกไม่เหมือนกับคนอเมริกันด้วยกันเอง ที่ตอบสนองเวลาที่เราเล่น ผมว่านั่นก็เป็นเหตุผลที่ตัดสินใจทำโปรเจ็กต์ธุรกิจติสต์แตกแบบนี้ ทำไมถึงคิดว่าคนจะอยากมีส่วนร่วมกับหนังเราแบบนั้น มีคนโทรหาผมหลายคน บอกว่า “เฮ้ ผมได้ข่าวโครงการของคุณนะ มีอะไรให้ผมทำบ้างล่ะ?” ผมก็เลยคิดว่ากระแสมันกระจายออกไปไม่หยุด มันจะกลายมาเป็นแก่นของชุมชน ไม่ใช่บุคคลคนเดียว ที่จะสร้างคุณค่าในการมีส่วนร่วมขึ้นมา”

ดั๊กบอกอีกว่า “เราพยายามจะชักชวนทั้งกลุ่มคนแจ๊ส, พวกสตูดิโอ แล้วก็พวกหัวหอกหลายๆ คน เพื่อให้มั่นใจว่าโปรเจ็กต์เราจะสำเร็จแน่ๆ”

พวกเขาจะทำเว็บไซต์ออกมาในในอีกไม่นาน แต่ตอนนี้ถ้าสนใจจะดูรายละเอียดต่างๆ ล่ะก็ คุณสามารถเสิร์ชคำว่าChaography ในเฟซบุ๊ก แฟนเพจได้เลย

“ทางเฟซบุ๊กนี่จะสะดวกที่สุดสำหรับตอนนี้ เราอัพเดทเฟซบุ๊กค่อนข้างบ่อย ถ้าจะติดต่อกับผมก็ทางนี้ได้เลย หรือว่าจะหาอ่านความคืบหน้าล่าสุดของโปรเจ็กต์นี้ เราพยายามที่จะอัพเดทสถานการณ์ให้กับแฟนๆ ให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะมีข่าวอำนวยให้”

ดั๊กบอกว่า การให้สาธารณชนมีส่วนร่วมด้วยนั้นเป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยม เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าของรอนในการมีร่วมงานครั้งนี้คือ เขาต้องการพิสูจน์แนวคิดริเริ่มและประสิทธิภาพในการระดมทุนแบบนี้ เพื่อนำไปใช้กับโครงการหนังอื่นๆ เกี่ยวกับดนตรีแจ๊ส ไม่ว่าจะเป็นสารคดีหรือบันเทิงคดี ถ้าหนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จ ผมก็หวังว่าจะมีหลากหลายแหล่งทุนมาสนับสนุนการทำอัลบัม และสร้างสรรค์งานหนัง อาจจะด้วยวิธีการที่แตกต่างกันไป”

ดั๊กและรอนต่างก็หวังว่า ผลกำไรจาก Chaography จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความสนใจดนตรีแจ๊สมากขึ้น และให้กำใจกับคนที่ทำงานตรงนี้

“นั่นคือความหวังใหญ่ของผมเลย” ดั๊กบอก “ผมอาจจะมองโลกในแง่ดี แต่ก็เชื่อว่ามันจะเป็นอย่างนั้นนะครับ มันไม่เหมือนกับภาพยนตร์เกี่ยวกับแจ๊สที่ผ่านๆ มาที่ผมเคยดู มันจะเป็นอะไรที่ทันสมัย เพลงก็มีจุดสนใจของมันทั้งในเรื่องของความเป็นเทรดิชัน แต่ก็มีความเป็นหัวก้าวหน้าอยู่ในตัว ผมคิดว่า มันสามารถเข้าถึงได้เกินกว่ากลุ่มแจ๊สที่มีอยู่แล้วตอนนี้ เสียงตอบรับจากการแข่งขันที่เราได้รับจากดิ อัลติเมท ฟิล์มเมกเกอร์ เป็นตัวชี้วัดที่บอกเราได้ล่วงหน้าว่า มีคนมากมายที่อยากจะดูหนังเรื่องนี้ ถ้าพวกเขามองเห็นศักยภาพของแจ๊สว่าไปได้ขนาดไหน และมันสำคัญขนาดไหนสำหรับการที่ยิ่งระดมคนได้เยอะ ก็ยิ่งสร้างความเป็นพหูสูตรที่ประเทศนี้ต้องการมากขึ้นเท่านั้น แล้วโอกาสที่จะขยายกลุ่มคนฟังก็เยอะขึ้น มากกว่าที่จะไปตามคลับโน้นคลับนี้เสียอีก”

