"แจ๊ส....ฉัน"
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2548
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
24 ตุลาคม 2548
 
All Blogs
 
ที่สุดของมือกีตาร์เเจ๊ซซ์ที่คุณต้องหามาฟัง


ใครๆ ก็เล่นแต่กีตาร์ แล้วทำไมใครๆ ถึงได้เล่นแต่กีตาร์นะ?

ด้วยเหตุผลนานาประการทำให้กีตาร์เป็นอุปกรณ์ดนตรีสากลที่เข้าถึงง่ายที่สุดในบรรดาเครื่องดนตรีทั้งหมด ทั้งหาซื้อง่าย ราคาไม่แพงมาก มีหลายระดับให้เลือก มีเงิน 600 บาทคุณก็ยังเป็นเจ้าของกีตาร์ป๊อกแป๊กสักตัวได้ พกพาไปไหนมาไหนสะดวก ฯลฯ อีกทั้งเป็นเครื่องดนตรีที่แสดงออกถึงความเป็นตัวตนของผู้เล่นได้แบบไม่มีขีดจำกัด จากคนรักคลาสสิคไปจนกระทั่งคนรักเดธ เมทัล จึงทำให้ใครๆ ก็นิยมเล่นกีตาร์ แต่ใครจะเข้าถึงศาสตร์และศิลป์แห่งกีตาร์ได้มากกว่านั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

บางคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมมือกีตาร์แจ๊ซซ์ที่คุณโปรดปรานจึงไม่ได้รวมอยู่ในบทความนี้ ผู้เขียนต้องออกตัวไว้ก่อนว่า บทความอัลบั้มของมือกีตาร์สุดยอดของวงการเเจ๊ซซ์นี้เป็นการรวบรวมแบบคร่าวๆ คัดและตัดตอนมาจาก Guitar Legends เราลองมาดูกันดีกว่าว่า พวกฝรั่งตาน้ำข้าวเขายกย่องและนับถือใครกันบ้าง

PAT METHENY
“หลังจากที่ผมได้ฟังเขาเล่น ผมต้องยอมรับเลยว่า เขาเล่นดีมากๆ” – Gary Burton



Pat Metheny ถือเป็นคลื่นลูกยักษ์ของวงการกีตาร์แจ๊ซซ์ นับตั้งแต่ที่เขาได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในกลุ่มนักดนตรีที่ถือว่ามีวิสัยทัศน์มากที่สุดของ Gary Burton ซึ่งเป็นนักตีระนาดฝรั่ง (Vibraphonist)

ขณะที่ Wes Montgomery และ Jim Hall เป็นแรงบันดาลใจส่งเสริมเขา ให้เขาขัดเกลาส่วนหยาบกระด้าง , ท่อนที่ยังไม่ประสานกันดี , ส่วนริธึ่ม เซคชั่นที่นุ่มนวลและอารมณ์บลูส์ลึกๆ ในบทเพลง Texan ของนักอัลโตแซ็ก Ornette Coleman จากอัลบั้ม New York is Now ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้แพ็ทค้นหาทิศทางของตัวเอง การเล่นของเเพ็ททั้ง Acoustic guitar และ Guitar synthesizer รุ่มรวยไปด้วยแนวประสาน และจังหวะจะโคนที่มีเสน่ห์ บ่งบอกถึงความศรัทธาอย่างแรงกล้าในศิลปะสมัยใหม่

ในอัลบั้ม Zero Tolerance For Silence เขาร่วมงานกับ Joni Mitchell เพื่อทดลองสิ่งที่เขาอยากทำเกี่ยวกับกีตาร์ อัลบั้มนี้ถ้าใครไม่เข้าถึง ไม่มีความอดทนในการฟังหรือไม่รู้จักแพ็ทดีพอ คงส่ายหัวไปตามๆ กัน แพ็ทมักจะเปลี่ยนรสชาติให้หลากหลายในการทำงานเสมอ แต่ไม่ว่าอย่างไร เขาก็ยังจะต้องกลับเข้าสู่ Modern Jazz ไม่ช้าก็เร็ว

อัลบั้มแนะนำของ Pat Metheny
Song X (1985)
Trio 99>00 (2000)

