1
2 3 4 5 6 7 8
9 10 11 12 13 14 15
16 17 18 19 20 21 22
23 24 25 26 27 28 29
30 31
Ascenseur Pour LEchafaud
Ascenseur Pour LEchafaud by Louis Malle หนังเรื่องนี้กำกับโดยหลุยส์ มาล ผู้กำกับชาวฝรั่งเศสซึ่งถือเป็นผู้กำกับรุ่นเดียวกับฟรองซัวส์ ทรูฟโฟต์ (The 400 Blows, A Bout De Souffle) Ascenseur Pour LEchafaud (อาสซองเซอร์ ปูร์ เลชาโฟด์) มีชื่ออื่นเป็นภาษาอังกฤษอยู่อีกสามชื่อ Elevator To The Gallows เป็นชื่อที่สองสำหรับฉายในตลาดสากล, Lift To The Scaffold สำหรับฉายในประเทศอังกฤษ และ Frantic สำหรับฉายในสหรัฐอเมริกา ดูเหมือนว่าจะเป็นชื่อที่เร้าใจมากกว่าประเทศอื่นๆ แต่ละชื่อก็ล้วนบ่งบอกแนวทางของหนังค่อนข้างจะชัดเจน ด้วยแนวทางของหนังแบบฟิล์มนัวร์ ที่สอดส่องพฤติกรรมของมนุษย์ขี้เหม็นแบบหญิงร้ายชายเลว การจัดแสงแบบโลว์คีย์ ยิ่งประกอบกับคุณสมบัติของหนังขาวดำที่ทำออกมาในปี 1958 ด้วยแล้ว .... ความหม่นมัว มืดมนอนธกาลจึงเป็นคีย์หลักของ Ascenseur Puor LEchafaud ด้วยความตั้งใจ เรื่องราวของ Ascenseur Pour LEchafaud เริ่มต้นขึ้นเมื่อจูเลียง ทาร์แวร์นิเยร์ อดีตพลร่มที่เคยผ่านศึกมาทั้งอินโดจีนและอัลจีเรียกับคู่รักคู่เร้น ฟลอรองซ์ ภรรยาของนายคาราลา เจ้านายของเขาซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานผลิตสัมภาระทหาร ทั้งสองร่วมกันวางแผนฆาตกรรมนายคาราลาเพื่อให้หมดขวากหนามแห่งความรัก จูเลียงเร้นกายเข้าไปในอาคารสำนักงานของนายคาราลาในช่วงก่อนที่จะปิดวันหยุดสุดสัปดาห์ อาศัยช่วงที่หมดคนแล้วสังหารนายคาราลาด้วยอาวุธปืน จึงจัดฉากคล้ายกับนายคาราลาฆ่าตัวตายเอง แต่โชคไม่เข้าข้างเท่าไรนัก เขาลืมดึงตะขอเกี่ยวซึ่งใช้วัดกำแพงด้านนอกของสำนักงานก่อนที่เขาจะลงมือนั้นกลับเข้ามา ด้วยเหตุนี้เขาจึงติดอยู่ในลิฟต์เมื่อระบบไฟฟ้าของทั้งสำนักงานถูกตัดหมดในช่วงกลางคืน สิบสองชั่วโมงให้หลัง จูเลียงก็ยังดิ้นรนหาทางออกจากลิฟต์ ในขณะเดียวกันเวโรนิกและหลุยส์ คู่รักวัยรุ่นคึกคะนองได้ขโมยรถของจูเลียงออกไปขับ เมื่อฟลอรองซ์เห็นรถของจูเลียง เธอจึงนึกว่าหลุยส์เป็นจูเลียงขับรถไปกับหญิงสาวคนอื่นไม่ยอมกลับมาสมทบกับเธอที่ร้านกาแฟที่นัดกันไว้หลังจากปฏิบัติภารกิจเสร็จ กระนั้นเธอก็ยังเดินตามหาเขาทั่วเมืองในค่ำคืนวันนั้น เวโรนิกและหลุยส์ค้นข้าวของในรถจูเลียงและใช้ชื่อของเขาเปิดห้องในโรงแรม