จากมุมมองของคนวงในธุรกิจดนตรีแจ๊ส และก็ได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของมัน สเตซี ดิลลาร์ดก็คาดหวังไม่ต่างกัน “อยากจะให้คนได้เห็นว่าเราทำงานกันอย่างไร หนังจะไม่ได้มีแต่อะไรที่เดิมๆ เกี่ยวกับศิลปินที่คุณเคยได้ยินมา คุณจะได้สัมผัสกับประสบการณ์ ไม่ใช่เพียงแค่อะไรผิวเผินเดิมๆ ที่คนรู้น้อยเรื่องแจ๊สเป็นคนทำ”



สเตซีบอกอีกว่า มีนักฟังวัยรุ่นไม่น้อยเลยที่คิดว่า แจ๊สเป็นโลกของคนมีอายุ หรือเป็นของคนรุ่นก่อน “ผมอยากจะเห็นมันเป็นสะพานเชื่อมช่องว่างระหว่างวัยอันนี้เหมือนกัน มีเยอะแยะที่เอาเพลงเก่าๆ มาเล่น แต่ว่าก็ควรจะมีตัวเชื่อมที่จะสมานคนต่างรุ่นให้ต่อติด และแสดงให้เห็นว่า เซียนตัวน้อยๆ กำลังคิดอะไรกันอยู่ ซึ่งนั่นคือสิ่งที่หนังเรื่องนี้เป็น คือการหลอมรวมในการทำงานของคนหนุ่มและคนสูงวัยอย่างในชีวิตจริง ผมชอบเนื้อหาของหนังตรงนี้มากครับ”

ดั๊กบอกว่า “ผมชอบดู Round Midnight และการแสดงเด็กซ์เตอร์ กอร์ดอน ผมได้คุยกับแฮงก์ โอนีล โปรดิวเซอร์แจ๊สมากฝีมือ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของเรา ก็คิดว่า ปัญหาของหนังเกี่ยวกับแจ๊สเท่าที่ผ่านมามักจะหนีไม่พ้นเรื่องราวชีวิตนักดนตรีแจ๊ส ที่ดิ่งลงสู่ก้นเหวอย่างไร ไม่ว่าจะด้วยยา หรือการเผชิญหน้าในช่วงสังคมยุค 50 อะไรแบบนั้น ผมไม่อยากจะยุ่งกับเรื่องแบบนั้นในหนังของผม

“แต่ผมยังโฟกัสไปถึงการดิ้นรนสร้างสรรค์งานของศิลปินแจ๊ส ซึ่งจุดนี้จะเป็นเรื่องราวในแง่บวกของพวกเขา เขาสร้างผลงานจากชีวิตจริงได้อย่างไร จะไม่มีเรื่องของอัจฉริยะสมองนิ่มแน่นอน คาแร็กเตอร์ของศิลปินเหล่านี้ล้วนแต่กระตือรือล้น, หลักแหลมทั้งสิ้น ในอันที่จะเลือกวิถีการดำรงชีวิตในแบบที่ต้องการ เพื่อเป้าประสงค์ในการเล่นดนตรีที่พวกเขารัก นั่นเป็นแง่มุมชีวิตที่ผมอยากนำเสนอออกมาอย่างจริงใจที่สุด”

ดั๊กตั้งความหวังไว้สูงกับหนังเรื่องนี้ เขาอยากจะให้มันออกฉายตามโรงภาพยนตร์ด้วย รวมทั้งการตอบรับที่ดีในการเข้าฉายตามเทศกาลหนังต่างๆ อาทิ เทศกาลหนังซันแดนซ์, สแลมแดนซ์ และเซาธ์ บาย เซาธ์เวสต์ “สิ่งที่ผมอยากเห็นก็คือ เสียงตอบรับดีๆ จากเทศกาลสักสองเทศกาล โดยเฉพาะเทศกาลที่เฉพาะเจาะจงเรื่องเพลง ผมคิดนะว่า ปัจจัยหลายๆ อย่าง มันขยายจากเรื่องคุณภาพของนักดนตรี ไปจนถึงงานสร้างสรรค์ริเริ่มในการเล่าเรื่องของหนัง บวกกับคาแร็กเตอร์ที่ไม่ค่อยได้เห็นกันบ่อยๆ ในหนังทั่วๆ ไปในอเมริกา ผมเชื่อเหลือเกินว่า มันจะได้รับการยอมรับในวงกว้างทั้งในอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ซึ่งนิยมเพลงแจ๊สมากกว่าประเทศนี้เสียอีก เราอยากจะเอาหนังของเราไปฉายที่โน่นมาก”

