"แจ๊ส....ฉัน"
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2551
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
14 กรกฏาคม 2551
 
All Blogs
 
คาวบอยกับหนังรัก ผู้กำกับฯและดนตรีแจ๊ส

Clint Eastwood กับ The Bridges Of Madison County

พูดถึงผลงานเพลงประกอบภาพยนตร์แล้ว ในปัจจุบันนี้คงจะเน้นไปที่การขายเพลงป็อปหรือร็อคร่วมสมัยที่บรรจง “อัด” เข้าไปในหนังมากกว่าที่จะมานั่งขายงานเพลงบรรเลงประกอบ บางครั้งมันมากเกินความจำเป็น จนรู้สึกว่าเหมือนเข้ามาดูมิวสิกวิดีโอประกอบหนังเสียมากกว่า คงไม่ต้องบอกกันชัดเจนว่าเพราะเหตุใดอัลบัมเหล่านั้นจึงออกมาเกลื่อนจากหนังฮอลลีวู้ดแทบทุกๆ เรื่องที่เข้าฉาย

แต่บางครั้ง หากมีโอกาสที่จะละเลียดกับหนังบางเรื่อง (ที่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นหนังอินดีจ๋า) เราก็จะพบว่ามีหนังอยู่มากเรื่องทีเดียวที่หยิบเอาดนตรีแจ๊สมาประกอบอารมณ์ ซึ่งหนังเหล่านั้นคงจะต้องเป็นหนังเน้นให้เกิดผลทางด้านอารมณ์พอสมควร อ๊ะ...แต่ก็ไม่แน่เสมอไป เพราะใครจะไปคิดล่ะว่าหนังชุดพิมพ์นิยมอย่าง Young Indiana Jones จะมีตอนที่เกี่ยวข้องกับดนตรีแจ๊สกับเขาด้วยเหมือนกัน

หากใครที่พอจะเป็นคอหนังดรามาอยู่บ้าง ก็คงจะเคยได้ยิน The Bridges Of Madison County มาบ้าง และถ้าเป็นคอหนังที่รักเพลงแจ๊สแล้วละก็ แผ่นดีวีดีภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องมีอยู่ในคอลเล็คชันของคุณแน่นอน เท่านั้นไม่พอ แผ่นซีดีเพลงประกอบภาพยนตร์ยิ่งต้องมีเป็นอย่างยิ่ง เพราะอะไรน่ะหรือ... ก็เพราะมันเป็นผลงานของคลินต์ อีสต์วู้ด และเป็นหนึ่งในผลงานของเขามีเพลงแจ๊สประกอบอยู่มากที่สุดน่ะสิ!! จริงๆ แล้วผลงานของคลินต์มีหลายแผ่นที่น่าจะเขียนแนะนำกันมากกว่านี้ หากแต่ด้วยความจำกัดในเรื่องของความยาว เรามาว่ากันเป็นชุดแล้วซึมซับกับมันให้ถึงแก่น....คงจะดีกว่า

The Bridges Of Madison County
เรื่องเล่าของรักแรกพบ




ณ สะพานโรสแมน ในเมืองเมดิสัน เคาน์ตี มลรัฐไอโอวา ประเทศสหรัฐอเมริกา...เป็นสถานที่ที่โรเบิร์ต คินเขด (คลินต์ อีสต์วู้ด) และฟรานเชสกา จอห์นสัน (เมอรีล สตรีพ) ได้พบและสานรักซึ่งกันและกัน ในชั่วเวลาเพียงแค่สี่วัน แต่ดูเหมือนความรักที่ทั้งสองมีให้กันนั้น...นานโกฏปี แต่ “เวลา” ที่ไม่เคยปราณีใคร ก็ได้โบยตีพวกเขาทั้งคู่ด้วยการพรากความรักจากไปราวกับว่าพวกเขาได้ทำความผิดขั้นลหุโทษก็ไม่ปาน....

