"แจ๊ส....ฉัน"
Group Blog
 
 
สิงหาคม 2548
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
14 สิงหาคม 2548
 
All Blogs
 
Miles Davis - The Prince of Darkness ตอนที่ 1



“ไมล์ส เดวิส” หากพูดถึงชื่อนี้แล้ว เชื่อว่าคงจะมีน้อยคนเหลือเกินที่ไม่รู้จัก มิจำเป็นว่าจะต้องเป็นคอแจ๊ซเท่านั้นถึงจะรู้จัก หากแต่ชื่อเสียงของเขามันกว้างไกลกว่านั้น !

ไมล์ส เป็นพลังผลักดันที่สำคัญทางดนตรีในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 เจ้าชายแห่งความลึกลับผู้มักจะครุ่นคิดและสันโดษยามอยู่บนเวทีแสดง ผ่านโมงยามแห่งเฮโรอีนและโคเคนมาก็มาก หากจะพูดว่า ไมล์ส เป็นราชันย์แห่งดนตรีสมัยใหม่ก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะเขาจะเดินล้ำหน้าคนอื่นอยู่เสมอ โดยไม่คำนึงถึงกลุ่มคนฟัง แม้กระนั้นก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นแฟนเพลง นักวิจารณ์ หรือนักดนตรีไซด์แมน ต่างก็ให้ความชื่นชมและชื่นชอบ ไมล์ส เสมอมา

ไมล์ส เป็นบุคคลที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะคุณจะสามารถเสาะหาเรื่องราวเกี่ยวกับเขาได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นหนังสือหรือบนอินเตอร์เน็ต แต่ ณ ที่นี้ เราจะมาคุยกันถึงผลงานแต่ละช่วงของ ไมล์ส และดนตรีที่ยิ่งใหญ่เหนือมวลมนุษยชาติ เราจะกล่าวถึงผลงานสำคัญของ ไมล์ส ที่นี่แน่นอน ตามอ่านกันได้เลย

ไมล์ส และ The All-Stars

Miles Dewey Davis เป็นลูกชายของหมอฟัน เกิดเมื่อปี 1926 ฝีมือการบรรเลงทรัมเป็ตของ ไมล์ส นั้น มีเอกลักษณ์มาตั้งแต่ยุคแรกๆ แต่เขากลับต้องเริ่มต้นเล่นดนตรีอาชีพช้ากว่าความน่าจะเป็น เนื่องจากว่าถูกแม่บังคับให้เรียนหนังสือจนจบมัธยมปลายเสียก่อน ในปี 1945 ไมล์ส ก้าวเข้าสู่โรงเรียนดนตรีชื่อดัง Julliard School of Music แต่ในที่สุด ไมล์ส กลับเลือกที่จะเดินออกมาจากหลักสูตรการเรียนการสอนเหล่านั้น เพื่อที่จะกรุยทางสู่ความเป็นตำนาน ด้วยการโดดลงมาศึกษาวิชาดนตรีกับ Charlie Parker นักแซ็กโซโฟนระดับตำนาน จนกลายมาเป็นทั้ง “รูมเมต” และไซด์แมนของ พาร์คเกอร์ ชีวิตและงานดนตรีของ พาร์คเกอร์ นั้นซับซ้อน รวดเร็ว แต่กระนั้น ไมล์ส ก็ยังคงสามารถอยู่ร่วมกับ พาร์คเกอร์ และเรียนรู้ได้ในระยะที่ไม่ห่างชั้นกันนัก และคงต้องขอเสียงปรบมือให้กับ พาร์คเกอร์ คนนี้ ที่เป็นผลักดันให้ ไมล์ส มีความกล้าหาญ จนกระทั่งสามารถออกมาหาที่ทางเป็นของตัวเองในโลกแห่งแจ๊ซ

ช่วงปี 1949 ไมล์ส เล่นอยู่กับ Gil Evans และปีถัดมาเขาก็สร้างผลงานที่โลกไม่อาจจะลืม นั่นก็คือ Birth of the Cool (ซึ่งตรงกันข้ามกับงานเพลงของ Jelly Roll Morton หรือ Louis Armstrong หรือพวกสวิง บิ๊กแบนด์ที่มีอยู่ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองในอเมริกา) ผลงานชุดนี้เองที่เป็นแรงผลักดันสู่ยุคสมัยของ West Coast และ Cool Jazz นี่คือสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนว่า ไมล์ส เริ่มต้นสร้างสรรค์งานที่มีรูปแบบออกมาจนประสบความสำเร็จ แต่แล้วก็ผละไปรังสรรค์งานชิ้นอื่นที่ท้าทายต่อไป โดยมิได้คำนึงถึงว่าจะต้องอยู่กับความสำเร็จแบบนั้นไปตลอด ซึ่งก็เปรียบเสมือนการย่ำเท้าอยู่กับที่