ใช้กล้องของเขาถ่ายรูปแถมไปล้างในร้านอัดรูปของโรงแรม จนได้พบกับคู่สามีภรรยานักท่องเที่ยวเศรษฐีชาวเยอรมัน หลุยส์คิดจะขโมยรถเมอร์เซเดส หากแต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะพวกเขามีปืน เขาจึงปลิดชีวิตนักท่องเที่ยวทั้งสองด้วยรีวอลเวอร์ที่เจอในรถของจูเลียงเช่นกัน จากนั้นจึงทิ้งรถไว้ก่อนจะหลบหนีไป ฟลอรองซ์ถูกตำรวจพาตัวไปที่โรงพักกับเพื่อนขี้เมาที่เจอที่บาร์ แต่ไม่นานเธอก็ถูกปล่อยตัวออกมาพร้อมๆ กับที่นักสืบเชริเยร์สอบถามเธอถึงชื่อของทาร์แวร์นิเยร์ ส่วทางด้านจูเลียงนั้น ถึงแม้จะออกมาจากลิฟต์ได้แล้ว แต่เขาก็ต้องถูกตำรวจจับ เพราะว่ารูปถ่ายของเขาไปโชว์หราอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ข้อหาฆาตกรรมในโรงแรม คงจะเป็นเรื่องยากที่จะปัดข้กล้าวหานั้นได้ โดยที่ไม่ต้องรับสารภาพในเรื่องการฆาตกรรมนายคาราลา ส่วนฟลอรองซ์ก็ตามหาสองหนุ่มสาวเจ้าปัญหาจนพบ แล้วนำภาพถ่ายจากฟิล์มม้วนเดียวกันที่หลุยส์เอาไปล้างอัดที่โรงแรมมาเพื่อเป็นหลักฐานต่อนักสืบเชริเยร์ แต่นั่นหมายถึงการก้าวเข้าสู่การเปิดเผยเรื่องราวการวางแผนฆาตกรรมสามีของเธอเองเช่นกัน หนังเรื่องนี้เป็นหนังยาวเรื่องแรกของหลุยส์ โดยก่อนหน้านี้เขามีผลงานหนังสั้น 2 เรื่อง Crazelogie (1953) และ Station 307 (1954) ตามด้วยหนังสารคดี Le Monde Du Silence (1956) ก่อนที่จะมาลงมือกำกับ Ascenseur Pour LEchafaud ในขณะที่อายุเพียง 24 ปีเท่านั้นเอง ผลงานระยะหลังที่สร้างชื่อให้กับหลุยส์มีอีกหลายเรื่อง อาทิ Le Feu Follet (1963), Le Voleur (1967), Atlantic City (1980), Au Revoir Les Enfants (1987) เรื่องนี้น่าจะเป็นที่รู้จักดีในหมู่นักดูหนังบ้านเราและเป็นหนังที่ทั้งเข้าชิงรางวัลและได้รางวัลมาจากหลากหลายสถาบันAscenseur Pour LEchafaud by Miles Davis ผมบ้าเพลงแจ๊สอยู่แล้ว และสกอร์สำหรับหนัง Ascenseur Pour LEchafaud นี่ก็มีเอกลักษณ์แตกต่างจากหนังเรื่องอื่นๆ ที่เป็นสกอร์เขียนขึ้นมาแบบโดยเฉพาะ แต่สกอร์หนังเรื่องนี้เป็นหนึ่งในหนังไม่กี่เรื่องที่เป็นการด้นสดๆ ทั้งอัลบัม เขาจะดูการซ้อมในช่วงนั้นแล้วก็เริ่มซ้อมกันกับนักดนตรี มันซึมซาบเข้าเป็นเนื้อเดียวกับหนังจริงๆ ~หลุยส์ มาล~ ในความรู้สึกส่วนตัวแล้ว ดูเหมือนว่าในความเป็นนักดนตรีผู้ยิ่งยงของ The Prince of Darkness อย่าง ไมล์ส เดวิส แล้ว.... เขายังมีด้านมืดและเงียบสงัดที่เราอาจจะยังนึกไม่ถึง