ฟรานเชสกาเป็นแม่บ้านลูกสองชาวอิตาเลียนที่ย้ายสำมะโนครัวตามสามีมาทำไร่อยู่ที่ไอโอวา แต่ชีวิตของแม่บ้านชาวไร่ก็สร้างทั้งความสุข ความเคยชิน และความน่าเบื่อให้กับเธอไม่น้อย จนกระทั่ง...วันที่สามีและลูกต้องออกเดินทางไปต่างเมืองเป็นเวลาสี่วัน ในช่วงเวลาสี่วันที่มีความหมายไปตลอดชีวิต เธอได้มาพบกับโรเบิร์ต ช่างภาพของนิตยสารเนชันแนล จีโอกราฟฟิกที่เดินทางรอนแรมมาบันทึกและเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องของสะพานคู่ที่เมืองเมดิสัน ดูเหมือนว่าคำว่า “รักแรกพบ” ที่บางคนไม่เคยเชื่อ กลับมาบังเกิดในช่วงมัจฉิมวัยของคนทั้งคู่ แต่เรื่อง “ความถูกต้อง” กับ “ความรับผิดชอบ” จะเป็นประเด็นใหญ่ที่ได้รับการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางหลังจากดูภาพยนตร์เรื่องนี้ เธอปล่อยความรักและความต้องการจัดการเรื่องราวในวิถีทางของมันเอง โดยมิต้องเอาเรื่องครอบครัวเข้ามาเกี่ยวให้รกสมอง



แต่ในที่สุดแล้ว ฟรานเชสกาเลือกที่จะตัดความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับโรเบิร์ต ถึงแม้ว่าเขาจะตื๊อให้เธอหนีตามเขาไปหนแล้วหนเล่าก็ตาม จนกระทั่งครั้งสุดท้าย (ซีนกระชากหัวใจของแฟนหนังหลายๆ คน) เขาจอดรถติดไฟแดง ส่วนรถของเธอและสามีจอดตามหลัง โรเบิร์ตหยิบเอาจี้ห้อยคอที่เธอให้เขาขึ้นมาแขวนตรงกระจกส่องหลัง เมื่อฟรานเชสกาเห็น เธอก็รู้ความหมายทันทีว่า....เขายังคงต้องการเธอไม่เปลี่ยนแปลง หากแต่ความรับผิดชอบที่เธอยังคงมีอยู่กับสามีและลูกน้อยสองคน มือที่เตรียมจะบิดเปิดประตู ก็ได้แต่กำอยู่อย่างนั้น แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะเปิดดีหรือไม่ หากว่าเธอเปิดประตูจริงๆ ความรักที่เป็นอมตะคงจะไม่มีอยู่แน่นอน ฟรานเชสการ้องไห้ร้องห่มออกมาแบบไม่รู้จะไประบายกับใคร

ท้ายที่สุด ฟรานเชสกาดูแลลูกสองคนจนเติบโตแยกย้ายออกไปเป็นฝั่งเป็นฝา ปรนนิบัติสามีจนกระทั่งวันสิ้นลมหายใจ เมื่อถึงวันสุดท้ายของชีวิต เธอขอเถ้ากระดูกให้เป็นของโรเบิร์ต...เท่านั้นเองที่เขาจะได้จากเธอ นอกเหนือจากความรักที่มิเคยได้ครอบครอง ชีวิตความรักที่หลบเร้นของฟรานเชสกาในที่สุดแล้วกลับกลายเป็นเครื่องเตือนใจกับลูกชายและลูกสาวทั้งสองให้หันกลับมามองดูชีวิตครอบครัวของตัวเองให้กระจ่างแท้

บทเพลงแจ๊สถูกนำมาใช้ในภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างออกรสออกชาติ ถึงแม้ว่าเพลงธีมหลักของเรื่อง Doe Eyes จะเป็นชิ้นงานออร์เคสตราก็ตาม แต่ละตัวโน้ตที่ออกมา เปรียบดั่งสายธาราที่หลั่งรินออกมาจากคูหาอันอุดมด้วยน้ำเย็นฉ่ำ ซึ่งบางคนอาจจะไม่เชื่อเอาเลยว่าเป็นการประพันธ์จากมันสมองของคลินต์ อีสต์วู้ด คาวบอยสูงวัยที่ไม่เคยปลดระวางคนนี้... แต่ละตัวโน้ตที่ถูกพร่างพรมออกมา แสดงให้เห็นความพลิ้วไหวของอารมณ์ในฐานะที่เขาเองก็เป็นนักเปียโนแจ๊สเก่าเหมือนกัน งานนี้ไมเคิล แลงก์เป็นคนลงมือพรมนิ้วถ่ายทอดให้กับคลินต์ เลนนี นีเฮาส์มีส่วนในการอำนวยวงออร์เคสตราให้มีถ่ายทอดอารมณ์ของ Doe Eyes ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น



