"แจ๊ส....ฉัน"
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2549
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
26 มีนาคม 2549
 
All Blogs
 
Ella Fitzgerald “THE FIRST LADY OF SONG” (จบ)

ช่วงที่เอลลาออกเดินสายกับดิซซี กิลเลสปีในปี 1946 เธอกับเรย์ บราวน์ นักเบสในวงคบหาเป็นคู่รักกัน ก่อนที่จะตกลงใจตกล่องปล่องชิ้นในที่สุด ทั้งคู่รับบุตรบุญธรรมมาเลี้ยงและตั้งชื่อให้หนูน้อยว่า เรย์ จูเนียร์



ในขณะที่เรย์ทำงานให้กับนอร์แมน แกรนซ์ โปรดิวเซอร์และผู้จัดการของเขาในอัลบัม Jazz At The Philharmonic นอร์แมนมองเห็นแววดาวเด่นดังส่องประกายระยิบระยับในตัวเอลลา เขาจึงพยายามเกลี้ยกล่อมให้เธอเข้ามาเซ็นสัญญาเป็นศิลปินในสังกัดของตัวเอง นี่เป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ของทั้งคู่ที่เป็นทั้งเพื่อนและหุ้นส่วนธุรกิจซึ่งกันและกัน

ภายใต้การบริหารจัดการของนอร์แมน เอลลาเข้าร่วมทัวร์กับวงออร์เคสตรา ทำงานร่วมกับหลุยส์ อาร์มสตรองหลายชุดด้วยกัน รวมทั้งเริ่มโปรดิวซ์ซีรีส์ Songbook อันโด่งดังของเธอ จากปี 1956-1964 เอลลาคัฟเวอร์เพลงของนักประพันธ์มากมายหลายคนด้วยกัน รวมไปถึงเพลงของนักประพันธ์นามอุโฆษอย่าง โคล พอร์เตอร์, ดุก เอลลิงตัน, พี่น้องเกิร์ชวิน, จอห์นนี เมอร์เซอร์, เออร์วิง เบอร์ลิน และ ร็อดเจอร์และฮาร์ต ซีรีส์นี้ถือเป็นซีรีส์ที่ได้รับความนิยมมากของเอลลา เพราะเพลงที่เลือกมาก็ล้วนเป็นเพลงระดับหัวกะทิทั้งสิ้น

“ผมเคยไม่รู้เลยว่าเพลงของพวกเราเยี่ยมขนาดไหน จนกระทั่งเอลลาเอาไปร้องนี่แหละ” เป็นคำนิยมที่ไอรา เกิร์ชวินกล่าวต่อเอลลาในครั้งหนึ่ง



เอลลาเริ่มปรากฏตัวทางรายการวาไรตีโทรทัศน์ช่องต่างๆ และกลายเป็นนักร้องที่มีงานสัมภาษณ์ออกโทรทัศน์ชุกคนหนึ่งเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นรายการบิง ครอสบี โชว์, ไดนา ชอร์ โชว์, แฟรงค์ สิเนตรา โชว์, เอ็ด ซัลลิแวน โชว์, ทูไนต์ โชว์, แน็ต คิง โคล โชว์, แอนดี วิลเลียม โชว์ และดีน มาร์ติน โชว์

เนื่องจากตารางทัวร์ที่อัดแน่นของเธอ เอลลาและเรย์จึงใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่นอกบ้าน เธอแทบจะไม่สนิทสนมกับลูกชายเอาเสียเลย แต่ในภายหลังก็กลับมามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเช่นเดิม เรย์ จูเนียร์เคยบอกไว้ว่า “ผมบอกได้แค่ว่าแม่ให้ทุกอย่างกับผมเท่าที่จะให้ได้ แล้วแม่ก็รักผมมากที่สุดเท่าที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะรักลูกได้เหมือนกัน”