เพลงเด่น“Missouri Uncompromised”
จากอัลบั้ม Bright Size Life

LENNY BREAU
“Lenny Breau ได้สร้างสรรค์คอนเซปต์ใหม่และทิศทางใหม่ๆ ให้กับการเล่นกีตาร์ไฟฟ้า”– Johnny Smith



ถึงแม้ว่า Lenny Breau จะมีรากมาจากดนตรีเเจ๊ซซ์ แต่นักกีตาร์เจ้าของกีตาร์ไฟฟ้า 7 สายคนนี้ก็ไม่ได้ด้นดนตรีสดด้วยสีสันของบลูส์มากนัก ด้วยการปรับปรุงการเล่นกีตาร์สไตล์นิ้วกับวิธีการเล่นอันไร้ขีดจำกัดที่ได้มาจากนักดนตรีหลากหลายแนวตั้งแต่ Andres Segovia นักกีตาร์คลาสสิคระดับครูจนถึง Merle Travis นักกีตาร์สไตล์คันทรี่ เลนนี่ก็ยังกลับสู่ความธรรมดาสามัญที่จะเล่นตามแบบแผนดนตรีแจ๊ซซ์กับ George Van Eps และ Johnny Smith สองนักดนตรีที่เป็นต้นตำรับของการประสาน , การเล่นนิ้วที่นอกเหนือจากการใช้แต่เทคนิค

เขาเปิดตัวในยุค 60’s ด้วยสไตล์การเล่นดนตรีแนวผสมระหว่างเผ่าพันธุ์ประเภท Chet Atkins กับ Bill Evans เลนนี่คือ เจ้าของการเล่นเสียงคอร์ดที่คุณฟังดูแล้วเหมือนฟังคนเล่นคีย์บอร์ด , การเดินเบส , การประสานทำนองซ้อน อาจทำให้ไพล่ไปคิดถึง Stanley Jordan , Phil DeGruy และ Charlie Hunter แต่สิ่งที่เลนนี่เล่นออกมานั้นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เขาจะเดินเบส เล่นแนวทำนองและแนวคอร์ดแบบเฉพาะตัวด้วยท่วงทีแบบไม่มีใครกล้าแหยมเลยทีเดียว

โศกนาฏกรรมแห่งชีวิตของเลนนี่ในปี 1984 ทำให้เราไม่มีโอกาสที่จะได้ฟังผลงานและฝีมือของเขาอีกต่อไป แต่อย่างน้อยเราก็ยังจะได้ฟังงานของเขาที่อยู่ระหว่างการผลิตตอนนี้ และคิดว่าจะยังคงมีอัลบั้มของเขาที่จะออกอีกต่อไปในอนาคต

อัลบั้มแนะนำของ Lenny Breau
Live At Bourbon St. (1983)

เพลงเด่น
“If You Could See Me Now”
จากอัลบั้ม Lenny Breau with Dave Young

WES MONTGOMERY
“ผมพยายามหาคำตอบที่จะสามารถตอบคำถามที่ว่า ‘คุณทำอย่างนี้ได้ยังไง?’ ไอ้ “อย่างนี้” ที่ว่าก็คือ การอิมโพรไวซ์ที่มันไพเราะเสนาะโสต แนวเดี่ยวสู่แนวประสาน จากโน้ตเดี่ยวสู่โน้ตคู่แปด แล้วในที่สุดก็เป็นคอร์ด มันสวยงาม อบอุ่นและขรึม ซึ่งทั้งหมดนั้นเขาไม่ได้ใช้พิคเลย มีเพียงแค่นิ้วโป้งมหัศจรรย์ลุ่นๆ ของเวสเท่านั้นเอง รู้มั้ยคำตอบของเวสที่ตอบคำถามนี้มีแค่ ‘ไม่รู้สิ ผมก็แค่เล่นไปตามนั้น’” – Steve Khan