ภาพความหลงใหลในดนตรีแจ๊สส่วนตัวของคลินต์ ทำให้ The Bridges Of Madison County ได้มีโอกาสไปเยี่ยมแจ๊สคลับเล็กๆ ย่านชานเมืองที่เขาเซ็ตขึ้นมา บรรยากาศแบบบ้านๆ โต๊ะไม้ กับบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยควันบุหรี่สีเทา และวงดนตรีห้าชิ้นที่มีลูกชายของเขา (ซึ่งก็คือไคล์ อีสต์วู้ด เคยมีผลงาน From There To Here ออกภายใต้สังกัด Columbia ในปี 1998) เข้าฉากเล่นเบสอยู่ด้วย วงที่ว่านี่ก็คือวงของเจมส์ ริเวอร์ส ซึ่งนอกจากไคล์แล้ว ก็ยังมี เจมส์ ริเวอร์ส, มาร์ก เอ.บรูกส์, ปีเตอร์ โช, เอ็ดดี เดอจีนส์ ซีเนียร์, เจสัน ซี.บริวเวอร์ มาร่วมกันแจมในเพลง Jammin’ With J.R. (James Rivers) ก็เป็นที่น่าเสียดายสักหน่อย ที่ไม่มีบทเพลงนี้ในอัลบัมซาวแทร็ค แต่ถึงแม้จะเป็นเพลงซีนสั้นๆ แต่ว่าก็เป็นซีนที่น่าจดจำทีเดียว เพราะทั้งโรเบิร์ตและฟรานเชสกาได้พูดคุยถึงชีวิตส่วนตัวกันที่นี่ และถึงแม้อีกบทเพลงที่ประกอบในซีนนี้จะเป็นเพลง For All We Know (Sam M.Lewis/J.Fred Coots) หากแต่เรื่องราวของเขาทั้งสองกลับไม่ได้เป็นที่รู้กันอย่างชื่อเพลงแม้แต่น้อย

I See Your Face Before Me (Howard Dietz/Arthur Schwartz) บทเพลงที่ถูกถ่ายทอดโดยจอห์นนี่ ฮาร์ตแมน เสียงที่นุ่มลึกและรื่นรมย์ราวกับเส้นไหมของจอห์นนี สร้างความหวามไหวให้กับสาวๆ มาหลายยุคหลายสมัยแล้ว บทเพลงนี้เป็นอีกบทเพลงสำคัญที่ประกอบอย่างได้จังหวะในช่วงที่โรเบิร์ตและฟรานเชสกาได้ร่วมรับประทานอาหารค่ำ เต้นรำด้วยกัน และมีความสัมพันธ์อันล้ำลึกต่อกันในเวลาต่อมา ในความคิดของเราแล้ว ยากที่จะหาน้ำเสียงของเครื่องดนตรีชิ้นใดมาเทียบความเซ็กซีที่ออกมาจากทรัมเป็ตได้ง่ายๆ เลย I See Your Face Before Me เวอร์ชันนี้น่าจะมาจากอัลบัมดั้งเดิม Once In My Life ที่ออกภายใต้สังกัดบีไฮฟ์ ในปี 1980 นอกเหนือไปจากเสียงของจอห์นนีแล้ว เสียงกีตาร์และเปียโนในเพลงนี้นี่แหละเป็นตัวเอกที่ทำให้กลายเป็นเพลงสำคัญไป (ตามข้อมูลที่หามาได้ในเบื้องต้น อเล็กซานเดอร์ กาฟา (กีตาร์) และโจ ไวล์เดอร์ (ทรัมเป็ต)ได้ฝากฝีมือเอาไว้) ด้วยความพลิ้วและกรุ่นไปด้วยกลิ่นไอแห่งความปรารถนาอันแรงกล้า



