"แจ๊ส....ฉัน"
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2550
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
17 ตุลาคม 2550
 
All Blogs
 
George Benson จากสามัญสู่สูงสุดแห่งแจ๊สพิภพ



ในช่วงฤดูร้อนของปี 2004 มือกีตาร์เสียงละเมียด George Benson นั่งอยู่ในบาร์ Baton Rouge ใน Montreal และสั่งค็อกเทลเบาๆ อย่างมาร์เกอริตามาดื่ม บาตัน รูจเป็นร้านอาหารที่เปรียบเสมือนสรวงสวรรค์สำหรับชาวแจ๊ส รวมไปถึงเหล่านักดนตรีแจ๊สที่สนใจงาน International de Jazz de Montreal หรือเป็นที่รู้จักกันในนาม The Montreal Jazz Festival เรากำลังนั่งอยู่ในบาร์อาหารว่างยามบ่าย ก็เผอิญหันไปเห็นจอร์จ เบนสันนั่งอยู่ทางด้านซ้ายมืออย่างชายวัยกลางคนธรรมดาคนหนึ่งที่กำลังสั่งเครื่องดื่มเบาๆ มานั่งจิบ

จอร์จไปที่นั่นเพื่อเปิดการแสดงที่ Place des Art’s Salle Wolfred Pelletiere และเราก็คุยกับเขาว่า “ยินดีต้อนรับแจ็ก แม็กดัฟกับจอร์จ เบนสัน, โจ ดุกส์และเรด ฮอลโลเวย์สู่คอนเสิร์ตครั้งนี้” จอร์จระเบิดเสียงหัวเราะออกมาลั่น แล้วพูดว่า “นี่ คุณอยู่ที่นั่นด้วยเหรอเนี่ย??” เราก็เลยบอกว่า ตอนนั้นแม่ซื้ออัลบัมกลับมาที่บ้านในปี 1963 แล้วเปิดเพลง Rock Candy ที่จอร์จโชว์การโซโลกีตาร์ของเอาไว้ตั้งแต่ยังอายุ 19 ปีเท่านั้นเอง

เราเริ่มถ่ายรูป คุยกันสุกๆ ขำไปพลาง เราคุยกันแม้กระทั่งเรื่องอาชีพการแสดงในช่วงสั้นๆ เราเคยเป็นตัวแสดงแทนของเขาตอนที่เขาเป็นแขกรับเชิญใน Mike Hammer ในปี 1985

จอร์จ เบนสันพากีตาร์คู่ใจของเขาเดินทางท่องไปจากเมืองหนึ่งสู่อีกเมืองหนึ่ง เขาได้ขยายโลกของดนตรีแจ๊สทั้งด้วยเสียงร้องและเสียงกีตาร์ของเขาเอง ทั้งร้องทั้งเล่นไปทั่วทุกคลับที่นักดนตรีผิวสีอย่างเขาจะเข้าไปเล่นได้ จากการเปิดการแสดงหลากหลายระดับตั้งแต่พื้นบ้านยันไฮโซตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสี่สิบปี ตอนนี้จอร์จเริ่มตั้งเป้าไปสู่เทศกาลดนตรีต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลริมหาดอย่างนิวพอร์ตจนถึงนอร์ธ ซี, อัมเบรีย, มงเทรอซ์และโตรอนโต จากฟรอนต์รูมในโรงแรมจนถึงฮอลลีวู้ด โบว์ลไปสู่วิลเฟรด เปลติเยร์ คอนเสิร์ต ฮอล
ในตอนนั้น จอร์จกำลังจะจบการทัวร์คอนเสิร์ตทรหดติดกันหกสัปดาห์จากยุโรป เขาไปมงเทรอซ์ แจ๊ส เฟสติวัล, นอร์ธ อเมริกาส ฟีนอมินอล ตูร์ เดอ ฟอร์ซ เฟสติวัล และลอส แอนเจลิสที่โกดัก เซ็นเตอร์เป็นอันจบการทัวร์ก่อนจะหยุดพักสามสัปดาห์ยาว เขาเอื้อนเอ่ยออกมาว่าเหนื่อยกับการออกทัวร์ครั้งนี้นิดหน่อย และอาจจะพิจารณาเพลาๆ การตระเวณแสดงแบบนี้