แต่โชคก็ไม่ได้เข้าข้างไปเสียทุกเรื่อง เมื่องานรัดตัวขนาดนี้ก็เป็นเหตุทำให้ความสัมพันธ์ของเรย์และเอลลาเริ่มที่จะสั่นคลอน ทั้งคู่หย่าขาดจากกันในปี 1952 แต่ยังคงเป็นเพื่อนที่ดีต่อไปในช่วงเวลาที่เหลือ

ระหว่างที่เอลลาออกทัวร์ เป็นที่รู้กันว่าผู้จัดการของเธอมักจะต่อสู้เรียกร้องสิทธิให้กับนักดนตรีผิวสีได้รับอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นคนผิวดำ นอร์แมนจะไม่ยอมทันทีหากว่าทัวร์ไหนจะมาแบ่งแยกนักดนตรีของเขา ไม่ว่าจะเป็นแยกโรงแรม, ร้านอาหาร หรือโรงมหรสพ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะเดินทางไปทางใต้สุด ซึ่งเป็นที่ที่มีการเหยียดผิวอย่างรุนแรงก็ตาม ครั้งหนึ่งที่ดัลลัส ขณะที่พวกเขาออกทัวร์ร่วมกับวงออร์เคสตรา นอร์แมนได้ไปยั่วโทสะบรรดานายตำรวจโดยไม่ยอมให้พวกเขาเข้าไปด้านหลังเวที แต่ตำรวจเหล่านั้นก็บุกเข้ามาถึงห้องแต่งตัวด้านในของเอลลา โดยที่มีเพื่อนร่วมวงอย่าง ดิซซี กิลเลสปีและอิลลินอยส์ จาคเกต์กำลังเล่นทอยลูกเต๋ากันอยู่ เหล่าไซด์แมนก็เลยโดนรวบตัวกันหมด



“พวกเขาจับเรา” เอลลาเคยเล่าให้ฟังถึงหนหลัง “แล้วพวกเขาก็ตกประหม่าขึ้นมาตอนที่จะขอลายเซ็นพวกเรา”

ไม่ใช่นอร์แมนคนเดียวที่ยืนหยัดจะต่อสู้เพื่อเอลลา เธอได้รับความช่วยเหลือและเสียงตอบรับมากมายจากเหล่าคนมีชื่อเสียงที่ล้วนเป็นแฟนเพลงของเธอ รวมทั้งดาราสาวสุดเซ็กซีอย่างมาริลีน มอนโรด้วย

“ฉันเป็นหนี้มาริลีนอย่างใหญ่หลวง” เธอเล่าต่อ “เป็นเพราะว่าเธอนี่แหละที่ทำให้ฉันได้เล่นที่เดอะ โมคัมโบ ไนต์คลับชื่อดังในยุคทศวรรษที่ 50 เธอบอกกับเจ้าของโมคัมโบเป็นการส่วนตัวว่า เธออยากจะให้ฉันเข้ามาเล่นที่นี่เดี๋ยวนี้ และถ้าเขาตกลง เธอจะมาจองโต๊ะนั่งหน้าเวทีทุกคืนเลย แล้วมาริลีนเป็นถึงซูเปอร์สตาร์ ข่าวนี้ต้องจับหูแน่ๆ เจ้าของก็เลยโอเคด้วย แล้วเธอก็ทำตามนั้นจริงๆ นั่งโต๊ะหน้า...ทุกคืน ข่าวดังกระฉ่อนไปทั่ว หลังจากนั้น ฉันก็ไม่เคยที่จะต้องไปเล่นตามคลับแจ๊สเล็กๆ อีกต่อไป มาริลีนเป็นผู้หญิงไม่ธรรมดา เธอก้าวล้ำยุคสมัยมาก้าวหนึ่งเสมอ เพียงแต่เธอไม่รู้ตัวเท่านั้นเอง”