และด้านนี้เองหรือเปล่านะที่ผลักดันให้ ไมล์ส สร้างสรรค์งานที่หม่นหมองขนาดนี้ออกมาได้ ถึงแม้จะเป็นวลีที่เขาระบายลมออกมาไม่กี่ตัวโน้ต แต่เสมือนมันกินเวลาและใจความยาวยืดเกินหนึ่งลมหายใจ และไมล์สเองก็โดดเด่นในเรื่อง Less is more เป็นทุนเดิม หนังเรื่องนี้นั้นเรียกได้ว่าได้ดนตรีของไมล์สมาเติมเต็มอย่างไม่ต้องสงสัย แถมช่วงนั้นก็เป็นยุคที่เขาประสบความสำเร็จอย่างสูงในอาชีพ ใครมาเล่นกับเขาก็ล้วนแล้วแต่ได้ประสบการณ์ที่ดีๆ กลับไปทั้งสิ้น นักดนตรีที่มาเล่นกับไมล์สในเพลงประกอบหนังเรื่องนี้เป็นชาวฝรั่งเศสและถูกจัดการให้เชื่อมต่อกับวิสัยทัศน์ของไมล์สเพื่อทำเพลงออกมา ปิแยร์ มิเชโลต์ (เบส), เคนนี คลาร์ก (กลอง), บาร์นีย์ วีลอง (เทเนอร์แซ็กโซโฟน) และเรเน อูร์เตรเชร์ (เปียโน) ดนตรีแจ๊สช่วยอุ้มชูอารมณ์ในแบบของฟิล์มนัวร์ให้ออกรสมากยิ่งขึ้น เพราะไมล์สจะอิมโพรไวส์สดๆ หลังจากที่ได้ดูแต่ละฉากแต่ละซีนที่เขาต้องทำงาน ไมล์สเคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการทำงานกับหลุยส์ มาลเอาไว้ว่า ตอนนั้นผมไปปารีสเพื่อนแสดงคอนเสิร์ตประมาณสองสามสัปดาห์ ซึ่งผมได้พบกับนักทำหนังชาวฝรั่งเศส หลุยส์ มาล ผ่านทางจูเลียต เกรโก หลุยส์บอกผมว่าเขารักเพลงของผมมาก เป็นแฟนตัวเอ้ และอยากจะให้ผมไปทำเพลงประกอบหนังเรื่องแรกของเขา Ascenseur Pour LEchafaud ผมก็สนใจอยากจะทำ มันเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีสำหรับผมเลยทีเดียว เพราะผมเองก็ไม่เคยเขียนสกอร์สำหรับหนังมาก่อน ผทก็จะดูหนังนิดหน่อยและก็ดึงเอาไอเดียเพลงออกมาเขียนลงไป หนังเรื่องนี้เป็นหนังฆาตกรรม และน่าจะเป็นหนังเขย่าขวัญ ผมก็เลยใช้ตึกเก่าๆ มืดๆ นี่แหละเป็นสถานที่ที่เล่นกัน ผมว่ามันได้บรรยากาศ แล้วมันก็ได้ผลจริงๆ หนังอาจจะเป็นสื่อที่คุ้นเคยสำหรับคนทั่วๆ ไปในยุคใหม่ที่จะสร้างความเข้าใจและสื่อสารกับประชาชนมวลรวม ในขณะที่สื่ออื่นๆ ก็ถูกยุบหลอมรวมกันเพื่อสร้างสื่อใหม่ๆ ออกมา หากแต่สื่อตัวนี้ก็สามารถที่จะสร้างผลตอบรับได้ชัดเจนมากยิ่งหากได้องค์ประกอบของดนตรีที่ลงตัวมาช่วยโอบอุ้มเป็นเนื้อหนัง สร้างหลากหลายมิติในการรับรู้และพลังสร้างสรรค์ของงานศิลปะ แล้ว Ascenseur Pour LEchafaud ก็ถือเป็นงานศิลป์ที่สร้างสรรค์อย่างแท้จริงในการนำสื่อสองสื่อเข้ามาผสมและสร้างอิทธิพลซึ่งกันและกันได้อย่างลงตัว