Easy Living ที่ถูกถ่ายทอดโดยจอห์นนี ฮาร์ตแมนอีกครั้ง เพลงนี้เปรียบเสมือนเพลงสัญลักษณ์ของตัวละครอย่างโรเบิร์ตไม่มีผิด เรียบง่าย เดียวดายแต่งดงาม ยกเครดิตในการรวบรวมเพลงให้แก่ ลี เฮอร์ชเบิร์กไปโดยดุษณี และต้องถืออีกอย่างว่าอัลบัม Once In My Life เป็นอีกหนึ่งอัลบัมที่น่าติดตาม หากไม่เกินความสามารถจะหามาฟังได้ล่ะก็ เพราะว่า Easy Living ก็ถูกหยิบมาจากอัลบัมนี้เช่นกัน

นอกจากรางวัลจากสถาบันภาพยนตร์หลากหลายสถาบันที่หนังเรื่องนี้ได้รับแล้ว เลนนี นีเฮาส์ยังได้รับรางวัลจากสถาบัน BMI Film & TV Awards ด้วย



The Bridges Of Madison County ถือเป็นเพชรเม็ดงามอีกหนึ่งเม็ดทั้งในวงการภาพยนตร์และวงการเพลงแจ๊ส การเลือกเอาเพลงแต่ละเพลงมาจับเข้ากับบรรยากาศในยุคสมัยเดียวกัน รวมไปถึงสกอร์ที่คลินต์เป็นผู้ประพันธ์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายรวมไปถึง Remembering The Bridges Of Madison County รวมเพลงอีกชุดหนึ่งที่ออกตามมาในระยะเวลากระชั้นชิด หากแต่ไม่สามารถเทียบคุณค่าทางโภชนาการใดได้กับชุดแรก นอกจากจะคิดเพียงแค่ว่าเป็นวัตถุทางการค้าของต้นสังกัดก็เท่านั้น

Clint Eastwood
คาวบอยหวานแหวว


ชื่อ “คลินต์ อีสต์วู้ด” เปรียบเสมือนชื่อสี่แผ่นดิน หากคุยกับแฟนหนังอายุเกิน 40 ขวบก็คงจะคิดถึงเขาในแง่ของความเป็นลูกผู้ชายชาติคาวบอยอย่าง A Fistful Of Dollars, The Good The Bad And The Ugly หรือจ่าแฮร์รี ใน Dirty Harry ที่พะบู๊แบบถูกใจคอแอ็คชัน มากกว่าที่จะเป็นผู้กำกับหนังชีวิตอย่าง Million Dollar Baby หรือ Mystic River ที่คนรุ่นใหม่สนใจหนังอาร์ตจะรู้จักมากกว่าในแง่ของการตีความอารมณ์และการกระทำของตัวละครที่ลุ่มลึก



จริงๆ แล้วรุ่นคลินต์จะนับว่าเป็นปูชนียบุคคลก็คงจะไม่เกินไปนัก เพราะว่าทำคุณูปการให้กับวงการภาพยนตร์มานาน เขาเองเริ่มเข้าวงการภาพยนตร์จากการเป็นแล็บ เทคนิเชียนในเรื่อง Revenge Of The Creature (1955) โดยไม่ได้แม้แต่เครดิตในหนังเลย จนก้าวเข้ามารับบทตัวประกอบใน Francis In The Navy (1955) โดยไม่ได้รับเครดิตเช่นเดิม เป็นอย่างนี้มาเรื่อยจนกระทั่ง Lafayette Escadrille (1958) จึงได้เครดิตในการแสดงกับเขาบ้าง แต่จากนั้นในปี 1964 บทโจใน A Fistful Of Dollars ก็ส่งเขาเป็นคาวบอยผู้โด่งดังลือลั่นข้ามทศวรรษแล้วทศวรรษเล่า หนังที่เขาแสดงก็ทำเงินถล่มทลายระดับบ็อกซ์ออฟฟิศหลายเรื่อง ถึงแม้ว่าเขาจะเคยเอ่ยว่า “ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเป็คาวบอยได้ เพราะว่าผมไม่ใช่คาวบอย แต่ผมว่าเวลาผมใส่ท็อปบู๊ต ใส่เสื้อหนัง ใส่ชุดคาวบอยแล้ว มันทำให้คนดูเชื่อว่าผมเป็นจริงๆ”