ในปี 1953 และ 1954 ไมล์ส ได้สร้างสรรค์ผลงานซีรีส์ให้กับค่าย Prestige ร่วมกับดาวรุ่งดวงใหม่และใหญ่ยักษ์ อย่าง Sonny Rollins (เทเนอร์ แซ็กโซโฟน), Thelonious Monk, John Lewis และ Horace Silver (เปียโน), Milt Jackson (ไวบราโฟน), Percy Heath และ Charles Mingus (เบส) และมือกลองที่มีความสามารถพิเศษอย่าง Art Blakey, Kenny Clarke และ Max Roach

4 อัลบัมในยุคที่ ไมล์ส ออกกับเพรสทีจนั้นเป็นอัลบัมที่สำคัญต่อวงการเเจ๊ซทีเดียว นั่นก็คือ Miles Davis All Stars-Walkin’, Blue Haze, Miles Davis and the Modern Jazz Giants และ Bag’s Groove กับดิ ออล สตาร์ส ซีรีส์ 4 อัลบัมนั้นสร้างความตื่นตกใจให้กับประวัติศาสตร์แจ๊ซหน้าหนึ่งทีเดียว แล้วก็มีอัลบัม Walkin’ กับ Blue n’ Boogie เซสชัน (Session) กับ เธลอเนียส มังค์ (อัลบัม Modern Jazz Giants และ Bag’s Groove) ก็เป็นช่วงที่ต้องบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์แจ๊ซเช่นเดียวกัน อัลบัมนี้บันทึกในช่วงก่อนคริสต์มาสปี 1954 ประกอบไปด้วยริธึ่มเซ็คชันจาก MJQ ผนวกกับการปะทะฝีมือของ เธลอเนียส กับ ไมล์ส ซึ่ง ไมล์ส ต้องการให้ เธลอเนียส คลออยู่หลังการโซโลของเขา แต่ระดับ เธลอเนียส หรือจะยอมเป็นไก่รองบ่อนตลอดไป สงครามปะทะฝีมือทางดนตรีก็เริ่มบังเกิดขึ้น เมื่อเสียงเปียโนของ เธลอเนียส สอดเสริมเข้ามาในช่วงโซโลของ ไมล์ส (ในเทคที่สองของ Bag’s Groove ฝีมือการประพันธ์ของมิลต์ แจ็คสัน) มันช่างดุเด็ดเผ็ดมัน ไม่แพ้การเชียร์มวยอยู่ตรงที่นั่งริงไซด์ก็ไม่ปาน

สิ่งที่ ไมล์ส พัฒนาให้ผลงานเหล่านี้มีเอกลักษณ์อันโดดเด่น มีความเป็นตัวเองอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเสียงทรัมเป็ตของเขา การเป่าที่แสดงออกถึงอารมณ์แห่งท่วงทำนองหวานไหว ขณะเดียวกันก็มีลีลาสวิงอยู่ในที แน่นอนว่ามีคนชอบก็ต้องมีคนไม่ชอบ ของอย่างนี้มันลางเนื้อชอบลางยา ห้ามกันไม่ได้ ใครชอบก็ชอบไป อย่าไปเกะกะกวนใจก็แล้วกัน ซึ่ง ไมล์ส เองก็ไม่แคร์สักเท่าไร เพราะเขาเองไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะมากังวลถึงสิ่งนี้อีกแล้ว ไมล์ส เพียงแต่ทำหน้าที่ของเขาอย่างดีที่สุดในการทำงานแต่ละครั้งเท่านั้น ในช่วงนี้ขอแนะนำอัลบัม Dig ที่เขาเล่นกับ ซันนี รอลลินส์ บันทึกในปี 1954 Collectors Items ผลงานจากช่วงปี 1953 (กับ ซันนี และ พาร์คเกอร์ ซึ่งใช้ชื่อว่า Charlie Chan) และ 1956 (กับ ซันนี เช่นกัน)




Create Date : 14 สิงหาคม 2548
Last Update : 25 กันยายน 2548 17:50:44 น. 1 comments
Counter : 1606 Pageviews.

 
จบตอนแรก... ยาวมั่กๆ


โดย: nunaggie (nunaggie ) วันที่: 14 สิงหาคม 2548 เวลา:14:41:02 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

nunaggie
Location :
City of Angels, Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




คุยเฉพาะเรื่องเพลง :D

"I still find each day too short for all the thoughts I want to think, all the walks I want to take, all the books I want to read, and all the friends I want to see." John Burroughs

Follow my twitter @nunaggie :)

"มีเรื่องราวอีกมากมายให้ชีวิตต้องเดินทางไปค้นหา เราคงไม่ค้นพบทุกอย่างได้ เพียงแค่ชั่วชีวิตเดียว"
Creative Commons License
© Supada Luangsirimongkol 2015.
qrcode
Friends' blogs
[Add nunaggie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.