เราจะเห็นได้ชัดเจนถึงตัวหนังที่เองที่มีประวัติมายาวนานและสามารถสื่อสารกับวิสัยทัศน์ของศิลปินได้แจ่มแจ้งโดยการหาจุดที่เชื่อมต่อได้โดยตรงระหว่างการแสดง, การจัดฉากและงานดนตรีประกอบ, ความกลมกลืนและรูปแบบที่จัด, ด้วยวัฒนธรรมที่สื่อสารอย่างอิสระผ่านแผ่นฟิล์ม ทำให้ครบถ้วนและได้รับการยกย่องจากสื่ออื่นๆ ว่าสามารถเก็บข้อมูลในการบอกเล่าได้ค่อนข้างจะสมบูรณ์ นั่นเป็นเพราะว่าโลกที่เรารับรู้อยู่ทุกวันนี้มันเหมือนในหนังมากกว่าที่จะเหมือนภาพวาดหรือวงออร์เคสตรา จุดเชื่อมต่อระหว่างไมล์ส เดวิสและหลุยส์ มาลคือบูรณภาพแห่งความเป็นศิลปิน ทั้งสองคนนี้คือความเป็นหนึ่งในทั้งสองสาขาอาชีพก่อนที่พวกเขาจะมาร่วมงานกันเสียอีก เราอาจจะต้องลืมความหมายของคำว่า แจ๊ส ไปชั่วระยะหนึ่ง เพื่อพยายามมองถึงการเชื่อมโยงซึ่งกันและกันระหว่างศิลปินและสื่อ ทั้งไมล์สและหลุยส์ต่างก็มองเห็นถึงแง่มุมมองที่น่านับถือในผลงานของอีกฝ่าย และในการร่วมงานกันใน Ascenseur Pour LEchafaud สร้างความสัมพันธ์ระหว่างแต่ละฉากกับตัวเพลงสามารถแนบเกี่ยวกลมกลืน ต่างฝ่ายต่างมีแรงส่งผลักดันกันและกันในการสำแดงพลังของแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน หลุยส์เองก็เชื่อมั่นว่าไมล์สจะสามารถทำเพลงออกมาได้สมกับสิ่งที่เขาอยากจะนำเสนอ นั่นก็เป็นผลสำเร็จในการตอกย้ำความเป็นหนึ่งอีกก้าวของไมล์ส แต่เราบอกได้เลยว่าความสำเร็จในการสื่อสารซึ่งกันและกันอย่างได้ผลแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับศิลปินรายใดก็ได้ ความเชื่อมโยงในหนังและสกอร์มาจากการที่ส่วนหนึ่งหนังเป็นหนังขาวดำ ซึ่งสร้างความเป็นดรามาออกมาได้โดยอัตโนมัติโดยอยู่บนพื้นฐานของความแตกต่างของสีที่นำไปสู่การสร้างฉากต่างๆ เราสามารถยืนยันกันได้ตรงนี้ด้วยความนับถือไมล์ส เดวิสเลยว่าเป็นความเก่งกาจสามารถของเขาในการเป็นนายของเครื่องดนตรีกับทรัมเป็ตคู่ใจที่มีเพียงแค่สามวาล์วให้กดเท่านั้นเอง หากแต่ความหลากหลายทางตัวโน้ตที่เป่าออกมาบังเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ค์ล้วนๆ สิ่งที่เยี่ยมที่สุดในการเชื่อมโยงเพลงเข้ากับหนังที่ไมล์สได้ทำเอาไว้ก็คือเขาใช้เพียงไม่กี่ตัวโน้ตนั่นแหละในการสร้างบรรยากาศให้หนัง โดยการตอกย้ำเล่นซ้ำไปมาในตัวโน้ตไม่กี่ตัวที่เขาเลือกเป่า ซึ่งก็เหมือนกันเทคโนโลยีหนังขาวดำที่มีอยู่เพียงแค่สองสีในยุคทศวรรษที่ 50 