“พอหนังเดินสายฉายตามโรงแล้ว เราค่อยมาดูกันต่อไป ทางพีบีเอสก็ช่วยเราได้ ผมทำงานให้กับกอง Great Performances พวกเขาอาจจะสนใจก็ได้ หรือไม่ก็อาจจะมีช่องหนังอินดีอยากเอาไปฉาย เราก็ไม่รู้หรอก ทั้งหมดที่พูดมาคือการคาดคะเนทั้งสิ้น ในตอนนี้ เราทำงานให้ดีที่สุด เพื่อให้หนังบรรลุเป้าประสงค์ที่เราตั้งไว้”

“เราก็ได้คุยกันเหมือนกันถึงเรื่องที่ว่า จะใช้แนวคิดนี้มาสร้างภาพยนตร์ซีรีส์ที่เป็นประวัติศาสตร์ของดนตรีอเมริกัน แจ๊ส แล้วก็นำเสนอผ่านแนวทางของหนังชีวประวัติ” รอนเล่าต่อ “ผมรักโปรเจ็กต์นี้จริงๆ และผมก็พยายามทุกหนทางที่จะหาคนเข้ามา แล้วก็ขอให้เขาสนับสนุนเพื่อให้งานเดินต่อไปข้างหน้าได้”

ดูเหมือนว่าทีมงานชุดนี้พร้อมที่จะเสียเหงื่อทำงานกันอย่างถ้วนหน้า ทำให้ดั๊กรู้สึกว่า อะไรๆ ก็เริ่มเข้ารูปเข้ารอยแล้ว

“หนังก็คล้ายๆ กับลูกบอลหิมะ” เขาเปรียบเปรย “เราต้องใช้เวลามากกับการเตรียมงานช่วงแรก และบางครั้งก็รู้สึกว่าเมื่อไรเราจะได้เริ่มต้นเสียที? แล้วทันใดนั้น ชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ก็หล่นลงมาให้เราได้ปะติดปะต่อได้บางชิ้น พอรู้ตัวอีกทีก็รู้สึกว่า เฮ้ย หยุดไม่ได้แล้ว ถึงแม้ว่าจะอยากหยุดเต็มประดา สิ่งเหล่านี้เพิ่งเกิดขึ้นกับผมตอนที่ทำหนังเรื่องก่อนหน้านี้ ซึ่งทำให้งานล่าสุดเดินหน้าไปเร็วมากขึ้น ในแง่ของความร่วมมือจากสาธารณชน พวกเราจึงกระหายอยากจะเริ่มงานให้เร็วที่สุด”

ดั๊กหวนรำลึกถึงตอนที่เขาทำโปรเจ็กต์ City Arts ที่พีบีเอส ทางทีมงานสัมภาษณ์ไซรัส เชสต์นัท “เขาบอกว่า ช่วงที่เริ่มเข้าวงการใหม่ๆ เขาจะไม่ทำอะไรโง่ๆ ที่ตัวเองทำไม่ได้ ถ้าเขามีโอกาสล่ะก็ เขาไม่พลาดแน่ๆ “ผมว่าตอนนี้ผมกำลังรู้สึกอย่างนั้นเป๊ะเลย แรงกายแรงใจที่พวกเราทุ่มลงไป มันต้องไปเสียเปล่าอย่างไม่ต้องสงสัย”

มาถึงตรงนี้ คิดว่าคงไม่ต้องสรุปให้มากความ นอกจากความรู้สึกที่เกิดขึ้นคือ “อยากดูหนังเรื่องนี้เร็วๆ!”

หมายเหตุ *ArtistShare คือต้นแบบทางธุรกิจสร้างสรรค์โดยนายไบรอัน คาเมลิโอ เป็นต้นแบบที่ทำให้ศิลปินไม่จำเป็นต้องขึ้นตรงต่อบริษัทต้นสังกัดเพื่อลงทุนทำผลงาน หากแต่สามารถให้กลุ่มแฟนเพลงของศิลปินนั้นๆ เข้าถึงในการระดมทุน โดยอาจจะแลกกับสิทธิพิเศษที่จะได้เข้าถึงข้อมูลของอัลบัมนั้นๆ มากกว่าคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นผู้บริจาคเงิน

แปลจาก //www.allaboutjazz.com/


Create Date : 16 สิงหาคม 2553
Last Update : 16 สิงหาคม 2553 18:20:09 น. 0 comments
Counter : 1441 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

nunaggie
Location :
City of Angels, Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




คุยเฉพาะเรื่องเพลง :D

"I still find each day too short for all the thoughts I want to think, all the walks I want to take, all the books I want to read, and all the friends I want to see." John Burroughs

Follow my twitter @nunaggie :)

"มีเรื่องราวอีกมากมายให้ชีวิตต้องเดินทางไปค้นหา เราคงไม่ค้นพบทุกอย่างได้ เพียงแค่ชั่วชีวิตเดียว"
Creative Commons License
© Supada Luangsirimongkol 2015.
qrcode
Friends' blogs
[Add nunaggie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.