เอลลาทำงานต่อไปอย่างหนักหน่วงเท่าที่เธอเคยทำมาในยุคแรกๆ ของอาชีพนี้ แม้ว่าโรคจะรุมเร้าสุขภาพก็ตาม เอลลาออกเดินสายทั่วโลก บางครั้งก็ออกโชว์สองหนรวบในหนึ่งวัน แถมต่างเมืองกันด้วย ในปี 1974 เธอใช้เวลาสองสัปดาห์ออกทัวร์โลกไม่ลืมกับซูเปอร์สตาร์แจ๊สอย่างแฟรงค์ สิเนตราและเคาน์ต เบซี ห้าปีหลังจากนั้นเธอก็ดูจะมั่นคงกับชื่อเสียงอยู่เช่นเดิม ทั้งยังได้รับเกียรติจากนิตยสารดาวน์บีตที่ทรงอิทธิพลต่อวงการแจ๊สให้เข้าสู่ฮอล ออฟ เฟม แล้วยังได้รับรางวัลจากสถาบันเกียรติยศเคนเนดี เซ็นเตอร์สำหรับผลงานศิลปะอันต่อเนื่องของเธอที่มีต่อวงการแจ๊ส

นอกจากวงการศิลปะแล้ว เอลลายังคงให้ความสนใจต่อสวัสดภาพของเด็กๆ อย่างลึกซี้งด้วย ถึงแม้ว่าชีวิตในส่วนนี้ของเธอจะเป็นที่รับรู้กันในหมู่คนส่วนน้อยก็ตาม แต่เธอก็ยังบริจาคให้กับองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับการป้องกันการล่วงละเมิดสิทธิเด็กอย่างสม่ำเสมอ และความสม่ำเสมอในการบริจาคทานของเธอนี้เองเป็นเสมือนผลบุญที่ทำให้เธอยังคงความเป็นดาวจรัสแสงอย่างไร้กาลเวลา นอกเหนือไปจากนั้น เมื่อฟรานเชสเสียชีวิตลง เอลลาก็ยิ่งรู้สึกว่าตัวเธอเองต้องรับผิดชอบอุปการะครอบครัวของน้องสาวต่อไป



ในปี 1987 ประธานาธิบดี โรนัลด์ รีแกน แห่งสหรัฐอเมริกามอบรางวัลเนชันแนล มีดัล ออฟ อาร์ตสแก่เอลลา นี่เป็นหนึ่งในรางวัลสูงสุดที่เธอได้รับ ประเทศฝรั่งเศสก็เป็นประเทศต่อไปที่เดินตามรอยการมอบรางวัลนี้ในหลายปีต่อมา ขณะที่มหาวิทยาลัยเยล, ดาร์ธเมาท์และอีกมากที่รอมอบปริญญาดุษฎีบณฑิตกิตติมศักดิ์แก่เธอ

ในเดือนกันยายน 1986 เอลลาต้องเข้ารับการผ่าตัดอาการเส้นโลหิตฉีดเลี้ยงหัวใจมากเกิน หมอได้ทำการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจให้เธอ แล้วก็วิเคราะห์ว่าเธอเป็นโรคเบาหวาน อันเป็นสาเหตุให้ความสามาถในการมองเห็นของเธอย่ำแย่ลง ข่าวลือหนาหูว่าเธอไม่สามารถกลับมาร้องเพลงได้อีกแล้ว แต่เอลลาพิสูจน์ให้เห็นอีกครั้ง เธอขัดขืนและต่อต้านคำสั่งห้ามทั้งของหมอ ของเพื่อนๆ ของครอบครัว รวมทั้งของนอร์แมน เธอดึงดันกลับคืนมาจับไมค์อีกครั้ง แถมยังตารางทำงานชุกอีกด้วย

ยุค 90 เอลลาบันทึกเสียงในห้องอัดไปมากกว่า 200 อัลบัม ในปี 1991 เธอออกเล่นคอนเสิร์ตสุดท้ายในชีวิตที่คาร์เนกี ฮอลในนิวยอร์ก นับเป็นครั้งที่ 26 ที่เธอมาเยือนที่นี่