อีกทั้งไมล์สยังรู้ความพอเหมาะและจังหวะเวลาที่เขาควรจะสร้างเสียงประกอบหรือจังหวะที่ควรจะให้หนังมันเล่าเรื่องราวด้วยตัวเอง แต่ละโน้ตที่ไมล์สร่ายออกมาบ่อยครั้งที่จะตรงกับอารมณ์ของนักแสดงในแต่ละฉาก โดยเฉพาะในฉากที่อยู่ในภาวะกดดันหรือฉากที่ฟุ่มเฟือยอารมณ์หรรษา เพลงของไมล์สไม่ได้ปรากฏอยู่ตลอดทั้งเรื่อง หากแต่ฉากแรกที่มีเสียงเพลงประกอบเป็นฉากที่คู่รักหนุ่มสาวได้ขโมยรถไป
. ในฉากนี้ หลุยส์และเวโรนิกได้ขโมยรถของจูเลียงไปแล้ว ไมล์สและลูกวงของเขาเลือกเล่นตัวโน้ตที่บ่งชี้ถึงความคะนองและสนุกสนานในขณะที่สองหนุ่มสาวขับรถผ่านไปตรงที่จูเลียงได้จอดทิ้งเอาไว้ กลับขึ้นไปที่สำนักงานเพื่อไปเอาตะขอเกี่ยวที่ทิ้งเอาไว้ด้านนอกของตัวอาคารตอนที่หลบออกมาหลังจากการฆาตกรรม โน้ตแต่ละตัวใน Sur LAutoroute ไม่ได้แสดงออกเกี่ยวข้องถึงสถานการณ์ ณ ตอนนั้นโดยตรง หากแต่อารมณ์โดยรวมชัดเจนถึงความคะนองและบ้าบิ่นของทั้งสองคน นักดนตรีทุกคนอัดกันไม่ยั้ง ไม่เว้นแม้แต่ไมล์ส ทรัมเป็ตติดมิวต์ของเขาเปล่งเสียงแหบแหลมออกมารัวเร็วและไม่ชัดเจนเปรียบกับอารมณ์ของสาวน้อยที่เริงร่าไปกับรถเปิดประทุนของจูเลียงอันดูเหมือนเป็นของแปลกใหม่สำหรับเธอเสียเหลือเกิน Sur LAutoroute นี้ได้นำเอาแพ็ตเทิร์นคอร์ดจากเพลง Sweet Georgia Brown มาเป็นพื้นฐานการบรรเลง ในขณะที่ฉากถัดมา ฟลอรองซ์เดินตามหาแฟนหนุ่มไปทั่วย่านฌ็อง เซลีเซส์ ภาพไฟกระพริบจากป้ายไฟ Kronenbourg สะท้อนใส่ใบหน้าของหญิงสาว คลอไปด้วยเสียงเบสทุ้มต่ำเป็นจังหวะเสมือนความกระวนกระวายใจของเธอในยามนั้น แล้วเสียงทรัมเป็ตของไมล์สก็แทรกเข้ามาด้วยตัวโน้ตไม่กี่ตัวและกดลากยาว พร้อมด้วยเสียงของเปียโน เบสและกลองที่เสริมบรรยากาศจากเพียงแค่คลอเคล้ามาจนถึงเต็มเสียงจากท่อน Florence Sur Les Champs-Elysees ซึ่งในท่อนนี้ให้ความหมายต่อเนื่องไปถึงฉากถัดไปที่จูเลียงกำลังมองหาทางออกอยู่ในลิฟต์ที่มืดมิดเช่นเดียวกัน มีอีกฉากที่แสดงถึงประสิทธิภาพที่ดนตรีจะช่วยสื่อสารออกมาได้ ในตอนที่ฟลอรองซ์เดินเข้าไปตามหาจูเลียงในบาร์ เสียงเปียโนดังแผ่วจากในร้าน แต่เมื่อเธอก้าวเท้าออกจากร้านเท่านั้น แสงไฟก็สาดเข้าใส่ พร้อมๆ กับเสียงดนตรีประกอบครบวงจากท่อน Nuit Sur Les Champs-Elysees นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ใช้แสงไฟเป็นส่วนประกอบในการสร้างความมืดหม่นให้กับตัวละครร่วมกับดนตรีแจ๊สจังหวะเนิบนาบ โดยมิต้องอาศัยบทพูดเพื่อที่จะบ่งบอกอารมณ์ของฟลอรองซ์ในตอนนั้นเลย โน้ตเบสที่เชื่องช้าถูกเล่นให้คู่กับโน้ตทรัมเป็ตที่ลากยาวเป็นเสมือนโมทิฟของจูเลียงและฟลอรองซ์ ส่วนแซ็กโซโฟนที่เร้าใจกับจังหวะกลองกระชากกระชั้นถูกจับให้กับคู่หนุ่มสาวคะนองรัก แต่ละชิ้นงานประพันธ์ถูกร้อยเรียงให้เข้ากับแต่ละเหตุการณ์อย่างปราณีตบรรจง ฉากที่จะตอกย้ำได้ดีที่สุดในคำยกยอแบบนี้ ต้องเป็นฉากเร้าใจที่สุดฉากหนึ่งของ Ascenseur Pour LEchafaud ก็คือฉากที่จูเลียงกำลังหาทางโรยตัวลงไปใต้ลิฟต์เพื่อที่จะถอดตะขอออกจากคานลิฟต์นั้น ในระหว่างที่เขากำลังเพียรพยายามอยู่ ปรากฏว่าด้านนอกมียามรักษาการณ์ที่มาเปลี่ยนกะได้ทำกุญแจร่วงลงพื้น เขาจึงสับสวิตช์เปิดไฟ ทำให้ลิฟต์เคลื่อนลงอย่างรวดเร็วลงสู่พื้นด้านล่าง ช่วงนี้เองในท่อน Visite Du Vigile ที่ไมล์สเลือกใช้โน้ตเบสเพียงแค่สามตัวเล่นย้ำหลายครั้งไปเรื่อย จนตามด้วยเสียงทรัมเป็ตหนืดๆ ส่อบรรยากาศที่ไม่ค่อยจะดีนัก กับเสียงแฉที่ถูกลากด้วยบรัชจนได้เสียงเช่นเดียวกัน เครื่องดนตรีทุกอย่างค่อยๆ เล่นจากเบาจนเต็มเสียงเข้ากับความเคลื่อนไหวของนักแสดงในฉาก ทุกเสียงหยุดลงกระทันหันเมื่อยามสับสวิตช์กลับคืน ทำให้จูเลียงหยุดกึกไม่ร่วงลงสู่พสุธาในที่สุด ถือเป็นฉากที่ครบถ้วนด้วยการสื่อสารทั้งภาพและเสียงอย่างพอเหมาะพอเจาะ จริงๆ แล้วแผ่นซีดีเพลงประกอบหนังเรื่องนี้ขาดตลาดไปนานหลายปี จนกระทั่งยูนิเวอร์ซัล ฝรั่งเศสจับมาปัดฝุ่นอีกครั้งด้วยการรีมาสเตอร์ฉบับสมบูรณ์ ปกภายในก็ทำเสียสวยงาม เซสชันดั้งเดิมที่เล่นกันนั้นมีทั้งหมด 26 เพลง แต่หลุยส์ มาลคัดออกมาเพียง 10 เพลงเพื่อลงในหนังของเขา ดังนั้นในซีดีรีมาสเตอร์เวอร์ชันนี้ เราจะได้ฟังครบถ้วนทั้ง 26 เพลง ซึ่งเป็นเทคต่างๆ ของแต่ละเพลงบอกตามตรงเลยว่าหากอ่านบทความนี้จบแล้ว อยากจะให้ชาวแจ๊สทุกคนได้ลองหาดีวีดีหนังเรื่องนี้มาดูกันให้ครบถ้วน อาจจะหายากหน่อย แต่ก็คุ้มค่า เพราะมันเป็นการร่วมงานกันของศิลปินสองคนที่บังเกิดผลลัพธ์ออกมาอย่างยอดเยี่ยม ทั้งๆ ที่ไมล์ส เดวิสและชาวคณะใช้เวลาบันทึกเสียงอัลบัมนี้เพียงแค่ 4-5 ชั่วโมงเท่านั้น คงจะไม่มีใครพูดหรอกว่ามันเป็นงานลวกๆ สุกเอาเผากินเพียงแค่มองถึงเวลาในการทำงาน การที่ได้รู้ว่าเขาถ่ายหนังกันยังไงหรือนักดนตรีเขาเล่นกันยังไงอาจจะแค่ทำให้เราได้มุมมองที่แตกต่างจากการร่วมงานของไมล์สและหลุยส์ แต่สำหรับคนดูอย่างพวกเราแล้วคงไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นคนทำหนังหรือนักดนตรีแจ๊สเพื่อที่จะ อิน กับผลงานของพวกเขาก็ได้ Musicians : Miles Davis : Trumpet Barney Wilen : Tenor Saxophone Rene Urtreger : Piano Pierre Michelot : Bass Kenny Clarke : Drums Music Composed by Miles Davis Written and Directed by Louis MalleTracklisting ; 1. Nuit Sur Les Champs-Elysees (Take 1) 2.28 2. Nuit Sur Les Champs-Elysees (Take 2) 5.26 3. Nuit Sur Les Champs-Elysees (Take 3) 2.26 4. Nuit Sur Les Champs-Elysees (Take 4) 3.03 5. Assasinat (Take 1) 2.07 6. Assasinat (Take 2) 2.15 7. Assasinat (Take 3) 2.13 8. Motel-Diner Au Motel 4.01 9. Final (Take 1) 3.10 10. Final (Take 2) 3.05 11. Final (Take 3) Chez Le Photographe Du Motel 4.09 12. Ascenseur-Evasion Du Julien 2.04 13. Le Petit Bal (Take 1) 2.44 14. Le Petit Bal (Take 2) Au Bar Du Petit Bac 2.58 15. Sequence Voitures (Take 1) 3.00 16. Sequence Voitures (Take 2) Sur LAutoroute 2.25 17. Generique 2.50 18. LAssasinat De Carala 2.11 19. Sur LAutoroute 2.20 20. Julien Dans LAscenseur 2.09 21. Florence Sur Les Champs-Elysees 2.52 22. Diner Du Motel 3.58 23. Evasion De Julien 0.55 24. Visite Du Vigile 2.06 25. Au Bar Du Petit Bac 2.54 26. Chez Le Photographe Du Motel 3.53
Create Date : 06 ธันวาคม 2550
Last Update : 6 ธันวาคม 2550 3:00:09 น.
1 comments
Counter : 1120 Pageviews.
โดย: YUI_MUNMOO วันที่: 4 มกราคม 2551 เวลา:19:24:18 น.
Location :
City of Angels, Thailand
[ดู Profile ทั้งหมด]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [? ]
คุยเฉพาะเรื่องเพลง :D "I still find each day too short for all the thoughts I want to think, all the walks I want to take, all the books I want to read, and all the friends I want to see." John Burroughs Follow my twitter @nunaggie :) "มีเรื่องราวอีกมากมายให้ชีวิตต้องเดินทางไปค้นหา เราคงไม่ค้นพบทุกอย่างได้ เพียงแค่ชั่วชีวิตเดียว"
© Supada Luangsirimongkol 2015.
The following text will not be seen after you upload your website,
please keep it in order to retain your counter functionality
Free Trackers Help