เขาเล่นกับแจ็ก แม็กดัฟ, ลู โดนัลสัน, แฮงค์ ม็อบลีย์, จิมมี สมิธ, สแตนลีย์ เทอร์เรนทีน, เฟรดดี ฮับบาร์ด, ลี มอร์แกน, เฮอร์บี แฮนค็อกและอีกมากมายหลายหน้า ตอนนี้เขาก็ได้มาร่วมร้องเพลงกับอัล จาร์โร, จอน เฮนดริกส์, ซาราห์ วอห์นและเคาน์ต เบซี พรสวรรค์ในการร้องเพลงของจอร์จเป็นที่รู้กันทั่วทุกสารทิศไปแล้วนอกเหนือไปจากฝีมือการเล่นกีตาร์ที่แผดเผาในทุกๆ แผ่นเสียงของค่ายเพลงที่เขาเคยทำงานด้วย ไม่ว่าจะเป็นเพรสทีจ, บลูโน้ต, ซีทีไอ, เอแอนด์เอ็ม, โคลัมเบียและวอร์เนอร์ในช่วงเริ่มอาชีพใหม่ๆ



แทบจะไม่น่าเชื่อที่จอร์จไม่เคยฟังเพลง This Masquerade ที่ขายได้เป็นล้านก็อปปีของเขา รวมทั้งไม่เคยฟังเพลงของลีออน รัสเซล คนแต่งเพลงนี้ด้วย แฟนเพลงของเขาไม่เคยฟังเพลง Rock Candy ของลู โดนัลสันในชุด Midnight Creeper (Blue Note, 1968), เพลง Alligator Boogaloo (Blue Note, 1967), First Light ของเฟรดดี ฮับบาร์ด (CTI, 1971) หรือ Sky Dive (CTI, 1972) หรือ Sugar ของสแตนลีย์ เทอร์เรนทีน เพลงเหล่านี้จอร์จได้ฝากฝีมือการเล่นกีตาร์เอาไว้ทั้งสิ้น

จากการให้สัมภาษณ์ของจอร์จ เบนสันในปี 2004 ที่เทศกาลมอนทรีออล แจ๊ส เฟสติวัล เปิดเผยถึงความลับแห่งการเล่นกีตาร์ของเขาที่เป็นกระดูกสันหลัง ก่อนที่จะฝากฝีมือการร้องเพลงให้เป็นที่จดจารและได้รับการยอมรับไปทั่วโลก
แต่ก็ยังมีข่าวลือขำๆ ตลกๆ เกิดขึ้นกับจอร์จ ย้อนกลับไปตอนที่เขาอายุได้เจ็ดปี เขาแอบเอากีตาร์ของพ่อมาแอบเล่นทั้งๆ ที่ถูกห้ามไม่ให้เอามาเล่น พ่อของเขาก้เลยซื้อมาให้ใหม่อีกตัวหนึ่งเพื่อให้เขาได้เรียนรู้หัดเล่น ไม่ช้าไม่นานเขาก็เริ่มมั่นใจที่จะเล่นในงานเลี้ยงสังสรรค์และในโบสถ์แลกเงินไม่กี่ดอลลาร์ แล้วข่าวก็ลือไปปากต่อปากตอนที่เขาอายุ 19 ไปเข้าหูบราเธอร์แจ็ก แม็กดัฟว่ามีเด็กวัยรุ่นในพิตต์สเบิร์กเล่นกีตาร์เก่งมาก จนทุกคนที่ได้ฟังบอกว่าเขาร้องเพลงผ่านสายกีตาร์ ไม่นานจากนั้นเขาก็เริ่มร้องเพลงผ่านเสียงร้องจริงๆ เหมือนกัน