จากนั้นก็ผันตัวมาอยู่หลังกล้องในฐานะโปรดิวเซอร์กับเรื่อง Firefox (1982) และในฐานะผู้กำกับฯ โดยเริ่มต้นจาก Play Misty For Me (1971) เป็นการประเดิมงาน เขาเป็นผู้กำกับฯที่ไม่เคยเรียนเกี่ยวกับหนัง หากแต่ใช้ประสบการณ์จริงในการเรียนรู้ด้วยตัวเองมาตลอด เขามีคำกล่าวที่น่าจดจำสำหรับการเรียนรู้การทำงานว่า “สิ่งไหนที่ทำให้คุณประทับใจ คุณก็เก็บมันไว้แล้วใช้เมื่อถึงคราว แต่สิ่งไหนไม่น่าจดจำ ก็ทิ้งมันเอาไว้”

คลินต์กำกับฯหนังมาเรื่อยจนถึง Pale Rider (1985) ที่ได้มาร่วมงานกับคอมโพเซอร์หนุ่ม เลนนี นีเฮาส์ ที่ดูเหมือนว่าจะได้ทำงานเป็นคู่บุญคู่บารมีกันหลังจากนั้นเป็นต้นมา

คลินต์เองถือว่าเป็นนักเปียโนเก่าเติบโตในโอ๊กแลนด์, แคลิฟอร์เนีย เล่นตามคลับเล็กๆ มาก่อน สิ่งที่เขาประทับใจมากคือการที่ได้ดูชาร์ลี ปาร์เกอร์แสดงสดในปี 1946 ดังนั้น เขาจึง “อิน” กับดนตรีสายนี้เป็นพิเศษ จริงอยู่ แจ๊สไม่ได้อยู่ในหนังทุกเรื่องของเขา หากแต่เรื่องไหนที่มีแจ๊สละก็ รับประกันได้ว่าเข้มข้นแน่นอน ซึ่งสิ่งนี้เขาทำจนถือเป็นสัญลักษณ์ของตัวเองไปแล้วเหมือนกัน จนว่ากันว่าหากว่าชีวิตการงานในแวดวงนักแสดง, ผู้กำกับฯหรือโปรดิวเซอร์ไปไม่ได้สวย เขาก็คงจะเป็นนักดนตรีไปแล้ว



Play Misty For Me ถือเป็นงานแรกที่คลินต์เข้าไปมีส่วนร่วมด้านเพลงประกอบ ด้วยเพลง First Time Ever I Saw Your Face กับความหวานละมุนของมันที่คลินต์เป็นคนคัดเลือกเอง และได้โรเบอร์ตา แฟล็ก (ที่ยังไม่มีใครรู้จักเลยในตอนนั้น) มาถ่ายทอดเสียงร้อง ยิ่งไปกว่านั้น คลินต์แสนจะโชคดีที่มีแอร์โรล การ์เนอร์มาเป็นผู้เรียบเรียงเพลง Misty ซึ่งเป็นเพลงธีมหลักให้ คงไม่ต้องสาธยายกันให้มากความว่า ณ ตอนนี้เพลง Misty นั้นเป็นที่รู้จักกันมากี่ทศวรรษ

ส่วนผลงานในช่วงก่อนหน้านี้กับหนังอมตะทั้งห้าเรื่องในชุด Dirty Harry ของเขา ก็นำเสนอเพลงแจ๊สคนกรุงทั้งสิ้น โดยมีลาโล ชิฟรินเป็นคนประพันธ์เพลง ไม่ว่าจะเป็น Dirty Harry, Magnum Force, Suddden Impact, The Gaunlet หรือ Escape From Alcatraz

มีอยู่สามอัลบัมด้วยกันที่ถือว่าเป็นผลงานที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ส่งผลให้ภาพความเป็นแจ๊สของคลินต์ชัดเจนมากที่สุด นั่นก็คือ The Bridges Of The Madison County (1995) ที่ได้กล่าวถึงในตอนต้นไปแล้ว ต่อมาก็อัลบัมเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง Bird (1988) ที่คลินต์ได้รับแรงบันดาลใจจากวัยหนุ่ม ฉบับดั้งเดิมที่อำนวยวงและประพันธ์ชิ้นงานออร์เคสตราโดย เลนนี นีเฮาส์ ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงอีกชิ้นหนึ่งที่น่าจดจำ และคิดว่าแฟนแจ๊สซีนน่าจะได้สัมผัสไปบ้างแล้วไม่มากก็น้อยในฐานะที่มันเป็นหนังอัตชีวประวัติที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งด้วย