เหมือนทุกๆ อย่างที่ Wes Montgomery ทำ การใช้นิ้วโป้งเล่นกีตาร์ของเขานั้นก็เป็นสัญชาตญาณล้วนๆ ซึ่งมันมากไปกว่าการฝึกฝนตามธรรมดา เมื่อเวสนั่งฝึกกีตาร์ที่บ้าน เสียงแหลมของกีตาร์ (Treble) ของเขามักจะเป็นปัญหารบกวนโสตประสาทภรรยาที่บ้านเสมอ เขาจึงลองปรับโน่นปรับนี่ทุกอย่างทางเทคนิค แต่ก็ไม่เป็นผล จนกระทั่งเขาวางพิคลงและเริ่มใช้หัวแม่โป้ง นั่นแหละภรรยาของเขาจึงได้พออกพอใจ

ด้วยการเล่นที่มีแบบแผนเฉพาะตัว เวสจึงปรารถนาที่จะออกสู่ยุทธจักรและเข้าไปร่วมงานกับพี่น้องของเขา Monk กับ Buddy ที่ Indianapolis เวสทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำขณะที่ยังไม่ชื่อเสียง จนกระทั่งเทพผู้ประทานโชคพาให้ Cannonball Adderley นำเขาไปเซ็นสัญญากับค่าย Riverside งานวง Big Band ของเขาที่ทำกับ Creed Taylor ยอด Producer และ Don Sebesky นัก Arranger ทำให้เขากลายเป็นดาวรุ่ง แต่ก็แค่ช่วงเดียว เพราะในที่สุดโรคหัวใจวายก็พรากเขาไป

ไม่มีมือกีตาร์คนใดในหน้าประวัติศาสตร์แจ๊ซซ์ที่จะรักษาความระดับความไพเราะของท่อนรับท่อนส่งในบทเพลงได้เหมือนเวส จาก Pat Martino และ Pat Metheny สู่ Stevie Ray Vaughan และ Steve Vai จาก George Benson สู่ Jimi Hendrix และ Eric Johnson เวสยังคงมีอิทธิพลต่อนักดนตรีเหล่านี้ และจะยังคงมีอิทธิพลต่อนักดนตรีรุ่นอื่นอีกต่อๆ ไป

อัลบั้มแนะนำของ Wes Montgomery
Complete Riverside Recordings (1992)
Incredible Jazz Guitar (1960)

เพลงเด่น
“S.O.S.” จากอัลบั้ม Full House

FREDDIE GREEN
“ผมไม่รู้เรื่องคอร์ดมากเท่า Freddie Green หัวผมคงหนักอึ้งหากรู้มากเท่าเขา ผมคงจะเข้าไปร่วมวงแล้วเล่นแต่ริธึ่ม เพราะเขาไม่ได้แค่เล่นคอร์ดอย่างเดียว แต่เขาเล่นทีหลายๆ คอร์ดเลย” - Wes Montgomery



เข้าสู่ยุคที่นักกีตาร์มักจะชอบเล่นโซโลโน้ตเดี่ยว และใส่เสียงเอฟเฟคต์แตกๆ ทำให้สไตล์การเล่นของ Freddie Green ออกจะโบราณไปบ้าง เพราะเขาไม่เล่นกีตาร์ไฟฟ้าหรือเล่นโซโล แต่คุณจะเห็นลีลาจังหวะจะโคนที่สุดจะเร้าใจของเขา

จากเดิมเล่นที่เคย Banjo เฟรดดี้ไปโชว์ฟอร์มให้วง Count Basie Orchestra ติดใจ ที่ New York ในห้องบอลรูม Roseland เมื่อฤดูใบไม้ร่วงปี 1937 จุดประกายให้เบซี่ได้รู้ทันทีเลยว่า เขาเจอคู่หูมือริธึ่มเข้าให้เเล้ว ร่วมกับ Jo Jones มือกลอง Walter Page มือเบสและเบซี่เล่นเปียโน เฟรดดี้เป็นเหมือนหางเสือเรือที่จะนำนาวาแห่ง Swing ล่องเข้าสู่มหรรณพดนตรีอเมริกัน และเฟรดดี้ก็ยังคงใช้กีตาร์เพื่อนคู่หูตัวเก่าตัวใหญ่ของเขามาตลอด 50 ปี

เฟรดดี้จะเล่นจังหวะ 4/4 แล้วก็คุมจังหวะไปเรื่อยๆ เปิดโอกาสให้ เบซี่และโจนส์ร่วมแจมดนตรี พร้อมๆ กับเพื่อนนักดนตรีฝีมือระดับพระกาฬอย่าง Lester Young , Herschel Evans และ Buck Clayton

ทีนี้ต่อไปทุกๆ ครั้งที่คุณเริ่มให้สัญญาณ “1-2-3-4!” อย่าลืมนึกถึงเฟรดดี้ กรีน

อัลบั้มแนะนำของ Freddie Green
Count Basie / The Best of The Roulette Years (1992)

เพลงเด่น
“Topsy” เล่นกับ Count Basie

JIM HALL
“Jim Hall เป็นคนดึงกีตาร์ไฟฟ้าเข้าสู่ยุคสมัยใหม่จริงๆ ลีลาของเขาโลดแล่นอยู่ระหว่างยุค 40s - 50s และขยายเข้าสู่แนวทำนองสมัยใหม่ ทุกวันนี้คงยากที่จะหามือกีตาร์คนไหนที่ไม่ได้รับอิทธิพลของจิม ฮอลล์” - Tony Purrone



Jim Hall จบการศึกษามาจาก Cleveland Institute แล้วย้ายมา Los Angeles เป็นที่ซึ่งเขาได้พบ สมาชิกหลักคนหนึ่งในวงดนตรีของ Chico Hamilton สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นก็คือเขาได้เข้าร่วมวงกับนักดนตรีชื่อดังมากมายอย่าง Paul Desmond , Bill Evans และ Sonny Rollins ทำให้เขากลายเป็นฮีโร่ต่อนักดนตรีรุ่นใหม่ๆ ที่นิยมในความสามารถของเขาที่จะเล่นออกมานอกเหนือขีดจำกัดของกีตาร์ รวมทั้งความสามารถที่จะเล่นคลอทำนองอันรื่นรมย์ไปกับนักเป่าเครื่องลมด้วย คีตปฏิภาณของจิม , รสนิยมในการสร้างทำนอง การควบคุมแนวประสานและการพัฒนาอย่างลื่นไหล ทำให้เขาเปรียบเสมือนแสงไฟส่องนำทางให้นักกีตาร์หัวใหม่รุ่นปัจจุบันอย่าง Pat Metheny และ John Abercrombie ไปจนถึง John Scofield และ Bill Frisell

อัลบั้มแนะนำของ Jim Hall
Live At Town Hall (1990)
Dialogues (1995)
Textures (1996)

เพลงเด่น
“John S.”

JOHNNY SMITH
“เท่าที่ผมติดตาม ผมยังไม่เห็นมีใครที่เล่นได้แจ๋วกว่า Johnny Smith เลยนะ คนอื่นอาจจะเล่นแตกต่างกันไป แต่ยังไม่มีใครดีกว่า จอห์นนี่เล่นให้ดูโอเวอร์ไปก็ได้ เพราะว่าเขาเป็นนักดนตรีประเภทไม่มีขีดจำกัดเลย แต่รสนิยมทางดนตรีของเขาทำให้ไม่ใช่คนที่จะมาโม้อะไรเรื่อยเปื่อย แต่สิ่งที่เขาทำออกมาแล้วก็คือ ดนตรีที่ฟังแล้วมีความสุข” – Barney Kessel



งานของ Johnny Smith ในยุคกลางทศวรรษที่ 60 กับค่าย Verve ได้รับการยกระดับขึ้น จอห์นนี่ได้มีชัยชนะเหนือเครื่องดนตรีแล้ว เขาเป็นคนที่ควบคุมสิ่งที่เขาเล่นอยู่นั้นได้และใช้ประโยชน์จากมันอย่างคุ้มค่า ทั้งการคุมโทนเสียงอันเฉียบขาด , ละเอียดหรือหวานนุ่ม