จอร์จมีลักษณะที่เป็นมิตร น่าสนใจในการดึงดูดผู้ชม แล้วก็สร้างชื่อให้กับตัวเองในทางนี้ด้วยฝีมือการเล่นกีตาร์แบบมืออาชีพ ร้องเพลงผ่านสายกีตาร์ แล้วก็ค่อยๆ กลมกลืนเสียงร้องของตัวเองเข้ากับบทเพลงอย่าง Give Me The Night, This Masquerade, On Broadway และ Moody’s Mood For Love นักนิยมสมูธแจ๊สต่างรู้จักเพลงเหล่านี้แบบจำขึ้นใจ และยังจำทำนองติดหูได้ราวกับเป็นเพลงประจำตัวของนักร้องนักดนตรีคนนั้นไปแล้ว จอร์จเล่นเพลงเหล่านั้นทั้งหมดที่วิลเฟรด เปลติเยร์ คอนเสิร์ต ฮอล ในมอนทรีออล เขาสวมสแล็กสีเงินกับเสื้อเชิ้ตสีแดง เสื้อแจ็กเก็ตผ้าซาตินสีแดงดำ และสะกดคนดูที่ฮอลจนอยู่หมัดด้วยจังหวะกีตาร์และเพลง

หลังจากการแสดงที่น่าตื่นตะลึงสองชั่วโมงผ่านไป บทสัมภาษณ์นี้จึงได้เกิดขึ้นมาเพื่อบอกกล่าวถึงอาชีพ ที่ตอนแรกเป็นนักกีตาร์ แต่ในภายหลังก้ได้จับพลัดจับผลูมาเป็นนักร้องระดับโลกด้วยเช่นกัน

เรามาย้อนกลับไปในช่วงปี 1962 และพูดถึงประสบการณ์ของคุณกับแจ็ก แม็กดัฟ ซึ่งตอนนั้นคุณอายุ 20 ลองพูดถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาหน่อย

“ตอนนั้นผมอายุแค่ 19 ปี ช่วงปี1963 ตอนที่แจ็ก แม็กดัฟพาผมไปนิวยอร์ก แล้วผมก็ได้บันทึกเสียงกีตาร์เป็นครั้งแรกของผมโดยเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มของเขา ซึ่งก็คือ Jack McDuff Quartet แล้วมันก็เป็นประสบการณ์ที่เหลือเชื่อมากๆ แจ็กเป็นแบนด์ลีดเดอร์ ที่แข็งแกร่งมาก เขาอยู่ดูในช่วงที่ผมอัดเสียงตลอดเวลา คอยกดดันผม เขาพูดกับผมว่า “นายยังทำได้ไม่ดีพอ นายต้องเพิ่มความเป็นบลูส์ลงไปในการเล่นอีกนิด เสียงที่เล่นยังเบาไปและจังหวะยังไม่ดีพออย่างที่ควรจะเป็น



“แต่ช่วงที่ผมไปถึงนิวยอร์ก ผู้จัดการของเขาได้ยินวงเราเล่น ตอนที่เขาพูดว่า “ เพลงของพวกคุณฟังดูเข้าท่าขึ้นนะ ผมคิดว่าเราควรไปอัดเสียงที่สตูดิโอได้แล้ว” ดังนั้นเราจึงไปที่สตูดิโอ แล้วก็บันทึกเสียงงานชุดที่มี Rock Candy อยู่ในนั้น –Live At the Front Room (Prestige, 1963) แล้วแจ็กก็มีอีกอาชีพหนึ่ง ซึ่งมันทำให้พวกเราเป็นที่รู้จักในการเล่นตามคลับที่อนุญาตให้คนผิวสีเข้าไปเล่นได้”
เรากำลังจะพูดถึง จากบ้านๆ ไปถึงระดับเปิบไวน์ จนนี่มาถึงระดับคาเวียร์ คุณเปลี่ยนไปทำงานกับบลูโน้ต ทำงานกับลู โดนัลสัน

“มันเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมมากจริงๆ ครับ หลังจากที่เราเริ่มมีชื่อเสียง (กับแจ็ก แม็กดัฟ) มันเหมือนกับว่าทุกๆ เพลงที่ผมเล่น เราได้ออกอากาศทางวิทยุอยู่บ่อยครั้ง ลู โดนัลสันก็เช่นกัน เขาต้องการให้ลอนนี สมิธ (ด้อกเตอร์ลอนนี สมิธ) มาเล่นออร์แกน ดังนั้นเราจึงไปที่สตูดิโอกับลู และก็บันทึกเสียงเพลง Alligator Boogaloo ที่สุดแสนจะเซอร์ไพรส์ เพราะเป็นแบบที่ไม่ได้มีการเตรียมตัวกันมาก่อน ลูแต่งและเรียบเรียงอยู่ในสตูดิโอ แต่เขาเป็นคนที่มีความเป็นธรรมชาติ มีความเป็นแจ๊สออกมาจากข้างใน ในขณะเดียวกันเขามีความเป็นบลูส์อยู่สูงมาก เขาเคยเล่นดนตรีและก็รู้วิธีที่จะเล่นสวิง ส่วนผมกับลอนนีถนัดด้านสวิงอยู่แล้ว ก็เลยผสมผสานกลมกลืนกันออกมาได้อย่างดี แล้วก็ทำให้เราได้ไปเล่นอยู่ในสถานที่ต่างๆ ในนิวยอร์ก และก็ในเมืองต่างๆ อีกหลายเมือง คนไม่ค่อยรู้จักเราจนกระทั่งเพลงนั้นออกมา พวกเขาจึงเริ่มให้ความสนใจกับเรา”

จากนั้นคุณก็ได้ไป CTI ทำงานกับครีด เทย์เลอร์ รวมถึงการทำงานร่วมกับวงในสังกัด รวมไปถึงเฟรดดี ฮับบาร์ด, เฮอร์บี แฮนค็อก, เกอร์เนต บราวน์, บิลลี ค็อบแฮม, รอน คาร์เตอร์, ฮิวเบิร์ต ลอว์สและเดโอดาโต ประสบการณ์ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

“ช่วงเวลาที่เล่นกับครีด เทย์เลอร์เป็นอะไรที่สุดยอดแล้วครับกับชุด White Rabbit (CTI, 1969) และ The Other Side of Abbey Road (A&M, 1969) และการแสดงที่เป็นแบบมือกีตาร์ในสังกัดซึ่งทำงานประสบความสำเร็จในหลายอัลบัมร่วมกันกับฮิวเบิร์ต ลอว์ส, เกอร์เนต บราวน์, เฮอร์บี แฮนค็อก, เฟรดดี ฮับบาร์ดและโจ เฮนเดอร์สัน จริงๆ แล้ว ครีด เทย์เลอร์อำนวยการผลิตออกมาออกมาให้กับ A&M Records แต่เขาก็เริ่มที่จะใช้โลโกของตัวเอง แล้ว

“นั่นเป็นหนึ่งในหลายๆ ปัญหาที่ A&M มีกับครีด พวกเขาไม่ต้องการให้ครีดใช้โลโกชื่อของตัวเองอะไรแบบนั้น เขาจึงเริ่มบริษัทของตัวเอง แล้วเราก็ได้ข้อสรุปลงที่การผลิตอัลบัม White Rabbit ซึ่งเป็นรูปแบบและเป็นสัญลักษณ์ของเขาจริงๆ และนั่นก็ทำให้ผมได้มีบุคคลที่น่าทึ่งเหล่านั้นร่วมเล่นในอัลบัมของผม ดังนั้นมันก็เลยเป็นวงในสังกัดที่สุดยอดที่สุดเท่าที่เราเคยมีมาเลย รวมไปถึงออกตระเวณทัวร์คอนเสิร์ตด้วยเช่นกัน”