อาการของโรคเบาหวานเริ่มกำเริบและแย่ลงเรื่อยๆ เอลลาในวัย 76 ปีก็ได้เผชิญหน้ากับอาการป่วยขั้นร้ายแรง จนถึงขั้นต้องตัดท่อนขาช่วงล่างออกไปทั้งสองข้าง เธอไม่รู้สึกดีขึ้นเลยจากการผ่าตัด หลังจากนั้นเธอก็แทบไม่ได้ออกเล่นที่ไหนอีกเลย ในช่วงเวลานี้ เอลลามีความสุขกับการนั่งเล่นที่สนามหญ้าหลังบ้าน ใช้เวลาอยู่กับเรย์ จูเนียร์และอลิซ หลานสาวตัวน้อยๆ

“ฉันแค่อยากสูดอากาศบริสุทธิ์ ฟังเสียงนกร้องจิ๊บๆ และก็ได้ยินอลิซหัวเราะ” เธอบอกเอาไว้

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 1996 เอลลา ฟิตซ์เจอรัลด์ถึงแก่กรรมในบ้านพักที่เบเวอร์ลี ฮิลส์ หลายชั่วโมงหลังจากนั้น ทั่วทุกมุมโลกต่างก็พร้อมใจไว้อาลัยให้กับเธอ พวงหรีดประดับดอกไม้สีขาวถูกวางเอาไว้ที่ชื่อของเธอในฮอลลีวู้ด วอล์ก ออฟ เฟม และมีปะรำด้านนอกตรงฮอลลีวู้ด โบว์ล เธียเตอร์มีป้ายเขียนว่า “เอลลา เราจะคิดถึงคุณเสมอ”

เรายังมั่นใจว่าไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานขนาดไหน ชื่อและเสียงของเอลลาจะยังคงตราตรึงอยู่ในโสตประสาทของแฟนเพลง และเสียงนี้แหละจะได้รับการสืบทอดจากคนฟังรุ่นต่อรุ่นไม่มีวันจบสิ้น ดังเช่นความงามของศิลปะที่ไม่มีวันตาย











Create Date : 26 มีนาคม 2549
Last Update : 26 มีนาคม 2549 9:24:33 น. 3 comments
Counter : 1965 Pageviews.

 
เธอเป็น Jazz Diva
ที่โลกไม่สามารถลืมได้จริงๆ ค่ะ


โดย: grappa วันที่: 26 มีนาคม 2549 เวลา:12:55:26 น.  

 
รู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยได้ฟังงานเก่าๆมานานพอดู มีแต่ของใหม่อยู่เรื่อยๆ ว่างๆคงต้องพักไว้บ้าง มาฟังของดีๆที่มีอยู่แล้ว


โดย: k_ktp วันที่: 26 มีนาคม 2549 เวลา:22:03:38 น.  

 
กลับไปฟังอีกครั้งก็เพราะดีนะคะ บางทีฟังพวกฟรีแจ๊สหรือบ็อปเยอะๆ กลับมาฟังเอลลา ก็เหมือนเป็นการล้างหูไปในตัว


โดย: nunaggie วันที่: 31 มีนาคม 2549 เวลา:10:04:03 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

nunaggie
Location :
City of Angels, Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




คุยเฉพาะเรื่องเพลง :D

"I still find each day too short for all the thoughts I want to think, all the walks I want to take, all the books I want to read, and all the friends I want to see." John Burroughs

Follow my twitter @nunaggie :)

"มีเรื่องราวอีกมากมายให้ชีวิตต้องเดินทางไปค้นหา เราคงไม่ค้นพบทุกอย่างได้ เพียงแค่ชั่วชีวิตเดียว"
Creative Commons License
© Supada Luangsirimongkol 2015.
qrcode
Friends' blogs
[Add nunaggie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.