ส่วนผลงานชิ้นที่สามก็คือ Midnight In The Garden Of Good And Evil (1997) ที่มีหลากหลายศิลปินมาร่วมงาน โดยคอนเซ็ปต์ของงานชิ้นนี้คือการนำเอาเพลงของจอห์นนี เมอร์เซอร์ นักเขียนเพลงนามอุโฆษชาวอเมริกัน (ผู้ซึ่งอาศัยอยู่ทางใต้) มาตีความและบรรเลงกันใหม่ ในฉากเปิดเรื่องก็มีภาพสุสานของจอห์นนีอยู่ด้วย คลินต์เป็นคนคัดสรรนักร้องแจ๊สและป็อปผู้มีพรสวรรค์หลากวัยหลากยุคสมัยเพื่อมาร่วมงานนี้โดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นเค.ดี. แลง (Skylark), คาสซานดรา วิลสัน (Days of Wine And Roses), พอลลา โคล (Autumn Leaves), อลิสัน เคลาส์ (This Time The Dream’s On Me) หรือไดแอนา ครอล (Midnight Sun) เป็นอาทิ ผลงานชิ้นนี้ไม่ว่าจะเป็นตัวภาพยนตร์เองหรือว่าอัลบัมเพลงประกอบ ต่างก็ได้รับคำวิจารณ์ในเชิงบวกจากนักวิจารณ์อย่างแพร่หลาย

นอกจากความเป็นแจ๊สแล้ว คลินต์ยังขึ้นชื่อทางด้านคันทรีด้วยเหมือนกัน จากหนังหลายๆ เรื่องของเขา อาทิ Every Which Way But Loose (1978), Bronco Billy (1980), Any Which Way You Can (1980) และ Honkytonk Man (1982) หรือจะเป็นผลงานที่เขาโชว์ฝีไม้ลายมือในการเขียนทำนองสวยๆ เอง อย่าง Claudia’s Theme (Unforgiven) เป็นผลงานที่ต่างออกไปจากที่เคยทำเป็นประจำ โดยใช้กีตาร์สายไนลอนเป็นตัวเอก, Doe Eyes (The Bridges Of Madison County), Espacio (Space Cowboys), Why Should I Care (True Crime) คลินต์ยังร่วมกับเลนนีประพันธ์เพลงประกอบของ Mystic River ด้วย ส่วน Million Dollar Baby นั้น ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ผลงานของคลินต์ แต่กล่าวได้เลยว่าด้วยบารมีของเลนนี นีเฮาส์ ทำให้เพลงธีม Blue Morgan หวานพลิ้วและวังเวงในชั่วเวลาเดียวกันด้วยตัวโน้ตเพียงไม่กี่ตัวเล่นซ้ำไปมา ตัวเลนนีเองก็ดูเหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างสัญลักษณ์ความเป็นคลินต์เช่นกัน



เมื่อปี 2003 คลินต์ยังกำกับฯ ตอนหนึ่งในหนังสารคดีโทรทัศน์ PBS ชุด The Blues ที่มีมาร์ติน สกอร์เซซีเป็นเจ้าของโปรเจ็กต์ ใช้ชื่อตอนว่า Piano Blues มีฟุตเตจที่หาดูยากของอาร์ต ตาตัมและโปรเฟเซอร์ ลองแฮร์ พร้อมด้วยการสัมภาษณ์ล่าสุดและชุดการแสดงของเรย์ ชารลส์ เดอะ จีเนียส ผู้ล่วงลับ, ไพน์ท็อป เพอร์กินส์, เดฟ บรูเบ็ก, มาร์เชีย บอล, เจย์ แม็กแชน, ด็อกเตอร์ จอห์นและพีต จอลลี ผลงานชิ้นนี้แสดงวิสัยทัศน์ทางดนตรีบลูส์ของเขาเองได้อย่างแจ่มชัด