คุณจึงไปที่ CTI และทำงานร่วมกับวงในสังกัดที่สุดยอด

“เรานำวงออกตระเวณทัวร์ The CTI Summer Jazz Festival หรือ Summer Jazz Tour และคุณรู้ไหมว่า ทุกๆ ที่ที่เราแสดงจะเต็มไปด้วยคนมากมาย ผมก็ไม่เคยมีประสบการณ์แบบนั้นมาก่อน นั่นเป็นสิ่งผลักดันให้เราไปต่อไปอีก สิ่งเดียวที่ขาดหายไปจากอาชีพผมคือเพลงที่ฮิตๆ ผมหมายถึง ฮิตมากๆ เรามีเพลงที่ฮิตในระดับหนึ่ง อย่าง White Rabbit และอีกสองสามเพลง และเราก็ลงท้ายที่เพลงสุดท้ายที่ผมทำออกมาให้พวกเขา จริงๆ แล้วเพลงสุดท้ายที่ทำคือเพลง Good King Bad แต่ก่อนหน้านั้น เพลงที่ทำให้วอร์เนอร์สนใจพวกเราก็คือเพลง Bad Benson (CTI, 1974)



“จากนั้น ฟิล อัพเชิร์ชก็เข้ามา ผมได้เข้าไปที่โคลัมเบียและที่เอแอนด์เอ็ม แล้วก็ได้ทำงานบางอย่าง แล้วก้ได้ลองร้องในเพลง The Other Side of Abbey Road และ Old Devil Moon ในอัลบัม Benson & Farrell (CTI,1976) กับ Joe Farrell”
เป็นการเปลี่ยนจาก CTI ไปที่ Warner Bros และก็มีคนเสนอเพลง This Masquerade ของลีออน รัสเซลให้คุณ เป็นประสบการณ์แบบไหนบ้าง
“ทอมมี ลิพูมาส่งเพลงนั้นมาให้ผม ผมไม่เคยรู้จักหรือได้ยินเรื่องเกี่ยวกับเขามาก่อน และผมก็ไม่เคยได้ยินเพลงนั้นมาก่อนด้วย ผมโทรไปถามน้องผม เธอบอกว่า “พี่ไม่เคยได้ยินเหรอ มันเพราะมาก” ดังนั้นจึงเป็นทอมมี ลิพูมาส่งเพลงนั้นมาให้ผม ผมเตรียมพร้อมที่จะทำงานร่วมกับเขามาก ผมเลือกเขามาเป็นโปรดิวเซอร์ที่วอร์เนอร์ให้ เพราะเขาพูดอะไรบางอย่างกับผมตอนที่ผมได้พบกับเขาครั้งแรก เขาพูดว่า “ผมเคยได้ยินคุณร้องเพลงเมื่อห้าปีก่อน ผมไม่เข้าใจว่าทำไมพวกเขาไม่ให้คุณร้องเพลงในอัลบัม”

“พอเขาพูดแบบนั้น ผมบอกผู้จัดการของผมว่า “ผมอยากให้ผู้ชายคนนั้นมาโปรดิวซ์อัลบัมของผม” อัลบัมแรกของผมกับวอร์เนอร์ และนั่นคือที่มาที่ไปของมันครับ เขาเริ่มส่งอุปกรณ์ต่างๆ มา และก็ส่งเพลง This Masquerade มา ผมไม่ได้สนใจอะไรมากนัก มันเป็นเพลงที่ดี แต่ผมก็ไม่ได้สนใจกับเพลงนี้มากนัก จากนั้นเขาโทรมาหาผม ถามผมว่า “คุณว่าเพลงนี้เป็นอย่างไร” ผมบอกว่า “เพลงไหนล่ะ?” “เพลง This Masquerade ไง” ผมจึงตอบไปว่า “ผมต้องไปหาก่อน เพราะผมเอาทิ้งไว้ที่ถังขยะสักถังแถวนี้”