นักดนตรีระดับปรมาจารย์ในรุ่นของจอห์นนี่นั้นก็มีอย่าง Pat Martino , Jack Wilkins และ Larry Carlton ตัวเขาเองเลือกที่จะนำเสนอตัวเองในด้าน Yin คือการเป็นฝ่ายศาสตร์ ต่างกับ Wes Montgomery ซึ่งเป็นฝ่ายศิลป์ที่อยู่ในด้าน Yang บทเพลง “Moonlight In Vermont” เป็นบทเพลงที่แสดงถึงการพัฒนาครั้งสำคัญของเขาในการเล่นกีตาร์และเป็นแม่แบบให้กับนักกีตาร์ทุกๆ คน

แม้ในผลงานช่วงหลังๆ ของเขา ก็แทบยากที่จะเชื่อว่า จะมีใครสามารถประพันธ์แนวการเล่นทำนองและคอร์ดให้สอดรับกันได้ขนาดนี้ด้วยการใช้พิค ถ้าจับเพลงของเขาแยกแนวทำนองเครื่องดนตรีออกมาเป็นชิ้นๆ บางคนอาจจะเอาเข้าไปโยงกับนักกีตาร์สายคลาสสิคอย่าง John Williams และ Michael Lorimer

บางทีการเล่นของจอห์นนี่อาจจะข้ามผ่านเส้นของความนุ่มนวลไปบ้าง แต่ก็คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า แนวทำนองของเขานั้นสวยงาม การเล่นคอร์ดที่รุ่มรวยไปด้วยความรู้สึก ความแม่นยำในการเล่นและเสียงสูงต่ำของทุกตัวโน้ตที่เขาเล่นมันสง่างามจริงๆ

อัลบั้มแนะนำของ Johnny Smith
Moonlight In Vermont

เพลงเด่น
“Jaguar” จากอัลบั้ม Moonlight In Vermont





Create Date : 24 ตุลาคม 2548
Last Update : 24 ตุลาคม 2548 12:13:07 น. 7 comments
Counter : 1846 Pageviews.

 
เหอะๆ

หวัดดีนุ่น เพิ่งเจอบล็อคน่ะ เลยแวะมาทักทาย


ไปล่ะ.... อิอิ


โดย: lalink วันที่: 25 ตุลาคม 2548 เวลา:0:12:35 น.  

 
หาซื้อที่ไหนดีล่ะครับ ?

น้ำลายหก...น้ำหูไหล หมดแล้ว


โดย: v74 IP: 58.136.65.248 วันที่: 25 ตุลาคม 2548 เวลา:8:12:59 น.  

 
เฮ่อ เรื่องหาที่ซื้อนี่จนปัญญาแนะนำจริงแฮะ เพราะปกติเราซื้อทางเน็ต สะดวก มีให้เลือกเยอะ แล้วก็ไม่หงุดหงิดกับพนักงานขายที่ชอบทำตัวอวดฉลาดด้วยนะ


โดย: nunaggie (nunaggie ) วันที่: 27 ตุลาคม 2548 เวลา:20:40:35 น.  

 
เคยฟังแต่ น้า pat ครับ ชอบเหมือนกัน


โดย: สาหร่าย (แร้ไฟ ) วันที่: 31 ตุลาคม 2548 เวลา:23:05:30 น.  

 
Jim Hall...


โดย: winston (winston ) วันที่: 12 พฤศจิกายน 2548 เวลา:22:41:11 น.  

 
หวาย ขาดโจ พาสส์ (Joe Pass) ไปได้ยังไงเนี่ย


โดย: บูมเมอร์ วันที่: 23 พฤศจิกายน 2548 เวลา:22:29:03 น.  

 
ข้อมูลแน่นจิงๆฮะ


โดย: รู้สึกแปลก วันที่: 21 สิงหาคม 2549 เวลา:13:13:47 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

nunaggie
Location :
City of Angels, Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




คุยเฉพาะเรื่องเพลง :D

"I still find each day too short for all the thoughts I want to think, all the walks I want to take, all the books I want to read, and all the friends I want to see." John Burroughs

Follow my twitter @nunaggie :)

"มีเรื่องราวอีกมากมายให้ชีวิตต้องเดินทางไปค้นหา เราคงไม่ค้นพบทุกอย่างได้ เพียงแค่ชั่วชีวิตเดียว"
Creative Commons License
© Supada Luangsirimongkol 2015.
qrcode
Friends' blogs
[Add nunaggie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.