สิ่งที่น่าประทับใจที่สุดในการเป็นศิลปินของคลินต์แล้ว หนึ่งในนั้นน่าจะเป็นอัลบัมแสดงสดที่นานาศิลปินเพลงต่างพร้อมใจมาร่วมอุทิศให้กับเขา Eastwood After Hours คืออัลบัมนั้น... แผ่นซีดีสองแผ่นที่บรรจุไปด้วยบทเพลงจากภาพยนตร์ของเขา ทั้งที่ประพันธ์เองและเพลงที่ใช้ประกอบ น่าเสียดายยิ่งที่ไม่ได้มีแผ่นดีวีดีบันทึกการแสดงออกมาวางจำหน่าย ไม่เช่นนั้นเราคงประจักความหลากหลายทางความสามารถของคลินต์ให้ได้แม่นขึ้น คอนเสิร์ตนี้จัดขึ้นที่คาร์เนกีฮอล โดยมีวงแบ็กอัพเป็นวงเดอะคาร์เนกี ฮอล แจ๊ส แบนด์ เลนนีเพื่อนสนิทยังตามมาช่วยเรียบเรียงและอำนวยวงให้ใน Eastwood – After Hours (Suite) ปรกอบไปด้วยเพลง Doe Eyes, Jitterbug Waltz, Take Five, Claudia’s Theme และช็อตเด็ดที่น่าติดตามคือเพลงสุดท้ายของการแสดง After Hours/C.E. Blues ที่คลินต์ร่วมเล่นเปียโนกับคาร์เนกี ฮอล แจ๊ส แบนด์



สำหรับเราและอีกหลายๆ คนแล้ว คลินต์ อีสต์วู้ดถือเป็นเสาหลักต้นหนึ่งของวงการภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นงานเพื่อความบันเทิง งานเพื่อศิลปะ เขาล้วนแต่ทำมาแล้วทั้งสิ้น ความนอกคอก ความขบถก็มีฝังอยู่ในตัว เหมือนของคนละขั้วแต่อยู่ในตัวคนคนเดียว คงไม่ต้องให้คำจำกัดความกับคาวบอยคนนี้ให้มากความ เพราะนี่คือคลินต์ อีสต์วู้ด คาวบอยผู้มีแจ๊สในหัวใจ



The Bridges Of Madison County (Malpaso)

Produced by Clint Eastwood

Compiled and mastered by Lee Herschberg

Tracklisting

1. Doe Eyes (Love Theme From The Bridges of Madison County) Conducted by Lennie Niehaus Composed by Clint Eastwood
2. I’ll Close My Eyes/Dinah Washington
3. Easy Living/Johnny Hartman
4. Blue Gardenia/Dinah Washington
5. I See Your Face Before Me/Johnny Hartman
6. Soft Winds/Dinah Washington with Hal Mooney and His Orchestra
7. Baby, I’m Your/Barbara Lewis
8. It’s A Wonderful World/Irene Kral and The Junior Mance Trio
9. It Was Almost Like A Song/Johnny Hartman
10. This Is Always Irene Kral and The Junior Mance Trio
11. For All We Know/Johnny Hartman
12. Doe Eyes (Love Theme From The Bridges of Madison County) (Reprise)




Create Date : 14 กรกฎาคม 2551
Last Update : 14 กรกฎาคม 2551 5:44:58 น. 2 comments
Counter : 2256 Pageviews.

 
พี่นุ่น อ่าน entry นี้จบ ผมแทบจะวิ่งออไปเช่าหนังมาดูเลยนะ แต่ง่วงซะก่อน (ฮา)

ซาวด์แทร็กของหนังเรื่องนี้เพลงเพราะมากๆ อย่างที่พี่นุ่นเขียนไว้เลย ชอบ Doe Eyes มากที่สุดเพราะมันหวานได้ใจจริงๆ


โดย: udomdog วันที่: 27 กรกฎาคม 2551 เวลา:17:48:55 น.  

 
เข้ามาเยี่ยมเยียนครับ

จบ มก. เหมือนผมเลยนะเนี่ย ยินดีที่รู้จักครับ


โดย: Pete DxB (sabkps ) วันที่: 31 กรกฎาคม 2551 เวลา:12:27:03 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

nunaggie
Location :
City of Angels, Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




คุยเฉพาะเรื่องเพลง :D

"I still find each day too short for all the thoughts I want to think, all the walks I want to take, all the books I want to read, and all the friends I want to see." John Burroughs

Follow my twitter @nunaggie :)

"มีเรื่องราวอีกมากมายให้ชีวิตต้องเดินทางไปค้นหา เราคงไม่ค้นพบทุกอย่างได้ เพียงแค่ชั่วชีวิตเดียว"
Creative Commons License
© Supada Luangsirimongkol 2015.
qrcode
Friends' blogs
[Add nunaggie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.