“ดังนั้น เขาก็เลยส่งก็อปปีเพลงนี้มาให้ผมอีกอัน และผมก็ได้ลองดูเพลงนี้ ระหว่างที่ผมกำลังฟังเพลงนี้ ฆอร์เฆ่ ฟอลโต มือคีย์บอร์ดในวงของผมมาเคาะประตูที่บ้าน เขาและภรรยาเดินเข้ามาในห้อง ภรรยาของเขาพูดว่า “ โอ้ เพลงโปรดของฉัน นั่นเพลงของลีออน รัสเซลนี่” ผมจึงพูดว่า “พวกคุณรู้จักคนเหล่านี้ แต่ทำไมผมไม่รู้จักเนี่ย??” เธอตอบว่า “ฉันบอกได้เลยว่าเพลงนั้นมันแย่” ผมจึงตอบว่า “บางทีผมควรจะเรียนรู้เพลงนี้เสียแล้ว” แล้วผมก็ทำอย่างนั้น แต่ในนาทีสุดท้าย ทอมมี ลิพูมามีปัญหาเพราะว่าภาคดนตรีนั้นเข้าขากันได้อย่างดีมากในอัลบัม Breezin’ (Warner Bros., 1976) เขาจึงไม่มั่นใจว่าต้องการเอาเสียงร้องลงในอัลบัมดีหรือเปล่า ผมจึงพูดว่า “คุณทำให้ผมเรียนรู้เพลงพวกนี้ งั้นก็ลองดูสักครั้งละกัน” แล้วเราก็ลองดู เราบันทึกเสียงแค่เทกเดียวเท่านั้น”

วันนั้นที่บาร์ทำให้นึกได้ว่า เป็นเรา, โอเจ และ Ahmad Rashad ที่เสนอให้แผ่นทองให้แก่คุณสำหรับอัลบัม Breezin คุณไปแสดงที่the Dorothy Chandler Pavillion ในลอส แอนเจลิสในปี 1976 และถ้าผมจำไม่ผิด มันเป็นแผ่นทองแผ่นแรกของคุณ

“ใช่แล้วครับ”

เราขอสรุปออกมาเลยก็แล้วกัน เรากำลังจะพูดว่า Breezin นี่แหละ (ร่วมเล่นโดยบ็อบบี วูแม็กและเกเบอร์ ซาโบ)

“เป็นเพลงที่น่าทึ่ง สำหรับผมแล้ว เพลงนั้นมีลักษณะของความเป็นฟังก์ มันมีสิ่งสวยงามมากมายในนั้น เสียงกีตาร์อะคูสติกของบ็อบบี และเสียงกีตาร์ไฟฟ้าของเกเบอร์ พวกเขาร่วมกันประพันธ์มันขึ้นมา แล้วคุณก็รู้อยู่แล้วว่าไม่มีใครที่จะมีจังหวะจะโคนได้เหมือนบ็อบบี วูแม็ก พวกเขามีริธึมอยู่ในสายเลือดเลยทีเดียว”
โอ้ พ่อหนุ่มจากคลีฟแลนด์ของเรานี่เอง

“เขายอดเยี่ยมมาก ดังนั้นผมจึงขอให้เขาเข้ามาที่สตูดิโอ แล้วก็ใส่อะไรเพิ่มลงไปในเพลง เพื่อที่จะสร้างความแตกต่างออกมาจากเวอร์ชันแรกที่พวกเขาเคยทำกัน แล้วเขาก็เข้ามาที่สตูดิโอ พร้อมกับฮัม “Duo Duo duo duo do duo do duo do” ซึ่งนั่นไม่ใช่ต้นฉบับจากเขาและเกเบอร์

“เขาก็เลยเอาเข้ามาใส่ในเพลง แล้วมันก็ทำให้เพลงเกิดความแตกต่าง กลายเป็นจุดเด่นและก็แบ่งแยกตัวมันเองออกมาจากเวอร์ชันอื่นๆ ที่เป็นกลุ่มของ Sammy อะไรสักอย่างทำออกมา และก็ Hip Huggers นั่นคือสิ่งที่พวกเขาเรียกกัน”
ผมยังมีเพลงที่เป็นต้นฉบับของบ็อบบีกับเกเบอร์

“รอจนคุณเจอเวอร์ชันที่ทำโดยเดอะ ฮิป ฮักเกอร์ก่อน แล้วคุณจะรู้ว่ามันดียิ่งกว่าอันนั้นอีก นั่นไม่ใช่เวอร์ชันแรกที่บ็อบบีเอาเพลงนี้มาทำแล้วใส่ลูกเล่นลงไป แล้วมันก็เป็นการสร้างความแตกต่างขึ้นมา”



คุณยังมีกีตาร์ของแกรนต์ กรีนหรือเปล่า? เพราะตอนที่ผมสัมภาษณ์แกรนต์ในตอนเพลงสุดท้ายของเขา Live at the Lighthouse (Blue Note, 1972) ได้ยินว่ากีตาร์อยู่กับคุณ

“คุณได้ยินมาอย่างนั้นจริงๆ เหรอ? ใช่แล้วล่ะ ผมอยู่ที่นั่นเพื่อแสดงที่ไลต์เฮาส์ เขาขับรถมารับผม ใช่แล้ว ผมมีกีตาร์ซึ่ง D’Aquisto ได้ทำไว้สำหรับเขา ดาควิสโตเป็นคนผลิตกีตาร์อะคูสติกและอิเล็กทริกรุ่นก่อน ไม่นานนักต่อมา เขาได้เสียชีวิต แต่ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต ผมได้กลายเป็นเพื่อนซี้ของเขาก่อนที่เขาตาย ผมก็ได้ไปเห็นกีตาร์ของแกรนต์ในร้าน ตอนนั้นผมก็คิดว่าผมต้องเอาให้ได้แล้วล่ะเพื่อน”

มันเป็นการเดินทางที่ยาวนานจากพิตต์สเบิร์ก สู่ฟรอนต์ รูมในนิวมาร์กและคลับสำหรับคนผิวสี ไปถึงมอนทรีออล เหมือนเป็นการเดินทางรอบโลกของแมกเจลแลน กีตาร์ของจอร์จ เบนสันก็ได้นำพาเขาไปรอบโลกตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เขาได้แสดงให้โลกเห็นว่า ขอบเขตความเป็นนักดนตรีของเขานั้นกว้างใหญ่และเต็มไปด้วยจังหวะและเสียงเพลง บ่งชี้ถึงความเป็นนักกีตาร์และนักแต่งเพลงที่น่าชื่นชม Long live Good King Bad--- the Baddest Benson ฑูตแห่งเสียงเพลงและนักกีตาร์ที่ยิ่งใหญ่และพิเศษคนหนึ่งแห่งแจ๊สพิภพ



อัลบัมที่น่าสนใจของจอร์จ เบนสัน
George Benson & Al Jarreau, Givin’ It Up (Concord, 2006)
George Benson, Irreplaceable (GRP, 2004)
George Benson, That’s Right (GRP, 1996)
George Benson, Big Boss Band (Warner Bros., 1990)
George Benson, Give Me The Night (Warner Bros., 1980)
George Benson, Weekend in LA (Warner Bros., 1977)
George Benson, Breezin’ (Warner Bros., 1976)
George Benson, Body Talk (CTI, 1973)
George Benson, White Rabbit (CTI, 1971)
Lou Donaldson, Alligator Boogaloo (Blue Note, 1967)
George Benson, The George Benson Cookbook (Columbia, 1966)
George Benson, The New Boss Guitar (Prestige, 1964)
George Benson/Jack McDuff, George Benson/Jack McDuff (Prestige, 1964)





Create Date : 17 ตุลาคม 2550
Last Update : 17 ตุลาคม 2550 8:02:04 น. 0 comments
Counter : 2117 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

nunaggie
Location :
City of Angels, Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




คุยเฉพาะเรื่องเพลง :D

"I still find each day too short for all the thoughts I want to think, all the walks I want to take, all the books I want to read, and all the friends I want to see." John Burroughs

Follow my twitter @nunaggie :)

"มีเรื่องราวอีกมากมายให้ชีวิตต้องเดินทางไปค้นหา เราคงไม่ค้นพบทุกอย่างได้ เพียงแค่ชั่วชีวิตเดียว"
Creative Commons License
© Supada Luangsirimongkol 2015.
qrcode
Friends' blogs
[Add nunaggie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.